Skip to main content
sharethis

ภควดี วีระภาสพงษ์


 


 


"ผู้หญิงคือปรปักษ์ของการกดขี่ ผู้หญิงนี่แหละที่ต่อสู้อย่างเข้มข้นที่สุดเสมอมา"


 


-ปรามูเดีย อนันตา ตูร์


นักเขียนชาวอินโดนีเซีย


 


วันสตรีสากลมีความเกี่ยวข้องอย่างลึกซึ้งกับการต่อสู้ทางชนชั้น หากชนชั้นแรงงานคือชนชั้นเบื้องล่างของสังคม ผู้หญิงก็คือเบื้องล่างแห่งเบื้องล่าง ในโลกยุคสมัยใหม่ ผู้หญิงถูกกดขี่จากนายจ้างและตกเป็นเบี้ยล่างของผู้ชาย เนื่องจากผู้หญิงอยู่ห่างไกลจากศูนย์อำนาจมากที่สุด ผู้หญิงจึงตระหนักถึงความอยุติธรรมได้อย่างรวดเร็ว และเป็นแนวหน้าที่ต่อสู้กับความอยุติธรรมอย่างเข้มข้นที่สุดเสมอมา


 


กำเนิดวันสตรีสากล


หลายคนคงลืมเลือนไปแล้วหรือไม่ทราบมาก่อนว่า ในยุคศตวรรษที่ 19 สหรัฐอเมริกาเคยเป็นประเทศที่มีขบวนการแรงงานก้าวหน้าที่สุดและเข้มแข็งที่สุดแห่งหนึ่งในโลก ผู้นำแรงงานที่สำคัญที่สุดคนหนึ่งในสหรัฐอเมริกาคือผู้หญิงเชื้อชาติไอริชที่มีชื่อเรียกขานกันว่า คุณแม่โจนส์ คุณแม่โจนส์เดินทางไปทั่วทั้งสหรัฐอเมริกาอันกว้างใหญ่ เพื่อปลุกจิตสำนึกของชนชั้นแรงงานให้ลุกขึ้นต่อสู้และเรียกร้องสิทธิอันพึงมีพึงได้ของตน คุณแม่โจนส์ยังมีบทบาทสำคัญในการก่อตั้งองค์กรแรงงานอุตสาหกรรมแห่งโลก (IWW) ที่ผนึกผสานชนชั้นแรงงานทั่วโลกเข้าด้วยกัน


 


การต่อสู้เพื่อเรียกร้องสิทธิของแรงงานเกิดขึ้นหลายครั้งในสหรัฐฯ สิทธิประโยชน์ของคนทำงาน ไม่ว่าจะเป็นเวลาทำงาน 8 ชั่วโมง การลาคลอดบุตรโดยไม่ต้องลาออกจากงาน ค่าแรงที่ดีขึ้น ฯลฯ ล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่ขบวนการแรงงานต่อสู้ฝ่าฟันจนได้มา ท่ามกลางการต่อสู้อันยาวนานและนับครั้งไม่ถ้วนนี้ มีการประท้วงครั้งหนึ่งเกิดขึ้นในวันที่ 8 มีนาคม ค.ศ. 1857 ที่กรุงนิวยอร์กซิตี การประท้วงครั้งนี้มีลักษณะพิเศษ เพราะแรงงานที่ร่วมประท้วงเกือบทั้งหมดเป็นแรงงานผู้หญิงในอุตสาหกรรมสิ่งทอและตัดเย็บเสื้อผ้า มูลเหตุแห่งการประท้วงก็คือสภาพการทำงานที่เลวร้ายและค่าจ้างที่น้อยนิดจนไม่พอยังชีพ เหตุการณ์ครั้งนี้จบลงที่ผู้ประท้วงถูกตำรวจบุกโจมตีและแยกสลายกำลัง แต่กลุ่มแรงงานสตรีก็ยังก่อตั้งสหภาพแรงงานแห่งแรกของตนขึ้นในอีกสองปีถัดมา


 


นับแต่นั้นมา วันที่ 8 มีนาคมจึงเปรียบเสมือนวันสัญลักษณ์ของการต่อสู้ในหมู่แรงงานสตรี มีการเดินขบวนประท้วงในวันที่ 8 มีนาคมอีกหลายครั้ง แต่ครั้งที่โดดเด่นที่สุดคือใน ค.ศ. 1908 เมื่อแรงงานหญิง 15,000 คน เดินขบวนในเมืองนิวยอร์กซิตี เรียกร้องเวลาทำงานที่สั้นลง ค่าแรงที่ดีขึ้น รวมไปถึงสิทธิในการลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง เหตุการณ์ครั้งนี้ได้รับการขนานนามว่า "การกบฏครั้งยิ่งใหญ่" ใน ค.ศ. 1910 องค์กรสากลที่สอง ซึ่งเป็นองค์กรระดับโลกของผู้นิยมในลัทธิมาร์กซิสต์ จัดการประชุมแรงงานสตรีนานาชาติครั้งแรกขึ้นที่กรุงโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก และประกาศให้วันที่ 8 มีนาคมของทุกปีเป็น "วันสตรีสากล"


 


นอกจากการต่อสู้เพื่อสิทธิของแรงงานแล้ว การต่อสู้ของผู้หญิงยังขยายไปสู่ประเด็นอื่น ๆ เช่น ในวันที่ 8 มีนาคม ค.ศ. 1913 ผู้หญิงจำนวนมากทั่วทั้งยุโรปออกมารณรงค์เรียกร้องสันติภาพ ราวกับมีลางสังหรณ์ว่า สงครามโลกครั้งที่หนึ่งจะระเบิดขึ้นในปีถัดมา วันสตรีสากลเริ่มกลายเป็นสัญลักษณ์ของการต่อสู้เพื่อสิทธิของผู้หญิงโดยทั่วไป ไม่ได้จำกัดเฉพาะกลุ่มแรงงานสตรีเหมือนในอดีต จนกระทั่งใน ค.ศ. 1975 สหประชาชาติจึงเข้ามารับรองให้วันที่ 8 มีนาคมเป็นวันสตรีสากลอย่างเป็นทางการ


 


ในปัจจุบัน วันสตรีสากลเป็นวันหยุดราชการในหลายประเทศ อาทิเช่น รัสเซีย บัลแกเรีย แคเมอรูน จีน คิวบา อิตาลี มองโกเลีย เวียดนาม ฯลฯ ในประเทศอินเดีย แม้วันสตรีสากลไม่ใช่วันหยุด แต่ก็มีการเฉลิมฉลองกันอย่างยิ่งใหญ่


 


 


จุดเริ่มต้นของการปฏิวัติครั้งยิ่งใหญ่มักมาจากผู้หญิง
มีเหตุการณ์พลิกฟ้าคว่ำแผ่นดินหลายครั้งในประวัติศาสตร์โลกที่ผู้หญิงเป็นคนจุดชนวนให้ ในสมัยที่สหรัฐอเมริกายังเป็นอาณานิคมของอังกฤษ บริษัท บริติชอีสต์อินเดีย ผูกขาดการนำใบชามาขายในอเมริกา กลุ่มแม่บ้านชาวอเมริกันไม่พอใจกับการผูกขาด พวกเธอจึงคว่ำบาตรไม่ซื้อสินค้าจากบริษัทอังกฤษและหันไปซื้อใบชาจากชาวอเมริกันที่ลักลอบนำเข้ามาแทน ถึงขนาดทำให้บริษัทบริติชอีสต์อินเดียประสบภาวะขาดทุน การประท้วงสำแดงพลังของกลุ่มผู้หญิงชาวอเมริกันครั้งนี้ คือชนวนที่นำไปสู่การประกาศเอกราชของชาวอเมริกันและก่อตั้งประเทศสหรัฐอเมริกาขึ้นมาในที่สุด


 


วันที่ 1 ธันวาคม ค.ศ. 1955 โรซา ปาร์กส์ ช่างตัดเย็บสตรีผิวดำในเมืองมอนต์โกเมอรี มลรัฐแอละแบมา เธอปฏิเสธไม่ยอมลุกจากที่นั่งในรถประจำทาง ในยุคที่คนผิวดำยังเป็นพลเมืองชั้นสองในสหรัฐอเมริกา ที่นั่งของรถประจำทางจะแบ่งออกเป็นส่วนของคนขาวกับคนดำ แต่หากที่นั่งส่วนของคนขาวเต็ม คนขับรถมักออกคำสั่งให้คนผิวดำลุกขึ้นและให้ที่นั่งแก่คนขาว ทว่าโรซา ปาร์กส์ ไม่ยอมลุกขึ้น ด้วยเหตุผลว่า "ฉันอยากรู้ให้แน่ชัดเสียทีว่า ฉันมีสิทธิอะไรบ้างในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง...."


 


โรซา ปาร์กส์ถูกตำรวจจับและปรับด้วยข้อหาก่อความไม่สงบ แต่คดีของเธอกลายเป็นที่สนใจและนำไปสู่การเคลื่อนไหวของกลุ่มสิทธิสตรี กลุ่มศาสนา กลุ่มสิทธิของคนผิวดำ กลุ่มสิทธิมนุษยชน ฯลฯ นำไปสู่การก่อตั้งขบวนการเคลื่อนไหวด้านสิทธิพลเมืองที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของสหรัฐอเมริกา จนทำให้การแบ่งแยกสีผิวในสหรัฐอเมริกาถึงกาลอวสานในเชิงนิตินัย


 


ในช่วงที่อาร์เจนตินาล่มสลายทางเศรษฐกิจใน ค.ศ. 2001 ขณะที่โรงงานหลายแห่งทยอยปิดตัวและมีคนตกงานในอาร์เจนตินาเกือบครึ่งประเทศ ช่างตัดเย็บสตรีในโรงงานเสื้อผ้าสำเร็จรูปบรุกแมน เซเลีย มาร์ติเนซและเพื่อนคนงานสตรีอีกหลายคน พวกเธอไม่ยอมออกจากโรงงานไปทนกับความหนาวเย็นข้างนอก คนงานตัดสินใจยึดโรงงานและดำเนินการผลิตต่อไป คนงานสตรีแห่งบรุกแมนช่วยจุดประกายให้เกิดขบวนการกอบกู้สถานประกอบการโดยคนงาน ทั้งในประเทศอาร์เจนตินา อุรุกวัย เวเนซุเอลา ฯลฯ คนงานเหล่านี้ทำหน้าที่ผลิต บริหาร ขาย อย่างเท่าเทียมโดยไม่มีเจ้านาย


 


สิทธิของผู้หญิงไม่ได้มาจากผู้ชาย


ผู้หญิงไม่ได้ต่อสู้เพียงเพื่อตัวเอง แต่ต่อสู้เพื่อคนอื่นและประเด็นอื่นที่เป็นเรื่องของสังคมในวงกว้าง ผู้หญิงไม่ได้ต่อสู้เพียงเพื่อให้ตัวเองเหมือนผู้ชาย แต่ต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมและความเป็นตัวของตัวเอง


 


ในขบวนการซาปาติสตา ซึ่งเป็นขบวนการปกครองตนเองของชาวพื้นเมืองในเม็กซิโก ผู้หญิงชาวพื้นเมืองในขบวนการนี้ทำหน้าที่ทั้งนักรบและนักปกครอง ชาวพื้นเมืองผู้หญิงซาปาติสตาคนหนึ่งกล่าวไว้ว่า "ความเท่าเทียมไม่ใช่สิ่งที่ประกาศิตมาจากเบื้องบน เราได้มันมาจากการต่อสู้" ผู้หญิงชาวซาปาติสตายังบอกกับผู้ชายด้วยว่า "พวกนายจะชอบหรือไม่ก็ตาม แต่ตอนนี้เราจะเปลี่ยนแปลงทุกอย่างด้วยตัวเอง....นั่นคือเหตุผลที่ในรายการข้อเรียกร้องที่เรายื่นต่อรัฐบาล ไม่มีข้อเรียกร้องที่เอ่ยถึงเรื่องเพศเลย" เพราะ "เราจะไม่อ้อนวอนรัฐบาลให้มอบเสรีภาพแก่เรา เราจะไม่ขอร้องพวกนายผู้ชายหน้าโง่ด้วย เราจะรับประกันเสรีภาพของเราด้วยตัวเราเอง เสรีภาพ ความนับถือ และศักดิ์ศรีของเราในฐานะผู้หญิงและในฐานะมนุษย์"


 


ความเท่าเทียมทางสังคมไม่ใช่สิ่งที่มอบลงมาจากเบื้องบนฉันใด ความเท่าเทียมระหว่างเพศก็ไม่ใช่สิ่งที่ผู้ชายมอบให้ผู้หญิงฉันนั้น ความเท่าเทียมคือสิ่งที่เราต้องต่อสู้เพื่อให้ได้มันมา และผู้หญิงมักเป็นกลุ่มคนที่ต่อสู้ในวิถีทางที่ถึงรากถึงโคนที่สุด


 


…………………………………………


 


ที่มา : จุลสารเสมอภาค ฉบับที่ 1 มีนาคม - เมษายน 2551 (ดาวน์โหลดอ่านฉบับเต็มได้ที่นี่)


 


 


 



 


 


 


 







 


ขอเชิญร่วมฟังเสวนาในหัวข้อ "ประวัติศาสตร์วันสตรีสากล และการต่อสู้ของผู้ใช้แรงงานทั่วโลก"


 


8 มีนาคม วันสตรีสากล


ณ ศูนย์สตรีศึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เวลา 13.00-16.30 .



เวลา 13.00-14.30 .       


"ประวัติศาสตร์วันสตรีสากล และการต่อสู้ของผู้ใช้แรงงานทั่วโลก


 


วิทยากร


คุณภควดี วีรภาสพงษ์


อาจารย์วรวิทย์ เจริญเลิศ


อาจารย์สมเกียรติ ตั้งนะโม


 


ดำเนินรายการโดย


คุณสืบสกุล กิจจนุกร


 


เวลา 14.30-16.30           


"การต่อสู้ของผู้ใช้แรงงานและรัฐไทยยุคโลกาภิวัฒน์"


 


วิทยากร


ตัวแทนแรงงานข้ามชาติ


ตัวแทนแรงงานนอกระบบ


ตัวแทนแรงงานนิคมลำพูน


คุณสุชาติ ตระกูลหูทิพย์


อาจารย์นงเยาว์ เนาวรัตน์


 


ดำเนินรายการโดย


คุณรัชนี นิลจันทร์


 


จัดโดย


กลุ่มประชาธิปไตยเพื่อรัฐสวัสดิการ


และเครือข่ายแรงงานภาคเหนือ


 


 


 


เอกสารประกอบ

จุลสารเสมอภาค ฉบับที่ 1 มีนาคม - เมษายน 2551 (ดาวน์โหลดได้ที่นี่)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net