Peaceway Foundation รายงาน : บนเส้นทางการต่อสู้ (อีกยาวไกล) ของ KNU

เรียบเรียงข้อมูลโดย

บุษยรัตน์ กาญจนดิษฐ์ , สุชาดา สายหยุด, Kweh Say

Peaceway Foundation

 

 

            เสียงน้องที่อยู่ข้างบนสำนักงาน เสียงเพื่อนๆต่างโทรศัพท์สอบถามข่าวคราวที่เกิดขึ้นกันมือระวิง เสียงภาษากะเหรี่ยงที่ส่งผ่านจากคนหนึ่งสู่อีกคน ได้ยินลงมาถึงข้างล่าง "ต้องมีอะไรไม่ดีเกิดขึ้นอีกแล้วแน่แท้ ไม่อย่างนั้นเพื่อนไม่เป็นแบบนี้หรอก" ฉันรำพึงกับตนเอง สักพักน้องคนหนึ่งก็เดินร่ำไห้ลงมาข้างล่าง และเพื่อนๆต่างทยอยลงมา เรื่องราวก็ถูกเปิดเผยว่า "มาน ซาห์ เลขาธิการสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง ถูกยิงเสียชีวิตแล้วที่แม่สอดเมื่อสักครู่นี้"

 

            สำหรับบางคน มาน ซาห์ อาจเป็นใครก็รู้ ไม่มีความหมาย ไม่มีตัวตน ไม่สำคัญ

 

            แต่กับอีกหลายคน เขาคือลุง เขาคืออา เขาคือพ่อ เขาคือความหวังที่จับต้องได้ของประชาชนกะเหรี่ยงในวันนี้

 

 

รู้จัก มาน ซาห์ และย้อนรอยวันเกิดเหตุ

ตามรายงานข่าวของแหล่งข่าวจาก KNU กล่าวว่า มาน ซาห์ เลขาธิการสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง(KNU) อายุ 64 ปี ได้ถูกยิงเสียชีวิตที่บ้านพักเลขที่ 74/17 ซอยวัดบุญญาวาส ถนนอินทรคีรี ต.แม่สอด อ.แม่สอด เป็นบ้าน 2 ชั้น ครึ่งตึกครึ่งไม้ เมื่อตอนบ่ายสี่โมงครึ่งของวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2551 ซึ่งตั้งอยู่ใกล้กับเทศบาลอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก เขาถูกยิงโดยผู้ชายไม่ทราบว่าเป็นใคร 2 คน ที่เดินขึ้นบันไดมาที่ชั้นบน ซึ่งมาน ซาห์นั่งพักผ่อนอยู่ เขาได้พูดกับมาน ซาห์ว่า สวัสดี ด้วยภาษากะเหรี่ยง หลังจากนั้นก็ได้ยิงปืน 2 นัดเข้าที่หน้าอกด้านซ้าย ทำให้มาน ซาห์เสียชีวิตลงทันที ต่อมาผู้ชาย 2 คนนั้นก็ออกมาที่หน้าบ้านและขับรถสีดำหลบหนีออกไป โดยที่ยังมีคนอื่นๆอยู่ที่ข้างล่างและตกใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น พวกเขาต่างเชื่อว่า "คนที่เข้ามายิงนี้เป็นคนกะเหรี่ยงด้วยกันเอง"

 

มาน ซาห์ ขึ้นเป็นเลขาธิการสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง หลังจากที่นายพลโบเมี้ยะเสียชีวิตลงเมื่อเดือนธันวาคม 2549 เขาเป็นผู้นำที่ต้องเผชิญหน้ากับความขัดแย้งภายในอยู่เสมอ ในอดีต มาน ซาห์ เป็นผู้หนึ่งที่เคยมีส่วนร่วมในการเสนอให้มีการเจรจาหยุดยิงกับกองทัพพม่า เขาได้รับการเคารพนับถืออย่างสูงทั้งในหมู่ประชาชนพม่าและประชาชนชนกลุ่มน้อย ด้วยท่าทีที่เข้มแข็ง ไม่สยบยอม เป็นผู้นำที่กล่าวได้ว่า "เป็นผู้นำที่แท้จริง" ตามประวัติชีวิตเขาเรียนจบที่มหาวิทยาลัยร่างกุ้งเมื่อปี 2505 สาขาวิชาประวัติศาสตร์ และได้เข้าร่วมเคลื่อนไหวต่อสู้กับกองทัพปลดปล่อยแห่งชาติกะเหรี่ยงในป่าแถบชายแดนไทย-พม่า ตั้งแต่เขาเรียนจบ เขาปรารถนาว่าเขาจะเป็นหนึ่งในผู้นำที่ช่วยบรรเทาความขัดแย้งในกองทัพให้ลดน้อยลงไป ปัจจุบันเขามีลูกสาว 2 คนและหลาน 1 คน โดยภรรยาเสียชีวิตแล้ว

 

เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2551 ที่ผ่านมา เขาพึ่งเป็นประธานเปิดงานวันครบรอบ 59 ปี แห่งการปฏิวัติของกองทัพเคเอ็นยู ที่ค่ายเตโบทะ ตรงข้าม อ.ท่าสองยาง จ.ตาก เขาเรียกร้องให้นานาประเทศคว่ำบาตรและกดดันพม่าเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งยังเรียกร้องให้ฝ่ายพม่าหยุดปฏิบัติการทางทหารและยุติการเข่นฆ่าชนกลุ่มน้อยทุกกลุ่ม ส่วนการต่อสู้ของเคเอ็นยูนั้นจะยังดำเนินการต่อไปจนกว่าประชาชนกะเหรี่ยงจะได้อิสรภาพที่แท้จริง

 

 

KNU ที่ผ่านมา : บนเส้นทางการต่อสู้และการนำของนายพลโบเมี้ยะ

หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อพม่าเริ่มเรียกร้องอิสรภาพจากอังกฤษ ภายใต้การนำของพรรคการเมืองสำคัญ คือ สันนิบาตเสรีชนต่อต้านเผด็จการฟาสซิสต์ (Anti-Fascism of People Freedom League - AFPFL) นำโดยนายพล ออง ซาน ร่วมกับองค์กรการเมืองของกะเหรี่ยง คือ KCO (the Karen Central Organization) ภายใต้การนำของ ซอว์ บา อู จี (Saw Ba U Gyi) ต่อมา AFPFL ปฏิเสธที่จะให้กะเหรี่ยงแยกเป็นรัฐอิสระก็ทำให้ KCO แตกออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ยังคงร่วมมือกับ AFPFL เพื่อต่อสู้ในกระบวนการทางการเมืองต่อไป กับอีกกลุ่มหนึ่งที่แยกตัวออกมาต่อสู้ตามวิถีทางการใช้กำลัง คือ กลุ่ม KNU หรือ the Karen National Union พร้อมทั้งรวบรวมและจัดตั้งกองกำลังติดอาวุธโดยใช้ชื่อว่า KNDO (the Karen National Defense Organization) โดยมี ซอว์ บา อู จี เป็นผู้นำ ซึ่งมีเป้าหมายและอุดมการณ์ทางการเมืองที่ชัดเจนคือ การมีรัฐอิสระเป็นของตนเองและไม่ขึ้นกับอำนาจการบริหารปกครองของชาวพม่า มาตั้งแต่ปี 2491

 

ระหว่างปี 2491-2505 กองกำลังกลุ่มกะเหรี่ยงยังคงขับเคี่ยวต่อสู้กับกองทัพพม่าอยู่ตลอดเวลา โดยในช่วงแรกนี้พื้นที่ในการต่อสู้ยังคงอยู่ในบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำอิระวดี หากแต่เมื่อกองทัพพม่าเข้มแข็งขึ้น KNU ก็ถูกขับไล่ออกไปสู่ชายแดนมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในช่วงที่นายพลเนวินปฏิวัติรัฐบาลพลเรือนของ อู นุ เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2505 และเปลี่ยนการปกครองไปเป็นระบบสังคมนิยมวิถีพม่า กองกำลังกะเหรี่ยงถูกปราบปรามอย่างหนักจนต้องถอยร่นไปปักหลักสู้ในบริเวณรัฐกะเหรี่ยงติดชายแดนไทย โดยมีฐานที่มั่นอยู่ที่มาเนอร์ปลอว์บริเวณชายแดนไทย-พม่าและไม่สามารถกลับเข้าไปปฏิบัติการในเขตหัวเมืองชั้นในของพม่าได้อีกต่อไป

 

การถูกบีบให้มาตั้งฐานที่มั่นในบริเวณชายแดนไทย-พม่า ทำให้กองกำลัง KNU กลับมาได้เปรียบ เนื่องจากพื้นที่แห่งนี้เป็นเส้นทางผ่านของสินค้าระหว่างไทยกับพม่า เป็นพื้นที่เขตเศรษฐกิจชายแดนที่สำคัญทหาร KNU ทำหน้าที่เก็บภาษีสินค้าผ่านทาง ค่ายทหารของ KNU ทำหน้าที่เป็นด่านเก็บภาษีสินค้าและค่าผ่านทาง แต่ละค่ายมีโกดังสำหรับสต็อคสินค้าที่ผ่านแดนเป็นจำนวนมากก่อนจะทำการกระจายไปตามเมืองใหญ่น้อยของพม่า โดยมีทหาร KNU ทำหน้าที่คุ้มกันกองคาราวานสินค้า และมีชาวกะเหรี่ยงทำหน้าที่เป็นกรรมกรรับจ้างแบกหามและขนสินค้า สถานการณ์เช่นนี้ส่งผลให้กองกำลังของ KNU กลายเป็นกองกำลังที่เข้มแข็ง มีงบประมาณมากพอที่จะซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ จนทำให้กองทัพพม่าค่อนข้างจะยำเกรงในศักยภาพของกองกำลังกะเหรี่ยงตลอดช่วงปี 2513-2523 เรื่อยมา จวบจนมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอีกครั้งในปี 2531

 

ในเดือนพฤศจิกายน ปี 2531 รัฐบาลพม่าได้ออกกฎหมายการลงทุนจากต่างประเทศ เปิดโอกาสให้ทุนต่างชาติเข้าไปลงทุนในพม่าได้ รัฐบาลพม่าได้ให้สัมปทานป่าไม้จำนวน 48 แปลงแก่นักธุรกิจไทย โดยพื้นที่ทั้งหมดอยู่ในเขตของกองกำลัง KNU เกือบทั้งสิ้น ส่งผลให้พื้นที่ของกองกำลัง KNU เปลี่ยนแปลงไป จากป่าทึบเป็นป่าโปร่ง จากพื้นที่เข้าถึงยากกลายเป็นพื้นที่มีถนนตัดเข้าถึง สะดวกต่อการขนทหารพม่าเข้ามาสู้รบกับกองกำลังกะเหรี่ยง รวดเร็วกว่าที่เคยเป็นมาในอดีต ทำให้การตั้งรับของทหารกะเหรี่ยงเป็นไปได้ยากขึ้น นอกจากนั้นแล้วการล่มสลายของกองกำลังของพรรคคอมมิวนิสต์พม่าในบริเวณชายแดนจีนในปี 2532 ตลอดจนการเจรจาหยุดยิงของกองกำลังคะฉิ่นอิสระ (KIA) ในปี 2537 ทำให้กองทัพพม่าสามารถย้ายกำลังพลมาไว้ที่บริเวณตะวันออกติดชายแดนไทย-พม่า เพื่อปฏิบัติการในพื้นที่ได้อย่างต่อเน่อง อิทธิพลของทหารพม่าจึงทวีความรุนแรงขึ้น พร้อมๆกับการซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ใหม่จากจีนทำให้กองทัพพม่ามีสมรรถภาพในการต่อสู้กับกองกำลังกะเหรี่ยงมากยิ่งขึ้น

 

ปี 2537 ยังเป็นปีของการเข้าสู่สมรภูมิที่ชอกช้ำของ KNU เมื่อกลุ่มทหารกะเหรี่ยงพุทธ(DKBA)ได้ขอแยกตัวออกไปตั้งเป็นกองกำลังใหม่และเข้าเป็นพันธมิตรกับทหารพม่า โดยกลุ่มกะเหรี่ยงพุทธมีความเห็นว่า นายทหารและพลทหารส่วนใหญ่ในกองกำลัง KNU ที่เป็นชาวพุทธนั้น ไม่ได้รับความยุติธรรมในการตอบแทนความดีความชอบทางด้านตำแหน่งและความรับผิดชอบ เมื่อเทียบกับบรรดานายทหารและพลทหารกะเหรี่ยงซึ่งนับถือศาสนาคริสต์ โดยเฉพาะผู้นำในคณะกรรมการกลางของ KNU นั้น ส่วนใหญ่จะเป็นคริสเตียนเกือบทั้งสิ้น นายพลโบเมี้ยะ ซึ่งเป็นผู้นำของกะเหรี่ยงนั้นก็เป็นคริสเตียนที่เคร่งครัดคนหนึ่ง ความไม่เสมอภาคระหว่างกะเหรี่ยงคริสต์และกะเหรี่ยงพุทธ จึงนำพาไปสู่ความแตกแยกในที่สุด ทั้งนี้เชื่อกันว่าการแยกตัวของกลุ่มกะเหรี่ยงพุทธได้รับการสนับสนุนจากกองทัพพม่า เหตุผลสำคัญที่ DKBA เข้าเป็นพันธมิตรกับกองทัพพม่านั้น เป็นเพราะรัฐบาลพม่าสัญญาที่จะยกพื้นที่ในการปกครองให้กับกะเหรี่ยงพุทธ โดยระบุว่าหากสามารถตี KNU ให้แตกได้ พื้นที่ที่ตีชิงมาได้จะยกให้ DKBA เป็นผู้ควบคุมดูแล การเข้าเป็นพวกกับทหารพม่าของ DKBA ทำให้ KNU ต้องพ่ายแพ้แก่ทหารพม่าบ่อยครั้ง จนกระทั่งกองกำลัง KNU อ่อนกำลังลงเรื่อยๆ และพื้นที่ที่ควบคุมดูแลก็ลดน้อยลง เพราะสูญเสียพื้นที่ให้กับ DKBA หากแต่พื้นที่ที่ได้มานั้นมิได้อยู่ในการดูแลของกองกำลัง DKBA แต่เพียงลำพัง เพราะกองทัพพม่าได้ส่งกองกำลังเข้าไปตั้งหน่วยทหารในพื้นที่ควบคู่ไปกับ DKBA และทหารกะเหรี่ยง DKBA ต้องฟังทหารพม่าเช่นกัน

 

ปี 2538 DKBA ร่วมมือกับกองทัพพม่า เข้าตีค่ายมาเนอร์ปลอว์จนแตก ทำให้กองกำลังที่มีแสนยานุภาพของ KNU ลดลงกลายมาเป็นเพียงกองกำลังเคลื่อนที่ที่ใช้ยุทธวิธีรบแบบกองโจรกับทหารพม่า คือ การซุ่มโจมตีและสลายตัว แทนการตั้งรับในเขตดินแดนอิทธิพลของตน

 

ปัจจุบัน KNU มีพื้นที่ในความดูแลไม่มากนัก เพราะสูญเสียพื้นที่ส่วนใหญ่ให้กับกองทัพพม่าไปแล้ว

 

กว่า 20 ปีที่ผ่านมา ผู้นำคนสำคัญของ KNU คือ นายพลโบเมี้ยะ เขามีบทบาทสำคัญในฐานะผู้นำกะเหรี่ยงเคเอ็นยูตั้งแต่ปี 2519-2543 ซึ่งตลอดเวลานายพลผู้นี้ได้สร้างนโยบาย และยุทธศาสตร์การเมือง การทหาร เพื่อวางรากฐานต่างๆในการต่อสู้เพื่ออิสรภาพให้แก่พี่น้องกะเหรี่ยง KNU และชนกลุ่มน้อย โดยเฉพาะนโยบายเปิดเจรจาต่อรองทางการเมืองกับรัฐบาลทหารพม่า เพื่อร่วมกันหาข้อยุติปัญหาขัดแย้งต่างๆด้วยสันติวิธี  

 

 

KNU ในวันนี้ : ความขัดแย้งในพวกเดียวกัน

            26 ธันวาคม 2549 นายพลโบเมี้ยะได้ลาจากไป แต่ก่อนหน้านี้ในปี 2542 เขาก็ได้แต่งตั้งและให้อำนาจทางทหารกับลูกทั้ง 4 คน หลังจากทราบว่าฐานอำนาจทางการเมืองเริ่มสั่นคลอน เนื่องจากเกิดความขัดแย้งระหว่างฝ่ายการเมืองกับฝ่ายกองทัพกะเหรี่ยงเคเอ็นยูในเรื่องบทบาทการทำงานมาโดยตลอด

 

            ในส่วนของอำนาจทางทหารนั้น เขาได้แต่งตั้งลูกชายดำรงตำแหน่งทางทหารที่สำคัญ คือ

(1)   พันเอกนิกอ เมี้ยะเป็นผู้บังคับการกองพัน 201

 

(2) พันเอกเนอดา เมี้ยะเป็นผู้บังคับกองพัน 202 โดยมีกำลังจากพลจัตวาเถ่งหม่อง (สามีของน้องสาวของภรรยานายพลโบเมี้ยะ) ผบ.กองพลน้อยที่ 7 ซึ่งแต่งตั้งมาตั้งแต่ปี 2513 ดูแลพื้นที่ทิศเหนือตรงข้าม อ.แม่สอด จ.ตาก ขึ้นไปจนถึง จ.แม่ฮ่องสอน และ พล.ต.มือตู ผบ.กองพลน้อยที่ 6 ซึ่งดูแลพื้นที่ด้านทิศใต้ของฝั่งตรงข้าม อ.แม่สอด จ.ตาก ลงไป เป็นฐานอำนาจคอยสนับหนุนอยู่ข้างหลัง และนายพลโบเมี้ยะวางตัวพันเอกเนอดาให้เป็นทายาทอันดับที่ 1

 

หลังนายพลโบเมี้ยะหมดวาระดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีในปี 2543 หลังจากดำรงตำแหน่งนี้มายาวนานถึง 26 ปี ความขัดแย้งกับฝ่ายการเมืองเริ่มก่อตัวมากขึ้น โดยนายพลโบเมี้ยะถูกลดชั้นให้เป็นรองประธานาธิบดี และแต่งตั้งนายซอว์ บา เต็ง ซึ่งเป็นพลเรือนดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีแทน และต่อมาอีก 4 ปี คือในปี 2547 นายพลโบเมี้ยะก็ถูกปลดไม่ให้ดำรงตำแหน่งใดๆในสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยงอีกต่อไป โดยฝ่ายการเมืองอ้างเหตุผลเรื่องสุขภาพ

 

ความเปลี่ยนแปลงครั้งนี้สืบเนื่องมาจากแรงกดดันของผู้นำฝ่ายทหารระดับกลาง ซึ่งสู้รบมายาวนาน และต้องการเจรจายุติสงครามกลางเมืองกับรัฐบาลพม่า รวมไปถึงนโยบายของรัฐบาลไทยที่ต้องการลดระดับความคลางแคลงใจของประเทศเพื่อนบ้าน ตลอดเวลารัฐบาลพม่ากล่าวหาว่าไทยสนับสนุนฝ่ายกะเหรี่ยงให้สู้รบกับรัฐบาลกลาง เป็นที่ทราบดีว่าฝ่ายทหารของไทยผลักดันและอยู่เบื้องหลังการเจรจาระหว่าง KNU กับรัฐบาลพม่ามาแล้วหลายครั้งแต่ยังหาข้อยุติไม่ได้

 

กองกำลังกะเหรี่ยงได้แบ่งการบริหารงานออกเป็นสองกลุ่ม คือ กลุ่มบริหารการเมืองและกองทัพ

 

กลุ่มบริหารการเมือง ใช้ชื่อกลุ่มว่า สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง หรือ KNU - Karen National Union มี มาน ซาห์ ดำรงตำแหน่งเป็นเลขาธิการสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง

 

กลุ่มกองทัพ ใช้ชื่อกองทัพว่า กองทัพปลดแอกชาติกะเหรี่ยง KNLA - Karen National Liberation Army มีกำลังพลทั้งหมด 7 กองพล โดยกองพลที่ใหญ่และเข้มแข็งที่สุดได้แก่กองพลน้อยที่ 7 ที่มีพลจัตวาเถ่งหม่องเป็นผู้บังคับบัญชา

 

            เส้นทางความขัดแย้งใน KNU ที่น่าสนใจ

 

2538                            ตัวแทนกองทัพพม่าของพล.อ.ขิ่น ยุ้นต์ กับนายพลโบเมี๊ยะพบปะกันที่กรุงเทพฯ เพื่อเจรจาสงบศึก

 

ธันวาคม 2548               กองพลน้อยที่ 7 นำโดยอดีตกรรมการบริหาร KNU มาห์น เยงหม่อง เดินทางเข้ามายังกรุงเทพฯ เพื่อเปิดเจรจาหยุดยิงกับรัฐบาลทหารพม่าอีกครั้ง ผ่านตัวแทนของพม่า คือ พันเอก ติน โซ ทูตทหารพม่าประจำประเทศไทย แต่ก็ไม่มีการตกลงใดๆทั้งสิ้น

 

21 มิถุนายน 2549         รัฐบาลพม่าโดยพันโทเมียดทุนอู ส่งตัวแทนกองทัพพม่าพร้อมคณะรวม

7 คน ไปพบกับคณะตัวแทนของกองพลน้อยที่ 7 ของ KNU ที่เมืองเมียวดี ตรงข้ามอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก

 

13 กรกฎาคม 2549       คณะตัวแทนของกองทัพพม่านำโดยพันโทเมียดทุน อู(ชุดเดิม) ได้

เดินทางมาพบกับนายพลโบเมี้ยะที่บ้านพักแห่งหนึ่งบริเวณชายแดนไทย-พม่า และเสนอให้นายพลโบเมี๊ยะเข้าไปรับการรักษาตัวในกรุงย่างกุ้ง พร้อมกันนั้นคณะตัวแทนกองทัพพม่าได้เข้าเยี่ยมพื้นที่กองพลน้อยที่ 7 ของ KNU ที่บัญชาการโดยพลจัตวาเถ่งหม่อง กับพันเอกเนอดา เมี้ยะ โดยมี ดร.เทิมโมธี อดีตรัฐมนตรีช่วยการต่างประเทศของ KNU เป็นผู้ประสานงาน

 

1 สิงหาคม 2549            ผู้นำระดับสูงใน KNU บางส่วนไม่พอใจ โดยให้เหตุผลว่าผิดกฎของ KNU ซึ่งหากต้องมีการพบปะกับกองทัพพม่า จะต้องผ่านเจ้าหน้าที่ที่แต่งตั้งไว้ ซึ่งได้แก่ พันเอกโซโซ เท่านั้น ทำให้ในที่สุดกองพลน้อยที่ 7 ออกแถลงการณ์ไม่อยู่ภายใต้ KNU เนื่องจากผู้นำด้านการบริหารใน KNU ไม่ยอมสละตำแหน่งให้กับนายทหารระดับล่างให้มีโอกาสขึ้นมารับตำแหน่งแทน รวมทั้งมุ่งเอาแต่ประโยชน์ส่วนตัวเป็นใหญ่และพยายามก่อความไม่สงบในพม่า ทำให้การเจรจาสันติภาพกับกองทัพพม่าไม่ประสบผลสำเร็จ

 

กันยายน 2549              กองพลน้อยที่ 7 ของพลจัตวาเถ่งหม่อง ส่งคณะผู้แทนไปย่างกุ้งเพื่อหาทางรื้อฟื้นการเจรจายุติการสู้รบกับรัฐบาลพม่า แต่ไม่ประสบความสำเร็จ

 

ธันวาคม 2549               หลังจากนายพลโบเมี้ยะเสียชีวิตลง คณะกรรมการกลางบางส่วนใน

KNU มีความคิดเห็นแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่เห็นว่าเมื่อ พล.อ.ขิ่น ยุ้นต์ ถูกปลดออกจากตำแหน่งและกลุ่มอำนาจใหม่ที่มาแทนนั้นไม่ได้ยึดถือตามสัญญาเจรจาสงบศึก แต่กลับส่งกองกำลังทหารเข้าไปในรัฐกะเหรี่ยงเพิ่มขึ้น ทำให้ KNU ก็ต้องจับอาวุธสู้กับพม่าต่อไป กับอีกกลุ่มหนึ่งที่อ่อนล้ากับการต่อสู้ และอยากสงบศึกกับพม่า

 

3  มกราคม 2550           พลจัตวาเถ่งหม่อง ผบ.กองพลที่ 7 พร้อมคณะเจรจารวม 9 คนได้เดินทางไปเจรจากับกองทัพพม่าที่กรุงย่างกุ้งอีกครั้งหนึ่ง โดยมีเป้าหมายเพื่อพบกับ พล.อ.อาวุโส ตานส่วย ประธานสภาสันติภาพและการพัฒนาแห่งรัฐ (SPDC) และพล.อ.หม่องเอ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด และรองประธานสภา SPDC รวมทั้งพล.อ.โซวิน นายกรัฐมนตรีพม่า และเดินทางกลับฐานในวันที่ 11 มกราคม

 

30 มกราคม 2550          คณะกรรมการกลางของ KNU ได้มีมติสั่งปลดพลจัตวาเถ่งหม่อง ออกจากตำแหน่ง เนื่องจากไปทำการเจรจากับกองพม่าโดยไม่ได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการกลาง และคณะกรรมการกลางของ KNU ได้แต่งตั้งพ.อ.จอนนี่ กับพ.อ.ทุนจ่าย ขึ้นมารับตำแหน่งแทน

 

31 มกราคม 2550          พลจัตวาเถ่งหม่องประกาศจัดตั้งกองกำลังกลุ่มใหม่ โดยให้ชื่อว่าสภา

สันติภาพกองทัพปลดปล่อยชนชาติกะเหรี่ยง (KNLAPC-Karen National Liberation Army Peace Council) มีกองบัญชาการอยู่ตรงข้าม อ.ท่าสองยาง ไม่ขึ้นตรงกับกลุ่มของ KNU โดยพลจัตวาเถ่งหม่อง เป็นประธานกลุ่ม ต่อกรณีนี้นายมาน ซาห์ เลขาธิการของ KNU กล่าวว่า KNU ไม่เห็นด้วยและไม่ให้การสนับสนุน

 

วันเดียวกันหนังสือพิมพ์ The NewnLight of Myanmar ที่เป็นกระบอกเสียงของรัฐบาลทหารพม่า ก็ได้เสนอรายงานข่าวการต้อนรับ พลจัตวาเถ่งหม่องและกำลังทหารกว่า 300 คนอย่างสมเกียรติ และในพิธีต้อนรับยังมีการให้รางวัลแก่ผู้ที่สวามิภักดิ์ต่อรัฐบาลทหารพม่า เป็นรถไถ โทรทัศน์ 21 นิ้ว พร้อมเครื่องเล่นวีซีดี สังกะสีมุงหลังคา ไม้แปรรูป สวนยางพารา และพลจัตวาเถ่งหม่องยังได้รับการแต่งตั้งจากฝ่ายพม่าให้เป็นผู้ดูแลปกครองหมู่บ้านโทะคอโก รัฐกะเหรี่ยง

 

2 เมษายน 2550            ทหารจากกองพลน้อยที่ 101 ของกองกำลังสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU) ยิงถล่มใส่รถยนต์ของพันตรีเลอะมู บุตรเขยพลจัตวาเถ่งหม่อง จนได้รับบาดเจ็บ ที่บริเวณบ้านโทะคอโก เขตอำเภอนาบู จังหวัดกอกาเลก รัฐกะเหรี่ยง พันตรีเลอะมูเป็นนายทหารนักรบที่มีชื่อเสียง จบปริญญาตรีจากประเทศอินเดีย และแต่งงานกับบุตรสาวพลจัตวาเถ่งหม่อง

 

31 มกราคม 2551          เกิดเหตุระเบิดในบ้านพักของพันตรีเลอะมู ในกองบัญชาการกองทัพปลดปล่อยกะเหรี่ยงอิสระแห่งชาติ (KNLA) ตรงข้าม อ.ท่าสองยาง จ.ตาก โดยระเบิดถูกซุกไว้ใต้ที่นอน เป็นเหตุให้พันตรีเลอะมูเสียชีวิตทันที

 

แต่ในระหว่างการเจรจาสงบศึกนี้เอง เหมือนมาน ซาห์จะรู้ว่ารัฐบาลทหารพม่าไม่เคยจริงใจ กลับหลอกลวงประชาชนกะเหรี่ยงซ้ำแล้วซ้ำเล่า เขากล่าวว่า "เมื่อปี 2546 กองทัพพม่าและ KNU ได้เจรจาสงบศึกกันแล้วครั้งหนึ่ง แต่จนถึงขณะนี้กองทัพพม่ายังไม่หยุดโจมตี KNU และการที่ KNU จะยอมเชื่อใจและเจรจากับกองทัพพม่าอีกนั้นคงไม่ใช่เรื่องง่ายแน่ เพราะที่ผ่านมาตัวแทนกองทัพพม่ากับ KNU ได้พบปะเจรจาเพื่อยุติปัญหาความขัดแย้งกันแล้วหลายครั้ง ครั้งแรกเมื่อวันที่ 21 พ.ย. 2546 ซึ่งพ.อ.ซานปวิ้น ตัวแทนฝ่ายพม่าพร้อมคณะได้เดินทางมาพบกับเจ้าหน้าที่ตัวแทน KNU และต่อมาวันที่ 3 ธ.ค. 2546 คณะตัวแทน KNU 5 คน ไปเยือนกรุงย่างกุ้ง และเมื่อวันที่ 15 ม.ค. 2547 นายพลโบเมี้ยะได้เดินทางไปพบกับผู้นำรัฐบาลพม่าด้วยตนเองตามคำเชิญของพลเอกขิ่นยุ้นต์ ซึ่งการเยือนในครั้งนั้นก็ยังมีการสู้รบกันระหว่างกองทัพพม่ากับ KNU อยู่"

 

นับตั้งแต่เดือนมกราคม 2550 เป็นต้นมา กองทัพพม่าก็ได้จัดส่งกำลังเข้าพื้นที่กะเหรี่ยง KNU ในหลายจังหวัด คือ จังหวัดตองอู จังหวัดหย่องเลวิน จังหวัดผาปูน และจังหวัดดูปลายา เพื่อทำการกวาดล้างกองกำลัง KNU โดยใช้กองกำลังทั้งหมดรวม 56 กองพัน ในจำนวนนี้ส่วนหนึ่งมาจากกองพลทหารราบที่ 66, 101, กองบัญชาการยุทธการที่ 16, 21 และอีกส่วนหนึ่งถูกส่งมาจากในพื้นที่ภาคใต้และภาคตะวันออกเฉียงใต้โดยใช้ชื่อปฏิบัติการว่า "ยุทธการเยหม่านเฮง" ซึ่งการปราบปรามกองกำลังกะเหรี่ยง KNU ของกองทัพพม่านี้ ทำให้ชนชาวกะเหรี่ยงถูกบังคับให้ย้ายถิ่นฐานละทิ้งบ้านเรือนแล้วมากกว่า 1 หมื่นคน กองทัพพม่าได้ปรับแผนการรุกใหม่โดยใช้วิธียุแหย่ให้กองกำลังกะเหรี่ยง KNU เกิดความแตกแยกภายในเพื่อหวังให้ยอมสวามิภักดิ์ต่อกองทัพของตน ซึ่งหน่วยที่ได้รับมอบหมายในปฏิบัติการนี้ได้แก่ หน่วยข่าวกรองใหม่หรือที่เรียกกันว่า หน่วยรักษาความปลอดภัยกิจการทหาร MAS ภายใต้ใช้ชื่อปฏิบัติการ "ยุทธการพะธี"

 

ล่าสุด 2 วันที่ผ่านมา ตั้งแต่วันที่ 13 กุมภาพันธ์ DKBA และกองทัพพม่ากว่า 400 นาย บุกเข้าโจมตีฐานที่มั่นของ KNU ด้านตรงข้าม อ.พบพระ จ.ตาก และระดมยิงด้วยอาวุธปืนอย่างหนัก การปะทะกันหลายชั่วโมงส่งผลให้ในที่สุด KNU ต้องตัดสินใจสละฐานที่มั่น เพราะกำลังพลมีน้อยกว่าหลายเท่า การสู้รบครั้งนี้ถือว่ารุนแรงที่สุดในช่วงหลายเดือนผ่านมา ภายหลังจากผู้นำคนสำคัญในรัฐบาลพม่าได้มีนโยบายปราบปรามชนกลุ่มน้อยอย่างจริงจังและไม่ยอมเปิดการเจรจาอีกต่อไป

 

จะว่าไปแล้วความขัดแย้งที่ปะทุภายในหลายประการดังที่กล่าวมา ไม่ว่าจะเกิดจากความไม่มั่นคงในอำนาจหรือการบ่อนเซาะจากรัฐบาลทหารพม่า ก็เป็นชนวนสำคัญในการนำมาซึ่งความสูญเสียใน KNU ทั้งสิ้น นับตั้งแต่การแยกตัวออกเป็น KNU กับ DKBA การสูญเสียฐานที่มั่นมาเนอปลอว์ การสิ้นบารมีของนายพลโบเมี้ยะ การที่รัฐบาลทหารพม่าสามารถชักชวนกองพลน้อยที่ 7 ของ KNU เข้าเป็นพวกได้ สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นชัดว่า นี้คือความสำเร็จขั้นหนึ่งของกองทัพพม่า เป็นความอ่อนแอของ KNU ที่พม่าสามารถเอาชนะได้โดยไม่ต้องใช้กำลังมากมาย การเดินเกมแบบนี้ที่สุดแล้วถ้า KNU ลืมยึดถือหลักการที่ ซอว์ บา อู จี ได้วางไว้ 2 ประการ คือ 1.แผ่นดินกะเหรี่ยงจะยังคงอยู่ และ 2. กองกำลังกะเหรี่ยงจะไม่มีวันวางอาวุธให้กับศัตรู ตราบนั้น KNU ก็จะกลายเป็นเพียงความทรงจำของลูกหลานกะเหรี่ยงที่เล่าต่อๆ กันไป

 

 

เรียบเรียงข้อมูลจาก

สำนักข่าว SHAN

สำนักข่าวเชื่อม

สำนักข่าว IRRAWADDY

พรพิมล ตรีโชติ ที่มาของขบวนการต่อต้านรัฐของกลุ่มชาติพันธุ์ในพม่า, 2548 (เอกสารอัดสำเนา)

 

 


เพื่อประชาชนกะเหรี่ยงทุกคนบนแผ่นดิน ผู้ไม่ยอมจำนนกับชะตากรรม
เราขอไว้อาลัยให้กับความสูญเสียในครั้งนี้เป็นอย่างยิ่ง

Burma Issues

Peaceway Foundation

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท