วิจัย มอ.ปัตตานี "แรงงานไทยผิดกฏหมายในมาเลย์กว่า 2 แสน" จี้ภาครัฐเจรจาลดค่าใบอนุญาตทำงาน

ธวัช หลำเบ็ญส๊ะ

โต๊ะข่าวภาคใต้ สถาบันอิศราฯ

 

คณะนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) นำโดย ผศ.ชิดชนก ราฮิมมูลา เปิดเผยแรงงานไทยร่วม 2 แสนที่หลบทำงานในธุรกิจรร้านอาหารไทยในมาเลย์ ได้ส่งเงินกลับประเทศร่วมกว่า 400 ล้านบาทต่อเดือน พร้อมเสนอให้รัฐเจรจาลดค่าใบอนุญาตทำงานในมาเลย์ เพื่อป้องกันปัญหาแรงงานเถื่อนจากไทย เชื่อในระยะยาวจะช่วยแก้ปัญหาความมั่นคงในพื้นที่

 

รายงานดังกล่าวเป็นผลจากการวิจัยในหัวเรื่อง "แนวทางการจัดสวัสดิการการกำหนดค่าธรรมเนียมที่มีผลต่อการสร้างแรงจูงใจให้แรงงานร้านอาหารไทย ผันเข้าสู่ระบบการจ้างแรงงานต่างด้าวของมาเลเซียอย่างถูกกฎหมาย"ซึ่งเป็นผลการวิจัยร่วมกันของคณะอาจารย์ที่ประกอบด้วย อ.ชิดชนก และ อ.นิอับดุลรากิ้บ บินนิฮัสซัน คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ อ.ฮัมเดีย มูดอ คณะวิทยาการสื่อสาร อ.มูฮำหมัดสูไฮมี ยานยา คณะวิทยาการสื่อสาร และ นายวิรัช เอี่ยมปลัด พี่เลี้ยงสนับสนุบโครงการหน่วยประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นภาคใต้ตอนล่าง

 

วัตถุประสงค์ของการทำวิจัยเพื่อประมาณการจำนวนร้านอาหารและแรงงานร้านอาหารไทยในประเทศมาเลเซีย ตลอดจนคำนวณมูลค่าเงินที่ส่งกลับมาในประเทศไทย และคำนวณต้นทุนพร้อมการจัดสวัสดิการที่เหมาะสมกับการเจรจากำหนดค่าธรรมเนียมสำหรับผู้ประกอบการและแรงงานร้านอาหารไทยในประเทศมาเลเซีย ภายใต้กรอบความร่วมมือระหว่างประเทศ

 

ผศ.ชิดชนก กล่าวว่าจากการวิจัยพบว่าขณะนี้มีร้านอาหารไทยในมาเลเซียประมาณ 5,000 ร้าน มีแรงงานร้านอาหารไทยในมาเลเซียประมาณ 200,000 และมีมูลค่าของรายได้ที่ส่งกลับประเทศไทย

ประมาณ 300-400 ล้านบาท/เดือน

 

"ทั้งนี้เจ้าของร้านขนาดใหญ่ส่งเงินกลับบ้านประมาณ 100,000 บาท/เดือน ร้านขนาดเล็กประมาณ 20,000-50,000 บาท/เดือน ลูกจ้างที่มีใบอนุญาตทำงานหรือ work permit ถูกต้อง คนล้างจาน เสิร์ฟ มีเงินเดือน ๆ ละ 5,500-6,000 บาท เก็บเงินได้เดือนละ 4,500 บาท ส่งเงินกลับบ้านประมาณ 1,000-2,000 บาท/เดือน กุ๊กเงินเดือน 15,000 บาท ไปจนถึง 17,000-20,000 บาท ส่งเงินกลับบ้าน 5,000 บาท/เดือน"

 

อ.ชิดชนก กล่าวต่อว่าจากข้อวิเคราะห์พบว่าปัจจุบันแรงงานไทยที่ทำงานอยู่ในร้านอาหารไทยในมาเลเซียร่วมกว่า 200,000 คนนั้น ทางการไทยและมาเลเซียไม่ทราบว่าคนเหล่านี้ชื่ออะไร มาจากไหน อยู่ที่ไหน เพราะแรงงานเหล่านี้ไม่ได้ทำ work permit อย่างถูกต้องตามกฎหมาย เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายสูงเกินไป ตกประมาณ กว่า 30,000 บาทต่อคนต่อปี โดยมีข้อมูลจากอดีตนายกสมาคมผู้ประกอบการร้านอาหารไทยในมาเลเซียยืนยันว่าหากลดค่าใช้จ่ายในการทำ work permit เหลือ 5,000 บาทต่อคนต่อปี จะมีแรงงานไทยไม่น้อยกว่าร้อยละ 90 ของแรงงานทั้งหมดยินดีทำใบอนุญาตทำงานอย่างแน่นอน หรือประมาณ 160,000-180,000 คน

 

ส่วนสาเหตุของแรงงานไทยที่ไปทำงานอย่างผิดกฎหมาย เป็นผลสืบเนื่องมาจากวัฒนธรรมความเคยชินที่ปฏิบัติตามกันมาคือ เดินทางเข้าไปลักลอบทำงาน โดยอาศัยกับญาติพี่น้อง ทั้งๆ ที่ปัจจุบันการอำนวยความสะดวกในเรื่องของบริการทำความเข้าใจเกี่ยวกับขั้นตอนวิธีการไปทำงานต่างประเทศอย่างถูกกฎหมาย และพัฒนาระบบจัดส่งแรงงานดีขึ้นกว่าเดิมแล้ว แต่แรงงานร้านต้มยำไม่ได้ประสานงานติดต่อกับสำนักงานจัดหางานจังหวัดเท่าที่ควร ซึ่งแตกต่างจากแรงงานประเภทอื่น รวมทั้งจบการศึกษาแล้วไม่มีงานทำ นิยมไปทำงานร้านอาหารในแบบชั่วคราว ไม่ได้มุ่งหวังหรือตั้งใจที่จะยึดอาชีพร้านต้มยำอย่างจริงจัง ซึ่งต่างจากคนในยุคก่อนที่ไปทำงานตั้งแต่อายุยังน้อย และต้องรับผิดชอบเลี้ยงดูครอบครัวที่อยู่ในประเทศไทย

 

ผศ.ชิดชนก กล่าวว่า ความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจของแรงงานไทยเหล่านี้นอกเหนือจากรายได้จากแรงงานร้านอาหารไทยในมาเลเซียจะช่วยสร้างงานบรรเทาปัญหาความยกจนในจังหวัดชายแดนภาคใต้แล้ว เศรษฐกิจของมาเลเซียรวมทั้งการส่งออกสินค้าการเกษตรยังได้รับประโยชน์จากการมีแรงงานและผู้ประกอบการร้านอาหารไทย เนื่องจากแรงงานส่วนใหญ่ไม่ได้อยู่แบบถาวรในมาเลเซีย จึงต้องเช่าบ้าน

เช่าอาคารสถานที่ในมาเลเซีย ต้องซื้ออาหารสด เช่นปลา และผักสดจากคนจีนในตลาด เนื้อสัตว์จากคนมุสลิม รวมทั้งของอุปโภคบริโภคอื่นๆ จากร้านค้าต่างๆ ประโยชน์ทางเศรษฐกิจยังส่งผลเชื่อมโยงเป็นลูกโซ่ไปยังภาคการส่งออกกุ้งและอาหารทะเลจาก จ.สงขลา การนำเข้าผักสดจากด่านสุไหงโก-ลก และข้าวหอมมะลิจากไทย

 

ผศ.ชิดชนก ระบุว่า ข้อเสนอแนะจากผลการศึกษาดังกล่าว รัฐบาลไทยต้องมีมุมมองเชิงบวกต่อผู้ประกอบการและแรงงานร้านอาหารไทยที่มาจากพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ต้องลดอคติที่มองว่าบุคคลสองสัญชาติเป็นปัญหาต่อความมั่งคง แต่เป็นประโยชน์ต่อการเติบโตทางธุรกิจร้านอาหารไทยเอง ควรเปิดการเจรจาลดค่าภาษีรายปี และค่าธรรมเนียม work permit จากเดิมที่ต้องจ่ายปีละประมาณ 30,000 บาทต่อคนต่อปี บางตำแหน่งในร้านได้รับค่าจ้างไม่สูงพอ จึงไม่คุ้มทุนที่นายจ้างจะดำเนินการอย่างถูกต้องตามกฎหมายได้ ระดับค่าใช้จ่ายที่นายจ้างคิดว่าจะช่วยให้เกิดแรงจูงใจให้ดำเนินการจ้างแรงงานอย่างถูกต้องตามกฎหมายได้คือ5,000 บาทต่อคนต่อปี

 

ผศ.ชิดชนก กล่าวต่อว่า วิธีการเจรจาลดค่า work permit น่าจะทำได้โดยการขอเปลี่ยนลักษณะของแรงงาน Category จาก skilled ซึ่งจะต้องตรวจสอบและประสานงานกับฝ่ายมาเลเซียเป็นการภายในว่าอำนาจในการตัดสินใจอยู่ที่ใคร ซึ่งหากแรงงานไทยยอมทำ work permit ทางการก็จะสามารถติดตามได้ง่ายและส่งข่าวสารเกี่ยวกับ3 จังหวัดภาคใต้ให้ทราบตรงกับความเป็นจริง รวมทั้งอาจทำจม.ข่าว ภาษามาลายูท้องถิ่น ส่งไปให้ทุกเดือน ช่วยลดข่าวลือ และนำเสนอพัฒนาการในด้านบวกได้ด้วย

 

"ที่สำคัญ มาเลเซียจะได้เก็บค่า work permit ได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย เป็นประเด็นทางเศรษฐกิจที่ตามมา กรณีรายละ 600 ริงกิตต่อปี คำนวณจากแรงงาน 200,000 ราย มาเลเซียจะมีรายได้จาก work permit เป็นเงินถึง 12,000,000 ริงกิตต่อปี (1 ริงกิตประมาณ 9.50 บาท)

 

"ประโยชน์ที่รัฐบาลมาเลเซียจะได้คือสามารถควบคุมแรงงานต่างชาติได้อย่างมีประสิทธิภาพ ขจัดปัญหาคอรัปชั่น กระบวนการจ่ายเงินสินบนนอกระบบ ส่วนประโยชน์ที่รัฐบาลไทยจะได้รับคือข้อมูลที่ถูกต้อง

จำแนกผู้บริสุทธิ์ที่มีวัตถุประสงค์ไปประกอบอาชีพที่สุจริตออกจากแนวร่วมผู้ก่อความไม่สงบที่เชื่อว่าหลบหนีไปพักพิงยังต่างประเทศ"

 

ผศ.ชิดชนก ยังได้มีข้อเสนอต่อสภาที่ปรึกษาเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้มอบหมายตัวแทนสภาที่ปรึกษาไปพบปะเยี่ยมเยือนแรงงานไทยในประเทศมาเลเซียที่ถูกจับกุม คุมขังในฐานะแรงงานผิดกฎหมาย และแจ้งกระทรวงการต่างประเทศพิจารณาดำเนินการเจรจากับประเทศมาเลเซียเพื่อขอเจรจาลดค่าwork permit โดยของเปลี่ยน ลักษณะของงานจาก skilled labors (แรงงานที่มีความรู้-ชำนาญงาน) เป็น unskilled labors (แรงงานที่ใช้แรงงาน)

 

อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอเพื่อให้มีการเจรจาลดค่า work permit ของคณะนักวิจัย มอ.นั้น ตรงความข้อเสนอของพล.ท.วิโจรน์ บัวจรูญ แม่ทัพภาคที่ 4 ในฐานะประธานคณะกรรมการชายแดนส่วนภูมิภาคฝ่ายไทย

ที่ได้ร่วมประชุมคณะกรรมการชายแดนส่วนภูมิภาค ครั้งที่ 89 ระหว่างไทยและมาแลซีย กับพล.ท.ดาโต๊ะ ซุลกีฟลี บินโมฮัมเหม็ด ซิน ผู้บัญชาการกองกำลังกองทัพบกสนามมาเลเซีย ในฐานะประธานคณะกรรมการชายแดนส่วนภูมิภาคมาเลเซีย ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 23 ม.ค.ที่โรงแรมลีการ์เด้นพลาซ่า อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา

 

ซึ่ง พล.ท.วิโรจน์ กล่าวว่า ในการประชุมครั้งนั้นได้มีการหารือใน เรื่องการขอปรับลดค่าใช้จ่ายในการทำหนังสือรับรองการทำงานในมาเลเซียให้น้อยลงกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบันเพื่อลดปัญหาแรงงานเถื่อน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท