Skip to main content
sharethis

4 มีนาคม 2551 คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตยในพม่า (กรพ.) เรียกร้องให้รัฐบาลทหารพม่าตอบข้อสงสัยของชาวโลกเรื่องความน่าเชื่อถือในการลงประชามติรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญที่จะมีขึ้นในเดือนพฤษภาคมที่จะถึง


 


กรพ. ระบุในแถลงการณ์ที่ส่งถึงสื่อและองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศว่า เมื่อสภาเพื่อสันติภาพและการพัฒนาแห่งรัฐหรือ The State Peace and Development Council (SPDC) กำลังดำเนินการตามแผนแม่บทสู่ประชาธิปไตย โดยรัฐบาลทหารพม่าจะจัดลงประชามติในเดือนพฤษภาคม 2551 และจัดการเลือกตั้งทั่วไปในปี 2553 คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตยในพม่า (กรพ.) มีข้อสังเกตบางประการเกี่ยวกับความน่าเชื่อถือของกระบวนการดังกล่าว


ไม่ว่าจะเป็นการร่างรัฐธรรมนูญโดยปราศจากการมีส่วนร่วมของพรรคการเมืองฝ่ายตรงข้ามอย่างพรรค National League for Democracy (NLD) และพรรคการเมืองของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ อีกทั้งการประกาศห้ามนางออง ซาน ซูจีลงสมัครรับเลือกตั้งในปี 2253 ด้วยเหตุผลบางประการ ทำให้รัฐบาลทหารพม่าต้องตอบคำถามประชาคมโลกในประเด็นต่างๆตามมา


 


การประกาศใช้กฎหมายล่าสุดเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2551 กำหนดบทลงโทษประชาชนที่ต่อต้านการลงประชามตินั้นนับว่าผิดจารีตของสังคมประชาธิปไตยที่ให้ความสำคัญกับสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานอย่างยิ่ง กฎหมายล่าสุดของรัฐบาลทหารพม่าประกาศว่า บุคคลใดที่ออกแถลงการณ์หรือใบปลิวต่อต้านการลงประชามติจะต้องถูกจำคุกสามปีและปรับเป็นจำนวนเงิน 100,000 จั๊ต หรือประมาณ 77 เหรียญสหรัฐ ทั้งที่โดยหลักการขั้นพื้นฐานของสังคมประชาธิปไตยนั้น เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นจะนำมาซึ่งกระบวนการทางการเมืองที่โปร่งใสยุติธรรม อีกทั้งการห้ามพระสงฆ์และแม่ชีไม่ให้มีส่วนร่วมในการลงประชามตินั้นก็เป็นสิ่งที่นานาชาติยอมรับไม่ได้


 


การที่ภาคสังคมส่วนต่างๆไม่มีส่วนร่วมในการร่างรัฐธรรมนูญแม้แต่น้อย ทำให้นานาชาติเกิดคำถามขึ้นว่าการลงประชามติในครั้งนี้จะมีส่วนพัฒนาประชาธิปไตยในพม่าจริงหรือไม่ ในสถานการณ์ที่อาจจะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของพม่าและอาเซียน คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตยในพม่ามีข้อสังเกตดังต่อไปนี้


 


            1. การลงประชามติจะมีความบริสุทธิยุติธรรมแท้จริงได้อย่างไร เมื่อประชาชนไม่ได้รับอนุญาตให้แสดงความคิดเห็นใดๆ และเนื้อหาในรัฐธรรมนูญนั้นมาจากผู้มีอำนาจเพียงกลุ่มเดียวในประเทศ


            2. ประชาชนจะสามารถเชื่อถือการลงประชามตินี้ได้อย่างไร เมื่อไม่มีองค์กรอิสระที่เป็นกลางมาจัดการผลของการลงประชามติ ก่อนจัดการลงประชามติ รัฐบาลทหารพม่าต้องอนุญาตให้มีการก่อตั้งองค์กรอิสระและทำให้ประชาชนมั่นใจในความเป็นกลางขององค์กรดังกล่าว


            3. การร่างรัฐธรรมนูญจำเป็นต้องมีส่วนร่วมจากหลายฝ่ายไม่ว่าจะเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านรัฐธรรมนูญ, นักวิชาการ, พรรคการเมืองฝ่ายตรงข้าม และกลุ่มชาติพันธุ์ อีกทั้งประชาชนควรจะได้พิจารณาข้อดีข้อเสียของร่างรัฐธรรมนูญก่อนตัดสินใจลงประชามติ


            4. หากรัฐบาลทหารพม่ามีความจริงใจในการสร้างบรรยากาศประชาธิปไตย ก่อนการลงประชามติ รัฐบาลทหารพม่าจะต้องไม่สร้างบรรยากาศที่ทำให้เกิดความกลัวเพื่อบังคับหรือกดดันให้ประชาชนลงมติรับร่างรัฐธรรมนูญ


            5. พระสงฆ์และแม่ชีล้วนแล้วแต่เป็นประชาชนของสหภาพพม่า ควรได้รับสิทธิในการตัดสินใจครั้งสำคัญที่จะส่งผลกระทบถึงชีวิตของพวกเขาโดยตรง


            6. ในวันลงประชามติ สื่อและผู้สังเกตการณ์จากนานาชาติควรได้รับอนุญาตให้เข้าไปสังเกตการณ์การลงประชามติอย่างเสรี


 


ความพยายามที่จะบังคับใช้รัฐธรรมนูญโดยไม่ฟังเสียงแท้จริงของประชาชนมีแต่จะสร้างปัญหาให้พม่าในระยะยาว รัฐบาลทหารพม่าควรมีความกล้าหาญที่จะทำให้การลงประชามติในครั้งนี้มีความยุติธรรม, ครอบคลุมทุกกลุ่มในสังคม และสามารถตรวจสอบได้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net