Skip to main content
sharethis

 


ชาวเนปาลเข้าแถวรอเติมน้ำมันอยู่ภายนอกปั๊มน้ำมันในกรุงกาฐมาณฑุ หลังจากที่ขบวนรถบรรทุกน้ำมันมาถึงเมืองหลวงแห่งนี้ภายใต้การอารักขาของตำรวจ นับเป็นการส่งน้ำมันเชื้อเพลิงครั้งใหญ่ครั้งแรกของประเทศ หลังจากที่เมืองหลวงแห่งนี้ถูกปิดล้อมเส้นทางขนส่งทางใต้จนขาดแคลนเชื้อเพลิงและอาหาร (ที่มา: REUTERS/Shruti Shrestha)


 


 


 


กษัตริย์คยาเนนทราของเนปาลซึ่งหมดอำนาจแล้ว ออกแถลงการณ์เรียกร้องสันติภาพ เมื่อ 19 ก.พ.51หลังเกิดจลาจลอันเนื่องมาจากความขัดแย้งทางเชื้อชาติมาแล้วกว่า 7 วันทางภาคใต้ของเนปาล ซึ่งไม่บ่อยนักที่กษัตริย์เนปาลผู้นี้จะออกแถลงการณ์


 


การเรียกร้องของกษัตริย์คยาเนนทราครั้งนี้ เกิดขึ้นก่อนที่เนปาลจะมีการเลือกตั้งครั้งชี้ชะตา คือการเลือกตั้งสมาชิกสมัชชาร่างรัฐธรรมนูญในเดือนเมษายน อันถือเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการสร้างสันติภาพในเนปาล ซึ่งคาดกันว่าจะมีการถือโอกาสนี้ในสมัชชาร่างรัฐธรรมนูญยกเลิกสถาบันกษัตริย์เนปาลด้วย


 


"ขอให้พวกเราชาวเนปาลบรรลุผลสำเร็จ ที่จะทำให้ทุกคนมั่นใจว่าจะมีบรรยากาศที่ทุกคนสามารถเข้าร่วม แบ่งสันสิทธิเสียงในทางระบอบประชาธิปไตยได้อย่างเที่ยงธรรมและยุติธรรม" กษัตริย์คยาเนนทราสรุปในแถลงการณ์


 


แถลงการณ์ดังกล่าวเผยแพร่ในวัน "ประชาธิปไตย" อันวันรำลึกการกลับสู่อำนาจของราชวงศ์ชาห์ ของเนปาล ในปี 1951 หลังจากที่ประเทศนี้ถูกปกครองโดยระบอบนายกรัฐมนตรีที่สืบทอดตำแหน่งโดยสายเลือดมานานกว่า 100 ปี


 


แต่ขณะนี้ ราชวงศ์ชาห์ที่ปกครองเนปาลกว่า 239 ปี กำลังจะหมดสิ้นลง เพราะพันธมิตรพรรคการเมือง 7 พรรคในรัฐสภาและกบฎพรรคคอมมิวนิสต์เนปาล (เหมาอิสต์) ซึ่งลงนามในสนธิสัญญาสันติภาพเมื่อปลายปี 2549 นั้น ได้ตกลงร่วมกันว่าจะประกาศให้เนปาลเป็นสาธารณรัฐภายหลังการเลือกตั้งสมาชิกสมัชชาร่างรัฐธรรมนูญวันที่ 10 เมษายนนี้


 


ขณะที่นักกิจกรรมกลุ่มชาติพันธุ์มหาเทสี (Mahadhesi) ซึ่งก่อจลาจลในภูมิภาคเทไร (Terai) ทางใต้ของเนปาล เรียกร้องให้เลื่อนการเลือกตั้งออกไป โดย แนวร่วมสหประชาธิปไตยมหาเทสี (The United Democratic Mahadhesi Front - UDMF) ได้เรียกร้องให้มีการประท้วงนัดหยุดงานอย่างไม่มีกำหนดตั้งแต่อาทิตย์ที่แล้ว ซึ่งผลจากการนัดหยุดงานดังกล่าวได้ปิดกั้นเส้นทางส่งสินค้าเข้ามายังเนปาลซึ่งไม่มีทางออกทะเล โดยการประท้วงดังกล่าวมีผลทำให้กรุงกาฐมาณฑุเมืองหลวงของเนปาลถูกปิดกั้นเส้นทางนำเข้าเชื้อเพลิงและอาหาร


 


ทั้งนี้ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา มีผู้เสียชีวิตจากเหตุจลาจลดังกล่าว 1 ราย และได้รับบาดเจ็บไม่ต่ำกว่า 150 ราย ทำให้เจ้าหน้าที่รัฐบาลท้องถิ่นประกาศเคอร์ฟิวส์ในพื้นที่ 5 อำเภอเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา


 


ทั้งนี้เป็นเวลายาวนานแล้วที่ชุมชนชาวมหาเทสี ในภูมิภาคเทไร ต้องการแยกตัวออกจากเนปาล โดยพวกเขาอ้างว่าการแยกตัวออกมาจากเนปาลมีผลแล้วนับตั้งแต่ฝ่ายรัฐบาลและกบฎเหมาอิสต์ลงนามในสนธิสัญญาสันติภาพระหว่างกันเมื่อปลายปี 2549


 


 


 


 


แปลและเรียบเรียงจาก


Nepal's king calls for peace amid strike, AFP, Feb 19, 2:13 AM ET

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net