Skip to main content
sharethis

ชาวบ้านเขาเทือกบรรทัดถูกฟ้องแพ่ง 13 ล้านบาท ข้อหารุกที่อุทยานฯ ยังรอขอยุติการดำเนินคดี กรมอุทยานฯ โยนให้กระทรวงการคลังพิจารณาเลิกบังคับคดี ผลตรวจคณะกรรมการสามฝ่ายชี้เป็นที่ดินทำกินเดิมก่อนอุทยานประกาศทับที่


 


นายอานนท์ สีเพ็ญ ตัวแทนเครือข่ายองค์กรชุมชนรักเทือกเขาบรรทัด (ครท.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ จังหวัดพัทลุงได้ส่งหนังสือถึงเครือข่ายฯ แจ้งเรื่องตามที่เครือข่ายฯ ได้ชุมนุมเรียกร้องขอให้ยุติการดำเนินคดีทางแพ่งแก่นายวิง เพชรย้อย และยุติการบังคับคดีทางแพ่งแก่นางกำจาย ชัยทอง, นายทิน หนูเรือง และนายวิโรจน์ สว่างรัตน์ ลงวันที่ 31 มกราคม 2551 แจ้งว่า ทางจังหวัดพัทลุง ได้รายงานให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช พิจารณาแล้ว โดยกรมอุทยานฯ แจ้งว่า การขอยุติการดำเนินคดีและการบังคับคดีทางแพ่ง จะต้องมีเหตุผลอันสมควร และต้องได้รับความเห็นชอบจากกระทรวงการคลัง


 


หนังสือดังกล่าวแจ้งอีกว่า ทางจังหวัดจึงมีหนังสือขอให้กรมอุทยานฯ พิจารณาขอความเห็นชอบจากกระทรวงการคลังอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งจะได้รับผลประการใดจะได้เรียนให้ทราบอีกครั้ง ทั้งนี้จังหวัดพยายามที่จะช่วยเหลือตามข้อเรียกร้องของเครือข่ายฯ อย่างเต็มที่ตามขั้นตอนของกฎหมายและข้อเท็จจริง ผลการพิจารณาของอุทยานฯ จะเป็นประการใดจะได้เรียนให้ทราบต่อไป


 



 


สำหรับที่มาของหนังสือแจ้งดังกล่าว มาจากเมื่อระหว่างวันที่ 17 - 18 กันยายน 2550 สมาชิกสมัชชาคนจนจากเครือข่ายองค์กรชุมชนรักเทือกเขาบรรทัด จากจังหวัดพัทลุงและตรัง และองค์กรพันธมิตรกว่า 700 คน ปิดถนนข้างศาลากลางจังหวัดพัทลุง ชุมนุมประท้วงกรณีเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติเขาปู่ - เขาย่า เข้าไปตัดโค่นทำลายสวนยางพาราของชาวบ้านริมเทือกเขาบรรทัดที่ยังไม่ได้รับการพิสูจน์สิทธิ์ พื้นที่ตำบลตะแพน อำเภอศรีบรรพต และตำบลบ้านนา อำเภอศรีนครินทร์ รวม 13 ราย พื้นที่ 54 ไร่ โดยอยู่ระหว่างปักป้ายตรวจยึด 21 ไร่ และชาวบ้านตำบลบ้านนา 4 ราย ถูกดำเนินคดีอาญาและคดีแพ่ง โดยมีการปักป้ายแสดงคำสั่งศาลให้ชดใช้ค่าเสียหายรวม 13,750,000 บาท


 


กรณีชาวบ้านทั้ง 13 รายนั้น นางเหิม เพชรย้อย ภรรยานายวิง กล่าวว่า ชาวบ้านส่วนใหญ่ได้เข้าซื้อสวนยางพาราเก่า ประมาณปี 2542 จากนั้นเมื่อยางหมดอายุจึงขอสนับสนุนกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง เพื่อปลูกยางใหม่ทดแทน ซึ่งได้รับการอนุมัติ แต่เมื่อได้โค่นยางไปแล้วกลับถูกดำเนินคดีข้อหาตัดไม้ทำลายป่าในเขตอุทยาน ขณะที่บางรายเมื่อปลูกต้นยางแล้วก็ถูกเจ้าหน้าที่อุทยานฯ เข้ามาตัดโค่นทำลาย และมีการดำเนินคดีอาญาถูกพิพากษาให้จำคุก แต่ให้รอลงอาญา 2 ปี และให้เสียค่าปรับคนละประมาณ 20,000 บาท แต่ต่อมา เมื่อประมาณเดือนมีนาคม - มิถุนายน 2550 ชาวบ้าน 4 รายดังกล่าว ได้รับหมายแจ้งว่าถูกกรมอุทยานฯ ฟ้องแพ่งต่อ โดยเรียกค่าเสียหายถึงรายละประมาณ 1.5 - 3 ล้านบาท โดยที่ชาวบ้านไม่ได้คาดคิดมาก่อน เนื่องจากไม่มีความรู้เรื่องกฎหมาย


 


เครือข่ายฯ ได้ ยื่นหนังสือถึงนายสุเทพ โกมลภมร ผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุง ขอให้แก้ปัญหาความเดือดร้อนของราษฎร 9 ข้อ ประกอบด้วย ให้ยุติการดำเนินคดีทั้งทางอาญาและทางแพ่งต่อสมาชิกเครือข่ายฯ ให้ยกเลิกหนี้ที่เกิดจากการบังคับคดีทุกราย ให้ยุติการทำลายทรัพย์สิน ข่มขู่ คุกคาม ตรวจยึดพื้นที่ที่ทำกินเดิมของสมาชิกเครือข่าย


 


ให้สมาชิกเครือข่าย ที่ประสบปัญหาจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐอย่างไม่เป็นธรรมทุกกรณี สามารถทำกินได้ตามวิถีชีวิตปกติ ให้สามารถโค่นยางพาราที่หมดสภาพและปลูกใหม่ทดแทนได้ ให้กองทุนสงเคราะห์สวนยาง (สกย.) สนับสนุนงบประมาณตามปกติ เป็นต้น


 


โดยผลการเจรจาได้ข้อสรุปว่า นายสุเทพจะประสานงานกับพนักงานอัยการให้ยุติดำเนินคดีกับชาวบ้านทั้ง 13 ราย ส่วนชาวบ้านอีก 4 ราย ที่ถูกดำเนินคดีอาญาและคดีแพ่งนั้น ในส่วนของคดีแพ่ง นายสุเทพจะทำหนังสือเสนอให้อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ยุติการบังคับคดี


 


ส่วนกรณีเจ้าหน้าที่สั่งฟันทำลายต้นยางพารานั้น นายสุเทพจะทำหนังสือถึงอธิบดีกรมอุทยานฯ ให้ผ่อนผันไปก่อน โดยได้ตั้งคณะกรรมการประกอบด้วยตัวแทน 3 ฝ่าย คือ ฝ่ายอุทยานแห่งชาติเขาปู่เขาย่า สมัชชาคนจนหรือเครือข่ายองค์กรชุมชนรักเทือกเขาบรรทัด และเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง เพื่อตรวจสอบว่าเป็นที่ดินทำกินเดิมหรือไม่ โดยให้ระยะเวลาตรวจสอบ 1 เดือน


 


นอกจากนี้ ทางจังหวัดพัทลุงจะส่งคืนเอกสาร สค. 1 ที่เจ้าหน้าที่เรียกเก็บไปจากชาวบ้าน โดยอ้างว่าจะนำไปออกโฉนดที่ดิน ภายในวันที่ 10 ตุลาคม 2550


 


สำหรับคณะกรรมการประกอบด้วยตัวแทน 3 ฝ่าย ดังกล่าวนั้น ได้มีการประชุมมาแล้วหลายครั้ง โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2551 ที่ศาลากลางจังหวัดพัทลุง มีนายพินิจ เจริญพานิช รองผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุงเป็นประธาน โดยพิจารณาผลการตรวจสอบพื้นที่ซึ่งมีนายอำเภอของทั้งสองอำเภอเป็นหัวหน้าคณะ ซึ่งสรุปตรงกันว่าที่ดินทั้ง 54 ไร่ เป็นที่ดินทำกินเดิมทั้งสิ้น ซึ่งนายพินิจระบุว่าจะรายงานให้นายสุเทพ ทราบเพื่อดำเนินการต่อไป


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net