Skip to main content
sharethis

คิม ไชยสุขประเสริฐ


"เพียงระยะทาง 51 กิโลเมตร จากตัวเมืองเชียงใหม่ ด้วยอุณหภูมิเฉลี่ย 10-18 องศา ตลอดทั้งปี กับความสูง 1,300 เมตร เหนือระดับน้ำทะเล หมู่บ้านแม่กำปองอยู่ท่ามกลางหุบเขา แวดล้อมด้วยไร่ชา กาแฟ และธรรมชาติแห่งแมกไม้นานาพันธ์ เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรอนุรักษ์ซึ่งได้รับการคัดเลือกให้เป็นผลิตภัณฑ์ดีเด่นในโครงการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ นี่คือโอกาสอันแสนวิเศษสำหรับผู้รักธรรมชาติและวิถีชีวิตแบบท้องถิ่น ที่ต้องการหลีกหนีความวุ่นวายของสังคมเมือง มาร่วมพักพิงกับชาวบ้านผู้มีอัธยาศัยโอบอ้อมอารี พร้อมการต้อนรับอย่างอบอุ่นแด่ผู้มาเยือน..."


ตัวอย่างเล็กๆ ของคำเชิญให้ชวนนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าสู่หมู่บ้านแม่กำปอง ต.ห้วยแก้ว อ.แม่ออน จ.เชียงใหม่ ซึ่งนอกจากจะเป็นหมู่บ้านโฮมสเตย์เชิงอนุรักษ์แล้ว แม่กำปองแห่งนี้ยังเป็นต้นแบบของหมู่บ้านในโครงการพัฒนาไฟฟ้าพลังน้ำ นี่คือข้อมูลก่อนที่เรามีก่อนตัดสินใจเก็บเสื้อผ้าใส่เป้เดินทาง...


การมาที่นี่ในช่วงเดือนมกราคม ทำให้เราได้มาสัมผัสกับความเย็นบาดลึกของกระแสลมหนาวตามแบบฉบับของการท่องเที่ยวเมืองเหนือ และด้วยทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ให้ชุมชนแห่งนี้สามารถชูเอกลักษณ์ด้านการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ได้อย่างเต็มภาคภูมิ และด้วยแหล่งน้ำธรรมชาติซึ่งมีต้นธารจากดอยม่อนล้านอย่าง น้ำตกแม่กำปอง น้ำตกแม่ลาย น้ำตกตาดเหมย น้ำตกแม่มอญ ซึ่งนอกจากจะเป็นทรัพยากรที่สวยงามในด้านการท่องเที่ยวแล้ว สายธารเหล่านี้ยังมีความสำคัญในการผลิตกระแสไฟฟ้าเพื่อใช้ในชุมชน


ย้อนไปเมื่อ 25 ปีก่อน หมู่บ้านแม่กำปองซึ่งตั้งอยู่บนภูเขาในถิ่นทุรกันดารห่างไกลจากชุมชน ไม่มีทางเดินรถ ไม่มีไฟฟ้าเข้าถึง เป็นหมู่บ้านเกษตรกรรม ทำกินพออยู่ตามประสาด้วยการปลูกเมี่ยงเลี้ยงครอบครัว...


จนเดือนธันวาคม พ.ศ.2526 หลอดไฟดวงแรกได้ส่องสว่างขึ้น ด้วยการสืบเสาะเรียนรู้ และแรงกายแรงใจที่ร่วมกันในการก่อสร้างนานร่วมหนึ่งปีเต็ม "โรงไฟฟ้าพลังน้ำ" ขนาดกำลัง 20 กิโลวัตต์ (kW) โครงการแรกของหมู่บ้านแม่กำปองจึงเกิดขึ้น ด้วยมูลค่าการลงทุนกว่า 2 ล้านบาท


ตามข้อตกลงที่รัฐโดยกรมพัฒนาพลังงานและพลังงานทดแทน (พพ.) กระทรวงพลังงานเป็นผู้สนับสนุนเครื่องผลิตกระแสไฟฟ้าและสายส่ง ส่วนชาวบ้านมีส่วนร่วมในการจัดหาหิน ทราย ไม้แบบ เสาไฟฟ้า รวมทั้งลงมือลงแรงทำงาน


นายพรหมมินทร์ พวงมาลา อดีตผู้ใหญ่บ้านบ้านแม่กำปอง เล่าถึงจุดเริ่มต้นของโรงไฟฟ้าว่ามีมาตั้งแต่ปี 2524 จากแนวคิดที่ว่า "ที่นี่มีน้ำพอที่จะผลิตไฟฟ้าได้" ทำให้แกนนำชาวบ้านและผู้นำทางศาสนาให้ความสนใจ ถึงกับดั้นด้นไปดูตัวอย่างโรงไฟฟ้าพลังน้ำที่อำเภอฝางและอำเภอดอยสะเก็ด เมื่อนำข้อมูลมาหารือกันภายในชุมชนจึงได้ลงมติว่าจะผลิตพลังงานไฟฟ้าจากน้ำ จากนั้นจึงแจ้งขอทำโครงการต่อกรมพัฒนาพลังงานฯ


เมื่อสามารถใช้ธารน้ำสร้างไฟฟ้าใช้ภายในชุมชนได้แล้ว ในปี 2529 "สหกรณ์ไฟฟ้าโครงการหลวงแม่กำปอง" จึงถูกจัดตั้งขึ้น เพื่อทำหน้าที่ดูแลจัดการโรงไฟฟ้า บริหารจัดการรายได้จากการขายไฟฟ้าในชุมชน การปันผลสู่สมาชิก การจัดการเงินกองทุนสหกรณ์เพื่อใช้ในสาธารณประโยชน์ของชุมชน และการรับสมาชิกผู้ใช้ไฟรายใหม่ รวมถึงงบสำหรับจัดจ้างเจ้าหน้าที่ดูแลไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าแต่ละโรง ทั้งหมดนี้เป็นความรับผิดชอบของสหกรณ์ในฐานะเจ้าของโรงไฟฟ้า


ในส่วนของชุมชนเองก็มีกติกาที่ตกลงกันในการใช้ไฟฟ้า ที่ว่า การต่อไฟฟ้าในบ้านต้องผ่านมติในชุมชน ในการใช้ไฟทุกบ้านจะต่อปลั๊กไฟ 1 ตัว และใช้หลอดนีออนได้ 3 หลอดเท่านั้น อีกทั้งห้ามอ๊อกเชื่อมเหล็กหรือใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าที่ทำให้เครื่องผลิตไฟฟ้าทำงานหนัก นอกจากนี้ในชุมชนต้องหมุนเวียนกันมาดูแลสายส่งน้ำ และระบายทราย ตลอด 24 ชั่วโมง โดยข้อตกลงเหล่านี้เป็นสิ่งจำเป็นในการดูแลรักษาเครื่องผลิตไฟของชุมชนและเพื่อทุกคนจะได้ใช้ไฟฟ้าอย่างทั่วถึงกัน


นอกจากไฟฟ้าที่ผลิตมาเพื่อขายแก่คนในชุมชนแล้ว ในส่วนของวัด โรงเรียน ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กชุมชน รวมไปถึงถนนหนทาง และเส้นทางสาธารณะในชุมชนต่างก็มีไฟฟ้าส่องสว่างโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย


จากโรงไฟฟ้าพลังน้ำแห่งแรก ซึ่งสร้างรองรับความต้องการของชาวบ้านแม่กำปองราว 140 หลังคาเรือน ต่อมาหมู่บ้านใกล้เคียงได้มาขอร่วมใช้ไฟฟ้า จึงได้มีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าแห่งที่ 2 ขนาด 20 กิโลวัตต์ เมื่อปี 2530 โดยใช้ท่อส่งน้ำ และสายอันเดียวกันกับโครงการแรก ในรูปแบบของขากางเกง จากนั้นในปี 2537 ได้ขยายสู่โครงการที่ 3 ห่างจากจุดแรกกับจุดที่ 2 ราว 1 กิโลเมตร มีกำลังการผลิต 40 กิโลวัตต์ เพื่อตอบสนองการใช้ไฟฟ้าที่มีมากขึ้น


นายพรหมมินทร์ บอกเล่าถึงเหตุผลของการสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่มขึ้นว่า เมื่อแรกนำไฟฟ้าเข้าสู่ชุมชนไม่ได้มีอุปกรณ์ไฟฟ้ามากมาย แต่เมื่อเวลาผ่านไปมีการใช้อุปกรณ์ไฟฟ้ามากชนิดขึ้น อีกทั้งไม่ได้จำกัดปริมาณการใช้ไฟฟ้า จึงทำให้เกิดปัญหาไฟฟ้าตกบ่อยครั้ง แต่อย่างไรก็ตามหลังจากสร้างโรงไฟฟ้าแต่ละโรงก็ได้ขยายขอบเขตการจ่ายไฟฟ้าไปยังหมู่บ้านใกล้เคียงอย่าง บ้านแม่ลายและบ้านธารทองด้วย




ภาพจากสำนักงานและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงานhttp://www.thaienergynews.com/EnergyTour0002_1.asp


ความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอีกครั้งเมื่อการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ขยายสายไฟเข้ามาในพื้นที่ตำบลห้วยแก้ว ในปี 2545…


ชาวบ้านในหมู่บ้านใกล้เคียงบางส่วนได้เปลี่ยนไปใช้ไฟของ กฟภ.ส่วนในหมู่บ้านแม่กำปองแทบทุกหลังคาเรือนมีการติดตั้งไฟฟ้า 2 ระบบ โดยยังคงใช้ไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพลังน้ำร่วมกับใช้ไฟจาก กฟภ.ไว้เป็นไฟสำรอง ทั้งนี้จาก 150 หลังคาเรือน มีเพียง 20 หลังคาเรือนเท่านั้นที่ใช้ไฟฟ้าพลังงานจากน้ำเพียงระบบเดียว


ผลกระทบจากการขยายสายไฟของ กฟภ.ทำให้สหกรณ์มีรายได้จากการคิดค่าไฟลดลง แม้จะเก็บค่าไฟถูกกว่า กฟภ.แต่การที่จะต้องดูแลร่วมกันโดยชุมชน ในส่วนของการทำความสะอาดฝายและสายส่ง ดูเหมือนจะเป็นเรื่องยุ่งยากสำหรับชาวบ้านบางส่วนที่อยู่ไกลออกไป อีกทั้งความสม่ำเสมอของกระแสไฟจาก กฟภ.ก็มีมากกว่าจากโรงไฟฟ้าพลังน้ำของชุมชน


จำนวนผู้ใช้ไฟฟ้าพลังน้ำที่ลดลงทำให้เกิดคำถามในการจัดการกับ "พลังงานไฟฟ้าที่เหลือใช้" ทั้งนี้อาจมีผลกระทบกับโครงการที่ได้ทำมาแล้ว ซึ่งชาวบ้านต่างก็ไม่อยากรื้อถอน...


นายพรหมมินทร์เล่าว่า ชาวบ้านมีความหวังในการขายไฟฟ้าให้กับ กฟภ.แต่มีปัญหาในเรื่องระเบียบของราชพัสดุซึ่งก็คือเครื่องผลิตกระแสไฟฟ้าและสายส่งต่างๆ ที่ไม่สามารถโอนให้องค์กรชาวบ้าน (สหกรณ์) ดำเนินการได้ ทั้งที่ประสบผลสำเร็จในการทดลองเชื่อมต่อกับสายส่ง กฟภ.เรียบร้อย พร้อมที่จะขายให้กับ กฟภ. ดังนั้นในส่วนการซื้อขาย "พลังงานไฟฟ้าที่เหลือใช้" ที่ผ่านมาในปี 48 -50 ให้กับ กฟภ.จึงมี พพ.เป็นผู้ดำเนินการและได้ผลประโยชน์ส่วนนี้ไป


ตามระเบียบการสนับสนุนให้ผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (Very Small Electricity Produce: VSPP) จากแหล่งพลังงานหมุนเวียนสามารถขายไฟฟ้าเข้า สู่ระบบสายส่งของ กฟภ.และ การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ได้โดยตรงของสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน


นายพรหมมินทร์เล่าต่อว่า ชาวบ้านแม่กำปองใช้เวลากว่า 5 ปี เพื่อเข้าไปมีส่วนร่วมในการขายกระแสไฟฟ้าจากพลังงานน้ำให้กับ กฟภ.ซึ่งก็สำเร็จในเดือน พ.ย.50 โดยที่การขายกระแสไฟฟ้าต้องดำเนินการผ่านหน่วยงานของรัฐ จึงต้องขอความร่วมมือ อบต.ห้วยแก้วมาสนับสนุนโดยรับเป็นเจ้าของ และถ่ายโอนอำนาจให้ทางชุมชนบริหารจัดการ


ทั้งนี้ สหกรณ์แม่กำปองเริ่มขายกระแสไฟฟ้าให้กับ กฟภ.ตั้งแต่เดือน ม.ค.51 เป็นต้นมา ซึ่งในเดือนแรกนี้รายได้จะเข้าสู่สหกรณ์กว่า 50,000 บาท โดยผลิตไฟฟ้าในโครงการที่ 3 กำลังการผลิต 40 กิโลวัตต์ ส่งเข้าสู่ กฟภ.ทั้งหมด โดยคิดราคารับซื้อตามช่วงเวลา ตั้งแต่ 10:00-05:00 น. อยู่ที่หน่วยละ 2.50 บาท และตั้งแต่ 05:00-10:00 น. อยู่ที่หน่วยละ 3.80 บาท


ส่วนโรงไฟฟ้าที่ 1 และ 2 ปัจจุบัน ทำหน้าที่ผลิตกระแสไฟฟ้าให้แก่ชุมชนโดยสลับช่วงเวลาในการเดินเครื่อง คิดราคาขายในอัตราหน่วยละ 2 บาท ซึ่งเป็นราคาเดิมตั้งแต่เริ่มต้นการผลิต


แม้ไม่ใช่รายได้หลัก แต่รายได้จากการขายไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคและชุมชนเองจะนำเข้าสู่สหกรณ์หมู่บ้าน โดยใช้จัดสรรงบประมาณหมู่บ้านเพื่อการพัฒนาชุมชนและพัฒนาแหล่งต้นน้ำ เช่น การพัฒนาน้ำตก การทำแนวกันไฟ ซื้อต้นไม้ปลูกป่า โครงการรักษาป่าต้นน้ำ รวมทั้งนำมาให้กับสมาชิกในหมู่บ้านใช้เพื่อการกู้ยืมได้ โดยที่เงินรายได้จากการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำจะตัวนี้จะไม่รั่วไหลไปไหน และจะอยู่ในวงของรูปแบบสหกรณ์หมู่บ้าน


ส่วนรายได้หลักของคนในหมู่บ้านนายพรหมมินทร์กล่าวว่า มาจากการปลูกเมี่ยงและกาแฟ ซึ่งเป็นอาชีพดั้งเดิม ส่วนการท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ และการให้บริการบ้านพักโฮมสเตย์ เป็นอาชีพเสริม


ทั้งนี้ หากประเมินรายได้โดยเฉลี่ยแล้ว ชาวบ้านมีรายได้จากสวนเมี่ยง 50 เปอร์เซ็นต์ การท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ บ้านพักโฮมสเตย์ 30 เปอร์เซ็นต์ และกาแฟ 20 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเฉลี่ยเป็นรายได้ต่อหัวปีละ 2 แสนกว่าบาท ถือเป็นรายได้ที่ไม่ต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานขั้นต่ำของข้อมูลความจำเป็นพื้นฐาน (จปฐ.) และเชื่อว่าดีกว่าในพื้นที่ทุรกันดารอีกหลายแห่งของประเทศนี้


จากแม่กำปอง... นอกจากความสวยงามที่มองเห็น เรายังได้สัมผัสถึงความเชื่อมรอยของวิถีชีวิตผู้คนกับธรรมชาติ เมื่อป่าสัมพันธ์กับน้ำ น้ำเกี่ยวข้องกับพลังงานไฟฟ้า และไฟฟ้าจำเป็นต่อชีวิต และหากสามารถลุกขึ้นยืนด้วยลำแข้ง ด้วยศักยภาพที่ตนเองมีอยู่ได้อย่างเต็มภาคภูมิแล้ว การบำรุงให้สิ่งเหล่านี้ให้สมบูรณ์เพื่อการดำรงอยู่ของชุมชนคงเป็นก้าวสำคัญอีกอันหนึ่งที่เดินกันต่อไป


ดังที่หัวหน้าชุมชนแห่งนี้ได้ว่าไว้ว่า "ป่าอยู่ ทรัพยากรอยู่ ยังไงคนก็อยู่ได้"


แต่จะอยู่นานแค่ไหนอยางไร มันก็อยู่ที่คนบริหารจัดการเช่นกัน...


ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net