"เรียกฉันว่าคาร์ตีนีก็พอ": คาร์ตีนีกับวันสตรีสากลในอินโดนีเซีย

อรอนงค์ ทิพย์พิมล

 

คาร์ตีนีและสามี ภาพจาก http://id.wikipedia.org/wiki/Kartini

            "เรียกฉันว่าคาร์ตีนีก็พอ" เป็นคำพูดของระเด่น อาเจ็ง คาร์ตีนี (Raden Ajeng Kartini) ที่ปรามูเดีย อนันตา ตูร์ นักเขียนอินโดนีเซียผู้โด่งดังได้หยิบยกมาเป็นชื่อหนังสือเกี่ยวกับคาร์ตีนีที่เขาประพันธ์ขึ้นด้วยเหตุผลที่ว่าคำดังกล่าวได้สะท้อนความคิดในเรื่องความเท่าเทียมกันในเรื่องความเป็นมนุษย์ตามความคิดของคาร์ตีนี  

            ในวาระวันสตรีสากลเวียนมาอีกครั้งในวันที่ 8 มีนาคมที่ผ่านมา แต่ดูเหมือนว่ากิจกรรมในสังคมไทยแทบไม่มีความเคลื่อนไหวอะไรเลย จะมีก็แต่งานของกลุ่มสตรีและกลุ่มองค์กรเอกชนที่ทำงานด้านสิทธิสตรีที่จัดขึ้นที่เชียงใหม่เท่านั้น แต่ในพื้นที่ส่วนกลางกลับเงียบกริบ ผู้เขียนจึงอยากเขียนถึงสตรีอินโดนีเซีย เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงบทบาทและการเคลื่อนไหวของสตรีในประเทศไทยว่ามีความคล้ายคลึงหรือแตกต่างกันอย่างไร

ชื่อของคาร์ตีนีจะเป็นชื่อแรกๆ เมื่อคนคิดถึงหากพูดถึงเรื่องสิทธิสตรีอินโดนีเซีย เธอเป็นที่รู้จักในฐานะนักต่อสู้เพื่อสิทธิสตรีคนแรกของอินโดนีเซียและได้เป็นแรงบันดาลใจในขบวนการผู้หญิงในอินโดนีเซียในเวลาต่อมา

 

ใครคือคาร์ตีนี

             คาร์ตีนี เป็นผู้หญิงที่มีบทบาทมากในประวัติศาสตร์อินโดนีเซีย เธอเกิดเมื่อวันที่ 21 เมษายน ค.. 1879 [1] ในครอบครัวชนชั้นสูงของชวา ในช่วงที่ดินแดนที่ยังไม่มีชื่อว่าอินโดนีเซียในขณะนั้นได้ถูกครอบครองโดยเจ้าอาณานิคมฮอลันดา บิดาของเธอคือระเด่น มัส ซอสโรนิงรัต (Raden Mas Sosroningrat) เป็นบูปาตี (bupati) [2] เมืองเจอปารา (Jepara) มารดาของเธอชื่องาซีระฮ์ (M.A. Ngasirah) เป็นบุตรีของผู้นำทางศาสนาอิสลามในชวา  มารดาของเธอเป็นภรรยาคนแรกของบิดา แต่มิใช่เป็นภรรยาเอก 

            ในขณะนั้นทางเจ้าอาณานิคมฮอลันดากำหนดว่าผู้ที่จะสามารถดำรงตำแหน่งบูปาตีได้ จะต้องแต่งงานกับผู้หญิงที่เป็นเชื้อพระวงศ์ เป็นเหตุให้บิดาของคาร์ตีนีแต่งงานใหม่กับระเด่นอาเจ็งวูรจัน (Raden Ajeng Woerjan) ซึ่งเป็นเชื้อสายราชามาดูรา  หลังจากที่แต่งงานกับระเด่นอาเจ็งวูรจัน บิดาของคาร์ตีนีก็ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นบูปาตีแห่งเมืองเจอปารา คาร์ตีนีมีพี่น้องทั้งจากมารดาเดียวกันและต่างมารดาทั้งสิ้น 11 คน เธอเป็นบุตรีคนที่ 5 จากพี่น้องทั้งหมด

            คาร์ตีนีได้รับการศึกษาที่โรงเรียน Europese Lagere School ซึ่งเป็นโรงเรียนที่ก่อตั้งโดยฮอลันดา ผู้ที่เข้าศึกษาที่โรงเรียนแห่งนี้ส่วนมากจะเป็นลูกหลานชาวยุโรป และชนพื้นเมืองชั้นสูงเท่านั้น  เด็กผู้หญิงอายุรุ่นราวคราวเดียวกับคาร์ตีนีน้อยคนนักที่จะมีโอกาสได้ศึกษาในโรงเรียน เนื่องจากว่าการศึกษาในสมัยนั้นเป็นเรื่องของผู้ชายและชนชั้นสูง  

ที่โรงเรียนแห่งนี้คาร์ตีนีได้เรียนรู้วิชาการต่างๆ รวมถึงภาษาฮอลันดา  จนอายุได้ 12 ปีจบการศึกษาระดับประถมศึกษาก็ต้องออกจากโรงเรียนเพื่อมาเก็บตัวอยู่ที่บ้านตามประเพณีดั้งเดิมของชวา เรียนงานเย็บปักถักร้อย งานบ้าน เพื่อเตรียมตัวออกเรือนกับผู้ชายที่พ่อแม่เห็นชอบ

            หลังจากออกจากโรงเรียนคาร์ตีนีได้ใช้เวลาเรียนด้วยตัวเองที่บ้าน เธอได้ใช้ความรู้ภาษาฮอลันดาที่เรียนมาเขียนจดหมายโต้ตอบกับเพื่อนชาวฮอลันดา และได้กลายมาเป็นหนังสืออันโด่งดังและทำให้เธอกลายเป็นที่รู้จักกว้างขวาง หนึ่งในบรรดาผู้ที่คาร์ตีนีเขียนจดหมายโต้ตอบไปมาคือ Rosa Abendanon ซึ่งได้ให้การสนับสนุนคาร์ตีนีอย่างมาก และถือได้ว่าเป็นสหายรักของเธอ

            คาร์ตีนีเรียนรู้เกี่ยวกับสังคมตะวันตกโดยผ่านการอ่านหนังสือ, นิตยสาร และ หนังสือพิมพ์ สิ่งที่ดึงดูดใจคาร์ตีนีคือความก้าวหน้าทางความคิดของผู้หญิงยุโรป ทำให้เธอคิดที่จะพัฒนาผู้หญิงพื้นเมืองให้เหมือนผู้หญิงยุโรป มีการศึกษา, มีความคิดที่ทันสมัย สามารถกำหนดชะตาชีวิตตัวเองได้ในเรื่องการแต่งงาน และโอกาสในการทำงาน ภายใต้สภาพที่ผู้หญิงพื้นเมืองมีสถานภาพต่ำกว่าผู้ชายอย่างมากในขณะนั้น

            แต่ทว่าไม่ว่าคาร์ตีนีจะมีแนวคิดที่ก้าวหน้ามากเพียงใดก็ตาม เธอได้ถูกบิดามารดาจัดการให้แต่งงานกับบูปาตีเมืองเริมบัง (Rembang) ชื่อว่า ระเด่น อาดีปาตี โจโยดีนิงรัต (Raden Adipati Joyodiningrat) ผู้ซึ่งมีภรรยาอยู่แล้ว 3 คน คาร์ตีนีแต่งงานเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 1903 ซึ่งนั่นเป็นการปิดโอกาสความหวังของเธอที่ต้องการไปศึกษาต่อและทำงนที่ยุโรป

            สามีของคาร์ตีนีเข้าใจความต้องการของเธอ จึงให้อิสระและสนับสนุนแนวความคิดของเธอ จึงให้เธอตั้งโรงเรียนสำหรับเด็กผู้หญิงขึ้นที่ทางด้านตะวันออกของประตูรั้วที่ทำการอำเภอเริมบัง ที่โรงเรียนแห่งนี้คาร์ตีนีได้สอนหนังสือให้เด็กผู้หญิงพื้นเมือง ซึ่งนับว่าเป็นแสงแรกของการได้รับการศึกษาแบบตะวันตกของผู้หญิงพื้นเมือง

            คาร์ตีนีให้กำเนิดบุตรชายคนแรกและคนสุดท้ายเมื่อวันที่ 13 กันยายน 1904 หลังจากนั้นไม่มีวันเธอก็เสียชีวิตเมื่อวันที่ 17 กันยายน 1904 เมื่ออายุได้ 25 ปี  สุสานของคาร์ตีนีตั้งอยู่ที่เดซา บูลู (Desa Bulu) เมืองเริมบัง

            ด้วยความมุมานะและตั้งใจจริงของคาร์ตีนี ที่ต้องการต่อสู้เพื่อให้เด็กหญิงชาวพื้นเมืองได้มีโอกาสเรียนในโรงเรียน ทำให้เกิดมูลนิธิคาร์ตีนี (Yayasan Kartini) โดยครอบครัวของ Van Deventer [3] และได้ตั้งโรงเรียนสำหรับผู้หญิง (Sekolah Wanita) ที่เมืองเซอมารัง (Semarang) เมื่อปี 1912 และต่อมาได้ขยายไปยังสุราบายา (Surabaya), ย็อกยาการ์ตา, มาลัง (Malang), มาดียุน (Madiun), จีเรอบน (Cirebon) และพื้นที่อื่นๆ  โดยตั้งชื่อโรงเรียนว่า "โรงเรียนคาร์ตีนี" (Sekolah Kartini)

            ประธานาธิบดีซูการ์โนได้ออกคำสั่งประธานาธิบดี แห่งสาธารณรัฐอินโดนีเซีย เลขที่ 108 ปี 1964 ลงวันที่ 2 พฤษภาคม 1964 ยกย่องให้คาร์ตีนีเป็นวีรสตรีแห่งเอกราชของชาติ (Pahlawan Kemerdekaan Nasional) พร้อมกับกำหนดให้วันเกิดคาร์ตีนีเป็นวันสำคัญแห่งชาติ และมีกิจกรรมรำลึกถึงคุณงามความดีของคาร์ตีนี ซึ่งต่อมารู้จักกันในชื่อว่า "วันคาร์ตีนี"

 

จดหมายของคาร์ตีนี

            จดหมายจำนวนมากมายของคาร์ตีนีถึงบรรดามิตรสหายของเธอในช่วงระหว่างปี 1899 ถึง 1904 ได้ถูกรวบรวมและตีพิมพ์เป็นภาษาฮอลันดาภายใต้ชื่อ Door Duisternis Tot Licht และได้มีการแปลเป็นภาษาอินโดนีเซียใช้ชื่อว่า Habis Gelap Terbitlah Terang (Letters of a Javanese Princess) หากจะแปลเป็นไทยคงจะได้ประมาณว่า "สิ้นความมืด พลันเกิดแสงสว่าง" จดหมายต่างๆ เหล่านี้เป็นเครื่องยืนยันว่าคาร์ตีนีมีความปรารถนาอันยิ่งใหญ่ที่ต้องการจะปลดปล่อยสตรีพื้นเมืองจากการกดขี่ที่กลายเป็นวัฒนธรรมในยุคสมัยของเธอ ต้องการให้ผู้หญิงชาวพื้นเมืองได้มีการศึกษาได้เหมือนกับผู้ชาย เพื่อจะได้มีโอกาสในการกำหนดชีวิตของตัวเอง และมีความเท่าเทียมเสมอภาคกับผู้ชาย

            จากจดหมายเหล่านี้ทำให้คาร์ตีนีมีชื่อเสียงโด่งดังในฐานะที่เป็น "ผู้บุกเบิกการปลดปล่อยผู้หญิงอินโดนีเซีย" หนังสือเล่มนี้ยังได้กลายเป็นแรงบันดาลใจให้กลุ่มผู้หญิงอินโดนีเซียในการต่อสู้เพื่อสิทธิสตรีอินโดนีเซีย 

ในช่วงที่เกิดกระแสชาตินิยมอินโดนีเซียต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 คาร์ตีนีได้ถูกทำให้เป็นสัญลักษณ์ของชาตินิยมและการตื่นตัวของขบวนการผู้หญิงอินโดนีเซียโดยนักชาตินิยมและกลุ่มผู้หญิงในขณะนั้น แม้ว่าในบรรดาจดหมายทั้งหมดของเธอนั้นจะไม่ได้สื่อสารกับชาวพื้นเมืองโดยเฉพาะในชวาบ้านเกิดของเธอเลยก็ตาม เนื่องจากว่าจดหมายทั้งหมดนั้นเขียนขึ้นในภาษาดัชต์ ซึ่งมีชนพื้นเมืองจำนวนไม่มากที่จะเข้าใจได้

            นอกจากหนังสือเล่มนี้แล้ว ยังมีหนังสืออีกจำนวนหนึ่งที่รวบรวมจดหมายและงานของคาร์ตีนี อาทิเช่น Surat-surat Kartini, Renungan Tentang dan Untuk Bangsanya, Kartini: Surat-surat kepada Ny RM Abendanon-Mandri dan Suaminya, Letters from Kartini, An Indonesian Feminist 1900-1904, Panggil Aku Kartini Saja, Aku Mau ... Feminisme dan Nasionalisme, Surat-surat Kartini kepada Stella Zeehandelaar 1899-1903 เป็นต้น

            อย่างไรก็ตามมีกระแสจากคนบางกลุ่มที่สงสัยว่าจดหมายคาร์ตีนีเป็นของจริงหรือไม่ ข้อสงสัยนี้เกิดขึ้นเพราะว่าหนังสือของคาร์ตีนีได้รับการตีพิมพ์ในขณะที่รัฐบาลอาณานิคมฮอลันดากำลังดำเนินนโยบายจริยธรรมที่หมู่เกาะฮินเดียฮอลันดา (อินโดนีเซีย) และ Abendanon เป็นหนึ่งในผู้ที่สนับสนุนนโยบายนี้อย่างแข็งขัน และจวบจนกระทั่งปัจจุบันจดหมายส่วนใหญ่ของคาร์ตีนีก็ยังไม่สามารถยืนยันการมีอยู่จริงๆ ของต้นฉบับได้

            นอกจากนี้การกำหนดให้วันเกิดคาร์ตีนีเป็นวันสำคัญก็มีข้อโต้แย้งจากผู้ไม่เห็นด้วยเช่นกัน โดยให้ความเห็นว่าควรจะรำลึกถึงคาร์ตีนีและจัดงานเฉลิมฉลองในวันแม่แห่งชาติคือวันที่ 22 ธันวาคมไปเลยทีเดียว [4] เพื่อไม่ให้เป็นการเลือกปฏิบัติ เนื่องจากว่ายังมีวีรสตรีแห่งชาติอีกเป็นจำนวนมากที่ไม่ได้รับการยกย่องให้มีวันรำลึกถึงเหมือนกับคาร์ตีนี ในความเห็นของพวกนี้การต่อสู้ของคาร์ตีนีจำกัดอยู่แค่เมืองเจอปาราและเริมบังเท่านั้น ไม่ได้เป็นการต่อสู้เพื่อชาติทั้งหมด และคาร์ตีนีไม่เคยจับอาวุธขึ้นสู้กับผู้รุกรานเลย 

            ในทางกลับกัน อีกฝ่ายหนึ่งก็แย้งว่าคาร์ตีนีไม่ได้เป็นแค่ผู้นำในการปลดปล่อยสตรีอินโดนีเซียจากความโง่เขลาเท่านั้น และเธอยังเป็นวีรสตรีแห่งชาติด้วยอุดมการณ์และแนวคิดสมัยใหม่ที่เธอได้ต่อสู้เพื่อชาติ และจิตวิญญาณของคาร์ตีนีได้สร้างแรงบันดาลใจให้แก่ขบวนการสตรีรุ่นต่อๆ มา

 

วันสตรีสากลที่อินโดนีเซียปี 2008

เมื่อวันที่ 6 มีนาคมที่ผ่านมา กลุ่ม Komisi Kesetaraan Nasional Konfederasi Serikat Buruh Sejahtera Indonesia ได้จัดแสดงละครกลางแจ้งจำลองเหตุการณ์การทำร้ายกดขี่ผู้หญิงที่วงเวียนน้ำพุหน้าโรงแรมอินโดนีเซีย เพื่อเป็นการรำลึกวาระครบรอบหนึ่งร้อยปีวันสตรีสากล มีผู้เข้าร่วมชุมนุมจากหลากหลายอาชีพตั้งแต่หมอไปจนถึงชาวนา โดยในการชุมนุมได้มีการแจกจ่ายผู้เช็ดหน้าให้ผู้เข้าร่วมชุมนุมเพื่อเป็นสัญลักษณ์ว่าถึงเวลาแล้วที่ผู้หญิงจะหยุดร้องไห้และลบรอยน้ำตาทิ้ง [5]

            นอกจากที่จาการ์ตาแล้วที่บันดุง นักศึกษาและผู้ใช้แรงงานได้รวมตัวกันในวันที่ 6 มีนาคมภายใต้ชื่อ Front Mahasiswa Nasional (แนวร่วมนักศึกษาแห่งชาติ) ในปีนี้พวกเขาได้เดินขบวนเพื่อรำลึกถึงวันสตรีสากล และได้เรียกร้องให้ผู้หญิงที่เป็นผู้ใช้แรงงานและชาวนามีองค์กรของตัวเองเพื่อที่จะเป็นปากเป็นเสียงให้ต่อสู้เพื่อให้ผู้ญิงได้รับสิทธิทางสังคม, การเมือง และเศรษฐกิจเท่าๆ กับผู้ชาย โดยข้อเรียกร้องที่เป็นรูปธรรมที่กลุ่มนี้เรียกร้องได้แก่ ต้องการให้รัฐบาลมีนโยบายการจ้างงานที่เหมาะสมกับผู้ใช้แรงงานผู้หญิง, มีการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกร และเพิ่มเงินช่วยเหลือในด้านสาธารณสุข

            ปัญหาของแรงงานสตรีในอินโดนีเซียขณะนี้คือ ส่วนใหญ่แล้วพวกเธอได้รับค่าจ้างเพียงสองในสามของค่าจ้างแรงงานผู้ชาย นอกจากนี้ยังมีการออกกฎที่เป็นการแบ่งแยกและกีดกันผู้หญิงที่ว่าผู้หญิงจะไม่สามารถเบิกค่ารักษาด้านสุขภาพ หากว่าสามีของเธอได้ใช้สิทธินี้ไปแล้ว Dewi ผู้ประสานงานของกลุ่มได้กล่าวว่า "ผู้หญิงอินโดนีเซียถูกทำให้เป็นพลเมืองชั้นสองทางการเมือง และถูกทำให้เป็นรองทางด้านวัฒนธรรม" [6]

และในวันที่ 8 มีนาคมซึ่งเป็นวันสตรีสากลองค์กรผู้หญิงได้ร่วมกันจัดการกิจกรรมเพื่อรำลึกวันสตรีสากลที่วงเวียนน้ำพุหน้าโรงแรมอินโดนีเซีย ซึ่งนำโดยนักเคลื่อนไหวจาก Srikandi Demokrasi Indonesia, Lembaga Partisipasi Perempuan, Public Service International dan perempuan PKS พวกเขาได้ยกประเด็นขึ้นมาเรียกร้องตั้งแต่เรื่องราคาน้ำมันประกอบอาหารและสินค้าจำเป็นอื่นๆ ที่สูงมากในขณะนี้ ไปจนถึงเรื่องประกันสุขภาพที่คนจนเข้าถึงได้ลำบาก นอกพวกนี้พวกเขายังได้สนับสนุนให้ผู้หญิงเข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมืองในการเลือกตั้งทั่วไปที่จะเกิดขึ้นในปี 2009 ด้วย [7]

นอกจากที่จาการ์ตาและที่บันดุงแล้ว ตามเมืองอื่นๆ ก็มีการจัดงานรำลึกถึงวันสตรีสากลเช่นกัน [8] โดยประเด็นที่กลุ่มต่างๆ หยิบยกขึ้นมานำเสนอต่อรัฐบาลและสังคมนั้นก็คล้ายๆ กัน คือเรียกร้องการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมต่อสตรี และนอกจากนี้ยังมีการเรียกร้องให้รัฐบาลจัดการกับปัญหาราคาสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นที่พุ่งสูงขึ้นและเป็นปัญหาใหญ่ในขณะนี้

หากคาร์ตีนีไม่จากโลกนี้ไปก่อนวัยอันสมควร และมีชีวิตยืนยาวกว่า 120 ปีอยู่ต่อมาจนถึงปัจจุบัน เธออาจจะผิดหวังกับความเป็นไปในดินแดนหมู่เกาะอินโดนีเซียที่การกดขี่ผู้หญิง ความไม่เท่าเทียมกันทางด้านสังคม การเมือง และเศรษฐกิจยังฝังรากอยู่อย่างเหนียวแน่นอันเนื่องมาจากระบบศักดินาที่ไม่เคยมีพื้นที่ให้กับความเท่าเทียมกันของมนุษย์ ทั้งๆ ที่เธอพยายามต่อสู้เพื่อปลดปล่อยผู้หญิงจากความโง่เขลา เพื่อให้ผู้หญิงได้รับการศึกษาเฉกเช่นเดียวกับผู้ชายตั้งแต่เมื่อร้อยปีก่อน   

แต่อย่างไรก็ตาม การออกมาเคลื่อนไหวอย่างกว้างขวางของกลุ่มองค์กรเอกชนและกลุ่มผู้หญิงต่างๆ ในการรำลึกถึงวันสตรีสากล และได้ป่าวประกาศข้อเรียกร้องและข้อเสนอของกลุ่มตัวเอง เป็นสัญญาณที่ดีว่าผู้หญิงอินโดนีเซียรู้ถึงปัญหาของตัวเอง และพร้อมที่จะต่อสู้กับสภาพที่ไม่เท่าเทียม ไม่เสมอภาคระหว่างเพศและไม่ได้นิ่งดูดายให้ปัญหานั้นดำรงอยู่ต่อไปเรื่อยๆ

เมื่อหันกลับมาดูที่บ้านเรา วันสตรีสากลผ่านเลยไปอย่างเงียบกริบ จะมีการเคลื่อนไหวก็เพียงที่เมืองเชียงใหม่เท่านั้น น่าคิดว่าเพราะเหตุใด หรือว่าบ้านเรานั้น ผู้หญิงมีโอกาส มีสิทธิหรือมีความเสมอภาคเท่ากับชายแล้วหรือ? หรือว่าในบ้านเราทั้งหญิงและชายโดนกดขี่จากอำนาจที่เหนือกว่าจนไม่รู้สึกถึงความแตกต่างกันอยู่แล้วในเรื่องความเสมอภาค?

 

เชิงอรรถ
[1] วันเกิดของคาร์ตีนีได้รับการยกย่องให้เป็นวันคาร์ตีนี (Kartini Day) ซึ่งถือเป็นวันสำคัญแห่งชาติ ในวันนี้บรรดาผู้หญิงอินโดนีเซียจะแต่งกายด้วยชุดประจำชาติที่เรียกว่าเกอบายา (Kebaya) ไปทำงานหรือไปโรงเรียน แม้กระทั่งคนกวาดถนนหรือคนขับรถประจำทางก็จะแต่งกายด้วยชุดประจำชาติด้วยเช่นกัน และจะการจัดกิจกรรมต่างๆ เช่น การจัดอบรม อภิปราย หรือสัมมนาต่างๆ
[2] บูปาตีเป็นตำแหน่งทางการเมืองที่มีมาตั้งแต่สมัยอาณานิคมจนถึงปัจจุบัน รากศัพท์ของคำว่า bupati มาจากภาษาสันสกฤต bhÛpati ซึ่งมีความหมายว่า "ราชาแห่งโลก"  บูปาตีทำหน้าที่ปกครองส่วนท้องถิ่นมีอำนาจเทียบเท่านายกเทศมนตรีในปัจจุบัน  ในสมัยอาณานิคมตำแหน่งบูปาตีถือว่าเป็นตำแหน่งที่มีเกียรติและต้องเป็นชนชั้นสูงเท่านั้นจึงจะดำรงตำแหน่งนี้ได้  ในปัจจุบันตำแหน่งนี้ได้รับการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชนในท้องถิ่น
[3]
Van Deventer เป็นผู้นำทางการเมืองชาวฮอลันดาที่สนับสนุนให้ใช้นโยบายจริยธรรมในดินแดนอาณานิคมฮินเดียฮอลันดา เขาเคยเขียนบทความเรื่อง "หนี้เกียรติยศ" วิพากษ์นโยบายของรัฐบาลฮอลันดา และกล่าวว่าชาวฮอลันดาเป็นหนี้ชาวพื้นเมืองจากการปกครองเป็นอาณานิคมซึ่งทำให้ฮอลันดามความเจริญรุ่งเรือง
[4] วันแม่แห่งชาติของอินโดนีเซียตรงกับวันที่ 22 ธันวาคมของทุกปี โดยมีประวัติความเป็นมาตั้งแต่สมัยอาณานิคม เมื่อมีการประชุมผู้หญิงอินโดนีเซียครั้งที่หนึ่งที่เรียกว่า Kongres Perempuan Indonesia I ที่เมืองย็อกยาการ์ตา เมื่อวันที่ 22-25 ธันวาคม 1928 โดยมีกลุ่มองค์กรผู้หญิงประมาณ 30 องค์กรเข้าร่วมในการประชุมครั้งนี้จาก 12 เมืองในชวาและสุมาตรา  และต่อมาได้มีการกำหนดให้วันที่ 22 ธันวาคมเป็นวันเฉลิมฉลองวันแม่ (Hari Ibu) โดยการตัดสินใจของที่ประชุมคองเกรสผู้หญิงอินโดนีเซียครั้งที่สามเมื่อปี 1938 
[5] ผู้สนใจสามารถเข้าไปชมคลิปข่าวได้จาก "Teatrikal 100 Tahun Hari Perempuan"   (ละครร้อยปีวันสตรีสากล) http://tv.kompas.com/berita/metropolitan/teatrikal_100_tahun_hari_perempuan_.html
[6] Erick P. Hardi, "Mahasiswa dan Buruh Peringati Hari Perempuan Sedunia" (นักศึกษาและผู้ใช้แรงงานรำลึกวันสตรีสากล)  http://www.tempointeractive.com/read.php?NyJ=cmVhZA==&MnYj=MTE4NzE3
[7] "Aksi Perempuan di Hari Perempuan Dunia" (กิจกรรมของผู้หญิงในวันสตรีสากล)
http://www.metrotvnews.com/berita.asp?id=54934
[8] ตัวอย่างรายงานข่าวการจัดงานรำลึกวันสตรีสากลตามเมืองต่างๆ ได้แก่ Reny Sri Ayu Taslim, "Perempuan Palu Peringati Hari Perempuan" (ผู้หญิงปาลูรำลึกวันสตรี)http://www.kompas.co.id/read.php?cnt=.xml.2008.03.08.20182116&channel=&mn=&idx= หรือ "Aksi Memperingati Hari Perempuan Sedunia di Daerah" (กิจกรรมรำลึกวันสตรีสากลที่ภูมิภาค) http://www.metrotvnews.com/berita.asp?id=54932

 

เอกสารประกอบการเขียน

Elizabeth Martyn. The Women"s Movement in Post-Colonial Indonesia: Gender and Nation in a New Democracy. London: RoutledgeCurzon, 2005.

F. G. P. Jaquet. Kartini: Surat-surat kepada Ny. R.M. Abendanon-Mandri dan suaminya. Penerjemah, Sulastin Sutrisno. Jakarta: Penerbit Djambatan, 2000.

Kathryn Robinson and Sharon Bessell (eds.). Women in Indonesia: Gender, Equity and Development. Singapore: ISEAS, 2002.

Pramoedya Ananta Toer. Panggil Aku Kartini Saja: Sebuah Pengatar pada Kartini. (เรียกฉันว่าคาร์ตีนีก็พอ). Jakarta: Hasta Mitra, 2000.

Susan Blackburn. Women and the State in Modern Indonesia. Cambridge, U.K.: Cambridge University Press, 2004.

Websites

"Aksi Memperingati Hari Perempuan Sedunia di Daerah" (กิจกรรมรำลึกวันสตรีสากลที่ภูมิภาค) http://www.metrotvnews.com/berita.asp?id=54932

"Aksi Perempuan di Hari Perempuan Dunia" (กิจกรรมของผู้หญิงในวันสตรีสากล) http://www.metrotvnews.com/berita.asp?id=54934

Erick P. Hardi, "Mahasiswa dan Buruh Peringati Hari Perempuan Sedunia" (นักศึกษาและผู้ใช้แรงงานรำลึกวันสตรีสากล)  http://www.tempointeractive.com/read.php?NyJ=cmVhZA==&MnYj=MTE4NzE3 

Reny Sri Ayu Taslim, "Perempuan Palu Peringati Hari Perempuan" (ผู้หญิงปาลูรำลึกวันสตรี) http://www.kompas.co.id/read.php?cnt=.xml.2008.03.08.20182116&channel=&mn=&idx= 

"Teatrikal 100 Tahun Hari Perempuan" (ละครร้อยปีวันสตรีสากล)    http://tv.kompas.com/berita/metropolitan/teatrikal_100_tahun_hari_perempuan_.html

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท