รายงาน : ผลกระทบจากกำไรผูกขาด หลังคำพิพากษา คืนท่อก๊าซ ปตท.


ณ 31 ธันวาคม 2549 ระบบท่อก๊าซธรรมชาติ ของ บมจ.ปตท. มีดังนี้ ระบบท่อส่งก๊าซบนบกความยาว 1,384 กม. ระบบท่อส่งก๊าซในทะเลความยาว 1,369 กม. ระบบท่อจัดจำหน่ายความยาว 770 กม. รวมความยาวท่อส่ง 2,753 กม. รวมความยาวท่อส่ง+ท่อจำหน่าย 3,523 กม.


เสวนา "การปฏิบัติตามคำพิพากษาศาลปกครองกรณี ปตท. : แนวทางและผลกระทบ" โดยคณะทำงานสัมมนาและเผยแพร่ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ณ ห้องประชุม คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ดำเนินรายการโดย ศ.ดร.ปราณี ทินกร คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 9 ม.ค.ที่ผ่านมา

การแสดงความคิดเห็นต่อเนื่องจากคดีประวัติศาสตร์ของตลาดทุนไทยที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคยื่นฟ้องต่อศาลปกครองสูงสุดให้ยกเลิกการแปลงสภาพการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยเป็น บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) โดยเมื่อวันที่ 14 ธ.ค.50 ศาลปกครองสูงสุดได้อ่านคำพิพากษาซึ่งมีทั้งหมด 99 หน้า โดยศาลมีคำพิพากษาไม่เพิกถอนพระราชกฤษฎีการกำหนดอำนาจสิทธิ และประโยชน์ของบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) พ.ศ.2544 และพระราชกฤษฎีกากำหนดเงื่อนไขเวลายกเลิกกฎหมายว่าด้วยปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย พ.ศ.2544 และมีคำพิพากษาให้แยกท่อก๊าซธรรมชาติ กลับไปเป็นสมบัติของชาติ

กระบวนการยุติรรมกับคำตัดสินที่ไม่เคยลวงลึกถึงหัวใจการแปรรูป

นายปิยบุตร แสงกนกกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์อธิบายรายระเอียดเกี่ยวกับคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดในคดีของการแปลงสภาพการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (ปตท.) เริ่มต้นจากเงื่อนไขการฟ้องคดีว่า ในส่วนของเขตอำนาจศาลปกครองสูงสุดนั้นมีสิทธิพิจารณาคดีความชอบด้วยกฎหมายของพระราชกฤษฎีกา ส่วนผู้มีสิทธิยื่นฟ้องในคดีซึ่งก็คือกลุ่มบุคคลและมูลนิธิคุ้มครองผู้บริโภคนั้นได้ถูกตุลาการ 2 ใน 5 ให้ความเห็นว่าไม่ได้มีส่วนได้เสียในเรื่องนี้ ด้านระยะเวลาการฟ้องคดีที่กำหนดให้มีเพียง 90 วัน แต่พระราชกฤษฎีกาซึ่งมีการบังคับใช้มากว่า 4 ปีเข้าข่ายการพิจารณารับฟ้อง เพราะถือเป็นประโยชน์สาธารณะ แม้ตุลาการเสียงข้างน้อยจะให้เหตุผลว่าการตีความประโยชน์สาธารณะต้องเคร่งครัดที่สุด เพราะการแก้ไขคำสั่งทางปกครองมีผลกระทบเรื่องความน่าเชื่อถือในวงกว้าง

ในส่วนเนื้อหา มี 4 ประเด็นหลักที่ถูกพิจารณา คือ 1.กรรมการจัดเตรียมเพื่อแปรรูป ปตท. ให้เป็นบริษัทมหาชนจำกัด ขาดคุณสมบัติ โดยนายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ และนายเชิดพงษ์ สิริวิชช์ ถูกกล่าวหาว่ามีส่วนได้เสียกับกรณีนี้แต่ศาลเห็นว่าทั้งสองมีคุณสมบัติครบถ้วนเป็นผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับประเด็นพลังงานซึ่งไม่เกี่ยวกับการเป็นข้าราชการ ส่วนกรณีที่นายมนูญ เลียวไพโรจน์ และนายวิเศษ จูภิบาล เข้าถือหุ้น ปตท. ศาลพิเคราะห์เห็นว่าไม่มีผลกระทบต่อการเปลี่ยนสถานภาพของ ปตท. โดยชี้ว่าเป็นการถือหุ้นหลังแปรรูป ไม่ได้มีผลประโยชน์ทับซ้อนกัน ศาลให้ยกฟ้อง แต่นายปิยบุตรตั้งข้อสังเกตว่าตามความเป็นจริงการถือหุ้นรัฐวิสาหกิจก่อนแปรรูปนั้นเป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว

สองการประชาพิจารณ์ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งมีลักษณะเดี่ยวกันกับกรณีการแปรรูปการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) แต่ผลการพิจารณาต่างกัน โดยศาลตัดสินให้การลงประกาศในหนังสือพิมพ์ 6 ฉบับ ฉบับละวันไม่เป็นประเด็นสำคัญเพราะเป็นการเผยแพร่ให้คนได้รู้ไม่ต่างจากที่กฎหมายกำหนดระเบียบการประชาพิจารณ์ต้องทำ 6 วันติดต่อกัน

ประเด็นต่อมาซึ่งเป็นประเด็นสำคัญในการพิจารณาคดีนี้คือ เรื่องพระราชกฤษฎีกาโอนอำนาจและเอกสิทธิ์ต่างๆ ที่แต่เดิมเป็นของการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยไปให้ ปตท.ในฐานะบริษัทมหาชนจำกัดอันเป็นบริษัทเอกชน ซึ่งตามหลักการอำนาจมหาชนทั้งหลายคือสิทธิในการเวนคืนที่ดิน สิทธิในการใช้สาธารณสมบัติของแผ่นดิน และการเป็นผู้ครอบครอง "ทรัพยสิทธิ" (สิทธิในที่ดินและทรัพย์บนที่ดินนั้น) เหล่านี้เป็นหน้าที่ของรัฐ เอกชนไม่สามารถจะถือครองอำนาจหรือเอกสิทธิ์เหล่านี้ได้

ตามคำพิพากษาของศาลได้แนะนำว่าในเมื่อเป็นทรัพย์สินของรัฐ เพราะฉะนั้นต้องโอนกลับไปให้รัฐคือกระทรวงการคลัง และบริษัทปตท.สามารถใช้งานต่อไปได้โดยต้องจ่ายค่าตอบแทน จ่ายค่าเช่าให้กับ ปตท. ซึ่งในปัจจุบันยังไม่สามารถตกลงราคาค่าเช่าได้

นายปิยบุตรกล่าวแสดงความเห็นว่า บทเรียนจากกรณี กฟผ.ทำให้รัฐบาลคาดเดาได้ล่วงหน้าว่าจุดนี้จะทำให้การแปรรูปไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงได้พยายามตามไปแก้พระราชกฤษฎีกาในระหว่างการดำเนินคดี โดยโอนอำนาจและเอกสิทธิ์ต่างๆ ที่เป็นอำนาจมหาชนซึ่งอยู่ในมือเอกชนอย่าง ปตท.ให้กลับมาอยู่ภายใต้คณะกรรมการนโยบายกำกับพลังงาน แต่ศาลไม่รับฟังและตัดสินว่าพระราชกฤษฎีกาไม่สามารถนำมาใช้โอนอำนาจเหล่านี้ได้ การโอนอำนาจและเอกสิทธิ์ต่างๆ ของรัฐที่เกิดผลกระทบต่อประชาชนต้องทำโดยกฎหมายที่ออกโดยฝ่ายนิติบัญญัติ นั่นคือพระราชบัญญัติ

สุดท้ายศาลยืนยันว่าการโอนอำนาจไปให้เอกชนนั้นไม่ชอบ แต่ผลของคดี ศาลตัดสินว่าแม้จะไม่ชอบด้วยกฎหมายแต่ได้ขายหุ้นไปเป็นจำนวนมาก หากมีการเพิกถอนพระราชกฤษฎีกากระบวนการแปรรูปเดินหน้าไปไกลจะต้องล้มไปทั้งหมด แล้วจะเกิดผลกระทบในวงกว้าง จึงตัดสินให้ไม่มีการเพิกถอนแต่เรื่องไหนที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายให้กลับไปดำเนินการแก้ให้ชอบด้วยกฎหมาย หลักการทางกฎหมายนี้เรียกว่า "การคุ้มครองความมั่นคงของนิติภาครัฐ" เป็นการคุ้มครองความเชื่อถือของบุคคลภายนอก คือบุคคลภายนอกทุกคนที่สุจริตใจคิดว่าพระราชกฤษฎีกายังอยู่ ตามอำนาจใน พ.ร.บ.ศาลปกครอง มาตรา 42 ที่ระบุว่าศาลปกครองมีอำนาจที่จะเพิกถอนไปข้างหน้าและย้อนไปข้างหลังได้

"กรณีนี้ เมื่อเทียบกับกรณีของ กฟผ. ผมคิดว่าศาลพยายามดุลในระดับหนึ่ง คือไม่ถึงขั้นเพิกถอนให้หมด อย่างกรณีของ กฟผ. ในประเด็นนี้นี้ศาลสั่งให้ยกเลิกอย่างเดียว แต่กรณี ปตท.ศาลบอกว่าตรงนี้ไม่ถูกต้อง ให้คุณกลับไปแก้ให้มันถูก" นายปิยบุตรกล่าว

ประเด็นที่สี่ พระราชกฤษฎีกาเร่งกำหนดเงื่อนไขเวลา ซึ่งกำหนดเวลาในการแปรสภาพ โดยในมาตรา 28 ของ พ.ร.บ.ทุนรัฐวิสาหกิจปี 2542 ได้เปิดช่องไว้ว่า การแปรรูปรัฐวิสาหกิจเป็นบริษัทเอกชนให้รัฐบาลมีมติ ครม.แล้วออกพระราชกฤษฎีกา จึงมีการคัดค้านโดยมองว่าเป็นการใช้พระราชกฤษฎีกายกเลิก พ.ร.บ.ทั้งที่ศักดิ์ไม่เท่ากัน เพราะรัฐวิสาหกิจแต่ละแห่งจะมี พ.ร.บ.รัฐวิสาหกิจของตัวเอง ซึ่งตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในเรื่องนี้มีว่า พ.ร.บ.ทุนฯ ได้ยกเลิกพ.ร.บ.รัฐวิสาหกิจไว้หมดแล้ว แต่จะลงเลิกเมื่อไหร่ต้องรอให้รัฐบาลบอกด้วยการมีพระราชกฤษฎีกายกเลิก

ตรงนี้เป็นรูปแบบทางกฎหมายที่ทำให้ไม่ต้องออก พ.ร.บ.หลายฉบับในการยกเลิก แต่สิ่งที่เป็นบทเรียนสำคัญในการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ คือ การทำ พ.ร.บ.กลางเพื่อบอกระเบียบวิธีการในการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ต่อไปจะเป็นไปได้ไหมกับการทำบัญชีแนบท้าย พ.ร.บ.โดยบอกถึงรัฐวิสาหกิจที่สามารถแปรรูปและไม่สามารถแปรรูป เช่น หมวดสาธารณูปโภคแปรรูปได้โดยใช้วิธีหนึ่ง ส่วนรัฐวิสาหกิจที่ขาดทุนแปรรูปอีกวิธีหนึ่ง ซึ่ง พ.ร.บ.ทุนฯ ไม่ได้พูดถึงเรื่องนี้ และผู้ร่าง พ.ร.บ.บอกอยู่เสมอว่า พ.ร.บ.ทุนฯ ไม่ใช่การแปรรูปรัฐวิสาหกิจแต่เป็นเพียงขั้นตอนหนึ่งของการแปรรูป

ส่วนกรณีพื้นที่สาธารณะที่ต้องมีการมอบคืนให้กระทรวงการคลังควรนับรวมพื้นที่ในทะเลหรือไม่นั้น นายปิยบุตรกล่าวว่า จากที่อ่านคำตัดสินของศาลไม่พบประเด็นเรื่องที่ดินในทะเล ซึ่งไม่แน่ในว่าจะมีการยืนฟ้องหรือไม่ หากไม่มีศาลก็ไม่สามารถตัดสินในเรื่องนี้ได้ เมื่อศาลไม่ได้พูดถึงทั้ง ปตท.และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคก็ยังไม่รู้ว่าตกลงในที่สุดจะเป็นอย่างไร แต่โดยความเข้าใจของคนทั่วไปควรนับรวม

"กรณีมูลนิธิคุ้มครองผู้บริโภคที่แสดงอาการฉลองชัยดีใจกันทั้งสองกรณี ผมคิดว่ามันไม่ได้เป็นชัยชนะอย่างแท้จริงของมูลนิธิคุ้มครองผู้บริโภค ถ้าเราเอาธงของมูลนิธิฯ มาเป็นหลักว่าเขาต้องการให้มีการแก้ไขเรื่องการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ" นายปิยบุตรกล่าว

ตามความเห็นของนายปิยบุตร ลักษณะของการตัดสินขององค์กรตุลาการในประเทศไทยจะไม่มีการตัดสินที่ลงลึกโดยเฉพาะในส่วนที่แทรกแซงนโยบายของรัฐ ทั้งคดีของ ปตท. และ กฟผ. ศาลปกครองฯ ไม่เคยทะลวงเข้าไปถึงหัวใจของการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ คือฟ้องมาแค่ไหนก็ทำให้แค่นั้นแล้วก็จบ แต่หัวใจของการแปรรูป อะไรแปรรูปได้ แปรรูปวิธีไหนถูกต้องมีหลักธรรมาภิบาลอย่างไร ศาลปกครองไม่พูดถึง ซึ่งทั้งสองคดีแม้มีผลต่าง แต่มีบรรทัดฐานอยู่ที่การโอนทรัพย์สินกลับไปเป็นของรัฐพียงท่านั้น การจะโอนอะไรที่เป็นสาธารณะสมบัติต้องไปคิดกันเอง ที่ผ่านมา ตุลาการผู้แถลงคดีของ คดี กฟผ.เคยเสนอ ทางเลือกเกี่ยวกับการโอนอำนาจมหาชนโดยการออก พ.ร.บ.เฉพาะเจาะจงรายกรณีสำหรับรัฐวิสาหกิจที่แปรรูปเป็นบริษัทมหาชนจำกัดให้มีอำนาจมหาชนต่อไป ซึ่งก็อาจจะขัดต่อรัฐธรรมนูญเรื่องการเป็นเอกชนแล้วมีอำนาจมหาชน

อำนาจมหาชน: อำนาจในการรอนสิทธิ์ ที่ไม่ใช่ของ บมจ.ปตท.

น.ส.ชื่นชม สง่าราศี กรีเซน นักวิชาการอิสระด้านพลังงาน กล่าวถึงการตัดสินใจและการดำเนินการของผู้ถูกฟ้องทั้ง 4 คือ คณะรัฐมนตรี (ครม.) นายกรัฐมนตรี รัฐมนตีกระทรวงพลังงาน และปตท.ว่า การใช้ที่ดินเพื่อวางระบบการขนส่งปิโตรเลียมทางท่อ การแบ่งแยกอำนาจและสิทธิที่เป็นอำนาจมหาชนของรัฐออกจากอำนาจและสิทธิของ บมจ.ปตท. ซึ่งศาลตัดสินว่าเป็นนิติบุคคลเอกชนตามกฎหมายบริษัทจำกัดมหาชน ตามคำพิพากษาสามารถแบ่งการแยกแยะเป็น 2 กลุ่ม คือ 1.การแยกแยะทรัพย์สินและสิทธิเหนือพื้นดิน และ 2.การแยกแยะอำนาจมหาชน

การแยกแยะทรัพย์สินและสิทธิเหนือพื้นดิน ที่ผ่านมาแนวทางของ ครม.ที่ดำเนินการตามคำพิพากษา โดยสรุปมี 3 ส่วนคือ 1.ที่ดินเวนคืน 2.สิทธิเหนือที่ดินเอกชนที่ได้จากการรอนสิทธิ และส่วนที่มีมากที่สุดคือ 3.ระบบท่อก๊าซที่อยู่บนที่ดินที่เป็นสิทธิเอกชน ซึ่งตามแนวทางของครม.แล้วส่วนของท่อที่โอนกลับคืนมาจะมีเฉพาะส่วนของท่อบางปะกง วังน้อย ราชบุรี ชายแดนไทย-พม่า แต่ไม่ได้มาทั้งหมดโดยท่อบางส่วนที่พาดตามลำน้ำลำคลองสาธารณะจะไม่ได้คืน

ระบบท่อก๊าซในไทยโดยหลักแล้วมีท่อจากทะเล 3 เส้น นำก๊าซจากอ่าวไทยมาสู่ภาคตะวันออกแถวมาบตาพุด และต่อท่อบนบกจากระยองไปบางปะกง ไปสระบุรี ราชบุรี และเชื่อมท่ออีกเส้นที่วังน้อย เป็นเส้นจากพม่าที่ผ่านมายังกาญจนบุรี ราชบุรี ตามแนวทางของ ครม.สาธารณสมบัติที่ต้องโอนคืนสู่รัฐจะมีเฉพาะเส้นประสีดำ (ตามภาพ) ส่วนที่เหลือจะถือเป็นทรัพย์สินของเอกชน แต่เมื่อดูจากคำฟ้องจะเห็นว่าได้มีการขอคืนระบบท่อทั้งหมด ซึ่งมีท่อส่งทั้งบนบกและทะเล รวมไปถึงท่อจำหน่าย

"ท่อทั้งหมดเหล่านี้ใช้อำนาจมหาชนในการรอนสิทธิให้ได้ที่ดินมา หรือไม่ก็อาศัยสาธารณะสมบัติในการวางท่อ ถามว่ามันเป็นแนวปฏิบัติที่เป็นประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนหรือไม่" น.ส.ชื่นชมกล่าวแสดงเหตุผลพร้อมตั้งคำถามถึงแนวทางการโอนคืนท่อของรัฐบาล

น.ส.ชื่นชม กล่าวถึง "สิทธิเหนือพื้นที่เอกชน" ว่า ตามคำพิพากษาเป็นการใช้อำนาจมหาชนของรัฐเข้าไปรอนสิทธิ อันเป็นการกระทำเพื่อกิจการของรัฐ ซึ่ง ปตท.ในอดีตกระทำการในฐานะองค์การของรัฐ แต่เหตุใดในการปฏิบัติตามแนวคำพิพากษา จึงมีการตีความให้ "สิทธิเหนือพื้นที่สาธารณ" กลายเป็น "ทรัพยสิทธิของเอกชน" และคำพิพากษาหน้า 76 ได้ระบุถึงนิยาม "สาธารณสมบัติของแผ่นดิน" ว่าเป็นอสังหาริมทรัพย์ที่พลเมืองใช้ร่วมกัน เป็นต้นว่า ที่ชายตลิ่ง ทางน้ำ ทางหลวง ทะเลสาบ ตามความความรับรู้ของประชาชนคนหนึ่งที่อ่านกฎหมายมันมีนัยสำคัญว่าถ้า "สิทธิเหนือพื้นดินของที่สาธารณะ" ถือเป็น "ทรัพยสิทธิของรัฐ" ท่อทั้งหมด อสังหาริมทรัพย์ที่ติดกับทรัพยสิทธิของรัฐก็เป็นสิ่งที่ต้องโอนกลับมาให้กับรัฐด้วย

ที่ผ่านมา ปตท. มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดและความมั่นคงของประเทศจึงมีการออก พ.ร.บ.การปิโตรเลียม มอบอำนาจและสิทธิต่างๆ ให้แก่ ปตท. โดยให้ ปตท.มีอำนาจในการรอนสิทธิในพื้นที่เอกชน และอีกมากมาย ซึ่งเป็นอำนาจมหาชนเหนือสาธารณสมบัติของแผ่นดิน มีการให้อำนาจว่าในเขตขนส่งปิโตรเลียมทางท่อไม่ว่าบนบกหรือทางน้ำ ห้ามไม่ให้กระทำการใดๆ อันจะเกิดอุปสรรคต่อการขนส่งทางท่อ เว้นแต่ ปตท.จะอนุญาต และยังห้ามไม่ให้ผู้ใดทอดสมอ ลากแห จับสัตว์น้ำในแม่น้ำ ลำคลอง ทะเลที่มีการขนส่งทางท่อ

"ท่อส่งของ ปตท.มีระยะทางยาว 2,700 กม. ถ้ารวมท่อจำหน่ายก็เป็น 3,500 กม. ในฐานะที่เป็นประชากรคนหนึ่งของประเทศไทยก็อยากเห็นว่ารัฐใช้ประโยชน์สูงสุดจากคำพิพากษาครั้งนี้ เพราะศาลชี้แล้วว่ากระบวนการในการออกกฎหมายต่างๆ ที่นำมาสู่การแปลงสภาพ ปตท.มันไม่ชอบ และให้อำนาจแก่ ครม.ในการนำคืนผลประโยชน์ของส่วนร่วม" น.ส.ชื่นชมกล่าว

นอกจากนั้นน.ส.ชื่นชมกล่าวในเรื่องท่อของ บริษัททรานส์ไทย-มาเลเซีย (TTM) ซึ่งเป็นบริษัทเอกชนที่ร่วมทุนระหว่างบริษัทเปโตรนาสของเมเลเซียและ ปตท.ในอดีต เพราะมีพื้นที่คาบเกี่ยวตรงไหล่ทวีปที่ต้องแบ่งกันระหว่างไทย-มาเลเซีย และไทย-เขมร โดยในการจัดสรรผลประโยชน์ รัฐไทยกับรัฐมาเลย์ตกลงกันว่าจะแบ่งครึ่งกันและนำมาซึ่งการออก พ.ร.บ.องค์กรร่วมไทย-มาเลเซีย ว่าด้วยสิทธิในการแสวงหาผลประโยชน์และทำธุรกิจต่อเนื่องจากพื้นที่คาบเกี่ยว รัฐบาลได้มอบหมายให้ ปตท.ในฐานะองค์กรของรัฐ (ขณะนั้นปตท.ยังไม่ได้แปรรูป) ดำเนินการสานผลประโยชน์โดยเอาทรัพยากรในทะเลซึ่งเป็นทรัพย์สินส่วนรวมเอามาใช้ในทางธุรกิจ ซึ่งปัจจุบันก๊าซที่ขุดขึ้นมาถูกส่งเข้าท่อ และส่งต่อไปใช้ยังมาเลเซียทั้งหมด โดยปตท.ได้ค่าบริการในการแยกก๊าซ ขนส่งตามท่อ

ในส่วนของท่อมี 2 ส่วนคือ จากแปลง A18 ในแหล่ง JDA อีกส่วนคือจากจะนะไปยังสะเดา เพื่อส่งให้มาเลเซีย และมีการสร้างโรงแยกก๊าซ 2 จุด เพื่อแยกก๊าซหุงต้มส่งให้คนในมาเลเซียใช้ ซึ่งอำนาจในการวางท่อหรือการสร้างโรงแยกก๊าซที่สร้างคร่อมที่สาธารณะต้องดำเนินการผ่าน ปตท.ด้วยการใช้อำนาจรัฐ ซึ่งการก่อสร้างในพื้นที่จะนะที่มีความขัดแย้งสูงมากกับชาวบ้าน มีการใช้ตำรวจนับพันนายเข้าไปปกป้องพื้นที่ก่อสร้างเป็นการปะทะกับชาวบ้านเพื่อปกป้องทรัพย์สินบริษัทเอกชน และประเด็นที่ละเอียดอ่อนกว่านั้นคือพื้นที่วะกัฟที่ชาวบ้านได้อุทิศให้แก่พระเจ้าเพื่อการใช้ประโยชน์ร่วมกันซึ่งพื้นที่ตรงนี้จะถูกละเมิดไม่ได้ แต่กลับถูกยึดครองเอาไปใช้สร้างโรงแยกก๊าซ

"ทั้งหมดนี้ ครม.ไม่เคยพูดถึงเลย พูดแต่ว่า TTM ไม่เกี่ยว เพราะมาตรา 3 ของ พ.ร.บ.กำกับกิจการกิจการพลังงาน กำหนดว่าไม่อยู่ในข่ายของการกำกับ แต่กรณีนี้เรากำลังพูดถึงสิทธิว่าใครควรเป็นเจ้าของ ดังนั้นที่รัฐพูดมาเป็นการพยายามเลี่ยงประเด็น" น.ส.ชื่นชมกล่าว

การแยกอำนาจและสิทธิที่เป็นอำนาจมหาชน แนวปฏิบัติของ ครม.ที่ผ่านมาไม่มีการพูดถึงเลยว่า อำนาจและสิทธิในส่วนที่เป็นอำนาจมหาชนมีส่วนใดบ้างที่ต้องโอนกลับมาเป็นของรัฐ ซึ่งโดยส่วนตัวน.ส.ชื่นชมเห็นว่า คำพิพากษาได้ชี้ให้เห็นถึงในหลายส่วนที่ถูกโอนไปให้ ปตท. ทั้งที่ไม่ควรจะโอนตั้งแต่ต้น แต่คำพิพากษาก็ไม่ชี้ชัดในเรื่องอำนาจมหาชน เช่น การผูกขาดอำนาจในกิจการก๊าซธรรมชาติ ซึ่งหากก่อนการแปรรูปแยกออกก็จะทำให้การกำกับดูแลทำได้มากขึ้น

เรื่องของอำนาจผูกขาดที่ศาลไม่กล้าเตะ เพราะมีมาตรา 149 ของ พ.ร.บ.กำกับกิจการพลังงาน ซึ่งระบุให้อำนาจตามมาตรา 26 (4) ของ พ.ร.บ.ทุนฯ ว่าด้วยการแข่งขันที่เป็นธรรม ไม่นำมาใช้บังคับกับ ปตท. หมายความว่า แม้ว่าอำนาจมหาชนบางอย่างอาจจะถูกโอนโดยไม่ชอบ แต่ตอนนี้รัฐบาลได้มีการออก พ.ร.บ.ตัวใหม่มารองรับการโอนอำนาจมหาชนบางส่วนไปยัง ปตท.แล้ว ศาลไม่สามารถแตะตรงนี้ได้ ดังนั้น อาจเป็นส่วนที่เรารู้ไม่เท่าทันจึงปรากฏมีมาตราขึ้นนี้โดยเฉพาะ

แต่อย่างไรก็ตาม ศาลได้พูดต่อว่า แม้ส่วนของระบบท่อเป็นสาธารณสมบัติที่ต้องโอนกลับให้รัฐ แต่ยังให้ ปตท.คงสิทธิในการใช้ทรัพย์สิน ที่ราชพัสดุ สาธารณสมบัติเหล่านั้นต่อ ถ้าตีความแบบแคบ อาจตีความได้ว่า ปตท.อาจได้รับสิทธิในการใช้ท่อเส้นที่ 1 2 ได้ต่อไป แต่เส้นที่ 3 และ 4 ในอนาคตจะไม่เป็นสิทธิผูกขาดอีกต่อไป เพราะไม่ถือเป็นสิทธิที่ ปตท.เคยมีอยู่ อันนี้ได้มาจากการแปรรูป ถ้ารัฐนำกลับมาจัดการบริหารในส่วนนี้จะเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศได้ 

อีกส่วนหนึ่งที่ไม่ค่อยมีการพูดถึง คือ อำนาจและสิทธิในการแสวงหาทรัพยากรใต้พื้นดินในพื้นที่พัฒนาร่วม JDA ซึ่งเป็นการแสวงหาหาประโยชน์ในฐานะรัฐ แต่ชัดเจนว่า ปตท.ไม่ใช่องคาพยพของรัฐอีกต่อไป ดังนั้น อำนาจในการแสวงหาประโยชน์น่าจะต้องดึงออกมาเป็นของรัฐ ตรงนี้เป็นเรื่องใหญ่พอสมควร

กำไรผูกขาดที่ผลักภาระต้นทุนสู่ประชาชน

เกี่ยวกับปัญหาการกำหนดราคาค่าเช่าท่อก๊าซ น.ส.ชื่นชมกล่าวว่า แม้จะยังไม่มีตัวเลขละเอียด แต่แยกแยะจากค่าผ่านท่อที่ ปตท.เก็บไปในช่วงเวลาที่ผ่านมา หลังการแปรรูปมีรายได้ค่าผ่านท่อปีหนึ่ง 20,000 กว่าล้านบาท แบ่งเป็นต้นทุน 47% ซึ่งก็คือ ดอกเบี้ย ค่าดำเนินการ ค่าบำรุงรักษาต่างๆ ในขณะที่อีก 53% คือ กำไร

ที่ผ่านมาเราจะได้ยินตลอดว่า การคิดค่าเช่าท่อ 5% ค่าผ่านท่อจะต้องพุ่งสูงขึ้น แล้วจะต้องบวกในต้นทุนการส่งก๊าซทำให้ผู้บริโภคจะต้องรับภาระจากการที่รัฐจะเก็บค่าเช่าจากตรงนี้ เพราะ ปตท.ไม่ยอมให้แตะกำไรที่สูงมากนั้นเลย ทั่งที่ความจริงไม่ต้องเป็นอย่างนั้น เพราะอำนาจทั้งหมดอยู่ที่ฝ่ายบริหารคือ คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) จะกำหนดค่าผ่านท่อ หรือในส่วนต่างๆ

นอกจากนี้ กำไรของ ปตท.สูงได้ขนาดนี้ก็เพราะมีการประกันกำไรสูงมากประมาณ 16-18% ทั้งๆ ที่มันเป็นกิจการผูกขาด ไม่มีความเสี่ยงอยู่แล้ว และแม้ประกันกำไรสูงแล้วกำไรที่ได้จริงก็ยังสูงกว่านั้นอีก โดยที่ กพช.ก็ไม่ได้ทำอะไรเพื่อปกป้องผลประโยชน์ผู้บริโภค แม้ดอกเบี้ยในช่วงหลังจะลดลงแล้ว เงินบาทแข็งตัวเพิ่มขึ้นแล้วก็ตาม เหล่านี้ทำให้กำไรของ ปตท.ในบางปีสูงกว่าที่ประมาณการไว้มาก

เพื่อให้หลักในการคิดบนคำพิพากษาควรจะเป็นไปเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประเทศ หลังจากนี้เราควรหาทางออกในการคิดค่าผ่านท่อที่ไม่เป็นภาระต่อผู้บริโภค ให้กำไร ปตท.ลดลงมา เพื่อให้เป็นธรรมต่อผู้บริโภค ซึ่งเป็นเรื่องที่ทำได้อยู่แล้วเพราะเป็นอำนาจของรัฐ

ส่วนสาเหตุที่ต้องรื้อเกณฑ์การคำนวณค่าผ่านท่อให้เป็นธรรมและเหมาะสมกับกิจการที่เป็นสาธารณูปโภค น.ส.ชื่นชมกล่าวว่า ก๊าซธรรมชาติกว่า 70-80% ถูกนำมาใช้เพื่อผลิตไฟฟ้า และเราต้องจ่ายค่าก๊าซโดยผ่านค่าไฟ อธิบายอย่างง่ายๆ คือจากค่าไฟที่จ่าย 100 บาท 50% จะเข้ากระเป๋า ปตท. แสดงให้เห็นว่าค่าไฟมีต้นทุนหลักมาจาก ปตท. และตามความจริงแล้ว 50% ซึ่งเป็น "กำไรผูกขาด" ของ ปตท.ไม่ใช่เพียงราคา "ค่าผ่านท่อ" (ค่าให้บริการส่งก๊าซธรรมชาติผ่านท่อ) ยังมีการ "เก็บค่าหัวคิว" โดยบวกเพิ่มเข้าไปในราคาก๊าซ ด้วยการทำหน้าที่เป็นพ่อค้าคนกลางซื้อก๊าซจากหลุมมาแล้วเอาเข้าท่อขายต่อให้ผู้ใช้ไฟ ซึ่งผู้ใช้ไฟรายใหญ่ก็คือ กฟผ. ถ้าเราไม่ให้ ปตท.ผูกขาดต่อไป เช่น เปิดให้ กฟผ.ซื้อตรงจาก ปตท.สผ. ค่าหัวคิวตรงนี้ก็จะลดลง

การผูกขาดส่วนที่สองที่เป็นภาระให้ผู้ใช้ไฟก็คือ "การเอื้ออาทรให้กับโรงแยกก๊าซของตัวเอง" โดยปตท.ขายก๊าซให้โรงแยกก๊าซราคาหนึ่งแต่กลับขายให้โรงไฟฟ้าและผู้ใช้ก๊าซรายอื่นๆ อีกราคาหนึ่ง ซึ่งแตกต่างกันประมาณ 20 บาท ซึ่งที่ผ่านมา ปตท.อ้างว่า โรงแยกก๊าซดำเนินการเพื่อให้ผู้บริโภคได้มีก๊าซหุงต้มใช้จึงต้องขายในราคาต่ำกว่า แต่ตอนนี้สถานการณ์เปลี่ยนไปเพราะ ปตท.เริ่มนำก๊าซหุงต้มส่งออกต่างประเทศ ซึ่งธุรกิจนี้เป็นธุรกิจที่มีมูลค่าสูงมาก

"นี่ก็เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่มีการผลักดันการใช้ NGV ในประเทศเพราะ NGV มูลค่าต่ำไม่สามารถทำอะไรได้มากนัก ถ้าเราใช้ NGV ปตท.ก็สามารถส่ง LPG ไปต่างประเทศทำกำไรให้มากขึ้น ซึ่งก็ไม่มีปัญหา แต่ประเด็นคือ ถ้าจะทำธุรกิจ โรงแยกก๊าซของ ปตท.ก็ควรได้ราคาก๊าซในแบบปกติด้วย ไม่ใช่ได้ราคาลดพิเศษ" น.ส.ชื่นชมกล่าวแสดงความคิดเห็น

ส่วนที่สามของการผูกขาดคือ ปตท.ผูกขาดเป็นบริษัทซื้อขายก๊าซรายเดียว แต่ขณะเดียวกันก็มีบริษัทลูกยักษ์ใหญ่ ซึ่งก็คือบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) (ปตท.สผ.) ทำหน้าที่เป็นคู่สัญญากับปตท. ขายก๊าซให้ปตท.ทำให้ยิ่งซับซ้อน เกิดการเอื้ออาทรระหว่างบริษัทแม่กับบริษัทลูก ให้ราคาซื้อขายก๊าซกับ ปตท.สผ.สูงกว่าแหล่งอื่นๆ ที่ ปตท.สผ.ไม่ได้ไปเกี่ยวด้วยอย่างมาก ทำให้เกิดภาระที่ไม่จำเป็นให้ผู้บริโภค

ทั้งนี้การจัดการแก้ไขการผูกขาด น.ส.ชื่นชมแสดงความคิดเห็นว่า หากสามารถนำกลับมาจัดการโครงสร้างตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ โดยในจุดแรกคือ ค่าผ่านท่อ ถ้าลดเกณฑ์ลงจากการประกันกำไรที่สูงกลับมาเป็นเกณฑ์ของรัฐวิสาหกิจที่ไม่ได้หวังกำไรเกินควร คำนวณคร่าวๆ อาจได้สูงถึง 6,000 ล้านบาทต่อปี ส่วนของการเฉลี่ยก๊าซที่ขายให้โรงแยกก๊าซซึ่งได้ราคาถูกกว่าก็จะได้ 5,000 ล้านบาทต่อปี ถ้าจัดการเรื่องเก็บค่าหัวคิวได้ก็จะได้อีก 3,500 ล้านบาทต่อปี อำนาจผูกขาดกับก๊าซคำนวณแล้วมากกว่า 14,500 ล้านต่อปี ดังนั้นจึงอยากให้รัฐบาลใช้โอกาสตรงนี้ทำประโยชน์ให้ประชาชนอย่างเต็มที่

"เรื่องบัญชีทรัพย์สินมันมีข้อกังขาหลายอย่างว่าทำไมนับแค่ท่อ 3 เส้นที่อยู่บนบกเท่านั้น รมว.การคลังก็พยายามส่งเรื่องนี้ไปสู่การตีความของกฤษฎีกา แต่กลับถูกกดดันจากรัฐมนตรีบางคนที่เกรงว่าการกระทำดังกล่าวจะส่งผลต่อฐานะและราคาหุ้นของ ปตท. และให้ความเห็นว่าเป็นเรื่องของมูลนิธิคุ้มครองผู้บริโภคผู้ยื่นฟ้องและศาลปกครองที่จะต้องดูว่า ปตท.ได้ดำเนินการครบถ้วนตามคำพิพากษาหรือไม่ กลายเป็นว่า หน้าที่ในการรักษาผลประโยชน์เป็นของมูลนิธิคุ้มครองผู้บริโภค" น.ส.ชื่นชมกล่าวแสดงความคิดเห็นต่อความคืบหน้าในการดำเนินการตามคำพิพากษาที่ปรากฏในสื่อมวลชน

ปตท.โฉมหน้ารัฐบาลผู้สวมหมวกนักลงทุน

น.ส.สฤณี อาชวานันทกุล นักวิชาการอิสระด้านการเงิน กล่าวว่าประเด็นที่น่าสนใจซึ่งไม่มีการกล่าวถึงเท่าที่ควรคือการที่รัฐบาลสวมหมวกหลายใบ ทั้งในส่วนของคณะกรรมการกำกับดูแลกิจการพลังงานซึ่งเป็นองค์กรกำกับดูแลกิจการพลังงานตาม พ.ร.บ.พลังงานฉบับใหม่ รัฐบาลโดยกระทรวงการคลังในหมวกเจ้าของ ปตท.ด้วยการถือหุ้นอยู่ถึง 52 เปอร์เซ็นต์ ในหมวกของนักลงทุนที่มุ่งแสวงหากำไรจากการขึ้นลงของราคาหุ้น และในหมวกของหน่วยงานรัฐที่มีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายและวิธีการในการแปรรูปรัฐวิสาหกิจรวมทั้ง ปตท.ตาม พ.ร.บ.เดิม ซึ่งหมวกในฐานะหน่วยงานของรัฐที่บริหารงานเพื่อดูแลผลประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้งถือว่าเป็นหมวกที่สำคัญที่สุด แต่การสวมหมวกหลายใบก็ทำให้การใช้อำนาจบริหารของรัฐทำได้ไม่เต็มที่

การที่รัฐบาลโดยกระทรวงการคลังในฐานผู้ถือหุ้นรายใหญ่จะกำจัด "กำไรผูกขาด" โดยทันทีนั้นไม่ได้ แม้ว่ากระทรวงการคลังจะใช้อำนาจเรียกประชุมคณะกรรมการบริษัท และใช้เสียงข้างมากเพื่อกำหนดมติที่ประชุมในการปฏิบัติตามคำพิพากษาศาลด้วยตัวเองก็ทำไม่ได้ เพราะในกิจการส่งก๊าซผ่านท่อของ ปตท. อำนาจในการกำหนดค่าผ่านท่อขึ้นอยู่กับคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ต้องให้ กพช.กำหนดแก้ไขวิธีการคำนวณค่าผ่านท่อก่อน

ส่วนการที่จะทำให้ผู้ถือหุ้นของ ปตท.อีก 48 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นนักลงทุนรายย่อยอื่นๆ มองเห็นหมวกของรัฐบาลในฐานะผู้ดูแลผลประโยชน์ของประชาชน ต้องเรียกร้องกับเขาในฐานะอื่น โดยการให้ถอดหมวกของนักลงทุนแล้วหันมาใส่หมวกของคนใช้ไฟฟ้าที่ต้องจ่ายค่าไฟแพงจากการผูกขาดของ ปตท.และแม้ว่าเมื่อมูลค่าของ ปตท.เป็นมูลค่าที่ชอบธรรมไม่มีการผูกขาดจะทำให้ราคาลงและกำไรจะหายไป แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าคนจะเลิกเล่นหุ้นของ ปตท.เพราะยังมีปัจจัยความน่าเชื่อถืออื่นๆ ที่นักลงทุนให้ความสนใจ

"หากเราเชื่อมั่นในกลไกตลาดทุน เราก็ต้องเชื่อมั่นว่าตลาดก็จะปรับตัวตามสภาพความเป็นจริงของบริษัท แต่ว่าการปรับตัวนี้ไม่ได้หมายความว่าซื้อหุ้นบริษัทไหนแล้วตกไม่ได้ การลงทุนมีความเสี่ยง ถ้าหากว่าหุ้นจะตกด้วยเหตุผลที่เป็นธรรมอย่างการกำจัดกำไรผูกขาด เราก็ควรจะยินดี" น.ส.สฤณีกล่าว

น.ส.สฤณี กล่าวต่อว่า ล่าสุดมติประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ครั้งที่ 7 (18 ต.ค.50) เห็นชอบให้มีการทบทวนหลักเกณฑ์การคำนวณค่าผ่านท่อ และปรับแก้ตัวแปรการคำนวณ 3 ตัว คืออัตราผลตอบแทนจากการลงทุนที่แท้จริง (IRR on Equity) จากร้อยละ 16 ลดเหลือร้อยละ 12.5 อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ระยะยาวปรับลดจากร้อยละ 10.5 เป็นร้อยละ 7.5 อีกทั้งปรับอัตราหนี้สินต่อทุนจากระดับ 75:25 เป็น 55:45 ให้สะท้อนหนี้สินต่อทุนที่เป็นอยู่จริง โดยเห็นว่ากิจการส่งก๊าซธรรมชาติเป็นกิจการผูกขาดที่มีความเสี่ยงในการทำธุรกิจน้อย แต่ไม่ได้มีการประกาศใช้ เพราะการทบทวนถูกยกให้เป็นหน้าที่ของ รมต.พลังงาน

การวิเคราะห์ที่ผ่านมาบว่ามติที่ประชุมของ กพช.ครั้งที่ 7/2550 นั้น จะมีผลกระทบให้ราคาก๊าซธรรมชาติปรับขึ้น 2.0611 บาทต่อล้านบีทียู (ล้านลูกบาศก์ฟุต) ซึ่งจะทำให้ค่า Ft เพิ่มสูงขึ้น 1.2572 สตางค์ต่อหน่วย และจะมีผลต่อการปรับเพิ่มราคาค่าไฟฟ้าซึ่งมีก๊าซธรรมชาติเป็นต้นทุนในการผลิตถึง 76 เปอร์เซ็นต์ ส่วนการปรับลดอัตรา IRR อัตราดอกเบี้ย และอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนที่อยู่ในสูตรการคำนวณค่าผ่านท่อก๊าซปัจจุบันไม่ได้ทำให้ ปตท.มีการผูกขาดกำไรลดลง เพราะยังสามารถผลักภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้นไปให้ผู้รับซื้อก๊าซด้วยการใช้หลัก cost plus

การปรับสูตรการคำนวณค่าผ่านท่อจากวิธี cost plus เป็นวิธีการกำหนดเพดานราคา (Price Ceilling) โดยหากราคาต้นทุนการผลิตเพิ่มแต่เมื่อไม่สามารถบวกราคาเพิ่มได้เนื่องจากติดเพดานราคาก็หมายความว่ากำไรต้องลดลง เพื่อไม่ให้ ปตท.ผลักภาระไปให้ผู้บริโภค ในส่วนนี้จะเป็นการจัดการกับ "กำไรผูกขาด" ของ ปตท. โดยลดกำไรของ ปตท.ลง เพื่อให้ประชาชนได้ประโยชน์อย่างแท้จริง

น.ส.สฤณี กล่าวต่อมาถึงคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดว่า ไม่ได้กล่าวในประเด็น "กำไรผูกขาด" แต่มุ่งเน้นที่สถานะ "สาธารณสมบัติ" ของท่อก๊าซธรรมชาติ เนื่องจากไม่สามารถบังคับใช้หลักการการแข่งขันกันอย่างเป็นธรรมในทางธุรกิจของบริษัทที่แปรรูป ซึ่งระบุในมาตรา 26 วรรคสี่ของ พ.ร.บ.ทุนรัฐวิสาหกิจปี 2542 ตามเหตุผลที่น.ส.ชื่นชม สง่าราศี กรีเซน กล่าวไว้

ในส่วนของคำพิพากษาของศาลฯ ที่ว่าท่อก๊าซเป็น "สาธารณสมบัติของแผ่นดิน ประเภททรัพย์สินที่ใช้ประโยชน์ของแผ่นดิน" ผู้เป็นเจ้าของจึงเป็นสังคมส่วนรวม ไม่ใช่สมบัติของรัฐบาล กระทรวงการคลัง หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐ ดังนั้นการคิดค่าเช่าท่อก๊าซจึงไม่ใช่เป็นประเด็นที่เข้าข่าย "รายการที่เกี่ยวโยงกัน" ตามกฎของตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่ว่าหากบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ต้องมีการทำธุรกรรมกับผู้เกี่ยวข้องที่มีส่วนได้เสียผู้เกี่ยวข้องนั้นต้องออกจากที่ประชุม แต่กระทรวงการคลังสามารถเป็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการคิดค่าเช่าท่อของ ปตท.ได้แม้จะเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่เพราะกระทรวงการคลังไม่ใช่ "เจ้าของ" ท่อก๊าซ แต่เป็นเพียงผู้ดูแลท่อก๊าซแทนสาธารณชน ตามคำสั่งศาลฯ

ส่วนขอถกเถียงในการคืนท่อก๊าซในทะเลนั้น น.ส.สฤณี แสดงความเห็นว่า แม้ท่อก๊าซในทะเลจะไม่ต้องรอนสิทธิในการก่อสร้าง แต่เป็นทรัพย์สินที่ใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินเหมือนกับท่อก๊าซบนบก ดังนั้นท่อทางทะเลน่าจะเข้าข่ายเป็นสาธารณสมบัติตามแนวทางตีความของศาลฯ

"การพูดถึงสาธารณสมบัติถือเป็นนิมิตรหมายอันดี ประชาชนจะได้หันมาตื่นตัวในเรื่องนี้ ก็จะมองสาธารสมบัติ หรือสาธารณูปโภคพื้นฐานนั้นรัฐควรมีหน้าที่ที่จะกำกับดูแล้วไม่ว่าจะทำเองหรือให้เอกชนทำก็แล้วแต่ โดยอาจจะตั้งกำแพงราคาที่เหมาะสม เพื่อไม่ให้มีกำไรผูกขาดจนเกินไป" น.ส.สฤณีกล่าว

นอกจากนี้น.ส.สฤณี ได้เปิดเผยว่าจากมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 17ธ.ค.50 เรื่อง ปตท.ที่มีใจความสำคัญในการรับทราบคำวินิจฉัยและคำพิพากษาของศาลฯ และเห็นชอบหลักการแบ่งแยกทรัพย์สิน อำนาจ และสิทธิของ ปตท.ให้เป็นของกระทรวงการคลังตามคำพิพากษา โดยมอบหมายให้กระทรวงพลังงานและกระทรวงการคลังรับไปดำเนินการ ส่วนการคิดอัตราค่าเช่าทรัพย์สินที่เป็นระบบท่อมอบหมายให้กระทรวงการคลังโดยกรมธนารักษ์รับไปดำเนินการกำหนดหลักเกณฑ์ค่าเช่าให้แก่ ปตท.ภายใน 3 สัปดาห์

แต่จดหมายของ ปตท.ที่แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์เรื่องมติ ครม.ในวันถัดมาได้สร้างความเข้าใจผิดต่อนักลงทุนและนักวิเคราะห์หลักทรัพย์โดยได้ระบุเพิ่มเติมในส่วนหลักการและทรัพย์สินที่จะโอน นอกจากนี้ยังรวมมูลค่าทางบัญชีของทรัพย์สิน ณ วันที่ 30ก.ย.44 ไว้ที่ประมาณ 15,139 ล้านบาท ซึ่งมติ ครม.ไม่ได้ระบุไว้ จนเป็นกระแสข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์ในการคำนวณผลกระทบต่อราคาหุ้น ทำให้มองว่าการโอนท่อและการคิดค่าเช่าจะมีผลกระทบต่อราคาหุ้นน้อยมาก

"ตัวอย่างเล็กๆ นี้ของ ปตท.แสดงให้เห็นว่าเขาคิดถึงหมวกใบไหนมากกว่ากันระหว่าหมวกของนักลงทุนที่อยากจะเห็นราคาหุ้นขึ้นหรือหมวกของรัฐบาลที่ต้องปกป้องประโยชน์ของสาธารณะ" น.ส.สฤณีกล่าวทิ้งท้าย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท