Skip to main content
sharethis

วานนี้ (6 มี.ค.) เวลา 18.00น. สมาชิกสหภาพแรงงานไทยอินดัสเตรียลแก๊ส ประมาณ 60 คนได้เดินทางมาชุมนุมกันบริเวณข้างป้ายรถเมล์ หน้าอาคารบางนาทาวเวอร์ ถนนบางนา-ตราด ก.ม.6.5 ต.บางแก้ว อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ เพื่อเรียกร้องให้มีการเจรจาระหว่างสหภาพฯ กับนายจ้าง คือ บ.ไทยอินดัสเตรียลแก๊ส จำกัด (มหาชน) (ทีไอจี) ซึ่งมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่ ชั้น 15 ของอาคารบางนาทาวเวอร์ ในกรณีที่มีการเลิกจ้างพนักงานเหมาช่วงจำนวน 9 คน


 


มีการร้องเพลงระหว่างการชุมนุม โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจจาก สภ.อ.บางพลี ประมาณ 7 นาย คอยดูแลความเรียบร้อยและการจราจรอยู่ในบริเวณดังกล่าว ต่อมา เวลาประมาณ 18.40 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ขอความร่วมมือให้กลุ่มผู้ชุมนุมย้ายที่ชุมนุมถัดไปทางด้านซ้ายของทางออกอาคาร โดยให้เหตุผลว่า กีดขวางทางเท้า อย่างไรก็ตาม ฉัตรชัย ไพยเสน เลขาธิการสหภาพฯ ได้ต่อรองขออยู่ที่บริเวณเดิม โดยแบ่งที่สำหรับทางเดินเท้าไว้ ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจอนุญาต ผู้ชุมนุมจึงช่วยกันย้ายป้ายและจัดที่นั่งใหม่ ต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจได้นำแผงเหล็กกั้นทางเดินมาตั้งไว้ ล่าสุด เวลาประมาณ 22.00น. ผู้ชุมนุมยังรวมตัวกันอยู่ที่บริเวณดังกล่าว  


 



 

 


ฉัตรชัย ไพยเสน เลขาธิการสหภาพฯ เล่าว่า เมื่อวันที่ 27 ก.พ. 51 นายจ้างได้เรียกลูกจ้าง 19 คน ไปพบและบอกให้เปลี่ยนสัญญาจ้างไปเป็นสัญญาจ้างเหมากับบริษัทเอสสตรีมคอเปอร์เรชั่น ถ้าไม่เปลี่ยนจะถูกเลิกจ้าง


 


"ลูกจ้าง 19 คนซึ่งสมัครเป็นลูกจ้างของทีไอจี และเข้าทดลองงานตั้งแต่ต้นปี 49 แต่เมื่อผ่านทดลองงานแล้ว กลับไม่ได้รับบรรจุเป็นพนักงานประจำ ต้องต่อทดลองงานออกไปอีกจนครบปี และเปลี่ยนโอนถ่าย โดยถูกให้เซ็นสัญญาเข้าเป็นพนักงานเหมาช่วงของบริษัทอเดคโก้ คราวนี้ จะเซ็นรับเหมาอีกเจ้าหนึ่งโดยอ้างว่า รับเหมาเก่าหมดสัญญา"


 


อย่างไรก็ตาม มีพนักงาน 9 คนซึ่งไม่ยอมเซ็นสัญญาใหม่ ต่อมาจึงถูกเลิกจ้างเมื่อวันที 1 มี.ค.ที่ผ่านมา


 


ทั้งนี้ เดิมใน 19 คนเป็นสมาชิกสหภาพ 15 คน ต่อมาพอถูกกดดันมากๆ เข้า ก็ถอนเหลือ 12 คนจนวันสุดท้ายเหลือ 9 คนที่ยืนยันว่าเป็นสมาชิก อย่างไรก็ตาม 6 คนยังไม่ได้ลาออก จึงยังมีชื่อเป็นสมาชิกอยู่


 


ฉัตรชัย เล่าว่า เมื่อวาน (5 มี.ค.) มีการนัดพบ โดยทั้ง 9 คน ได้ตั้งตัวแทน 2 คนและมีเขาซึ่งเป็นตัวแทนของสหภาพ แต่นายจ้างบอกว่า ต้องการคุยกับ 9 คนเท่านั้น และบอกด้วยว่าไม่มีการเจรจา แต่มีข้อเสนออย่างเดียวเท่านั้น คือให้กลับเข้ามาทำงานโดยเปลี่ยนสัญญาจ้างไปซะ และพยายามกันสหภาพออกจากคนเหล่านี้ เพราะเห็นว่าพนักงานเหมาจ้างไม่มีสิทธิเป็นสมาชิกสหภาพ


 


ฉัตรชัย เล่าว่า ที่ผ่านมา เคยยื่นขอแก้ไขข้อบังคับของสหภาพ เพื่อให้พนักงานจ้างเหมาช่วงมีสิทธิเป็นสมาชิกสหภาพได้ แต่ผ่านไป 165 วัน จึงได้คำตอบจากเจ้าหน้าที่รัฐให้ไปประชุมใหม่แล้วแก้ไขข้อบังคับ ซึ่งไม่แน่ใจว่า ต้องรออีก 165 วัน หรือรออีกเป็นปี และก็ไม่รู้ว่าจะผ่านรึเปล่า


 


"ที่ผ่านมา เราพยายามผลักดันว่า เขามีสิทธิเป็นสมาชิก นี่เป็นการขัดขวางโดยความร่วมมือระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐ กับบริษัท แต่เราก็ยังยืนยันว่าเขาเป็นได้ และเราก็จะช่วยเขา เราพยายามแก้ไขข้อบังคับ แต่เจ้าหน้าที่รัฐขัดขวางเรา ตอนนี้ความสูญเสียเกิดขึ้นแล้ว"


 


"ตามสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ เขาควรมีสิทธิเสรีภาพที่จะสมาคมกับใครก็ได้ ทำไมจะต้องกีดกัน แม้แต่นายจ้างยังมีสิทธิจะรับใครก็ได้ ทำไมเขาจะต้องถูกจำกัดสิทธิ แม้แต่มาตรา 5 (พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน) ก็เขียนว่า ไม่ว่าจะเหมาช่วงไปกี่ช่วงก็ตาม แต่นายจ้างหลักถือว่าเป็นนายจ้างของลูกจ้างด้วย แสดงว่า คนเหล่านี้เขามีสิทธิเป็นลูกจ้างของที่นี่ด้วย แต่ทำไมเจ้าหน้าที่รัฐบอกว่า เป็นไม่ได้"


 


ฉัตรชัย บอกว่า ที่ทีไอจี คนที่เป็นลูกจ้างชั่วคราว อายุงานนานที่สุด คือ 19 ปี "ถึงบอกว่ามันไม่ใช่งานชั่วคราว 19 ปีไปเรียกว่างานชั่วคราวได้อย่างไร ไม่บรรจุให้เขาจะให้เขาทำไปถึงไหน"


 


เลขาธิการสหภาพฯ แสดงความเห็นว่า พนักงานเหมาช่วงก็มีความจำเป็น เขาไม่ได้ต่อต้าน แต่ไม่เห็นด้วยที่คนงานเหมาช่วงไม่มีความมั่นคงในชีวิตการทำงาน ที่ยุโรปก็ใช้แรงงานเหมาช่วง แต่เป็นที่ยอมรับเพราะค่าจ้าง สวสัดิการ การปฎิบัติกับลูกจ้างใกล้เคียงกับพนักงานประจำ แต่ประเทศไทยไม่ใช่ เหมือน 9 คนนี้ วันหนึ่งไม่พอใจบอกเลิกจ้าง หรือเปลี่ยนสัญญา แล้ววันหนึ่งไม่ต่อสัญญา ลอยแพ ทั้งที่ทำงานเหมือนกัน พนักงานประจำทำความผิด มีการสอบสวนลงโทษทางวินัย แต่พนักงานเหมาช่วงถูกส่งกลับต้นสังกัด ก็ไม่มีที่ไป ถูกเลิกจ้าง คนที่จะช่วยเหลือคนงานเหล่านี้ได้คือสหภาพ ถ้านิ่งนอนใจ คนเหล่านี้ก็จะถูกเอาเปรียบ


 


สำหรับข้อเรียกร้องของสหภาพ ฉัตรชัยบอกว่า คือการให้รับทั้ง 9 คนเป็นลูกจ้างประจำ เพราะเขามาสมัครงานกับทีไอจี ทดลองงานกับทีไอจี จึงควรจะบรรจุให้เขา


 


"นอนกันที่นี่ ชุมนุมกันที่นี่ จนกว่าจะพูดคุยตกลงกัน เราต้องการเจรจาและหาทางออกร่วมกัน แต่นายจ้างปฏิเสธ ถ้ากันสหภาพออกไป แรงงานเหล่านี้ก็ถูกเอาเปรียบต่อไป"


 


ส่วนการฟ้องศาลแรงงานนั้น เลขาธิการสหภาพฯ บอกว่า จะเป็นทางสุดท้ายที่จะใช้ เนื่องจากคิดว่าพี่น้องสหภาพช่วยเหลือกัน น่าจะได้ผลมากกว่าการรอกฎหมายอย่างเดียว เพราะหากฟ้องศาลคงต้องรออีก 4 ปี ถึงตอนนั้นก็ไม่รู้ว่า 9 คนนี้ละครอบครัวของพวกเขาจะเป็นอย่างไร


 


ด้าน สุรชัย สิงห์ปัสสา 1 ใน 9 พนักงานเหมาช่วงที่ถูกเลิกจ้าง ซึ่งทำงานในตำแหน่งพนักงานขับรถบรรทุกส่งแก๊ส ตั้งแต่เมื่อครั้งทดลองงานจนถูกเลิกจ้าง เล่าว่า เมื่อปี 49 ได้เข้ามาสมัครเป็นพนักงานที่ทีไอจี มีสัญญาทดลองงาน 6 เดือน หลังจากนั้น จนถึง 26 ม.ค. 2550 บริษัทก็เรียกมาที่สำนักงานใหญ่ที่บางนา โดยไม่ได้บอกว่าเรียกมาทำอะไร ไม่มีใครรู้ และแจ้งล่วงหน้าไม่กี่วัน ไม่แน่ใจว่าถึง 3 วันไหม โดยบอกว่าจะบรรจุงานให้เป็นพนักงานประจำ


 


"เขาเรียกทุกคนเข้าห้อง พูดคุยว่าเป็นห่วงว่าไม่มีคนดูแล เพราะเจ้าหน้าที่ของทีไอจีมีน้อย นี่คือข้ออ้างของผู้จัดการจัดส่งในขณะนั้น ว่ามีเจ้าหน้าที่น้อยดูแลไม่ทั่วถึง จึงต้องหาคนที่ดีที่สุดเพื่อจะมาดูแลพวกผม ทำให้เห็นว่าเราจะได้บรรจุเป็นพนักงานประจำ หลังจากนั้นก็แนะนำให้รู้จัก บ.อเดคโก้ ซึ่งอ้างว่าเป็นบริษัทจัดหางานที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีพนักงานกว่าเจ็ดหมื่นคนทั่วโลก มีความเชี่ยวชาญในการจัดการดูแล ...ไม่ใช่ว่าเอาพวกคุณเป็นซับคอนเทค แต่เอาพวกคุณมาดูแลเพื่อให้เกิดความเท่าเทียมกัน มีการฉายสไลด์กฎระเบียบต่างๆ จากนั้นเอาสัญญามาให้เซ็นทีละคน แบบรีบเร่ง บอกว่าเดี๋ยวเจ้าหน้าที่จะกรอกรายละเอียดให้


 


"ปัญหาใหญ่ คือทุกคนไม่ได้มีความรู้เรื่องกฎหมายแรงงาน หรือสัญญาเลย ไม่มีเวลาอ่านด้วย ฟังดูเผินๆ สวัสดิการเหมือนกับทีไอจี หลังจากนั้นมีอีกฉบับมาให้เซ็นเป็นรายคน คนแรกเซ็นทั้งที่ยังไม่ได้อ่าน คนต่อไปก็อ่านผ่านๆ แล้วก็เซ็น เพราะผู้บริหารระดับสูงบอกว่าทุกอย่างเหมือนเดิม ไม่ว่าคนที่อยู่ก่อนได้อะไร พวกคุณก็จะได้เหมือนกันหมด


 


สุรชัย บอกว่า หลังจากมานั่งอ่าน ถามคนนั้นคนนี้ เลยรู้ว่าโดนหลอกแล้ว มีข้อหนึ่งบอกว่าพนักงานสัญญาว่าจะไม่เรียกร้องสิทธิต่างๆ ตั้งแต่ก่อนและหลัง 1 ก.พ. 50 จากทีไอจี และหลังจากอ่านสัญญากับอเดคโก้ มีหลายข้อที่ทำให้รู้สึกไม่มั่นคงในชีวิตการทำงาน เช่น 1 ปีป่วยเกิน 30วันก็ถูกปลดได้ ปฏิบัติงานไม่เหมาะสม ทำงานไม่เป็นที่พึงใจของนายจ้างก็ถูกปลดได้


 


เขาเล่าว่า ทำงานมาสิบเดือน น่าจะได้บรรจุ นายจ้างก็บอกว่าไม่ต้องห่วง ตอนที่คุยกัน เขาบอกจะให้พวกผมอยู่กับบริษัทนานที่สุด เขาจะมีหนังสือกฎระเบียบต่างๆ มาเปิดไล่ให้ดู เพื่อให้อยู่ได้นาน อยู่กี่ปีได้เท่านี้ๆ บอกว่าจะไม่มีวันตกงาน ถ้าไม่ทำผิดกฎระเบียบอย่างร้ายแรง


 


"พวกเราก็มีหนี้สินมีภาระ พอรู้ว่าจะได้บรรจุก็ดาวน์รถมา เมื่อ 22 ม.ค. พอ 26 ม.ค. เรียกไปเซ็นสัญญา ถ้าไม่เซ็นก็ออกจากงาน ไม่มีเวลาตัดสินใจเลย ถ้าไม่เอาตรงนั้น รถป้ายแดงผมก็หลุด"


 


"ขนาดอยู่กับอเดคโก้ ซึ่งเป็นบริษัทจัดหางานอันดับหนึ่งของโลก ยังไม่มีความมั่นคงเลย แล้วอยู่ๆ จะเอาผมไปยัดเข้าบริษัทที่เพิ่งตั้งได้ไม่ถึงเดือน และเห็นชัดว่า ผู้จัดการ บ.อเดคโก้ ลาออกไปตั้ง บ.นี้ เพื่อรองรับพวกผม แค่นี้ก็เห็นความไม่จริงใจของพวกเขาแล้ว"


 


  


 


อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง


 


แรงงานพบป้าอุ เสนอการบ้านที่รัฐบาลควรทำ


"มิอาจทนดูได้...เมื่อเพื่อนของเราถูกรังแก"

สหภาพแรงงานไทยอินดัสเตรียลแก๊สเตรียมเคลื่อนไหว หลังแรงงานจ้างเหมาช่วงถูกเลิกจ้าง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net