Skip to main content
sharethis

เมื่อวันที่ 8 มี.ค.ที่ผ่านมา ณ ห้องประชุมศูนย์สตรีศึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กลุ่มประชาธิปไตยเพื่อรัฐสวัสดิการ (ปรส.) ร่วมกับเครือข่ายแรงงานภาคเหนือ จัดเวทีเสวนาเรื่อง "8 มี.ค.วันสตรีสากล แรงงานสร้างสรรค์โลก" ขึ้นเนื่องในวันที่ 8 มี.ค.เป็นวันสตรีสากล การเสวนาครั้งนี้มีตัวแทนองค์กรสตรี ตัวแทนเครือข่ายแรงงาน เข้าร่วมรับฟังและแสดงความคิดเห็นกัน


 


ในการเสวนาหัวข้อ "การต่อสู้ของผู้ใช้แรงงานและรัฐไทยยุคโลกาภิวัฒน์" รศ.ดร.อรรถจักร สัตยานุรักษ์ อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้อภิปรายเสนอประเด็นดังต่อไปนี้


 


000


 


"เราต้องคิดกันทั้งสังคม ช่วยกันสร้างให้ระบบของเรา ให้มันเสมอภาคและยุติธรรมมากขึ้น"


 


โดยปกติรัฐไทยทำหน้าที่เป็นนายหน้าจัดหาแรงงานให้ภาคอุตสาหกรรมมาโดยตลอด และการเป็นนายหน้าของรัฐไทย ก็คือเป็นนายหน้าที่พยายามจะทำให้กลุ่มทุนได้เปรียบตลอดมา ดังนั้น เราไม่ต้องแปลกใจว่า การจัดตั้งสหภาพแรงงาน หรือขบวนการอื่นๆ นั้นมันเป็นเรื่องยากเย็นแสนเข็ญ  เพราะกลไกอำนาจรัฐพยายามปกป้องกลุ่มทุน


 


ทั้งนี้มีความเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ผ่าน 2 ส่วนคือ


 


ส่วนหนึ่ง ในระบบเศรษฐกิจ การเปลี่ยนย้ายฐานการผลิตในที่ต่างๆ โดยระบบโรงงานใหญ่ๆ แบบเดิม มันลดลง และส่วนที่สอง มีการขยายตัวของภาคบริการ  


 


ซึ่งทั้ง 2 ลักษณะ มีการกระจายการผลิตที่เป็นลักษณะซอยย่อยมากขึ้น รวมไปถึงภาคบริการ ที่เติบโตขึ้นในสังคมไทย ซึ่งมันมีปัญหาตามมา และรัฐมีส่วนทำให้มันเกิดด้วย ก็คือ มันมีกระบวนการที่ทำให้ความแหลมคมของเรื่องชนชั้นลดลงไป ปัญหาแรงงานถูกทำให้เป็นซับซ้อนและซ่อนเรื่องอื่นมากมาย ที่ทำให้เราอาจจะต้องมองให้ทะลุ ปัญหาหญิง-ชาย ปัญหาชนกลุ่มน้อย ปัญหาภาคบริการ ภาคการผลิตนอกระบบ ที่ไม่เป็นทางการ คู่กับเป็นทางการในระบบทั้งหมด คือ สิ่งที่ซ้อนกันมากขึ้น ดังนั้น ถ้าหากเราจะคิดเรื่องนี้ต้องคิดให้เป็นระบบมากขึ้น


 


ทั้งนี้ในอนาคตท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงนั้น การขยายตัวภาคบริการ ถ้าเรามองแล้วจะมี 2 ส่วนคือ ภาคบริการเงิน และภาคบริการระดับล่าง


 


ซึ่งส่วนสำคัญ คือ ภาคบริการระดับล่าง ที่ขยายตัวขึ้นมากและต้องอาศัยแรงงานเป็นจำนวนมากเช่นกัน ส่วนใหญ่ที่จะเปิดรับแรงงานคือภาคบริการระดับล่าง ซึ่งตรงนี้ใช้แรงงานฝึกทักษะไม่มากนัก ทำให้กระบวนการระดับล่างเกิดสหภาพแรงงานยาก เนื่องจากแรงงานจะรู้ตัวตลอดว่าจะถูกแทนด้วยเพื่อนคนอื่น ดังนั้น ถ้าหากเราคิดถึงภาคบริการในแรงงานระดับล่าง การจัดตั้งสหภาพจึงเป็นไปได้ยาก การขยายตัวของภาคการผลิตที่ไม่เป็นทางการ หรือ แรงงานนอกระบบ มันทำให้แรงงานระดับล่างรวมตัวได้ยาก และระบบเศรษฐกิจ ก็ทำให้การจ้างงานเป็นเรื่องส่วนตัว เช่น


 


หนึ่ง การตัดสินใจเป็นของแม่บ้านเอง หรือเป็นของตนเอง ไม่ใช่เป็นของระบบทั้งหมด สอง แรงงานนอกระบบที่ถูกซ่อนไว้ไม่ให้รู้สึกเป็นแรงงาน หรือคิดว่าเป็นอาชีพอิสระ ทั้งที่เป็นระบบจ้างงาน สาม ผูกแรงงานไว้ด้วยความหวังว่า ทำงานที่บ้านแล้ว สามารถทำงานภายในครอบครัวได้ เลี้ยงลูกไปด้วย ทำงานไปด้วย


 


ซึ่งทั้ง 3 สิ่งนี้ไม่จริง แต่แรงงานไม่เป็นทางการ จะถูกกระทำแบบนี้ โดยเฉพาะแรงงานที่บ้าน คนจำนวนมากจะคิดว่า น่าจะเป็นแรงงานอิสระ แล้วก็ฝังหัวไป แบบนี้ ก็เช่นเดียวกัน การรวมตัวเป็นสหภาพแรงงานจึงเป็นได้ยากมาก เพราะถูกปลูกฝังว่า แรงงานเป็นอาชีพอิสระ มันเป็นเรื่องส่วนตัว รวมทั้ง สิ่งสำคัญก็คือรัฐไทยจะไม่พัฒนากฎหมายเพื่อให้ทั่วถึงอย่างแน่นอน


 


ในภาวะของการล่มสลายภาคเกษตรรายย่อย ที่จะทำให้คนออกมาสู่ภาคบริการระดับล่างสูงมากขึ้น เราก็คงจะรู้อยู่แล้วว่า ชาวนาจริงๆไม่มี  รายได้นอกภาคเกษตรเป็นตัวหลัก ดังนั้น สังคมไทยในอนาคต แรงงานส่วนน้อยจะอยู่ในภาคอุตสาหกรรมใหญ่ ซึ่งสามารถตั้งสหภาพแรงานได้ อย่างกรณีที่ตั้งมาแล้ว


 


แต่แรงงานส่วนใหญ่จะอยู่ในภาคบริการ และภาคอื่นๆ  นี่คือแนวโน้มที่เห็นได้ชัดเจน


 


ดังนั้น สิ่งที่เราจะต้องคิดกัน ก็คือว่า การจัดการสหภาพแรงงาน ที่คนส่วนใหญ่ ซึ่งอยู่ในภาคบริการ และแรงงานสามารถไหลเวียนกันได้ มีการฝึกปรือทักษะเล็กน้อย ก็นึกถึงแรงงานที่อยู่ในโลตัส แมคโคร ซึ่งเราจะพบว่ามีการไหลเวียนกันสูงมาก  ทำให้ทุกคนรู้สึกว่าจะต้องรักษาตำแหน่งไว้ กรณีแบบนี้เอง การจัดตั้งสหภาพแรงงานเป็นหย่อมๆ เป็นไปได้ยาก


 


ในการคิดเรื่องการเคลื่อนไหวของแรงงานนั้น เราต้องคิดกันในระดับให้กว้างกว่าความเป็นส่วนย่อย แน่นอน จงเคลื่อนไหวสร้างสหภาพแรงงานต่อไป แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น เราจะต้องทำให้สังคมทั้งสังคมสามารถเข้าใจว่า เราจะต้องจัดความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับสังคมใหม่ เราต้องคิดถึงให้รัฐสร้าง พระราชบัญญัติมาตรฐานการจ้างงานในสังคม หรือมาตรฐานแรงงานในสังคมทั้งหมด


 


ผมเห็นด้วยกับการรณรงค์เพื่อสิทธิของแรงงานที่รับงานไปทำที่บ้าน เราไม่ควรแค่คิดเป็นจุดๆ แต่ต้องคิดทั้งหมด ให้เกิดกลไกการทำงานทั้งหมด เปลี่ยนกลไกการจ้างงาน ต่อสู้เรื่องค่าแรงขั้นต่ำ แรงงานคนเดียวก็ฟ้องนายจ้างได้ ต้องมีมาตรฐานรวมแบบนี้ เราจึงจะมีเครื่องมือในการต่อสู้


 


ดังนั้น นอกจากงานที่เราทำโดยแต่ละส่วนตัวแล้ว สิ่งใหญ่ที่ต้องคิดกัน และเดินต่อไปว่า หนึ่ง เราต้องให้สังคมเรียนรู้ จะได้เป็นพลังช่วยเรา ตอนนี้ผมคิดว่า สังคมไม่ทันตระหนักว่า  มีความเปลี่ยนแปลงในสังคมมหาศาล และเรากำลังอยู่กับแรงงานนอกระบบ ลูกหลานของเขาอยู่กับแรงงานนอกระบบ ต้องมาคิดกันในเรื่องการสร้างมาตรฐานแรงงานของรัฐ เพื่อให้ครอบคลุมแรงงานทั้งหมด เพื่อให้ทุกคนมีหลักประกัน ซึ่งเราจะต้องให้เกิดการแก้ไขกฎหมายแรงงานทั้งหมด  สอง แรงงานนอกระบบ อยู่ได้ เพราะการถ่ายเทความรู้กันเอง เช่น พ่อค้าไอศกรีมเปลี่ยนมาขายลูกชิ้นในฤดูหนาว ผมขายไอศกรีมไม่ดี ผมจะข้ามไปขายลูกชิ้น ซึ่งมีเครือข่ายช่วยกันให้ความรู้ และตามตลาดนัดชาวบ้านทั่วๆ ไป ซึ่งจะมีศูนย์ความรู้ว่า เสาร์นี้ ไปขายที่นี่ ขายอะไรแบบนี้


 


และเราจะทำอย่างไรให้แรงงานนอกระบบ มีหนทางในการปรับชีวิตของคนไปด้วย และสร้างระบบคุ้มครองคน ซึ่งเราควรร่วมกันคิดสร้างระบบของการช่วยเหลือคนตัวเล็กตัวน้อย ที่รัฐไม่ได้ช่วยเหลือ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net