Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis


จอน อึ๊งภากรณ์ เคยให้สัมภาษณ์กับ "ประชาไท" ถึงอนาคตของทีวีสาธารณะ และตั้งคำถามตัวใหญ่ๆ ว่า ทีวีที่ตั้งต้นเพื่อสาธารณะนี้จะเป็นสาธารณะในทางไหน ระหว่าง "คุณธรรม" กับ "ประชาธิปไตย" สำหรับผมและ "กองบรรณาธิการประชาไท" นั้น นี่คือคำถามที่แหลมคมที่มีต่อความเป็นอยู่และเป็นไปของทีวีสาธารณะภายใต้ชื่อของ TPBS


 


ยิ่งเมื่อความหมายของ  "คุณธรรม" กับ "ประชาธิปไตย" นั้นถูกใช้เป็นเครื่องมือของการต่อสู้ของสองกลุ่มอำนาจด้วยแล้ว ยิ่งทำให้สนามการแย่งชิงทีวีสาธารณะน่าสนใจและน่าทำความเข้าใจมากยิ่งขึ้น


 


ถ้ายังไม่เลือนลางไปนัก การรณรงค์ด้าน "คุณธรรม" เป็นวาทกรรมหลักของกลุ่มต่อต้านทักษิณ ตลอดจนคณะรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 เราเห็นโครงการ "คุณธรรมนำไทย" เครื่องมือของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) เพื่อใช้รุกทางความคิดและเป็นเสมือนซอฟท์แวร์ที่ใช้ในการจัดการมวลชน  "คุณธรรม" ยังเป็นเหตุผลประการแรกๆ ของโครงการและนโยบายของรัฐหลายโครงการตลอดปีเศษที่ผ่านมา ไม่เท่านั้น ยังเป็นแก่นแกนหลักของ "เศรษฐกิจพอเพียง" ที่เป็นเสมือนโปรแกรมสำเร็จรูปที่จะมากจะน้อยก็ถูกนำมาใช้ในการพัฒนาหรือใช้ในการบริหารอำนาจ


 


ขณะที่ "ประชาธิปไตย" นั้น ก็เป็นเครื่องมือชั้นดีของการรุกจากกลุ่มทุนนิยมและทุนโลกาภิวัตน์ อย่าลืมว่า ทักษิณและพรรคไทยรักไทยก็กอดคำนี้ไว้ใช้ต่อสู้แม้ในยามที่ต้องถ่อยร่น พ่ายแพ้ และกลายเป็นจุดแข็งแทบจะเพียงประการเดียวที่ทำให้เกิดแนวร่วมต้านรัฐประหาร และได้รับแรงหนุนจากนานาชาติที่ยึดประชาธิปไตยเป็นสรณะ


 


ขณะที่ประชาธิปไตยเป็นจุดอ่อนของคณะรัฐประหารและพันธมิตรของคณะรัฐประหาร "คุณธรรม" ก็เป็นจุดอ่อนของเครือข่ายทักษิณ


 


แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า "คุณธรรม" จะเป็นจุดอ่อนของกลุ่มต้านรัฐประหารไปด้วย เพราะกลุ่มที่ต้านรัฐประหารจำนวนมาก แม้จะตั้งคำถามกับคุณธรรมโดยเฉพาะคุณธรรมแบบที่เป็นอยู่ในสังคมไทยที่เอาแต่เชิดชูคนดีปล่อยให้กดขี่เต็มบ้านเต็มเมืองแล้วจงใจละเลยความเป็นมนุษย์ (เพราะไม่ว่าคนดีหรือไม่ดีต่างก็เป็นมนุษย์ทั้งนั้น) กระนั้นก็ตั้งคำถามกับประชาธิปไตยอย่างที่เป็นอยู่ในสมัยทักษิณเช่นเดียวกัน


 


ผมไม่มีปัญญาจะอธิบายอะไรข้างต้นให้เป็นวิชาการได้มากกว่านี้ แต่หากการอธิบายข้างต้นพอใช้ได้ เราก็จะเห็นว่า สนามของการชิงพื้นที่ในทีวีสาธารณะ TPBS  นั้นถูกรั้งดึงจากแรงสุดขั้วสองด้าน และนั่นเป็นเหตุผลว่า ทำไมจึงเกิดภาพการรีบเร่งตั้งกรรมการนโยบายชั่วคราวเพื่อกำหนดทิศทางใน TPBS และจากตัวบุคคลที่นั่งเป็นกรรมการนโยบายชั่วคราว หรือจากการเผยแพร่รายการหลังการปิดตัวหรือจอมืดของทีไอทีวี ก็คงไม่ต้องบอกว่า ฝ่ายใดเป็นฝ่ายชนะในสนามแห่งนี้


 


ไม่ต้องเอาไรมาก เวทีแถลงแรกๆ ผ่านช่องทางออกอากาศ TPBS ของกรรมการชั่วคราว เราก็จะเห็นคำถามแล้วว่า ทีวีสาธารณะที่ไหนที่ปล่อยให้กรรมการมากำหนดว่า อะไรที่ประชาชนดวรดูหรือไม่ควรดู คอยกำหนดว่าอะไรที่ดีกับประชาชน ไปๆ มานี่ก็แค่ระบอบผู้ใหญ่ปกครองเด็ก หรือเห็นประชาชนเป็นไพร่ มีแต่คนมีความรู้ และเรียกกันเองว่า "คนดี" ที่จะคอยกำหนดการรับรู้ของประชาชนได้ ขณะที่ทีวีเสรีแบบเดิมๆ ก็ปล่อยให้โฆษณาและกลไกตลาดเป็นผู้กำหนดว่าประชาชนควรดูอะไรไม่ควรดูอะไร ซึ่งก็มอมเมาอีกแบบหนึ่ง


 


คำถามก็คือ ประชาชนที่เห็นความเลวร้าย หรือผิดพลาดของรัฐบาลสมัยทักษิณในน้ำหนักต่างๆ กันไป แต่รักประชาธิปไตยรักระบบ ระบอบ และเข้าใจความสำคัญของหลักการและหลักเกณฑ์ หลักนิติธรรม รักความเป็นมนุษย์ของทั้ง คมช. และของทักษิณ ขณะเดียวกันก็ไม่เอาโฆษณาชวนเชื่อ ไม่เอาการบังคับให้รักคนดี ไม่เชิดชูคุณธรรมเพื่อการกดขี่ อยากเห็นการพัฒนาที่เท่าทันและยั่งยืน ไม่มักง่าย เอาแต่สังคมสงเคราะห์ โปรยทาน โดยไม่ยอมสร้างโครงสร้างที่ดีที่เคารพและตระหนักถึงสิทธิและเสรีภาพ คนเหล่านี้มีจำนวนมาก คนเหล่านี้จะอยู่ที่ไหน หรือจะมีพื้นที่ในทีวีสาธารณะหรือไม่


 


พื้นที่เล็กๆ ที่ไม่ใช่ทั้งสองอย่างนั้น และไม่ใช่ตรงกลางแบบประนีประนอมน่ะมีไหม


 


"สาธารณะ" ที่ให้ความหมายถึง คนทุกคนอย่าง "เท่าๆ กัน" น่ะมีไหม ใน "บ้านเมือง(ที่ไม่ใช่)ของเรา"


 


เพราะสำหรับเรา "คุณธรรม" คือความเท่าเทียม และ "ประชาธิปไตย" ก็ต้องเป็นของคนด้อยโอกาสด้วย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net