Skip to main content
sharethis

 






 


ศรายุธ ตั้งประเสริฐ รายงาน


 


หมายเหตุ อาจมีบางคนได้สรุปไปแล้วว่า การรัฐประหาร 19 กันยายน พ.ศ.2549 จะเป็นการรัฐประหารครั้งสุดท้าย ด้วยเหตุผลเรื่องการบริหารประเทศ และการปฏิบัติตามเหตุผลในการรัฐประหารล้มเหลว ซึ่งดูคล้ายกับความคิดหลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ที่ว่า รัฐประหารโดย รสช.เมื่อ 23 ก.พ. 2534 จะเป็นการรัฐประหารครั้งสุดท้าย และความคิดความเชื่อดังกล่าว ได้ทำให้คนในสังคมลืมเลือนเหตุการณ์การรัฐประหาร ความรุนแรง ผู้เสียชีวิตและผู้ที่มีส่วนร่วมในการก่ออาชญากรรม ไปในเวลาอันรวดเร็ว และฝันร้ายซ้ำซากก็ได้กลับมาเยือนสังคมไทยอีกครั้ง ครั้งแล้วครั้งเล่า


กลุ่มเพื่อนรัฐธรรมนูญ 40 นสพ.ประชาทรรศน์ ร่วมกับศูนย์วิจัยทางมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) จัดเวทีอภิปรายเรื่อง "จาก รสช.สู่ คมช.: จะป้องกันการรัฐประหารได้อย่างไร" เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2551 ณ คณะศิลปศาสตร์ มธ. โดยมีนางประทีป อึ้งทรงธรรม (ฮาตะ) ดร.สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ น.พ.กิติภูมิ จุฑาสมิต และนายจรัล ดิษฐาอภิชัย ร่วมเสวนา "ประชาไท" ทะยอยเรียบเรียงเนื้อหาโดยย่อในการอภิปรายของแต่ละคนมานำเสนอ


 


 


 



"มันมีแนวคิด/อุดมการณ์ที่เผยแพร่มาเรื่อยๆ ตั้งแต่ รสช. คือ เผด็จการรัฐสภา...


เราจึงจะต้องโต้ความคิดนี้ให้ตก  เพราะตราบใดที่ยังมีกระแสความคิดนี้อยู่


มันง่ายที่ทหาร หรือคนที่นิยมเผด็จการเรียกร้องให้ทหารทำรัฐประหารได้"



ในระบอบประชาธิปไตย เวลาเลือกตั้งเขาไม่ได้ให้เลือกคนดี


เขาเน้นให้เลือกคนที่จะเป็นตัวแทนประชาชนได้จริงๆ ดีไม่ดีอีกเรื่องหนึ่ง ถ้าเขาไม่ดีค่อยด่าว่า หรือถอดถอน


ให้เลือกพรรคการเมืองที่มีนโยบายสอดคล้องกับความต้องการ/ความคิดเห็นของประชาชน


แต่ประเทศไทยแนะให้เลือกคนดี


 



ผมเสนอให้ตั้งศาลประชาชน ให้ประชาชนมาฟ้องร้อง นำ คมช.8-9 คน มาขึ้นศาล


 


-จรัล ดิษฐาอภิชัย-


 


ผมจะพูดถึงเหตุหรือเงื่อนไขของการรัฐประหาร คำว่า "รัฐประหาร" มาจากภาษาฝรั่งเศส coup d"etat แปลว่า "ทุบโดยรัฐ" รัฐที่จะไปทุบใครได้ต้องเป็นรัฐที่มีกองกำลัง คือ "ทหาร" ผมเคยอ่านหนังสือปรัชญากรีก อริสโตเติลเขียนเรื่องอันตรายของระบอบประชาธิปไตยอยู่ที่ไหนบ้าง แล้วผมก็เคยเขียนบทความเรื่องนี้ มีอยู่ข้อหนึ่ง คือ สังคมหรือประเทศอย่าปล่อยให้คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งมีอำนาจมากเกินไป ถ้ามีอำนาจมากเกินไป เดี๋ยวเขาก็จะยึดอำนาจ ปี 34 รัฐบาลชาติชายและสังคมไทยขณะนั้น ปล่อยให้ จปร.5 มีอำนาจมาก คมช.ก็เหมือนกัน แต่กำลังหลักอยู่ที่นายพัน


 


ดังนั้น ถ้าเราจะป้องกันรัฐประหาร คือ ต้องทำอย่างไรที่ไม่ให้นายพันที่คุมกำลังมีความคิดเรื่องรัฐประหาร  เดือนหน้า (มี.ค. - เม.ย.) จะมีการโยกย้ายนายพัน ถ้าโยกย้ายไม่ดี รัฐประหารอาจเกิดขึ้นได้ง่าย จะทำอย่างไรต้องคิดกัน มีคนเสนอเยอะว่า โรงเรียนนายร้อย จปร.ต้องสอนเรื่องประชาธิปไตย เรื่องสิทธิมนุษยชน เคยเชิญผมไปบรรยาย แต่ไม่รู้เข้าหูหรือเปล่า


 


ที่สำคัญถัดมาคือ "ผบ.พล.1" รัฐประหารที่สำเร็จทุกครั้งต้องมี ผบ.พล.1 ร่วม เพราะ พล.1 อยู่ในกรุงเทพฯ ผบ.พล.1 คนปัจจุบันเป็นคนไปบรรยายว่า มีคอมมิวนิสต์อยู่ในพรรคนั้น ในขบวนการนั้น ก็ฝากนายกฯ และรัฐมนตรีกลาโหมพิจารณาเรื่องนี้ด้วย ผบ.พล.1 และผบ.พัน ซึ่งเป็นจักรกลสำคัญของการรัฐประหาร จะป้องกันรัฐประหารได้ต้องมาดูเรื่องนี้


 


ประเด็นที่ 2 มันมีแนวคิด/ อุดมการณ์ที่เผยแพร่มาเรื่อยๆ ตั้งแต่ รสช.คือ "เผด็จการรัฐสภา" คราว คมช.ก็อ้างว่ารัฐบาลเป็นเผด็จการทุนนิยม และเวลานี้ก็มีคนพูดกัน นายอานันท์ ปันยารชุน ก็เอาไปพูดว่า ประชาธิปไตยที่เป็นอยู่ปัจจุบันเป็นเผด็จการรัฐสภา เป็นประชาธิปไตยเพียงรูปแบบ เพราะฉะนั้น เราจึงจะต้องโต้ความคิดนี้ให้ตก เพราะตราบใดที่ยังมีกระแสความคิดนี้อยู่ มันง่ายที่ทหาร หรือคนที่นิยมเผด็จการเรียกร้องให้ทหารทำรัฐประหารได้


 


ในทางความคิดทฤษฎีมีอีกเยอะที่เราต้องโต้ เช่น เรื่องคนดี คนมีศีลธรรม เป็นกระแสความคิดที่จะนำมาสู่การเรียกร้องให้ทหารทำรัฐประหารอีก เพราะว่ารัฐบาลปัจจุบันและสภาผู้แทนฯ เป็นพวกไม่มีคุณธรรม/จริยธรรม แล้วแต่เขาจะว่า ความจริงในระบอบประชาธิปไตย เวลาเลือกตั้งเขาไม่ได้ให้เลือกคนดี เขาเน้นให้เลือกคนที่จะเป็นตัวแทนประชาชนได้จริงๆ ดีไม่ดีอีกเรื่องหนึ่ง ถ้าเขาไม่ดีค่อยด่าว่า หรือถอดถอน ให้เลือกพรรคการเมืองที่มีนโยบายสอดคล้องกับความต้องการ/ความคิดเห็นของประชาชน แต่ประเทศไทยแนะให้เลือกคนดี


 


ประเด็นที่ 3 รัฐบาลต้องสนับสนุนการศึกษา การเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตย โดยการตั้งกองทุนประชาธิปไตย หมายความว่า บุคคล/กลุ่ม/องค์การใดที่กำลังเคลื่อนไหว ต่อสู้ หรือดำเนินการใดเพื่อประชาธิปไตย รัฐบาลต้องมีกองทุนสนับสนุน โดยใช้เงินภาษีเหล้า บุหรี่ ซึ่งมีปีละ 2,000 ล้าน ตอนนี้หัก 1% ให้ สสส.ก็หักเพิ่มอีก 0.5% เอามาสนับสนุนการเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตย ซึ่งแน่นอนว่าถ้ารัฐบาลทำบกพร่องผิดพลาด ก็ต้องวิพากษ์วิจารณ์ ไม่ใช่เป็นกองทุนที่ขอให้คนไปชูป้ายเชลียร์นายกฯ 


 


เวลานี้มีปัญญาชนหลายคนตั้งคำถามเหมือนสมัย ร.5 ว่าประชาธิปไตยเหมาะสมกับประเทศไทยหรือไม่ พวกนี้ความคิดถอยหลังไปจนถึง ร.5 เผลอๆ ถอยหลังไป 2,000 ปี ก่อนกรีกเป็นประชาธิปไตย หรือมีหลาย คนคิดถึงประชาธิปไตยแบบไทยๆ นายอานันท์ก็ด้วย แต่ความคิดของนายอานันท์ไม่มีอะไร เหมือนขุนนางอังกฤษเมื่อ 200-300 ปีที่แล้ว เมื่ออังกฤษจะเป็นประชาธิปไตย ขุนนางก็ตั้งคำถามว่า เสียงส่วนมากถูกต้องหรือเปล่า ดีจริงหรือเปล่า แล้วพวกไพร่ที่มาเป็นผู้แทนฯ มันจน มันต้องโกงแน่ๆ


 


ตราบใดที่ยังมีความคิดว่า ประชาธิปไตยเหมาะสมกับประเทศไทยหรือไม่ รัฐประหารจะต้องเกิด เพราะฉะนั้นจะต้องศึกษาประชาธิปไตย ถ้าไม่ศึกษากัน นานๆ เข้าเราอาจลืมไป ขนาดคนที่เป็นนักประชาธิปไตย ยอมตายเพื่อประชาธิปไตย เมื่อ 14 ตุลา, 6 ตุลา เพื่อนถูกจับ ล้มตายกันเป็นร้อย 2 ปีที่แล้ว ส่วนใหญ่เห็นด้วยกับรัฐประหารและสนับสนุนเผด็จการ ผมถือว่าพวกนี้คือพวกที่ทรยศต่อวีรชน 14 ตุลา, 6 ตุลา เช่น ประสาร มฤคพิทักษ์, คำนูญ สิทธิสมาน


 


สุดท้าย ในโอกาสครบรอบ 16 ปี รัฐประหาร รสช.ผมอยากให้ท่านทั้งหลายกลับไปคิดและคุยกันต่อ ผมเสนอให้ตั้งศาลประชาชน ให้ประชาชนมาฟ้องร้อง นำ คมช.8-9 คน มาขึ้นศาล  


 


ข่าวประชาไทที่เกี่ยวข้อง


 


1. เสวนา "จาก รสช.สู่ คมช. จะป้องกันการรัฐประหารได้อย่างไร(1), 1 มี.ค.51


2. เสวนา "จาก รสช.สู่ คมช. จะป้องกันการรัฐประหารได้อย่างไร(2) ประทีป อึ้งทรงธรรม, 7 มี.ค.51


3. เสวนา "จาก รสช.สู่ คมช. จะป้องกันการรัฐประหารได้อย่างไร" (3) สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ, 10 มี.ค.51


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net