Skip to main content
sharethis

วานนี้ (13 มี.ค.) เวลา 10.00 น. ศูนย์ติดตามประชาธิปไตยไทย คณะรัฐศาสตร์ ร่วมกับ คณะนิติศาสตร์ และคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดเวทีวิชาการ "หนึ่งเดือนประเด็นร้อน: การเมืองกับข้าราชการและสื่อมวลชน" ณ ห้องประชุม 13 คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ


 


ศ.ดร.จรัส สุวรรณมาลา คณบดีคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวเปิดงานว่า สังคมไทยวันนี้อาจปกคลุมด้วยความรู้สึกไม่ปลอดภัยและกดดัน ก่อให้เกิดความเครียดทางการเมือง โดยส่วนหนึ่งอาจเกิดจากสาเหตุทางเศรษฐกิจ แต่ส่วนใหญ่เกิดจากการทำให้กลัวโดยรัฐบาล ในทางรัฐศาสตร์ ฮอบส์บอกว่า รัฐบาลตั้งใจให้คนกลัวเพราะจะปกครองง่าย เมื่อคนเกิดความกลัวจะหาที่พึ่ง ซึ่งจะทำให้รัฐบาลสามารถใช้อำนาจ หรือมีอำนาจปกครองสูงขึ้น แต่ขัดกับประชาธิปไตยซึ่งเป็นระบบการปกครองของเสรีชน คือประชาชนต้องมีอิสระ แต่การปกครองด้วยความกลัวเป็นระบอบทาสที่คนจะยอมอยู่ใต้อำนาจของมูลนาย


 


ศ.ดร.จรัส กล่าวต่อว่า ช่วงเดือนที่ผ่านมา เจอเรื่องร้อนๆ ทางการเมือง ซึ่งทำให้เกิดความรู้สึกเสี่ยง เช่น หกตุลา ที่ว่ามีคนตายหนึ่งคน ทำให้เครียดขึ้นมาเพราะข้อมูลไม่ตรงความจริง เรื่องฆ่าตัดตอน ที่เสมือนส่งสัญญาณว่า จะกลับมาอีก ซีแอลยา ทำให้กังวลว่า ต้องซื้อยาแพงขึ้น ความเป็นไปได้ที่จะมีคาสิโน ความกลัวที่เกิดจากการกดดันสื่อ ย้ายข้าราชการซึ่งค่อนข้างเชื่อได้ยากว่าย้ายเพื่อความเหมาะสม ดูเหมือนล้างบางมากกว่า ซึ่งทั้งหมดนี้อาจทำให้คนเครียดขึ้นมาได้


 


ทั้งนี้ ศ.ดร.จรัส กล่าวว่า วันนี้ เมื่อมีรัฐบาลจากการเลือกตั้ง คนไทยก็ย่อมหวังที่จะเห็นว่า รัฐบาลประชาธิปไตยทำให้เราหลุดพ้นจากความกลัวของระบอบการปกครองก่อนหน้านี้ซึ่งไม่ใช่รัฐบาลประชาธิปไตย ข้าราชการและพนักงานของรัฐ ก็หวังว่าจะทำงานเต็มความสามารถหลังจากหลายคนเข้าเกียร์ว่างมา 1 ปี เพราะฉะนั้น รัฐบาลใหม่จึงไม่ควรใช้ทฤษฎีฮอบส์ ที่ทำให้คนกลัว แต่ควรใช้หลักประชาธิปไตย และนำเราไปพ้นจากภาวะความกลัวนี้ได้


 


 


ศ.ดร.ศรีราชา เจริญพานิช อดีต ส.ส.ร. ในฐานะเลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา กล่าวว่า รัฐธรรมนูญฉบับใหม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงเยอะ แต่สิ่งหนึ่งที่เปลี่ยนไม่ได้คือ พฤติกรรมของนักการเมือง แม้อาจมี ส.ส. หน้าใหม่เพิ่มมา แต่หลายคนไหลมาแทนที่ในขวดเก่า เพราะฉะนั้นดูว่าจะไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ภาพของการเมืองเมื่อตอนลงประชามติรัฐธรรมนูญ กลางปีที่แล้วก็เป็นภาพสะท้อนบางอย่างว่า การสร้างประชานิยมยังเป็นที่โหยหาของประชาชนที่ยังมีปัญหาเรื่องเศรษฐกิจพอสมควร ถ้าแยก จะเห็นภาพเหล่านี้ได้ดีพอสมควรในระหว่างชนชั้นกลางที่มีการศึกษากับรากหญ้าที่ยังไม่ได้รับการช่วยเหลือจากรัฐบาลตลอดมา เกษตรกรก็ยังจนต่อไป ไม่มีใครไปกอบกู้สถานภาพของเขาได้ เพราะฉะนั้นสิ่งที่ได้รับจากประชานิยมแม้จะใช้เงินรัฐบาลเป็นส่วนใหญ่ แต่ก็สร้างความประทับใจให้คนรากหญ้า หาเช้ากินค่ำ หรือคนในกรุงเทพฯ ที่มีเศรษฐกิจไม่ค่อยดีก็จะชื่นชอบ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วง


 


"จริงอยู่อาจจะเป็นการที่ได้มาโดยวิธีการประชาธิปไตย แต่มองลงไปลึกๆ ในฐานะที่เป็นคนที่มีความคิด นักวิชาการ ซึ่งมองข้ามช็อตไปได้ไกลกว่า เราก็รู้ว่าอะไรกำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตกับสังคมไทย มันไม่ง่าย ถ้าเกิดมองภาพทางการเมืองโดยตลอดมา ตั้งแต่ 2475 ผมมองไม่เห็นเลยว่าการเมืองไทยดีขึ้น เพราะภาพรวมของการเมืองแย่ลง ทั้งๆ ที่คนมีการศึกษามากขึ้น"


 


อย่างไรก็ตาม เขากล่าวว่า ได้ยินว่าการศึกษาของไทยอ่อนด้อยกว่าสมัยก่อน ซึ่งน่าเป็นห่วงหากแก้ไขไม่ได้ ทั้งที่มาเลเซียไม่ได้ดีกว่าประเทศไทยมากมาย ในเรื่องความสามารถของประชากร แต่ระบบการเมืองเขาดีกว่า จึงทำให้เขาเจริญกว่าเรา


 


สำหรับหนึ่งเดือนประเด็นร้อน ไม่แปลกใจเลยที่จะเกิดเหตุการณ์อย่างนี้ขึ้น เมื่อการเลือกตั้งที่อ้างว่าเป็นประชาธิปไตย ในฐานะนักวิชาการไม่คิดว่า คนที่อ้างว่ามาจากประชาธิปไตยจะอ้างได้เต็มปาก เพราะเบื้องหลังซื้อเสียงอย่างเป็นระบบ มีการสร้างเครือข่ายต่อเนื่องมาทั้งก่อนและหลังประชานิยม โดยพัฒนาเป็นระบบที่ดีขึ้น อาจจะไม่ได้จ่ายค่าตอบแทนซื้อเสียงทันที แต่มีเครดิตระหว่างกัน ทำให้การซื้อเสียงเกิดขึ้นอย่างแนบเนียนและจับได้ยาก ระบบการเมืองวิ่งกลับไปสู่ของเดิมก่อนการสูญเสียอำนาจ  


 


ศ.ดร.ศรีราชา แสดงความเห็นต่อนโยบายปราบปรามยาเสพติดว่า เห็นด้วย 100% ที่จะมีการปราบปรามยาเสพติด แต่ควรมีมาตรการที่ไม่ละเมิดสิทธิประชาชน ทั้งนี้ ท่าทีของผู้เกี่ยวข้องที่ออกมาให้ความเห็นเรื่องนี้ อาจจะทำให้คนคิดไปว่าจะเกิดการฆ่าตัดตอนสองพันกว่าศพขึ้นอีก อย่างไรก็ตาม เขาเสนอว่า อาจจะมีทีมทำงานที่ละเมียดละไมกว่านี้ ลงทุกหมู่บ้าน ประกาศเป็นพื้นที่สีขาว เพราะตำรวจสืบกันให้ตายก็ไม่ดีกว่าให้คนในหมู


 


ทั้งนี้ ท่าทีของผู้เกี่ยวข้องที่ออกมาให้ความเห็นเรื่องนี้ อาจจะทำให้คนคิดไปว่าจะเกิดการฆ่าตัดตอนสองพันกว่าศพขึ้นอีก อย่างไรก็ตาม เขาเสนอว่า


 


"...ในเรื่องของการฆ่าตัดตอนโดยภาพรวมแล้ว ผมก็ไม่ได้เห็นด้วย แต่นโยบายปราบปรามยาเสพติดจะต้องทำ แล้วเวลานี้มีประเภทนี้ที่มีปัญหาอยู่เยอะ แล้วลงมือเมื่อไหร่ ไอ้พวกนี้จะไปฆ่าตัดตอนกันเองเป็นเรื่องช่วยไม่ได้ ก็ถือว่าเป็นเวรและกรรมของคนเหล่านั้นที่ทำผิดกฎหมาย"


 


สำหรับ ประเด็นร้อนในหนึ่งเดือนที่ผ่านมา ศ.ดร.ศรีราชา สรุปว่า เรื่องราวในหนึ่งเดือนที่เกิดขึ้นจะนำไปสู่จุดๆ หนึ่งคือเรื่องการเคลียร์บัญชีกันว่า ใครติดหนี้ตรงไหนอย่างไร คีย์ทั้งหลายที่ถูกย้าย จะนำไปสู่การฟอกนายกฯ คนเก่าหรือไม่ เพราะทุกอย่างชัดตั้งแต่ พ.ต.ท.ทักษิณลงมาจากเครื่องบินแล้ว ที่ว่าจะมาเคลียร์ตัวเองจากการถูกกล่าวหา ปัญหาก็คือว่า ระบบกฎหมายของเราจะถูกซื้อได้รึเปล่าโดยอิทธิพล เราคงต้องดูกันต่อไป


 


 


รศ.ดร.พิทยา บวรวัฒนา อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า เดิมการแต่งตั้งโยกย้ายมีสองระบบที่คู่ขนานกันคือระบบคุณธรรม ที่แต่งตั้งโยกย้ายบนพื้นฐานของความเชี่ยวชาญและความเป็นกลางของข้าราชการประจำ แต่อีกระบบ คือ เล่นพรรคเล่นพวก ให้ความสำคัญกับความไม่เป็นกลาง และความจงรักภักดีส่วนตัวที่ข้าราชการมีกับนายนักการเมือง โดยในสมัย พ.ต.ท.ทักษิณเป็นรัฐบาล ด้วยสไตล์การปกครองรวมศูนย์อำนาจอยู่ที่ซูเปอร์ซีอีโอ ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างข้าราชการและนักการเมืองเปลี่ยนไป นักการเมืองคนเดียว คือ พ.ต.ท.ทักษิณมีอำนาจเหนือ ประเพณีที่ว่า การแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการเป็นเรื่องของกระทรวงก็ถูกทำลายลง ความจงรักภักดีกลายเป็นปัจจัยสำคัญ เพราะนายนักการเมืองจะตอบแทนทันที


 


ส่วนปัจจุบัน โอกาสที่ข้าราชการจะถูกโยกย้าย ขึ้นกับว่าตำแหน่งและหน่วยงานที่อยู่มีความสำคัญแค่ไหนกับนายนักการเมือง ยิ่งหน่วยนั้นมีความสำคัญมากต่อนักการเมือง เรื่องธุรกิจ เพื่อคลี่คลายคดี การเมืองจะกินลึกมากในหน่วยงานนั้น ที่มีการแต่งตั้งโยกย้าย ดีเอสไอก็เข้าข่ายพวกนี้ รวมทั้งขึ้นอยู่กับว่า ข้าราชการมีความสามารถวิ่งเต้นอย่างไร มีเครือข่ายพรรคพวกเส้นสาย เป็นที่รู้จักชื่นชมของสังคมทั่วไปขนาดไหน รวมถึงการมีศัตรูภายในองค์กรด้วย


 


 


จาดุร อภิชาตบุตร รองปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะนายกสมาคมข้าราชการพลเรือนแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เรื่องการโยกย้ายข้าราชการ มีองค์ประกอบ 3 เรื่อง คือ นโยบาย การมอบนโยบายและคำสั่งโยกย้าย


 


หนึ่ง นโยบาย รัฐบาลเป็นผู้กำหนดนโยบาย โดยต้องรับผิดชอบต่อสภา โดยเมื่อมอบเป็นนโยบาย ข้าราชการต้องปฎิบัติอย่างสุดความสามารถ จะบอกว่าไม่เอานโยบายนั้นไม่ได้ ความสัมพันธ์ระหว่าง ข้าราชการกับนักการเมืองจึงไม่น่าสงสัย เพราะอยู่ภายใต้กรอบกติกา ข้าราชการปฎิบัติตามแล้วได้ผลไม่ดี คนที่จะชี้แจงคือ รัฐบาล


 


ขณะเดียวกัน หากรัฐบาลมอบนโยบายไม่เหมือนกับที่แถลงต่อสภา อันนี้เรียกว่าอุตริ ข้าราชการประจำก็ต้องถาม เพราะไม่ได้อยู่ในวิสัยที่ต้องทำ และอาจส่งผลเสียหายได้


 


สาม คำสั่งโยกย้าย โดยปกติ ข้าราชการระดับต่ำกว่าปลัดกระทรวงลงมา ปลัดกระทรวงต้องเป็นผู้รับผิดชอบ ไม่ใช่อยู่ๆ รมต.สั่งย้ายใครก็ได้ สอง ถ้าผู้ถูกย้ายคิดว่า ตัวเองไม่ได้รับความเป็นธรรม ตามกฎหมายข้าราชการพลเรือน ซึ่งประกาศใช้ไปแล้ว ระบุว่า ถ้าข้าราชการถูกกลั่นแกล้ง สามารถร้องทุกข์ต่อคณะกรรมการพิทักษ์คุณธรรม (กพข.) ได้ ทั้งนี้ ยังอยู่ระหว่างดำเนินการตั้งคณะกรรมการ


 


สำหรับสมาคมข้าราชการพลเรือนฯ วัตถุประสงค์คือการรวมกลุ่มเพื่อทำงานบริหารราชการแผ่นดินให้ได้ ตามมาตรา 64 ของรัฐธรรมนูญ 50 เปิดโอกาสให้รวมกลุ่มกัน แต่มีข้อจำกัดว่า ห้ามทำอะไรกระทบประสิทธิภาพในการบริหารราชการแผ่นดินและความต่อเนื่องในการจัดทำบริการสาธารณะ สรุปแล้ว ไม่อาจสไตรค์นัดหยุดงานเพื่อต่อต้านคำสั่งใดๆ ได้ เพราะฉะนั้น สหภาพข้าราชการที่ข้าราชการที่หมายถึง กับสหภาพที่ฝ่ายการเมืองเข้าใจจึงไม่เหมือนกัน เพราะข้าราชการไม่มีสิทธิต้านคำสั่งนี้เลย


 


 


ผศ.ดร.พิรงรอง รามสูตร อาจารย์คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวถึงวิธีจัดการกับสื่อที่เคยเกิดขึ้นในรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และเกิดขึ้นอีกครั้งในรัฐบาล สมัคร สุนทรเวช หรือ เดจาวู ว่า มี 6 เรื่อง ได้แก่ การสื่อสารทางเดียว ข่มขู่คุกคามของผู้มีอำนาจ เลี่ยงเบี่ยงเบนประเด็น พูดความจริงบางส่วนหรือไม่จริงเลย ซึ่งพูดบ่อยๆ จะทำให้คนเชื่อว่าจริงได้ และการทำให้ชอบธรรมหรือไม่ชอบธรรม อาทิ


 


การสื่อสารทางเดียว เมื่อปี 44 เป็นครั้งแรกที่นายกฯ ในประเทศไทย ออกทีวีวิทยุ รายการ "นายกฯ ทักษิณคุยกับประชาชน" เพื่อแนะนำพูดถึงนโยบายต่างๆ ของรัฐบาล และใช้พื้นที่โจมตีวิพากษ์ฝ่ายตรงข้าม ดิสเครดิต โดยมีเวลาครึ่งชั่งโมง เมื่อไม่นานมานี้ก็มีอีกรายการ ความยาวชั่วโมงเศษๆ คือ "สนทนาประสาสมัคร" ซึ่งเป็นการใช้พื้นที่อัดฝ่ายตรงข้าม มากกว่าพูดถึงผลงานของรัฐบาล


 


การข่มขู่ คุกคามและละเมิดทางวาจา เช่น การข่มขู่สื่อโดยใช้สัญลักษณ์ "ไม่สร้างสรรค์" ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ทุกครั้งที่สื่อถามคำถามที่ไม่อยากตอบ หรือหากไม่อยากตอบมากๆ ก็ถามว่ามาจากฉบับไหน อายุเท่าไหร่ เมื่อไม่นานนี้ก็เจออะไรที่คล้ายกันในขั้นที่หนักกว่าคือ "เมื่อคืนคุณไปเสพเมถุนกับใครมา"


"ทำไมสติปัญญาในการแสดงความคิดมีเพียงแค่นี้หรือ ผมถามจริงๆ มีได้เพียงแต่นี้หรือ"


 


การเลี่ยงเบี่ยนเบนประเด็น กรณีปัญหาทุจริตในการจัดซื้อเครื่องตรวจจับวัตถุ CTX พ.ต.ท.ทักษิณตอบเพียงว่า รู้ว่าอะไรกำลังเกิดขึ้น ขณะที่ สมัครตอบคำถามกรณีย้าย พล.ต.อ.เสรีพิสุทธิ์ เตมียเวส ว่า ยังไม่บอก ทำไมถึงรู้ดีกว่าเขา ขอไม่ตอบเรื่องนี้


 


วิธีพูดความไม่จริง พ.ต.ท.ทักษิณ พูดถึงกรณีการหายตัวไปของทนายสมชาย นีละไพจิตร ว่าเป็นเรื่องชู้สาวในครอบครัว จักรภพ เพ็ญแข กล่าวถึงกรณีไอทีวีว่า ต้องยอมรับว่า ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเป็นผลจากนโยบายของภาครัฐ ไม่ใช่ความผิดของคนทำงาน อย่างไรก็ตาม ผศ.ดร.พิรงรอง มองว่า เป็นนโยบายของภาครัฐที่จะเอาคลื่นความถี่กลับมาจากเทมาเซกส่วนหนึ่ง แต่อีกส่วนหนึ่งก็เป็นทั้งความผิดของผู้บริหารที่ไปขออนุญาโตตุลาการเปลี่ยนแปลงสัมมปทาน ซึ่งผิดเจตนารมณ์การก่อตั้ง และคนทำงานไอทีวีที่ไม่เสนอข่าวเรื่องค่าโง่ไอทีวีที่กระทบตัวเองโดยตรงเลย แต่พอ สปน.จะยึดสัมปทานคืนก็เสนอข่าวกันเช้าเย็นว่าทำเพื่อสาธารณะ เพราะฉะนั้นที่จักรภพพูดว่าไม่ใช่ความผิดของคนทำงานจึงไม่จริง   


 


การทำให้ชอบธรรม โดยแสดงให้เห็นถึงภาวะความมีผู้นำ อ้างถึงบุคคลที่มีชื่อเสียง เช่น จักรภพพูดเรื่องการย้ายอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ว่า เป็นการวางคนให้ถูกกับงาน เพื่อให้ทำทีวีอาเซียน


 


ล่าสุด กรณีรายการวิทยุ "มุมมองของเจิมศักดิ์" ที่ถูกแบน ก็มีข่าวว่ามีการแทรกแซง "อาจารย์เจิมศักดิ์ก็ยืนยันว่าคุณเพ็ญนี่แหละ ถึงแม้ว่าตอนหลัง ผู้ที่ยอมรับว่า คุณเพ็ญเป็นคนสั่งก็ต้องหยุดข้อมูลตรงนั้นไป เพื่อความอยู่รอด ไม่งั้นจะถูกยกคลื่นไปทั้งคลื่นเลย ก็ออกมาบอกว่าไม่ได้รับการสั่ง คุณเพ็ญก็ออกมาตอบโต้ว่าไม่ทำหรอก ใครทำก็โง่แล้วที่จะทำให้เจิมศักดิ์เป็นฮีโร่" ผศ.ดร.พิรงรอง กล่าว


 


ผศ.ดร.พิรงรอง สรุปว่า ในสถานการณ์แบบนี้ สื่อต้องเฝ้าบ้านให้ดีขึ้น ต้องมีภาระที่หนักหน่วงขึ้น นอกจากต้องอดทนอย่างสูงของผู้คุกคามทางวาจา ยังต้องไม่หลงประเด็นด้วย


 


 


 



ดาวน์โหลดไฟล์เสียง ที่นี่ (ไฟล์เสียงขนาด 22.1Mb ความยาว 1.36.40 ชั่วโมง)


 


00000


 


"ศรีราชา" หวั่น พ.ค. เกิดเหตุรุนแรง


รศ.ดร.ศรีราชา ตอบคำถามกรณีพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยจะเคลื่อนไหวในวันที่ 28 มี.ค. ว่า วงจรจะเคลื่อนไปสู่จุดเดิมหรือไม่ ว่า "มันมีแนวโน้มสูงพอสมควร ไม่ทราบว่าจะไปได้แค่ไหน แต่ขณะเดียวกัน แรงตอบโต้จะหนักกว่าเดิม เพราะม็อบที่ก่อขึ้นมาใหม่ ภาพของการที่มีคนต้อนรับอดีตนายกฯ เยอะๆ ก็เป็นการแสดงออกซึ่งสัญญาณอะไรบางอย่างว่าจะกลายเป็นสองขั้ว คำว่า ความสมานฉันท์คงเกิดได้ยาก ถ้าเกิดใครเงี่ยหูฟัง... โหรทั้งหลายพูดว่า พฤษภานี้อาจจะมีอะไรบางอย่างเกิดขึ้น ซึ่งเราก็ภาวนาไม่อยากให้มันเกิด แต่ดูแล้วมีความเป็นไปได้"


 


"ฝ่ายหนึ่งมีทั้งน้ำเลี้ยงเคลื่อนไหว รวมทั้งรัฐบาลแบ็คอยู่เบื้องหลัง รวมทั้งรัฐมนตรีมหาดไทยด้วยรึเปล่าไม่ทราบ เพราะฉะนั้นก็จะมีปัญหา มีความเป็นไปได้สูงที่จะเกิดความรุนแรง" รศ.ดร.ศรีราชา กล่าว


 


00000


 


"นักวิชาการ" จี้ รบ. ทบทวนท่าทีกรณีโยกย้าย ขรก. และกดดันสื่อที่เห็นต่าง


ศ.ดร.จรัส กล่าวว่า นักวิชาการหลายสถาบันได้เขียนจดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี สมาชิกรัฐสภา ข้าราชการ สื่อมวลชน และประชาชน ลงวันที่ 13 มี.ค. โดยเรียกร้องให้รัฐบาลได้พิจารณาทบทวนท่าทีที่ผ่านมา ทั้งการโยกย้ายข้าราชการและการแสดงท่าทีกดดันต่อสื่อมวลชนที่มีจุดยืนแตกต่างจากกลุ่มการเมืองในฝั่งรัฐบาล และขอให้เร่งสร้างความเชื่อมั่นในรัฐบาลและในระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยให้เกิดขึ้นในกลุ่มสื่อมวลชน ข้าราชการ และสาธารณชนทั่วไปโดยเร็ว พร้อมทั้งขอเป็นกำลังใจให้รัฐบาลซึ่งได้รับการเลือกตั้งด้วยคะแนนเสียงของมหาชนส่วนใหญ่ ได้ใช้เวลาและกำลังสติปัญญาทำหน้าที่เพื่อประโยชน์สุขอันสูงสุดของประชาชนอย่างเป็นอิสระจากอำนาจอิทธิพลใดๆ


 


นอกจากนี้ จดหมายเปิดผนึกยังระบุว่า คณาจารย์ฯ ขอเป็นกำลังใจให้สื่อมวลชน ข้าราชการและพนักงานของรัฐ ยึดมั่นในหลักการแห่งวิชาชีพ โดยปราศจากความเกรงกลัวใดๆ รวมถึงเรียกร้องให้สาธารณชนได้ช่วยกันติดตามท่าทีของรัฐบาล ข้าราชการ สื่อมวลชน และพรรคการเมืองต่างๆ และร่วมกันส่งเสริมสร้างสรรค์วัฒนธรรมประชาธิปไตยให้เกิดขึ้นในสังคมไทย ร่วมกันป้องกันและขจัดท่าทีเผด็จการ อันจะนำไปสู่วิกฤติการณ์ทางการเมืองขึ้นได้


 


ศ.ดร.จรัส กล่าวว่า เบื้องต้นมีนักวิชาการจากหลายสถาบันร่วมลงชื่อ อาทิ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี มหาวิทยาลัยนเรศวร มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)


 


สำหรับรายชื่อนักวิชาการเบื้องต้น ได้แก่ ศ.ดร.จรัส สุวรรณมาลา คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ดร.นฤมล ทับจุมพล คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ผศ.ดร.ประภาส ปิ่นตบแต่ง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ รศ.ตระกูล มีชัย คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ รศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ วีระศักดิ์ เครือเทพ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ผศ.สิริพรรณ นกสวน คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ผศ.ดร.พิรงรอง รามสูตร คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ นพนันท์ วรรณเทพสกุล คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ


 


วัชรพล ศุภจักรวัฒนา สาขาบริหารรัฐกิจและกิจการสาธารณะ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม รศ.ดร.โกสุมภ์ สายจันทร์ คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ชาญณวุฒ ไชยรักษา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร รัชตะ พันธุ์แสง สำนักศิลปศาสตร์  มหาวิทยาลัยนเรศวร


 


 



ดหมายเปิดผนึก


 


วันที่ 13 มีนาคม 2551


 


เรียน ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี สมาชิกรัฐสภา ข้าราชการ สื่อมวลชน และประชาชนชาวไทย


 


จดหมายเปิดผนึกฉบับนี้มีจุดประสงค์ที่จะแสดงความห่วงใยของคณาจารย์ผู้สอนหนังสือทางด้านรัฐศาสตร์ รัฐประศาสนศาสตร์ นิติศาสตร์ นิเทศศาสตร์ วารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชนในสถาบันการศึกษาต่างๆ ซึ่งได้ลงชื่อรวมกันไว้ท้ายจดหมายนี้ ที่มีต่อสถานการณ์ทางการเมืองในปัจจุบัน เกี่ยวกับท่าทีของรัฐบาลต่อข้าราชการพนักงานของรัฐ และสื่อมวลชน ซึ่งมีโอกาสที่จะสั่นคลอนความเชื่อมั่นของสาธารณชนที่มีต่อรัฐบาลและการปกครองแบบประชาธิปไตยได้


 


การโยกย้ายข้าราชการในช่วงหนึ่งเดือนเศษที่ผ่านมา ทำให้ข้าราชการขาดความเชื่อมั่นในระบบคุณธรรม (Merit System) ส่งสัญญาณว่าข้าราชการต้องวิ่งเข้าหา ยอมเป็นพวก สนองนโยบายของฝ่ายการเมืองโดยไม่คำนึงถึงจริยธรรม หลักวิชาชีพ และผลประโยชน์ของสาธารณชน ซึ่งหากข้าราชการเปลี่ยนพฤติกรรมไปในทิศทางนี้จริง ก็จะส่งผลให้เกิดระบบราชการแบบเล่นพรรคเล่นพวก อ่อนแอ ขาดประสิทธิภาพ และไม่สามารถดำรงรักษาหลักแห่งวิชาชีพของข้าราชการเอาไว้ได้


 


พร้อมกันนั้น ในช่วงหนึ่งเดือนเศษที่ผ่านมา รัฐบาลได้แสดงท่าทีกดดันสื่อมวลชนที่มีจุดยืนแตกต่างจากกลุ่มการเมืองในฝั่งรัฐบาล ทำให้สื่อมวลชนเกิดความหวาดกลัว หวาดระแวง และขาดความเชื่อมั่นในการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนอย่างเป็นอิสระ บรรดาสื่อมวลชนทั้งหลายก็จะลดหรือละเลยบทบาทการตรวจสอบรัฐบาลและการเป็นกระจกสะท้อนความคิดความต้องการของสาธารณชนลงไป และให้ความสำคัญกับการทำสื่อเพื่อเอาตัวรอดทางธุรกิจเป็นหลัก สังคมประชาธิปไตยไทยอาจจะเดินเข้าสู่ความตกต่ำและเกิดวิกฤติศรัทธาและความชอบธรรมทางการเมืองได้


 


สาธารณชนย่อมมีความคาดหวังต่อรัฐบาลประชาธิปไตยมากกว่ารัฐบาลเผด็จการ ในทำนองเดียวกัน รัฐบาลประชาธิปไตยก็มีหน้าที่สร้างความเชื่อมั่นและศรัทธาให้สาธารณชน ข้าราชการ พนักงานของรัฐ และสื่อมวลชนได้เห็นเป็นประจักษ์ว่าจะสามารถทำหน้าที่ในทางการเมืองและการบริหารราชการแผ่นดินในระบอบประชาธิปไตยควบคู่ไปกับรัฐบาลได้อย่างมีเกียรติมีศักดิ์ศรี ยึดหลักวิชาการและวิชาชีพของตนเองได้อย่างเป็นอิสระ ได้มากกว่าหรืออย่างน้อยก็ไม่ด้อยกว่ารัฐบาลเผด็จการ


 


คณาจารย์ฯ ที่มีรายชื่อท้ายจดหมายนี้จึงใคร่ขอให้รัฐบาลได้พิจารณาทบทวนท่าทีที่ผ่านมา และขอให้เร่งสร้างความเชื่อมั่นในรัฐบาลและในระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยให้เกิดขึ้นในกลุ่มสื่อมวลชน ข้าราชการ และสาธารณชนทั่วไปโดยเร็ว พร้อมทั้งขอเป็นกำลังใจให้รัฐบาลซึ่งได้รับการเลือกตั้งด้วยคะแนนเสียงของมหาชนส่วนใหญ่ได้ใช้เวลาและกำลังสติปัญญาทำหน้าที่เพื่อประโยชน์สุขอันสูงสุดของประชาชนอย่างเป็นอิสระจากอำนาจอิทธิพลใดๆ


 


พร้อมกันนั้น คณาจารย์ฯ ขอเป็นกำลังใจให้สื่อมวลชนได้ยึดมั่นในปณิธานและหลักการแห่งวิชาชีพในการทำหน้าที่สื่อมวลชนอย่างเป็นอิสระ ปราศจากอคติและความเกรงกลัวใดๆ และขอเป็นกำลังใจให้ข้าราชการและพนักงานของรัฐในการยืนหยัดต่อสู้เพื่อให้สามารถปฏิบัติหน้าที่ราชการบนพื้นฐานของหลักวิชาชีพและผลประโยชน์ของสาธารณชน โดยไม่หวั่นเกรงต่ออำนาจใดๆ


 


ท้ายที่สุดนี้ คณาจารย์ฯ ใคร่ขอเรียกร้องให้สาธารณชนได้ช่วยกันติดตามท่าทีของรัฐบาล ข้าราชการ สื่อมวลชน และพรรคการเมืองต่างๆ และร่วมกันส่งเสริมสร้างสรรค์วัฒนธรรมประชาธิปไตยให้เกิดขึ้นในสังคมไทย ร่วมกันป้องกันและขจัดท่าทีเผด็จการ อันจะนำไปสู่วิกฤติการณ์ทางการเมืองขึ้นได้


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net