Skip to main content
sharethis

"จากบทความเดิมชื่อ อัปลักษณะแห่งกฎหมายเลือกตั้งว่าด้วยการห้ามขาย จำหน่าย จ่ายแจก หรือจัดเลี้ยงสุรา"


 


 


ชำนาญ จันทร์เรือง


                       


 


"มาตรา ๑๕๕ ผู้ใดขาย จำหน่าย จ่ายแจก หรือจัดเลี้ยงสุราทุกชนิด ในเขตเลือกตั้งในระหว่างเวลา ๑๘.๐๐ นาฬิกา ของวันก่อนวันเลือกตั้งหนึ่งวันจนสิ้นสุวันเลือกตั้ง    ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ


                       


บทบัญญัติในวรรคหนึ่ง ให้ใช้บังคับกับวันลงคะแนนตามมาตรา ๙๕ มาตรา ๙๖ และมาตรา ๙๗ ด้วย"


(ม.๙๕-เลือกตั้งล่วงหน้าสำหรับ จนท.หรือผู้ที่ติดธุระในวันเลือกตั้งทั่วไป, ม.๙๖-มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านน้อยกว่า ๙๐ วัน,ม.๙๗-เลือกตั้งนอกเขตจังหวัดที่ตนมีชื่อในทะเบียนบ้าน)พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ


ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และะการได้มาซึ่ง ส.ว พ.ศ.๒๕๕๐


 


ในช่วงระยะเวลาสามสี่เดือนที่ผ่านมา เรามีการเลือกตั้งใหญ่ๆกันไม่น้อยกว่าสองครั้ง คือ การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเมื่อ ๒๓ ธันวาคม ๒๕๕๐ และการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาเมื่อ๒ มีนาคม ๒๕๕๑ โดยในแต่ละครั้งก็จะมีการเลือกตั้งล่วงหน้าอีกอย่างละสองวันคือวันเสาร์อาทิตย์ของสัปดาห์ก่อนเลือกตั้ง ซึ่งยังไม่นับการเลือกตั้งใหม่ในกรณีได้ใบเหลืองหรือแดง และการเลือกตั้งท้องถิ่นซึ่งส่วนใหญ่ก็หมดวาระลงพอดีเช่นกันเกือบทั่วประเทศ


 


ในการเลือกตั้งแต่ละครั้งไม่ว่าจะเป็นการเลือกตั้งล่วงหน้า การเลือกตั้งทั่วไป เลือกตั้งใหม่ การเลือกตั้งแทนตำแหน่งที่ว่างของการเลือกตั้ง ส.ส., ส.ว.หรือการเลือกตั้งท้องถิ่น ก็จะมีกฎหมายห้ามมิให้ขาย จำหน่าย จ่ายแจก หรือจัดเลี้ยงสุราทุกชนิดตั้งแต่หกโมงเย็นของวันก่อนวันเลือกตั้งจนถึงเที่ยงคืนของวันเลือกตั้ง


 


ซึ่งก็หมายความว่าทุกพื้นที่ในประเทศไทยตั้งแต่วันที่ ๑๔ ธ.ค.๕๐ จนถึงวันที่ ๒ มี.ค.๕๑ ที่ผ่านมา ร้านค้า ร้านอาหาร สถานบริการต่างๆโดยเฉพาะอย่างยิ่งในแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ ต้องได้รับความเสียหายหรือได้รับการกระทบกระเทือนจากการถูกจำกัด การทำมาหากินไปไม่น้อยกว่าสิบวันหรือมากกว่านั้นหากในท้องที่นั้นมีการเลือกตั้งใหม่หรือ  มีการเลือกตั้งท้องถิ่นด้วย ทั้งๆที่ผู้ประกอบการเหล่านั้นได้เสียภาษีอากรหรือชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตถูกต้องครบถ้วนทั้งสามร้อยหกสิบห้าวันแล้วทุกประการ


           


ผมยกประเด็นนี้ขึ้นมาเพราะเห็นถึงความอัปลักษณ์ของบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ว่านี้


 


นับตั้งแต่จุดมุ่งหมายหรือเจตนารมณ์ของการร่างกฎหมายที่ว่าเพื่อป้องกันมิให้การขาย จำหน่าย จ่ายแจกหรือจัดเลี้ยงสุราเป็นเหตุจูงใจให้ลงคะแนนหรือไม่ลงคะแนนแก่ผู้ใดหรือพรรคการเมืองใดด้วยเหตุเพียงเพราะการเสพสุรา


 


ในประเด็นนี้อาจเป็นการเสแสร้งเอาใจผู้ที่เคร่งศีลข้อที่ห้าจนเกินเหตุด้วยคิดว่า ดีแล้วคนจะได้กินเหล้าน้อยลง ซึ่งก็ไม่จริงอีกนั่นแหละ เพราะกฎหมายห้ามเพียงการขาย จำหน่าย จ่ายแจกหรือจัดเลี้ยงเท่านั้น แต่ไม่ได้ห้าม "การดื่มหรือการเสพสุรา" แต่อย่างใด เราจึงได้เห็นร้านอาหารบางร้านที่มีคนนั่งแล้วมีเหล้าหรือไวน์หรือเบียร์ตั้งอยู่หน้าโต๊ะกันคนละขวดแล้วดื่มใครดื่มมัน หรือไม่เช่นนั้นก็เอากระดาษห่อขวดไว้ หรือแม้กระทั่งการเอาใส่ในกาน้ำชาแทน


 


จริงอยู่ผู้ที่ร่างกฎหมายอาจมองว่าอย่างน้อยก็เป็นการป้องกันการซื้อสิทธิ์   ขายเสียงด้วยการใช้สุราเป็นเครื่องล่อ แต่ถามว่ามีกี่ประเทศในโลกนี้ที่มีการใช้มาตรการทางกฎหมายเช่นว่านี้ เราจึงได้เห็นชาวต่างประเทศพากันแปลกใจและหัวเราะเมื่อเดินทางมาเมืองไทยในช่วงที่มีการเลือกตั้งแล้วเจอข้อห้ามที่ว่านี้ และเราก็จะรู้สึกหน้าชาขึ้นไปอีกเมื่อ ถูกถามต่อไปว่าแล้วมันจริงๆล่ะหรือที่การขาย จำหน่าย จ่ายแจกหรือจัดเลี้ยงสุราทำให้เป็นมูลเหตุจูงใจให้เลือกหรือไม่เลือกใครได้จริงๆ


 


เมื่อมาพิจารณาในประเด็นของการบังคับใช้กฎหมาย เราจะเห็นการละเมิดกฎหมายกันอยู่ทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นในโรงแรมใหญ่ๆ ในคลับเฮาส์ ในสนามกอล์ฟ ในสถานที่ส่วนตัว ฯลฯ ทั้งๆที่ไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดใดบัญญัติข้อยกเว้นสถานที่หรือให้อำนาจใครที่จะผ่อนผันการบังคับใช้กฎหมายนี้ได้


 


ที่ตลกที่สุดของการบังคับใช้กฎหมายนี้ก็คือหลังปิดหีบคือ ๑๕.๐๐ น.  ของวันเลือกตั้งก็มีการขาย จำหน่าย จ่ายแจกหรือจัดเลี้ยงกันอย่างโจ๋งครึ่ม สนุกสนานเฮฮากันทั้งประเทศ ทั้งๆที่กฎหมายยังมีผลบังคับใช้จนถึงเที่ยงคืนของวันเลือกตั้งหรือเลือกตั้งล่วงหน้า หากจะจับกันจริงๆแล้วก็คงไม่มีคุกตารางพอใส่ผู้ต้องหาเป็นแน่


 


จะเห็นได้ว่าบทบัญญัติที่ว่าการห้ามขาย จำหน่าย จ่ายแจกหรือจัดเลี้ยงนั้น ไม่ได้ผล ไม่ว่าจะเป็นการไม่ได้ผลของจุดมุ่งหมายของการร่างกฎหมายเพื่อป้องปราม การซื้อสิทธิ์ขายเสียงเพราะคนเราจะเลือกหรือไม่เลือกใครคงไม่เพียงเพราะการขาย จำหน่าย จ่ายแจกหรือจัดเลี้ยงสุราเท่านั้นเป็นแน่ อีกทั้งการห้ามก็ห้ามเพียงการขาย จำหน่าย จ่ายแจกหรือจัดเลี้ยงแต่ไม่ได้ห้ามกิน(แต่ถึงขนาดห้ามกินก็คงเกินไปแล้วล่ะ) และล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงในการบังคับใช้กฎหมายเพราะมีการละเมิดกฎหมายกันเต็มบ้านเต็มเมือง


 


ถึงเวลาแล้วที่เราควรจะต้องทบทวนบทบัญญัติดังกล่าวนี้ และปรับปรุงให้เหมาะสมกับวัตถุประสงค์ของการจัดให้มีการเลือกตั้ง ถูกต้องกับลักษณะนิสัย หรือธรรมชาติที่แท้จริงของมนุษย์และสังคมไทย


 


มิใช่สักแต่ว่ามีอำนาจแล้วอยากร่างกฎหมายออกมาอย่างไรก็ได้ ไม่ฟังเสียงชาวบ้านชาวช่อง จนกฎหมายที่ร่างออกมาแล้วมีผลประหลาดจนเกิดลักษณะอัปลักษณ์เช่นนี้


 


--------------------------------


หมายเหตุ  เผยแพร่ครั้งแรกในกรุงเทพธุรกิจฉบับประจำวันพุธที่ ๑๒ มีนาคม ๒๕๕๑

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net