Skip to main content
sharethis

วิทยากร  บุญเรือง



 


ปีนี้อาจจะครบรอบวาระอะไรๆ สำคัญหลายอย่าง สำหรับคนที่ชอบโหยหาสิ่งเก่าๆ และหนึ่งในวาระที่เราควรพูดถึงสักหน่อยก็คือ ปีนี้มันครบรอบ 40 ปี ของเหตุการณ์ "May of 68" อันเป็นสัญลักษณ์การต่อสู้ที่ถูกกล่าวขวัญกันมาทุกยุคทุกสมัยสำหรับขบวนการนักศึกษาและแรงงานปีกซ้าย [1]


 


ข่าวคราวในต้นปีนี้หลายๆ ข่าว คล้ายจะเป็นนิมิตหมายอันดีที่จะทำให้เราหลับตาแล้วฝันว่าโลกที่เท่าเทียมกำลังขยับเข้ามาใกล้แล้ว แต่บางคนอาจถกเถียงว่ามันดูฝันเฟื่องและโรแมนติคเกินไป เมื่อโลกเปลี่ยนไปแล้ว ขั้วสีแดงหดตัวอย่างรุนแรง เหลือเพียงไม่กี่ประเทศที่อาศัยเพียงแค่ "คำ" ที่ดูเหมือนจะมีอุดมการณ์เอาไว้กดหัวประชาชน - ประชาธิปไตยโดยประชาชนยังไม่เกิด หากมันจะมีความหมายแบบนั้นจริงๆ


 


ขณะนี้คอมมิวนิสต์ตายไปแล้วหรือยังไม่ตายก็ไม่รู้ แต่ที่แน่ๆ วิธีการต่อสู้ตามแบบฉบับของพวกเขายังอยู่


และสถานการณ์ของการต่อสู้ตั้งแต่ต้นปีทำให้เราพอมีความหวังขึ้น ..


 




นี่อาจจะเป็นขบวนการแรงงานที่โรแมนติคที่สุด เพราะนี่คือการสไตรค์ของนักเขียนบทโทรทัศน์ ของสหภาพนักเขียนบทแห่งอเมริกา (Writers Guild of America: WGA)


(ที่มาภาพ: Fred Prouser/Reuters)


 


ที่ใจกลางมายาทุนนิยมอย่างฮอลลีวู้ด (Hollywood) สหรัฐอเมริกา เกิดการสไตรค์ที่ว่ากันว่าอาจจะเป็นการสไตรค์ที่คนให้ความสนใจมากที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ ก็คือการสไตรค์ของสหภาพนักเขียนบทแห่งอเมริกา (Writers Guild of America: WGA) ซึ่งทำได้สั่นคลอนและท้าทายอุตสาหกรรมบันเทิงของสหรัฐ มีการยกเลิกรายการโทรทัศน์หลายรายการ รวมถึงการฉายภาพยนตร์หลายเรื่องด้วย



โดยมติของ WGA ได้ให้นักเขียนบทโทรทัศน์หยุดงานตั้งแต่วันที่ 5 พ.ย. ปีที่แล้ว เพื่อเรียกร้องให้ผู้ผลิตรายการทบทวนส่วนแบ่งจากรายได้ DVD อินเตอร์เน็ต โทรศัพท์มือถือและสื่อใหม่อื่นๆ ให้กับนักเขียน โดยการประท้วงในกลุ่มนักเขียนบทของอเมริกาไม่มีมาเกือบ 20 ปีแล้ว

การสไตรค์ยุติลงเมื่อวันที่ 12 ก.พ.ที่ผ่านมา และถึงแม้ยังไม่ได้ข้อตกลงที่แน่ชัด แต่ความสูญเสียของฝ่ายนายทุนก็มีไม่ใช่ย่อย มีการประเมินสรุปตัวเลขความเสียหายจากการสไตรค์ครั้งนี้ว่ามีมูลค่ากว่า 2.5 พันล้านดอลลาร์ [2] และไม่รู้ว่า WGA จะลุกฮือมาเรียกร้องความเป็นธรรมอีกเมื่อใด


 


รัสเซียอดีตจักรวรรดิแดง วัฒนธรรมการต่อสู้ของแรงงานยังคงฝังอยู่ในสายเลือด การบุกเข้าไปเปิดตลาดของรถยนต์ฝั่งศัตรูเก่าอย่างสหรัฐไม่หมูอย่างที่คิด โดยบรรษัทได้ผลิตรถฟอร์ดรุ่น Focus ถึง 75,000 คัน ในโรงงานที่รัสเซีย รวมถึงจะมีการลงทุนกว่า 100 ล้านดอลลาร์เพื่อเพิ่มกำลังการผลิตให้เป็น 125,000 คัน ในปี ค.. 2009 และเริ่มผลิตรุ่น Mondeo อีกด้วย แต่การให้ผลประโยชน์แก่แรงงานน้อยเกินไป ทำให้เกิดการสไตรค์ขึ้น


 


เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา แรงงานบรรษัทฟอร์ด (Ford) ในเมือง Vsevolozhsk ทางตอนเหนือของเมืองเซนต์ปีเตอร์เบิร์ก (ST PETERSBURG หรือ Leningrad เดิม) ได้ข้อสัญญาจ้างใหม่ที่นายจ้างได้ให้ค่าแรงเพิ่มขึ้น [3]


 


สมาชิกสหภาพแรงงานได้ทำการสไตร์คถึงสี่สัปดาห์ในเดือนพฤศจิกายนและธันวาคมปีที่แล้ว โดยได้ยื่นข้อเรียกร้องให้เพิ่มเงินเดือนขึ้นเป็นเป็น 28,000 รูเบิล (ประมาณ 1,147 ดอลลาร์) จากเดิมที่ได้เดือนละ 19,000 รูเบิล และถึงแม้การต่อรองจะมาได้ข้อสรุปที่ว่า โรงงานจะเพิ่มเงินเดือนให้คนงานประมาณ 16 ถึง 21% ส่วนเงินเดือนขั้นต่ำได้เพิ่มเฉลี่ยแล้วเป็น 25,586 รูเบิล แต่แรงงานก็คิดว่ามันเป็นอีกขั้นหนึ่งของการต่อสู้


 


โดยตัวแทนจากสหภาพแรงงานก็พอใจกับข้อตกลงสัญญาการจ้างใหม่นี้ และมีความเห็นว่ามันไม่ใช่การประนีประนอมกับนายทุน แต่ถ้าจะพูดให้ถูก มันเป็นการก้าวไปอีกก้าวหนึ่งในกระบวนการต่อรองของแรงงาน


 


ไม่เว้นแม้แต่ที่อ่าวเปอร์เซียกลุ่มประเทศมุสลิมที่เข้มงวด สายลมแห่งการต่อสู้ก็พัดไปถึงที่นั่น การสไตรค์ของบรรดาแรงงานข้ามชาติ (ซึ่งส่วนใหญ่มาจากเอเชียใต้) ในบาห์เรนตั้งแต่วันที่ 9 - 16 .. ที่ผ่านมา ได้รับชัยชนะขั้นต้นในการเพิ่มค่าแรงเลี้ยงชีพมากยิ่งขึ้น


 


แรงงานข้ามชาติจำนวนหลายร้อยคนจากทั้งหมด 1,300 คน ที่ทำงานในโครงการ Durrat al-Bahrain กลับมาทำงานหลังจากสไตรค์เพื่อประท้วงเรียกร้องเพิ่มค่าแรงจาก 151 ดอลลาร์ เป็น 265 ดอลลาร์ สำหรับแรงงานที่ไม่มีทักษะ และจาก 183 ดอลลาร์ เป็น 319 ดอลลาร์ สำหรับแรงงานมีฝีมือ แต่ผลการเจรจาของทั้งสองฝ่ายสามารถตกลงกันได้ โดยนายจ้างยอมเพิ่มค่าแรงประมาณราว 40 ดอลลาร์ [4] - เอาละ! ยังดีกว่าอยู่เฉยๆ โดยไม่ได้รับอะไรเพิ่มขึ้น


 


ทั้งนี้ในบาห์เรนมีแรงงานข้ามชาติประมาณ 270,000 คน ซึ่งโชคดีหน่อยที่แรงงานในบาห์เรนสามารถประท้วงเรียกร้องผลประโยชน์ได้ ต่างจากประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคนี้


 


 



แรงงานในอุตสาหกรรมสิ่งทอของเวียดนาม ยังคงประสบกับปัญหาค่าแรงเลี้ยงชีพและชั่วโมงการทำงาน ทำให้เกิดการสไตรค์บ่อยครั้ง


(ที่มาภาพ : www.business-in-asia.com)


 


สวรรค์นักลงทุนอย่างเวียดนาม ที่นายทุนมักจะเอามาขู่แรงงานในการย้ายฐานการผลิตออกจากประเทศไทย ก็มีการลุกฮืออย่างต่อเนื่องเป็นระลอกๆ การสไตรค์นั้นเกิดขึ้นบ่อยครั้งในเวียดนาม หลังจากที่นายทุนต่างชาติเข้าไปหวังกอบโกยเพื่อใช้แรงงานราคาถูกในการผลิตสินค้าส่งออก


 


ในช่วง 2 สัปดาห์แรกของปี แรงงานงานหลายพันคนได้สไตร์คกว่า 30 ครั้งทำให้อุตสาหกรรมในภาคใต้ของเวียดนามเป็นอัมพาต สืบเนื่องมาจนถึงเทศกาลตรุษญวน แรงงานเวียดนามในโรงงานผลิตของเล่นสัญชาติฮ่องกง ประท้วงหยุดงานเกือบ 10,000 คน เรียกร้องรายได้เพิ่มขึ้นเพื่อให้เหมาะสมกับเศรษฐกิจที่ตัวเลขเงินเฟ้อในประเทศสูงขึ้น รวมถึงสิทธิในการหยุดงานช่วงเทศกาล


 


แรงงานในโรงงานผลิตของเล่นคีย์ฮิงก์ (Keyhinge) ในเมืองดานัง (Danang) ได้ผละออกจากงานเมื่อวันพุธที่ผ่านมา เพื่อเรียกร้องเงินโบนัสที่สูงขึ้น รวมถึงขอวันหยุดยาวในเทศกาลตรุษญวน


 


ทั้งนี้ผู้ประท้วงหยุดงานได้บอกถึงเหตุผลแก่หนังสือพิมพ์ของเวียดนามว่า แรงงานส่วนใหญ่อยู่ในเมืองที่ห่างไกลออกไป โบนัสอันน้อยนิดและระยะเวลาหยุดสั้นๆ ทำให้พวกเขาไม่สามารถกลับบ้านไปเยี่ยมครอบครัวในช่วงเทศกาลตรุษได้


 


ทั้งนี้โรงงานของบรรษัทคีย์ฮิงก์ (Keyhinge) เคยได้สร้างชื่อเสียงแย่ๆ ไว้ในช่วงปลายทศวรรษที่ 1990s เมื่อกลุ่มสิทธิมนุษยชนแรงงานเคยออกมาวิพากษ์โรงงานนี้ในเรื่องของการกดขี่แรงงาน --- ทั้งนี้คีย์ฮิงก์ ได้ผลิตของเล่นลิขสิทธิ์ดิสนีย์ (Disney) สำหรับเป็นของโปรโมชั่นในร้านแม็คโดนัลด์ (McDonalds) อีกด้วย


 


ด้วยค่าแรงราคาถูกและเป็นแหล่งผลิตหลักของอุตสาหกรรมสิ่งทอ, รองเท้า, ผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงการส่งออกอาหาร --- แต่ขณะนี้ภาคอุตสาหกรรมในเวียดนามกำลังเกิดปัญหา โดยเฉพาะการลงทุนจากต่างชาติที่เข้าไปเพื่อหวังค่าแรงราคาถูกโดยไม่คำนึงถึงสิทธิของแรงงาน


 


นอกจากนี้ ในเวลาใกล้เคียงกันพบว่ามีแรงงานหลายพันคนได้หยุดงานที่อู่ต่อเรือ ฮุนได-ไวนาชิน (Hyundai-Vinashin) ทางตอนใต้ของจังหวัด กัน หัว (Khanh Hoa) และโรงงานซีฟู้ดที่จังหวัดหัว เกียง (Hau Giang)


 


ทั้งนี้ตั้งแต่เดือนมกราคมที่ผ่านมา ค่าแรงขั้นต่ำของแรงงานที่ทำงานในโรงงานของนักลงทุนจากต่างชาติเพิ่มขึ้นจาก 540,000 ด่อง (ประมาณ 34 ดอลลาร์) เป็น 800,000 ด่อง แต่จากข้อมูลของทางการเวียดนาม พบว่าขณะนี้ค่าใช้จ่ายในการอุปโภคเพิ่มขึ้นถึง 14% เนื่องจากการขยับตัวขึ้นของอาหาร น้ำมัน และเครื่องอุปโภคต่างๆ - ซึ่งรายได้ของแรงงานเวียดนามอาจจะไม่เพียงพอในการใช้จ่ายในการดำรงชีพ [5]


 


0 0 0


 




พฤษภาคม 1968 กรุงปารีสคับคั่งไปด้วยแรงงานและนักศึกษาในฝรั่งเศส ที่ลุกฮือขึ้นประท้วงและนัดหยุดงาน แสดงความไม่พอใจต่อการปกครองของรัฐบาล Charles de Gaulle


(ที่มาภาพ: http://www.internationalist.org/)


 


หลังจาก 1968 ตลอดระยะเวลา 40 ปีที่ผ่านไป พวกเราได้ยืดสายกันอยู่เกือบทุกวี่ทุกวัน การขัดแย้งระหว่างชนชั้นมีเสมอมา ไม่ว่าจะเป็นในหรือนอกโรงงาน แต่มันอาจจะไม่มีใครกล่าวถึงมากนัก ด้วยปัจจัยหลายอย่าง แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือเรื่องการผูกขาดทุกสิ่งทุกอย่างบนโลกใบนี้ไว้ให้กับชนชั้นนำ ชนชั้นที่สามารถจะบังคับให้เราเลือกได้ว่าเราควรสนใจความเป็นไปในประเด็นไหน - ฟุตบอลโลก, หนังฮอลลีวู้ด, สงครามต่อต้านก่อการร้าย, หรือไลฟ์สไตล์ที่ถอดแบบมาจากกระฎุมพี


 


สืบเนื่องจากเค้าลางของภาวะวิกฤตทางเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาน้ำมันราคาสูง ต้นทุนการผลิตสินค้าสูงขึ้น ซึ่งมันเข้าทางกฎพื้นฐานของนายทุนอย่างง่ายๆ ที่ว่าเมื่อมีปัญหาด้านกำไร มันจะต้องประหยัดด้วยวิธีอะไรสักอย่าง และแรงงานมักที่จะถูกหวยเสมอ - ทั้งนี้มีการคาดการณ์ไว้แล้วว่าปีนี้จะมีคนตกงานทั่วโลกมากกว่า 5 ล้านคน [6]


 


กาลข้างหน้าคือวิกฤตทางเศรษฐกิจ เมื่อเราเหล่าแรงงานทั้งหลายทราบว่ามันจะเป็นอย่างนั้นแล้ว เราควรทำอย่างไรดี -- เป็นลูกแมวเชื่องรอวันตกงาน? หรือดื้อเป็นแมวป่า (wild cat) ต่อสู้ดินรนเพื่อศักดิ์ศรี?


 


ในระบบทุนนิยมนั้น วิกฤตและความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจเกิดขึ้นเป็นวัฏจักรขึ้นลง (cycle) ดังนั้นแรงงานควรทำให้วิกฤตที่กำลังจะมาถึงนี้ ให้นายทุนรู้ซึ้งถึงความสำคัญของแรงงาน และแรงงานควรต่อสู้เพื่อลดผลกำไรที่นายทุนจะได้รับให้น้อยลง เพื่อนำมาเฉลี่ยให้กับแรงงานและสังคมเพิ่มมากขึ้น


 


โดยแรงงานจะต้องรู้จักต่อรองเพื่อผลประโยชน์ของตนเอง ยื่นข้อเรียกร้องข้อเสนอในขั้นต้น และใช้การสไตรค์เป็นอาวุธสุดท้าย หากหลีกเลี่ยงไม่ได้


 


แต่ทั้งนี้ การสไตรค์เพียงอย่างเดียวอาจจะไม่ใช่คำตอบของการเปลี่ยนแปลงโลก หากไม่มีการพัฒนาความคิดทางการเมืองเป็นกลุ่มเป็นก้อน และขับเคลื่อนการต่อสู้ทางประเด็นชนชั้นควบคู่กันไป ดังเช่นที่เลนินเคยกล่าวเอาไว้ ..


 


"การนัดหยุดงานเป็นเพียงโรงเรียนการทำสงคราม ไม่ใช่สงครามจริง การนัดหยุดงานเป็นเพียงแง่หนึ่งของการต่อสู้ทางชนชั้นของกรรมาชีพ จากการนัดหยุดงานของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งกรรมาชีพต้องพัฒนาการต่อสู้ไปสู่การต่อสู้ของกรรมาชีพทั้งชนชั้นเพื่อการปลดแอกตนเอง สิ่งนี่กำลังค่อยๆ เกิดขึ้นทั่วโลกอยู่แล้ว เมื่อกรรมาชีพที่มีจิตสำนึกทางชนชั้นพัฒนาตนเองเป็นนักสังคมนิยม คือเขามองเห็นภาพของการต่อสู้เพื่อปลดแอกกรรมาชีพทั้งชนชั้น เขารวมตัวกันเพื่อขยายแนวคิดสังคมนิยมไปทั่วและเพื่อสอนให้กรรมาชีพรู้จักวิธีการต่อสู้กับศัตรูทุกรูปแบบ และเขาสร้างพรรคสังคมนิยมกรรมาชีพที่ต่อสู้เพื่อปลดปล่อยประชาชนจากการกดขี่ของรัฐบาลและจากแอกของทุน เมื่อนั้นชนชั้นกรรมาชีพจะเป็นหัวใจของขบวนการแรงงานสากลที่สามัคคีกรรมาชีพทั่วโลกและยกธงแดงที่มีคำขวัญ กรรมาชีพทุกประเทศจงสามัคคี!" [7]


โลกใบใหม่จะต้องถูกสร้างอย่างเป็นขั้นเป็นตอน โลกคอมมิวนิสต์ยังคงจะไม่มาถึงในเร็วนี้ หากเราไม่ร่วมกันสร้างโลกที่แรงงานมีปากมีเสียงเพิ่มมากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่


 


 


…………..


เชิงอรรถ


 


[1] พฤษภาคม 1968 กรุงปารีสคับคั่งไปด้วยแรงงานและนักศึกษาในฝรั่งเศส ที่ลุกฮือขึ้นประท้วงและนัดหยุดงาน แสดงความไม่พอใจต่อการปกครองของรัฐบาล Charles de Gaulle ซึ่งส่งผลให้เขาไม่สามารถอยู่ในอำนาจได้อีกต่อไป ทั้งนี้ปี 1968 อาจจะเป็นการลุกฮือครั้งสำคัญที่สุดที่มีผลกระทบต่อแนวคิดซ้ายใหม่ วัฒนธรรมป๊อบ (ร๊อคเอนโรลล์, ฮิปปี้, เพื่อชีวิต) ซึ่งส่งผลมาถึงทุกวันนี้
(ดู
http://en.wikipedia.org/wiki/May_1968  และ http://en.wikipedia.org/wiki/De_Gaulle#May_1968)


 


[2] มีการคาดการกันคร่าวๆ ว่าปี 2008 นี้คนทำงานอาจจะต้องสูญเสียงานที่เขากำลังทำกว่า 5 ล้านคน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการคาดการณ์ในประเทศที่พัฒนาแล้ว ส่วนตัวเลขของประเทศกำลังพัฒนาต่างๆ อาจจะมีมากกว่านี้


(ดู ILO projects global economic turbulence could generate five million more unemployed in 2008)


 


[3] การสไตรค์ดังกล่าวทำให้หลายสตูดิโอต้องหยุดผลิตงานต่างๆ ทำให้ธุรกิจนี้เกือบเป็นอัมพาต รวมถึงธุรกิจเกี่ยวเนื่องต่างๆ เช่น การเช่ารถลีมูซีน, บริษัทจัดอาหารนอกสถานที่ ต่างก็ได้รับผลกระทบไปด้วย และตัวนักเขียนที่สไตรค์ก็สูญเสียรายได้ด้วยเช่นกัน (ดู Hollywood strike cost $2.5 billion: report)


 


[4] คนงานฟอร์ดในรัสเซียต่อรองได้ค่าแรงเพิ่มขึ้นแล้ว



[5] Bahrain's Asian workers strike as earnings hit


 


[6] แรงงานเวียดนามสไตร์คเกือบ 10000 คน เรียกร้องโบนัสและวันหยุดเทศกาล


 


[7] จาก ว่าด้วยการนัดหยุดงาน โดย วี ไอ เลนิน แปลโดย ใจ อึ๊งภากรณ์


 

 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net