Skip to main content
sharethis

สรุปข่าวที่เกี่ยวข้องกับประเทศพม่าประจำวันพฤหัสบดีที่ 14 เดือนกุมภาพันธ์ 2551


 


 


1.         สถานการณ์ในประเทศพม่า


1.1        พรรคเอ็นแอลดีเห็นว่า คำสั่งของรัฐบาลทหารพม่าที่สั่งกักบริเวณแกนนำพรรคฯต่ออีกปี เป็นคำสั่งที่ไร้ซึ่งความยุติธรรม


 


2.         การค้าชายแดน


2.1        หอการค้าจัหวัดตากทำหนังสือถึงรัฐบาลใหม่ ให้เร่ง 4 มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจชายแดน  


2.2        กลุ่มทุนค้าปลีกข้ามชาติขยายพื้นที่ในจังหวัดระนอง หลังพบว่าฐานลูกค้าสำคัญคือประชาชนจากพม่า


 


3.         แรงงานข้ามชาติ


3.1        ปลัดแรงงานห่วงปัญหาแรงงานข้ามชาติ เนื่องจากคนไทยไม่ชอบทำงานระดับล่าง 


 


4.         ต่างประเทศ


5.1        องค์การสหประชาชาติระบุ สถานการณ์ที่เด็กตกอยู่ท่ามกลางความขัดแย้ง ยังน่าเป็นห่วง


 


 


000


 


1.         สถานการณ์ในประเทศพม่า


 


1.1        พรรคเอ็นแอลดีเห็นว่า คำสั่งของรัฐบาลทหารพม่าที่สั่งกักบริเวณแกนนำพรรคฯต่ออีกปี เป็นคำสั่งที่ไร้ซึ่งความยุติธรรม


 


รัฐบาลทหารพม่ามีคำสั่งให้กักบริเวณนายถิ่น อู รองหัวหน้าพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย หรือเอ็นแอลดี ของนางออง ซาน ซูจี ผู้นำประชาธิปไตยพม่า ภายในบ้านพักต่อไปอีก 1 ปี แม้ว่าจะมีเสียงเรียกร้องให้ปล่อยตัวนายถิ่น อู ก็ตาม ด้านพรรคเอ็นแอลดี ให้ความเห็นว่าคำสั่งของรัฐบาลทหารพม่าเป็นคำสั่งที่ไร้ความหมายและไร้ซึ่งความยุติธรรม ทั้งนี้คำสั่งขยายระยะเวลากักบริเวณนายถิ่น อู มีขึ้นหลังจากรัฐบาลทหารพม่าสร้างความประหลาดใจด้วยการประกาศจะจัดการลงประชามติ และการจัดการเลือกตั้งทั่วไปได้เพียงแค่ 4 วัน


(สำนักข่าวเนชั่น วันที่ 14/02/2551)


 


 2.         การค้าชายแดน


 


2.1        หอการค้าจังหวัดตากทำหนังสือถึงรัฐบาลใหม่ ให้เร่ง 4 มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจชายแดน   


  


นายอำพล ฉัตรไชยาฤกษ์ ประธานหอการค้าจังหวัดตาก กล่าวว่า หอการค้าจังหวัดตาก ได้ทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี(นายสมัคร สุนทรเวช)และทีมงานด้านเศรษฐกิจ ครม.ชุดใหม่ (กระทรวงการคลัง-พาณิชย์-อุตสาหกรรม-คมนาคม-ต่างประเทศ-และกระทรวงเกษตร) เพื่อขอให้เร่งดำเนินงานดำเนินการฟื้นฟูเศรษฐกิจชายแดนไทย-พม่า อ.แม่สอด จ.ตาก กับฝั่งพม่า


โดยขอเร่งพลิกฟื้น 4 นโยบายที่เป็นความต้องการของภาคเอกชนและประชาชนในพื้นที่ คือ


 


1.การสานต่อในการฟื้นเขตเศรษฐกิจชายแดน(แม่สอด) ตามมติ ครม.เมื่อวันที่ 19 ต.ค.47 ซึ่งผ่านมาแล้วเกือบ 4 ปี ยังไม่คืบหน้า


 


2.การทำบอเดอร์พลาสต์(หนังสือผ่านแดน) ไทย-พม่า จากเดิมวันเดียว ให้เพิ่มเป็น 3 วัน เพื่อเปิดโอกาสให้นักธุรกิจและนักท่องเที่ยวทั้ง 2 ประเทศ ได้ติดต่อเจรจาการค้าและเข้าไปท่องเที่ยวในพื้นที่ชั้นในของแต่ละฝ่ายได้ ชาวพม่าไปเที่ยวชมเขื่อนภูมิพล และไปเที่ยว ถึง จ.พิษณุโลก ส่วนชาวไทยไปเที่ยวทะเลและเมืองอ่าวเมาะตะมะ ฯลฯ เป็นต้น


 


3.รัฐบาลสมัย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ได้อนุมัติเงินช่วยเหลือสร้างเส้นทางจากแม่สอด-เมียวดี-ไปเชิงเขาตะนาวศรี 19 กม.งบ 122 ล้านบาท เพื่อเป็นเส้นทางคมนาคม การค้าและขนส่งสินค้าและการท่องเที่ยวในพม่า ขอให้รัฐบาลชุดใหม่ได้สานต่อโครงการถนนจากเชิงเขาตะนาวศรี ไปยังจังหวัดกุกกิก ระยะทางประมาณ 40-50 ไมล์ งบประมาณไม่เกิน 500 ล้านบาท เพื่อเชื่อมต่อแนวเส้นทางเดิมที่สร้างไปแล้วอีกทั้งยังเป็นถนนสายเศรษฐกิจ เส้นทางอิสเวตส์อิโคโนมิคคอริดอร์


 


4.ปรับปรุงเส้นทางเลียบชายแดนริมฝั่งแม่น้ำเมย จาก อ.แม่สอด จ.ตาก ไปยังจังหวัดแม่ฮ่องสอน ระยะทางประมาณ 200 กม. งบในการปรับปรุงประมาณ 500-600 ล้านบาท เพื่อเป็นเส้นทางสายใหม่ในการท่องเที่ยวและการคมนาคม ที่จะลัดเลียบชายแดนที่สวยงามและเป็นเส้นทางสายใหม่ที่สำคัญไปจนถึงทางยุทธศาสตร์ในหลายด้าน


 (สำนักข่าวไอเอ็นเอ็น วันที่ 14/02/2551)


 


2.2        กลุ่มทุนค้าปลีกข้ามชาติขยายพื้นที่ในจังหวัดระนอง หลังพบว่าฐานลูกค้าสำคัญคือประชาชนจากพม่า


 


นางสุดาพร ยอดพินิจ ประธานหอการค้าจังหวัดระนอง กล่าวว่า โฉมหน้าการค้าเมืองระนอง กำลังจะมีการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่หลังกลุ่มทุนค้าปลีกข้ามชาติ ทั้งเทสโก้โลตัส และแม็คโคร เตรียมขยายฐานเข้ามาในพื้นที่ โดยล่าสุดห้างเทสโก้โลตัสได้ขออนุญาตและก่อสร้างไปแล้วกว่า 30% บนพื้นที่กว่า 39 ไร่ หมู่ที่ 1 ตำบลบางริ้น ห่างจากตัวเมืองราว 1 กม.


 


นอกจากนี้ยังห้างแม็คโครและห้างบิ๊กซี โดยเฉพาะห้างแม็คโครได้เข้าไปเจรจาซื้อที่ดินจำนวน 20 ไร่ บริเวณตำบลบางนอน อ.เมือง ห่างจากย่านใจกลางเมืองประมาณ 1.5 กม. แล้วเช่นกัน


แม้ว่าจังหวัดระนอง จะเป็นจังหวัดเล็กๆ แต่หากดูตัวเลขการนำเข้าและส่งออก พบว่าแต่ละปีการค้าชายแดนระนอง-เกาะสอง มียอดการส่งออกไม่ต่ำกว่า 8,000 ล้านบาท นำเข้าประมาณ 2,000 ล้านบาท โดยสินค้าส่งออกส่วนใหญ่เป็นสินค้าอุปโภคบริโภค


 


การเข้ามาของทุนข้ามชาติค้าปลีกทั้งหลาย ไม่ได้หวังเฉพาะระนอง แต่หวังที่จะขยายเข้าสู่พม่า โดยใช้ระนองเป็นฐาน ซึ่งคาดว่าตั้งแต่กลางปีนี้เป็นต้นไป การค้าในระนองและชายแดนด้านจังหวัดระนอง-เกาะสองจะเปลี่ยนโฉมหน้าไปโดยสิ้นเชิง กลุ่มพ่อค้าที่เคยผูกขาดจะมีคู่แข่งเพิ่มขึ้นและหมดยุคการค้าแบบเดิม เนื่องจากการค้าโลกได้เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และเข้าสู่ยุคการค้าเสรี ดังนั้นสิ่งที่ผู้ประกอบการทำได้ในตอนนี้ ก็คือการปรับตัวเองให้เข้ากับยุคสมัย


 


ผู้บริหารห้างสรรพสินค้าเทสโก้โลตัส กล่าวว่า การเกิดขึ้นของเทสโก้โลตัส จะมีผลดีต่อเศรษฐกิจในเขตพื้นที่อย่างแน่นอน ทั้งนี้จะมีกลุ่มลูกค้าใหม่ๆ ทั้งชาวไทยและต่างชาติ เข้ามาจับจ่ายซื้อของในจังหวัดระนองมากขึ้น ทำให้สินค้าในระนองจะมีช่องทางการขายเพิ่มขึ้น ยังไม่รวมถึงการจ้างงานคนในพื้นที่อีกด้วย


 


เราทราบดีว่าร้านค้าในพื้นที่วิตก เพราะไม่เคยชินกับความเปลี่ยนแปลง แต่หากเทสโก้โลตัสไม่เข้ามาบริษัทค้าปลีกข้ามชาติรายอื่นก็พร้อมจะเข้ามา ดังนั้นการยอมรับการเปลี่ยน คือทางออกที่ดีที่สุด เพราะการปิดกั้น ก็เท่ากับปิดกั้นการพัฒนาจังหวัดด้วย


 


ทั้งนี้การทำตลาดของโลตัส ไม่ได้เน้นเฉพาะลูกค้าในเขตจังหวัดระนองเท่านั้น แต่เป้าหมายที่สำคัญคือ ชาวพม่าย่านจังหวัดเกาะสอง ทวาย มะริด ซึ่งเชื่อว่าการเกิดขึ้นของโลตัส จะส่งผลต่อการค้าชายแดนอย่างแน่นอน สำหรับเทสโก้โลตัส สาขาระนอง คาดว่าจะเปิดให้บริการกลางปีนี้


ด้านนายวันชัย โชครุ่งเจริญถาวร ประธานชมรมพ่อค้าผู้ประกอบการค้าจังหวัดระนอง กล่าวว่า การเข้ามาของห้างเทสโก้โลตัส จะทำให้ผู้ประกอบการร้านค้าต่างๆ ต้องปิดตัวเองไม่ต่ำกว่า 80% ในช่วง 1-2 ปีนี้ เพราะไม่สามารถที่จะสู้กับทุนใหญ่ได้ เนื่องจากยักษ์ค้าปลีกข้ามชาติ มีเงินทุนมหาศาล ที่จะเข้ามาทำตลาด และครอบครองตลาด ดังผลกระทบที่เกิดขึ้นมาแล้วในหลายพื้นที่


 (กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 14/02/2551)


 


 3.         แรงงานข้ามชาติ


 


3.1        ปลัดแรงงานห่วงปัญหาแรงงานข้ามชาติ เนื่องจากคนไทยไม่ชอบทำงานระดับล่าง 


 


นายจุฑาธวัช อินทรสุขศรี ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวถึงสถานการณ์แรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองในประเทศไทยขณะนี้ว่ายังมีอยู่อย่างต่อเนื่อง และยอมรับว่าเป็นเรื่องที่น่าห่วง สำหรับปัญหาความมั่นคง แต่ค่อนข้างจะสวนทางกับทางด้านเศรษฐกิจ เนื่องจากงานระดับล่าง หรืองานสกปรก คนไทยมักจะไม่ชอบทำ ในขณะที่แรงงานต่างด้าวที่หลบหนีเข้าเมืองจะทำทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นงานกรรมการแบกหาม หรืองานอันตรายที่คนไทยหลีกเลี่ยง ทำให้นายจ้างหรือผู้ประกอบการอยากที่จะจ้างแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองมากกว่า


 


ที่ผ่านมาจะเห็นชัดเจนว่าแรงงานที่หลบหนีเข้าเมืองมาในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นแรงงานที่หลบหนีปัญหาการเมืองของประเทศเขาที่มีการต่อสู้รบกัน หรือหนีความยากจนก็ตาม สามารถทำงานในประเทศได้ทุกอย่าง ทุกอย่างอาชีพ เพราะเขาเห็นว่าดีกว่ากลับไปลำบาก ไม่มีอะไรทำ ในประเทศเขา ดังนั้นจึงถือเป็นความต้องการของทั้ง 2 ฝ่ายคือฝ่ายผู้ประกอบการที่จำเป็นต้องหาแรงงานมาทำงานเพื่อธุรกิจของผู้ประกอบการเอง ขณะที่ฝ่ายแรงงานก็ต้องการงานทำเพื่อความอยู่รอดของตัวเองและครอบครัว


(แนวหน้า วันที่ 14/02/2551)


  


4.         ต่างประเทศ


 


4.1        องค์การสหประชาชาติระบุ สถานการณ์ที่เด็กตกอยู่ท่ามกลางความขัดแย้งยังน่าเป็นห่วง


 


นายราดิก้า คูมารา-ซวามี ผู้แทนพิเศษของเลขาธิการสหประชาชาติด้านเด็กและความขัดแย้งทางอาวุธแถลงต่อคณะมนตรีความมั่นคงว่า มติเมื่อปี 2548 ที่ให้จัดตั้งคณะทำงานขึ้นมาเพื่อตรวจสอบและรายงานเกี่ยวกับประเทศและกลุ่มที่ใช้ทหารเด็กได้ให้ผลที่น่าพอใจ แต่สถานการณ์โดยรวมของเด็กที่ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งยังคงน่าเป็นห่วง โดยยังมี 58 กลุ่มใน 13 ประเทศที่เกณฑ์และใช้เด็กเป็นทหาร เช่น อัฟกานิสถาน คองโก พม่า เนปาล โซมาเลีย ฟิลิปปินส์และศรีลังกา อย่างไรก็ตามผู้แทนพิเศษของสหประชาชาติต้องการให้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติขยายขอบเขตการรายงานสถานการณ์เกี่ยวกับเด็กให้มากขึ้นเนื่องจากยังมีการกระทำรุนแรงต่อเด็กในรูปแบบอื่นๆ เช่นการข่มขืนเด็กหญิง การโจมตีโรงเรียนหรือโรงพยาบาลและการลักพาตัว


 (สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์ วันที่ 14/02/2551)


 


 


----------------------------------------------


Newsline เป็นกิจกรรมหนึ่งของโครงการวิจัยไทย (Thai Research) มูลนิธิส่งเสริมสันติวิถี (Peaceway Foundation) เป็นการรวบรวมข่าวภาษาไทยที่น่าสนใจเกี่ยวกับประเทศพม่า และผลกระทบที่มีต่อประเทศไทย เพื่อให้ผู้คนในสังคมไทยได้รับรู้ ตระหนักถึงความเป็นจริงที่เกิดขึ้นกับประชาชนในพม่า และเพื่อกระตุ้นให้เกิดการมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาและรณรงค์ให้เกิดสันติภาพที่แท้จริงในประเทศพม่าต่อไป


ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการวิจัยไทย และโครงการอื่นๆติดตามได้ที่ www.burmaissues.org

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net