สัมภาษณ์ "ชื่นชม สง่าราศี กรีเซ่น" : ชำแหละโครงสร้างไฟฟ้าไทย จากแผนประเทศถึงบิลค่าไฟ (จบ)

สัมภาษณ์ :  มุทิตา เชื้อชั่ง, คิม ไชยสุขประเสริฐ

ภาพ         :  คิม ไชยสุขประเสริฐ

 

 

 

 

ค ว า ม เ ดิ  ม ต  อ น ที่ แ ล้ ว . . . .

 

"ชื่นชม สง่าราศรี กรีเซ่น" นักวิชาการด้านพลังงาน ได้อธิบายถึงโครงสร้างไฟฟ้า โดยเอาเราๆ ท่านๆ เข้าไปเกี่ยวข้องด้วยอย่างน่าสนใจ ในฐานะผู้ที่ต้องแบกรับทุกสิ่งทุกอย่าง (ต้นทุน + กำไรที่แน่นอน) ของกิจการนี้ผ่านค่าเอฟทีอย่างทั่วถึงและยังเป็นแบบคนตัวเล็กแบกคนตัวใหญ่ โดยที่กิจการผูกขาดไว้ให้ กฟผ.บริหารจัดการเป็นหลัก ขณะที่เชื้อเพลิงอย่างก๊าซก็ผูกขาดให้ ปตท.เป็นหลัก (คำถามเรื่องการแปรรูปอ่านตอนที่แล้ว-ด้านล่าง)

 

อาจกล่าวได้ว่าจุดเริ่มต้นของปัญหาทั้งหมดอยู่ที่แผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า หรือเรียกย่อๆ ว่า พีดีพี (Power Development Plan) ทำหน้าที่กำหนดว่าความต้องการใช้ไฟในอีก 15 ปีของไทยจะเป็นเท่าไร ต้องจัดหาไฟจากไหน สร้างโรงไฟฟ้ากี่โรง ใช้เชื้อเพลิงอะไร โดยเธอฟันธงว่าเป็นแผนที่ "เว่อร์" มาโดยตลอด และความเว่อร์นั้นทำให้หน่วยงานที่ชงแผนอย่าง กฟผ. ยิ่งลงทุนเพิ่ม ยิ่งได้กำไรเพิ่มเพราะทั้งผูกขาดและมีระบบประกันกำไร โดยที่ผู้บริโภคเป็นคนแบกรับโดยไม่จำเป็น เนื่องจากไฟฟ้าไม่เหมือนเงินที่สะสมไว้ยิ่งมากยิ่งดี ที่สำคัญ มันไปก่อความขัดแย้งกับชาวบ้านในหลายพื้นที่ ทั้งที่มันมีทางออกอื่นที่ดีกว่า

 

ข้อเสนอและข้อท้าทายหลักๆ ของชื่นชมก็คือ การผลิตแบบกระจายศูนย์ ซึ่งมีประสิทธิภาพมากกว่า รวมไปถึงการปรับโครงสร้างที่ผูกขาด การมีส่วนร่วมในการตรวจสอบ ฯลฯ 

 

ไหนๆ ก็ใช้ไฟเล่นอินเตอร์เน็ตกันทั้งวันแล้ว ลองทำความเข้าใจ ถกเถียง หรือวางแผนไฟฟ้าร่วมกันซักยกจะเป็นไร ...

 

 

 

00000

 

 

แล้วที่วิพากษ์มานี้ มีทางออกที่ดีกว่าไหม ?

เราอาจลองเริ่มจากการปรับสมมติฐานที่เว่อร์แบบนั้นให้เป็นจริงมากขึ้น ความต้องการไม่ใช่จะไม่เพิ่มเลย แต่กำหนดดังนี้

 

ให้ความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มอย่างต่อเนื่อง 1,000 เมกกะวัตต์ต่อปี

 

เพิ่มสัดส่วนโคเจนจาก 1,700 เป็น 2,000 เมกกะวัตต์

 

DSM ศักยภาพเยอะมาก แต่เรากำหนดไว้ที่ 1,500 MW

 

พลังงานหมุนเวียนก็ศักยภาพเยอะแต่เราให้เพิ่มอีกแค่ 500 MW

 

 

 

 

 

 

ะเห็นว่า เราไม่จำเป็นต้องมีถ่านหิน นิวเคลียร์ และไอพีพีใหม่ เราก็มีไฟฟ้าเพียงพอ และมีกำลังสำรองอีกตั้ง 17% นี่คือตัวเลขแบบ conservative สุดๆ แล้ว ที่จริงตัวเลขความต้องการใช้ไฟฟ้าสามารถจัดการให้ต่ำกว่านั้นได้มาก และศักยภาพของโคเจนและ DSM ก็สูงกว่าที่กำหนดไว้ได้อีกมาก ฉะนั้น ที่บอกว่าเราต้องเพิ่มถ่านหิน นิวเคลียร์ และเขื่อนจากประเทศเพื่อนบ้านมันไม่เป็นความจริงเลย เราสามารถจัดการได้ดีกว่านั้น แล้วยังมีความมั่นคงได้โดยไม่กระทบเลย ขอให้รัฐบาลอย่ากีดกันพวกนี้แล้วกัน

 

ถ้าให้มองภาพรวมแล้วไม่คิดถึงข้อจำกัดเลย  เรื่องโครงสร้างทั้งหมดในการวางแผนพลังงานของประเทศมันควรปรับปรุงอะไรบ้าง ?

ต้องปฏิรูป 2 อย่างคือ โครงสร้างและกลไกการวางแผน

 

การปฏิรูปในเชิงโครงสร้าง กฟผ.ต้องไม่ผูกขาด โอเค ทำระบบส่งไป แต่ต้องไม่ผูกขาดการรับซื้อ ตอนนี้ใครจะมาขาย กฟผ.ต้องเห็นชอบ กลายเป็น กฟผ.มีอำนาจในการผูกขาดการรับซื้อ ถ้าจะให้ดีใครใคร่ผลิตต้องผลิตได้ เอสพีพีเขาอยากผลิตเอง และผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วย ส่วนเกินก็ควรขายเข้าระบบได้

 

พูดในเชิงเทคนิคตอนนี้เรามีระบบ Base Load เยอะเกินไป ระบบนี้หมายถึง ระบบขนาดใหญ่ที่ผลิตเป็นพื้นฐาน จริงๆ มันต้องมีความหลากหลายของระบบเยอะกว่านี้ ในต่างประเทศส่วนใหญ่จะเน้นการกระจายศูนย์ทั้งนั้น

 

อย่างนั้น ถ้ามีอุตสาหกรรมใหญ่ๆ ตรงไหนแล้วสร้างโรงไฟฟ้าใกล้ๆ ก็ถูกต้องแล้ว ?

ตามหลักการแล้วควรจะเป็นแบบนั้น อุตสาหกรรมควรรับผิดชอบต่อความต้องการของเขาเอง แล้วรับความเสี่ยงเอง และดังนั้น จึงควรมีสิทธิขายไฟเข้าระบบด้วย ระบบควรจะเป็นของทุกคน แต่ตอนนี้เหมือนกับ กฟผ.จะกีดกันด้วยการไม่รับซื้อ กลายเป็นว่าสายส่งเป็นของ กฟผ. รับใช้ กฟผ.ซึ่งไม่ถูกต้อง ทุกอย่างไปรวมศูนย์ทุกอย่างก็ไปขึ้นกับ กฟผ.

 

ไม่ว่าความต้องการใช้ไฟจะเพิ่มขึ้นตรงไหน กฟผ.ก็เอามาเป็นข้ออ้างความชอบธรรมในการวางแผน กลายเป็นว่าความเสี่ยงในการลงทุนเกินถูกเกลี่ยให้กับผู้บริโภคทั้งหมด ดังนั้น ถ้าจะให้ระบบมีประสิทธิภาพดีขึ้น คนที่สามารถจัดการได้ ควรรับความเสี่ยงตรงนั้นไป

 

เช่น กรณีของโรงงานอุตสาหกรรมของสหวิริยา เขาบอก กฟผ.ตลอดเวลาว่าจะมีความต้องการเพิ่มขึ้นเท่านั้นเท่านี้ เป็นตัวเลขสูงมากระดับพันเมกกะวัตต์เพราะเป็นอุตสาหกรรมหนัก กฟผ.ก็จะรวมเข้ามาในการพยากรณ์ความต้องการใช้ไฟ ถ้าหากสหวิริยาเลื่อนการลงทุน ซึ่งก็เลื่อนมาตลอด กำลังไฟฟ้าสำรองในแผนพีดีพีก็เกิน ใครรับผิดชอบ มันก็เกลี่ยมาแบกรับทั่วประเทศแต่ไม่มีใครมองเห็น

 

แปลว่าอุตสาหกรรมใหญ่ต้องสร้างโรงไฟฟ้าเองด้วย ?

สร้างเองหรือไม่ก็ได้ แต่ต้องจัดหาเอง อาจจะทำสัญญากับ กฟผ. หรือเอสพีพี หรือไอพีพี เพื่อให้ความเสี่ยงไม่ถูกโยนเข้ากองกลางอีกต่อไป ถ้าใช้จริงก็ไปทำสัญญาแบบนั้น ถ้าเลื่อนการลงทุนก็ต้องรีบไปเลื่อนการจัดหาไฟฟ้า เป็นการปฏิรูปการรับผิดชอบ มีเจ้าภาพ จะได้ไม่มีการเผื่อแล้วเผื่ออีก

 

ประการต่อมา การการปฏิรูปการวางแผน ต้องตอบคำถามให้ได้มากกว่านี้ เพราะล้วนแต่เป็นคำถามพื้นฐานมาก เช่น ทำไม DSM ไม่ถูกพิจารณาเป็นทางเลือกด้วยบนฐานต้นทุน เป็นต้น ตอนนี้ไม่มีการตรวจสอบเลย และผู้มีอำนาจตัดสินใจอยู่ในวงแคบมาก ควรปฏิรูปการวางแผนบนการพิจารณาทางเลือกที่รอบด้านจริงๆ รวมทั้งมีการกำหนดเป้าการวางแผนว่าต้องการนำไปสู่อะไร ความยั่งยืนจะเป็นเป้าหมายอันหนึ่งในการพิจารณาไหม ต้นทุนต่ำสุดของระบบโดยรวมจะถูกพิจารณาจริงๆ หรือเปล่า แล้วมันจะออกมาเป็นแผนอีกแบบหนึ่ง ต้นทุนโดยรวมจะต่ำลง การสร้างโรงไฟฟ้าที่มีผลกระทบมากๆ เชื่อได้เลยว่า มันจะไม่เยอะขนาดนี้ เพราะต้นทุนด้านสิ่งแวดล้อมด้านสังคมก็จะถูกนำมารวมในการพิจารณาด้วย และจะได้เห็นต้นทุนต่างๆ ที่ถูกกว่าอย่างรอบด้าน มีการมองแบบเชื่อมโยงมากขึ้น

 

ที่สำคัญ ตรงนี้จะต้องถูกมองเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจโดยรวมด้วย ไม่สามารถมองแบบแยกส่วนอีกต่อไป เดิมทีอุตสาหกรรมจะขยายก็ขยายไป รัฐบาลก็หลับหูหลับตาให้บีโอไอหมด ขณะที่กระทรวงพลังงานก็จัดหามาประเคนให้ ไม่มีการมองเชื่อมโยงว่า บางอุตสาหกรรมมีต้นทุนการใช้พลังงานสูงมากขณะที่มูลค่าทางเศรษฐกิจต่ำ จึงไม่ควรต้องอุดหนุนอุตสาหกรรมแบบนั้น

 

ยกตัวอย่างให้เห็นชัดๆ ได้ไหม ?

เช่น ต้นทุนพวกเหล็กและเหล็กกล้า รายงานการศึกษาจากทีดีอาร์ไอบอกว่า มันเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่ไม่ควรได้บีโอไอเท่าไหร่ เพราะใช้พลังงานสูงมาก และมีมูลค่าเพิ่มต่อเศรษฐกิจต่ำ ความสามารถในการแข่งขันกับต่างประเทศก็ต่ำ มันทำให้จีดีพีเพิ่มจริง แต่เป็นจีดีพีที่ไร้คุณภาพ มีต้นทุนพลังงานสูง ต้นทุนสิ่งแวดล้อมสูง ถ้าเทียบกับอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าเพิ่มต่อเศรษฐกิจสูงก็เช่น อุตสาหกรรมสิ่งทอ ทอผ้าออกมาแล้ว ก็นำไปสู่อุตสาหกรรมการทำเสื้อผ้าสำเร็จรูป ไปสู่อุตสาหกรรมแฟชั่นหรืออะไรก็แล้วแต่ มีการจ้างงานมาก มีวงจรของเศรษฐกิจยาว แต่ละขั้นก็สร้างมูลค่าเพิ่มสูงด้วย แต่เหล็กนี้ใช้ทรัพยากรล้วนๆ แล้วไม่สร้างมูลค่าเพิ่มอะไร ควรหรือไม่ที่เราจะต้องอุดหนุนในด้านพลังงาน การวางแผนเศรษฐกิจจึงควรเชื่อมโยงกับประเด็นพลังงานด้วย

 

 

 

 

 

พูดแบบนั้นแปลว่าอุตสาหกรรมเหล็กทำได้ แต่รัฐไม่ควรไปแบกรับต้นทุนด้านพลังงาน ?

ทำได้ แต่รัฐไม่ควรไปอุดหนุนเขา ถ้าจะทำจริงก็ต้องรับต้นทุนความเสี่ยงด้านพลังงานเองได้ไหม อย่ามาเกลี่ยให้สังคมโดยรวม

 

ในฐานะที่อยู่ในแวดวงราชการมาก่อน อาจจะเห็นข้อจำกัดในการปฏิรูปเยอะ ดังนั้นแล้วในทางรูปธรรมมันมีช่องทางไหนบ้างที่พอทำได้เพื่อนำไปสู่การปฏิรูปที่ควรจะเป็น ?

ที่ผ่านมา ตัวเองทำงานระดับนโยบายเยอะ ร่วมประชุมกับภาครัฐบ้าง ล็อบบี้บ้าง เขียนจดหมายถึงผู้เกี่ยวข้องบ้าง ไอเดียต่างๆ เหล่านี้เคยนำเสนอหลายครั้ง แต่พอไม่มีฐานสนับสนุนจากภาคสังคมมันก็ไม่มีแรงที่จะไปกดดันให้นำไปสู่การเปลี่ยนแปลง เพราะระบบปัจจุบันมันชัดเจนว่ามีใครได้ประโยชน์ เขาก็ย่อมไม่อยากจะเปลี่ยนแปลงอะไร

 

ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงมันไม่ใช่แค่ข้อมูล ข้อเท็จจริง แต่มันต้องมีแรงกดดันจากสังคมจริงๆ ผู้ใช้ไฟนั่นแหละจะเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลักจากการวางแผน ถ้าผู้ใช้ไฟหรือผู้บริโภคไม่เรียกร้อง ยากที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง

 

ตอนนี้จะมีแค่ผู้ได้รับผลกระทบที่หลังพิงฝาที่ต้องออกมาต่อสู้เพื่อปกป้องทรัพยากรหรือวิถีชีวิตของตนเอง เรื่องการสื่อสารข้อมูลเหล่านี้สู่ผู้ใช้ไฟให้เห็นความเชื่อมโยงของระบบโดยรวมจึงเป็นสิ่งสำคัญมาก ตราบใดที่ผู้ใช้ไฟไม่คิดอะไร นอกจากแค่กดสวิตช์แล้วจ่ายสตางค์ มันก็จะเป็นอยู่อย่างนี้ ในต่างประเทศที่มีการเปลี่ยนแปลงได้ เพราะระบบข้อมูลข่าวสารมันถึงผู้ใช้ไฟ เขาได้ข้อมูลข่าวสารที่รอบด้านเลยมีการถกเถียงของสังคม นำไปสู่การตัดสินใจร่วมของสังคม

 

เราต้องเริ่มต้นมีส่วนร่วมโดยเริ่มที่การเปิดเผยนำเสนอข้อมูลทั้ง 2 ด้าน เพราะที่ผ่านมาข้อมูลมันน้อยมาก การผูกขาดเกิดขึ้นกับเรื่องข้อมูลด้วย ที่สำคัญ เรื่องพลังงานต่างจากเรื่องสาธารณสุข เรื่องทรัพยากร ฯลฯ ซึ่งมีฐานของภูมิปัญญา แต่เรื่องไฟฟ้ามันเป็นเรื่องใหม่ของสังคมไทย ของโลกด้วยซ้ำ เพิ่ง 100 กว่าปีเอง

 

มันเป็นเรื่องเทคนิคมาก

จริงๆ มันไม่ใช่เทคนิคนัก ไม่มีอะไรยากหรอก ลองดูโมเดลของเขา (กฟผ.) สิ มันหลอกเด็กมากเลย

 

พูดเรื่องข้อมูลข่าวสาร ปัจจุบันที่เป็นอยู่ เอาเฉพาะในแวดวงคนทำงานตรงนี้ หาข้อมูลยากไหม ?

ยากมาก (ลากเสียงยาว) ถ้าไม่มีคอนเน็กชั่นก่อนหน้านี้คงลำบากกว่านี้มาก

 

แล้วเรื่องโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ มองยังไง ?

ข้อมูลของรัฐบาลอ้างว่าเป็นการเตรียมการศึกษา 1,350 ล้านบาท แต่อยากให้ดูว่ามันเป็นมายาคติที่เราต้องตรวจสอบว่าเราต้องการนิวเคลียร์จริงหรือเปล่า

 

ก่อนจะไปถึงตรงนั้นขอถามแทนบางเสียงก่อนว่า เราจะอธิบายอย่างไรในการปฏิเสธนิวเคลียร์ เพราะมีการพูดเสมอว่าญี่ปุ่นและอเมริกาก็คงไม่โง่ขนาดที่จะสร้างอะไรที่เสี่ยงและจัดการไม่ได้  นอกจากนี้ยังมีการทักท้วงอีกว่าอย่างน้อยที่สุดเราควรจะเริ่มต้นศึกษาจะได้มีองค์ความรู้รองรับเวลาจำเป็นต้องใช้

ถึงบอกว่านี่เป็นข้ออ้างที่ต้องตรวจสอบ ถกเถียง แต่ที่ผ่านมามันไม่มีการถกเถียงเลย นี่มันเงินประชาชน จุดประสงค์ของการตั้งงบศึกษาคือต้องให้ความรู้กับประชาชนอย่างรอบด้านเพื่อให้เกิดการถกเถียง ไม่ใช่ตั้งเป็นงบไว้ประชาสัมพันธ์ข้อมูลด้านเดียว

 

อันที่จริงมันควรศึกษาจริงๆ ก่อนจะมายัดไว้ในแผนพีดีพี แต่กลับยัดไว้ในแผนก่อนแล้วค่อยมาศึกษา เราไม่ได้บอกว่าตรงนี้ถูกหรือผิด เพียงแต่อยากจะขอนำเสนอข้อมูลอีกด้านหนึ่งเพื่อให้เกิดการถกเถียงในสังคม ทุกประเทศพัฒนาที่ผ่านการตัดสินใจมา มันมีการถกเถียงของสังคมโดยกว้าง

 

ประเด็นแรก เรื่องความมั่นคงทางพลังงาน พูดไปเยอะแล้วว่า 15 ปีเราไม่ต้องการสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ ข้อมูลความต้องการก็วางแผนเว่อร์ เท่าที่มีการขอเข้ามา SPP 2,400 + VSPP 800 ก็ 3,600 เมกกะวัตต์แล้ว เกือบเท่านิวเคลียร์ 1 โรง

 

เรื่องการกระจายความเสี่ยงและราคา อันที่จริงความเสี่ยงมันไม่ต่างจากก๊าซเลย ปริมาณก็มีจำกัด ราคาก็จะยิ่งขึ้นสูงขึ้นในอนาคต มันต้องมาชั่งดูจริงๆ ว่ากระจายจริงหรือเปล่า และมีทางอื่นที่ดีกว่านี้ไหม

 

เรื่องการลดการพึ่งพิงการนำเข้าพลังงาน นิวเคลียร์นี่เราไม่มีทรัพยากร เทคโนโลยี ไม่มีเลย ต้องนำเข้าทั้งกะบิ ถ้าเป็นพลังงานชีวมวล เราสามารถทำเองได้บางส่วน เทคโนโลยีเราก็คุ้นเคย ไม่ต้องนำเข้าผู้เชี่ยวชาญ ดังนั้นนิวเคลียร์จึงไม่ลดการพึ่งพิง

 

ในเชิงการพึ่งพา ถ้าดูต้นทุนของฟินแลนด์ซึ่งเป็นประเทศที่สร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์รายล่าสุด จะพบว่าต้นทุนเขาสูงมาก 4,300 ดอล่าร์ต่อกิโลวัตต์ ถ้ารวมทั้งหมดมันอาจไปถึงระดับ 5,000-6,000 ดอล่าร์ต่อกิโลกวัตต์ ขณะที่ถ่านหินอยู่ที่ 1,000 ดอล่าร์ต่อกิโลวัตต์ ก๊าซถูกกว่านั้น ถ้าของไทยที่วางแผนไว้ 4,000 เมกกะวัตต์ มันก็คือการลงทุน 568,000 ล้านบาท 27% ของจีดีพี ดังนั้น นิวเคลียร์ไม่ได้นำไปสู่การลดการพึ่งพา เพิ่มการพึ่งพิงการนำเข้าด้วยซ้ำ

 

เรื่องพลังงานราคาถูก ก็ไม่ได้ถูกอย่างที่คิด ของต่างประเทศนิวเคลียร์ก็แพงกว่าอย่างอื่น ที่อ้างว่าถูกไม่ถูกจริงแล้วยังมีต้นทุนอื่นๆ อีกมากมาย 

 

เรื่องการลดคาร์บอน IAEA บอกเลยว่า นิวเคลียร์มันลดคาร์บอนได้แค่ 10% ที่เหลือมาจากการประหยัดพลังงาน การใช้พลังงานหมุนเวียน แต่เราก็ทุ่มเยอะเหลือเกินกับนิวเคลียร์

 


 

ลงทุนสูงแบบนี้จะเอาเงินจากไหน มันอาจไม่ได้สร้างจริงก็ได้

ไม่ยาก ก็ผลักภาระให้ผู้ใช้ไฟไป

 

แปลว่าสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แล้วค่าไฟจะขึ้นอีกเยอะ ?

ใช่ เขาจะค่อยๆ ผลัก แต่หวังว่ามันจะไม่ง่ายอย่างที่คิด คงมีแรงเสียดทาน แต่ทางรัฐเขาได้ข้าราชการที่ชีวิตทั้งชีวิตเพื่อนิวเคลียร์มาช่วยผลักดัน

 

พีดีพีทบทวนกันทุกปีไหม แล้วมีความเป็นไปได้จะดึงเรื่องนิวเคลียร์ออกมาเพื่อตั้งต้นถกเถียงกันใหม่ไหม ?

ไม่จำเป็น บางทีสองปี หรือสามปีจึงทบทวน บางปีก็ทบทวนถึง 2 ครั้ง แล้วก็มีการปรับแผนกันได้ แต่ตอนนี้แค่ดึงเรื่องนิวเคลียร์ออกคงไม่พอ ต้องยุบหน่วยงาน กลไกต่างๆ ด้วย ซึ่งเขาคงไม่ยอมง่ายๆ

 

ขอกลับไปเรื่อง "ภาระ" ของผู้บริโภค พอจะให้เห็นภาพรวมได้ไหมว่าทั้งหมดแล้วมันเป็นเท่าไหร่ ถ้าเอาแผนพีดีพีฉบับล่าสุดนี้เป็นฐาน

คำนวณคร่าวๆ จากแผนพีดีพีล่าสุดที่เขาทำมา ปริมาณไฟฟ้าสำรองมันอยู่ที่ 20-25% เราเลยลองดูว่า ถ้าคิดแค่ 15% มันจะมีกำลังการผลิตเกินเป็นภาระเท่ากับเท่าไหร่ คิดแค่ระบบผลิตกับระบบส่งเท่านั้น ไม่รวมระบบจำหน่าย พบว่าปริมาณไฟฟ้าสำรองที่เกินมาจาก 15% คิดเป็นเงินกว่า 130,000 ล้านบาท ภาระแค่ตรงนี้เฉยๆ นะ แต่จริงๆ มันไม่ได้เกินแค่นี้ เพราะความต้องการมันเว่อร์มาก จากที่เขากำหนดไว้ว่าจะเพิ่มปีละ 1,900 MW ปรับให้เหลือเพิ่มแค่ปีละ 1,000 MW เราก็จะพบว่ามันเกินมากถึง 400,000 ล้าน นี่คือภาระจากการลงทุนแบบฟองสบู่ นี่เฉพาะภาระจากการลงทุนด้านการสร้าง ยังไม่รวมภาระเรื่อง take-or-pay

 

ภาระ take-or-pay มีหลายอย่าง ทั้งจากก๊าซ จากการจัดหาเชื้อเพลิงอื่น สัญญาซื้อขายไฟฟ้าจากเอกชน เหล่านี้จะมีการประกันความเสี่ยง เป็นภาระ take-or-pay

 

ถ้าดูเฉพาะก๊าซธรรมชาติเหลว หรือ LNG ตอนนี้ ปตท.วางแผนตามพีดีพีที่ได้รับการอนุมัติเดือนมิถุนายน 2550 พบว่าการใช้ก๊าซจะเพิ่มมาก เลยนำมาสู่เรื่องการจัดหา ปัจจุบันที่มีไม่พอ ต้องนำเข้า LNG เข้ามาอีก โดยขนส่งทางเรือมาจากต่างประเทศ ขนมาแล้วต้องสร้างท่าเรือรองรับและโรงแยกก๊าซ มูลค่าลงทุนตรงนี้เป็นแสนล้าน แต่ปรากฏว่าพอปรับปรุงแผนอีกทีเดือนมกราคม 2551 ปรับเปลี่ยนใหม่หมดเลย กลายเป็นว่าก๊าซจะใช้เท่าเดิม แต่เพิ่มในส่วนถ่านหินและไฟฟ้านำเข้าแทน (ไฟฟ้านำเข้าจากเดิม 5,090 เมกกะวัตต์ เพิ่มเป็น 14,000 กว่าเมกกะวัตต์) ดังนั้น ตอนนี้ไม่มีความจำเป็นแล้วที่จะต้องนำเข้า LNG ถ้าทำไปตรงนี้เป็นภาระ take-or-pay

 

ที่ตลกคือ พอปรับแผนพีดีพีเดือนมกราคมลดการใช้ก๊าซเหลือใช้คงที่แล้ว กลับไม่มีการปรับแผนการลงทุนจัดหาก๊าซ แผนนำเข้า LNG ยังอยู่เหมือนเดิม

 

ดังนั้น ถ้าไม่มีการทบทวนแผนการลงทุน ลองคำนวณภาระคร่าวๆ ที่จะเกิดขึ้นเฉพาะในส่วนของเนื้อก๊าซที่ ปตท.ไปเซ็นกับการ์ตานั้นจะเกิดเป็นภาระอีก 900,000 ล้านบาท ยังไม่รวมโครงสร้างพื้นฐานที่ต้องสร้าง

 

เหล่านี้คือภาระส่วนเกินต่อระบบเศรษฐกิจ รวมแล้วเกือบ 2 ล้านล้านบาท เป็นการลงทุนที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ตามเป้าหมาย

 

นอกจากนี้ยังมีเรื่องกองทุนพัฒนาชุมชนรอบโรงไฟฟ้า ตอนนี้มีการเก็บจากค่าใช้ไฟไปแล้วโดยไม่มีกฎหมายรองรับ นับจนถึงปลายปีที่แล้ว ราว 900 ล้านบาท ผู้บริโภคจ่ายไปแล้วโดยไม่รู้ตัวเข้ากองทุนนี้

 

กองทุนพัฒนาชุมชนรอบโรงไฟฟ้าที่ว่าผู้บริโภคจ่ายไปแล้วนั้น มันเฉลี่ยอยู่ในค่าเอฟทีของเรา ?

ใช่ มันอาจจะสะท้อนออกมาไม่มากนัก แต่พอรวมกันแล้วมันเยอะมาก ถามว่าเก็บไปเพื่ออะไร มันไม่ใช่เพื่อชดเชยหรือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ อย่างกรณีแม่เมาะที่ผ่านมาก็ไม่ได้ แต่เขาเอาเงินไป "พัฒนา" จึงเรียกว่ากองทุนพัฒนาชุมชน จึงเอาเงินไปดูงาน ทำ renewable project ทำเรื่องการศึกษาวัฒนธรรม อะไรอย่างนี้

 

เคยเถียงเขาในที่ประชุมว่าทำไมไม่ชดเชยความเสียหายผู้ได้รับผลกระทบก่อน การเยียวยาต้องเป็นอันดับแรก แต่กลุ่มคนที่มีอำนาจตัดสินใจไม่เห็นด้วย เพราะไม่อยากจะสนับสนุนผู้เสียหายเหล่านั้น เพราะคนพวกนั้นเป็นพวกต่อต้าน พวกที่ลุกมาเรียกร้อง สรุปแล้วมันเลยกลายเป็นกองทุนทำลายความเข้มแข็งของชุมชนเสียมากกว่า

 

ถ้าเป็นระบบเยียวยาที่ชัดเจน การเรียกร้องก็อาจทำได้อย่างเป็นระบบ เป็นมาตรฐาน

ใช่ เขากลัว แต่วัตถุประสงค์ที่แท้จริงคือตรงนั้น คุณเก็บจากผู้ใช้ไฟไป ผู้ใช้ไฟคาดหวังว่าคุณจะจัดการปัญหาความขัดแย้งให้ดีขึ้น อยากใช้ไฟอย่างสบายใจขึ้น

 

อีกประเด็นคือ ที่ผ่านมาไม่มีกฎหมายรองรับ เก็บไปเลยแล้วเงินไปกองไว้ที่ กฟผ. จริงๆ ควรจะออกกฎหมายให้ชัดเจน

 

คิดว่ากองทุนนี้จะช่วยแก้ปัญหาความขัดแย้งไหม ?

ไม่แก้ มีแต่จะทำให้ความขัดแย้งรุนแรงขึ้น เดิมทีการต่อสู้ของคนในพื้นที่ที่มีความขัดแย้ง เอกชนจะต้องเป็นคนมาจัดการกับความขัดแย้งนั้นเอง แต่ตอนนี้รัฐมาเก็บเงินกับผู้บริโภคมาให้เอกชนเอาไปจัดการ

 

ข่าวออกมาว่าเขาจะเก็บจากผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าทั้งก๊าซ ถ่านหิน

ไม่เลย นี่คือเป็นปัญหาอีกอย่าง ที่มาเก็บกับผู้บริโภคผ่านค่าเอฟที

 

ยังมีเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนของกิจการไฟฟ้าอีก

 

และตอนนี้ยังมีแนวการแปรรูปแบบใหม่ เช่น กฟผ.ไปตั้งบริษัทลูก ผ่องถ่ายทุนจากรัฐไปอยู่ในบริษัทลูก แล้วบริษัทลูกหากิน เอาอดีตผู้บริหาร กฟผ.มานั่งเป็นกรรมการ ตั้งโบนัสกันสูงมาก

 

กฟผ.ตั้งบริษัทลูกแล้วเสียหายยังไง

เนื่องจาก กฟผ.เป็นผู้ผูกขาดรายเดียว แล้วบริษัทลูกก็ไปลงทุนสร้างโรงไฟฟ้ามาขายให้แม่ เวลาเจรจาราคาก็เอื้ออาทรกัน เหมือนเจรจากันเอง ฉะนั้น เอ็กโกบริษัทลูกของ กฟผ.เมื่อเทียบกับไอพีพีอย่างอื่น ราคาขายไฟของเอ็กโกราชบุรีแพงกว่าคนอื่นเยอะมากถึง 10-20% ก็ยังได้

 

กรณีของ ปตท.สผ. รัฐถือหุ้นใน ปตท.52% ปตท.ถือหุ้นใน ปตท.สผ.บริษัทลูก 66% แล้วปตท.ก็มักจะผ่องถ่ายสิทธิประโยชน์ต่างๆ ให้บริษัทลูกคือ ปตท.สผ. เช่น เอากระทรวงพลังงานไปเจรจากับรัฐบาลพม่า พอได้แล้วก็เอามาให้ ปตท.สผ. ซึ่งประโยชน์จริงๆ ที่จะกลับสู่รัฐเหลือแค่ 33% มันจึงเป็นการผ่องถ่ายผลประโยชน์ของรัฐ โดยใช้โครงสร้างแบบนี้

 

 

 

 

รัฐก็ได้รายได้ในรูปของภาษี

นั่นส่วนหนึ่ง แต่ตรงนั้นใครๆ ก็ต้องเสียมันจึงไม่มีนัยยะว่าจะเป็นรัฐวิสาหกิจหรือไม่ แต่ส่วนของกำไรที่ได้จากการเอื้อกันแบบนี้เขามีสิทธิพิเศษและรายได้หายไปในรายทางเยอะกว่าจะถึงรัฐ ทั้งที่เอาของรัฐไปตั้งเยอะ

 

แล้วผลประโยชน์ทับซ้อนตอนนี้รุนแรงขึ้นเยอะในช่วงรัฐมนตรีปิยะสวัสดิ์ อัมระนันท์ ในรูปของการเอาข้าราชการมานั่งในบริษัทที่ตัวเองต้องกำกับ ตรรกะของเขาก็คือ ต้องเอาคนของรัฐไปดูแลผลประโยชน์ของรัฐ แต่มันกลับตรงกันข้ามเพราะผลประโยชน์ตรงนั้นมันเยอะกว่าเงินเดือนรัฐมากๆ มันเลยกลายเป็นไปช่วยกำหนดนโยบายเอื้อให้เอกชน

 

ช่วยสรุปหน่อยว่าควรจะเริ่มจัดการเรื่องเหล่านี้จากตรงไหน ?

โครงสร้างทั้งหมดที่บิดเบี้ยว เกิดจากส่วนหนึ่งผู้บริโภคและชนชั้นกลางไม่ได้ติดตาม มันก็เลยไปไกลจากลู่ทางที่มันควรจะเป็นค่อนข้างมาก แล้วก็เกิดจากการที่เราถูกจับให้มองแยกเป็นเรื่องๆ ไม่เชื่อมโยงกัน คนปากมูลมา มาเรื่องอะไรคนกรุงเทพฯ ยังไม่รู้เลย หรือมองว่าน่ารำคาญ

 

จริงๆ ไม่อยากให้ใครคนใดคนหนึ่งเป็นจำเลย ทุกคนมีส่วนทั้งนั้น การที่เราหลับหูหลับตาใช้ การที่เราใช้โดยไม่รู้ที่มา การที่เราไม่เรียกร้อง ตรวจสอบ มันเป็นการซ้ำเติม ทำให้ระบบที่บิดเบี้ยวมันคงอยู่อย่างนี้ไปเรื่อยๆ  แล้วเราก็จะไม่เห็นอกเห็นใจคนอื่นๆ ทั้งที่เรามีทางเลือกที่อ่อนโยนและสันติ แต่ภายใต้โครงสร้างผูกขาดผลประโยชน์มันไม่มีเนื้อที่

 

 

 

 

------------------------

 

 

 

 

 










ชื่นชม สง่าราศรี กรีเซ่น เป็นนักวิชาการอิสระด้านพลังงาน ทำการวิจัยและวิเคราะห์นโยบายสาธารณะด้านพลังงานโดยเน้นภาคไฟฟ้าเป็นหลัก

 

ประเด็นที่ศึกษาและติดตามได้แก่ นโยบายแปรรูปและปรับโครงสร้างกิจการพลังงาน ธรรมาภิบาล การกำกับดูแล การวางแผน การสนับสนุนพลังงานทางเลือก การคุ้มครองผู้บริโภค การกระจายศูนย์พลังงาน การมีส่วนร่วมโดยชุมชน และการพัฒนาที่ยั่งยืน

ในช่วงปี พ.ศ. 2542 - 2546 เคยรับราชการที่สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน รับผิดชอบงานด้านนโยบายการปรับโครงสร้างกิจการไฟฟ้าเป็นหลัก

จบการศึกษาปริญญาโทด้านพลังงานและทรัพยากร จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ที่เบิร์กลีย์ ประเทศสหรัฐอเมริกา และปริญญาตรีด้านวิศวกรรมศาสตร์สาขาสิ่งแวดล้อม จาก วิทยาลัยดาร์ทมัธ (Dartmouth College) ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยได้รับทุนเล่าเรียนหลวง

 

ปัจจุบัน ร่วมกับ คริส กรีเซ่น และคณะจัดตั้งกลุ่มพลังไท (www.palangthai.com) ทำงานด้านข้อมูลสนับสนุนการใช้้พลังงานหมุนเวียนที่สะอาดกับชุมชนตั้งแต่่ระดับรากหญ้าเพื่อการพัฒนา ที่ยั่งยืนและมีส่วนร่วมในกิจการไฟฟ้าอย่างเป็นประชาธิปไตย

 

 

 

 

 

*ขอขอบคุณสไลด์ประกอบจากคุณชื่นชม สง่าราศรี กรีเซ่น

 

 

 

 

 

อ่านตอนที่ 1

สัมภาษณ์ "ชื่นชม สง่าราศรี กรีเซ่น" : ชำแหละโครงสร้างไฟฟ้าไทย จากแผนประเทศถึงบิลค่าไฟ (1)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท