"ภัควดี" แปล : เมื่อ "สปีลเบิร์ก" ไม่ร่วมโอลิมปิก 2008 - กดดันจีนยุติความรุนแรงในซูดาน

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ


ภัควดี วีระภาสพงษ์  : แปลและเรียบเรียง

ชื่อบทความเดิม : โอลิมปิก 2008 สตีเวน สปีลเบิร์ก และซูดาน

 

 

 

 

 

ตลอดการเตรียมงานนานถึง 6 ปี สาธารณรัฐประชาชนจีนหวังว่า การจัดงานโอลิมปิกเกมส์ 2008 ที่ปักกิ่งจะช่วยให้จีนกลับมาผงาดที่ศูนย์กลางของเวทีโลกอีกครั้ง

 

รัฐบาลจีนจึงทุ่มทุนไม่อั้น ปักกิ่งละลายเงินไปแล้วถึง 440 ล้านดอลลาร์กับสนามกีฬาใหม่ เพื่ออวดให้ชาวโลกเห็นความเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจและความทะเยอทะยานของชาวจีน  คณะกรรมการจัดงานร่างรายการแขกรับเชิญระดับวีไอพีทั่วโลกที่จะมาเป็นประจักษ์พยานต่อการตื่นขึ้นอีกครั้งของอารยธรรมเก่าแก่ที่ผสมผสานกับความทันสมัย พวกเขาตั้งใจจะว่าจ้างบุคลากรชื่อดังที่สุดจากฮอลลีวู้ดให้มาช่วยออกแบบการแสดงในพิธีเปิดทั้งหมด

 

แต่ในช่วงเวลาเหลือไม่ถึงหกเดือนก่อนเปิดงาน ดูท่าว่าการเฉลิมฉลองของพรรคคอมมิวนิสต์จีนอาจกลับกลายเป็นการเปิดช่องให้ถูกวิพากษ์วิจารณ์มากกว่า

 

สถาปนิกผู้ออกแบบสนามกีฬาใหม่ อ๋ายเว่ยเว่ย ประกาศไม่มาร่วมพิธีเปิดโอลิมปิกเกมส์ โดยให้เหตุผลเกี่ยวกับสภาพการเมืองที่ "น่ารังเกียจ" ในประเทศที่มีพรรคการเมืองเพียงพรรคเดียวนี้  รายชื่อแขกวีไอพีจะไม่มีชื่อฟ้าชายชาร์ลส์แห่งอังกฤษ ซึ่งเป็นมิตรกับทะไลลามะ ฟ้าชายชาร์ลส์บอกขบวนการทิเบตเสรี (Free Tibet movement) แล้วว่าจะไม่ไปร่วมงานที่จีนแน่นอน แต่เคราะห์หามยามซวยที่สุดของรัฐบาลปักกิ่งน่าจะเป็นกรณีที่สตีเวน สปีลเบิร์ก ประกาศถอนตัวจากการเป็นที่ปรึกษาด้านศิลปะ โดยกล่าวว่าด้วยมโนธรรมทำให้เขาไม่สามารถเข้าไปช่วยออกแบบการแสดงในพิธีเปิดให้ประเทศที่นิ่งดูดายต่อการฆ่าล้างผลาญชีวิตมนุษย์ในแคว้นดาร์ฟูร์ ประเทศซูดาน

 

ซ้ำร้ายไปกว่านั้น ยังมีข่าวไม่ค่อยดีรั่วออกมาเป็นระยะ โดยมีข่าวกระเส็นกระสายว่า รัฐบาลปกปิดข่าวความตายของคนงานก่อสร้างสระว่ายน้ำคนหนึ่งมากว่าขวบปี นอกจากนี้ ตำรวจจีนยังจับกุมตัวหูเจี่ย นักเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลชื่อดัง จนกลุ่มสิทธิมนุษยชนออกมาประณามรัฐบาลจีน  แถมพอสปีลเบิร์กประกาศถอนตัวก็มีกลุ่มคนดังนับตั้งแต่ผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ นักการเมือง ดาราและอดีตนักกีฬาโอลิมปิก ส่งจดหมายเปิดผนึกถึงประธานาธิบดีหูจินเทา เรียกร้องให้จีนทำอะไรสักอย่างเพื่อบรรเทาความรุนแรงในแคว้นดาร์ฟูร์

 

รัฐบาลคอมมิวนิสต์จีนถึงกับทำอะไรไม่ถูกเมื่อเจอความท้าทายแบบไม่ทันตั้งตัว ประมาณสัปดาห์หน้า ศาลจะเปิดพิจารณาคดีของหยางชุนหลิน ซึ่งโดนข้อหากบฏ เพราะเขาดันไปเขียนฎีกาประท้วงการถูกยึดที่ดินด้วยสโลแกนว่า "เราไม่ต้องการโอลิมปิกเกมส์ เราต้องการสิทธิมนุษยชน"

 

แทนที่โอลิมปิกเกมส์จะช่วยเชิดชูภาพพจน์ของประเทศจีนในสายตาโลก ตอนนี้ดูท่าจะกลายเป็นหายนะทางภาพพจน์ของประเทศไปเสียแล้ว!

 

ถึงแม้กลุ่ม Human Rights Watch จะวิจารณ์จีนอย่างหนัก แต่ก็ยังอุตส่าห์หยอดยาหอมว่า ในระยะหลัง รัฐบาลจีนแสดงความก้าวหน้าในด้านบวกอยู่บ้าง เช่น นโยบายบรรเทาความยากจน ให้เสรีภาพแก่ประชาชนมากขึ้น ผ่อนคลายการควบคุมผู้สื่อข่าวต่างประเทศ และลงทุนไม่น้อยเพื่อพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อมรอบเมืองปักกิ่ง

 

ยังมีอะไรอีกมากที่รัฐบาลจีนต้องเผชิญจากผลพวงของการจัดงานโอลิมปิกเกมส์ ตอนนี้มีกองทัพนักข่าวตอบรับว่าจะมาทำข่าวที่จีนแล้วถึง 20,000 คน มากกว่าจำนวนนักกีฬาถึง 2 เท่า  นักข่าวพวกนี้ย่อมไม่พลาดที่จะวิจารณ์ทุกอย่างตั้งแต่เรื่องกีฬาไปจนถึงสภาพของรถไฟโดยสาร เสียงวิจารณ์นี้จะกระหน่ำใส่หัวใจทั้งรัฐบาลและประชาชนจีนที่เคยชินกับวัฒนธรรมแบบปิดหูปิดตามาเนิ่นนาน

 

ในยุคก่อนๆ รัฐบาลจีนไม่เคยแยแสสื่อต่างประเทศ เพราะสามารถควบคุมข้อมูลข่าวสารได้อยู่หมัด  พวกเขาสามารถมีชีวิตในความเพ้อฝันสวยหรูที่วาดขึ้นมาเอง แต่ในยุคโลกาภิวัตน์ของข้อมูลข่าวสาร รัฐบาลต้องฟังเสียงจากภายนอกมากขึ้นและไม่มีทางปิดหูปิดตาประชาชนได้ง่าย ๆ อีกต่อไป

 

หลังจากสปีลเบิร์ก จะมีใครตามมาอีก?

การลาออกของสปีลเบิร์กคือชัยชนะครั้งใหญ่ของกลุ่มสิทธิมนุษยชนที่พยายามเปิดโปงบทบาทของประเทศจีนในการสังหารหมู่ที่แคว้นดาร์ฟูร์ กลุ่มสิทธิมนุษยชนที่มีบทบาทในเรื่องนี้คือ องค์กร Dream for Darfur ที่มีเป้าหมายผลักดันให้จีนใช้อิทธิพลของตนยุติความรุนแรงป่าเถื่อนในแคว้นดาร์ฟูร์ ส่วนองค์กร Team Darfur มุ่งสร้างการรับรู้ถึงวิกฤตการณ์ในแอฟริกาในหมู่นักกีฬา

 

แต่สตีเวน สปีลเบิร์ก เป็นแค่จุดเริ่มต้น กลุ่มสิทธิมนุษยชนเล็งต่อไปที่ ควินซี โจนส์ ซึ่งบอกว่าเขาจะทบทวนสัญญาการเขียนเพลงธีมหลักให้การแข่งขันโอลิมปิก 2008 ภายในสัปดาห์นี้ คนต่อไปคือผู้กำกับภาพยนตร์ชื่อดัง อั้งลี่ ซึ่งต้องเซ็นเซอร์หนังเรื่องล่าสุดของตนสำหรับการฉายในประเทศจีนตามคำขอร้องของรัฐบาล

 

จางอี้โหมว ผู้กำกับภาพยนตร์ชื่อดังอีกคนก็เป็นที่ปรึกษาด้านศิลปะให้การจัดงานโอลิมปิก นอกจากนี้ก็มีนักเชลโลคลาสสิก Yo-Yo Ma ที่มีแผนออกทัวร์ระหว่างการแข่งขันโอลิมปิกพิเศษในเซี่ยงไฮ้ ก่อนหน้าสปีลเบิร์ก ดาราฮอลลีวู้ดที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับโอลิมปิก แต่สนใจปัญหาในดาร์ฟูร์ก็คือ ยอร์จ คลูนีย์ ที่เดินทางไปถึงดาร์ฟูร์

 

ส่วนพวกบรรษัทธุรกิจทั้งหลายที่เป็นสปอนเซอร์ให้การแข่งขันโอลิมปิก 2008 องค์กรสิทธิมนุษยชนใช้การกดดันอีกแบบหนึ่ง องค์กร Dream for Darfur พบปะกับสปอนเซอร์ 19 ราย เมื่อเดือนมิถุนายนปีก่อน อาทิ เจเนรัลอิเล็กทริก, ไมโครซอฟท์, โคคาโคลา ฯลฯ  บริษัทเหล่านี้ได้รับคำขอร้องง่ายๆ คือ  ขอให้พวกเขาไปพบกับมีอา ฟาร์โรว์ นักแสดงหญิงที่มีบทบาทสำคัญในการชักจูงให้สปีลเบิร์กถอนตัว ขอให้บริษัทติดต่อกับเจ้าหน้าที่สหประชาชาติเพื่อเรียกร้องให้เข้าไปรักษาความสงบในดาร์ฟูร์ และขอให้บริษัทเรียกร้องให้รัฐบาลจีนสั่งห้ามเจ้าหน้าที่ซูดานที่ถูกดำเนินคดีในศาลอาชญากรระหว่างประเทศไม่ให้มาเข้าร่วมการแข่งขันโอลิมปิก

 

องค์กรสิทธิมนุษยชนจะให้คะแนนวัดผลหากบริษัทปฏิบัติตามคำขอร้อง ปรากฏว่ามี 13 ใน 19 บริษัทที่สอบตก บริษัทที่ได้ต่ำกว่าเกรด ซี จะถูกเดินขบวนประท้วงที่หน้าสำนักงานใหญ่  วิธีประท้วงอีกอย่างหนึ่งที่จะตามมาคือการคว่ำบาตรโฆษณาของบริษัทสปอนเซอร์เหล่านี้ ด้วยการรณรงค์ที่ตั้งชื่อว่า Turn Off For Darfur

 

เป้าหมายของนักเคลื่อนไหวไม่ใช่การคว่ำบาตรการแข่งขันโอลิมปิก  เพราะพวกเขาเชื่อว่ามันจะสร้างผลเสียต่อนักกีฬามากกว่าจะกดดันให้จีนปรับปรุงตัวเองในด้านสิทธิมนุษยชน  พวกเขาวางแผนจะใช้โอลิมปิกเกมส์เป็นบททดสอบความอดทนต่อเสียงคัดค้านของรัฐบาลจีน

 

แต่คงไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทำให้เกิดกระแสคว่ำบาตรในวงกว้าง โดยเฉพาะในหมู่ผู้นำประเทศ  ประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช ยืนยันว่าจะไปร่วมงานแน่นอน โดยอ้างว่าไม่ควรนำกีฬาไปพัวพันกับการเมือง กอร์ดอน บราวน์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษก็ตอบรับว่าจะไปร่วมงานเช่นกัน

 

จีนไปทำอะไรไว้ในซูดาน?

จีนเข้าไปมีบทบาทในประเทศซูดานมากว่าสิบปีแล้ว  ในปัจจุบัน สินค้าจากจีนเข้าไปในประเทศนี้เกือบหนึ่งในสี่ของสินค้านำเข้าทั้งหมด และจีนเป็นผู้สั่งซื้อสินค้าจากซูดานราว 70% ของสินค้าส่งออกทั้งหมด ซึ่งส่วนใหญ่คือน้ำมัน

 

ดังนั้น จีนจึงเป็นกระเป๋าเงินใบใหญ่ของรัฐบาลซูดานในกรุงคาร์ทูม ประธานาธิบดีหูจินเทาให้เงินกู้ไม่มีดอกเบี้ยแก่ซูดานถึง 13 ล้านดอลลาร์ แถมยังยกเลิกหนี้อีก 70 ล้านดอลลาร์ให้ระหว่างที่เขาไปเยือนประเทศนี้ในเดือนกุมภาพันธ์ปีที่แล้ว แต่ในช่วง 18 เดือนหลัง ปักกิ่งเริ่มเปลี่ยนจากนโยบายหลับหูหลับตาต่อเหตุการณ์ในดาร์ฟูร์ และเรียกร้องให้รัฐบาลซูดานหาทางไกล่เกลี่ยและหยุดยิงในดาร์ฟูร์เสียที

 

จีนสนับสนุนให้เพิ่มกองกำลังรักษาความสงบในดาร์ฟูร์อีก 3 เท่า รวมทั้งเปิดทางให้กองกำลังของสหประชาชาติเข้าไปมีบทบาทด้วย  เมื่อประธานาธิบดีของซูดานยอมรับข้อเสนอนี้ จีนจัดการบริจาคเงินเพื่อความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ซูดาน 10 ล้านดอลลาร์ทันที

 

แต่ปัญหาก็คือรัฐบาลซูดานยอมรับแต่ปาก ส่วนการปฏิบัติยังคงขัดขวางการเข้ามาทำงานของกองกำลังรักษาความสงบชุดใหม่  มิหนำซ้ำ ล่าสุดยังส่งฝูงบินรบไปโจมตีหมู่บ้านต่าง ๆ ในดาร์ฟูร์อย่างหนักอีกด้วย

 

ความสัมพันธ์ของจีนกับซูดานย้อนกลับไปตั้งแต่ ค.ศ. 1994  ในสมัยนั้น รัฐบาลซูดานไม่สามารถพัฒนาอุตสาหกรรมปิโตรเลียมของตนเองขึ้นมา  จีนเองก็อยากหนีจากตลาดน้ำมันที่ตะวันตกครอบงำใจจะขาด ปักกิ่งจึงทุ่มทุนเข้าไปจนทำให้ซูดานกลายเป็นประเทศส่งออกน้ำมันได้ในเวลาแค่ 5 ปี  จีนเข้าไปสร้างท่อส่งน้ำมันยาวถึง 1,000 ไมล์และสร้างโรงกลั่นในคาร์ทูม  บริษัทปิโตรเลียมแห่งประเทศจีน ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจของจีน เข้าไปถือหุ้น 40% ในกลุ่มอุตสาหกรรมน้ำมันของซูดาน

 

จีนยิ่งกอบโกยกำไรเมื่อราคาน้ำมันทะยานขึ้น  และมีส่วนผลักดันสงครามภายในประเทศซูดานด้วย  ทั้งนี้ เพราะรัฐบาลซูดานใช้รายได้จากน้ำมันถึง 80% ไปกับการซื้ออาวุธเพื่อทำสงครามในดาร์ฟูร์  โดยจีนนั่นแหละเป็นผู้ขายเครื่องบินรบและเฮลิคอปเตอร์ให้  รวมทั้งช่วยสร้างโรงงานผลิตอาวุธในซูดานด้วย

 

ส่วนรัฐบาลซูดานได้ประโยชน์จากจีนด้วยเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ รวมทั้งความชำนาญของจีนในการสร้างเขื่อน สะพานและรางรถไฟ  ในขณะที่นานาชาติประณามซูดาน จีนกลับใช้ความเป็นสมาชิกถาวรในคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติยับยั้งไม่ให้มีการใช้มาตรการแข็งกร้าวต่อซูดาน

 

ความขัดแย้งในดาร์ฟูร์เริ่มมาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 2003 โดยเป็นสงครามระหว่างกองทัพรัฐบาลและกลุ่มกองกำลังที่รัฐบาลสนับสนุนฝ่ายหนึ่ง กับอีกฝ่ายหนึ่งคือกลุ่มกบฏชนกลุ่มน้อยหลายกลุ่ม  ความขัดแย้งนี้คร่าชีวิตผู้คนไปแล้วหลายแสนคน อีกทั้งยังผลักดันให้มีผู้ลี้ภัยถึงกว่า 2 ล้านคนหลั่งไหลเข้าไปในประเทศข้างเคียง

 

 

 

เรียบเรียงจาก

Xan Rice, "Oil, arms and a marriage of convenience," The Guardian; February 16, 2008.

Elana Schor, "After Spielberg, who will speak out next?," The Guardian; February 16, 2008.

Jonathan Watts and Paul Kelso, "Protests over Beijing games 'will grow'," The Guardian; February 16, 2008.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท