Skip to main content
sharethis

ทิพย์อักษร มันปาติ สัมภาษณ์/เรียบเรียง
สำนักข่าวประชาธรรม




ยุคการผลิตน้ำมันฟอสซิลระดับสูงสุด (peak oil) ผ่านพ้นไปพร้อมกับปัญหาภาวะโลกร้อนที่กำลังทวีผลกระทบให้เห็นเป็นระยะ ยุคหลังจากนี้ ทั่วโลกต่างหันมาขบคิดถึงแนวทางการหาพลังงานทดแทน หรือพลังงานทางเลือกอื่นๆ ที่จะมาช่วยกอบกู้ปัญหาสิ่งแวดล้อมโลกไปด้วยในขณะเดียวกัน

สำหรับประเทศไทย พลังงานไบโอดีเซลเป็นหนทางหนึ่งที่กำลังผลักดัน โดยส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกพืชพลังงาน โดยเฉพาะปาล์มน้ำมัน จนกระทั่งกลายเป็นพืชเศรษฐกิจกู้วิกฤติพลังงานตัวหลักไปแล้วในขณะนี้ อย่างไรก็ตาม การส่งเสริมปลูกปาล์มน้ำมันทั่วประเทศเพื่อรองรับวิกฤตพลังงานที่กำลังเกิดขึ้น ยังเป็นเรื่องท้าทายและถกเถียงในทางวิชาการว่าเป็นแนวทางที่คุ้มค่าในทางต้นทุนทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ สังคม ในระยะยาวหรือไม่ แค่ไหน อ่านบทสัมภาษณ์ กิ่งกร นรินทรกุล ณ อยุธยา จากกลุ่ม FTA WATCH เปิดมุมขบคิดหาทางไปใหม่ๆ ด้านพลังงานทางเลือกที่รักษ์โลกและมนุษยชาติ




เป้าไบโอดีเซลทดแทนน้ำมัน รุกขยายปาล์มทั่วประเทศ


เรื่องการกระจายตัวของปาล์มน้ำมันในประเทศไทยในระดับพื้นที่ภาคอีสาน กับภาคตะวันออก และภาคเหนือ ตอนนี้ไม่แน่ใจว่าขยายไปถึงไหนแล้ว เพราะกำลังอยู่ระหว่างการศึกษา แต่ว่าในภาคใต้มีการขยายไปเยอะแล้ว นับตั้งแต่มีการส่งเสริมปลูกพืชปาล์มน้ำมันตั้งแต่สมัยรัฐบาลทักษิณ ซึ่งประกาศเป็นเป้าหมายว่าจะขยายพื้นที่ปลูกปาล์มไว้ แต่เอาเข้าจริงในทางปฏิบัติยังไม่ได้ขยับไปเท่าที่ควร เพราะเกิดการปฏิวัติขึ้น ทำให้ตัวปฏิบัติการตามนโยบายชะงัก ทำให้ภาคธุรกิจวิพากษ์วิจารณ์ว่ารัฐบาลไม่ส่งเสริมปาล์มน้ำมันเพื่อพลังงานไบโอดีเซลจริง


พื้นที่ทางภาคใต้ที่ตั้งเป้าว่าจะขยายปลูกปาล์มน้ำมัน มี 2 ลักษณะใหญ่ๆ คือ 1. พื้นที่สวนยางเก่าที่ไร้ประสิทธิภาพ ต้นยางแก่แล้ว ให้น้ำยางน้อย ให้เปลี่ยนมาปลูกปาล์ม 2. พื้นที่นา รวมทั้งพื้นที่อื่นๆ ที่จะบุกเบิกใหม่ ซึ่งที่ผ่านมา ก็มีการเปลี่ยนที่นามาปลูกยางพาราอยู่แล้ว ต่อจากนี้ทิศทางการใช้ที่ดินจะเปลี่ยนจากสวนยางพารามาปลูกปาล์มน้ำมันเยอะขึ้น เพราะราคาปาล์มน้ำมันกำลังดี สูสีกับราคายางพารา


ที่ผ่านมา พื้นที่เป้าหมายปลูกปาล์มน้ำมัน เช่น ใน จ.กระบี่ และ จ.ชุมพร รัฐบาลประกาศตั้งเป้าหมายขยายพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันไว้ตั้งแต่ปี 2547-2548 ประมาณ 500,000 ไร่ นอกจากนี้ยังตั้งเป้าว่าในปี 2555 จะขยายพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันอีก 4 ล้านไร่ แต่ถ้าหากประเทศไทยต้องการใช้ไบโอดีเซล 5 (B5 หมายถึง ไบโอดีเซล 5% : ดีเซล 95%) เพื่อเป็นพลังงานทดแทน ลดการนำเข้าน้ำมันซากฟอสซิล หมายความว่าประเทศไทยจะต้องปลูกพืชน้ำมันเป็นหลักให้ได้ 5 ล้านไร่ เช่น ปาล์มน้ำมัน รวมทั้งพืชพลังงานอื่นๆ ด้วย เช่น สบู่ดำ ร่วมด้วย


มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2548 กำหนดให้ใช้น้ำมันดีเซลที่มีส่วนผสมไบโอดีเซล5%หรือ B5 ทั่วประเทศในปี 2554 และใช้น้ำมันดีเซลที่มีส่วนผสมไบโอดีเซล 10% หรือ B10 ในปี 2555 ซึ่งถ้าจะบรรลุเป้าหมายดังกล่าว ไทยจะต้องผลิตไบโอดีเซลให้ได้ 8.5 ล้านลิตรต่อวัน ส่งผลต่อเนื่องให้เกิดโอกาสด้านการลงทุนขยายพื้นที่ปลูกพืชน้ำมัน โดยเฉพาะปาล์มน้ำมันและสบู่ดำ ซึ่งเป็นพืชน้ำมันเป้าหมายที่จะมีการขยายการปลูกเพื่อป้อนโรงงานผลิตไบโอดีเซล การก่อสร้างโรงงานผลิตไบโอดีเซล รวมไปถึงธรุกิจปั๊มจำหน่ายน้ำมันดีเซลที่มีส่วนผสมของไบโอดีเซล


ที่มา : ไบโอดีเซล : พลังงานทางเลือก...ยุคน้ำมันแพง (กระแสทรรศน์ ฉบับที่ 1896, 24 สิงหาคม 2549)


แต่พื้นที่เป้าหมายที่ตั้งใจจะปลูกปาล์มน้ำมันมี 4 ล้านไร่ ดังนั้น ต้องไปเอาที่ประเทศเพื่อนบ้าน เช่น พม่า เขมร ลาว อีก 1 ล้านไร่ ถึงจะมีพืชน้ำมันพอทั้งในแง่การนำมาใช้ในการอุตสาหกรรมเพื่อการบริโภค และเพื่อการผลิตไบโอดีเซล ซึ่งในทางปฏิบัติเรื่องการส่งเสริมขยายพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมัน เข้าใจว่าขยับไปไม่มาก โดยเมื่อปี 2550 มีพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันประมาณ 2.2 - 2.9 ล้านไร่ ต่อมามีการขยายพื้นที่เพิ่มอีกประมาณ 4-5 แสนไร่ เท่านั้น


เร่งผลิตไบโอดีเซล เร่งครองตลาดโลก เร่งโลกร้อน


ตอนนี้มีแรงกระตุ้นทั่วโลกเรื่องสถานการณ์น้ำมัน ซึ่งโลกเราผ่านช่วงขีดสุดของยุคน้ำมันจากซากฟอสซิล (peak oil) ไปแล้ว กล่าวคือ ประมาณ 50-80 ปี เราจะใช้แต่สิ่งที่เจอแล้ว ไม่มีเจอใหม่ แต่หลายๆ คนก็บอกว่าแค่ 50 ปีเท่านั้น ถ้าหากเราใช้น้ำมันกันในระดับที่เป็นอยู่นี้


เพราะฉะนั้น ในขณะที่เรายังต้องใช้น้ำมันฟอสซิลอยู่ในขีดเดิม ความต้องการใช้พลังงานทดแทนก็ต้องตามมา ประมาณปี 2007-2010 ทั้งสหภาพยุโรป และสหรัฐอเมริกา ตั้งเป้าว่าจะลดการใช้พลังงานฟอสซิลมาใช้พลังงานทดแทนไบโอดีเซล 20% เอทธานอล 20% ซึ่งการตั้งเป้าดังกล่าวเป็นผลมาจากพิธีสารเกียวโตด้วย ดังนั้น ต่อไปจะมีความต้องการใช้พลังงานไบโอดีเซลอย่างมหาศาล


ขณะนี้บราซิล ตั้งตัวขึ้นมาเพื่อจะเป็นประเทศผู้ผลิตน้ำมันจากพืชพลังงานรายใหญ่ ซึ่งเขาก็ส่งเสริมอ้อยเพื่อผลิตน้ำมันเอทธานอล อยู่แล้วประมาณ 50-60% ส่วนอินโดนีเซีย ก็ตั้งเป้าว่าจะขยายพื้นที่ปลูกปาล์มอีกมหาศาลเพื่อที่จะหนุนน้ำมันโอดีเซล


ทางยุโรปและอเมริกา จะมีความต้องการใช้พลังงานจากพืชพลังงาน เพราะประเทศเหล่านี้คงผลิตเองไม่พอ ดังนั้นประเทศผู้ผลิตเอทธานอล ไบโอดีเซล รายใหญ่จึงขยับตัวกันใหญ่เพื่อที่จะแย่งชิงตลาดการค้าโลก ในขณะที่ประเทศไทยยังไม่สามารถผลิตไบโอดีเซลพอส่งขายกับเขา


อย่างไรก็ตาม สำหรับประเทศไทยมีความคิดในการหาพลังงานชดเชยเพื่อลดการนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศ ซึ่งแนวคิดหนึ่งที่คิดกันคือ การการส่งเสริมปาล์มน้ำมันเพื่อผลิตไบโอดีเซลเป็นพลังงานทดแทน ในขณะที่ประเด็นระดับสากลกำลังพูดถึงพลังงานยั่งยืน (Energy Sufficiency) และมีคำถามเกี่ยวกับพลังงานจากพืชพลังงานที่ว่า ทำให้เกิดการปลดปล่อยคาร์บอน (Carbon Emission) น้อยลงนิดเดียว เพราะในกระบวนผลิต ทั้งในการผลิตพืชพลังงานก็แบบเชิงเดี่ยว ซึ่งจะมีการใช้สารเคมีเข้มข้น โดยเฉพาะสารไนโตรเจนฟอสเฟต (N2O) และมีการวิจัยใหม่ๆ พบว่า สารพวกไนโตรเจนส่งผลต่อเรื่องของก๊าซเรือนกระจกมากกว่าที่คิดไว้


พูดกันว่าการผลิตพืชพลังงานเพื่อทำน้ำมันมาเผาให้รถวิ่ง เป็นเรื่องอาชญากรรมของมนุษยชาติ เพราะดูแล้วไม่คุ้ม ยกตัวอย่างเช่น การผลิตไบโอดีเซลอยู่ในประเทศอินโดนีเซีย มาเลเซีย และประเทศไทยก็กำลังจะทำอย่างนั้น แล้วหวังจะเอาน้ำมันไบโอดีเซลขนลงเรือส่งไปขายให้ฝั่งยุโรป และอเมริกา แต่ในการขนส่งไบโอดีเซลไปขายทางเรือก็ยังใช้น้ำมันฟอสซิลอยู่ดี (Fossil Fuel) นั่นคือเพิ่มปริมาณการขนส่ง และเพิ่มปริมาณการค้า ในขณะเดียวกันมันก็ทำลายน้ำมันที่เราพยายามจะประหยัดกันอยู่ดี ซึ่งโดยรวมก็เห็นว่ามันไม่คุ้ม


"ส่วนตัวไม่ค้านการปลูกพืชพลังงาน เพราะเข้าใจว่าประเทศต้องลดการพึ่งพาน้ำมันภายนอกที่ปัจจุบันนำเข้าพลังงานน้ำมันกว่า 85% ซึ่งในภาวะเช่นนี้ก็ถือว่าเป็นความไม่มั่นคงทางพลังงาน แต่อย่างไรก็ตามไม่ควรคิดเรื่องการส่งขายพลังงานเพราะไม่คุ้ม ควรหันมาเน้นการจัดการพลังงานภายในประเทศให้ดี มากกว่าเน้นการส่งขาย"


พลังงานหมุนเวียน พลังงานที่ถูกลืม?


พลังงานหมุนเวียนตอนนี้ยังพูดกันน้อยมาก คิดแต่จะหาตัววัตถุดิบอุดหนุนการผลิตพลังงาน แบบว่าในบ้านตัวเองหาวัตถุดิบไม่ได้ก็จะไปหาที่บ้านคนอื่น หรือไปหาหนทางเลือกที่บางทีมันจะยิ่งทำลายตัวเองหนักขึ้นไปอีก เช่น การขยายพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันโดยไม่จัดสมดุลเรื่องการใช้ที่ดินให้ดี นอกจากเรื่องความยั่งยืนทางพลังงานจะไม่คุ้มค่าแล้ว ในทางความมั่นคงพลังงานก็เป็นทิศทางที่พลาด เพราะไม่ได้คิดหาแนวทางประหยัดเลย


แนวคิดในการจัดการพลังงานแบบหาวัตถุดิบมาสนับสนุนการผลิตพลังงาน เช่น ถ่านหิน นิวเคลียร์ ปลูกพืชพลังงาน เป็นการจัดการแบบเน้นความต้องการขาย (supply) ในขณะที่พลังงานเหล่านี้ยังมีคำถามเยอะ ยังไม่ได้คุยกันให้รู้เรื่อง ไม่ได้ถกเถียงให้มากพอ อ้างว่าถ่านหิน พลังงานนิวเคลียร์ หรือพืชพลังงาน เป็นพลังงานสะอาด และเป็นทางเลือกเดียวของมนุษยชาติ แบบนี้เป็นการปิดประตูตีแมวเกินไป


ดังนั้น เราต้องคุยกันให้หนักขึ้นในเรื่องการผลิตพลังงานหมุนเวียนจากธรรมชาติ น้ำ ลม แสงอาทิตย์ อย่ามัวแต่อ้างว่าการผลิตพลังงานตรงนี้มีต้นทุนต่อหน่วยแพง ทำแล้วไม่คุ้ม เพราะตราบใดที่ไม่มีการลงทุนพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตพลังงานจากธรรมชาติอย่างจริงจัง ก็ไม่รู้ว่าเมื่อไหร่มันจะคุ้ม


สมดุลสิ่งแวดล้อมโลกระยะยาว : ป้องฐานอาหารให้มั่นยืน เน้นพึ่งพาพลังงานภายใน


เรื่องความมั่นคงทางอาหารเป็นเรื่องใหญ่เรื่องยาว ขณะนี้ไม่มีการเอาต้นทุนทางสังคม ต้นทุนทางสิ่งแวดล้อม ต้นทุนทางสุขภาพ ไปบวกไว้กับการผลิตพลังงานจากพืชน้ำมัน นิวเคลียร์ หรือถ่านหิน จึงทำให้ต้นทุนของชุมชนถูกทำลายไป ยกตัวอย่างเช่น การส่งเสริมปลูกพืชพลังงานโดยไม่มีจัดการทรัพยากรที่ดินให้สมดุล ในระยะยาวจะมีปัญหาด้านฐานทรัพยากร ฉะนั้น ต้องคิดถึงการสร้างความมั่นคงทางอาหารให้มากขึ้น ไม่ใช่คิดแค่ว่ามีที่ดินตรงไหนก็จะปลูกพืชพลังงานน้ำมันตรงนั้น


"เรื่องที่น่ากลัวอีกอย่างของปาล์มน้ำมัน คือ ปาล์มน้ำมันเป็นพืชที่ต้องปลูกในที่ชื้น อาศัยน้ำมาก แล้วพื้นที่ที่มีน้ำดีๆ ในภาคตะวันออกก็เป็นพื้นที่ที่ใช้ผลิตอาหารและผลไม้ แหล่งน้ำดีๆ ของภาคอีสานก็อยู่ตามริมหนองคลองบึง บุ่งทาม ซึ่งก็เป็นแหล่งอาหาร เพราะฉะนั้น ถ้าหากว่าไม่มีการควบคุมการใช้พื้นที่เพื่อการปลูกปาล์มน้ำมัน มันก็จะไปทำลายฐานทรัพยากรอาหารของชุมชน"


ส่วนความคิดที่เป็นทางเลือกในการปลูกปาล์มน้ำมันอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่ฟังมาจากหลายคน ก็เห็นด้วยกับหลักคิด เพราะเป็นหลักคิดที่ดี คือ ลดการพึ่งพาคนอื่น แต่พึ่งตนเอง เพราะฉะนั้นในการจัดการเพื่อให้เกิดพลังงานทางเลือก ทั้งในแง่พลังงานหมุนเวียน ชีวมวล และพลังงานชดเชย และทดแทน อย่างกรณีพืชน้ำมันถ้าหากจัดการในระดับชุมชนท้องถิ่น ปลูกพืชน้ำมันเสริมในไร่สวนของชาวบ้าน เพื่อนำมาใช้ผลิตพลังงานน้ำมัน หรือก๊าซหุงต้ม เป็นปัจจัยในการผลิตของชุมชน มันน่าจะพออยู่ได้ ซึ่งในการนี้ จำเป็นจะต้องพัฒนาเทคโนโลยีให้สามารถผลิตพลังงานในระดับเล็กได้


ขณะนี้เทคโนโลยีด้านพลังงานเป็นสิ่งที่รองรับการผลิตขนาดใหญ่ เช่น ผลิตน้ำมันระดับร้อยลิตร ยังไปไม่ถึงการส่งเสริมเทคโนโลยีขนาดเล็กรองรับการผลิตพลังงานน้ำมัน 20-30 ลิตร เพื่อให้คนจัดการและพึ่งพาตัวเองได้ ทั้งด้านการจัดการ การหาปัจจัยสนับสนุนการผลิตในชุมชนหรือทำเป็นสหกรณ์ ไม่ต้องไปคิดขายให้คนอื่น ขายกันในชุมชน เพื่อลดค่าใช้จ่าย ซึ่งแนวทางแบบนี้ควรจะนำมาจัดการภายในประเทศแล้วสร้างความสมดุล น่าจะช่วยลดการพึ่งพาพลังงานภายนอกได้


พืชพลังงานไม่ว่าจะเป็นปาล์มน้ำมัน ยางพารา ข้าวโพด หรือ มันสำปะหลัง ถึงแม้จะดูเป็นพืชที่มีอนาคตทางการตลาด แต่พอชาวบ้านทำไปได้สักระยะหนึ่ง วงจรการตลาดผูกขาดก็ยังเป็นเหมือนเดิม กล่าวคือ ผู้ผลิตก็ถูกกดราคา ได้ราคาต่ำ ในขณะที่ผู้ค้า ซึ่งเอาวัตถุดิบไปแปรรูปก็จะเป็นผู้ได้ประโยชน์จากโอกาสทางการตลาด หรือส่วนแบ่งทางการตลาด (margin) ซึ่งก็หมายความว่าเกษตรกรก็อยู่ไม่ได้ อยู่ไม่ได้ก็ขายที่ สภาพการณ์ก็จะกลายเป็นว่าที่ดินก็จะถูกทุนฮุบมากขึ้น กลายเป็นผู้ประกอบการรายใหญ่ที่เป็นเจ้าของแปลงเกษตรขนาดใหญ่ เกษตรกรรายย่อยหายไป เพราะไม่มีความสามารถในการแย่งชิงตลาด หรือแย่งชิงผลประโยชน์จากการขาย


หากเกษตรกรรายย่อยอยู่ไม่ได้แล้ว ในกรณีของประเทศไทยก็จะเข้าไปสู่ยุคอุตสาหกรรมการเกษตร ซึ่งเข้าใจว่ารัฐบาลเริ่มรู้ตัวว่าเอาดีทางอื่นไม่ได้ ไม่สามารถเป็นประเทศอุตสาหกรรมเหมือนอย่างที่ฝันว่าอยากเป็นนิกส์เหมือนเกาหลีใต้ เพราะเราไม่ได้พัฒนาเทคโนโลยีขึ้นมาเอง ไม่ได้พัฒนาฝีมือแรงงานเลย ไม่สามารถสร้างยี่ห้อรถยนต์ หรือเครื่องมืออิเล็คทรอนิคส์เอง เป็นการรับจ้างทำ ประกอบชิ้นส่วนเท่านั้น เพราะแม้ว่าประเทศเราจะสามารถประกอบรถยนต์เป็นคันๆ แต่ก็ไม่ใช่เทคโนโลยีตัวเอง มันก็ไปไม่รอด


ต้องมาคิดให้หนักขึ้นว่าจะรักษาฐานเกษตรกรรายย่อยเอาไว้ได้อย่างไร ไม่ว่าเกษตรกรรมราย่อยนั้นจะปลูกอะไรก็ตาม ปลูกพืชพลังงานปาล์มน้ำมัน ปลูกยางพารา หรือปลูกพืชอาหาร มันถึงจะมีขาที่มั่นคง ถ้าขาของเราไปผูกอยู่กับระบบผูกขาด และระบบผูกขาดก็หวังแต่เรื่องการค้าและมุ่งเน้นส่งออก ก็จะลืมเรื่องความมั่นคงทางอาหาร ลืมเรื่องการจ้างแรงงาน การกระจายรายได้ และสิ่งที่ลืมมาทั้งหมดนั้นคือความสำคัญของประเทศที่เข้มแข็ง ซึ่งต้องมีการจ้างงานที่กระจาย มีการกระจายรายได้ รวมทั้งมีฐานความมั่นคงทางอาหาร พึ่งพาตัวเองได้ในเรื่องของอาหาร


"ต้องปกป้องภาคเกษตรกรรมรายย่อยเอาไว้ให้ได้ เพราะภาคเกษตรกรรมคือภาคที่มีความหลากหลาย และมีการจ้างงานสูง ถ้ารักษาไว้ไม่ได้ก็จบ ภาคสังคมต้องคิดเรื่องนี้จริงจัง ทำให้เป็นให้เป็นวาระหลักของสังคม ไม่ใช่พูดถึงภาคเกษตรทีไร กลายเป็นว่าวาระหลักคือปลูกพืชเพื่อขาย แต่ไม่ได้พูดถึงความมั่นคง ความมั่งคั่ง และความหลากหลายของทรัพยากรอาหาร ดังนั้น สิ่งสำคัญมากคือการทำให้คนในสังคมเห็นว่าเรื่องนี้เป็นวิกฤติ เพราะถึงแม้จะมั่นคงทางพลังงานและเศรษฐกิจ แต่ถ้าไม่มั่นคงเรื่องความหลากหลายของอาหารก็ตาย"

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net