Skip to main content
sharethis

รายงาน Toxic Tech: Not in Our Backyard ของกรีนพีซเผยประเทศไทย จีนและอินเดียกำลังกลายเป็นแหล่งทิ้งขยะอิเล็กทรอนิกส์จำนวนมหาศาลจากประเทศที่พัฒนาแล้ว ซึ่งเข้ามาในรูปแบบของสินค้ามือสองหรือซากผลิตภัณฑ์เพื่อรีไซเคิล


 


หากไม่มีการป้องกันอย่างเหมาะสม สารพิษหลากหลายชนิดที่อยู่ในผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์จะก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของคนงานและชุมชนรอบข้างโรงงานผู้ผลิต ร้านซ่อมอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ใช้แล้ว โรงงานรีไซเคิล ผู้รับซื้อของเก่า ไปจนถึงแหล่งฝังกลบหรือเตาเผาขยะ


 


"ประเทศไทยต้องไม่ตกเป็นที่รับทิ้งขยะของประเทศใด ๆ ขยะอิเล็กทรอนิกส์จากประเทศสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรปมักจะมาในรูปแบบของสินค้ามือสองหรือซากผลิตภัณฑ์เพื่อรีไซเคิล ขณะที่ขยะอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งถือเป็นของเสียอันตรายจากประเทศญี่ปุ่นมักจะมาโดยอาศัยช่องทางของข้อตกลงทางการค้าระหว่างประเทศ เช่น ในกรณีความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย- ญี่ปุ่น หรือ JTEPA" นายพลาย ภิรมย์ ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านสารพิษ กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้กล่าว


 


กรมควบคุมมลพิษได้คาดการณ์ว่า ขยะอิเล็กทรอนิกส์ในประเทศไทย (อาทิ ตู้เย็น เครื่องซักผ้า เครื่องปรับอากาศ โทรทัศน์ และคอมพิวเตอร์) จะเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 12 ต่อปีและจะมีมากถึง 128,220 ตันในปี 2553 แม้ว่าปริมาณดังกล่าวจะยังไม่ได้รวมขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่เกิดขึ้นจากการลักลอบนำเข้าซึ่งไม่ทราบปริมาณที่แน่ชัด แต่ก็มากเกือบจะเท่ากับปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่เกิดขึ้นในประเทศอินเดีย ซึ่งมีประมาณ 143,000 ตันต่อปี สำหรับประเทศอินเดีย ได้มีการประมาณว่า มากกว่าร้อยละ 99 ของขยะอิเล็กทรอนิกส์ทั้งที่มาจากในประเทศและนำเข้านั้น ในท้ายที่สุดจะตกอยู่ในการจัดการของกลุ่มรีไซเคิลนอกระบบ (informal recycling sector)


 


ประเทศกำลังพัฒนาที่อยู่ในกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมใหม่ เช่น สิงคโปร์ มาเลเซีย ไทย ยังมีความยากลำบากในการประมาณตัวเลขที่แท้จริงของปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่อยู่นอกระบบการจัดการ และยังไม่สามารถประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่ชัดเจน จากการนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ทั้งที่ได้รับการกำจัดหรือรีไซเคิลอย่างถูกวิธีและที่จัดการโดยกลุ่มนอกระบบ  ปัญหาเรื่องข้อมูลยังพบได้ในประเทศอุตสาหกรรมที่แม้จะมีกฎระเบียบที่รัดกุม แต่ก็ประสบกับปัญหาเรื่องข้อมูลที่ยังไม่ชัดเจน ดังจะเห็นได้จากการพบว่าปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์กว่าร้อยละ 75 ของปริมาณขยะที่เกิดขึ้นทั้งหมดในสหภาพยุโรปได้หายไปจากระบบซึ่งไม่ทราบว่าได้ถูกส่งไปที่ใด มีเพียงสหรัฐอเมริกาที่มีข้อมูลบ่งบอกว่ามีขยะอิเล็กทรอนิกส์มากกว่าร้อยละ 80 ส่งออกไปกำจัดหรือรีไซเคิลยังประเทศกำลังพัฒนา  


 


"เพื่อป้องกันไม่ไห้ปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์ขยายเป็นวิกฤตปัญหา ประชาชนคนไทยควรเรียกร้องต่อรัฐบาลเพื่อให้สัตยาบันต่อข้อแก้ไขอนุสัญญาบาเซล (Basel Ban Amendment) ซึ่งห้ามประเทศภาคีที่เป็นประเทศที่พัฒนาแล้วส่งออกขยะอิเล็กทรอนิกส์รวมถึงขยะอันตรายอื่นๆ มากำจัดทิ้งหรือรีไซเคิลในประเทศกำลังพัฒนารวมถึงประเทศไทย และควรผลักดันให้มีการออกพระราชบัญญัติส่งเสริมการจัดการของเสียอันตรายจากผลิตภัณฑ์ที่ใช้แล้ว มาใช้ในการจัดการปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์ในประเทศอย่างเร่งด่วน" นายพลาย ภิรมย์ กล่าวเสริม


   


ขณะที่ขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่ไม่ได้รับการจัดการอย่างเหมาะสมกำลังเพิ่มปริมาณสะสมมากขึ้นเรื่อยๆ อย่างรวดเร็ว ตามปริมาณการใช้ผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ที่เพิ่มขึ้นทั่วโลก ผู้ผลิตคอมพิวเตอร์ชั้นนำของโลกบางรายได้เริ่มมีการรับซากผลิตภัณฑ์แบรนด์ของตนคืนเพื่อรีไซเคิล แต่ก็มีเพียงประมาณร้อยละ 10 เท่านั้น ในขณะที่การเรียกคืนโทรศัพท์มือถือเพื่อการรีไซเคิลคิดเป็นสัดส่วนเพียงร้อยละ 2-3 เท่านั้น  มีการประมาณว่าซากผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ประมาณร้อยละ 91 ของแต่ละแบรนด์ที่มีการรับคืนซากผลิตภัณฑ์หายไปจากระบบ แล้วเข้าสู่วงจรรีไซเคิลนอกระบบซึ่งไม่ทราบว่าจะถูกเคลื่อนย้ายไปที่ใด (hidden flow of e-waste)


 


"สิ่งที่น่ากังวล คือ เราไม่รู้ว่า ขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่เล็ดลอดออกจากระบบจัดเก็บเพื่อรีไซเคิลนั้น ได้ถูกจัดการอย่างไร และจะสร้างความเสี่ยงให้กับสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของคนงานที่จัดการมากน้อยแค่ไหน ด้วยเหตุนี้ เราจึงพยายามผลักดันให้ผู้ผลิตผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์จะต้องรับผิดชอบในการรับหรือจัดเก็บซากผลิตภัณฑ์ของตนกลับคืน รวมถึงออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ปลอดสารพิษซึ่งจะสามารถรีไซเคิลได้อย่างปลอดภัย" นายมาติน ฮอสซิก ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านสารพิษ กรีนพีซสากลกล่าวและว่า สิ่งนี้จะเป็นหนทางเดียวที่จะทำให้ขยะอิเล็กทรอนิกส์เหล่านี้ไม่สร้างปัญหาไม่ว่ามันจะถูกเคลื่อนย้ายไป ณ ที่ใด


 


 


 


 


หมายเหตุ


(1) สามารถดาวน์โหลดรายงาน Toxic Tech: Not in Our Backyard ได้ที่


http://www.greenpeace.org/seasia/th/press/1408546/e-waste-report-full


 


(2) ปริมาณการใช้ผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ทั่วโลกเพิ่มขึ้นทุกปี ซึ่งเฉพาะในกลุ่มประเทศสหภาพยุโรปมีประมาณ 9.3 ล้านตันต่อปี   การที่ผลิตภัณฑ์เสื่อมสภาพหรือหมดอายุการใช้งานในเวลาอันรวดเร็ว หรือมีการเปลี่ยนผลิตภัณฑ์ใช้งานเมื่อมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ออกมา ทำให้ปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มขึ้นสูงอย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกับประเทศไทยซึ่งปริมาณตลาดผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์มีอัตราการเติบโตสูง เช่น ปี พ.ศ. 2550 มีการใช้โทรศัพท์มือถือสูงถึง 41.8 ล้านเครื่อง (ซึ่งปริมาณไม่น้อยจะเป็นขยะในอีก 2-3 ปีข้างหน้า) เมื่อปี พ.ศ. 2547 ยอดขายคอมพิวเตอร์  PC สูงถึง 750,000 เครื่อง จอมอนิเตอร์ 550,000 จอ ทีวี 1.9 ล้านเครื่อง และจากข้อมูลของ EEI ได้มีการประมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์บางประเภทในปี พ.ศ.  2549 คือมีทีวีจำนวน 1.4 ล้านเครื่อง คอมพิวเตอร์ PC ประมาณ 430,000 เครื่อง และโทรศัพท์มือถือ21 ล้านเครื่องกลายเป็นขยะอิเล็กทรอนิกส์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net