Skip to main content
sharethis

อัคนี มูลเมฆ


 


 


ไม่น่าเชื่อ, สิ่งที่เราคิดว่าเป็นนวัตกรรมใหม่เพื่อกอบกู้โลกจากราคาน้ำมันที่สูงขึ้น และจากปัญหาโลกร้อน


แต่ในความเป็นจริงกลับสร้างปัญหาใหม่ขึ้นมา เรื่องที่กำลังกล่าวถึงนี้คือการผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพ ที่เรียกว่า Biofuels ซึ่งตอนนี้กำลังแพร่หลายไปทั่วโลก โดยเฉพาะในสหรัฐฯ


 


เหล่าผู้เชี่ยวชาญที่มองการณ์ล่วงหน้าในประเทศนั้นเชื่อว่าการแข่งขันกันผลิตเชื้อเพลิงจากพืชเกษตร หรือ Agrofuels จะผลักดันให้ราคาผลิตภัณท์อาหารสูงขึ้นทั่วโลก เนื่องจากน้ำมันเชื้อเพลิงที่ผลิตโดยระบบอุตสาหกรรมและระบบทุนเป็นไปเพื่อการส่งออก ยังผลให้อาหารของมนุษย์ถูกแย่งไปเปลี่ยนเป็นน้ำมัน


 


นายเลสเตอร์ บราวน์ นักเศรษฐศาสร์การเกษตรผู้เป็นประธาน "สถาบันนโยบายโลก" (Earth Policy Institute) องค์กรคลังสมองในวอชิงตัน แถลงเรื่องนี้ด้วยความวิตกว่า "ที่ผ่านมาสหรัฐฯ เป็นผู้นำในการต่อสู้กับความหิวโหยของชาวโลก มาบัดนี้เรากำลังก่อให้เกิดความหิวโหย"


 


เขาทำนายว่าอุตสาหกรรมที่กำลังเฟื่องฟูชนิดนี้จะทำให้คนหลายพันล้านอดอยาก การขยายตัวของอุตสาหกรรมเอธานอล (Ethanol) หรือน้ำมันเชื้อเพลิงจากชีวภาพในสหรัฐฯ จะเปลี่ยนอาหารจำนวนมหาศาลของมนุษย์ไปเป็นเชื้อเพลิง ตัวอย่างเช่น ในปี 2007 ที่ผ่านมาสหรัฐฯ ผลาญธัญพืชไปถึง 81 ล้านตันเพื่อการนี้ และในปีนี้ธัญพืชอันเป็นอาหารของมนุษย์จะถูกยื้อยุดไปถึง 114 ล้านตัน หรือคิดเป็น 28 เปอร์เซ็นต์ของผลผลิตธัญพืชทั้งหมดของประเทศ


 


ที่น่าวิตกกว่านั้น, อุตสาหกรรมดังกล่าวยังขยายตัวต่อไปไม่มีวันหยุด การส่งเสริมของรัฐบาลจะส่งผลกระทบต่อประเทศยากจนสักเพียงใด เมื่อพิจารณาจากข้อเท็จจริงว่า สหรัฐฯ เป็นประเทศส่งออกธัญพืชรายใหญ่ที่สุดในโลก


 


ราคาธัญพืชในสหรัฐฯ ตอนนี้สูงเป็นประวัติการณ์ หรือเกือบทำลายสถิติ ทั้งจะสูงขึ้นเรื่อยๆ ไม่มีวันหยุด ที่ผ่านมา ราคาธัญพืชที่สูงขึ้นส่วนใหญ่เป็นเพราะภัยแล้ง มาตอนนี้สูงเพราะนโยบายของรัฐ นายบราวน์กล่าวว่า "สหรัฐฯ จะเป็นสังคมแรกในประวัติศาสตร์ที่ใช้เงินจากภาษีมาผลักดันราคาอาหารของตัวเองให้สูงขึ้น"


 


ทำไมนักเศรษฐศาสตร์การเกษตรผู้นี้จึงกล่าวเช่นนั้น?


 


 


รัฐบาลสหรัฐฯ มีนโยบายสนับสนุนการผลิตเอธานอลและไบโอดีเซล (Biodiesel) ซึ่งในปีนี้ใช้งบราว  13,000 ล้านดอลลาร์ และจะเพิ่มขึ้นเป็น 1 แสนล้านดอลลาร์ในช่วงปี 2006-2012 ทั้งนี้ จากรายงานที่เผยแพร่เมื่อเดือนตุลาคม โดยสถาบันนานาชาติเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (International Institute for Sustainable Development) แห่งเจนีวา สวิสเซอร์แลนด์


 


การสนับสนุนดังกล่าวประเมินว่าตกราว 1.4-1.70 ดอลลาร์ต่อน้ำมันแก๊สโซลีนที่ผลิตได้ 1 แกลลอน และ 2-2.35 ดอลลาร์ต่อน้ำมันดีเซล 1 แกลลอน อันทำให้ผู้เสียภาษีต้องสิ้นเปลืองเงินไปกับการสนับสนุนเชื้อเพลิงชีวภาพในอีกหลายสิบปีข้างหน้า


 


เมื่อ 19 ธันวาคมปีก่อน นายจอร์จ ดับเบิ้ลยู บุชได้ลงนามในกฏหมาย Energy Independence and Security Act 2007 บทบัญญัติดังกล่าวกำหนดให้มหาอำนาจประเทศนี้ใช้เชื้อเพลิงจากการเกษตรปีละ 36,000 ล้านแกลลอนภายในปี 2022 หรือเพิ่มขึ้น 5 เท่าจากระดับปัจจุบัน


 


"เราใช้เงินหลายพันล้านเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมเอธานอล และเราต้องใช้เงินอีกครั้งให้กับซุปเปอร์มาเก็ตเนื่องจากราคาอาหารสูงขึ้น"นายบราวน์ว่า


 


เขาแถลงอีกว่ายุทธศาสตร์ไบโอดีเซลมีแต่เสียกับเสีย (Lose-Lose Strategy) ไม่ได้สร้างผลดีให้กับสิ่งแวดล้อมที่แท้จริง เนื่องจากการปลูกข้าวโพดมาทำเอธานอลต้องใช้เชื้อเพลิง ปุ๋ย ยาฆ่าแมลง น้ำ และต้องทำลายหน้าดินมหาศาล


 


การเปลี่ยนอาหารไปเป็นเชื้อเพลิงชีวภาพให้กับเจ้าของรถทั่วโลก แต่กลับสร้างปัญหาให้กับคนจน 2 พันล้านที่กำลังดิ้นรนหาอาหารมาเลี้ยงชีพ ผลของการแข่งขันที่ไม่เท่าเทียมจะก่อให้เกิดภาวะเลวร้ายต่อโลก มหาวิทยาลัยมินเนโซต้าศึกษาเรื่องนี้ไว้เมื่อปี 2007 ผลการศึกษาระบุว่า ขณะนี้พลโลก 850 ล้านกำลังเผชิญกับภาวะอดอยากและทุพโภชนาการ ตัวเลขนี้จะสูงขึ้นเป็น 1.2 พันล้านภายในปี 2025 เนื่องจากการแย่งชิงที่ดินและน้ำไปเพื่อการเกษตรสำหรับผลิตไบโอดีเซล


 


ขณะราคาผลิตภัณท์โดยตรงจากการเกษตร เช่นข้าวสาลี ข้าวโพดและถั่วเหลืองพุ่งสูงขึ้น อาหารสำเร็จรูปซึ่งเป็นผลิตภัณท์โดยอ้อม เช่นขนมปัง พาสต้า (แป้งผสมไข่) ตอร์ติลญ่า (แป้งข้าวโพด) รวมทั้งหมู เป็ด ไก่ เนื้อวัว นม และไข่ ก็พุ่งสูงไปทั่วโลก ในเม็กซิโก ตอนนี้ราคาแป้งข้าวโพดสูงขึ้นถึง 60 เปอร์เซ็นต์ ในปากีสถาน ราคาแป้งโรตีเพิ่มขึ้นสองเท่า ในจีน ราคาอาหารกำลังสูงจนเฟ้อ


 


นายบราวน์ทำนายว่าความปั่นป่วนทางสังคมอันเนื่องมาจากราคาอาหารเพิ่มสูงกำลังเริ่มต้น ซึ่งมีผลให้เกิดความไร้เสถียรภาพในประเทศยากจนที่อ่อนแอ อีกทั้งภาวะเลวร้ายอื่นๆ จะเกิดตามมา


 


ส่วนนายอีริค โฮลต์ จิมีเนสแห่งสถาบันเพื่ออาหารและนโยบายพัฒนา (Institute for food and Development Policy) ในโอคแลนด์-แคลิฟอร์เนีย แถลงว่าเมื่อราคาน้ำมันฟอสซิลสูงขึ้นจะมีผลผลักดันให้ราคาน้ำมันเอธานอลเพิ่มขึ้นไปด้วย ดังนั้นเกษตรกรและนักธุรกิจการเกษตรก็จะตะเกียกตะกายหาที่ดินมาปลูกพืชเพื่อทำเชื้อเพลิงเอธานอลมากขึ้น และเมื่อที่ดินเพื่อการผลิตอาหารลดลง ราคาอาหารย่อมสูงขึ้นไปอีก สถานการณ์ดังกล่าวผลักให้นายทุนบางรายเปลี่ยนจากการผลิตเอธานอลมาผลิตอาหารแทน และราคาเอธานอลจะผกผันสูงขึ้น กล่าวโดยสรุปคือราคาสินค้าทั้งสองจะหมุนวนหรือผกผันกันไปมา


 


แน่นอน ผู้ที่ได้กำไรคือพ่อค้าปลีกอาหาร บริษัทค้าธัญพืช เมล็ดและปุ๋ย ขณะอีกด้านหนึ่ง อุตสาหกรรมน้ำมันชีวภาพสามารถทำกำไรอย่างมหาศาล


 


ที่ผ่านมา ด้วยความเข้าใจผิด กลุ่มพันธมิตรองค์กรเอ็นจีโอต่างๆ ในสหรัฐฯ ได้เรียกร้องให้ทำเนียบขาวใช้


นโยบายพักการชำระหนี้ เพื่อเป็นแรงจูงใจให้เกษตรกรหันมาผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพ โดยให้เพิ่มการปลูกพืชเชิงเดี่ยวเพื่อนำมาผลิตน้ำมัน และส่งเสริมการค้าน้ำมันชีวภาพทั่วโลก


 


ผลก็คือสหรัฐฯ ซึ่งปัจจุบันเป็นผู้ส่งออกธัญพืชรายใหญ่ที่สุดของโลก มาตอนนี้ไม่อาจผลิตข้าวโพดได้เพียงพอสำหรับการผลิตเอธานอล 36,000 ล้านแกลลอนตามที่ตั้งเป้าไว้ จึงอาจมีการนำเข้าบางส่วนจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ลาตินอเมริกา และภูมิภาคอื่นๆ


 


การที่อุตสาหกรรมชีวภาพรีบเร่งส่งออกเชื้อเพลิงชีวภาพไปยังยุโรปและที่ต่างๆ เท่ากับเป็นการขับประชา


ชนในประเทศยากจนออกจากที่ดิน ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้บางประเทศ คนยากจนไม่อาจหาน้ำมันปาลม์มาปรุงอาหาร เนื่องจากน้ำมันเหล่านี้ถูกเปลี่ยนสภาพไปเป็นไบโอดีเซลส่งออกให้กับประเทศร่ำรวย นายโฮลต์ จิมีเนสว่า


 


องค์กรสิ่งแวดล้อมในประเทศตะวันตกยังสนับสนุนให้ผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพ เพื่อช่วยเหลือชาวนารายย่อยในประเทศยากจน และช่วยลดการปล่อยแก๊สเรือนกระจก โดยมองไม่เห็นว่าอะไรจะเกิดขึ้นเมื่อบริษัทขนาดใหญ่และบริษัทเงินทุนเข้ามามีบทบาทเกี่ยวข้อง


 


"ตอนนี้ไบโอดีเซลกำลังปรับเปลี่ยนระบบอาหารของโลกและระบบเชื้อเพลิงโดยสิ้นเชิง และกำลังกลายเป็นประเด็นสำคัญอยู่ในหลายประเทศ" โฮลต์ จิมิเนสกล่าว


 


เมื่อปีที่แล้ว ผลการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ เศรษฐกิจและสังคมจำนวนมาก ได้เสนอหลักฐานว่าการผลิตไบโอดีเซลเป็นความผิดพลาดมหาศาล เชื้อเพลิงชีวภาพที่ผลิตขึ้นในช่วงที่สองจะแข่งขันกับการผลิตอาหารในด้านการใช้ที่ดิน น้ำ และยิ่งลดความสมบูรณ์ของดิน


 


แม้สหภาพยุโรปสั่งทบทวนพันธะเกี่ยวกับการผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพ แต่เมื่อวันที่ 23 ม.ค. กลุ่มอียูออกมายืนยันว่าตนมีเป้าจะผลิตเอธานอลให้ได้ 10% ของเชื้อเพลิงทั้งหมดภายในปี 2020


 


นายโฮลต์ จิมีเนสเปิดเผยว่ามีบริษัทผลิตไฟฟ้ามากมายอยู่เบื้องหลังอุตสาหกรรมผลิตเชื้อเพลิงจากชีวภาพ ส่วนนายเลสเตอร์ บราวน์แถลงว่าเรื่องนี้สายเกินกว่าจะมานั่งถกเถียงกัน แต่ต้องระงับโรงงานผลิตเชื้อเพลิงเอธานอลที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างในทันที มิฉะนั้นความปั่นป่วนทางเศรษฐกิจและสังคมกำลังรอคอยอยู่ข้างหน้า


 


"เชื้อเพลิงชีวภาพจะกลายเป็นหนึ่งในโศกนาฏกรรมอันยิ่งใหญ่ในประวัติศาสตร์" เขาว่า.


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net