Skip to main content
sharethis

เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 6 มีนาคม 2551 ที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.), ห้องประชุม 1 อาคารเอสเอ็มทาวเวอร์ ชั้น 34 โครงศึกษาและเฝ้าระวังสื่อเพื่อสุขภาวะของสังคม หรือ มีเดียมอนิเตอร์ ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้จัดแถลงผลการการศึกษาและเฝ้าระวังสื่อรอบที่ 19 ในประเด็น "อคติและภาพตัวแทนในละครซิทคอม"


 


วัตถุประสงค์เพื่อศึกษาภาพตัวแทนในมิติต่างๆ ที่ปรากฏในรายการซิทคอม และรูปแบบการประกอบสร้าง ผลิตซ้ำ และตอกย้ำภาพตัวแทนดังกล่าว โดยศึกษาจากเทปรายการละครซิทคอมที่ออกอากาศทางฟรีทีวีในช่วงเดือนกันยายน - ธันวาคม 2550


 


มีซิทคอม 14 เรื่องต่อสัปดาห์ทุกช่องฟรีทีวี เว้นช่อง 11 และ TITV


จากการศึกษาเทปโทรทัศน์รายการละครซิทคอมที่ออกอากาศในช่วงเดือน กันยายน - ธันวาคม 2550 ทางสถานีโทรทัศน์ฟรีทีวีทั้ง 6 ช่อง (3, 5, 7, 9, 11 และ titv) พบว่า มีรายการละครซิทคอมทั้งสิ้น 14 เรื่อง จาก 4 ช่องสถานี โดยช่องที่ไม่พบว่ามีละครซิทคอมคือช่อง 11 และ TITV


 


ภาพรวมของการโฆษณาในรายการซิทคอมแต่ละเรื่องพบว่า มีละครซิทคอมทั้งสิ้น 14 เรื่อง จาก 4 ช่องสถานี รวมเวลาออกอากาศทั้งสิ้น 13 ชั่วโมง 1 นาที (หรือ 781 นาที/สัปดาห์) โดยช่องสถานีที่มีรายการซิทคอมมากที่สุด เคือ ช่อง 7 โดยพบ 4 เรื่อง คือ เฮฮาหน้าซอย, หมู่ 7 เด็ดสะระตี่, ผีเพี้ยนโฮเต็ล และคนเยอะเรื่องแยะ คิดเป็นเวลา 4 ชั่วโมง 26 นาที ต่อสัปดาห์ ตามด้วยอันดับ 2 คือ ช่อง 3 โดยพบ 5 เรื่อง คือ เป็นต่อ, บ้านวุ่นอุ่นไอรัก, เฮง เฮง เฮง, ผู้กองเจ้าเสน่ห์ และ เทวดาสาธุ คิดเป็นเวลา 3 ชั่วโมง 45 นาที ต่อสัปดาห์ อันดับ 3 คือ ช่อง 9 โดยพบ 3 เรื่อง คือ บางรักซอย 9, นัดกับนัดและบ้านนี้มีรัก คิดเป็นเวลา 2 ชั่วโมง 45 นาที ต่อสัปดาห์ และอันดับ 4 คือ ช่อง 5 โดยพบ 2 เรื่อง คือ รักต้องซ่อม และระเบิดเถิดเทิง คิดเป็นเวลา 2 ชั่วโมง 20 นาที ต่อสัปดาห์


 


บริษัทผู้ผลิตซิทคอมมีทั้งสิ้น 7 ราย บริษัทที่มีรายการละครซิทคอมที่ออกอากาศผ่านทางสถานีโทรทัศน์ฟรีทีวีมากที่สุดคือ "Scenario" มี 4 เรื่อง คิดเป็น 3:35 ชั่วโมง:นาที/สัปดาห์ รองลงมาคือบริษัท "Workpoint" มี 3 เรื่อง คิดเป็น 3:03 ชั่วโมง:นาที/สัปดาห์ ตามด้วยบริษัท "TV Thunder" มี 2 เรื่อง คิดเป็น 2:30 ชั่วโมง:นาที/สัปดาห์ บริษัท "Exact" มี 2 เรื่อง คิดเป็น 1:40 ชั่วโมง:นาที/สัปดาห์, บริษัท "Media of Medias" มี 1 เรื่อง คิดเป็น 1:00 ชั่วโมง:นาที/สัปดาห์, บริษัท "Triple 2" มี 1 เรื่อง คิดเป็น 0:43 ชั่วโมง:นาที/สัปดาห์ และบริษัท "Broadcast Thai" มี 1 เรื่อง คิดเป็น 0:30 ชั่วโมง:นาที/สัปดาห์ ดังแสดงในตารางที่ 2


 


 


เน้นความสัมพันธ์บุคคลมากกว่าหน้าที่การงาน เน้นชนชั้นกลาง เน้นชายมากกว่าหญิง


จากการศึกษาพบว่า ซิทคอมทั้ง 14 เรื่องเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับ "ชีวิตครอบครัว-ความสัมพันธ์ระหว่างชนบทกับเมือง-การสะท้อนสภาพการณ์ของสังคม หรือสถานการณ์อื่นๆ ที่มีความสนุกสนาน" สถานการณ์หลักที่มักใช้เป็นแก่นเรื่องคือ "ความรัก ความผูกพันระหว่างบุคคล โดยเฉพาะความสัมพันธ์ของผู้คนในครอบครัว และเพื่อนบ้าน" มากกว่าความสัมพันธ์ในบริบทของ "หน้าที่การงาน" โดยเน้นเรื่องราวของ "ชนชั้นกลาง" และให้ความสำคัญกับตัวละครชายมากกว่าตัวละครหญิง


 


ในประเด็นภาพตัวแทน พบว่าสามารถแบ่งตามลักษณะบทบาทของตัวละครออกเป็น 7 บทบาทหลักๆ ดังนี้ คือ "พระเอก", "นางเอก", "เพื่อนพ้องน้องพี่", "พ่อแม่ปู่ย่าญาติผู้ใหญ่", "เจ้านาย-ลูกน้อง,", "ตัวป่วน-แก๊งฮา" และ "สาวสวยเซ็กซี่"


 


ภาพตัวแทนหลักของพระเอกในละครซิทคอมจึงต้องเป็นชนชั้นกลาง-ผู้ชายแท้ คุณลักษณะของ "ความเป็นผู้ชายแท้" ที่ปรากฎให้เห็น ได้แก่ ความเป็นผู้นำ, ความเป็นสุภาพบุรุษ, ความมีเหตุมีผล, ความมีเสน่ห์ทางเพศ, ความตลกอารมณ์ดี เป็นต้น


 


ภาพตัวแทนของผู้หญิงนั้น ค่อนข้างมีบทบาทตกเป็นรองผู้ชายมาก และในบางเรื่องผู้หญิงก็ไม่ได้มีหน้าที่อะไรมากนอกจากการเป็นตัวประกอบ ตัวตลก และเป็นวัตถุทางเพศเช่นละครซิทคอมเรื่อง "เป็นต่อ"


 


สำหรับภาพตัวแทนของสาวเซ็กซี่ คือตัวละครหญิงรุ่นสาววัยรุ่น-วัยทำงาน บทบาทของพวกเธอนอกจากจะเป็นสิ่งสวยงาม ไม่มีบทพูดฉลาดๆ ไม่มีการกระทำที่ดูเข้าท่าแล้ว ยังเป็นตัวละครที่มีไว้เพื่อยั่วยวนหว่านเสน่ห์ตัวละครชาย หรือไม่ก็ตัวละครชายก็มักมาทำชีกอกับพวกเธอด้วย มุขตลกต่างๆ ลักษณะเช่นนี้คือ "การสร้างภาพตายตัว" (stereotype) ที่ตอกย้ำความเชื่อของสังคมที่มีต่อผู้หญิงที่มีรูปร่างหน้าตาดี


 


ผลการศึกษาเรื่องภาพตัวแทนมิติต่างๆ 6 มิติหลักคือ 1.ชนชั้น 2.เชื้อชาติ/ชาติพันธุ์ 3 เพศ 4. อายุ 5. คนพิการ และ 6 รูปร่างหน้าตา โดยพิจารณาจากเนื้อหาที่แสดงให้เห็นถึง "ความไม่เท่าเทียม" หรือ ทัศนคติเชิงคุณค่าในการตัดสินบุคคลล่วงหน้าตลอดจนเนื้อหาที่แสดงถึงการเลือกปฏิบัติต่อบุคคลใดบุคคลหนึ่ง พบว่า


 


โดยมากละครซิทคอมไม่มี "โครงเรื่อง/แก่นเรื่อง" ที่แฝงอคติ/การเหยียดในมิติชนชั้น, เชื้อชาติ/ชาติพันธ์, อายุ และคนพิการในระดับที่น่ากังวล เพราะละครซิทคอมเกือบทั้งหมดเลือกฉายภาพครอบครัวชนชั้นกลางเป็นหลัก อีกทั้งยังเป็นเพราะซิทคอมได้เลือกหยิบสถานการณ์หนึ่ง ของคนกลุ่มหนึ่ง และเพราะต้องการนำเสนอความบันเทิงและเสียงหัวเราะ จึงแทบไม่พบการหยิบเอาชนวนแห่งความขัดแย้งในมิติดังกล่าวมานำเสนอ อย่างไรก็ตาม ละครซิทคอมมีเนื้อหาที่มีอคติและการเหยียดเพศหญิง, เพศที่สาม, และความงามในระดับที่น่ากังวล


 


 


มุขตลกแป้ก เน้นทะลึ่งลามก เรื่องเพศ ล้อเลียนเพศที่สาม รูปร่าง หน้าตา


 มุขตลกในละครซิทคอมที่ใช้ โดยมากเกิดจากกลวิธีการทางภาษามากกว่ากลไกของเนื้อเรื่อง เช่น การด่า ว่า หยอด กัด หยิก ประชดประชัน อำ กระเซ้าเย้าแหย่ พูดคำผิด คำถามอะไรเอ่ย ฯลฯ ขณะที่ความตลกที่เกิดจากสถานการณ์นั้น มักไม่ค่อยเรียกเสียงหัวเราะได้มากเท่าที่ควรจะเป็น แต่ มุขตลกเจ็บตัว (ทำร้ายร่างกาย) เช่น หยิกนม ตบหัว เตะก้น จิ้มก้น ดึงขนจมูก เอาถาดตีหัว เช่น  มุขของตลกคาเฟ่ กลับพบมากในซิทคอมเกือบทุกเรื่อง


 


ประเด็นที่เป็น มุขตลกมากที่สุดคือ เรื่องรูปร่างหน้าตา เรื่องทะลึ่งลามก เรื่องเพศ  มุขตลกส่วนใหญ่เป็นมุขตลกแบบผู้ชายมากกว่าผู้หญิง โดยเฉพาะมุขตลกล้อเพศที่สามอย่างกระเทยและเกย์นั้น มีมากทั้งๆ ที่อาจไม่ปรากฎตัวละครที่เป็นเพศที่สามในฉากนั้นเลย เช่นเดียวกับมุขตลกที่แกล้งทำท่าทางเป็นคนปัญญาอ่อน ส่วนใหญ่ ตัวละครที่ถูกหัวเราะมักมีลักษณะดังนี้ คือ คนอ้วน คนดำ คนแก่ คนจน คนเตี้ย คนปัญญาอ่อน คนโง่ คนบ้า คนไม่หล่อ คนไม่สวย เป็นต้น


 


 


ชี้ละครซิทคอมใช้ประโยชน์ของ "ความไม่เท่าเทียม" อย่างมีประสิทธิภาพ


แม้รายการซิทคอมจะมีสัดส่วนไม่มากนักเมื่อเทียบกับรูปแบบรายการโทรทัศน์อื่น แต่เสียงหัวเราะที่เกิดจากการสร้างสรรค์ของผู้สร้างซิทคอมนั้นมิได้หมายความว่าซิทคอมจะไม่ส่งผลกระทบต่อสังคมเลย ในทางตรงกันข้าม เสียงหัวเราะในละครซิทคอม ได้แฝงเอาความคิด ความเชื่อ และความรุนแรงในคุณค่าบางอย่างไว้ ดังนั้น ในแทบทุกครั้งที่เสียงหัวเราะเกิดขึ้น ซิทคอมได้สร้างและผลิตซ้ำความไม่เท่าเทียมในคุณค่าความเป็นมนุษย์ ในมิติต่างๆ ด้วย เช่น การหัวเราะในความอ่อนด้อยคุณสมบัติบางอย่าง การหัวเราะในโชคชะตาที่ตัวละครนั้นประสบ โดยรวมคือ การหัวเราะคนอื่น เพราะ(โชคดี) ที่ เรา (คนผลิต-คนดู) ไม่ได้เป็นอย่างเขา กล่าวได้ว่า ละครซิทคอมได้ใช้ประโยชน์ของความไม่เท่าเทียมกันนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่ง


 


ปัญหาเรื่องอคติที่เกิดจากภาพตัวแทน ภาพตายตัวของบุคคลต่างๆ ที่ละครซิทคอมหยิบมาใช้เรียกเสียงหัวเราะนั้น ควรได้รับการแก้ไข ไม่ใช่ให้เสียงหัวเราะหายไป แต่นอกเหนือจากเสียงหัวเราะ ซิทคอมต้องช่วยชี้นำ และ สร้างความเข้าใจให้สังคม(คนดู) ว่า คนอ้วน คนแคระ คนแก่ คนขี้ริ้วขี้เหร่ คนดำ คนอีสาน คนจน คนพิการปัญญาอ่อน คนลาว คนพม่า คนใต้ คนเหนือ คนต่างจังหวัด กระเทย เกย์ เลสเบี้ยน ฯลฯ ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่มักถูกหัวเราะในซิทคอม ไม่ใช่กลุ่มคนที่ด้อยคุณค่า


 


เพราะ ผลการศึกษาชี้ชัดว่า เสียงหัวเราะในละครซิทคอมของไทย ส่วนหนึ่งเกิดจากการใช้กลวิธีทางภาษา แต่อีกส่วนหนึ่งเกิดจากการใช้วาจาว่ากล่าว กระทบกระเทียบเปรียบเปรย เป็นความตลกจากอคติต่อภาพตายตัว/ที่มิได้ช่วยแก้ไข/ขจัด ปัญหา ความไม่เข้าใจ ความไม่เห็นคุณค่า ของคนบางกลุ่มในสังคม


 


ภาพตัวแทนผู้หญิงยังคงถูกตอกย้ำด้วยความคิดแบบเดิมๆ ภายใต้แนวคิดเพศชายเป็นใหญ่ โดยแฝงในโครงเรื่อง/แก่นเรื่อง เช่นเดียวกันกับการแบ่งแยกและรวมศูนย์ความแตกต่างทางเชื้อชาติวัฒนธรรม ภาษา ไว้ที่คนกลุ่มเดียวคือชนชั้นกลางในเมืองหลวง ทั้งๆ ที่มีความหลากหลายในลักษณะประชากรในกรุงเทพฯ และของทั้งประเทศ


 


 


ข้อเสนอของมีเดียมอนิเตอร์ 8 ข้อ เพิ่มความหลากหลายของเนื้อหา-เลิกเหมารวม


ด้วยเหตุนี้ ทางคณะผู้จัดทำจึงเสนอแนะแนวทางในการแก้ไขปัญหาอคติและภาพตัวแทนในละครครซิทคอม ดังนี้


 


1. โครงเรื่องและแก่นเรื่อง (Theme and Plot) ควรให้ความสำคัญกับกับโครงเรื่องเนื้อหาชีวิตผู้คนกลุ่มอื่นๆ ให้มาก แทนที่จะเน้นเฉพาะชีวิตของคนชั้นกลางในสังคมเมือง ทั้งนี้เพื่อสร้างความหลากหลายของเนื้อหาละครซิทคอมซึ่งจะส่งผลให้เกิดความหลากหลายของภาพตัวแทนของคนกลุ่มต่างๆ ในสังคม เช่น คนมุสลิม คนใต้ คนอีสาน คนเหนือ หรือกลุ่มวิชาชีพ


 


2. วิธีการสร้างตัวละคร (Characters) ควรเพิ่มความระมัดระวังในการสร้างบุคลิกตัวละครที่อาจเป็นการสร้างภาพเหมารวมของคนบางกลุ่ม เช่น คนอีสานเป็นคนโง่ จน เป็นคนรับใช้, คนใต้เป็นคนโกง หัวรุนแรง ชอบเรื่องการเมือง, คนเหนือเป็นคนเรียบร้อย เชื่องช้า, คนอ้วนเป็นตัวตลก, คนดำเป็นที่น่าละอายและอยากขาว, คนรวยเป็นคนดี คนจนชอบลักขโมย, คนแก่มักตลก เลอะเลือน, สาวสวยเซ็กซี่ชอบยั่วชาย, คนลาว คนบ้านนอกไม่เจริญ, คนพม่าไม่น่าไว้ใจ แต่คนฝรั่งฉลาดกว่าเรา ฯลฯ เหล่านี้เป็นการสร้างและตอกย้ำภาพตายตัวให้กับผู้ชม ซึ่งจะมีผลต่อความคิด ทัศนคติที่ผิดเพี้ยน ผิวเผิน และส่งผลให้เกิดอคติและการเลือกปฏิบัติต่อความไม่เท่าเทียมกันระหว่างคนกลุ่มต่าง ๆ ในสังคม


 


3. ภาพตัวแทนคนพิการ (Disabled) ควรลด หรือ ลบ มุขตลกที่เกี่ยวข้องกับมิติเรื่องรูปร่างหน้าตา และคนพิการ เพราะมีซิทคอมหลายเรื่องใช้มุขตลกจากลักษณะด้อยของบุคคล เช่น คนแคระ, คนตาบอด คนปัญญาอ่อน (ออทิสติก) หรือพิการทางสมอง อันเป็นการย้ำเติมและสร้างความเข้าใจผิด คือ คิดว่า คนเหล่านั้น อ่อนด้อย หรือ มีปัญหา


 


4. ภาพตัวแทนเพศหญิง (Female) ควรเพิ่มบทบาทของตัวละครหญิงให้มากไปกว่านางเอกและตัวตลก ให้นางเอกเป็นจุดศูนย์กลางของเรื่อง และ มีบทบาทสำคัญในการดำเนินเรื่อง แทนการเน้นเฉพาะพระเอก ลดเนื้อหาที่ตอกย้ำว่าผู้หญิงเป็นวัตถุทางเพศ สลัดชุดความคิดเก่าๆ ในเรื่องสิทธิ บทบาทและหน้าที่ของชาย หญิง


 


5. ภาพตัวแทนเชื้อชาติ/ชาติพันธุ์ (Race/Ethnic) ไม่ควรใช้ลักษณะทางเชื้อชาติ/ชาติพันธุ์ของผู้คนมานำเสนอเป็นเรื่องตลก เช่น คนพม่าพูดไม่ชัด คนอีสานจน ชอบนินทา ไร้การศึกษา


 


6. ภาพตัวแทนอายุ (Aged) ควรลดการสร้างภาพตายตัวของคนแก่ว่าต้องเป็นตลก หลงๆ ลืมๆ หากเป็นผู้ชาย ก็ต้องเจ้าชู้ เฒ่าหัวงู หากเป็นผู้หญิงก็แก่เกินแกงไม่มีเสน่ห์น่าเบื่อ ขี้บ่นหลงๆ ลืมๆ ควรสร้างบุคลิกลักษณะอื่นๆ ให้กับบุคคลเหล่านี้บ้าง


 


7. ภาพตัวแทนเรื่องความสวยงาม (Beauty) ควรลดเนื้อหาที่หยิบยกความบกพร่องด้านรูปร่างหน้าตามาเป็นคำด่า โดยเฉพาะเรื่องผิวดำ ความอ้วน ความขี้เหร่ ความอัปลักษณ์เล็กๆ น้อยของผู้คน โดยเฉพาะการตั้งฉายาของตัวละครให้มีหน้าตาเหมือนสัตว์ หรือหน้าเหมือนผี เพราะเป็นการขยายความแตกต่าง และยิ่งทำให้คนที่มีรูปลักษณ์เหล่านั้น คิดเอง หรือ ถูกมองว่า เป็นคนด้อยค่า บกพร่องในชีวิต


 


8. มุขตลก (Comedy) ควรให้น้ำหนักกับการสร้างสรรค์เรื่องตลกแบบสถานการณ์ มากกว่าการใช้มุขตลกที่เกิดจากกลวิธีทางภาษาซึ่งไม่ค่อยเชื่อมโยงกับเรื่องราวในภาพรวม ควรหลีกเลี่ยงการเล่นตลกทะลึ่งลามก เจ็บตัว เหยียดหยาม ใช้วาจาเผ็ดร้อน เพราะอาจเป็นการสร้างการรับรู้ที่ไม่ถูกต้องว่า ยิ่งเล่นตลกทะลึ่งลามก ปากร้ายมากเท่าไร ก็ยิ่งเป็นคนตลกและเป็นที่ชื่นชอบมากเท่านั้น


 


 


นักวิชาการแนะซิทคอมนำเสนอภาพของสังคมรอบด้าน ไม่ควรนำภาพเดียวสุดโต่ง


ด้านวิทยากรที่เข้าร่วมการแถลงผลการศึกษานำโดย ดร.วิลาสินี พิพิธกุล อดุลยานนท์ ผู้อำนวยการสำนักรณรงค์และสื่อสารสาธารณะเพื่อสังคม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ผู้เชี่ยวชาญด้านสตรีศึกษา และ สื่อสารมวลชน กล่าวว่า ซิทคอมเป็นรายการโทรทัศน์ที่ดูสนุก ดูแล้วคนดูไม่ต้องคิดอะไรมาก แต่กลับแฝงความรุนแรงที่ตอกย้ำซ้ำๆ อาจก่อให้เกิดความเกลียดชังผ่านสัญลักษณ์โดยไม่รู้ตัว การที่มีเสียงหัวเราะมากๆ อาจส่งผลทำให้เกิดความเคยชินกับสิ่งที่หัวเราะ สังคมควรให้ความสำคัญกับเรื่องอคติและภาพตัวแทนเพราะในทางวิชาการด้านสตรีศึกษานั้น ภาพตัวแทนมีความสำคัญกับกระบวนการถ่ายทอดความคิดของคนในสังคม ภาพตัวแทนเป็นผลผลิตของการให้ความหมายแทนสิ่งหนึ่งสิ่งใดแทนกลุ่มคนหรือปรากฏการณ์ซึ่งต่างจากการสะท้อนภาพสังคม ทฤษฎีสตรีศึกษาบอกว่า "สื่อเล่นบทบาทของการสร้างภาพตัวแทนซึ่งต่างจากการสะท้อนภาพตรง" เพราะ ภาพที่สื่อเสนอ มีเรื่องของการให้ความหมาย ให้คุณค่า ตอกย้ำอุดมการณ์ และความเชื่อของสังคมที่มีต่อคนกลุ่มต่างๆ ตลอดเวลา ยิ่งสังคมเห็นภาพตัวแทนของคนกลุ่มใดซ้ำๆ สังคมก็ยิ่งถูกครอบงำได้มากขึ้น ทำให้สังคมเชื่อว่า กลุ่มคนที่ถูกนำเสนอในลักษณะที่ด้อยกว่า มีความด้อยกว่าคนกลุ่มอื่น (จริง)


 


อย่างไรก็ตาม ดร.วิลาสินี ชี้ว่า ภาพตัวแทนเปลี่ยนได้ตามสภาพสังคมที่เปลี่ยนไป เมื่อภาพตัวแทนเปลี่ยนจะมีผลต่อการขับเคลื่อนสังคม สื่อสามารถปรับเปลี่ยนภาพตัวแทนได้ และหากผู้ผลิตซิทคอมสามารถสร้างความเข้าใจในคุณค่าของความแตกต่าง หลากหลายได้ ซิทคอมก็จะสร้างผู้ชมที่เข้มแข็งได้


 


ผู้อำนวยการสำนักรณรงค์และสื่อสารสาธารณะเพื่อสังคม สสส. แนะว่า สื่อจึงไม่ควรนำเสนอภาพด้านเดียวของคนกลุ่มใดอย่างสุดโต่งเกินไป (Extreme) เพราะซิทคอมเป็นเรื่องราวที่ใกล้เคียงกับชีวิตจริง ซึ่งในความเป็นจริงชีวิตมีหลายด้าน จึงอยากให้สื่อพยายามเสนอเนื้อหาหลายๆ ด้านของผู้คน ทั้งด้านดี/เลว ขาว/ดำ


 


 


เชื่อซิทคอมมีพลัง แต่กล้าหยิบมุมหลากหลายมานำเสนอหรือไม่


ผศ.ดร.อัศวิน เนตรโพธ์แก้ว อาจารย์คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิต กล่าวว่า รายการซิทคอมมีพลังค่อนข้างมาก เพราะเนื้อหามีความร่วมสมัย ทำให้คนดูรู้สึกมีอารมณ์ร่วมไปกับเรื่องราวได้ง่าย จึงอยากเสนอแนะให้สื่อเสนอภาพคนกลุ่มต่างๆ ในสังคม ลดการผูกขาดสัดส่วนเนื้อหาของกลุ่มคนที่ถูกนำเสนอมากและบ่อยครั้ง เลือกนำเสนอคนกลุ่มน้อยแทน ยิ่งหากสามารถหยิบมุมหรือเรื่องราวที่หลากหลายมาเสนอก็จะช่วยขยายกลุ่มผู้ชมได้ กล่าวคือ ผู้ชมที่หัวเราะก็จะไม่ใช่ผู้ชมกลุ่มเดิมๆ เท่านั้น ทั้งนี้ ซิทคอมมีความยืดหยุ่นสูงในการดำเนินเรื่อง เพราะสามารถกำหนดสถานการณ์ รวมทั้งสร้างตัวละครที่หลากหลายได้ เปิดช่องให้ผู้ผลิตสามารถฉีกตัวเองออกไปได้ แต่ก็ขึ้นอยู่กับว่าผู้ผลิตจะทำหรือไม่


 


ผศ. ดร.อัศวิน ตั้งข้อสังเกตุว่า วิกฤตทางการเมืองในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาเป็นเครื่องบ่งชี้ว่าสังคมไทยยังมีการแบ่งชนชั้นอยู่ ดังนั้น สื่อไม่ควรนำเสนอเนื้อหาที่ยิ่งถ่างช่องว่างของชนชั้นเหล่านั้น ในด้านอคติในเชื้อชาติ ชาติพันธุ์ โดยเฉพาะต่อภาคใต้ สื่อควรเสนอแง่มุมที่สวยงามของแต่ละท้องถิ่น เพื่อสร้างความสมานฉันท์ ส่วนในแง่อคติต่ออายุ สื่อน่าจะนำเสนอจุดดี และ ลักษณะเด่นของคนต่างกลุ่มวัย


 


นพ.กัมปนาท ตันสิถบุตรกุล ในฐานะจิตแพทย์ แนะให้สื่อระมัดระวังการนำเสนอภาพผู้ป่วยที่ไม่ตรงกับความเป็นจริง เช่นกรณีผู้ป่วยโรคจิตที่สื่อมักนำเสนออย่างไม่ถูกต้อง ขาดการศึกษา ค้นคว้าหาข้อมูล ส่วนในมิติเพศที่สาม สื่อน่าจะดึงศักยภาพเชิงบวกของคนกลุ่มนี้ออกมานำเสนอบ้าง โดยสรุป หากสื่อ สามารถนำเสนอเรื่องราวในละครที่จบลงด้วยการที่ตัวละครมองเห็นคุณค่าและมีความภาคภูมิใจในตนเอง ก็จะทำให้เป็นละครที่ทำให้ผู้ชมดูแล้วเกิดความอิ่มเอมใจ นอกจากนี้สื่อยังควรระมัดระวังการเสนอเนื้อหาความรุนแรง เพราะในปัจจุบันแม้กระทั่งในรายการข่าว ยังมีความรุนแรง โดยเฉพาะเมื่อผู้ประกาศข่าวใช้วาจาจาบจ้วงแหล่งข่าว หรือ ผู้อื่น


 


หมายเหตุ


สนใจรายงานฉบับเต็ม โปรดติดต่อ โครงการศึกษาและเฝ้าระวังสื่อเพื่อสุขภาวะของสังคม (Media Monitor) เลขที่ 31 อาคารพญาไท ชั้น 4 ห้อง 418 ถนนพญาไท เขตราชเทวี กทม. 10400


โทรศัพท์ 02-246-7440, โทรสาร 02-246-7441 website: www.mediamonitor.in.th e-mail: mediamonitorth@gmail.com

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net