Skip to main content
sharethis

หลังจากที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ประสานไปยังสำนักราชเลขาธิการ เพื่อนำรายชื่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดใหม่ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย ในวันที่ 6 ก.พ.นี้ นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี จะได้นำรายชื่อครม.ทูลเกล้าฯ ถวายพร้อมนำว่าที่รัฐมนตรี 35 คน เข้าเฝ้าฯ เพื่อถวายสัตย์ปฏิญาณตนก่อนรับตำแหน่งในเวลา 16.30 น. วันเดียวกัน โดยได้แจ้งให้ว่าที่รัฐมนตรี มาพร้อมกันที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล เวลา 15.00 น. เพื่อถ่ายภาพร่วมกัน ก่อนจะเดินทางออกจากทำเนียบ ด้วยรถบัสไปยังพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน


 


ทั้งนี้ มีรายงานข่าวว่า หากมีการโปรดเกล้าฯ และครม.ชุดใหม่ถวายสัตย์ปฏิญาณในวันที่ 6 ก.พ.แล้ว จะมีการประชุมครม.นัดพิเศษ ก่อนวันหยุดเสาร์-อาทิตย์นี้ คือในวันศุกร์ที่ 8 ก.พ.เวลา 09.30 น.เนื่องจากนายสมัครต้องการให้แต่ละกระทรวงสรุปแนวทางนโยบายรัฐบาลแบบกว้างๆ ก่อนแถลงอย่างเป็นทางการ นอกจากนี้ เพื่อให้รัฐมนตรีแต่ละพรรคแนะนำตัว


 


สำหรับทีมโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ล่าสุดตำแหน่งโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี หรือโฆษกรัฐบาล ยังคงมีชื่อนายจักรภพ เพ็ญแข เป็นแคนดิเดท เนื่องจากนายสมัครต้องการให้นายจักรภพดำรงตำแหน่งทั้งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีและโฆษกประจำสำนักนายกฯ โดยวางตัวทีมรองโฆษกไว้ ได้แก่ นายณัฐวุฒิ ไสยเกื้อ, น.ส.ศุภรัตน์ นาคบุญนำ จากพรรคพลังประชาชน และน.ส.จณิสตา ลิ่วเฉลิมวงศ์ จากพรรคชาติไทย



 


นักวิชาการชี้ทำ"ไฮโดรชิล"อีสานไม่ได้


นักวิชาการได้ออกมาคัดค้านนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล ที่นายกรัฐมนตรีประกาศจะเดินหน้าโครงการระบบการจัดการส่งน้ำแบบไฮโดรชิลในพื้นที่ภาคอีสานทันทีนั้น ผศ.ดร.ยรรยงค์ อินม่วง อาจารย์คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ชี้ว่า ระบบการจัดการส่งน้ำแบบไฮโดรชิลของประเทศอิสราเอล ที่นายสมัครอ้างว่าไปดูงานมาเมื่อปี 2520 แล้วจะนำมาใช้ในประเทศไทย โดยจะผันน้ำจากแม่น้ำโขงมานั้น ตนมั่นใจว่าไม่สามารถนำหลักการเดียวกันนี้มาใช้กับภาคอีสานในประเทศไทยได้ เพราะพื้นที่อิสราเอล เป็นทะเลทราย 100% ฝนตกมาก็กักเก็บน้ำเอาไว้ไม่ได้ ต้องไปหาน้ำจากพื้นที่ข้างเคียง อิสราเอลต้องไปเอาน้ำจากทะเลสาบ ซึ่งอยู่ที่รอยต่อของ 3 ประเทศ คือ จอร์แดน ซีเรีย และอิสราเอล วิธีการก็คือ ขุดดินบริเวณพื้นที่เกษตรกรรมแล้วเอาถังคอนกรีตฝังลงไป จากนั้นก็ต่อท่อน้ำจากแหล่งน้ำต้นทุน นำน้ำมาเก็บไว้ในถังดังกล่าวแล้วทำระบบเปิด ปิดน้ำแบบสปริงเคิล เพื่อนำน้ำมาใช้ในแปลงผัก เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่เพราะชาวกรีกโบราณก็ใช้หลักการเดียวกันนี้ ดึงน้ำมาใช้ในระบบเกษตรกรรมเช่นเดียวกัน แต่ไม่ได้หมายความว่า ทุกพื้นที่ที่ขาดน้ำจะสามารถใช้ระบบนี้ได้ เพราะต้องขึ้นกับพื้นที่และสิ่งแวดล้อมรอบๆ ด้วย


 


กรณีระบบน้ำแบบไฮโดรชิล ที่อิสราเอลนั้น ที่ทำได้เพราะระบบเกษตรกรรมของเขาเป็นเกษตรกรรมรายใหญ่ ต้องลงทุนและใช้งบประมาณสูงมาก แต่ภาคอีสานบ้านเรามีแต่เกษตรกรรายย่อย เอาระบบนี้มาใช้ไม่ได้แน่ เพราะต้องลงทุนสูง


 


"ระบบไฮโดรชิลของอิสราเอล ก็ไม่ใช่เรื่องการจัดการน้ำแบบมหัศจรรย์ แบบที่นายสมัครอ้าง เพราะเมื่อปี 2548 รัฐสภาอิสราเอลมีการอภิปรายเรื่องนี้กันอย่างกว้างขวางว่า ระบบดังกล่าวเป็นการจัดสรรน้ำที่ล้มเหลว เพราะมีการพิสูจน์พบว่า ทำให้ดินเค็มมากขึ้น อีกทั้งทำให้เกิดการแย่งน้ำกันเองของชาวสวนผักในพื้นที่ใกล้เคียงกัน จนในที่สุด ต้องมีการแก้ไขระบบใหม่ โดยการให้แต่ละชุมชนเข้าไปบริหารจัดการน้ำกันเอง แทนที่จะให้รัฐบาลกลางเป็นผู้จัดการ รวมทั้งเริ่มนำเทคโนโลยีใหม่มาใช้ คือ การเอาน้ำเค็มมาทำเป็นน้ำจืดกันแล้ว"


 


 


เสนอหลักการจัดการน้ำในพท.อีสาน


ผศ.ดร.ยรรยง กล่าวอีกว่า ภาคอีสานมีความหลากหลายของพื้นที่สูงมาก การจัดการน้ำจะมาใช้รูปแบบเดียวแบบตายตัวไม่ได้ ทั้งนี้ หลักการบริหารจัดการน้ำที่ถูกต้องคือ 1.ต้องเอาเกษตรกรที่มีฐานะยากจนที่สุดเป็นตัวตั้ง ไม่ใช่คิดแบบเอาผู้ผลิตรายใหญ่เป็นตัวตั้ง 2.ต้องให้ชุมชนเข้าไปมีส่วนร่วม และสำคัญที่สุดคือ ระบบการจัดการน้ำต้องยืดหยุ่น เช่น จ.ชัยภูมิ เป็นภูเขาสูง ใช้รหัสวิดน้ำเข้านาได้ จ.มหาสารคาม จะต้องขุดคลองซอยเพื่อนำน้ำเข้านา ส่วน จ.ขอนแก่นมีความหลากหลายของพื้นที่สูงอาจจะต้องผสมผสาน เป็นต้น


 


"ยืนยันว่าน้ำในภาคอีสานมีเพียงพอ เพราะมีทั้งน้ำฝนและน้ำในอ่างน้ำอาจจะมีบางพื้นที่ที่น้ำเข้าไม่ถึง ต้องไปหาทางแก้ปัญหาตรงนี้ เช่น การสร้างอ่างน้ำขนาดเล็ก จากการสำรวจพบว่า พื้นที่เกษตรกรรมหลายแห่งขาด และต้องการอ่างน้ำขนาดเล็กมากกว่าการสร้างระบบน้ำใหญ่โตอย่างที่นายกฯ สมัครบอก ทั้งนี้ ระบบน้ำท่อมีบทเรียนมหาศาลมาจากการสร้างน้ำระบบท่อ ที่ อ.หนองเรือ จ. ขอนแก่นมาแล้ว เวลานี้อ่างเก็บน้ำจากน้ำระบบท่อ กลายเป็นซากปรักหักพังเกลื่อนทุ่งนาที่ อ.หนองเรือ" ผศ.ดร.ยรรยงระบุ



 


ระบุใช้ทฤษฎี"ในหลวง"ได้ผลมากกว่า


ด้าน ดร.รอยล จิตรดอน ผู้อำนวยการสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร กล่าวว่า จากข้อมูลพบว่าภาคอีสานมีฝนตกเฉลี่ยประมาณ 1,000 มิลลิเมตรต่อปี และกลายเป็นน้ำ 50,000 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ต่อปี และไหลลงแม่น้ำโขงราว 20,000 ล้านลบ.ม.ต่อปี และเนื่องจากสภาพภูมิประเทศที่มีเนินสูงสลับกัน ทำให้ไม่สามารถสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ได้มากเหมือนกับภาคเหนือ จึงต้องใช้ระบบการกระจายน้ำ และที่ผ่านมา ก็มีโครงการตัวอย่างการจัดการน้ำโดยชุมชนที่ จ.บุรีรัมย์ พบว่าถ้าทำตามทฤษฎีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มาใช้เก็บกักน้ำในสระน้ำ ในไร่นาที่มีอยู่ แล้วจะไม่เกิดปัญหาขาดน้ำ ซึ่งขณะนี้ กำลังพยายามขยายรูปแบบไปยังพื้นที่อื่นๆ


 


"การจัดการน้ำแบบไฮโดรชิลนั้น ไม่ใช่ว่าจะไม่มีปัญหาเลย ให้สอบถามการประปาดูว่าแต่ละปีน้ำที่แจกจ่ายให้กับคนใน กทม.รั่วไหลกี่เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ตามบ้านเรือนต่างๆ ยังต้องติดตั้งปั๊มน้ำเอาไว้ ทั้งที่กทม.เป็นพื้นที่ราบ ดังนั้น แค่ กทม.ครอบคลุมพื้นที่แค่ 1,000 ตารางกิโลเมตร ยังแก้ปัญหาระบบการไหลของน้ำไม่ได้ แล้วภาคอีสานที่เฉลี่ยความสูง 30-40 เมตรแล้ว จะทำระบบอุโมงค์ส่งน้ำคงมีปัญหาตามมา" ดร.รอยลกล่าว


 


 


ทส.ชี้ไอเดีย"สมัคร"ทำยากไม่คุ้ม


ทางด้านนายศักดิ์สิทธิ์ ตรีเดช ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เปิดเผยถึง นโยบายที่นายกฯ ประกาศจะผันน้ำจากแม่น้ำโขงมาใช้ในภาคอีสาน ว่า เป็นแนวทางที่มีการดำเนินการกันอยู่ แล้ว โดยทส.มีคณะกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทย ซึ่งทำหน้าที่หารือประเทศเพื่อนบ้านเกี่ยวกับการดำเนินการโครงการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรแม่น้ำโขง


 


ส่วนแนวคิดการเจาะอุโมงค์เพื่อเป็นเส้นทางลำเลียงน้ำจากแม่น้ำโขงของนายกฯ นั้น ทส.จะเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย แต่ในเบื้องต้นจะเปิดรับข้อมูล ข้อดี ข้อเสีย จากนักวิชาการและกลุ่มเอ็นจีโอก่อน หากใครมีข้อมูลใดๆ ขอให้ติดต่อเข้ามาที่ ทส.เพราะในทางปฏิบัติจริงนั้นแนวคิดการเจาะอุโมงค์ เพื่อเป็นเส้นทางลำเลียงน้ำจากแม่น้ำโขงยังไม่สามารถกระทำได้ เนื่องจากต้องผ่านการพิจารณาความคุ้มค่า และการเลือกเทคโนโลยีมาใช้ โดยความเป็นไปได้ในการนำน้ำจากแม่น้ำโขงมาใช้ในไทยนั้น อาจจะใช้วิธีส่งตรงไปยังชาวบ้าน หรือดึงน้ำขึ้นมาเก็บไว้ก่อน หรือการขุดเป็นอุโมงค์


 


"มันต้องมีทางเลือกที่มากกว่านี้ ข้อมูลตอนนี้ยังไม่เพียงพอต่อการตัดสินใจ เราต้องมองผลกระทบทั้งในระยะสั้นและระยะยาว และนำรายละเอียดมาดูเปรียบเทียบ" นายศักดิ์สิทธิ์ กล่าวและว่า ขณะนี้ สถานการณ์น้ำในประเทศไทยยังไม่ถึงขั้นวิกฤติ แต่มีแนวโน้มเสื่อมโทรมลง เนื่องจากหลาย สาเหตุ อาทิเช่น ปัญหาภัยธรรมชาติ การบุกรุกพื้นที่ของประชาชน ส่งผลให้แหล่งน้ำตื้นเขิน และไม่สามารถเก็บกักน้ำตามธรรมชาติได้" นายศักดิ์สิทธิ์กล่าว


 


 


 



ที่มา : เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net