WTO Watch: Food Aid ขัดต่อกฎกติกา WTO หรือไม่

วิโรจน์ สุขพิศาล

 

 

ความช่วยเหลือด้านอาหาร (Food Aid) เป็นธุรกรรมระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับความช่วยเหลือในรูปของสินค้าทางด้านอาหารแก่ประเทศที่มีความจำเป็นที่จะรับความช่วยเหลือประเภทนี้ สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศแรกที่ให้ความช่วยเหลือด้านอาหาร โดยเริ่มต้นในปี พ..2493 ซึ่งเหตุผลของสหรัฐฯที่ให้ความช่วยเหลือด้านอาหารก็เพื่อขจัดสินค้าเกษตรส่วนเกินภายในประเทศและเหตุผลทางการเมือง

 

จากแนวโน้มที่เพิ่มสูงของการให้ความช่วยเหลือด้านอาหารในฐานะเป็นเครื่องมือในการกำจัดผลผลิตส่วนเกินภายในประเทศ นำไปสู่การกำหนดหลักการจำหน่ายส่วนที่เกิน (The FAO Principles of Surplus Disposal) ขององค์การอาหารและเกษตร (FAO) ในปี พ..2497 โดยมีหลักการสำคัญคือการให้ความช่วยเหลือด้านอาหารเพื่อเพิ่มพูนการบริโภคภายในประเทศผู้รับต้องไม่สร้างความเสียหายแก่ผู้ส่งออกและผู้ผลิตในประเทศผู้รับบริจาค รวมทั้งมีการจัดตั้งคณะอนุกรรมการที่ปรึกษาว่าด้วยการจำหน่ายส่วนที่เกิน (Consultative Sub-Committee on Surplus Disposal: CSSD) เพื่อให้คำปรึกษาเกี่ยวกับความช่วยเหลือด้านอาหารและธุรกรรมเกี่ยวกับความช่วยเหลือ

 

ความช่วยเหลือด้านอาหารเริ่มเป็นที่สนใจของการเจรจาองค์การการค้าระหว่างประเทศในการประชุมรอบอุรุกวัย ข้อตกลงรอบอุรุกวัยได้กล่าวถึงความช่วยเหลือด้านอาหารในความตกลงว่าด้วยการเกษตร (Agreement on Agriculture) ข้อ 10.4 ซึ่งมีสาระสำคัญ คือ food aid จะต้องไม่ผูกมัดกับการผลิตด้านการเกษตรแก่ประเทศผู้รับบริจาค food aid ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ของ FAO "หลักการจำหน่ายส่วนที่เกิน และพันธะกรณีที่ต้องปรึกษา" (Principles of Surplus Disposal and Consultative Obligations) รวมทั้ง ในกรณีที่เหมาะสมระบบของข้อกำหนดทางการตลาดทั่วไป (Usual Marketing Requirements: UMRs) และความช่วยเหลือด้านอาหารต้องอยู่ในรูปการให้เปล่าอย่างเต็มที่ หรือภายใต้เงื่อนไขที่ลดหย่อนไม่น้อยกว่าที่กำหนดไว้ในข้อ 4 ของอนุสัญญาว่าด้วยความช่วยเหลือด้านอาหาร1986 (1986 Food Aid Convention) เท่าที่จะเป็นไปได้

 

กลุ่มประเทศสมาชิกเห็นว่า แนวทางปฏิบัติการให้ความช่วยเหลือด้านอาหารในข้อตกลงรอบอุรุกวัยไม่เข้มงวดเท่าที่ควร ในหลายครั้งความช่วยเหลือด้านอาหาร (food aid) ก่อให้เกิดการบิดเบือนทางการค้า เนื่องจากความช่วยเหลือด้านอาหารถูกใช้เป็นเครื่องมือในการอุดหนุนการส่งออกและเพื่อสนับสนุนการขยายการส่งออกในอนาคต นอกจากนั้นความช่วยเหลือด้านอาหารยังอาจไปแทนที่การผลิตในประเทศที่รับบริจาค ส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตและผู้ส่งออกภายในประเทศผู้รับบริจาค ซึ่งความช่วยเหลือด้านอาหารอาจขัดต่อจุดมุ่งหมายในประเด็นเรื่องการเกษตรของข้อตกลงของ WTO คือ ลดการบิดเบือนในผลผลิตทางการเกษตรในตลาดโลก การบิดเบือนทางการค้าที่ WTO มุ่งหมายจะกำจัดประกอบไปด้วย กำแพงภาษีศุลกากร (tariffs), การอุดหนุนเพื่อการเกษตรภายในประเทศ และ การสนับสนุนที่เกี่ยวเนื่องกับการส่งออก

 

สหรัฐอเมริกาถูกมองว่า การให้ความช่วยเหลือด้านอาหาร โดยเฉพาะการให้ความช่วยเหลือโดยมีข้อผูกมัด และการให้ความช่วยเหลือโดยนำสินค้าในความช่วยเหลือไปแลกเปลี่ยนเป็นเงิน(Monetization) ก่อให้เกิดการบิดเบือนในผลผลิตทางการเกษตร กลุ่มสหภาพยุโรปเสนอว่า การให้ความช่วยเหลือด้านอาหารควรให้เป็นเงินสดแทนการให้ความช่วยเหลือด้วยโภคภัณฑ์อื่น (in-kind) เนื่องจากมีประสิทธิภาพและสามารถตอบสนองต่อความต้องการได้ดีกว่า ในขณะที่สหรัฐฯ เห็นว่า การให้ความช่วยเหลือด้วยเงินสดจะเผชิญกับปัญหาความไม่โปร่งใสและการคอร์รัปชั่น นอกจากนั้น สหรัฐฯยังเผชิญกับแรงกดดันทางการเมืองจากกลุ่มธุรกิจการเกษตร และการธุรกิจขนส่งทางทะเลในสหรัฐฯ ซึ่งเป็นกลุ่มที่ได้ประโยชน์จากนโยบายความช่วยเหลือด้านอาหารของสหรัฐฯ

 

จากกฎระเบียบของการให้ความช่วยเหลือด้านอาหารในข้อตกลงรอบอุรุกวัยที่ไม่เข้มงวดเท่าที่ควร นำไปสู่ข้อเรียกร้องของสมาชิกให้มีการแก้ไขความตกลงว่าด้วยการเกษตร(Agreement on Agriculture) ให้มีแนวทางปฏิบัติที่เข้มงวดยิ่งขึ้นเพื่อมิให้ประเทศผู้บริจาคนำความช่วยเหลือด้านอาหารไปใช้เป็นเครื่องมือในการอุดหนุนการส่งออก และเพื่อให้ความช่วยเหลือสามารถตอบสนองต่อความต้องการของประเทศผู้รับบริจาคได้อย่างเหมาะสมและทันต่อความต้องการในกรณีฉุกเฉิน

คณะกรรมาธิการการเกษตร (committee on Agriculture) ขององค์การการค้าระหว่างประเทศได้แก้ไขความตกลงว่าด้วยการเกษตรข้อ 10.4 (JOB(07)/128) โดยร่างความตกลงนี้กำหนดให้ความช่วยเหลือด้านอาหารควรอยู่ในรูปการให้เปล่าอย่างเต็มที่และควรให้ความช่วยเหลือตามความต้องการของประเทศผู้รับบริจาค ทั้งยังกำหนดให้ประเทศผู้บริจาควรจัดหาอาหารในความช่วยเหลือจากประเทศผู้รับบริจาคหรือภูมิภาคใกล้เคียง นอกจากนั้นยังกล่าวถึง Safe box สำหรับความช่วยเหลือในกรณีเร่งด่วน ซึ่งห้ามให้ความช่วยเหลือโดยวิธี monetization และยังกำหนดให้ประเทศผู้บริจาคต้องรายงานข้อมูลการให้ความช่วยเหลือด้านอาหารแก่ คณะกรรมาธิการการเกษตร (committee on Agriculture)

 

กลุ่มประเทศสมาชิกองค์การการค้าระหว่างประเทศต่างหวังว่า ร่างความตกลงว่าด้วยการเกษตรข้อ 10.4 ใหม่นี้ จะเป็นแนวปฏิบัติในการให้ความช่วยเหลือด้านอาหารนำไปใช้เพื่อวัตถุประสงค์ด้านมนุษยธรรมอย่างแท้จริง โดยมิได้นำความช่วยเหลือนี้ไปใช้เป็นเครื่องมือในการแสวงหาผลประโยชน์ให้แก่ประเทศของตน.

 

หมายเหตุ

จากเอกสารข่าว WTO Watch ฉบับที่ 5 มีนาคม 2551

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท