Skip to main content
sharethis

เมื่อวันที่ 11 มี.ค. วาระครบรอบ 4 ปี ของการหายตัวไปของทนายสมชาย นีละไพจิตร ได้ถูกหยิบยกขึ้นในเวทีสภาสิทธิมนุษยชนที่เจนีวา โดยการที่นางอังคณา นีละไพจิตร ได้เรียกร้องให้รัฐบาลไทยและกรมสอบสวนคดีพิเศษแสดงความจริงใจในการคลี่คลายคดีดังกล่าว โดยขอให้เรียกเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลมาให้ความกระจ่างถึงการรับรู้ หรือความเกี่ยวข้องของตนเองกับการหายตัวไปของทนายสมชาย อีกทั้งยังเรียกร้องให้มีการสืบสวนสอบสวนหาพยานหลักฐานที่แน่นหนาก่อนที่จะนำคดีขึ้นสู่ศาล นางอังคณา ได้รับกำลังใจในการต่อสู้เพื่อความยุติธรรมเป็นอย่างมากจากเวทีนานาชาติ ในการนำเสนอข้อเรียกร้องของเธอในครั้งนี้


 


นางอังคณา นีละไพจิตร ได้กล่าวในที่ประชุมสภาสิทธิมนุษยชนฯ ระหว่างที่มีการเปิดอภิปรายสาธารณะในประเด็นการบังคับให้บุคคลสูญหาย ที่รับผิดชอบโดย คณะทูตฝรั่งเศสประจำกรุงเจนีวา และสหพันธ์ต่อต้านคนหายสากล (International Coalition Against Disappearances) โดยมีผู้เข้าร่วมรับฟังหลายท่านที่เป็นผู้แทนของคณะทูตประเทศต่างๆ ประจำกรุงเจนีวา นางอังคณาได้เรียกร้องให้กรมสอบสวนคดีพิเศษมีความกล้าหาญในการที่จะนำตัว พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร มาเป็นพยานให้ปากคำในกรณีที่ได้เคยให้สัมภาษณ์เรื่องการหายตัวไปของทนายสมชาย


 


นางอังคณากล่าวว่า "พ.ต.ท.ทักษิณ ได้ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนทุกแขนงเมื่อวันที่ 13 มกราคม 2549 หนึ่งวันหลังจากมีคำพิพากษาของศาลชั้นต้น โดยกล่าวว่า เขารู้ว่าทนายสมชายเสียชีวิตแล้ว เพราะพบร่องรอยหลักฐาน ซึ่งการที่พ.ต.ท.ทักษิณ ได้ให้ข่าวในฐานะนายกรัฐมนตรีจึงมีความน่าเชื่อถือ และจะต้องมีพยานหลักฐานเพียงพอที่ พ.ต.ท.ทักษิณจะกล่าวเช่นนั้น 


 


นอกจากนั้น นางอังคณายังได้เรียกร้องให้รักษาการณ์อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษคนใหม่ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง สร้างความกระจ่างต่อประเด็นเดียวกันด้วยว่า เขามีส่วนรับรู้ในการหายตัวไปของทนายสมชายหรือไม่ เพราะคำให้การของพยานโจทก์ปากหนึ่งกล่าวว่า มีเจ้าหน้าที่ตำรวจนายหนึ่งที่ได้ยินคำสนทนาของตำรวจกลุ่มหนึ่งที่ว่าจะไปลักพาตัวทนายสมชาย และนายตำรวจผู้นี้ได้รายงานสี่งได้รับฟังให้กับ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รับทราบ ข้อเท็จจริงดังกล่าว ที่ว่าขณะนี้ผู้ที่ดูเหมือนจะมีส่วนรับรู้ในการหายตัวไปของทนายสมชาย นีละไพจิตร ได้รับตำแหน่งเป็นหัวหน้าของกรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้สร้างความกังวลใจให้แก่ชุมชนระหว่างประเทศเป็นอย่างยิ่ง


 


รองข้าหลวงใหญ่ด้านสิทธิมนุษยชนและผู้แทนพิเศษแห่งเลขาธิการทั่วไปต่อเรื่องนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน ได้หารือกับนางอังคณา เป็นการส่วนตัว และได้แสดงความห่วงใยต่อความปลอดภัยของนางอังคณา รวมทั้งเป็นกำลังใจให้กับนางอังคณาและครอบครัว และกล่าวชื่นชมต่อความกล้าหาญของเธอที่ไม่เกรงกลัวในการที่จะค้นหาความจริงต่อการหายตัวไปของสามี


 


ท่านทูตไทยประจำกรุงเจนีวาได้แถลงต่อข้อเรียกร้องของนางอังคณาว่า รัฐบาลไทยให้ความสำคัญกับคดีนี้เป็นอย่างมาก และยังได้กล่าวชื่นชมการเข้าร่วมเวทีสภาสิทธิมนุษยชนฯ ในครั้งนี้ และให้คำมั่นสัญญาว่าจะมีการจัดการทางกฎหมายมากยิ่งขึ้นเพื่อเป็นหลักประกันว่า ผู้กระทำความผิดจะต้องได้รับโทษตามกระบวนการยุติธรรม


 


ท้ายที่สุด ท่านทูตยังกล่าวด้วยว่า รัฐบาลไทยไม่ต้องการให้ปัญหาการบังคับบุคคลให้สูญหายดำรงอยู่ต่อไป และจะพยายามทุกวิถีทางเพื่อให้รัฐบาลไทยรับรองกติกาสากลระหว่างประเทศว่าด้วยการต่อต้านการบังคับบุคคลให้สูญหาย


 


คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล (The International Commission of Jurists - ICJ)  มีความกังวลเป็นอย่างมากต่อความไม่คืบหน้าของคดีทนายสมชาย และความปลอดภัยของนางอังคณา และได้นำประเด็นดังกล่าวเข้าสู่สภาสิทธิมนุษยชน ฯ ICJ ได้กล่าวในแถลงการณ์ว่า "เรายินดีที่กรมสอบสวนคดีพิเศษยังคงทำคดีนี้ต่อไป แต่เรายังต้องการเห็นความสำเร็จในการนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษตามกระบวนการยุติธรรมในคดีนี้ และคดีการบังคับให้หายตัวไปอื่นๆ ในประเทศไทย"


 


และในวาระครบรอบการหายตัวไปครบ 4 ปี ของทนายสมชาย นีละไพจิตร ในวันนี้ (12 มีนาคม 2551) นางอังคณาจะได้พบกับสมาชิกของคณะทำงานด้านการบังคับบุคคลให้สูญหายแห่งสหประชาชาติ เพื่อนำเสนอสถานการณ์ความคืบหน้า ปัญหาอุปสรรคของกรณีการหายตัวไปของสามี และกรณีอื่นๆ ที่เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้


 


และในวาระครบรอบสี่ปีแห่งการหายตัวไปของสามีเธอในวันนี้ นางอังคณาได้ให้คำมั่นสัญญาว่าจะไม่ละความพยายามในการค้นหาความยุติธรรมให้กับสามีและเหยื่อของการบังคับบุคคลให้สูญหายอื่นๆ ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย และเธอยังแสดงความขอบคุณสำหรับการสนับสนุนให้กำลังใจอย่างอบอุ่นจากชุมชนนานาชาติ ซึ่งเป็นแรงผลักดันให้เธอคงความเข้มแข็งในการต่อสู่เพื่อความยุติธรรมต่อไป


 


คณะทำงานยุติธรรมเพื่อสันติภาพก่อตั้งขึ้นในเดือนมิถุนายน 2549 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อปกป้องสิทธิมนุษยชน สนับสนุนการเข้าถึงความยุติธรรม และเพื่อยุติการลอยนวลความผิดของผู้ละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นในภาคใต้ของไทย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net