Skip to main content
sharethis


 


วานนี้ (12 ก.พ.) นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวถึงกรณีที่ตนเองระบุกับสำนักข่าวต่างประเทศ ว่า เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 มีผู้เสียชีวิต 1 ราย ซึ่งแตกต่างจากข้อมูลที่บันทึกไว้ ว่า จะเอาเรื่องนี้อีกแล้วหรอ โอ...โห ลองนับดูสิ กี่ปี 31 ปี แล้วคุณกี่ขวบ พูดทีไรก็ทะเลาะเบาะแว้งมีเรื่องกัน วันก่อนสำนักข่าวอัลจาซีเราะห์เป็นผู้หญิงสวยมาคุย คุยกันดี ดันมาตั้งข้อหากับตน ก็เลยต้องพูดจากันไม่ค่อยดี ต้องเอาใหม่เปลี่ยนเทปใหม่ ต้องคุยใหม่ เพราะตอนนั้นเขายังไม่เกิด แล้วมานั่งกล่าวหาตน ตนก็พูดตามที่รู้ คุณเอาประวัติศาสตร์นั้นใครเขียน ตนไม่รู้ แต่ตนพูดที่ตนรู้ และตนยังมีชีวิตอยู่ คนที่เขาเกี่ยวข้องเขายังอยู่


 


"ผมบอกว่า ถ้าผมเป็นคนเลวมาไม่ได้ไกลขนาดนี้หรอก ถ้าผมเป็นคนเกี่ยวข้องไม่ได้รับการสนับสนุนให้เดินหน้ามาถึงป่านนี้หรอก" นายสมัคร กล่าว


 


เมื่อถามว่า แสดงว่า ข้อมูลในอดีตถูกบิดเบือนหรือไม่ นายสมัคร กล่าวว่า อ๋อ แน่นอน ไม่รู้ใครบิด ไม่เป็นปัญหา มันเลยมาป่านนี้แล้ว


 


 


นศ. 6 ตุลา ยอมรับสมัครรักษาจุดยืนไม่เปลี่ยนแปลง แต่เชื่อสมัครรู้ดีแก่ใจคนตายมากกว่า 1


ด้านนายโอริสา ไอราวัณวัฒน์ อดีตประธานสภานักศึกษาวิทยาลัยเทคนิคกรุงเทพ และเลขาธิการแนวร่วมอาชีวะเพื่อประชาชนแห่งประเทศไทย ปี 2519 กล่าวว่า จากวันนั้นถึงวันนี้ ต้องยอมรับว่านายสมัคร เป็นคนที่รักษาจุดยืนของตัวเองมาโดยตลอด ด้วยการบิดเบือนไม่เปลี่ยนแปลง ซึ่งในเรื่องนี้ นายสมัครจะพูดอย่างไรก็พูดได้ แต่ความเป็นจริงยังคงอยู่และไม่สามารถบิดเบือนได้ เพราะขณะนี้สิ่งต่างๆ เหล่านี้ได้ถูกบันทึกไว้ทั้งลายลักษณ์อักษรและบันทึกอยู่ในความทรงจำของคนยุคนั้น


 


'ตัวเขาเองน่าจะทราบว่าคนตายไม่ใช่เพียง 1 คน ทำไมเขาถึงพูดแบบนั้น เขาคงคิดว่า ดีที่สุดต้องเบี่ยงเบนเหตุการณ์นั้นให้เป็นเหตุการณ์เล็กๆ ซึ่งความจริงแล้วมันไม่ใช่ ผมคิดว่าเขาโกหกตัวเองได้ แต่โกหกคนอื่นๆ คงไม่ได้' นายโอริสา กล่าว


 


นายโอริสา กล่าวว่า ไม่มีใครสามารถลบประวัติศาสตร์ได้ เพราะเหตุการณ์ 6 ตุลา ถือเป็นความอัปยศของบ้านเมืองที่ผู้ปกครองทำกับประชาชน ซึ่งผู้ที่กระทำก็บอกว่าให้ลืมมันเถอะ แต่คนที่ได้รับผลกระทบลืมไม่ได้ แม้ว่าจะได้พยายามแล้วแต่ก็ยังเจ็บปวดอยู่ตลอดเวลา


 


ด้านนายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ อดีตนายกสโมสรนักศึกษาจุฬาลงกรณ์ ในช่วงเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ยืนยันว่า ในเหตุการณ์วันนั้นไม่ได้มีผู้เสียชีวิตเพียงคนเดียวอย่างที่นายสมัครพูดแน่ เพราะในความเห็นของคนที่อยู่ในเหตุการณ์เชื่อว่ามีผู้เสียชีวิตเป็นร้อยคน แม้ว่าตัวเลขทางการจะมีเพียง 46 คน อีกหลายคนยังสูญหาย ซึ่งญาติเขาตามหากันทุกปี


 


ก่อนหน้านี้นายอภิชาต ศักดิเศรษฐ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ แถลงเมื่อวันที่ 11 ก.พ. 51 ถึงกรณีที่นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวต่างประเทศ ระบุว่าเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 มีผู้เสียชีวิตเพียง 1 คนนั้นว่า เป็นการบิดเบือนข้อเท็จจริงอย่างร้ายแรง คิดไม่ถึงว่าข้อมูลเช่นนี้จะออกจากปากนายกรัฐมนตรีของประเทศไทย เพราะเหตุการณ์สังหารหมู่กลางเมืองหลวงเมื่อ 30 กว่าปีก่อน มีผู้เสียชีวิตที่ทางราชการยอมรับถึง 46 คน สูญหายไร้ร่องรอยอีกนับร้อย เป็นประวัติศาสตร์ที่คนทั่วโลกรับรู้ความจริงอย่างหมดเปลือกแล้วว่า เหตุการณ์เกิดขึ้นอย่างไร ใครเกี่ยวข้อง ใครบงการ และมีผลสะเทือนที่เกิดขึ้นกับสังคมไทยรุนแรงอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ตนอยากเรียกร้องให้ผู้เกี่ยวข้องในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ทุกฝ่ายออกมายืนยันความจริงเรื่องนี้ โดยเฉพาะคนเดือนตุลาฯทั้งหลาย ได้ดิบได้ดีมีตำแหน่งใหญ่โตในขณะนี้ต้องกล้าหาญที่จะออกมาปกป้องความจริงเรื่องนี้ เพื่อให้เยาวชนรุ่นหลังจะไม่ได้สับสนเพราะคำพูดบิดเบือนของคนบางคน


 


ขณะที่ นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ตอบคำถามเมื่อวันที่ 11 ก.พ. กรณีที่นายสมัคร ให้สัมภาษ์ถึงจำนวนผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ว่ามีเพียง 1 ราย ว่า "เหรอ...ท่านให้สัมภาษณ์อย่างนั้นเหรอ ผมยังไม่ทราบ"


 


 


คำต่อคำซีเอ็นเอ็นถามสมัคร สุนทรเวช เรื่อง 6 ตุลา 19


ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 10 ก.พ. นายสมัครให้สัมภาษณ์ทางรายการทอล์ค เอเชีย ที่มีแดน ริเวอร์ส ผู้สื่อข่าวซีเอ็นเอ็น โดยมีคำถามหนึ่งถามถึงบทบาทรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยในอดีต เมื่อครั้งเกิดเหตุนองเลือดในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (วันที่ 6 ตุลาคม) ในปี 2519 โดยนายสมัครให้สัมภาษณ์ว่าเหตุการณ์นี้มีชายโชคร้ายชีวิตเพียง 1 คนเท่านั้น โดยเมื่อวันที่ 11 ก.พ. ที่ผ่านมา หนังสือพิมพ์มติชนออนไลน์ ได้ลงรายละเอียดบทสัมภาษณ์ช่วงดังกล่าวแบบคำต่อคำ ดังนี้


 


ริเวอร์ส: มีบางคนวิพากษ์วิจารณคุณเรื่องอดีตที่ผ่านมา บางคนถึงกับบอกว่า มือคุณเปื้อนเลือด คุณจะมีความเห็นเรื่องนี้อย่างไร


สมัคร สุนทรเวช: โอ้ย ผมขอปฎิเสธหมด ผมไม่เคยเกี่ยวอะไรกับเรื่องดังกล่าว ตอนนั้นผมเป็นแค่คน


นอก


 


ริเวอร์ส: แล้วคุณอยากจะใช้โอกาสนี้ประนามสิ่งที่เกิดขึ้นในปี 2519 หรือไม่


สมัคร: มันเป็นเรื่องการเคลื่อนไหวของนักศึกษาบางราย ที่ไม่ชอบรัฐบาลนี้


 


ริเวอร์ส: แต่เหตุการณ์ดังกล่าว มีประชาชนหลายสิบ หรืออาจจะหลายร้อยเสียชีวิตด้วย


สมัคร: ไม่ ไม่มีซักคนเดียว มีแต่นักศึกษากว่า 3 พันคนที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


 


ริเวอร์ส: แต่ตัวเลขที่เป็นทางการบอกว่า มีผู้เสียชีวิต 46 คน และคนจำนวนมากบอกว่า จริง ๆ แล้วตัวเลขผู้เสียชีวิตสูงกว่านั้น


สมัคร: ไม่ สำหรับผม ไม่มีการตาย คนนึงโชคดีแค่ถูกแทง ส่วนอีกคนถูกเผา ที่ท้องสนามหลวง มีแค่คนเดียวที่ตายในวันนั้น


 


ริเวอร์ส: แล้วที่บอกว่าเป็นเหตุการณ์สังหารหมู่ ?


สมัคร: ไม่ ไม่เลย แต่ถ้าดูจากภาพ มีแต่นักศึกษาหญิง ชาย 3 พันคน เข้าแถวกัน พวกเขาบอกว่ามียอดตายคนตาย 3 พันคน


 


ริเวอร์ส: ผู้คนบอกว่าคุณเป็นพวกขวาจัด ที่จุดชนวนสถานการณ์ในขณะนั้น


สมัคร: เป็นขวาจัดแล้วผิดตรงไหน ขวาจัดเป็นพวกสนับสนุนกษัตริย์ แต่ซ้ายจัดเป็นพวกคอมมิวนิสต์


 


ริเวอร์ส: แล้วในปี 2519 คุณคิดว่า เมืองไทยเสี่ยงอันตรายที่ตกเป็นคอมมิวนิสต์หรือเปล่า?


 


สมัคร: เอ่อ มีคนหนึ่งชื่อนาย "โลแม๊กซ์" เขาเขียนหนังสือชื่อว่า 'เมืองไทย สงครามที่มีอยู่ และจะเป็นไป'เขาบอกว่า มันเป็นเรื่องทฤษฎีโดมิโน บอกว่า มีโดมิโน 10 ตัวในแถบนี้ หากกัมพูชาเป็น เวียดนามก็จะเป็น ลาวก็จะเป็น และไทยก็จะเป็น ก็เท่ากับเป็นโดมิโน 4 ตัวแล้ว แล้วถัดจากไทย ก็จะเป็นพม่า เป็นมาเลเซีย สิงคโปร์ และต่อมาก็จะเป็นอินโดนีเซียซึ่งเป็นประเทศเกาะใหญ่ และประเทศใหญ่ต่อไป คือ ออสเตรเลีย หรือแม้แต่เกาะเล็กๆ อีกสองเกาะถัดไป 10 ประเทศนี้จะเป็นคอมมิวนิสต์ และไทยจะเป็นคอมมิวนิสต์ประเทศที่ 4


 


ริเวอร์ส : คุณคิดว่า นี่เป็นเหตุผลแก้ตัวในการสังหารนักศึกษาผู้บริสุทธิ์ ในนามของการปกป้องประเทศจากคอมมิวนิสต์หรือเปล่า?


สมัคร: โอ้ย แล้วใครฆ่านักศึกษา? ถ้าการต่อสู้เป็นเรื่องกองทัพ กองทัพก็มีหน้าที่จะปกป้องประเทศชาติ แล้วหากใครพยายามจะนำลัทธิคอมมิวนิสต์เข้ามาเมืองไทย มันก็ขึ้นอยู่กับกองทัพ....คุณต้องไปตรวจสอบสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีต


 


ริเวอรส์: (พูดถึงเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ) แล้วก็เกิดการประท้วงต่อต้านรัฐบาลทหารขึ้นอีกครั้ง แล้วชื่อของคุณก็ถูกโยงเข้ากับเหตุการณ์นองเลือดครั้งนั้น เรื่องนี้คุณจะพูดอย่างไร


สมัคร : ตอนนั้นผมเป็นรองนายกรัฐมนตรีมา 3 ครั้ง ตอนที่ผมลาออก ผมก็มาดำรงตำแหน่งเป็นผู้ว่ากรุงเทพมหานคร คนบอกว่า โอ้ย เป็นฆาตกรมือเปื้อนเลือด เป็นผู้ว่ากรุงเทพมหานครไม่ได้ ผมก็เลยนำคดีขึ้นศาล และเมื่อถึงตอนลงคะแนนเสียง ผมกลับได้คะแนนเสียงเป็นล้านๆ คะแนน แล้วยังไงล่ะ?


 


ริเวอร์ส : แต่นั่นไม่ได้ตอบคำถามว่า คุณเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ปี 2535 หรือไม่


สมัคร : ไม่ ไม่เลยตอนนั้น ผมไม่ได้เกี่ยวข้อง


 


ริเวอร์ส : สำนึกของท่านยังชัดเจน ?


สมัคร : ถ้าผมทำอะไรผิด คงไม่ได้มาไกลถึงขนาดนี้ ผมคิดว่ามือผมสะอาด และอยู่กับมันได้ คน


ประเทศนี้รู้จักว่า ผมเป็นใคร ดังนั้นผมไม่กลัว แต่ทำไมคุณจะต้องประทับตราบาปให้ผม เพราะว่าผมไม่ชอบสื่อ? ผมคิดว่าตอนนี้ถ้าพวกเขาพูดดีกับผม ผมก็พูดดีกับเขา ถ้าเขาตะคอกใส่ผม ผมก็แค่ตะคอกเขากลับ เมื่อคุณชกผม ผมก็ชกคืน มันไม่มีข้อบัญญัติตรงไหนบอกว่า นายกรัฐมนตรีควรจะเป็นคนดี หรือควรจะพูดสุภาพ


 


ริเวอร์ส์ : ผมหมายถึงว่า คุณเป็นคนดีหรือเปล่า แล้วคุณบรรยายตัวเองอย่างไร ?


สมัคร : บางคนต้องบรรยายตัวผม ผมบรรยายตัวเองไม่ได้ แต่สำหรับผม ถ้าผมทำอะไรผิด ผมก็มาไกลขนาดนี้ไม่ได้ แต่บางคนเกลียดผม ใช่ แต่ผมไม่ได้เกลียดพวกเขา ผมแค่รู้สึกสงสารที่พวกเขามีความรู้สึกแย่กับผม


 


เทียบกับปากคำสมัคร หลัง 6 ตุลา 19 ใหม่ๆ


ทั้งนี้หลังเหตุการณ์ 6 ตุลา 19 ใหม่ๆ เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2520 เมื่อครั้งที่นายสมัคร สุนทรเวช เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เคยบรรยายเรื่อง "คนที่ถูกเผาที่ธรรมศาสตร์เป็นคนญวน" ที่ประเทศฝรั่งเศสเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2520 โดยคำบรรยายดังกล่าว ได้ถูกบันทึกเทปไว้และคุณ ศิระ ถิรพัฒน์ นำมาลงพิมพ์ในหนังสือ โหงว นั้ง ปัง หน้า 155-156 ความบางตอนว่า:


 


"การเผาคนตายกันกลางถนนนั้น ไม่ใช่ลักษณะของคนไทย


 


"เหตุที่วิกฤตการณ์เกิดขึ้นแปลกมาก มีการทุบตีคนให้ตายแล้วเอามาแขวนคอ ชักชวนให้เอาไม้ไปตี เอาเก้าอี้ไปตี แล้วเอาคนที่ถูกแขวนคอจนตายนั้นเอามาวาง มีการเอายางรถยนต์วางแล้วเอาศพวางแล้วเอายางรถยนต์วางทับ เอาน้ำมันราดแล้วจุดไฟเผาทั้ง 4 ศพ


 


"ทุกอย่างนั้นเป็นเรื่องจริงเกิดขึ้นกลางถนน กลางสนามหลวง กลางถนนราชดำเนิน ไม่มีใครปฏิเสธเรื่องนี้ได้ แต่ผลการสอบสวนในภายหลังนั้นก็สามารถจะปะติดปะต่อได้


 


"การที่มีการเผาคนตายไป 4 คนนั้นเป็นการเผาคนซึ่งต้องการทำลายหลักฐาน ไม่ให้รู้ว่าเป็นคนชาติใด เพราะเหตุว่าหลักฐานในกองที่ไหม้นั้น มีรูปโฮจิมินห์เล็กๆ ซึ่งเผาไปไม่หมด


 


"เราสอบไปในภายหลังในธรรมศาสตร์ซึ่งไม่ได้...หนักหนานั้น มีหมาซึ่งถูกฆ่าตายแล้วย่าง หมาตุ๋น หมาสตูว์ เอาอ่างมีตะแกรง หมากรอบทั้งตัวมีมีดเสียบอยู่หลายตัว


 


"ผมเองซึ่งในขณะนั้นไม่ได้มีตำแหน่งอะไรอยู่ แต่ได้เข้าไปดูเองและไปดูหลักฐานที่โรงพักชนะสงคราม


 


"เราวิเคราะห์ได้ในเวลาต่อมาว่า มีชาติอื่นคือชาติเวียดนามนั้นจำนวนไม่ทราบได้แน่นอน เข้าไปเกี่ยวข้องในกรณีธรรมศาสตร์ แล้วเข้าใจว่าเป็นคนเวียดนามเองที่ถูกฆ่าตาย เพื่อป้องกันไม่ให้มีการชันสูตรและกลายเป็นคนชาติอื่น ซึ่งจะกระทบกระเทือนถึงทางการนั้น คนที่เกี่ยวข้องได้จัดการเผาคนทั้ง 4 เสีย


 


"เขาเรียกวิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นนั้นเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริง ๆ แต่มิใช่วิสัยคนไทย ทำการเผาคนกลางถนนนั้นไม่ใช่วิสัยของคนไทย..."


 


ข้อมูลประกอบ


หมัก"ยันพูดเรื่อง 6 ต.ค. ตามที่รู้ ถ้าไม่ดีคงอยู่ไม่ได้ ปชป.ปลุกคนตุลาฯปกป้องความจริง, มติชนออนไลน์, 11 ก.พ. 51


คำบรรยายของ เกษียร เตชะพีระ : "จาก 14 ถึง 6 ตุลา: สองชาตินิยมชนกัน", ประชาไท, 10 ม.ค. 51


 


หมายเหตุ: ขอขอบคุณที่มาไฟล์ประกอบ "แผนที่เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519" จากอ.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ

เอกสารประกอบ

ภาพแผนที่เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net