Skip to main content
sharethis

เมื่อกลายเป็นพรรคฝ่ายค้านที่ถูกโดดเดี่ยว แน่นอนว่านโยบายที่พรรคประชาธิปัตย์ได้หาเสียงไว้พลอยทำไม่ได้ไปด้วย บทบาทหลักจึงเป็นเรื่องการตรวจสอบการทำงานรวมทั้งเสนอแนะต่อรัฐบาล ทั้งการตั้งกระทู้ถาม ยื่นญัตติให้มีการอภิปรายหรือเสนอร่างกฎหมาย เป็นต้น ซึ่งเรื่องหนึ่งที่ไม่อาจขาดไปได้ คือ การแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ อันเป็นส่วนหนึ่งของภาคใต้ที่พรรคประชาธิปัตย์ครองเสียงมายาวนาน


 


สถานการณ์ความรุนแรงที่ยังไม่ยอมลดลง และมีคนตายทุกวัน หากทุกคนช่วยกันแก้ปัญหาโดยไม่แบ่งพรรคแบ่งฝ่าย ก็เชื่อได้ว่าความสงบจะเกิดขึ้นเร็ววัน ดังนั้นพรรคประชาธิปัตย์จะจัดกระบวนทัพอย่างไรตามบทบาทของตัวเอง เพื่อให้รัฐบาลสนองตอบตามความต้องการของพวกเขา ในขณะที่ฝ่ายรัฐบาลเองคงไม่ตั้งกระทู้ถามในประเด็นที่ไปกดดันฝ่ายตัวเองแน่


 


อ่านบทสัมภาษณ์ "เจะอามิง โตะตาหยง" สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) จังหวัดนราธิวาสเขต 1 ในฐานะรองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ และเป็นผู้ดูแล ส.ส.ของพรรคใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้


 



 


-วางบทบาทหรือแนวทางการขับเคลื่อนของพรรคในฐานะฝ่ายค้านต่อการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างไร


ที่จริงคนที่เป็นผู้แทนราษฎรในสภา ไม่ว่าเป็นฝ่ายค้านหรือฝ่ายรัฐบาล ก็สามารถที่จะทำหน้าที่ของตัวเองได้คือการตรวจสอบรัฐบาล แต่โดยมารยาทแล้วคนที่อยู่ฝ่ายรัฐบาล ส่วนใหญ่จะไม่พูด เพราะรัฐมนตรีหรือนายกรัฐมนตรีคือคนพรรคเดียวกัน จึงเป็นภาระของพรรคฝ่ายค้านต้องทำหน้าที่


 


พรรคฯให้ความสำคัญลำดับต้นๆ ต่อการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ พรรคฯเองได้ย้ำว่าปัญหาไม่ได้เกิดขึ้นแต่เฉพาะในภาคใต้ แต่มีผลกระทบไปถึงในระดับอื่นๆ ทั่วประเทศ ความสนใจปัญหาภาคใต้ ทุกภูมิภาคให้ความสนใจ เพราะปัญหาความมั่นคงเป็นปัญหาใหญ่ มีคนเสียชีวิตทุกวัน โดยฝ่ายตรงข้ามมีเป้าหมายชัดเจน ว่าสิ่งที่เขาทำเพื่อต่อต้านอำนาจรัฐ


 


ทีนี้กระบวนการคิดของผู้แทนราษฎรพรรคประชาธิปัตย์ ในขณะที่เราไม่มีอำนาจเข้าไปบริหารบ้านเมือง หน้าที่ของเราคือการตรวจสอบในประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในภาคใต้จากรัฐบาล โดยเฉพาะเรื่องการวางนโยบายการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ รัฐบาลต้องมีความชัดเจนอย่างไร ผมซึ่งทำหน้าที่ฝ่ายค้านต้องสอบถามรัฐบาล อันไหนที่เป็นความเคลือบแคลงใจของประชาชนที่เราได้รับข้อมูลมาก็จำเป็นต้องสอบถามรัฐบาล แม้กระทั่งกับแนวทางการแก้ปัญหาแต่ละเรื่องแต่ละประเด็น ต้องสอบถาม


 


ทีนี้กระบวนการในการสอบถาม คนที่ทำหน้าที่ต้องตั้งกระทู้หรือยื่นญัตติ ในการสอบถามรัฐบาลได้ ประเด็นทีสำคัญ คือ หนึ่ง เมื่อตั้งญัตติหรือกระทู้ในสภาแล้ว ต้องดูว่าประธานสภาผู้แทนราษฎรให้ความสำคัญเหมือนกับที่พรรคฝ่ายค้านให้หรือไม่


 


ประเด็นคือว่า คนที่ทำหน้าที่ประธานสภาผู้แทนราษฎรวันนี้ เป็นคนที่มาจากพรรคฝ่ายรัฐบาล เพราะฉะนั้นการที่พรรคฝ่ายค้านจะสอบถามรัฐบาล ในประเด็นต่างๆ ในบางเรื่องการบรรจุระเบียบวาระอาจจะมีเทคนิคหรือแทคติกในการบรรจุระเบียบวาระที่ทำให้ประเด็นในการสอบถามจากผู้แทนพรรคฝ่ายค้าน ล่าช้าไม่ทันสถานการณ์ก็เป็นได้ ที่ผมยกตัวอย่างนี้ไม่ใช่ประธานสภาผู้แทนราษฎรจะทำอย่างนั้น แต่ถ้าเขาจะทำอย่างนั้นก็สามารถทำได้ เพราะถึงประธานฯ จะวางตัวเป็นกลางอย่างไร ก็คงหาคนอย่างนั้นยาก


 


วันนี้เราได้พูดว่าทุกคนที่เป็นผู้แทนของพรรคประชาธิปัตย์ คงต้องคุยกันว่าใครที่มีความถนัดกันในด้านใดในเรื่องการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเรามีผู้แทนอยู่ 4 - 5 คน ก็คงต้องแบ่งหน้าที่กันทำ คนที่มีความคล่องตัวแล้วรู้ปัญหาทางเศรษฐกิจก็คงต้องพูดในเรื่องเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องกับภาคใต้กับแนวทางแก้ปัญหาพร้อมกับเสนอแนะต่อรัฐบาล


 


ใครถนัดด้านสังคมก็ต้องเอาเรื่องสังคมไปพูด ด้านสิทธิมนุษยชนก็ต้องว่ากันไป หลายเรื่องที่ต้องคิดกัน แต่กระบวนการคิด แม้กระทั่งการปรับปรุงองค์กรต่างๆ ซึ่งเป็นเรื่องของรัฐเราก็ต้องติดตามว่า รัฐได้ดำเนินการให้มีประสิทธิภาพอย่างไร ตามกรอบความคิดที่เรามีอยู่ เราก็ให้มีข้อเสนอแนะ แต่ถ้าไปเสนอแนะในรูปแบบธรรมดามันก็ไม่ดี


 


หมายความว่า ผู้แทนไปเจอคนที่เป็นผู้ใหญ่ในบ้านเมืองว่าเสนอว่าสำคัญอย่างไร มันก็ไม่ใช่การทำงานในระบบรัฐสภา ดังนั้นกระบวนการเสนอในสภาให้มีประสิทธิภาพคือ หนึ่ง มีการบันทึกไว้ในสภาว่ามีการพูดถึงปัญหาและมีแนวทางแก้อย่างไร จากสภาชิกที่ตั้งกระทู้หรือยื่นญัตติ แล้วก็มีการบันทึกไว้เป็นประวัติศาสตร์


 


ถ้ามีเรื่องดีๆ ที่พรรคฝ่ายค้านนำเสนอแล้ว รัฐบาลไม่รับไปดำเนินการ การพูดในสภานี่แหละจะเป็นหลักฐาน จริงใจหรือไม่จริงใจในการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ อย่างวันนี้ที่ผมยกตัวอย่างง่ายๆ ในรัฐบาลรักษาการของ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ขณะนี้เกี่ยวกับการตั้งศอ.บต. (ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้) ซึ่งจัดตั้งขึ้นมาใหม่หลังจาก ศอ.บต.ถูกยุบ พรรคประชาธิปัตย์ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านขณะนั้น พยายามจะชี้แนะว่า ต้องคืน ศอ.บต.และ พตท.43 (กองบัญชาการผสมพลเรือน ตำรวจ ทหาร) ขึ้นมาให้ได้ เพื่อจะเป็นที่รองรับปัญหาของชาวบ้าน


 


รัฐบาลชุดนั้นก็คิดในกรอบจริงแล้วก็ตั้ง ศอ.บต.ขึ้นมาใหม่ แต่การตั้งขึ้นมาใหม่ขณะนี้เป็นตัวหลอกเท่านั้นเอง เพราะอำนาจของศอ.บต.ที่รองรับด้วยกฎหมายจริงๆ ในขณะนี้ยังไม่มี ยังไม่ได้ออกกฎหมาย ส่วนร่างกฎหมายที่เสนอในสมัยรัฐบาลพล.อ.สุรยุทธ์ ก็ยังไม่ผ่าน


 


ดังนั้น ศอ.บต.ตอนนี้เหมือนยักษ์ไม่มีกระบองนั่นเอง คือมีแต่ตัวแต่อำนาจไม่มี เพราะฉะนั้นการไม่มีอำนาจรองรับตามกฎหมายแล้วคุณจะไปแก้ปัญหาได้อย่างไร


 


พรรคประชาธิปัตย์จึงต้องเสนอให้ออกกฎหมายเพื่อให้ศอ.บต.ได้รับการรองรับด้วยกฎหมายโดยเร็ว แต่กระบวนในสภามันจะเสียงข้างมากอยู่ด้วย ถ้าหากพรรคประชาธิปัตย์เสนอไปแล้วรัฐบาลไม่รับ ก็หมายถึงว่ากฎหมายฉบับนี้ก็ต้องตกไปอีก เพราะเสียงพรรคฝ่ายค้าน ถึงอย่างไรก็ต้องแพ้ฝ่ายรัฐบาลอยู่แล้ว


 


แต่ผมก็ยังคาดหวังและอยากเรียกร้องให้ทุกฝ่ายว่า ขณะที่พวกผมเสนอแนวทางการแก้ปัญหาทั้งหมดเกี่ยวกับปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น อย่าคิดว่าเป็นรัฐบาลหรือฝ่ายค้าน อันไหนเป็นเรื่องที่ดีกับพี่น้องประชาชน ต่อบ้านเมือง ก็สนับสนุนเสีย เพราะขณะนี้กรอบความคิดที่มองการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ต้องยอมรับว่าต้องอยู่ที่พรรคประชาธิปัตย์


 


ผมอยากให้คนที่เป็นรัฐบาลมีความเชื่อมั่นในตัวสมาชิกพรรคฝ่ายค้านว่า การเสนอปัญหาต่างๆ ในสภาผู้แทนราษฎรต่อไปนี้ มันไม่ใช่เพราะเรามีอคติ ไม่ใช่เพราะผู้แทนภาคใต้ แพ้การเลือกตั้ง จึงต้องยื่นญัตติ ตั้งกระทู้หรือเสนอร่างกฎหมายเพื่อแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่ให้คิดว่าหน้าที่ของคนเป็นผู้แทนต้องเอาความทุกข์ยากของพี่น้องประชาชนมานั่งพิจารณาแก้ปัญหา


 


แล้วหน้าที่ที่สำคัญคือการออกกฎหมาย ซึ่งจำเป็นต้องให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชน กระบวนการนี้ฝ่ายค้านคิดได้ แต่การยกมือสนับสนุนในสภาคงจะสู้ฝ่ายรัฐบาลไม่ได้ แต่ถ้ารัฐบาลไม่ตั้งอคติ ผมว่าการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้คงจะสำเร็จ


 


-คิดว่าการเสนออะไรต่อไปคงยากที่จะได้รับการตอบสนอง


ไม่ยากในแง่กฎหมายเพราะถึงอย่างไรเราต้องทำอยู่แล้ว แต่การจะให้ผ่านสภาไปได้นั้น ปกติที่ผ่านมา ถ้าฝ่ายค้านเสนออะไรแล้วรัฐบาลจะไม่เห็นด้วย แต่ทีนี้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่อยากให้ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลไปคิดอย่างนั้น คิดว่าเพื่อประโยชน์ของทุกฝ่ายเมือง เราต้องช่วยกันทั้งฝ่ายค้านฝ่ายรัฐบาล อย่างน้อยที่สุด คนอื่นไม่ต้องไปนั่งศึกษาหาข้อมูลใหม่


 


-แล้วตอนนี้ได้แบ่งหน้าที่หรือยังว่าจะให้ใครทำอะไร


ต้องมีแน่นอนเพื่อให้ชัดเจน ช่วงวันที่ 30 มกราคม - 1 กุมภาพันธ์ 2551 มีการประชุมกันเพื่อวางแนวทางในการทำงานที่พัทยา จังหวัดชลบุรี ว่าใครต้องรับผิดชอบเรื่องอะไร ซึ่งผมอยากให้ประชาชนมั่นใจในการทำงานของ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ถึงแม้จะเป็นพรรคฝ่ายค้าน แต่ผมเชื่อว่าพวกเราต้องทำหน้าที่อย่างเต็มที่


 


สิ่งที่ผมอยากขอต่อพี่น้องประชาชนในเรื่องฐานข้อมูล ไม่ท่าจะอยู่พื้นที่ไหน ทั้งภาคเหลือภาคกลาง ภาคใต้ ถ้าดูแล้วมันจะเป็นประโยชน์ต่อบ้านเมือง หรือต่อการแก้ปัญหา เรื่องอไรก็ได้ ขอให้ส่งข้อมูลไปที่พรรค หรือส.ส.ที่อยู่ใกล้ชิดกับท่านก็ได้ หรือส่งมาที่ผมในนามรองโฆษกพรรคฯ เพื่อจะได้รวบรวมให้พรรคอีกทางหนึ่ง


 


-นอกจากการออกกฎหมายรองรับศอ.บต.แล้ว มีเรื่องอื่นที่จะผลักดันอีกหรือไม่


มีหลายเรื่อง แต่กรอบคิดวันนี้คือ เอาเรื่องศอ.บต.ขึ้นมาก่อน ถ้าเอาหลายเรื่องในเวลาเดียวกันกลัวว่ามันจะไม่มีประสิทธิภาพ ผลที่ออกมาจะไม่ดี ซึ่งหลังการประชุมที่พัทยาแล้ว คิดว่าร่างกฎหมาย ศอ.บต.ที่พรรคจะเสนอน่าเสร็จ


 


-สาระสำคัญเป็นอย่างไร


ต้องผ่านกระบวนการพิจารณาของพรรคที่พัทยาก่อนจึงจะนำเสนอได้ เพราะอาจต้องมีการแก้ไขหลายอย่าง เราจึงต้องให้สมาชิกพรรคไปดูอีกครั้ง


 


-ทำไมต้องเอาศอ.บต.ขึ้นมาก่อน


หลักใหญ่คือ การที่จะให้คนมาทำงานนั้น ต้องมีอำนาจที่รองรับด้วยกฎหมาย ถ้าไม่เอาเรื่องนี้ก่อน คิดว่าเรื่องอื่นจะตามคงยาก อย่างน้อยที่สุด ศอ.บต.เกิดขึ้นมาแล้วกฎหมายรองรับ


 


และอย่างน้อยที่สุดก็จะเป็นฐานให้กับพี่น้องประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม สามารถไปพูดคุยให้ ศอ.บต.รองรับได้ รวมทั้งเรื่องงบประมาณการทำงานต่างๆ ทุกอย่าง ศอ.บต.จะเป็นกลั่นกรองเป็นอันดับแรกก่อนจะถึงรัฐบาล


 


เดิมที ศอ.บต.ก็เป็นที่คาดหวังของพี่น้องประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ วันนี้คนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็ยังมีอีกมาก ปัญหาที่เกิดขึ้นก็ยังไม่ได้ลดหย่อนไปมากกว่าเก่า แต่คนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมเขาไม่รู้จะไปร้องเรียนที่ไหน โดยเฉพาะก่อนหน้านี้ ในช่วงรัฐบาลที่มาจากการแต่งตั้งเป็นช่วงสุญญากาศ ประชาชนไม่รู้จะไปร้องเรียนที่ไหน คนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมไม่รู้จะไปพึ่งใคร ถ้าศอ.บตเกิดขึ้นมาก็รองรับได้ตลอด


 


ต่อไปใครจะเป็นรัฐบาลก็แล้วแต่ ศอ.บต.ก็จะเป็นตัวแม่ข่ายในการควบคุม เป็นส่วนหน้าในการแก้ปัญหา ซึ่งอยู่ใกล้ชิดกับประชาชน


 


-ตอนนี้ทหารเป็นหน่วยงานที่มีบทบาทหลักในการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ พรรคประชาธิปัตย์จะหยิบเรื่องนี้มาตั้งกระทู้ถามรัฐบาลในเรื่องนี้ด้วยหรือไม่


พรรคประชาธิปัตย์พูดถึงแนวนโยบายการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ว่า ถ้าหากพรรคประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาล พรรคบอกว่า การเมืองต้องนำการทหาร การให้ความสำคัญในทางการเมืองเป็นอันดับต้น


 


ผมว่ามันมองคนละส่วนกัน การมองในมุมของทหารมองว่า การใช้อำนาจ ใช้กำลัง กดดัน สามารถยุติสถานการณ์การณ์ได้ แต่ในฝ่ายการเมืองมองว่า การใช้กำลังมันจะสามารถควบคุมผู้คนได้ในช่วงระยะเวลาสั้นๆ และอายควบคุมได้บางกลุ่ม วันไหนที่เกิดจุดบกพร่องขึ้นมาแล้วไฟมันจะลุกโชนขึ้นมา


 


ที่เป็นห่วงคือการใช้กำลังกดดันมากๆ ที่ฝ่ายการเมืองเป็นห่วงมากๆ กลัวว่ามีการใช้กำลังกับผู้บริสุทธิ์ ซึ่งอาจไม่ตั้งใจก็ได้ แต่ถ้าเกิดผิดพลาดไปถูกผู้บริสุทธิ์ขึ้นมา มันก็จะเป็นเงื่อนไขให้ฝ่ายตรงข้าม ไปคิดปลุกระดมได้ว่าขณะนี้ยังเกิดการใช้อำนาจรังแกพี่น้องประชาชน


 


แล้วประวัติศาสตร์ ต้องย้อนกลับไปดูว่า ไม่มีสงครามใดที่จบลงด้วยการใช้กำลัง สงครามและปัญหายุติบนโต๊ะ ไม่ว่าตั้งสงครามที่ไหนยุติด้วยการพูดคุย ซึ่งจะพูดคุยได้ ต้องรู้ลึกและรู้จริงถึงปัญหาที่เกิดขึ้น นี่คือสิ่งที่ต้องไปทำ


 


-แล้วเรื่องการใช้กฎหมาย 3 ฉบับในจังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ กฎอัยการศึก พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (พรก.ฉุกเฉินฯ) และพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2550 ทางพรรคจะหยิบยกมาพูดคุยด้วยหรือไม่


มันต้องมองสองด้าน ด้านหนึ่งคือประชาชน เขาบอกว่าไม่ต้องการ  พรก.ฉุกเฉินฯ ก็มีเหตุผล เขาบอกว่า สืบเนื่องจากการมี พรก.ฉุกเฉินฯ นี่แหละที่ทำให้ประชาชนส่วนหนึ่งถูกรังแก แต่ถ้าใช้กับผู้ก่อความไม่สงบก็ไม่ว่ากัน แต่สิ่งที่เขาพูด ว่ามีการใช้อำนาจตาม พรก.ฉุกเฉินฯ ไปฟาดหัวฟาดหางไปถูกเอาผู้บริสุทธิ์


 


ส่วนในฝ่ายราชการบอกว่า ถ้าไม่มีอำนาจ พรก.ฉุกเฉินฯ อยู่ในมือ ก็ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ การทำงานไม่ฉับไว แต่สิ่งที่เราต้องย้อนไปดูว่า ตั้งแต่มีพรก.ฉุกเฉินฯ มา 2 - 3 ปี ถามว่า ที่เขาว่ามีอำนาจพิเศษนี้ สามารถแก้ปัญหาได้หรือไม่ สถานการณ์ยุติหรือเบาบางลงหรือไม่ ก็ไม่เหมือนกัน


 


วันนี้ต้องคิดสองฝ่าย ฝ่ายประชาชนต้องถอยไปก้าวหนึ่ง ฝ่ายกองกำลังก็ต้องถอยไปก้าวหนึ่ง ก็ต้องอาศัยการเมืองเป็นตัวเชื่อมตรงกลาง


 


ผมเชื่อว่าถ้าฝ่ายที่ก่อความไม่สงบถอยไปซักก้าว ฝ่ายการเมืองก็สามารถผลักดันได้ ถ้าทุกคนไม่ถอย มันก็มีแต่การนองเลือด มีการเสียเลือดเนื้อกันอยู่อย่างนี้ แล้วมันก็ไม่เป็นผลดีต่อสังคม ต่อพี่น้องทั้งหลายด้วย


 


-แล้วจะตั้งกระทู้ให้รัฐบาลทบทวนนโยบายเก่าๆที่มีอยู่ด้วยหรือไม่


บางเรื่องจำเป็นต้องตั้งกระทู้เพื่อสอบถาม บางเรื่องก็ให้ทบทวน ผมถึงอยากบอกว่า การแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่ได้อยู่ที่ตัวงบประมาณ แต่อยู่ที่กระบวนการคิด กรอบความคิด เป็นหลักใหญ่ แล้วเข้าใจถึงปัญหาและวิถีชีวิต ถ้ามีกฎหมายดี วิเศษขนาดไหนถ้าไม่มีความเข้าในวิถีชีวิตของคนที่นี่ก็ไม่สามารถแก้ได้


 


-ถ้าทบทวน ต้องทบทวนเรื่องอะไรบ้าง


ต้องดูทีละเรื่อง ตอนนี้ยังไม่อาจบอกได้ เพราะต้องผ่านกระบวนการคิดร่วมกันภายในพรรคก่อน


 


-เรื่องอื่นๆ นอกจากปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ ส.ส.ในพื้นที่ต้องทำอยู่แล้วยังมีเรื่องอะไรอีก


ที่จริงพวกผมเป็นผู้แทนของปวงชน หมายถึงของประชนทั้งหมด วันนี้เขามองว่า ผุ้แทนภาคใต้เวลาจะอ้าปากก็รู้เลยว่าจะพูดเรื่องอะไร ที่จริงก็มีหลายเรื่องที่พวกผมให้ความสำคัญ อย่างประเด็นปัญหาสังคมทั่วไป เช่น กรณีความไม่ชอบมาพากลเรื่องบัตรประชาชนอเนกประสงค์ หรือ สมาร์ทการ์ด


 


ผมเชื่อว่าต่อไปข้างหน้าไม่ใช้พูดเป็นแต่เฉพาะปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างเดียว ปัญหาโดยทั่วไปเรามีข้อมูลอยู่ และต้องทำหน้าที่ควบคู่ไปกับการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ เรื่องสิ่งแวดล้อมก็ต้องดูแลกัน เพราะเป็นปัญหาระดับโลก แต่ดูแล้วองค์กรรัฐให้ความสำคัญน้อยมาก เรื่องเยาวชน การศึกษา มีหลายเรื่อง


 


อย่างการศึกษา ซึ่งเกี่ยวข้องกับปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย ซึ่งผู้แทนในจังหวัดชายแดนภาคใต้บอกว่า สภาพการศึกษาโดยรวมจะมาสอดคล้องกับวิถีชีวิตของประชาชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้อย่างไร แต่ต้องฐานของการศึกษาขั้นพื้นฐานที่เป็นนโยบายของรัฐบาลมาเป็นที่ตั้งก่อน แล้วให้สอดรับกับปัญหาและวิถีชีวิตของคนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ จะทำอย่างไร


 


ปัญหาสิ่งแวดล้อม ก็อยากฝากว่ามีหลายเรื่อง เช่น เรื่องขยะมูลฝอย ซึ่งกลายเป็นปัญหาใหญ่มากหลังจากที่องค์กรบริหารส่วนตำบล(อบต.) ทุกแห่ง มีรถเก็บขยะของตนเองแต่ไม่มีที่ทิ้งขยะ เลยทิ้งเรี้ยราด ทิ้งตามแหล่งน้ำธรรมชาติบ้าง คนที่ใช้น้ำก็ได้รับมลพิษจากขยะพวกนั้น นี่จะเป็นประเด็นปัญหาที่สำคัญในอนาคต ที่ทุกคนมองข้ามไป


 


ปัญหานี้ผมเองก็ได้รับผลกระทบเช่นนี้โดยตรงด้วย และไม่ใช่เฉพาะในจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างเดียว ปัญหานี้มีทั่วประเทศ เราก็ต้องถามรัฐบาลด้วยว่าจะมีนโยบายเรื่องนี้อย่างไร ต้องถามว่าเขามีนโยบายนี้หรือยัง และมีประสิทธิภาพหรือไม่


 


นอกจากนี้ยังมีประเด็นเรื่องรอยเลื่อนมีพลังในประเทศไทย ซึ่งมีร้อยกว่าแห่ง บางแห่งเท่าที่ทราบรัฐมีข้อมูลอยู่ แต่ไม่อยากเปิดเผยเพราะกลัวชาวบ้านตื่นตระหนก อย่างรอยเลือนใกล้เขื่อนบางลาง ในจังหวัดยะลา ถามว่ารัฐมีแผนรองรับหรือไม่หากเกิดแผ่นดินไหวรุนแรง แล้วส่งผลกระทบให้เขื่อนบางลางแตกขึ้นมา ดังนั้นอยากให้รัฐชี้แจงให้ชัดว่า หากมีแผ่นดินขึ้นมา จะกระทบกับตัวเขื่อนหรือไม่ ถ้ากระทบแล้วจะรุนแรงขนาดไหน ผมกลัวจะเหมือนเหตุการณ์คลื่นสึนามิ ซึ่งเกิดขึ้นมาคนก็ว่าธรรมชาติลงโทษ โดยไม่ได้เตรียมรับมือ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net