คำมั่นหรือคำหวานวันวาเลนไทน์ : รายงานความคืบหน้าค้านต่อสัญญาใช้ป่าสงวนดงใหญ่ให้นายทุน

  

 

  

 

ศรายุธ ตั้งประเสริฐ รายงาน

 

14 กุมภาพันธ์ 2551 เวลา 09.00 น. ณ ที่ทำการองค์การบริหารส่วนตำบลลำนางรอง อำเภอโนนดินแดง จังหวัดบุรีรัมย์ ชาวบ้านกลุ่มผู้เดือดร้อนจากปัญหาที่ดินทำกิน จำนวน 500 คน ได้ชุมนุมเพื่อคัดค้านการต่อสัญญาเช่าพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติดงใหญ่ในการปลูกยูคาลิปตัสของบริษัทเอกชนจากองค์การบริหารส่วนตำบลลำนางรอง

การชุมนุมในวันนี้เป็นการชุมนุมเพื่อกดดันที่ประชุมสมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบลฯ ในการตัดสินใจให้ความเห็นชอบในการต่ออายุสัญญาการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติดงใหญ่ ที่จะหมดลงในปี 2552 ซึ่งแต่เดิมจะได้นำเรื่องเข้าประชุมพิจารณาเรื่องดังกล่าวในวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2551 แต่เมื่อมีการชุมนุมกดดันและอภิปรายโจมตีโดยกลุ่มชาวบ้านที่มีปัญหาเรื่องที่ทำกิน จึงทำให้ต้องเลื่อนการพิจารณามาเป็นวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2551 นี้

ในขณะเดียวกลุ่มผู้เดือดร้อนจากปัญหาที่ดินทำกินก็ได้ชุมนุมและยื่นข้อเรียกร้องต่อองค์การบริหารส่วนตำบลลำนางรอง 2 ข้อ คือ 1.คัดค้านการต่อสัญญาการใช้ประโยชน์ในพื้นป่าสงวนแห่งชาติดงใหญ่ของบริษัทเอกชน 2.ขอมติเห็นชอบในการนำพื้นที่ที่หมดสัญญาฯ มาจัดสรรให้กับประชาชนในอำเภอโนนดินแดง

สมาชิกองค์กรบริหารส่วนตำบลลำนางรองได้เริ่มประชุมเวลา 10.00 น. โดยมีสมาชิกเข้าประชุมจำนวน 35 คน ขาดประชุมเพียง 1 คน เท่านั้น โดยบริเวณรอบห้องประชุมมีเจ้าหน้าที่ตำรวจมาคอยดูแลความปลอดภัยประมาณ30คน

รัชดา ฉายสวัสดิ์ อนุกรรมการสิทธิในการจัดการที่ดินและป่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้ให้ข้อเสนอแนะจากผลการศึกษาข้อมูลของคณะกรรมการสิทธิฯต่อที่ประชุมว่า ไม่สมควรให้มีการออกหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตป่าสงวนแห่งชาติดงใหญ่ให้กับเอกชน ทั้งที่หมดอายุการอนุญาตแล้ว และที่กำลังจะหมดในปี 2552 และ 2560, ควรนำพื้นที่ดังกล่าวมาจัดสรรเพื่อแก้ปัญหาความเดือดร้อนเรื่องที่ดินทำกิน โดยการมีส่วนร่วมของชุมชน

ปัญหาที่เกิดขึ้นอาจเป็นปัญหาที่น่าหนักใจสำหรับ สมาชิก อบต. เนื่องจากที่ดินมีจำกัดในขณะที่มีผู้เดือดร้อนเป็นจำนวนมากถึง 4,830 ราย จึงเสนอให้ผลักดันเรื่องการจัดการที่ดินในกรณีนี้ให้รัฐบาลปัจจุบันนำไปดำเนินการให้เป็นพื้นที่นำร่องในการแก้ไขปัญหาเรื่องที่ทำกินให้กับประชาชน

หลังการนำเสนอข้อคิดเห็นของตัวแทนคณะกรรมการสิทธิฯ ที่ประชุมก็ได้เริ่มอภิปรายแสดงความคิดเห็น ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกันคือ เห็นด้วยกับข้อเรียกร้องของชาวบ้านและข้อเสนอแนะของคณะกรรมการสิทธิ จึงมีความเห็นเป็นเอกฉันท์ให้ ไม่ต่อสัญญาการใช้ประโยชน์ในที่ดินทุกแปลงและให้ดำเนินการนำที่ดินมาจัดสรรให้กับกลุ่มผู้เดือนร้อนจากปัญหาที่ดิน โดยเน้นให้ประชาชนในพื้นที่เป็นหลัก

หลังจากนั้น แกนนำในที่ชุมนุมได้นำมติจากที่ประชุมสภามาชี้แจงให้กลุ่มผู้ชุมนุม ทางกลุ่มผู้ชุมนุมเมื่อได้รับฟังก็มีความพอใจและแยกย้ายกันเดินทางกลับ

นายสมนึก ปัดชา เลขานุการศูนย์ประสานงานกลุ่มผู้เดือนร้อนจากปัญหาที่ดินตำบลลำนางรองกล่าวว่า มีความพอใจกับการตัดสินใจของสมาชิก อบต. แต่ยังมีข้อสงสัยว่าปัจจุบัน ทางบริษัทก็ยังดำเนินการปลูกไม้ยูคาฯเป็นปกติ แม้ว่าอายุสัญญาจะหมดในปี 2552 นี้แล้ว ทำให้เห็นว่าทางบริษัทมีความมั่นใจว่าจะได้ทำประโยชน์ในพื้นที่ดังกล่าวต่อไป

ปราโมทย์ ผลภิญโญ ผู้อำนวยการศูนย์นิเวศน์ชุมชนศึกษา กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงท่าทีของ สมาชิก อบต. ที่มีความสัมพันธ์กับบริษัทเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงว่าทางบริษัทจะมีมาตรการเคลื่อนไหวอย่างไรต่อ เนื่องจากเป็นการสูญเสียผลประโยชน์อย่างไม่สามารถที่จะประเมินค่าได้

การเสนอผลประโยชน์ให้กับผู้นำ การใช้ความรุนแรงกับผู้นำการคัดค้าน และการจัดตั้งมวลชนมาปะทะน่าจะเป็นยุทธวิธีที่ทางนายทุนผู้เสียผลประโยชน์จะดำเนินการต่อไป ซึ่งรัฐบาลจำเป็นที่จะต้องหามาตรการเข้ามาดูแลเพื่อไม่ให้ความรุนแรงดังกล่าวเกิดขึ้น

การดำเนินการผลักดันให้ทางกรมป่าไม้ทำเรื่องส่งมอบพื้นที่ที่หมดสัญญาให้ สปก. เพื่อนำมาปฏิรูปก็ยังเป็นปัญหา เนื่องจากทางกรมป่าไม้เองก็ยังยืนยันที่จะนำพื้นที่บริเวณนี้มาฟื้นฟูสภาพป่า

 

อ่านข่าวก่อนหน้า
รายงาน : เมื่อผู้บุกเบิกกลายเป็นผู้บุกรุก ในสงครามชิงป่าดงใหญ่ที่อีสานใต้

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท