จดหมายถึง "อานันท์" : ความเห็นต่างว่าด้วยประชาธิปไตยเสียงข้างมาก


โสภณ   พรโชคชัย


---------------------

ชื่อบทความเดิม : ขอเห็นต่างจากนายอานันท์ ปันยารชุน

 




 

 

 

เรียน  นายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี

 

เมื่อวานนี้ (5 กุมภาพันธ์ 2551) ท่านได้แสดงปาฐกถาในงานเสวนาวิชาการ เรื่อง "บทเรียนเลือกตั้ง 23 ธันวาคม 2550" ณ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ผมเห็นว่าความคิดบางประการอาจไม่เป็นประชาธิปไตยและอาจเป็นผลเสียต่อการพัฒนาประชาธิปไตยในประเทศไทย จึงขออนุญาตแสดงความเห็นต่างไว้ ณ ที่นี้

 

 

ประเด็นที่ 1: "หลายครั้งที่รัฐบาลมาจากการเลือกตั้ง อาจจะเป็นรัฐบาลที่มีจิตใจเป็นประชาธิปไตยน้อยที่สุด"

สิ่งที่ท่านกล่าวนี้เคยได้รับการพิสูจน์ทราบด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์แล้วหรือไม่ หาไม่ การกล่าวเช่นนี้อาจถือว่าเลื่อนลอย ใช้ความรู้สึกของท่านเองโดยไม่มีหลักฐาน และอาจเข้าข่ายให้ร้ายผู้อื่น

 

ประเด็นที่ 2: "ท่านพุทธทาสเคยบอก แม้ประชาธิปไตยคือเสียงข้างมาก แต่ถ้าเสียงข้างมากไม่ดี เป็นเสียงเลวๆ ประเทศชาติจะรอดพ้นไปได้อย่างไร จึงได้เสนอคำว่า ธรรมาธิปไตย หมายถึงว่า ประชาธิปไตยที่ยั่งยืน ต้องมีธรรมะในใจ"

ท่านพุทธทาสคงไม่ได้ตำหนิเสียงส่วนใหญ่ของประชาชนอย่างแน่นอน เสียงส่วนใหญ่ที่ไม่มีความเป็นธรรม คงเป็นเสียงของหมู่โจร แต่เสียงส่วนใหญ่ของประชาชนคือเสียงสวรรค์ที่เราพึงเคารพ เราพึงเคารพในความเป็นมนุษย์ตั้งแต่ระดับตาสีตาสาจนถึงผู้ที่มีฐานะและการศึกษาที่ดีเช่นท่านอย่างเสมอหน้ากัน ท่านยอมรับความเท่าเทียมนี้ได้หรือไม่

 

ในทางศิลปวิทยาการนั้น เสียงส่วนใหญ่คงใช้ไม่ได้ คนส่วนใหญ่ย่อมไม่รู้เท่าผู้เชี่ยวชาญส่วนน้อยที่สามารถสร้างจรวดไปดวงจันทร์ได้ แต่ในทางสังคมและการเมือง ทุกคนรู้เท่าทันกัน ดังนั้นเราจึงต้องใช้เสียงส่วนใหญ่เป็นหลัก ท่านจะอาศัยข้อยกเว้นจำเพาะส่วนน้อยมาละทิ้งมติมหาชนส่วนใหญ่ไม่ได้

 

ประเด็นที่ 3: "ประชาธิปไตยไม่ได้หมายถึงการเลือกตั้งอย่างเดียว . . . ถ้าผู้มาใช้ช่องโหว่เป็นคนฉลาด เก่งแกมโกง ตั้งใจมาโกง  ก็สามารถใช้ประโยชน์จากช่องโหว่นั้นหาประโยชน์ให้ตัวเองได้โดยไม่มีใบเสร็จรับเงิน"

แน่นอนประชาธิปไตยไม่ได้หมายเฉพาะถึงการเลือกตั้ง ยังมีองค์ประกอบอื่นอีกมากมาย แต่หากไม่มีการเลือกตั้งให้ได้รัฐบาลโดยมติของมหาชน ย่อมเป็นเผด็จการ การคิดว่าจะมีใครหน้าไหนขี่ม้าขาวมาโปรด ย่อมขาดความเป็นประชาธิปไตยตั้งแต่แรกคิดแล้ว

 

ถ้ามี "คนเลว" มาแสวงหาอำนาจตามครรลองประชาธิปไตย แล้ว ทำไม "คนดี" เช่นท่าน จึงไม่ใช้ครรลองนี้ทำงานเพื่อชาติบ้าง การวิพากษ์วิจารณ์ผู้อื่นว่าโกงกินโดยไม่มีใบเสร็จ ซึ่งก็แสดงว่าท่านไม่อาจหาหลักฐานมากล่าวหาใครได้ เป็นการวิจารณ์ที่เหมาะสมและเปี่ยมคุณธรรมแล้วหรือ

 

ประเด็นที่ 4: "คำว่าประชาธิปไตยได้ถูกนำไปใช้ประโยชน์เพื่อประโยชน์ของตนเอง สังเกตได้จากประเทศคอมมิวนิสต์ต่าง ๆ ล้วนใช้คำนำหน้าประเทศว่า ประชาธิปไตย เช่น  จีน หรือโรมาเนีย ..."

ประเทศสังคมนิยมนั้น ใช้คำว่าประชาธิปไตยเนื่องจากถือว่าตนปกครองโดยคนส่วนใหญ่หรือผู้ใช้แรงงานของประเทศ ที่ไล่กษัตริย์หรือนายทุนส่วนน้อยที่ขูดรีดไปแล้ว จึงมีอีกคำพูดหนึ่งว่า "เผด็จการโดยชนชั้นกรรมาชีพ (คนส่วนใหญ่)" แนวคิดสังคมนิยมเห็นว่า การที่คนส่วนใหญ่ได้มีโอกาสปกครองประเทศคือการเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง

 

ผมเชื่อว่าท่านก็ทราบดีว่าปรัชญาสังคมนิยมเป็นอย่างไร และการบิดเบือนภาพ "คอมมิวนิสต์" ของฝ่ายตะวันตกให้ดูเป็นเผด็จการเป็นอย่างไร ท่านไม่ควรทำให้ประเด็นประชาธิปไตยถูกบิดเบือน

 

ประเด็นที่ 5: "แต่ผู้นำหลายประเทศในโลกนี้ใช้ประชาธิปไตยเพื่อประโยชน์ของตัวเอง  เช่น  ฮิตเลอร์ ผ่านระบบการเลือกตั้งมาตลอด ไม่เคยทำรัฐประหาร หรือเปรองของอาร์เจนตินา มาร์กอสของฟิลิปปินส์  หรือมูชาร์รัฟของปากีสถาน  ก็อยู่ในอำนาจ 7-8 ปีจากการเลือกตั้ง  ซึ่งเป็นเรื่องตลกมากที่ทุกประเทศเป็นประชาธิปไตยหมด   แต่ไม่เคยมีใครพูดถึงสาระของประชาธิปไตยที่มีความชอบธรรม"

บุคคลข้างต้นนั้นเป็นคนดีในขณะได้รับเลือกตั้ง ประชาชนเลือกถูกต้องแล้ว แต่การที่ในเวลาต่อมาบุคคลเหล่านี้กลายเป็นทรราช ฉ้อราษฎร์บังหลวง จะถือเป็นความผิดของประชาชนได้อย่างไร พวกเขากำจัดศัตรูทางการเมือง จัดฉากโกงเลือกตั้งรอบต่อมาเพื่อสืบทอดอำนาจ ล้วนเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นภายหลัง

 

ทรราชเหล่านี้บ้างก็ถูกทหารกลุ่มอื่นยึดอำนาจ และประวัติศาสตร์ก็พิสูจน์มาเสมอว่า ผู้ยึดอำนาจที่ทำท่าว่าเป็นคนดี (ที่ไม่ต้องผ่านการเลือกตั้ง) ในตอนแรก ก็ล้วนแต่กลายร่างเป็นทรราชเสมอ เราจึงควรเชื่อมั่นในการตัดสินใจของประชาชน ไม่ใช่ของเผด็จการรายใหม่

 

ประเด็นที่ 6: "วันนี้เราต้องยอมรับว่าเรากลับไปตั้งต้นอยู่ที่จุดเดิมเมื่อปีกว่ามาแล้ว หรือเมื่อ 6-7 ปีที่แล้ว จะโทษใครไม่ได้ แต่ถ้าจะโทษคงต้องโทษสังคมไทยทั้งสังคม จะโทษคนซื้อขายเสียงอย่างเดียว หรือชาวนาชาวไร่ก็ไม่ถูก"

ผมว่าคนที่ผิดหวังคงเป็นท่านในฐานะคนส่วนน้อย แต่ประชาชนส่วนใหญ่คงสมหวังดีใจกัน ท่านกล่าวโทษคนไทยทั้งสังคมที่ไม่เอาด้วยกับท่าน ท่านยังโทษการซื้อเสียงได้อย่างไรในขณะที่กลไกของรัฐได้พยายามสกัดกั้นพรรคที่ชนะอย่างสุดฤทธิ์เพียงแต่ไม่สัมฤทธิผลเท่านั้น

 

ผมว่าท่านควรจะทบทวนความเข้าใจเกี่ยวกับประชาธิปไตยเสียใหม่ การที่ไม่ได้ยืนอยู่ข้างคนส่วนใหญ่ ย่อมเป็นความผิดปกติ ถ้าท่านเชื่อมั่นว่า "คนไทยมีสิทธิทัดเทียมกัน ซึ่งเป็นหัวใจของประชาธิปไตย" ดังที่ท่านกล่าวไว้ ท่านต้องยอมรับเสียงส่วนใหญ่ที่ไปเลือกตั้งโดยไม่ได้ถูกซื้อเสียงดังที่ท่านกล่าวถึง

 

 

 

จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา

 

ด้วยความเคารพ

นายโสภณ พรโชคชัย

 

 

 

 

หมายเหตุ:

             อานันท์ยกพุทธทาสติง เสียงข้างมากเลว ชาติไปไม่รอด กรุงเทพธุรกิจ 5 กุมภาพันธ์ พ.. 2551 17:53:00 www.bangkokbiznews.com/2008/02/05/WW10_WW10_news.php?newsid=227013

            จากข้อ

            ข้างมากเลวชาติล่ม อานันท์ติงผู้นำแบ่งแยกประชาชน กองบรรณาธิการ ไทยโพสต์ 6 กุมภาพันธ์ 2551 www.thaipost.net/index.asp?bk=thaipost&post_date=6/Feb/2551&news_id=154171&cat_id=501

            จากข้อ

            โปรดดู "เผด็จการชนชั้นกรรมาชีพ" ซึ่งจำกัดความว่า "The "dictatorship of the proletariat" is a term employed by Marxists that refers to a temporary state between the capitalist society and the classless and stateless communist society; during this transition period, "the state can be nothing but the revolutionary dictatorship of the proletariat". The term does not refer to a concentration of power by a dictator, but to a situation where the proletariat (working class) would hold power and replace the current political system controlled by the bourgeoisie (propertied class). This transitional stage is also referred to as socialism by many Marxists" ได้ที่ http://en.wikipedia.org/wiki/Dictatorship_of_the_proletariat

            จากข้อ

            อานันท์ ถ้าเสียงข้างมากไม่ดี ชาติจะรอดพ้นได้อย่างไร มติชน 06 กุมภาพันธ์ พ.. 2551 หน้า 2 www.matichon.co.th/matichon/matichon_detail.php?s_tag=01p0105060251&day=2008-02-06&sectionid=0101

            จากข้อ

            นายโสภณ พรโชคชัย เป็นนักวิชาการด้านการประเมินค่าทรัพย์สินและนักวิจัยด้าน

อสังหาริมทรัพย์และการพัฒนาเมือง จบดุษฎีบัณฑิตด้านการวางแผนพัฒนาเมือง จากสถาบันเทคโนโลยีแห่ง

เอเซีย มีความสนใจเกี่ยวกับการเมืองในฐานะองค์ความรู้ แต่ไม่เคยสังกัดหรือทำงานให้กับกลุ่มหรือพรรคการเมืองใด Email: thaiappraisal@gmail.com


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท