เครือข่ายชนเผ่าเตือนรัฐ อย่าใช้ "อยุติธรรมอำมหิต" ฆ่าผู้บริสุทธิ์เหมือนรัฐบาลทักษิณ

เครือข่ายชนเผ่าออกแถลงการณ์ เตือนรัฐอย่าใช้ "อยุติธรรมอำมหิต" ฆ่าผู้บริสุทธิ์เหมือนรัฐบาลทักษิณ ในขณะ กสม.จี้รัฐประกาศรายชื่อผู้บริสุทธิ์ที่เสียชีวิตจากนโยบายปราบปรามยาเสพติด ว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ไม่ได้เกี่ยวข้องกับยาเสพติด กรณียึดทรัพย์โดยมิชอบ รัฐจะต้องนำคืนให้กับญาติผู้เสียหาย และกรณีคนหาย จนท.รัฐเปพาตัวหาย รัฐจะต้องชดใช้

เมื่อวันที่ 7 มี.ค.ที่ผ่านมา ณ ห้องประชุมบัวตอง อาคารสำนักบริการวิชาการ ม.เชียงใหม่ ศูนย์ปฏิบัติการร่วมเพื่อแก้ปัญหาประชาชนบนพื้นที่สูง (ศปส.) ร่วมกับ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) จัดเวทีสัมมนา "วิพากย์นโยบายปราบปรามยาเสพติด และข้อเสนอของเครือข่ายภาคประชาชนบนพื้นที่สูงต่อรัฐบาล" โดยมีตัวแทนประชาชนจากเครือข่ายชาติพันธุ์ต่าง ๆ ที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายปราบปรามยาเสพติดในสมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และนักพัฒนาที่ทำงานด้านชาติพันธุ์เข้าร่วมเสวนา

นายสมบูรณ์ เลายี่ปา จากเครือข่ายลีซู ตัวแทนญาติชนเผ่าที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายปราบปรามยาเสพติด กล่าวว่า เฉพาะในพื้นที่ อ.ปาย และ อ.ปางมะผ้า ในช่วงที่มีนโยบายฆ่าตัดตอนนั้น มีเจ้าหน้าที่นำกำลัง 70-80 นายเข้าปิดล้อมหมู่บ้าน พอชาวบ้านถาม ก็อ้างว่าใช้กฎอัยการศึก ซึ่งมีพี่น้องลีซูกว่า 30 คนถูกอุ้มหายไป ซึ่งเหตุการณ์ในช่วงนั้นมีความรุนแรงและไร้มนุษยธรรมเป็นอย่างมาก บางรายถูกจับไปแล้วมีการตอกตะปูตรึงสองขา ก่อนยิงทิ้งก็มี

"สาเหตุที่มีเจ้าหน้าที่ของรัฐเข้าไปอุ้มฆ่าตัดตอน ก็เพราะว่ามีเจ้าหน้าที่เคยร่วมกับผู้ค้า ค้ายาเสพติดเสียเอง พอมีการประกาศสงครามยาเสพติด เจ้าหน้าที่ตำรวจก็ต้องรีบปิดปาก ไปยิงคนที่ว่าจ้าง รวมไปถึงชาวบ้านที่บริสุทธิ์ก็โดนไปด้วย นอกจากนั้น ยังมีการพยายามยัดยาบ้าให้กับชาวบ้าน ก่อนทำการจับกุมและยึดทรัพย์ชาวบ้านไปอีก ซึ่งหากยังไม่มีการตรวจสอบเอาผิดเจ้าหน้าที่รัฐที่ใช้ความรุนแรงกับชาวบ้านเช่นนี้ ตนเชื่อว่าในอนาคตอาจเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงเหมือนกับกรณีสามจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างแน่นอน"

นายสมบูรณ์ เลายี่ปา ตัวแทนเครือข่ายลีซู

 

 

นายมนูญ ไทยนุรักษ์ ตัวแทนเครือข่ายอาข่า

นายมนูญ ไทยนุรักษ์ ตัวแทนเครือข่ายอาข่า กล่าวว่า หลังจากที่รัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช ประกาศนโยบายทำสงครามปราบปรามยาเสพติดโดยเด็ดขาด ก็หวั่นเกรงว่านี่อาจเป็นเหมือนการปราบปรามที่มีมาในสมัยรัฐบาลทักษิณที่ทำให้ชีวิตทุกคนตกอยู่ในความหวาดผวา โดยเฉพาะพี่น้องชนเผ่าที่จะต้องถูกเจ้าหน้าที่รัฐใช้กำลังเข้าไปปราบปรามชาวบ้านแบบเหมารวม โดยไม่ชอบธรรม เพราะมุ่งแต่จะเน้นยอดผู้ตาย ตั้งเป้าในการจับกุมหรือฆ่าตัดตอนเพื่อหวังผลงานกัน

ตัวแทนชนเผ่าอาข่ายังยกตัวอย่างกรณีการเสียชีวิตของนายสุรพล พนานุรักษ์ ผู้ใหญ่บ้านแสนใจ อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย ซึ่งเป็นผู้นำหมู่บ้านที่มีชีวิตความเป็นอยู่อย่างสมถะ ต่อมาในช่วงประกาศสงครามกับยาเสพติด กลับถูกทางการกล่าวหาว่าเป็นผู้มีอิทธิพลอันดับ 5 ของประเทศ หลังจากนั้น ทางการก็เรียกเข้าไปรายงานตัว ต่อมา มีความพยายามสร้างสถานการณ์ ปิดล้อมบ้าน ยัดยาบ้า กดดันให้ออกมามอบตัว โดยอ้างว่าพบยาบ้าของกลาง 500 เม็ด กระทั่งในที่สุดก็ได้ยินเสียงปืนดังขึ้น

"เมื่อเข้าไปดูศพพ่อหลวงสุรพล เจ้าหน้าที่ก็อ้างว่าเป็นการฆ่าตัวตายหนีผิด แต่จากการที่ชาวบ้านดูวิถีกระสุนซึ่งเป็นการยิงจากข้างล่างขึ้นไป ซึ่งญาติชาวบ้านเชื่อว่าเป็นฝีมือของเจ้าหน้าที่ แต่ก็ไม่ใครกล้าชี้ความผิด เพราะต่างก็ตกอยู่ในความหวาดกลัว หลังจากนั้น ก็มีการยึดทรัพย์ ยึดบ้าน รถยนต์เก่าๆ สัตว์เลี้ยง แพะ วัว ไม่กี่ตัวไปอีก ซึ่งชุมชนอาข่าในขณะนี้ แทบจะเรียกได้ว่ากลายเป็นหมู่บ้านแม่หม้ายไปแล้ว เพราะนโยบายฆ่าตัดตอนเมื่อ 4 ปีที่ผ่านมา และมาถึงรัฐบาลสมัคร กลับมีการประกาศนโยบายแบบนี้อีก"

ด้านนายสุมิตร ตัวแทนชนเผ่ากะเหรี่ยง ญาติผู้สูญเสียจากนโยบายประกาศสงครามกับยาเสพติดเมื่อ 4 ปีที่ผ่านมา กล่าวว่า "อยากจะบอกไปทางรัฐว่า นโยบายฆ่าตัดตอนแบบนี้ มันเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ซึ่งทำให้ผู้บริสุทธิ์เป็นจำนวนมากต้องเสียชีวิต และเป็นการสูญเสียที่ประเมินค่าไม่ได้"

นอกจากนั้น ตัวแทนชนเผ่ากะเหรี่ยงยังเรียกร้องให้สอบสวนหาตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ และเรียกร้องให้รัฐต้องให้หลักประกัน ให้ค่าชดเชยแก่ญาติผู้เสียหาย กรณีที่ฆ่าคนบริสุทธิ์ ในส่วนของนโยบายปราบปรามยาเสพติดของรัฐบาลสมัครนี้ อยากให้ใช้กระบวนการยุติธรรมที่แท้จริง โดยต้องคำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชนด้วย

ด้านนายวสันต์ พานิช กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ(กสม.) กล่าวว่า ปัญหาที่เกิดจากนโยบายปราบปรามยาเสพติดเมื่อครั้งสมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นั้นมันเริ่มจากที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นออกมาประกาศสงครามกับยาเสพติดอย่างรุนแรง หลังจากนั้น มีมติ ครม.ออกมา ต่อมานายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รมช.มหาดไทยในขณะนั้นได้ออกหนังสือเวียนไปทุกส่วนราชการ ให้เจ้าหน้าที่เร่งปราบปรามอย่างเข้มงวด มีการเอ็กซเรย์ทุกตารางนิ้ว และให้เห็นผลภายใน 3 เดือน ถ้าพื้นที่ใดไม่ทราบว่าใครค้ายาเสพติด แสดงว่าหย่อนสมรรถภาพ ซึ่งทำให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายต้องเร่งทำผลงาน ทำเป้า กระทั่งก่อให้เกิดความสูญเสียในชีวิตและทรัพย์สินแก่พี่น้องประชาชนเป็นจำนวนกว่า 25,000 ราย

"ซึ่งจากรายงานการศึกษาเบื้องต้น ของ คตน. (คณะกรรมการอิสระตรวจสอบ ศึกษา และวิเคราะห์การกำหนดนโยบายปราบปรามยาเสพติดให้โทษและการนำนโยบายไปปฏิบัติจนเกิดความเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย ชื่อเสียง และทรัพย์สินของประชาชน) ก็ยืนยันว่า มีผู้เสียชีวิตกว่า 25,000 รายในรอบ 3 เดือนนั้นจริง โดยเฉพาะพี่น้องชนเผ่าได้รับผลกระทบอย่างหนัก ที่มีการร้องเรียนต่อ กสม.มีมากกว่า 70 คดี โดยในพื้นที่ จ.แม่ฮ่องสอน มีผู้ร้องเรียนมากที่สุด ซึ่งมีญาติพี่น้องชนเผ่าลีซูได้ร้องเรียนมาว่า กว่า 30 รายที่ถูกเจ้าหน้าที่รัฐอุ้มหายไปอย่างไร้ร่องรอย"

นายวสันต์ กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมา ทาง กสม.พยายามเรียกร้องปัญหาดังกล่าวต่อรัฐบาลพลเอกสุรยุทธ์ (จุลานนท์) ให้ตรวจสอบและแก้ไขปัญหาเหล่านี้ จนนำไปสู่การตั้ง่คณะกรรมการคตน.ซึ่งทำเป็นรายงานการศึกษาเบื้องต้น จนส่งรายงานไปให้เมื่อวันที่ 15 ม.ค.ที่ผ่านมาแล้ว แต่รัฐบาลพลเอกสุรยุทธ์ ก็ไม่ได้สั่งการใดๆ เลย อย่างน้อยก็น่าจะสั่งการเพื่อให้รัฐบาลนายสมัครดำเนินการสอบสวนกันต่อไปได้

"อย่างไรก็ตาม เมื่อมาถึงรัฐบาลชุดนี้ ก็ขอเรียกร้องให้รัฐดำเนินการต่อการกำหนดนโยบายปราบปรามยาเสพติดให้โทษและการนำนโยบายไปปฏิบัติจนเกิดความเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย ชื่อเสียง และทรัพย์สินของประชาชน ดังนี้ คือ 1.รัฐจะต้องสอบสวนข้อเท็จจริงแล้วประกาศรายชื่อผู้บริสุทธิ์ที่เสียชีวิตจากนโยบายปราบปรามยาเสพติด ว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ โดยอาจทำเป็นหนังสือเพื่อเป็นหลักฐานว่าพวกเขาบริสุทธิ์ไม่ได้เกี่ยวข้องกับยาเสพติด 2.กรณีที่มีการยึดทรัพย์โดยมิชอบ รัฐจะต้องนำคืนให้กับญาติผู้เสียหาย และ 3. กรณีคนหาย หรือมีญาติยืนยันที่เชื่อได้ว่าเจ้าหน้าที่รัฐเป็นผู้พาตัวไปและหายไป รัฐจะต้องชดใช้"

เมื่อถามถึงกรณีที่รัฐบาลของนายสมัคร สุนทรเวช ได้ออกมาประกาศทำสงครามปราบปรามยาเสพติดโดยเด็ดขาด โดยมี ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รมว.มหาดไทย เป็นผู้เสนอให้มีการใช้ความเด็ดขาดนั้น นายวสันต์ กล่าวว่า จริงๆ แล้ว รัฐจะต้องเร่งเยียวยา แก้ไขปัญหาเดิมก่อน ไม่ควรเร่งรีบประกาศนโยบายเช่นนี้ แต่เมื่อประกาศออกมาแล้ว ก้อย่าใช้ความอยุติธรรมเด็ดขาด จนสร้างความเดือดร้อนไปทุกหย่อมย่านอย่างที่ผ่านมา

"เพราะนโยบายที่ออกมานั้นเป็นตัวเร่งให้หน่วยงานที่รับผิดชอบของรัฐต้องจับกุมผู้ต้องสงสัยให้ได้ตามเป้าหมาย โดยไม่สนใจว่าจะเป็นวิธีการใด และที่น่าตลกมากก็คือการที่หน่วยงานของรัฐใช้คำซัดทอดที่คดีทั่วไปถือว่าใช้ไม่ได้ในการพิสูจน์ความผิดเข้ามาในการพิสูจน์ความผิดของบุคคล ถือได้ว่าช่วงที่ผ่านมาที่มีนโยบายปราบปรามยาเสพติดนั้นตนถือว่าเป็นช่วงที่กระบวนการยุติธรรมวิปริตไป"

ทั้งนี้ ในเวทีดังกล่าวได้ออกแถลงการณ์ในนาม "เครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย" กรณีท่าทีและข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลในการประกาศนโยบายทำสงครามปราบปรามยาเสพติดโดยเด็ดขาด โดยแถลงการณ์ระบุว่า

ตามที่รัฐบาลโดยนายเฉลิม อยู่บำรุง รัฐมนตรีว่าการมหาดไทย ได้ประกาศนโยบายทำสงครามปรามปราบยาเสพติดโดยเด็ดขาดและให้เห็นผล ภายใน 15 วัน ดังเป็นที่รับทราบโดยทั่วไปแล้วนั้น เครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นเครือข่ายองค์กรประชาชนที่ทำงานร่วมกับพี่น้องชนเผ่าและชาติพันธุ์ที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายของรัฐ ร่วมกับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้จัดเวทีวิพากย์นโยบายปราบปรามยาเสพติด และข้อเสนอของเครือข่ายภาคประชาชนบนพื้นที่สูงต่อรัฐบาล ที่ประชุมได้แลกเปลี่ยนกันอย่างกว้างขวาง และได้ข้อสรุปเพื่อแถลงท่าทีและข้อเรียกร้อง ดังต่อไปนี้

1.เราขอเรียกร้องต่อรัฐบาลว่า การดำเนินการนโยบายปราบปรามยาเสพติดโดยเด็ดขาด รัฐจะต้องปรามปรามผู้ที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดอย่างถูกต้องตามกระบวนการยุติธรรม และเคารพหลักสิทธิมนุษยชนสากลอย่างเคร่งครัด สร้างมาตรการป้องกันไม่ให้ประชาชนผู้บริสุทธิ์ตกเป็นเหยื่อ เหมือนนโยบายฆ่าตัดตอนของรัฐบาลในอดีต นโยบายดังกล่าวต้องไม่ส่งสัญญาณที่ก่อให้เกิดการใช้ความรุนแรงเข้าปราบปรามประชาชนและป้องกันไม่ให้เกิดการฆ่าล้างแค้นระหว่างคู่ขัดแย้งในการแย่งชิงแข่งขันกันในระดับชุมชน

2.เราเห็นว่า ภายใต้นโยบายปราบปรามยาเสพติดโดยเด็ดขาด รัฐจะต้องป้องกันไม่ให้เกิดกระบวนการอยุติธรรมอำมหิต โดยให้อำนาจคณะบุคคลในนามนโยบายรัฐ สามารถเข่นฆ่ากลุ่มเป้าหมายได้ตามอำเภอใจ แต่รัฐจะต้องนำเอาบุคคลผู้ต้องสงสัยกับยาเสพติดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมโดยเร่งด่วน เราขอคัดค้านการปราบปรามยาเสพติดโดยการขึ้นบัญชีดำที่ทำให้ผู้บริสุทธิ์ตกเป็นเหยื่อเหมือนเช่นอดีต

3.เราขอเรียกร้องต่อผู้เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรมทั้งตำรวจ อัยการ และศาลยุติธรรม ได้ออกมาสร้างกลไกและมาตรการเพื่อตรวจสอบและป้องกันไม่ให้นโยบายดังกล่าว นำไปสู่การละเมิดสิทธิมนุษยชนแก่ประชาชนผู้บริสุทธิ์ ทั้งนี้เพราะการฆ่าตัดตอนประชาชนผู้บริสุทธิ์จากนโยบายปราบปรามยาเสพติดในอดีต ทั้งนี้เพราะเมื่อการสูญเสียในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนผู้บริสุทธิ์ รัฐมิอาจเยียวยาดูแลครอบครัวและชุมชนให้กลับมาเหมือนเดิมได้ ซ้ำร้ายนโยบายฆ่าตัดตอนยาเสพติดในอดีต ได้สร้างความไม่มั่นใจในกระบวนการยุติธรรมต่อหมู่ประชาชนผู้เดือดร้อน โดยเฉพาะประชาชนคนชายขอบที่อยู่ห่างไกลความเจริญ ดังนั้น เพื่อเรียกศรัทธากลับสู่สังคม กระบวนการยุติธรรมต้องสร้างมาตรการโดยทันที

4.เราขอยืนยันว่า เราสนับสนุนนโยบายการปราบปรามยาเสพติดที่เอาคนผิดมาลงโทษ ตามกระบวนการยุติธรรม โดยต้องมีมาตรการป้องกันไม่ให้คนบริสุทธิ์กลายเป็นเหยื่อของความอำมหิตทางนโยบาย ในนามของภาคประชาชน เราจักดำเนินการตรวจสอบนโยบายดังกล่าวอย่างใกล้ชิด พร้อมสร้างมาตรการป้องกันยาเสพติดโดยการจัดตั้งชุมชนอาสาสมัครในพื้นที่และนำเสนอผลกระทบต่อสังคมต่อไป 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท