Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

หมายเหตุ เผยแพร่ครั้งแรก: 18 ก.พ. 2551 ที่เว็บไซต์ Local Talk


 


 



ที่มาของภาพประกอบ: www.localtalk2004.com


 


เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 14 ก.พ. 2551 ที่ร้านเล่า อ.เมือง จ.เชียงใหม่ โครงการสื่อสารแนวราบ (Local Talk Project) ร่วมกับหนังสือพิมพ์ออนไลน์ประชาไทดอทคอม จัดเวทีเสวนา "การเมืองในวิกฤตพลังงาน" โดยมีวิทยากรผู้เข้าคือ ภัควดี วีระภาสพงษ์ นักวิชาการและนักแปลอิสระและ วิทยากร บุญเรือง คอลัมนิสต์และรับจ้างทั่วไป


 


เมื่อโลกต้องอยู่ในภาวะของวิกฤตทางพลังงาน เมื่อราคาน้ำมันสูงขึ้นอย่างฉุดไม่อยู่ อะไรจะเกิดขึ้น? เมื่อโลกทั้งใบกำลังตกอยู่ในวังวนของพลังงานหมุนเวียน ที่ผลิตจากพืชหรือที่เรียกว่า "เอทานอล" ซึ่งกำลังสร้างปัญหา และสั่นคลอนความมั่นคงทางอาหาร และสังคมมนุษย์ แล้วเวทีทางการเมืองในวิกฤตพลังงานเช่นนี้ รัฐบาล-บริษัท-อุตสาหกรรม-เกษตรกร และประชาชนมีบทบาทอย่างไรในสถานการณ์เช่นนี้ ติดตามอ่านได้ คำต่อคำ บรรทัดต่อบรรทัด กับ ภัควดี วีระภาสพงษ์ นักวิชาการ นักแปลอิสระ และคอลัมนิสต์ประชาไท


 


000


ภัควดี วีระภาสพงษ์


นักวิชาการ นักแปลอิสระ และคอลัมนิสต์ประชาไท


 


 


เปิดวงเสวนา "โลกมนุษย์กับอารยธรรมน้ำมัน"


มนุษย์เราในปัจจุบันถือได้ว่า เราอยู่ในอารยธรรมน้ำมัน ระบบเศรษฐกิจทุกอย่างในโลกต่างก็ขับเคลื่อนด้วยน้ำมัน พลาสติก เสื้อผ้า รถยนต์ที่เราใช้กันอยู่ ก็ล้วนแล้วมาจากน้ำมันทั้งนั้น ฉะนั้นเมื่อเราประสบกับปัญหาที่ว่าน้ำมันจะหมดจากโลก เพราะว่าน้ำมันเป็นพลังงานใช้แล้วหมดไป ไม่สามารถหมุนเวียนกลับมาใช้ได้ แต่ว่ามันจะหมดเมื่อไหร่


 


จึงมีคณะทำงานเพื่อศึกษาว่าเมื่อไหร่แหล่งพลังงานน้ำมันจะหมดจากโลก ซึ่งหลายฝ่ายก็หวาดกลัวกับเรื่องนี้มาก มีการใช้คำว่า พีคออย (Peak Oil) หรือระดับสูงสุดของการผลิตน้ำมันได้ในโลก ซึ่งตอนนี้ถือว่า จุด พีคออย นั่นมาผ่านมาแล้ว หลังจากนี้ก็มีแต่จะต่ำลงแล้ว ไม่มีทางที่จะผลิตได้มากไปกว่านี้แล้ว


 


ทั้งนี้ก็ทั้งฝ่ายที่โต้แย้ง และสนับสนุนในเรื่องเดียวกันนี้ โดยฝ่ายคณะวิจัยอิสระคาดว่าน้ำมันไม่น่าจะมีพอต่อไปอีก 50 ปีข้างหน้าแล้ว แต่ทางฝ่ายอุตสาหกรรมน้ำมันบอกว่าน้ำมันยังมีพอไปอีก 50 ปีข้างหน้า แต่ว่า หากถามว่าเราจะเชื่อใครได้ ก็พูดได้ยาก เนื่องจากอุตสาหกรรมน้ำมัน อย่างกลุ่มโอเปค (OPEC) จะไม่ประเมินกำลังผลิตน้ำมันในประเทศตัวเองต่ำ จะต้องประเมินให้เยอะเอาไว้ เพราะถ้าประเมินต่ำ ก็แสดงให้เห็นว่า สถานะความมั่นคงของประเทศกำลังง่อนแง่น จะกู้เงินจากต่างประเทศก็กู้ไม่ได้


 


ข้อที่สองคือ หากประเมินแหล่งน้ำมันไว้สูง โควตาการส่งออกก็จะสูงด้วย แต่ข้อที่สามคือ หากโอเปคประเมินสถานการณ์น้ำมันในโลกว่ามีเยอะ ประชาคมโลกก็จะไม่กระตือรือร้นในการหาแหล่งพลังงานทดแทนน้ำมันอื่นๆ อย่างจริงจัง ฉะนั้นการประเมินสถานการณ์น้ำมันในโลก จึงไม่มีความแน่นอน ฝ่ายคณะวิจัยอิสระก็พูดแบบหนึ่ง กลุ่มโอเปคพูดหรือกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมน้ำมันก็พูดอีกแบบ


 


แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม โดยความเชื่อของคนทั่วไป สังเกตได้จากรัฐบาลสหรัฐก็ดี ก็จะเห็นว่า พีคออย หรือระดับการผลิตน้ำมันสูงสุดผ่านไปแล้ว นี่เป็นเรื่องจริง พีคออย ผ่านไปแล้ว แต่การบริโภคน้ำมันยังมีเพิ่มขึ้นตลอดเวลา การพบแหล่งน้ำมันใหม่ๆ ก็ลดน้อยลงเรื่อยๆ แต่การบริโภคน้ำมันกำลังเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในประเทศจีน และอินเดีย ซึ่งเป็นสองประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลก และตอนนี้ได้กลายเป็นเสือเศรษฐกิจ นั่นก็หมายความว่า ระดับการบริโภคของประชาชนก็เพิ่มมากขึ้น การบริโภคน้ำมันก็มีสูงขึ้น แต่ว่าอย่างไรก็ตาม ประเทศในโลกนี้ ประเทศที่มีอัตราการบริโภคมากที่สุด คือ สหรัฐอเมริกา


 


 


"สหรัฐในฐานะมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ (น้ำมัน)"


นอกจากสหรัฐจะมีการบริโภคน้ำมันสูงสุดในโลกแล้ว สหรัฐยังเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจด้วย เพราะน้ำมันที่ผลิตได้ในโลก จะนำไปขายที่ตลาดสองที่ หนึ่งตลาดที่นิวยอร์ก สองตลาดที่ลอนดอน สังเกตได้ว่า สหรัฐและอังกฤษ จึงเป็นสองประเทศที่เป็นแนวหน้า ในการไปรุกรานประเทศที่มีน้ำมันในตะวันออกกลาง มีความกระตือรือร้นมากที่สุดจะบุกเข้าไป


 


นอกจากนี้แล้ว ยังขายเป็นเงินสกุลดอลล่าร์เท่านั้นด้วย ด้วยเหตุนี้ สหรัฐจึงเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ ซึ่งในสมัยก่อน การเงินจะผูกกับมาตรฐานทองคำแล้ว แต่ตอนนี้ไปผูกกับเงินดอลล่าร์แทน โดยที่ทุกประเทศต่างก็ใช้น้ำมันและซื้อขายกันด้วยดอลล่าร์สหรัฐ สหรัฐจึงพิมพ์ดอลล่าร์เท่าไหร่ก็ได้ ซึ่งเชื่อกันว่าเงินดอลล่าร์สหรัฐนั้นแข็งค่าเกินจริงในประเทศไปประมาณ 30-40 เปอร์เซ็นต์ แต่เนื่องจากน้ำมันซื้อขายกันด้วยดอลล่าร์ สหรัฐก็พิมพ์เงินเท่าไรก็ได้ อีกทั้งเวลาที่สหรัฐซื้อสินค้าจากประเทศอื่นมาบริโภคก็ในราคาถูก ในขณะที่ประเทศอื่นต้องมุ่งส่งออกไปให้สหรัฐ เพื่อที่นำเอาเงินดอลล่าร์มาเก็บไว้ในคลังของประเทศ เพื่อจะเอาเงินดอลล่าร์ไปซื้อน้ำมัน


 


เพราะฉะนั้น ในการเป็นมหาอำนาจทางน้ำมันนั้น บางครั้งจึงมีคนเรียกเงินดอลล่าร์ว่า "ปิโตรดอลล่าร์" ก็เพราะว่ามันเป็นการควบคุมระบบเศรษฐกิจโลกด้วยเงินตรา


 


อุตสาหกรรมน้ำมันมีบทบาทมากในการเมืองสหรัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงรัฐบาลของบุช บุคคลในรัฐบาลเองก็เป็นคนที่มาจากอุตสาหกรรมน้ำมันจำนวนมาก ซึ่งนอกจากตัวบุชเอง ก็มี ดิกค์ เชนีย์ คอนโดลิซ่า ไรซ์เองก็เกี่ยวข้องอุตสาหกรรมน้ำมัน นโยบายการต่างประเทศ หรือนโยบายด้านเศรษฐกิจของสหรัฐเอง ส่วนใหญ่จะตอบสนองกับอุตสาหกรรมน้ำมันเป็นหลัก


 


เมื่อสหรัฐบุกอิรัก นอกจากต้องการน้ำมันแล้ว ในอีกเหตุผลหนึ่งก็คือ อิรักไม่ถูกกับสหรัฐ เนื่องจากเคยมีปัญหากันในครั้งสงครามอ่าวเปอร์เซีย ซัดดัม อุสเซ็น ก็ต้องขายน้ำมันเป็นเงินยุโร เพราะในขณะนั้นสหภาพยุโรปใช้เงินยูโรแล้ว และเงินสกุลนี้เริ่มมีเสถียรภาพ อิรักก็พยายามจะขายน้ำมันเป็นเงินยูโร


 


ด้วยเหตุผลนี้ ส่วนหนึ่งก็ทำให้สหรัฐบุกอิรัก (ค.ศ.2003) เมื่อผ่านมาอีกสามปี อิหร่านเองก็จะขายน้ำมันด้วยเงินยูโร มาผ่านหลังนี้ อิหร่านก็ตั้งตลาดขายน้ำมันด้วยเงินยูโรแล้ว ด้วยเหตุนี้เอง สหรัฐก็อยากจะบุกอิหร่าน โดยอ้างเรื่องการผลิตอาวุธนิวเคลียร์ แต่ความเป็นจริง ทางองค์กรที่ดูแลเรื่องอาวุธนิวเคลียร์ก็ระบุว่า โรงงานนิวเคลียร์ในอิหร่านที่ทำการทดลองเพื่อผลิตอาวุธนิวเคลียร์นี้ ได้เลิกไปนานแล้ว แต่สหรัฐก็ยังจะใช้ข้ออ้างนี้บุกอิหร่านอยู่ ซึ่งก็เป็นปัญหาหลักมาจากเรื่องเงิน จากการขายน้ำมัน


 


เวเนซูเอล่าเองก็พยายามจะขายน้ำมันเป็นเงินยูโร ซึ่งในระยะมานี้ ก็มีการขายน้ำมันเป็นเงินยูโรกันจริงๆ บ้างแล้ว เนื่องจากช่วงที่ผ่านมา มีปัญหาเรื่องเศรษฐกิจในสหรัฐ ค่าเงินตกลง


 


 


จากยุคปิโตรเลียมสู่ยุคเอทานอล


การที่โลกเราตั้งอยู่บนอารยธรรมน้ำมัน และแม้ว่าน้ำมันจะเป็นตัวทำให้เกิดความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจขึ้นมาให้กับมนุษยชาติก็จริง แต่ในขณะเดียวกัน มันก็สร้างปัญหา และความเสียหายมากมายขึ้นมาในโลก อย่างแรกคือ อุตสาหกรรมน้ำมันก่อให้เกิดการผลัดถิ่นเป็นจำนวนมาก คือเมื่อมีการเข้าไปสำรวจแหล่งผลิตน้ำมัน พื้นที่ขุดเจาะน้ำมัน หรือพื้นที่สร้างโรงกลั่น มันก็สร้างปัญหา ต้องให้คนย้ายถิ่นฐานออกไป


 


อย่างที่สอง คือการใช้ความรุนแรง โดยที่อุตสาหกรรมน้ำมัน มีการใช้ความรุนแรงกับประชาชน เช่น เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่ไนจีเรีย เมื่อบริษัทเชฟรอน ซึ่งใช้ทหารไนจีเรียเองฆ่านักศึกษาและประชาชนที่มาประท้วง และอย่างที่สามคือ สร้างมลภาวะเป็นจำนวนมาก


 


เมื่อเราดำเนินผ่าน จุด พีคออย ไปแล้ว น้ำมันก็ราคาสูงขึ้นเรื่อยๆ แน่นอนว่า เราก็กำลังหาพลังงานทดแทน ส่วนพลังงานทดแทนที่เป็นที่นิยมมาก ก็คือ เอทานอล


 


ในขณะที่มีการพูดถึงเอทานอลว่าเป็นพลังงานสีเขียว (สะอาด และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม) เป็นพืชที่จะมาแทนน้ำมัน เป็นเชื้อเพลิงชีวภาพ หรือที่เรียกกันว่า Biofuel แต่ความจริงๆ แล้ว เอทานอลก็ยังตั้งอยู่บนอารยธรรมน้ำมันอยู่ แม้ว่าจะมาช่วยใช้แทนน้ำมันได้ แต่กระบวนการก็มีลักษณะใกล้เคียงกัน มันไม่ได้เป็นสิ่งที่แตกต่างออกไปเลย เช่น พลังงานจากน้ำ ลม หรือพลังงานแสงอาทิตย์


 


เอทานอล เพียงทำหน้าที่มาแทนน้ำมันบางส่วนเท่านั้น แล้วในความเป็นจริงแล้ว เอทานอลสามารถมาทดแทนน้ำมันในโลกได้ไม่ถึง 10 เปอร์เซ็นต์ และเมื่อมีการโฆษณากันมากเกี่ยวกับการหันมาใช้เอทานอล ทำให้รัฐบาลในเกือบทุกประเทศในโลก ตอนหลังหันมาสนับสนุนเอทานอล ด้วยการลดภาษี การให้ทุนอุดหนุนการผลิต ลดภาษีให้กับรถยนต์ที่ใช้น้ำมันเอทานอล หรือแม้แต่การลดภาษีให้กับอุตสาหกรรมที่พยายามจะผลิตเอทานอล


 


ซึ่งเอทานอลส่วนใหญ่ที่เราใช้กันอยู่ ณ ขณะนี้ เป็นเอทานอลรุ่นที่ 1 ผลิตจากพืชหลักๆ ได้แก่ ข้าวโพด อ้อย ปาล์ม บราซิลเป็นประเทศที่ผลิตเอทานอลมากที่สุดในโลก โดยผลิตมาจากอ้อย ซึ่งบราซิลมีการวิจัยเรื่องเอทานอลมามากกว่า 50 ปี และการใช้พลังงานในประเทศก็มีสัดส่วนการใช้เอทานอลมากที่สุดด้วย


 


เมื่อถึงเวลาเก็บเกี่ยว หรือตัดอ้อยมาทำเอทานอล ก็จะต้องเผาก่อน เพื่อให้ตัดก้านอ้อยได้ง่ายขึ้น เพราะใบอ้อยนั้นคมมากเหมือนใบมีด อากาศในไร่อ้อยก็ร้อนมาก ส่วนแรงงานที่ปลูกอ้อยก็อยู่ในสภาวะที่เป็นแรงงานทาส เพราะว่าจะมีการนับปริมาณการเก็บเกี่ยวเป็นตัน แรงงานจะต้องตัดอ้อยให้ได้ตามปริมาณตันที่กำหนดต่อวัน จึงจะได้รับค่าจ้าง หากไม่ถึงก็จะไม่ได้ค่าจ้าง


 


 


พืชพลังงานกับอาณานิคมยุคใหม่


การปลูกอ้อยในบราซิล เริ่มขึ้นมาตั้งแต่ช่วงบราซิลเป็นประเทศอาณานิคมของโปรตุเกสแล้ว และเนื่องจากต้องเผาอ้อยก่อนตัด เพื่อให้ตัดง่ายขึ้น ในประเทศไทยเองก็เผาด้วยเหมือนกัน ฉะนั้นก็ก่อให้เกิดมลภาวะ ไม่เพียงเท่านั้น ต่อมาเมื่อราคาอ้อยดีขึ้นมา ก็มีการบุกรุกที่ดิน พื้นที่ป่ามากขึ้น อย่างบราซิลก็มีการบุกรุกเข้าไปในพื้นที่ป่าอะเมซอน และตอนนี้บราซิลก็จับมือกับสหรัฐผลิตเอทานอลกัน ซึ่งสหรัฐยังใช้ข้าวโพดผลิตเอทานอลอยู่ แต่มีคุณภาพต่ำกว่าเอทานอลจากอ้อยของบราซิล


 


สหรัฐเองก็มีการวางแผนไว้ว่า ภายในช่วงระยะเวลา 10 ปี จะต้องให้มีการผลิตเอทานอลเพิ่มมากขึ้นประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งตัวเลขที่วางแผนที่จะเพิ่มปริมาณเอทานอลนี้ของสหรัฐ จะทำให้บราซิลต้องเพิ่มพื้นที่ปลูก ขึ้นมาจำนวนมาก ซึ่งป่าอะเมซอนก็จะถูกบุกรุกมากยิ่งขึ้น


 


ทั้งนี้ ป่าอะเมซอนค่อนข้างอุดมสมบูรณ์มาก เป็นปอดของโลก เป็นป่าดงดิบที่มีเหลืออยู่น้อยแล้วในโลกนี้ เพราะฉะนั้นแล้ว การรุกป่าอะเมซอนจะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศและสิ่งแวดล้อมของโลกด้วย นอกจากในบราซิล หลายประเทศก็หันมาปลูกพืชพลังงานเพื่อนำมาผลิตเอทานอลกันมากขึ้น เช่น อินเดีย ซึ่งก็ใช้อ้อยเป็นวัตถุดิบเช่นกัน ส่วนประเทศไทยเราใช้ปาล์มน้ำมัน และข้าวโพด


 


ซึ่งขณะนี้ บริษัทซีพี (CP) ได้เข้าไปทำสัญญาในพม่าเพื่อตัดไม้ที่นั่นแทน เพราะไม่อยากให้คนไทยตัดไม้ทำลายป่า แต่ไปลงทุนให้เกษตรกรในประเทศเพื่อนบ้าน คือ พม่า ลาวและกัมพูชา ปลูกข้าวโพดมากขึ้น เนื่องจากเมื่อพืชสามารถนำมาผลิตเป็นพลังงานได้ ราคาผลผลิตทางเกษตรมันก็สูงขึ้นมาก


 


ข้าวโพดซึ่งเป็นอาหารหลักของชาวเม็กซิโก ตอนนี้ราคาข้าวโพดก็สูงขึ้นมาก ทั้งๆ ที่เกษตรกรแบบยังชีพในเม็กซิโกได้หมดไปแล้ว เนื่องมาจากข้อตกลงนาฟต้า ข้อตกลงเขตการค้าเสรีในทวีปอเมริกาเหนือ ทำให้ข้าวโพดในสหรัฐเข้ามาตีตลาดในเม็กซิโก ซึ่งราคาข้าวโพดในตลาดโลกที่สูงนั้น ราคาข้าวโพดของเม็กซิโก้ก็ยิ่งสูงไปอีก เป็นเหตุให้เกิดวิกฤตการณ์ทางอาหาร


 


อย่างในอินเดีย เกษตรกรที่เคยปลูกพืชอาหาร เพื่อการยังชีพและขายก็หันมาปลูกพืชพลังงานแทนกันมากขึ้น ไม่ว่าในประเทศไหนๆ รวมถึงประเทศไทยด้วย จำนวนพื้นที่ทางเกษตรที่มีอยู่จำนวนมากก็จะกลายไปเป็นพื้นที่ปลูกพืชพลังงาน จะทำให้อนาคตราคาอาหารส่วนใหญ่ในโลกจะสูง


 


ปัญหาต่อมา คือ การปลูกพืชเชิงเดี่ยว (Monoculture) จะทำให้ดินเสีย มีปัญหาเรื่องน้ำ เพราะการปลูกพืชเชิงเดี่ยวจำนวนมาก เป็นเกษตรกรรมขนาดใหญ่ต้องดึงน้ำไปใช้ และยังมีปัญหาการขูดรีดแรงงาน อย่างเช่น ในบราซิลก็มีปัญหาเรื่องแรงงานทาส ในไทยหรืออินเดีย เกษตรกรรายย่อยก็จะถูกถึงไปอยู่ในระบบเกษตรพันธะสัญญา เกษตรกรรายย่อยก็จะกลายเป็นแรงงานในที่ดินของตัวเอง ที่ไม่สามารถยังชีพได้ แต่ต้องปลูกเพื่อขาย แล้วมันทำประเทศโลกที่สามกลายเป็นประเทศอาณานิคมยุคใหม่


 


ในสมัยก่อนประเทศแม่จะมาบังคับให้ประเทศโลกที่สามปลูกตามที่ยุโรปต้องการ ซึ่งปัจจุบนี้ก็มีลักษณะที่คล้ายกัน เพียงแต่ว่ากลายเป็นอาณานิคมโดยสมัคใจ กล่าวคือเกษตรกรปลูกพืชเพื่อส่งออกไปให้ประเทศโลกที่หนึ่งบริโภค เพราะว่าจริงๆ แล้ว อัตราการบริโภคในประเทศโลกที่หนึ่งมากกว่าประเทศโลกที่สาม


 


 


บริษัทยักษ์ใหญ่รอเวลา "โกย"


แต่ว่ามันยังไม่จบแค่นี้ เพราะนี่เป็นเพียงแค่เอทานอลรุ่นที่หนึ่ง ส่วนรุ่นที่สอง ซึ่งกำลังมีการวิจัยกันอยู่และคาดว่าจะมีการใช้ในอนาคต คือการผลิตเอทานอลจากเซลลูโลส จากพืชจำพวกยูคาลิปตัส ซึ่งจะดูดน้ำ ทำให้ดินแห้งเหมือนทะเลทราย ทำลายสภาพแวดล้อม ซึ่งอีกปัญหาหนึ่งคือ เซลลูโลสส่วนใหญ่ในพืชจะพบอยู่ในสารที่เรียกว่าลิกนิน (Lignin) ในกาที่จะนำเซลลูโลสออกมาทำเอทานอล จะต้องมีการย่อยสารลิกนินนี้ออกไป ซึ่งก็เหมือนที่ทำอยู่ในอุตสาหกรรมกระดาษ ซึ่งก่อมลภาวะด้วย


 


วิธีหนึ่งที่จะช่วยได้ก็คือ การตัดต่อพันธุกรรมพืช หรือ GMOs ให้ยูคาลิปตัสสามารถย่อยสลายลิกนินได้ในตัวมันเองเลย โดยใส่เอนไซม์เข้าไปในต้นไม้ เพื่อให้ต้นไม้ผลิตเซลลูโลสเลย การตัดและนำมาผลิตเอทานอลก็จะง่ายขึ้น


 


ส่วนรุ่นที่สามที่กำลังวิจัยตอนนี้คือ ไม่ต้องใช้ต้นไม้ แต่ผลิตสิ่งมีชีวิตเทียมขึ้นมา ซึ่งเมื่อมันเติบโตขึ้นมาจะสามารถย่อยสลายตัวเองแล้วให้พลังงานออกมาได้เลย และสิ่งมีชีวิตตัวนี้สามารถจดสิทธิบัตรได้ด้วย


 


พลังงานชีวภาพทั้งสามรุ่นนี้ ถามว่า คนที่ได้ประโยชน์มีใครบ้าง คือ 1. กลุ่มอุตสาหกรรมน้ำมัน ยักษ์ใหญ่ทั้ง 7 บริษัท ซึ่งเรียกว่าพี่น้องเจ็ดคนเป็นผู้ผูกขาดการซื้อขายน้ำมันในโลก ได้ประโยชน์แน่นอน และไม่ว่าเป็นน้ำมันหรือเอทานอล 7 บริษัทนี้ก็จะผูกขาดตลาดการขายอยู่ดี และยังได้ทุนสนับสนุนจากรัฐบาลด้วย


 


กลุ่มที่ 2. คือ บริษัทธุรกิจเกษตร ซึ่งปกติเป็นเจ้าของไร่ขนาดใหญ่ ที่ผลิตธัญพืชอยู่แล้ว และทำพืชจีเอ็มโอด้วย ดังนั้นก็จะได้สามเด้ง คือ หนึ่ง.ราคาพืชผลที่ผลิตเอทานอลสูงขึ้น สอง.ราคาอาหารในโลกสูงขึ้น และสาม. คือ การขายเมล็ดพันธุ์จีเอ็มโอด้วย และเนื่องจากเป็นเมล็ดพันธุ์ที่ไม่สามารถแตกออกเมล็ดเพื่อนำมาปลูกต่อไปได้ เกษตรกรก็จะต้องซื้อเมล็ดพันธุ์จากบริษัททุกปี


 


และ กลุ่มที่ 3. บริษัทรถยนต์ ก็ผลิตรถที่ใช้เอทานอลแทน ให้คนซื้อใหม่ ยกตัวอย่าง รถของอินเดีย ดาต้านาโน มีราคาถูก ประมาณเจ็ดหมื่นกว่าบาท นั่นคือ อาจทำให้คนรถใช้มากขึ้น มลภาวะก็จะสูงเพิ่มขึ้นด้วย


 


 


เอาอะไรมาแลกอธิปไตย? (ก็ยอม)


สรุปว่า "เอทานอล" จำทำให้เกิดปัญหา 6 ด้านด้วยกัน คือ 1.เรื่องอธิปไตยและความมั่นคงทางอาหาร เพราะถ้าหากที่ดินที่อุดมสมบูรณ์ถูกนำไปผลิตพลังงานหมด อาหารในโลกจะผลิตได้น้อยลง ต่อไปถ้าไม่อาจยังชีพได้ก็ต้องนำเข้าอาหารจากที่อื่น ซึ่งในยุคโบราณ ในสมัยกรุงศรีอยุธยาหรือรัตนโกสินทร์ตอนต้นเคยตั้งไว้เป็นปัจจัยทางยุทธศาสตร์ที่สำคัญเลยว่า "ห้ามมีการเอาข้าวออกนอกอาณาจักร" เพราะข้าวไม่ใช่แค่อาหาร แต่เป็นปัจจัยที่สำคัญ หากเราเลี้ยงตัวเองไม่ได้ เราก็แพ้แล้ว ยังไม่ต้องพูดถึงว่าจะไปรบกับใคร


 


แต่ปัจจุบันการที่เราเปิดเสรีทางการตลาดในโลกมากๆ คนที่ควบคุมอาหารกลายมาเป็นบริษัทใหญ่ๆ ธุรกิจใหญ่ๆ เกิดปัญหาสิทธิของเกษตรกร ซึ่งก็กลายเป็นแค่แรงงานในที่ดินตัวเอง ไม่สามารถยังชีพได้ รวมไปถึงปัญหาการแย่งน้ำ เพราะการปลูกพืชเชิงเดี่ยว ปัญหาทรัพยากรธรรมชาติป่าไม้ ปัญหาจากการปนเปื้อนจีเอ็มโอในธรรมชาติ


 


โดยที่ พืชพลังงานที่จะนำมาผลิตเป็นเอทานอล อย่างข้าวโพดซึ่งก็เป็นพืชจีเอ็มโออยู่แล้ว ต่อไปอาจจะมีการวิจัยและผลิตเมล็ดพันธุ์ให้สามารถทนต่อยาฆ่าแมลงได้มากๆ โดยบริษัทธุรกิจเกษตรอ้างว่า คนไม่ได้บริโภคพืชพวกนี้ ทำให้เกิดการใช้ยาฆ่าแมลงสูงขึ้นในการเพาะปลูกพืชอื่นๆ ด้วย พืชจีเอ็มโอจะกระจายไปติดพืชที่ไม่ใช่จีเอ็มโอ สิ่งมีชีวิตเทียมที่จะสร้างเอทานอลก็จะแพร่กระจายไปในสิ่งแวดล้อม


 


สุดท้ายคือ ปัญหาด้านอำนาจอธิปไตยของประเทศ ของชุมชนท้องถิ่นก็จะเสียไป และหากจะถามว่าจะแก้ปัญหาเหล่านี้กันอย่างไร? ก็คิดว่าค่อนข้างยาก


 


"เพราะในประวัติศาสตร์มนุษยชาติที่ผ่านมา เรามักลุกฮือกันขึ้นมา หรือออกมาเรียกร้อง ส่วนใหญ่เป็นการเรียกร้องเพื่อให้บริโภคกันมากขึ้น แต่เราไม่เคยมีประวัติว่าออกมาเพื่อให้บริโภคกันน้อยลงเลย"


 



......................................


ข่าวประชาไทที่เกี่ยวข้อง


วิทยากร บุญเรือง: วิกฤตพลังงานและผลกระทบต่อคนจน, ประชาไท, 14 ก.พ. 50

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net