บทความ : OpenCARE เครือข่ายสื่อสารเพื่องานบรรเทาสาธารณภัย

ชุณหวิตร โปฎก

คณะทำงาน เครือข่าย OpenCARE

 

 

 

 

 

ภาพ Cyclone Fran

จาก http://www.popular-communications.com/hurricane%20copy.jpg

 

 

 

สภาวะอากาศของโลกทุกวันนี้แปรปรวนอยู่ตลอดเวลา จะเห็นได้จากข่าวเสมอๆ ว่า มีภัยพิบัติอันเกิดจากธรรมชาติที่โน่นที่นี่อยู่ตลอดเวลา สภาพอากาศที่แปรปรวนเช่นนี้ หลายๆ คนบอกว่าเกิดจากสภาวะโลกร้อน ซึ่งส่งผลกระทบต่อภูมิอากาศของโลกเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะส่งผลต่อการละลายของน้ำแข็งขั้วโลกเหนือและขั้วโลกใต้ ส่งผลกระทบต่อกระแสน้ำอุ่นในทะเล การเจือจางของความเค็มของทะเล การกัดเซาะชายฝั่งทะเล ในหลายแห่งทั่วโลกเกิดสภาวะอากาศที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เกิดพายุลูกเห็บรุนแรงในหลายๆ พื้นที่ พายุโซนร้อนที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง เกิดทอร์นาโดในหลายๆ รัฐ หลายๆ พื้นที่ เกิดพายุไซโคลนที่รุนแรงหลายๆครั้ง เหล่านี้เป็นสภาวะอากาศที่เปลี่ยนแปลงจนเกิดเป็นภัยพิบัติจากธรรมชาติมากมาย ก่อความสูญเสียและเสียหายอย่างมหาศาล

 

การที่มนุษย์จะต่อสู้กับภัยธรรมชาติทั้งหลาย มีเพียงการแจ้งเตือนการเกิดภัยล่วงหน้า และให้เวลาเพียงพอในการอพยพผู้คนไปสู่ที่ปลอดภัย ซึ่งจะช่วยบรรเทาความสูญเสียและเสียหายได้ อาทิเช่น กรณีพายุโซนร้อน Jeanne พัดเข้าสู่ประเทศโดมินิกัน ซึ่งสามารถอพยพผู้คนหลายพันคนได้ทันท่วงที ทำให้มีผู้เสียชีวิตเพียง 23 คน ซึ่งในกรณีเดียวกันนี้พายุโซนร้อน Jeanne พัดเข้าสู่ประเทศไฮติซึ่งเป็นประเทศเพื่อนบ้านของประเทศโดมินิกันแต่มิได้มีการเตือนภัยที่มีประสิทธิภาพ ทำให้มีผู้เสียชีวิตจากพายุโซนร้อนเช่นว่านี้ถึงกว่า 2,000 คน หรือจากเหตุการณ์สึนามิที่เกิดขึ้นกับประเทศไทย เด็กหญิงทิลลี่สมิธ อายุเพียง 10 ขวบ ซึ่งเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยพร้อมกับครอบครัวของเธอ และด้วยเสียงตะโกนของเธอสามารถช่วยชีวิตคนบริเวณนั้นได้กว่า 100 คน เป็นต้น จึงเห็นได้ว่าการเตือนภัยล่วงหน้ามีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง

 

 

 

ภาพแสดงผลของความล่าช้าในการเตือนภัย

 

 

อย่างไรก็ตาม จนถึงปัจจุบันนี้ ยังมีภัยธรรมชาติในหลายๆ ครั้งที่ไม่สามารถเตือนภัยล่วงหน้าได้ เช่น แผ่นดินไหวบนบก หรือเหตุภัยพิบัติอื่นๆ ที่ขณะนี้ยังไม่มีเทคโนโลยีใดเพื่อทราบเหตุเช่นนั้นล่วงหน้าได้ การเตรียมความพร้อมของหน่วยงานด้านสาธารณภัยย่อมทวีความสำคัญขึ้นไปอีก โดยหนึ่งในงานของหน่วยงานด้านสาธารณภัยที่จะต้องเตรียมความพร้อมนั้นก็คือ ระบบการสื่อสารระหว่างหน่วยงานที่มีประสิทธิภาพ เพื่อให้การประสานงานสามารถดำเนินการได้โดยถูกต้องและรวดเร็ว อันจะทำให้การให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประสบภัยเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ความช่วยเหลือต่างๆ ไปถึงยังผู้ประสบภัยได้ทันท่วงที และเหมาะสม

 

ระบบสื่อสารระหว่างหน่วยงานด้านสาธารณภัยดังกล่าวนั้น นอกจากระบบวิทยุสื่อสารที่ใช้งานกันอยู่ในปัจจุบันซึ่งประสานงานระหว่างกันโดยใช้เสียงแล้วการสื่อสารด้านข้อมูล ภาพ ก็เป็นส่วนสำคัญเช่นเดียวกันจึงมีผู้พยายามคิดค้นหาวิธีการเพื่อให้มีการสื่อสารระหว่างกันด้วยข้อมูล และภาพด้านสาธารณภัยที่มีความรวดเร็วและทำงานได้ง่าย อันจะส่งผลให้การประสานงานในการให้ความช่วยเหลือผู้ประสพภัยมีประสิทธิภาพมากยิ่งๆ ขึ้น ดังนั้น จึงเป็นที่มาของแนวความคิดที่ว่า เครือข่ายสื่อสารเช่นนี้จะต้องมีคุณสมบัติ ดังนี้

 

1)      เป็นเครือข่ายสื่อสารที่ไม่จำกัดระยะทางในการติดต่อสื่อสาร

2)      ต้องไม่มีราคาสูงอันจะทำให้ไม่มีข้อจำกัดเรื่องงบประมาณ

3)      ไม่ต้องทำการฝึกฝนให้เจ้าหน้าที่สามารถใช้งานเครือข่ายเช่นนี้ได้ และ

4)      ต้องไม่จำกัดแบบ หรือ plat form ทางเทคนิคในการทำงาน

 

จากเหตุที่กล่าวแล้วทั้งหมดนี้จึงเป็นที่มาในการก่อให้เกิดเครือข่ายสื่อสารที่มีชื่อว่า "OpenCARE" ซึ่งย่อมาจากคำว่า "Open exchange for Collaborative Activities in Response to Emergency" ซึ่งอาจแปลโดยรวมได้ว่าเครือข่ายสื่อสารเพื่อการประสานความร่วมมือในการดำเนินการในกรณีเกิดภัยพิบัติ ทั้งนี้ คำว่า "Open" ในที่นี่มาจากโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่เรียกว่า "Open Source" ซึ่งเป็นโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ไม่มีลิขสิทธิ์ในการนำไปใช้งาน เป็นการประหยัดค่าใช้จ่ายในการนำมาใช้งานและมีประสิทธิภาพดีเยี่ยมไม่ต่างไปจากโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่มีลิขสิทธิ์แต่ประการใด

 

การทำงานของเครือข่าย OpenCARE นั้น เมื่อหน่วยงานหนึ่งได้รับข้อมูลเกี่ยวกับภัยพิบัติเช่น แผ่นดินไหว น้ำท่วม ดินถล่ม ก็จะส่งข้อมูลเช่นนั้นไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยใช้เครือข่าย OpenCARE เป็นเครือข่ายกลาง โดยการแปลงข้อมูลที่ตนเองมีอยู่ไม่ว่าจะเป็น plat form ใดก็ตาม โดยใช้ซอฟแวร์ที่เขียนขึ้นซึ่งเราเรียกว่า "Plug-in" เข้าสู่เครือข่าย OpenCARE โดย Plug-in เช่นว่านี้ จะแปลข้อมูลของผู้ส่งให้อยู่ในรูปของ Emergency Data Exchange Language หรือเรียกโดยย่อว่า "EDXL" (EDXL เป็นภาษากลางที่เป็นมาตรฐานซึ่งทั่วโลกใช้สำหรับการแลกเปลี่ยนข้อมูลสื่อสารระหว่างกันกรณีมีเหตุภัยพิบัติ หรือเหตุฉุกเฉิน) หลังจากแปลงภาษาจากข้อมูลผู้ส่งเป็น EDXL แล้ว Plug-in จะทำการส่งต่อข้อมูลของผู้ส่งเข้าสู่เครือข่าย โดยส่งตรงไปยัง Server กลาง ซึ่งใน Server กลางเช่นว่านี้ จะทำการกระจายข้อมูลเช่นนั้น ไปยังหน่วยงานที่ต้องการรับข้อมูลของผู้ส่งนั้น ซึ่งในด้านผู้รับก็จะมี Plug-in เช่นเดียวกันเพื่อทำหน้าที่แปลภาษาจาก EDXL กลับเป็นภาษาของหน่วยงานฝ่ายที่ต้องการรับข้อมูลต้องการ

 

ตัวอย่างเช่น กรมอุตุนิยมวิทยา ต้องการส่งข้อมูลพยากรณ์อากาศให้แก่หน่วยงานต่างๆ ที่ต้องการรับ ก็จะส่งข้อมูลเช่นว่านั้นเข้าสู่เครือข่ายโดยการแปลงข้อมูลมาเป็น EDXL หลังจากนั้น เมื่อข้อมูลมาถึง Server ตัว Server ก็จะนำส่งไปยังผู้ที่ต้องการรับข้อมูลของกรมอุตุนิยมวิทยา ซึ่งอาจมีหลายๆ หน่วยงาน เช่น กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สำนักงานบรรเทาทุกข์และประชานามัยพิทักษ์ เป็นต้น โดย Plug-in ด้านกรมป้องกันฯ และด้านของสำนักงานบรรเทาทุกข์ฯ จะทำการ แปลงข้อมูลจาก EDXL ไปเป็น plat form ของกรมป้องกันฯ หรือของสำนักงานบรรเทาทุกข์ฯ ต้องการ และประการสำคัญในการส่งข้อมูลผ่านเครือข่ายเช่นนี้เป็นการสื่อสาร 2 ทาง ดังนั้น ผู้ส่งข้อมูลสามารถเปลี่ยนสถานะเป็นผู้รับข้อมูล และผู้รับข้อมูลสามารถเปลี่ยนสถานะเป็นผู้ส่งข้อมูลได้ในขณะเดียวกัน

 

 

 

 

 

การส่งข้อมูลเข้าสู่เครือข่าย OpenCARE นั้น ไม่จำกัด plate form ว่า ข้อมูลต้นทางจะมี plate form อย่างไร และปลายทางจะมี plate form อย่างไร ดังนั้น แม้หน่วยงานแต่ละหน่วยงานจะใช้ plate form ที่แตกต่างกัน ก็สามารถส่งข้อมูลไปให้กันและกันได้ และผู้รับข้อมูลสามารถนำข้อมูลนั้นไปใช้งานได้ทันที เพราะเหตุที่ plug-in ด้านผู้รับจะทำการแปลงข้อมูลที่ได้รับไปเป็นแบบที่ผู้รับต้องการ ดังนั้น ผู้รับข้อมูลสามารถนำข้อมูลนั้นไปใช้งานตามแบบการทำงานที่ผู้รับข้อมูลปฏิบัติงานกันอยู่แล้วได้ทันที กรณีเช่นนี้จะเห็นได้ว่าทั้งผู้รับและผู้ส่งข้อมูลสามารถส่งข้อมูลเข้าหากันและนำข้อมูลที่ได้รับไปใช้งานได้ทันที โดยไม่ต้องลงทุนจัดซื้ออะไรเพิ่มเติม ไม่ต้องเปลี่ยนแปลงวิธีและลักษณะการปฏิบัติงานเดิมมาก ทำให้สะดวกในการใช้งาน ไม่ต้องทำการฝึกอบรมใดๆ ใหม่ การส่งข้อมูลก็จะมีความรวดเร็วและไม่ว่าเหตุจะอยู่ที่ไหนก็สามารถส่งข้อมูลเข้าหากันได้โดยไม่จำกัดระยะทางด้วยเครือข่าย Internet และเครือข่ายสื่อสารอื่นที่สามารถเชื่อมต่อเพื่อให้ข้อมูลสามารถส่งถึงกันได้ แต่ละหน่วยงานก็จะได้รับทราบข้อมูลล่าสุดเช่นเดียวกัน เมื่อเป็นเช่นนี้การเตือนภัย และการให้ความช่วยเหลือแก่ประชาชนก็จะมีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น และประการสำคัญประโยชน์เหล่านั้นก็จะตกไปถึงประชาชน

 

และโดยการสนับสนุนของศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) ทางบริษัท อินเทอร์เน็ตประเทศไทย จำกัด (มหาชน) (INET) จึงได้ผลักดันเครือข่าย OpenCARE เข้าสู่ระดับนานาชาติ และได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางในเวทีโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเข้าสู่มาตรฐานสากล โดย ISO ได้ทำการจัดตั้งกลุ่มเพื่อพิจารณาจัดทำมาตรฐานการสื่อสารสำหรับกรณีภาวะวิกฤต (Technical Committee) โดยใช้ชื่อว่า ISO/TC223 ซึ่งขณะนี้ OpenCARE ได้รับการยอมรับจากการพิจารณาของกลุ่มนี้เป็นอย่างยิ่ง และ OpenCARE-NECTEC/INET ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเครือข่ายอ้างอิง (Liaison Organization) อย่างเป็นทางการ

 

ที่สำคัญอย่างยิ่งคือ เครือข่าย OpenCARE เป็นเครือข่ายสื่อสารที่ผู้เข้าร่วมใช้งานเครือข่ายไม่มีภาระในการเสียค่าบริการ หรือค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด เครือข่ายดังกล่าวเป็นเครือข่ายสื่อสารเพื่อสังคมอย่างแท้จริง และอาจคาดหวังได้ว่าในอนาคตจะมีเครือข่ายสื่อสารเพื่อกรณีพิบัติภัยระดับสากลที่คิดค้นโดยคนไทย และเป็นประโยชน์ต่อมวลมนุษยชาติ

 

 

 

(สนใจข้อมูลเพิ่มเติม สามารถดูได้ที่ http://opencare.inet.co.th หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ E-mail: chun_p@inet.co.th โทรศัพท์ 0-2257-7015 โทรสาร 0-2257-7070)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท