Skip to main content
sharethis

"วันสตรีสากล" มีจุดกำเนิดมาจากการนัดหยุดงานและเดินขบวนของกรรมกรหญิงในโรงงานทอผ้าที่เมืองชิคาโก นำโดย คลาร่า เซทคิน ผู้นำแรงงานหญิงชาวเยอรมัน ที่มีชีวิตอันแร้นแค้นไร้ความหวังจากการทำงานภายใต้สภาพแวดล้อมอันเลวร้าย และมีชั่วโมงทำงานยาวนานหลังจากต่อสู้นานถึง 3 ปีเต็ม เพื่อเรียกร้องสิทธิของผู้ใช้แรงงานหญิงที่ถูกกดขี่เอารัดเอาเปรียบและการถูกเลือกปฏิบัติที่มีต่อชนชั้นแรงงาน จึงเป็นกำเนิดของวันสตรีสากล ดังนั้น ในวันที่ 8 มีนาคม ของทุกปี องค์กรที่ทำงานด้านผู้หญิงหลายประเทศทั่วโลกจะจัดงานวันสตรีสากลขึ้น เพื่อรำลึกถึงการต่อสู้ของกลุ่มผู้ใช้แรงงานหญิง และเฉลิมฉลองเนื่องในโอกาสวันสตรีสากล รวมทั้งการจัดกิจกรรมรณรงค์เคลื่อนไหวเพื่อให้มีการเปลี่ยนแปลง หรือแก้ปัญหา โดยเฉพาะปัญหาที่ผู้ใช้แรงงานได้รับผลกระทบตามสถานการณ์ของแต่ละประเทศ


 


เมื่อวันที่ 8 มี.ค.ที่ผ่านมา ใน จ.เชียงใหม่ กลุ่มองค์กรเอกชนที่ทำงานด้านสิทธิสตรี ด้านประเด็นเพศสภาพ ด้านชาติพันธุ์ ร่วมกับกลุ่มแรงงานหญิงจากที่ต่างๆ ได้จัดงานวันสตรีสากลประจำปี 2551 ขึ้น ในวาระ "เดินรณรงค์เพื่อผู้หญิงทำงาน" (Walking for Working Women) ซึ่งเป็นการรณรงค์เรื่องสิทธิของสตรีในการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นสิทธิเรื่องค่าแรง สวัสดิการ สภาพการจ้างงาน รวมถึงการได้รับการคุ้มครองจากการถูกนายจ้างข่มเหง


 


โดยได้มีการเดินขบวนรณรงค์จากพุทธสถาน จังหวัดเชียงใหม่ ไปจนถึงที่หมายคืออนุสาวรีย์สามกษัตริย์ หลังจากนั้นจึงเริ่มกิจกรรมโดยการกล่าวถึงความเป็นมาของวันสตรีสากล ว่ามาจากการเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิของแรงงานหญิงในโรงงานทอผ้าที่ ชิคาโก้ จากนั้นจึงได้มีการอ่านแถลงการณ์เนื่องในวันสตรีสากลของปี 2551 ซึ่งในเนื้อหาระบุว่า แม้จะมีการเรียกร้องกันมานับร้อยปีแล้ว แต่ปัญหาด้านสภาพการทำงาน ความเป็นอยู่ และความมั่นคง ของผู้หญิงทำงานยังคงย่ำแย่ จึงขอเดินขบวนเพื่อเรียกร้องให้มีการดูแลด้านความปลอดภัยในการทำงาน เรียกร้องค่าจ้างไม่น้อยกว่าค่าแรงขั้นต่ำ รวมถึงสิทธิด้านอื่นๆ


 


จากนั้นจึงได้มีการให้ตัวแทนของผู้หญิงทำงานออกมาบอกเล่าประสบการณ์ เริ่มจาก ภิทยา ยิ่งยง ตัวแทนจากสหภาพแรงงานอัญมณีและเครื่องประดับสัมพันธ์ ออกมาพูดถึงปัญหาแรงงานที่นิคมอุตสาหกรรมลำพูน เช่น เรื่องการทำโอที ถ้าไม่มาทำจะถูกตัดค่าแรงขั้นต่ำ เป็นต้น โดยได้เน้นย้ำว่า คนงานหญิงส่วนใหญ่ไม่เพียงทำงานเลี้ยงตัวเอง แต่ยังต้องเลี้ยงพ่อเลี้ยงแม่เลี้ยงครอบครัว จึงต้องแบกรับภาระมากเป็นพิเศษ


 


นอกจากนี้ยังได้เล่าอีกว่า ในสหภาพฯ มีการเปิดให้คำปรึกษากับแรงงานหญิง ที่มีปัญหาทางครอบครัว หรือปัญหาการถูกเพศชายรังแกด้วย


 


ขณะที่ แสนพู ตัวแทนจากกลุ่มคนทำงานเป็นแม่บ้านได้ออกมาพูดถึงประสบการณ์ของคนที่ทำงานรับหน้าที่แม่บ้าน ไม่ว่าจะเป็นแม่บ้านในสำนักงาน ในที่พักอาศัย มักจะไม่มีเวลาได้หยุดพัก ยิ่งถ้าอยู่กับนายจ้างก็ยิ่งเลวร้าย เพราะต้องตื่นตามเวลาที่นายจ้างสั่ง บางครั้งเวลาจะนอนสี่ทุ่มก็นอนไม่ได้ ถ้าหากนายจ้างปลุกขึ้นมาใช้งานก็ต้องลุกขึ้นมาทำ บางครั้งการถึงขั้นมีการใช้ความรุนแรงทางร่างกาย รวมไปถึงการข่มขืนด้วย


 


โดยกลุ่มคนทำงานแม่บ้านก็ไม่มีกฎหมายอะไรมาคุ้มครอง จึงอยากขอเรียกร้องให้กฎหมายคุ้มครองเรื่องวันหยุด ให้มีวันหยุดอย่างน้อยสัปดาห์ละหนึ่งวัน โดยยังได้รับค่าจ้างตามปกติ ไม่ถูกตัดค่าจ้างไปอย่างที่เป็นมา


 


ต่อมา เพียรศิริ แสนแก้ว ตัวแทนจากเครือข่ายแรงงานนอกระบบก็ออกมาเล่าว่า คนทำงานเป็นแรงงานนอกระบบก็มักจะมีปัญหาเรื่องสิทธิ เรื่องสวัสดิการ เช่นเดียวกับแรงงานส่วนอื่นๆ แต่สิ่งที่แรงงานนอกระบบต้องประสบนอกจากนี้คือ เรื่องการไม่สามารถเลือกงานได้ ระยะเวลาการทำงานที่ยาวนาน ไม่มีการคุ้มครองในเวลาที่เกิดความเจ็บป่วย แล้วความเจ็บป่วยของแรงงานนอกระบบมักจะเป็นโรคที่มีความซับซ้อน มองเห็นไม่ได้ด้วยตาเปล่า เรื่องสิทธิการรวมตัวกันของแรงงานนอกระบบก็ไม่มีกฎหมายใดมารับรอง


 


จากนั้นตัวแทนเครือข่ายแรงงานนอกระบบได้ฝากแก่คนทำงานทุกคนว่า อยากให้แรงงานในทุกส่วน ไม่ว่าจะเป็นแรงงานในโรงงาน แรงงานนอกระบบ หรือแรงงานต่างด้าว มีการรวมตัวกัน ช่วยเหลือกันเรียกร้องให้มีการคุ้มครองในเรื่องต่างๆ เพราะยังไงก็เป็นแรงงานเหมือนกัน


 


ต่อมาได้มีการเปิดให้ผู้เข้าร่วมได้แสดงความคิดเห็น มีคนงานชาติพันธุ์คนหนึ่งลุกขึ้นมาพูดเป็นภาษาถิ่นของตัวเองว่า อยากให้มีการจัดตั้งสหภาพแรงงานข้ามชาติ เพื่อคุ้มครองสิทธิในด้านต่างๆ ขณะเดียวกันก็วิจารณ์ว่ากระบวนการร่างกฎหมาย ไม่ได้ให้ผู้หญิงเข้ามามีส่วนร่วมมากพอ ทำให้ไม่สนใจในการทำงานของผู้หญิง จึงไม่ได้การคุ้มครอง จากนั้นจึงกล่าวย้ำสิ่งที่ต้องการเรียกร้องเป็นภาษาอังกฤษว่า "Recognize Women Work" ที่แปลว่า "จงสนใจการทำงานของผู้หญิง"


 


เมื่อจบจากการบอกเล่าสถานการณ์แรงงานหญิง ก็ได้มีการแข่งขัน WE Games ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อพิสูจน์ว่า แรงงานหญิงมีทักษะหรือแข็งแรงน้อยกว่าแรงงานชายจริงหรือ โดยให้ผู้เล่นจำลองการทำงาน 6 อย่างคือ ล้างจาน, ชงค็อกเทล, ขอลายเซ็นรับรอง, นับเงิน, เย็บกระดุม และ ยกอิฐ


 


นอกจากนี้ยังได้มีการแสดงจาก M Plus, กลุ่มมะขามป้อม และดนตรีจากชายแดนโดย หมวยเงิน ซึ่งมีเพลงภาษาไทยใหญ่พูดถึงการร้องขอจากชาวไทยใหญ่ให้คนไทยหันมารับรู้และรับฟังพวกเขาบ้าง


 


สุดท้ายมีการปิดงานด้วยกิจกรรม สมานฉันท์แรงงานหญิง โดยให้ผู้เข้าร่วมล้อมวงทำการโยงใยเส้นเชือกเปรียบเหมือนเครือข่ายแรงงานที่มีการโยงใยกัน


 


000


 


(รายละเอียดแถลงการณ์)


 


วันสตรีสากล 8 มีนาคม 2551


 


เดินรณรงค์เพื่อผู้หญิงทำงาน


 


ในปี 2451 มีผู้หญิงจำนวน 15,000 คน ออกมาเดินขบวนตามท้องถนนที่นิวยอร์ก เพื่อเรียกร้องชั่วโมงการทำงานที่น้อยลง ค่าจ้างที่มากขึ้นและสิทธิในการออกเสียงเลือกตั้ง หนึ่งร้อยปีผ่านมาแล้ว แต่ผู้หญิงยังคงประสบปัญหาสภาพการทำงานและความเป็นอยู่ที่ย่ำแย่ และไม่ปลอดภัย เรายังคงต้องเดินรณรงค์เพื่อสิทธิของเรา


 


เราเป็นผู้หญิงทำงานเกษตร คลินิกชุมชน งานก่อสร้าง สถานบันเทิง โรงงาน คลินิกให้ความช่วยเหลือด้านกฎหมาย ทำงานในบ้านของนายจ้างหรือบ้านของเราเอง เราเป็นผู้หญิงในพื้นที่ เราเป็นผู้หญิงที่มาจากประเทศอื่นหรือข้ามชายแดนมา เราเป็นผู้หญิงทำงาน และ วันนี้เรามาเดินเพื่อผู้หญิงทำงาน วันนี้เราเดินเพื่อที่ผู้หญิงจะได้ค่าแรงมากขึ้น วันนี้เราเดินเพื่อความมั่นคงทางสังคมสำหรับผู้หญิงทุกคน วันนี้เราเดินเพื่อสภาพการทำงานที่ปลอดภัย เพื่อแรงงานหญิงทุกคน


 


@ ลองไปดูที่ไซต์ก่อสร้างในตึกสูงในเชียงใหม่ซึ่งเป็นที่ทำงานของเราที่ไม่มีอุปกรณ์ใดๆ ในการป้องกันความปลอดภัย ไซต์งานเหล่านี้ไม่ปลอดภัย เราต้องการไซต์งานที่ปลอดภัย


 


@ เราทำงานในนิคมอุตสาหกรรมในลำพูน โรงงานผลิตชิ้นส่วนอิเลคโทรนิค เราเสี่ยงต่อสารตะกั่ว เราต้องการสิทธิในการรวมตัวเจรจาต่อรองเพื่อป้องกันโรคต่างๆที่เกิดขึ้นจากการทำงาน


 


@ เราทำงานเหมือนกับที่ผู้หญิงอื่นๆ ทำ แต่เราไม่ได้รับการตระหนักหรือยอมรับการทำงานของเรา เพราะว่าเราทำงานเป็นพนักงานบริการ เราต้องการยอมรับว่าเราเป็นแรงงานเดี๋ยวนี้


 


@ พี่น้องหญิงที่มาจากพม่า เราทำงานในโรงงานการ์เม้นท์ที่ชายแดน พวกเธอได้รับค่าจ้างน้อยกว่าค่าจ้างขั้นต่ำตามกฎหมาย เพื่อที่จะได้รับค่าจ้างที่สามารถดำรงชีพอยู่ได้ พวกเธอต้องทำงานล่วงเวลาทุกคืน เราขอเรียกร้องค่าจ้างไม่น้อยกว่าค่าจ้างขั้นต่ำสำหรับแรงงานทุกคน


 


@ เราทำงานในสวนผลไม้และฟาร์มดอกไม้ทั่วเชียงใหม่ เรามาจากภูเขาของประเทศไทย ลาว และ พม่า เราต้องทำงานพ่นสารเคมีซึ่งเรารู้ว่าเป็นอันตรายต่อสุขภาพ เราต้องการอุปกรณ์เสื้อผ้าป้องกันที่เหมาะสมกับการทำงานของเรา


 


@ เราทำงานเป็นแรงงานทำงานในบ้านของนายจ้าง เราไม่ได้รับการคุ้มครองภายใต้กฎหมาย สิทธิของเราขึ้นอยู่กับนายจ้าง บางอย่างก็มีความยุติธรรม แต่บางอย่างก็ไม่มีความยุติธรรม เราต้องการสิทธิของเราภายใต้กฎหมาย เราขอเรียกร้องวันหยุดอย่างน้อยอาทิตย์ละหนึ่งวันโดยได้รับค่าจ้าง


 


วันนี้เป็นวันสตรีสากล เราไม่สามารถรอไปอีกหนึ่งร้อยปีเพื่อค่าจ้างและสภาพการทำงานที่ยุติธรรม การเปลี่ยนแปลงควรจะเริ่มจากวันนี้ วันที่เราต้องออกเดินเพื่อผู้หญิงทำงานอีกครั้ง!!!!


 


 


บรรยากาศภายในงานวันสตรีสากล ปี 2551



 



 


 


 



 



 



 



 



 บรรยากาศการเดินขบวนและป้ายเรียกร้องในประเด็นต่างๆ


 


 


 



 


 



WE Games … แรงงานหญิงมีทักษะหรือแข็งแรงน้อยกว่าแรงงานชายจริงหรือ?


 


 


กิจกรรมสมานฉันท์แรงงานหญิง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net