Skip to main content
sharethis

สืบเนื่องจากกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) ได้มีคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ลงพื้นที่เพื่อชี้แจงการรังวัดปักหมุดเขตทำเหมืองแร่โปแตช ของบริษัทในเครือบริษัทอิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) เป็นเวลาต่อเนื่องกัน 15 วันคือ ระหว่างวันที่ 28 มกราคม 2551 - 15 กุมภาพันธุ์ 2551 รวม 31 หมู่บ้านโดยกำหนดจะชี้แจงวันละ 2 หมู่บ้านโดยอ้างว่าได้รับความเห็นชอบจากกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานีแล้ว


 


วานนี้ (28 ม.ค.) เป็นวันแรกตามกำหนดการลงพื้นที่ กพร.ซึ่งจะลงพื้นที่ชี้แจงการรังวัดปักหมุดเหมืองแร่โปแตช ณ ศาลากลางบ้าน บ้านหนองตะไก้ หมู่ที่ 4 ซึ่งเป็นที่ตั้งโรงงานแต่งแร่ ตั้งแต่เวลา 09.00 -12.00 น. และตอนบ่ายเวลาประมาณ 13.00 น.เป็นต้นไปกำหนดจะลงชี้แจงที่ ศาลากลางบ้านโนนสูง อ.เมือง จ.อุดรธานี


 


ผู้สื่อข่าวรายงานว่าวันนี้ตั้งแต่เช้าตรู่เวลาประมาณ 07.00 น.ชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานีกว่า 400 คน ได้พากันทยอยเดินทางมายังศาลากลางบ้านหนองตะไก้ พร้อมทั้งได้ใช้เครื่องขยายเสียงให้ข้อมูลชาวบ้านตลอดสองข้างทางถึงความไม่ชอบมาพากลของการลงพื้นที่อย่างเร่งด่วนของ กพร. และเหตุผลในการคัดค้านโครงการเหมืองแร่โปแตชที่จะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และสุขภาพ ของคนในชุมชน โดยปักหลักอยู่บริเวณศาลากลางบ้านหนองตะไก้


 


จนกระทั้งเวลาประมาณ 10.00น.ไม่ปรากฏว่ามีเจ้าหน้าที่ กพร. ลงพื้นที่แต่อย่างใด ทางกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานีจึงเคลื่อนขบวนเข้ามาปักหลักชุมนุมที่หน้าห้องทำงานของผู้ว่าราชการจังหวัด ซึ่งได้รับแจ้งว่าราชการที่กรุงเทพฯ โดยได้มี นายกองเอก วิลาศ รุจิพัฒนพงษ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัด เจ้าหน้าที่อุตสาหกรรมจังหวัด และปลัดด้านความมั่นคง มาเจรจากับกลุ่มผู้ชุมนุมเพื่อหาข้อยุติ


 


นายกองเอก วิลาศ รุจิพัฒนพงษ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี กล่าวว่า "ทางจังหวัดได้ทำหนังสือไปถึง กพร. แจ้งขอให้ระงับการลงพื้นที่ชี้แจงการรังวัดปักหมุดไปแล้วเมื่อวันศุกร์ที่ 25 มกราคม 2551 ที่ผ่านมาด้วยเกรงจะเกิดปัญหาความขัดแย้งรุนแรงในพื้นที่ แต่ยังไม่ได้รับการยืนยันเป็นลายลักษณ์อักษรจาก กพร.กลับมาว่าจะมีการลงพื้นที่หรือไม่อย่างไร แต่เท่าที่ได้พูดคุยกันด้วยวาจาทางเจ้าหน้าที่ที่ได้รับคำสั่งบอกว่าจะไม่ลงพื้นที่แล้ว" รองผู้ว่าราชการจังหวัดกล่าว


 


นายประจวบ แสนพงษ์ ประธานกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี กล่าวว่า "ทาง กพร.และทางจังหวัดอุดรธานี ต่างโยนความรับผิดชอบกันไปมาจนเกิดความสับสนไม่เข้าใจ และยิ่งในพื้นที่ที่มีความขัดแย้งก็ยิ่งอ่อนไหว ตนมีตำแหน่งเป็นนายกองค์การบริหารส่วนตำบลห้วยสามพาด ซึ่งเป็นองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ไม่เคยให้รับแจ้งเรื่องการลงพื้นที่เลย มีแต่สั่งจัดการกันไปเอง แล้วพอปัญหาเกิดขึ้นคนท้องถิ่นก็ต้องเดือนร้อนเจ็บตัวกันไป เช่น ปัญหาที่รุนแรงจนต้องสูญเสียชีวิต ที่โครงการโรงถลุงเหล็กสหวิระยา จ.ประจวบคีรีขันธุ์ ตนคิดว่าทาง กพร.ต้องเลิกทำลับ ๆ ล่อ ๆ ต้องเปิดเผยโปร่งใส วันนี้กลุ่มได้มาขอหนังสือยืนยันความชัดเจนเรื่องระงับการลงพื้นที่เพื่อการรังวัดปักหมุด ที่วางไว้ยาวถึง 15 วันในพื้นที่ที่ขัดแย้งกันมาก ๆ แล้วถ้าเกิดปัญหาเหมือนที่ประจวบใครจะรับผิดชอบ" นายประจวบกล่าว


 


นายอนุสรณ์ เนื่องผลมาก อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) กล่าวว่า "เรื่องโครงการเหมืองแร่โปแตช ทาง กพร.มอบการตัดสินใจทุกอย่างไว้ที่จังหวัดอุดรธานีซึ่งเป็นเจ้าพนักงานอุตสาหกรรมท้องที่ ทุกอย่างทางจังหวัดจึงเป็นคนกำหนด ตลอดจนแผนการลงพื้นที่ครั้งนี้ทางจังหวัดก็เป็นคนเชิญทางเราไปชี้แจง เราก็ส่งเจ้าหน้าที่ไปเหมือนไปเป็นวิทยากร การจะลงหรือไม่ลงพื้นที่อยู่ที่จังหวัดที่เขาต้องยืนยันอย่างชัดเจน เพราะเขาต้องดูแลเรื่องความปลอดภัยให้เจ้าหน้าที่ของเราที่ส่งไปด้วย


 


ด้าน นายสุพจน์ เลาวัลย์ศิริ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี กล่าวว่า "ตอนนี้ทางจังหวัดอุดรานีทำหน้าที่เป็นเหมือนไปรษณีย์ที่จะนำความเห็นของชาวบ้านส่งไปที่ กพร. และรอฟังการตัดสินใจจาก กพร. ซึ่งเป็นหน่วยงานส่วนกลางที่ต้องการผลักดันให้เกิดโครงการ ทางจังหวัดไม่ได้มีอำนาจตัดสินใจอันนี้ชาวบ้านเข้าใจบทบาทของทางจังหวัดดีว่าไม่ได้ต้องการส่งเสริมโครงการเหมืองแร่โปแตช เพียงแต่ต้องทำหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยในพื้นที่ และคอยช่วยเหลืออำนวยความสะดวกให้ทางเจ้าหน้าที่ จาก กพร. โครงการนี้ดำเนินการมายาวนาน เปลี่ยนผู้ว่าราชการจังหวัดมา 3 คนแล้ว ด้วยความที่โครงการนี้ไม่ชัดเจนโปร่งใสทำให้ชาวบ้านไม่ไว้วางใจข้าราชการในพื้นที่ การโยนความรับผิดชอบไปที่จังหวัดฝ่ายเดี๋ยวมีแต่จะสร้างความขัดแย้งมากขึ้น" นายสุพจน์กล่าว


 


ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมกลุ่มผู้ชุมนุมได้ชุมนุมรอคอยหนังสือยืนยันจากทาง กพร. อยู่บริเวณหน้าห้องทำงานผู้ว่าจนกระทั้งเวลา 15.30 น. ก็ยังไม่มีหนังสือยกเลิกการลงพื้นพื้นชี้แจงการรังวัดปักหมุดจาก กพร.แต่อย่างใด


 


ทางจังหวัดอุดรธานีจึงได้ทำหนังสือขึ้นฉบับหนึ่งเป็นคำสั่งจังหวัดอุดรธานี ระบุไม่ระงับการลงพื้นที่ชี้แจงการรังวัดปักหมุดโครงการเหมืองแร่โปแตชในพื้นที่ อ.เมือง และ อ.ประจักษ์ศิลปาคม หากมีการลงพื้นที่ชี้แจงทางจังหวัดก็ไม่รับรองความปลอดภัย ฝ่ายกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี จึงเข้าใจและได้ยื่นหนังสือต่ออธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) และผู้ว่าราชการจังหวัด อีกโดยมีเนื้อหาในหนังสือระบุข้อเสนอว่า กพร. ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐ ต้องหยุดการดำเนินการใด ๆ ของโครงการเหมืองแร่โปแตชอย่างไว้ก่อนในขณะนี้ และกลับไปสร้างกลไกลรองรับการมีส่วนร่วมของประชาชนเพื่อให้ขบวนการดำเนินโครงการเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 มาตรา 57,66,67 โดยต้องปรับปรุงกฎหมายแร่ และกฎหมายในความรับผิดชอบของ กพร. ให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 เสียก่อน จึงมาจัดให้มีการปรึกษาหารือเบื้องต้นตามมาตรา 88/9 ของ พรบ.แร่ปี 2545 โดยละเอียดและสร้างขบวนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงตามรัฐธรรมนูญปี 2550


 


ทั้งนี้นางมณี บุญรอด กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี กล่าวว่า "เป็นที่แน่ชัดแล้วว่า กพร.ไม่จริงใจกับปัญหาที่เกิดในพื้นที่และลอยตัวอยู่เหนือปัญหา เพียงแค่ทำหนังสือยืนยันยุติการลงพื้นที่ 15 วันนี้เพื่อคลีคลายความตึงเครียดที่เกิดขึ้นก็ไม่ทำ จังหวัดอุดรธานีต้องมารับหน้าเสื่อแทน และประชาชนก็ยังต้องอยู่อย่างหวาดระแวง ว่า กพร.จะลักไก่ลงพื้นที่เหมือนที่เคยมา จึงได้กำชับกับชาวบ้านทุกคนในพื้นที่ให้เฝ้าระวังเกรงว่าจะมีการลักไก่ลงพื้นที่ และตนก็ไม่อาจรับรองความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ กพร.อีกได้หากมีการแอบลงพื้นระหว่างนี้" นางมณีกล่าว ก่อนจะสลายการชุมนุมไปในเวลาประมาณ 16.00 น.


 


 






ความขัดแย้งเรื่องรังวัดโครงการเหมืองแร่โปแตซอุดรธานี


 


สืบเนื่องจากปัญหาการรังวัดปักหมุนพื้นที่เหมืองแร่และโรงแต่งแร่โครงการเหมืองแร่โปแตชอุดรธานีซึ่งยืดเยื้อมานานนับแต่บริษัทเอเซียแปซิฟิคโปแตชคอเปอร์เรชั่น จำกัด (เอพีพีซี) ได้ยื่นคำขอประทานบัตรทำเหมืองแร่โปแตชในพื้นที่จังหวัดอุดรธานีตั้งแต่ปี 2446 เป็นต้นมา และตามขั้นตอนขอประทานบัตรดังกล่าวจะต้องมีการรังวัดปักหมุดกำหนดขอบเขตเหมืองแร่ โดยระบุให้มีการแจ้งให้ราษฎรทราบล่วงหน้าอย่างเป็นทางการ


 


แต่ปรากฏว่าการดำเนินการเป็นไปอย่างไม่เปิดเผยโปร่งใส เช่น เข้ารังวัดพื้นที่โดยไม่แจ้งให้เข้าของที่ดินทราบ จนชาวบ้านต้องแจ้งความดำเนินคดีต่อเจ้าหน้าที่รังวัด เกิดการปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่รังวัดและชาวบ้าน จนเป็นเหตุให้มีการแจ้งความดำเนินคดีกับแกนนำกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี ด้วยข้อหาบุกรุก ทำร้ายร่างกาย บุกรุกและทำให้เสียทรัพย์ไม่ต่ำกว่า 4 คดีในระหว่างปี 2547 -2549 และที่เป็นที่รับรู้มากที่สุดคือ ในปี 2549 ด้วยปัญหาความขัดแย้งเรื่องการรังวัดปักหมุดพื้นที่โรงงานแต่งแร่ และเขตเหมืองแร่ใต้ดิน บริษัทได้แจ้งความดำเนินคดีกับ 5 แกนนำกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี ซึ่งภายหลังจากที่ บริษัทอิตาเลียนไทย ดิเวล๊อปเมนต์ จำกัด มหาชน ได้เข้ามาซื้อกิจการของบริษัทเอพีพีซี อัยการสั่งฟ้อง 5 แกนนำกลุ่มคัดค้านโครงการฯ และมีการควบคุมตัวแกนนำทั้ง 5 ในห้องขังศาลจังหวัดอุดรธานี


 


อย่างไรก็ตามระหว่างคดีความอยู่ในชั้นศาลมีการทำข้อตกลงระหว่างจังหวัดอุดรธานีและกลุ่มอนุรักษ์ฯ ให้มีการระงับการรังวัดปักหมุดอันเป็นเหตุความขัดแย้งไว้ก่อน จนเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2550 ศาลพิพากษา ยกฟ้อง 5 แกนนำกลุ่มอนุรักษ์ฯ


 


"ศาลได้พิจารณาแล้วเห็นว่าการกระทำของจำเลยทั้งห้าแสดงได้ว่าเป็นการกระทำเพื่อรักษาทรัพยากรธรรมชาติ และปกป้องสิทธิตามรัฐธรรมนูญ จึงมีคำพิพากษายกฟ้อง และจำเลยทั้งห้าไม่มีความผิด"


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net