อาลัย "นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์" : เส้นทางสู่หลักประกันสุขภาพ ก้อนหินที่ขวางหน้า คือบันไดสู่ทางออก

"สอยดาวสอยเดือนที่เกลื่อนฟ้า เพื่อเอามาเย็บสินเสื่อเผื่อคนจน"

                                                             วิทยากร เชียงกูล

 

 

บทกวีข้างต้น ถูกเอ่ยถึงเอาไว้ในหนังสือ "บนเส้นทางหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า" ที่ นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ เล่าถึงประสบการณ์การทำงานในแวดวงสาธารณสุข เมื่อต้องผลักดันเรื่องยากๆ ขับเคลื่อนผลักดันในเรื่องที่ใครๆ มองว่าเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ ให้สำเร็จให้จงได้ ตราบเท่าที่ยังมีความตั้งใจ มีความหวัง และมีความฝัน

 

และมันก็เป็นเช่นนั้น ประเทศไทยในวันนี้ แม้ชื่อของ "สงวน นิตยารัมภ์พงศ์" อาจไม่ใช่ชื่อที่คนส่วนใหญ่คุ้นเคย แต่ในเวลานี้ ไม่มีใครที่ไม่รู้จักโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า "30 บาทรักษาทุกโรค"

 

นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ หรือหมอสงวนของใครๆ คือคนสำคัญที่มีบทบาทหลักในการผลักดันระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้เกิดขึ้นจริงในประเทศไทย ล่าสุด ดำรงตำแหน่งเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพ (สปสช.) เป็นสมัยที่สอง

 

แต่นั่นเป็นเพียงเศษเสี้ยวหนึ่งในชีวิตและอุดมการณ์ของหมอสงวนเท่านั้น

 


ที่มาของภาพ: http://www.mat.or.th/news_detail.php?news_id=1180


 

นายแพทย์สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ เกิดเมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2495 เติบโตมาจากครอบครัวคนจีนในกรุงเทพมหานคร เป็นลูกคนสุดท้องจากพี่น้องทั้งหมด 6 คน

 

หลังจบมัธยมศึกษาตอนปลายจากโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา หมอสงวนเลือกเอ็นทรานซ์เข้าคณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล โดยช่วงที่เรียนอยู่มหาวิทยาลัยหมอสงวนเป็นนักกิจกรรม ได้ออกค่ายในช่วงก่อนเหตุการณ์ 14 ตุลา ซึ่งทำให้ได้พบพานประสบการณ์ที่ไม่เคยประสบมาก่อน อาทิ ความเป็นอยู่ของครอบครัวที่ยากจน ทั้งบ้านมีเงินไม่ถึง 20 บาท

 

สมัยเรียนนั้น หมอสงวนชอบอ่านหนังสือสังคมปริทัศน์ เศรษฐศาสตร์ชาวบ้าน น.ส.พ. มหาราช ซึ่งทำให้เห็นสภาพสังคมชนบทที่ต่างจากสังคมเมืองอย่างสิ้นเชิง นอกจากนี้ ยังเป็นบรรณาธิการหนังสือ "มหิดลสาร" ของมหาวิทยาลัยมหิดลอีกด้วย

 

 

แพทย์ชนบทดีเด่น

จากนั้น ในปี พ.ศ. 2520 นพ.สงวน เรียนจบ และทำงานที่โรงพยาบาลวชิระ กรุงเทพมหานคร 1 ปี ทั้งนี้ช่วงเวลานั้นเป็นช่วงหลังเหตุการณ์ 6 ตุลา 19 ซึ่งมีบรรยากาศความตื่นตัวของนักศึกษา นักศึกษาที่เรียนจบมาใหม่ๆ ทั้งพยาบาล เภสัช ทันตแพทย์ เทคนิคการแพทย์ ล้วนอยากไปทำงานชนบท แม้ไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวก แต่สภาพสังคมเวลานั้นมีความตื่นตัว มีความสำนึกรับผิดชอบต่อสังคม

 

หลังจากนั้น เขาได้เลือกออกไปเป็นแพทย์ชนบท ที่ อ.ราศีไศล จ.ศรีสะเกษ อยู่ 5 ปี ประสบการณ์ของแพทย์ชนบทในคราวนั้น ทำให้ได้เรียนรู้ความแตกต่างระหว่างเมืองกับชนบท ความสะดวกสบาย ความสนุกสนาน สิ่งบันเทิง เครื่องกินเครื่องใช้ที่อุดมสมบูรณ์ ต่างกับความขาดแคลน ความอดอยาก แห้งแล้ง

 

อย่างไรก็ดี นพ.สงวนเคยกล่าวเอาไว้ว่า ช่วงเวลานั้นเป็นช่วงที่ชีวิตมีความสุขมากที่สุด การได้ใกล้ชิดกับชาวบ้านแล้วได้สัมผัสถึงสิ่งที่ชาวบ้านมอบให้อย่างอบอุ่น คือ ความมีน้ำใจ นอกจากนี้ ยังมีทีมงานที่ดี

 

"ถ้าแพทย์มีบทบาทออกไปสู่ชนบทมากขึ้นเรื่อยๆ ก็จะทำให้ชาวบ้านได้รับบริการดีขึ้น ซึ่งแต่ก่อน บริการทางการแพทย์เหล่านี้จะกระจุกตัวอยู่แต่ในเมือง ก็เริ่มเปลี่ยนไป ทำให้บริการต่างๆ เข้าถึงประชาชนกว้างขวางขึ้น แต่มีข้อด้อยคืออาจทำให้ชาวบ้านพึ่งตัวเองน้อยลง เพราะแต่เดิม เขาใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น ของเขาอยู่ การไปดึง ให้เขาหันมาพึ่งบริการ ทางการแพทย์สมัยใหม่ อาจทำให้ชาวบ้าน ทอดทิ้งสิ่งดีๆ บางอย่างในท้องถิ่นที่มีอยู่ไป"

 

 

บนเส้นทางสู่หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า

คุณหมอนักกิจกรรมเช่นหมอสงวน ไม่เคยถือเอาตัวตนเป็นใหญ่ ไม่เคยถือเอาผลงานมาเป็นของตัว แม้ใครต่อใครจะพูดกันว่า ความสำเร็จในโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเกิดขึ้นได้เพราะมีหมอสงวนเป็นผู้ผลักดันหลักก็ตาม แต่หมอสงวนมักจะพูดว่า นี่ไม่ใช่แนวคิดของเขาคนเดียว แต่เป็นความต้องการของหลายๆ คน

 

"บางทีเราดูหนัง เห็นคนที่เจ็บไข้ได้ป่วย เมื่อถึงเวลาต้องรักษาพยาบาล ต้องขายที่นา ขายวัวควาย บางคนอาจไม่รู้หรอกว่าคนบ้านนอก เจอสภาพอย่างนั้นจริงๆ ถึงเราจะมีโครงการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยในอดีต แต่ชาวบ้านที่ไปใช้บริการยังมีความรู้สึกไม่มั่นใจหรือไม่มีศักดิ์ศรี ไม่กล้าพูด เพราะถ้าเป็นไปได้ เขาจะพยายามหาเงินทองมารักษา ถ้าหาไม่ได้ พอเรารักษาเสร็จเคยมีชาวบ้านเอาแมงกีนูนมาให้กินเป็นการตอบแทน"

 

หมอสงวนกล่าวถึงสภาพสังคมของประเทศไทย ว่าเป็นหนึ่งประเทศแต่มีสองสังคม คือ สังคมเมือง และสังคมชนบท ซึ่งมีความแตกต่างกันมาก จึงเห็นว่า สังคมที่ดีควรอยู่กันอย่างเฉลี่ยสุข เฉลี่ยทุกข์ เอื้ออาทรซึ่งกันและกัน คนรวยช่วยคนจน คนแข็งแรงช่วยเหลือคนเจ็บไข้ได้ป่วย แนวคิดลักษณะนี้ได้กลายเป็นแรงบันดาลใจ และเป็นปรัชญาพื้นฐานที่ทำให้หลายๆ คนร่วมกันพัฒนาระบบประกันสุขภาพขึ้นในประเทศไทย

 

โครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ค่อยๆ ก่อตัวขึ้นได้ท่ามกลางอุปสรรคและแรงเสียดทานหลายๆ ประการ จากเดิมที่ประเทศไทยมีระบบประกันสุขภาพเล็กๆ น้อยๆ หลายแบบ เช่น การให้บริการผู้ป่วย ที่มีรายได้น้อย ต่อมาก็ขยายไปสู่ กลุ่มผู้สูงอายุ แล้วก็ขยาย ไปสู่กลุ่มเด็ก แต่เนื่องจากโครงการลักษณะนี้ทำได้ไม่ถ้วนหน้า คนที่จนจริงๆ กลับไม่ได้รับบริการ การทำหลายโครงการส่งผลให้ไม่มีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ มีการศึกษาว่าเมื่อทำทีละโครงการแล้วงบประมาณจะพอหรือไม่ ท้ายที่สุด ทางออกที่ร่วมกันผลักดันคือ การปฏิรูประบบหลักประกันสุขภาพ ให้มีประสิทธิภาพ เข้าถึงโดยถ้วนหน้า และไม่ฟุ่มเฟือย จนเป็นที่มาของโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า

 

โครงการดังกล่าว เป็นที่รู้จักกันในนาม โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค อันเป็นชื่อและตัวเลขที่ฝ่ายการเมืองเห็นว่าเหมาะสม ที่จะทำให้ผู้มารักษามั่นใจว่า เมื่อรับบริการทางสุขภาพแล้ว จะเสียค่าใช้จ่ายเพียงอัตราเดียวแล้วได้รับการดูแลครบถ้วน และการให้ประชาชนจ่ายเงินบ้าง เพื่ออย่างน้อยแสดงถึงความมีส่วนร่วมในการแบกภาระ โดยที่ไม่เป็นเครื่องกีดขวางให้ไม่กล้ามารับบริการ

 

เมื่อโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าได้ริเริ่มขึ้น ส่งผลทั้งด้านบวกและด้านลบ ในด้านบวกคือ การริเริ่มของโครงการก่อให้เกิดการปฏิรูประบบบริการและงบประมาณด้านสาธารณสุข โดยเอาประชาชนเป็นตัวตั้ง มิใช่นำเอาสถานพยาบาลเป็นตัวตั้ง

 

ขณะที่ผลด้านลบคือ แม้มีการปฏิรูประบบในเบื้องต้นแล้ว แต่ระบบรองรับยังไม่เกิด ดังนั้น ทันทีที่การตลาดการเมืองของโครงการ 30 บาทเผยแพร่ออกไป ก็สร้างความคาดหวังให้แก่ผู้รับบริการโดยที่ระบบรองรับยังไม่ได้รับการปฏิรูป ก่อให้เกิดความผิดหวัง และปัญหาบางส่วนตามมา

 

อีกปัญหาใหญ่คือเมื่อระบบงบประมาณสาธารณสุขถูกเปลี่ยนไปจากเดิมที่จ่ายงบประมาณตามขนาดของสถานพยาบาล มาเป็นการจัดสรรงบประมาณโดยยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง ได้สร้างความหวั่นไหวให้เกิดขึ้นแก่บุคลากรของสถานพยาบาลว่าจะไม่มีเงินดำเนินการ

 

อย่างไรก็ดี แม้จะมีความรู้สึกด้านลบต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นก็ตาม แต่ดูเหมือนจะไม่มีใครปฏิเสธปรัชญาพื้นฐาน ว่าด้วยการเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุขของคนในสังคม ซึ่งมิใช่การสงเคราะห์คนจนตามที่มักมีความเข้าใจผิด ดังนั้น การปรับปรุงแก้ไข การสร้างความเข้าใจ รับมือกับทัศนคติด้านลบเกี่ยวกับระบบสาธารณสุขไทย คือสิ่งที่ต้องร่วมมือกันต่อไป

 

คุณหมอแบบที่ นพ.สงวน นิตยารัมภพงศ์ เป็น คือคุณหมอที่ให้ความสำคัญกับการ "สร้างสุขภาพ" มากกว่าการ "ซ่อมสุขภาพ" คือ ต้องการให้ประชาชนมีสุขภาพที่แข็งแรง ซึ่งต้องทำระบบบริการสาธารณสุขให้มีคุณภาพ มิใช่ระบบที่เชื่อว่ายิ่งคนไข้มากยิ่งนำกำไรมา ซึ่งเป็นแนวคิดที่สวนทางกับวิชาชีพแพทย์

 

การจัดสรรงบประมาณรายหัว แบบที่โครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าริเริ่มปฏิรูป คือระบบที่ส่งเสริมว่า ยิ่งประชาชนมีสุขภาพดี หมอก็ได้กำไร หากสถานพยาบาลมีคนมารักษามาก การใช้จ่ายงบประมาณก็ยิ่งมาก ดังนั้น จึงต้องส่งเสริมสุขภาพประชาชนให้แข็งแรง ป้องกันโรคให้มากขึ้น เพื่อจะได้ไม่ต้องสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายโดยไม่จำเป็น อันจะเป็นประโยชน์ระยะยาวของสังคม

 

 

นพ.สงวน นิตยารัมภพงศ์ ใช้เวลายาวนานในการฝ่าฟันอุปสรรค ผลักดันให้ประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงระบบบริการสาธารณสุขได้อย่างทั่วถึง เท่าเทียม และมีศักดิ์ศรี ว่ากันว่า คนดื้อเงียบกัดไม่ปล่อยเช่น นพ.สงวน สามารถพูดเรื่องเดิมได้ซ้ำๆ ยาวนานเป็นสิบปี เพื่อผลักดันให้ระบบสาธารณสุขมีประสิทธิภาพทั่วถึงคนทุกคนโดยเท่าเทียมกัน

 

"อุเบกขา เป็นธรรมะ ข้อที่ยากที่สุด การวางอุเบกขาไม่ได้แปลว่าให้วางเฉยและหยุด ไม่ยุ่ง แต่อุเบกขา แปลว่า ให้ทำในสิ่งที่อยากจะทำ อย่างต่อเนื่อง แต่วางใจกับมัน คือ สำเร็จไม่สำเร็จก็ช่าง ฉันก็จะทำ ไม่เลิกล้ม แต่ไม่คาดหวังว่าจะต้องสำเร็จอย่างเดียว"

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท