Skip to main content
sharethis

ท่ามกลางกระแสข่าวเรื่อง "ซีแอล" หรือการบังคับใช้สิทธิ ที่กำลังเป็นประเด็นขัดแย้งกันรุนแรงระหว่างมิติของสิทธิความเป็นมนุษย์ กับ มิติด้านเศรษฐกิจ....เป็นความท้าทายหากจะหาคำตอบจากคนที่ทำงานด้านสุขภาพโดยใช้โจทย์ของของเสรีนิยม ใช้มุมมองด้านเศรษฐกิจเป็นตัวตั้ง เพื่อตอบข้อสงสัย และทำความเข้าใจ "ซีแอล" ให้ลึกซึ้งขึ้น

สัมภาษณ์ :  ชูวัส ฤกษ์ศิริสุข, มุทิตา เชื้อชั่ง

 

 

 

บทสัมภาษณ์แอ๊คติวิสต์แสบซ่า ผู้เขียนหนังสือเล่มเล็กๆ ที่สั่นสะเทือนวงการสาธารณสุขไม่น้อยอย่าง "สิทธิบัตรยา: ยาใจคนรวย" เธอเป็นคีย์แมนคนสำคัญที่เคลื่อนไหวเรื่องการเข้าถึงยาและระบบสาธารณสุขของประชาชนมายาวนาน ทั้งยังทำงานจับตาการทำข้อตกลงเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ของประเทศไทย ร่วมกับคณะในนามว่า "เอฟทีเอ ว็อทช์" ซึ่งเป็นกลุ่มเอ็นจีโอที่หลากหลาย กระตือรือร้น และมีพลังที่สุดกลุ่มหนึ่ง

 

ทำไมต้องสัมภาษณ์เธอ ?

 

ท่ามกลางกระแสข่าวเรื่อง "ซีแอล" หรือการบังคับใช้สิทธิ ที่กำลังเป็นประเด็นขัดแย้งกันรุนแรงระหว่างมิติของสิทธิความเป็นมนุษย์ กับ มิติด้านเศรษฐกิจ ซึ่งต่างฝ่ายต่างก็มีเหตุผลการอธิบายในแง่มุมของตนเอง ..... เป็นความท้าทายหากจะหาคำตอบจากคนที่ทำงานด้านสุขภาพ โดยใช้โจทย์ของของเสรีนิยม ใช้มุมมองด้านเศรษฐกิจ การบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพเป็นตัวตั้ง เพื่อตอบข้อสงสัย และทำความเข้าใจ "ซีแอล" ให้ลึกซึ้งขึ้น ในมิติที่กว้างขวางมากขึ้น

 

 

0 0 0 0

 

 

 

ทำไมไทยต้องประกาศซีแอล

มาตรการบังคับใช้สิทธิถูกออกแบบมาเพื่อแก้ปัญหาการผูกขาดของระบบสิทธิบัตร เพราะระบบสิทธิบัตร เอาระบบผูกขาดไปเป็นแรงจูงใจให้กับนักประดิษฐ์ แต่เป็นที่รู้กันว่า ช่วงเวลาที่สิทธิบัตรผูกขาดครอบคลุมอยู่ 20 ปี อาจเกิดปัญหาต่างๆที่คาดไม่ถึงขึ้นได้ จึงมีการหาช่องทางที่เรียกว่า มาตรการยืดหยุ่น หรือ flexibilities เพื่อเป็นทางออกที่ถูกกฎหมาย มีตั้งแต่การบังคับใช้สิทธิโดยรัฐ (Government Use) คนอื่นมาขอรัฐอนุญาตก็ได้ (Compulsory Licensing) หรือใช้ระบบนำเข้าจากที่อื่นก็ได้ (Parallel Import) ฯลฯ

 

ในเมืองไทยเรารู้จักแค่มาตรการบังคับใช้สิทธิที่ใช้กับยา แต่จริงๆ แล้วมาตรการบังคับใช้สิทธิสามารถไปใช้กับอะไรก็ได้ แต่กรณีของลิขสิทธิ์ใช้ได้เฉพาะการศึกษาและผลประโยชน์ของรัฐเท่านั้น

 

การมีข้อยืดหยุ่นนี้ยืนอยู่บนหลักการอะไร

ยืนอยู่บนหลักการว่ารัฐมีหน้าที่ต้องแก้ปัญหาโดยเฉพาะปัญหาสาธารณสุข ดังนั้น จึงมีข้อจำกัดว่าปัญหาอะไรบ้างที่อนุญาตให้ใช้เครื่องมือนี้ เช่น ถ้าพูดถึงเรื่องยาอย่างเดียวก็มีการกำหนดไว้ว่าสามารถใช้มาตรการยืดหยุ่นได้เมื่อมีวิกฤตสาธารณสุข, มีความจำเป็นเร่งด่วนระดับชาติ, เป็นการใช้เพื่อผลประโยชน์สาธารณะโดยไม่แสวงหากำไร, ต้องการป้องกันการผูกขาด หรือแม้กระทั่งเกิดภาวะขาดแคลน

 

แปลว่ามันมีหลักการซ้อนกันสองอัน คือ หนึ่ง รัฐต้องปกป้องดูแลคนในรัฐของตัวเอง สอง เรื่องนวัตกรรม ทีนี้อะไรจะเป็นตัวนิยามสำหรับคำว่า "วิกฤต ขาดแคลน หรือมีความจำเป็นเร่งด่วน"

ประเทศไทยใช้มาตรการบังคับใช้สิทธิโดยรัฐด้วยเหตุผลเพื่อประโยชน์สาธารณะโดยไม่แสวงหากำไร ปัญหาเริ่มต้นจากเรื่องยาต้านไวรัสสำหรับผู้ติดเชื้อเอชไอวี ซึ่งเป็นยาที่ต้องใช้ไปตลอดชีวิต เมื่อผู้ติดเชื้อใช้สูตรแรกไปถึงระยะหนึ่ง คุณต้องใช้สูตรสอง แต่ปัญหาคือ ราคาของสูตรแรกกับสูตรสองต่างกันเยอะมาก เนื่องจากสูตรแรกนั้นองค์การเภสัชกรรม (อภ.) สามารถผลิตได้ เพราะก่อนหน้าปี 2535 ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงกฎหมายสิทธิบัตร จึงเปิดโอกาสให้ อภ. ผลิตได้ ต่อมามีการปรับเปลี่ยนกฎหมาย ทำให้ยารุ่นใหม่ๆ ที่ออกมาติดสิทธิบัตร และมีราคาแพงขึ้น

 

ประเทศไทยไม่ได้ใช้มาตรการบังคับใช้สิทธิเพราะอยู่ๆนึกอยากใช้ขึ้นมาเอง แต่ด้วยคำแนะนำของหลายๆ ฝ่ายที่เห็นร่วมกันว่า ในต่างประเทศก็ใช้มาตรการนี้กันอย่างแพร่หลายเพื่อจัดการกับปัญหายาราคงแพงและคนเข้าไม่ถึง อย่างในแคนาดา ตั้งแต่ปี 1969-1993 มีการประกาศบังคับใช้สิทธิกับยา 619 ชนิด ทำให้อุตสาหกรรมยาพัฒนาไปได้ ทุกวันนี้ยาในแคนาดาจึงขายถูกกว่าอเมริกามาก นอกจากนี้ประเทศอื่นๆ ยังมีระบบที่เรียกว่าการควบคุมราคายาด้วย ทำให้เขาไม่ต้องใช้มาตรการบังคับใช้สิทธิเสมอไปก็ได้ เช่นในออสเตรเลีย ก่อนหน้าที่จะมีเอฟทีเอออสเตรเลีย-สหรัฐฯ ประเทศออสเตรเลียก็มีระบบการจัดซื้อยาที่ดีที่สุดในโลก แต่หลังจากมีเอฟทีเอแล้วระบบนี้ก็ถูกทำลาย ถูกทำให้อ่อนแอลง

 

ทำไมประเทศรวยๆ เขาถึงไม่ต้องการจ่ายค่ายาแพง ?

เป็นหลักการที่รัฐต้องดูแลประชาชน

 

ก็เอาเงินจากแหล่งอื่นๆ มาดูแลให้ประชาชนเข้าถึงยาก็ได้ ?

ใช่ แต่ว่าเพื่อทำให้ระบบมันคงอยู่ต่อไปอย่างยั่งยืน ไม่ต้องล่มสลายหรือเป็นระบบที่อ่อนแอจากการที่บริษัทยาอยากจะหากำไรเท่าไหร่ก็ตั้งราคาสูงเท่านั้นได้

 

ยกตัวอย่างหนังเรื่อง Sicko  ของ ไมเคิล มัวร์ แสดงให้เห็นว่าอังกฤษเริ่มต้นเป็นระบบรัฐสวัสดิการ บนหลักคิดที่ว่าคนเจ็บป่วยไม่ควรต้องจ่ายเงินเองแต่ให้รัฐนำภาษีที่เก็บได้มาดูแลประชาชน ความคิดนี้เริ่มต้นหลังสงครามโลกที่พบว่าเมื่อรัฐสามารถเอาเงินไปก่อสงครามฆ่าคนได้ ทำไมจะเอามารักษาคนไม่ได้ และควรรักษาเสียตั้งแต่ตอนที่ยังเป็นไม่มาก ดีกว่าปล่อยให้เข้าไม่ถึงการรักษาจนอาการหนักมากๆ ในที่สุดค่ารักษาพยาบาลจะหนักกว่ารักษาในระยะเริ่มๆเสียอีก ทำให้รัฐต้องจ่ายค่ารักษาแพงๆ หรือไม่ ก็เลือกที่จะไม่รักษาเขาเลย ซึ่งนั่นแปลว่า คุณปล่อยให้คนตายต่อหน้าต่อตา เท่ากับเป็นรัฐที่ไม่ดูแลประชาชน

 

การดูแลประชาชนทำได้หลายแบบ ทำไมไม่เรียกร้องกับบริษัทยาข้ามชาติ หรือเรียกร้องให้ตัดงบทหารของทั้งโลกเพื่อเอามาใช้จ่ายค่ายา ?

มันมีประเทศไหนที่ทำแบบนี้ได้บ้าง แต่ถามว่าเขามีทำหรือเปล่า ก็มี เช่นตัวอย่างของอังกฤษที่ว่าไปคือ ถ้าใช้จ่ายด้านการรบได้ก็ต้องใช้จ่ายกับคนได้

 

โดยหลักการเป็นเรื่องถูกต้องที่งบประมาณด้านการรบต้องลดลง แล้วมาเพิ่มในเรื่องการดูแลประชาชน แต่โดยหลักการคิดของพวกบริษัทยา อุตสาหกรรมยาเขาไม่เคยพอ เท่าไหร่ก็ไม่พอ ทำให้ทุกวันนี้บริษัทยายังต้องทะเลาะกับประเทศต่างๆ อยู่ เช่น PhRMA (สมาคมอุตสาหกรรมยาต้นแบบของสหรัฐฯ) พยายามผลักดันให้แคนาดากับเยอรมนีขึ้นเป็นประเทศที่ถูกจับตามองสูงสุด เพราะประเทศพวกนี้เป็นประเทศที่ควบคุมราคายา ก่อนหน้าเจรจาเอฟทีเอ ออสเตรเลีย-สหรัฐฯ ก็มีการบีบบังคับให้ทำลายระบบการจัดซื้อยาที่มีประสิทธิภาพลงเหมือนกัน ซึ่งก็อุตสาหกรรมยาข้ามชาตินั่นแหล่ะที่อยู่เบื้องหลัง

 

แปลว่ามันไม่ใช่แค่เรื่องไม่มีปัญญาจ่ายค่ายา มันต้องมีหลักการอื่นมากกว่านั้น ?

มันเป็นเรื่องของความท้าทายระบบด้วยนะ อันแรกเป็นเรื่องของรัฐที่ต้องดูแลประชาชน รัฐต้องมีหนทางในการแก้ปัญหาได้ สอง เป็นการต่อต้านระบบผูกขาด ในแคนาดาก็ใช้หลักการนี้เหมือนกัน เพราะระบบผูกขาดสร้างปัญหา ทำให้เข้าไม่ถึงยา

 

นอกจากนี้มันยังสะท้อนให้เห็นว่าข้ออ้างที่ว่า ระบบสิทธิบัตรจะสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ทำให้คนมีกำลังใจในการผลิตยา มันไม่จริง เพราะยาที่ออกมาตั้งแต่ทศวรรษ 1990 ที่เริ่มมีเรื่องสิทธิบัตรเป็นต้นมา ยาที่ถูกผลิตออกมาเป็นยาไลฟ์สไตล์ที่ปรับปรุงชีวิตคนรวยเสียส่วนใหญ่ ส่วนยาจำเป็นกลับไม่ได้ถูกผลิตออกมา ยาโรคกำพร้าที่คนในประเทศยากจนเป็นเยอะ แต่ประเทศร่ำรวยไม่เป็น ไม่ถูกผลิตเลย ยาที่ประเทศร่ำรวยเป็นเหมือนกัน ประเทศยากจนเป็นมากหน่อย ยาก็จะแพงมาก ด้วยค่าครองชีพที่ต่างกันสิบกว่าเท่า คนยากจนในประเทศยากจนก็เข้าไม่ถึงยา   

 

แล้วจะให้ผลิตยังไง พอเขาผลิตก็เบี้ยวเขา

โดยหลักการจริงๆ แล้ว พวกบริษัทพวกนี้ไม่ได้คิดค้นเอง แต่ไปเอายาที่คิดค้นวิจัยในมหาวิทยาลัยซึ่งได้ทุนจากภาษีของประชาชน เป็นกฎหมายที่ออกในยุคของโรนัลล์ เรแกน ซึ่งสนับสนุนเสรีนิยมสุดขีด ฉะนั้นเลยสนับสนุนให้มีการขายสิทธิบัตร บริษัทเอาไปต่อยอดอีกนิดเดียวก็ผลิตเป็นอุตสาหกรรมได้

 

ฉะนั้น จะเห็นว่า หลังๆ ที่บริษัทยาทำตัวเกินไป นักวิจัยในมหาวิทยาลัยจำนวนมากก็ออกมาคัดค้านบริษัท ออกแถลงการณ์ ไม่ว่าจะเป็นกรณีของยาดีดีไอในบ้านเรา หรือกรณีล่าสุดที่แอ๊บบ็อตตอบโต้การบังคับใช้สิทธิโดยไม่ยอมมาจดทะเบียนยาหลายตัว ซึ่งหนึ่งในนั้นมียาโรคไตวาย เป็นยาของมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน ทางมหาวิทยาลัยก็บอกเลยว่าที่ผลิตยาตัวนี้เพื่อให้คนเข้าถึงยาโดยง่าย เพื่อรักษาชีวิตคน ไม่ใช่ให้บริษัทมาผูกขาดทำกำไรบนชีวิตผู้คน

 

เพราะฉะนั้น คนที่ทำงานเรื่องนี้เลยคิดว่าต้องหาหนทางอื่นที่ไม่ใช่ระบบทรัพย์สินทางปัญญา แต่เมื่อยังทำไม่ได้ บริษัทยังไม่ยอม ระบบยังเป็นแบบนี้ ก็ต้องพยายามทำให้คนเข้าถึงยา ถ้าดูวิธีการเข้าถึงยา มันมีหลักการที่เป็นไปตามกฎหมาย

 

ในสหรัฐอเมริกา แคนาดา ในยุโรปก็ใช้วิธีนี้ทั้งนั้น ใช้มากกว่าด้วยซ้ำบนหลักการป้องกันการผูกขาด เช่น แอ๊บบ็อต เป็นบริษัทที่ทำกำไรสูงสุดในปีที่ผ่านมาจากเครื่องมือตรวจวัดไวรัสตับอักเสบซี ซึ่งก็ได้มาโดยการไปละเมิดสิทธิบัตรคนอื่นก่อน เมื่อเจ้าของสิทธิบัตรฟ้อง แอ๊บบ็อตก็อ้างกับศาลเรื่องประโยชน์ของประชาชนในการเข้าถึงเครื่องมือทดสอบไวรัสตับอักเสบซี ก็ขอซีแอลเหมือนกันนั่นแหละ แต่ไม่ได้โดยรัฐเป็นการทำซีแอลโดยเอกชน ในสหรัฐฯ ใช้วิธีนี้กันมาก โดยคำสั่งศาล หรือคำสั่งของคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า ซึ่งได้ผลอย่างเดียวกัน คือเจ้าของสิทธิไม่ได้เต็มใจ แต่ต้องอนุญาตเพื่อให้เกิดการแข่งขันมากขึ้น ให้คนเข้าถึงมากขึ้น

 

ผลจากการประกาศซีแอลโดยรัฐ ป้องกันการผูกขาดอย่างไร

หนึ่ง กรณีของไทยทำให้ยาชื่อสามัญเข้ามาได้ จะเห็นว่ามีสองตลาด ตลาดที่มีคนใช้เดิมคือตลาดที่คนรวยใช้ กับตลาดกลุ่มที่ใช้ยาจากการประกาศซีแอล เป็นกลุ่มที่ไม่เคยใช้มาก่อน เมื่อมีการประกาศซีแอลมันไม่ได้กระทบกับบริษัทยาโดยตรง แต่มันทำให้เขาต้องขยับราคาลง โดยระบบการตลาดเอง ราคาก็ลงมาเยอะ ส่งผลให้การผูกขาดน้อยลง ผู้ผลิตมากรายขึ้น  

 

กรณีพีดีเอโฟน สหรัฐฯ ทำซีแอลกับ blackberry แล้วไม่ใช่แค่ให้คนในกองทัพใช้ แต่ให้ทุกคนที่เซ็นสัมปทานกับรัฐใช้ได้ด้วย เพื่อที่จะทำให้ blackberry ถูกลง คนเข้าถึงมากขึ้น ติดต่อกันได้ง่ายขึ้นในระบบของรัฐทั้งหมด คือพอมันมีคู่แข่งมากขึ้นไม่ได้ผูกขาดเจ้าเดียวราคาก็ถูกลงมหาศาล

 

กรณีของยาที่ประกาศบังคับใช้สิทธิไป เพื่อนำเข้ายาชื่อสามัญจากบริษัทของอินเดีย บริษัทที่องค์การเภสัชกรรมเลือกต้องเป็นบริษัทที่ตกลงจะถ่ายทอดเทคโนโลยีให้ด้วย ขณะที่บริษัทเจ้าของสิทธิบัตรเคยมีข้อตกลงสมัยก่อนแก้กฎหมายเมื่อปี 2535 ว่าจะถ่ายทอดเทคโนโลยี แต่ไม่มีเลย แถมยังใช้การกดดันเพื่อแก้ไขกฎหมายให้เอาคณะกรรมการควบคุมราคายาออกไปด้วย

 

คู่แข่งมาจากไหน ประเทศอื่นเขาไม่มีปัญหาเรื่องติดสิทธิบัตรหรือ

การที่อินเดียยังสามารถผลิตยาชื่อสามัญใหม่ๆได้จำนวนมาก เพราะกฎหมายสิทธิบัตรของอินเดียเพิ่งแก้ไขให้รับสิทธิบัตรผลิตภัณฑ์เมื่อปี 2548 ขณะที่ไทนแก้กฎหมายสิทธิบัตรก่อนที่อินเดียจะแก้ 13 ปี ช่วง 8 ปีแรกคือก่อนที่ความตกลงทริปส์จะมีผลบังคับใช้ และอีก 5 ปี หลังจากที่ความตกลงทริปส์มีผลบังคับใช้เขาอนุญาตให้ประเทศที่กำลังพัฒนาอยู่ในช่วงปรับตัว ดังนั้นจึงรวมทั้งหมด 13 ปีเต็ม

 

เรียกว่าไม่มีกฎหมายสิทธิบัตร เขาก็เรียนรู้เอายามาทดสอบ จนเรียนรู้วิธีการที่จะทำ

 

กฎหมายสิทธิบัตรเดิม ก่อนปี 2535 บ้านเราเป็นอย่างนี้คืออนุญาตให้คิดค้นยาตัวหนึ่งๆ ด้วยวิธีที่ต่างออกไปได้

 

สมมติว่า A บวก B แล้วเท่ากับ C กฎหมายสิทธิบัตรเดิมจะคุ้มครองแค่ A บวก B เรียกว่าสิทธิบัตรในกระบวนการ หรือ process patentฉะนั้นถ้าสมมติว่าคนอื่นจะทำยาตัว C โดยเอา B บวก A แล้วเท่ากับ C ก็ได้ไม่มีปัญหา ทั้งอินเดียและไทย สมัยก่อนก็ทำแบบนี้ เราจะวิธีทำยังไงก็ได้เพื่อให้ได้ C แต่ต่อมากฎหมายปี 2535 คุมถึง C เลย ไม่ว่าคุณจะทำยังไงก็ตามถ้ามันออกมาเป็น C ไม่ได้ทั้งนั้น เรียกว่าสิทธิบัตรในผลิตภัณฑ์ หรือ product patent     

 

ทีนี้มันก็มีคำถามว่า แทนที่จะเรียกร้องเรื่องซีแอล ทำไมไม่ย้อนกลับไปใช้กฎหมายฉบับนี้ (ก่อนปี 2535) ที่เปิดโอกาสให้เรียนรู้ผลิตยาเลย ความเป็นจริงมันทำไม่ได้เพราะเราเข้าไปอยู่ในองค์การการค้าโลก (WTO) แล้ว ตอนนี้ทั่วโลกต้องยอมรับ product patent ยกเว้นประเทศแอฟริกาที่อีก 9 ปีจึงจะมีผลบังคับ

 

ฉะนั้น ถ้าประเทศไทยจะย้อนหลังกลับไปแก้กฎหมายให้เป็นแค่ process patent เราจะถูกมาตรการลงโทษจากองค์การการค้าโลก

 

ถ้าคิดแบบเสรีนิยม แทนที่จะไปประกาศซีแอลเพื่อประหยัดพันล้าน ทำราคายาให้ถูกลง กับการที่รัฐจ่ายให้ประชาชนเข้าถึงยา รัฐอาจคิดคำนวณทุกด้านแล้วว่ารัฐจ่ายค่ายาเองคุ้มกว่าการใช้ซีแอล 

พอคุณได้ยาหนึ่งปี อายุยืนขึ้น ปีหน้าจะไม่ใช่แค่พันล้านแล้ว มันเพิ่มขึ้นอีก บวกกับผู้ป่วยรายใหม่ขึ้นไปอีก เรื่องนี้มันคาดการณ์ได้

 

ธนาคารโลกถึงชี้ได้ว่าถ้าใช้ซีแอลในสิบปีนี้ราคายาจะลดลง 90% ฉะนั้นถ้าไม่ทำ ระบบประกันสุขภาพที่ให้ยาต้านไวรัสอยู่พังแน่นอน ไม่มีทางที่รัฐไหนจะมีปัญญาแบกรับ เพราะมันจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อันนี้เป็นการประเมินของนักเศรษฐศาสตร์ของธนาคารโลกนะ ไม่ใช่เอ็นจีโอ

 

ถ้าคนได้ยามะเร็ง  88%ของคนพวกนี้จะมีอายุยืนขึ้น 3-5 ปี ต้องคิดว่า 3-5 ปีบวกกับเคสใหม่ๆ ไปเรื่อยๆ คุณมีปัญญาให้เขาไหม แม้ว่างบด้านสาธารณสุขจะเพิ่มขึ้น แม้ว่าจำกัดงบประมาณด้านการทหารไว้เลย ก็ยังไม่มีทางที่รัฐไหนจะแบกรับได้ เพราะอย่างนี้แต่ละรัฐที่ทำเรื่องรัฐสวัสดิการ ถึงต้องออกแบบการควบคุมราคายา แล้วตรงนี้คือสิ่งที่บริษัทยาเกลียดที่สุด มันจึงเกิดกรณีที่เกิดขึ้นกับกองทัพล็อบบี้ยิสต์เพื่อออกกฎหมาย Medicare ในสหรัฐฯ

 

สหรัฐฯ ไม่มีระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ทุกคนต้องจ่ายโดยตรง ถ้าคุณไม่อยู่ในระบบหลักประกันของเอกชน คุณก็ไม่มีระบบหลักประกันสุขภาพเลย ขณะที่โครงการ medicare ออกมาตั้งแต่สมัยเบบี้บูม คนแก่จะได้เงินอุดหนุนจากรัฐในเรื่องยา โครงการ Medicare ใหญ่มาก มีระบบการจัดซื้อยาทีละมากๆ ที่สามารถควบคุมราคายาได้ พวกบริษัทยาก็เลยใช้วิธีการล็อบบี้เพื่อแก้กฎหมายนี้ ทุ่มเงินเยอะมาก ขนาดที่ว่าจ้างล็อบบี้ยิสต์ 8 คนเพื่อประกบ ส.ส. 1 คน หรือ ส.ว.1 คน พูดง่ายๆ ว่า เป็นการรวมพลังระหว่างอุตสาหกรรมประกันสุขภาพกับอุตสาหกรรมยา เขายอมทุ่มกับการล็อบบี้เป็นหมื่นๆ ล้านดอลลาร์ ซึ่งก็ให้ผลคุ้มมากๆ เพราะในที่สุดทำให้โครงการนี้ต่อรองราคายาไม่ได้ ถ้าผู้เชี่ยวชาญบอกว่าต้องใช้ยาตัวนี้ ซึ่งผู้เชี่ยวชาญก็ "ซื้อ" ได้อยู่แล้ว คุณก็ต้องซื้อยาตัวนั้น แล้วถ้ายานั้นมันแพงเกินไปก็บีบบังคับคนแก่ให้เป็นคนจ่ายเพิ่มเอง เรียกว่าระบบ co-payment

 

พอเป็นอย่างนี้ระบบหลักประกันสุขภาพก็จะยังอยู่ ไม่ตาย แต่คนที่อยู่ภายใต้ระบบนี้ต้องจ่ายเพิ่ม และถ้าคุณไม่มีปัญญาจ่ายเพิ่มก็ไปตายซะ

 

อะไรเป็นอันตรายกับการค้าเสรีกันแน่ ระหว่างสิทธิบัตรที่คุ้มครองบริษัทยาอยู่กับการประกาศซีแอล

สิ่งที่อุตสาหกรรมยายาทำไม่ใช่การค้าเสรี เพราะมันพยายามทำให้การค้าเสรีไม่เกิดขึ้นจริง แต่ใช้คำว่า "การค้าเสรี" การแข่งขันด้านราคายาไม่เกิดขึ้นจริง ถ้าเชื่อเรื่องการค้าเสรี การผูกขาดของบริษัทยาต่างหากที่เป็นปัญหากับระบบการค้าเสรี และการประกาศซีแอลนี่แหละ จะทำให้เกิดการแข่งขันกันมากขึ้น กลไกตลาดทำงานได้มากขึ้น

 

จุดไหน หรือวิกฤตตรงไหนที่เป็นรูปธรรม ทำให้เราเรียกร้องให้หมอมงคลประกาศซีแอล

จริงๆ แล้วเรื่องนี้ไม่ได้เริ่มที่หมอมงคล ถ้าย้อนกลับไป ยาตัวแรกคือ เอฟฟาไวเรนซ์

 

ยาจีพีโอเวียร์ซึ่งเป็นยาสามตัวผสมกันขององค์การเภสัชกรรมอยู่ที่ 1,200 บาท แต่ 30% ของคนที่กินจีพีโอเวียร์จะแพ้ตัวยาที่เรียกว่าเนวิราปีน ฉะนั้น ต้องเปลี่ยนเป็นกินเอฟาไวเรนซ์ ซึ่งตัวเดียว 1,400 บาทแล้วยังต้องกินกับยาอีกสองตัว รวมๆ แล้ว2,000 กว่าบาท ส่วนใหญ่หมอก็เลยไม่อยากให้ คนไข้ก็ทนๆ ไป งบประมาณมีจำกัดก็ได้แค่ 8,000-10,000 คนทั้งที่จริงๆ คนที่ต้องการยาตัวนี้มี 6-7 หมื่นคน ทำให้เห็นว่าถ้ายาราคาถูกลงมันก็จะพอจ่ายได้ ขณะที่ราคายาจากอินเดียมันแค่ครึ่งเดียวเอง ทำให้เริ่มมีการดูเรื่องซีแอล ตอนนั้นเรื่องแนวทางการทำซีแอลถึงถูกส่งไปที่รัฐมนตรีพินิจ จารุสมบัติ ในฐานะประธานคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ก็เห็นด้วย แต่ไม่รู้ว่าทำไมกว่าที่เรื่องจะถูกส่งจาก สปสช.ไปถึงพินิจ (คนๆเดียวกัน) ในฐานะรัฐมนตรี มันจึงใช้เวลานานมาก จนหายเงียบไป กระทั่งมีการรัฐประหาร 19 กันยา เกิดขึ้น พอหมอมงคลเข้ามา เราก็ต้องนั่งอธิบายว่าทำไมจึงจำเป็นต้องประกาศซีแอล พูดคุยทำความเข้าใจกันเป็นเดือนๆ

 

ถ้ารัฐยอมให้งบ หมอยินดีจ่ายให้ แล้วทำไมยังต้องประกาศซีแอลอยู่ อยากจะได้หลักมากกว่าเรื่องการผูกขาด มีคำตอบเชิงยุทธศาสตร์บ้างไหม

ทำให้เราต้องกลับมาสนใจสัดส่วนการใช้งบประมาณภายใต้ระบบหลักประกัน ทำอย่างไรไม่ให้มีภาระยามากเกินไป เพราะว่าปัจจุบัน ค่ายาคิดเป็น 35% ของงบประมาณทั้งหมด กำไรก็ตกอยู่บริษัทยา ยิ่งขายยาแพงก็ยิ่งได้กำไรมาก ฉะนั้นในเชิงยุทธศาสตร์ ระบบหลักประกันสุขภาพมีความสำคัญกับทุกคน เพื่อรักษาระบบหลักประกันให้อยู่ได้อย่างยั่งยืน ก็มีความจำเป็นต้องไปลดค่าใช้จ่ายด้านยา

 

เรื่องที่ 2 เรื่องนี้เป็นสิทธิของคนทุกคนที่จะต้องได้รับการรักษาที่ดี ฉะนั้นการทำในเชิงยุทธศาสตร์ของเราก็เพื่อให้คนทุกคนได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานที่พึงได้

 

ประเด็นที่ 3 เป็นความพยายามที่จะชี้ให้เห็นและทำให้เกิดการค้าที่เป็นธรรมภายใต้ระบบการค้าเสรี

 

เหตุผลที่ประกาศซีแอลเพราะประเทศอื่นเขาประกาศกันอย่างนั้นหรือ

ไม่ใช่ เหตุผลที่ประกาศซีแอลก็คือว่า คุณไม่เคยใช้มาตรการที่มีอยู่ทางกฎหมายในการแก้ปัญหาเลย ทำไมเราไม่ใช้มาตรการทางกฎหมายที่มีอยู่ แทนที่จะไปกราบกรานบริษัทยาเพื่อขอความเห็นใจ

 

แต่มันถูกลงไม่เท่าไร ประหยัดแค่สองสามพันล้าน

เรื่องนี้ไม่ใช่การนับเม็ดเงินกับชีวิตคน แต่ต้องให้ทุกฝ่ายมาทบทวนกับบทบาทของตัวเอง เช่น รัฐมีหน้าที่สร้างความสมดุลระหว่างเจ้าของสิทธิกับผู้บริโภค

 

กองทุนระบบหลักประกันเหล่านี้จะมีประสิทธิภาพได้อย่างไร ถ้าไม่มีระบบเข้าไปช่วยจัดการการใช้งบประมาณให้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

ความสัมพันธ์ระหว่างหมอกับผู้ป่วย ถ้าระบบการรักษามันวนเวียนอยู่กับการรักษากับเม็ดเงิน ก็จะนำไปสู่ความขัดแย้งมากขึ้นเรื่อยๆ หรือคุณภาพการรักษาที่ขึ้นอยู่กับความมีปัญญาจ่าย ดังนั้น การทำให้รายาถูกลงอย่างถูกกฎหมาย ภายใต้กรอบกฎหมายเหล่านี้ จะสามารถลดความขัดแย้งดังกล่าว และจะยิ่งเพิ่มความสัมพันธอันดีระหว่างแพทย์กับผู้ป่วย และเพิ่มคุณภาพการรักษาได้

 

สำนึกของนักธุรกิจ เรื่องความรับผิดชอบต่อสังคม (CRS) ไม่ใช่แค่การบริจาคเงินเข้าองค์กรการกุศล แต่คุณสามารถตอบแทนสังคมได้ด้วย การตั้งราคาที่เป็นธรรม และมีสำนึกว่ายามีความจำเป็นกับชีวิตต่างจากสินค้าอื่น

 

ทำไมคุณถึงคิดว่า ถูกลงไม่เท่าไหร่ แล้วทำไมคุณถึงไปพึ่งไปหวังกับสิทธิพิเศษทางภาษี (จีเอสพี) ซึ่งก็ไม่มีงานวิจัยมาชี้บอกเลยว่ามันมีมูลค่าที่แท้จริงเท่าไหร่ แล้วจีเอสพีโดยตัวมันเองก็ลดลงทุกปี แต่ค่ายาขึ้นทุกปี ทำไมคุณยอมกับอะไรแบบนี้

 

เพราะมันอาจยังไม่ถึงจุดคุ้มทุน รัฐอาจต้องดูสิ่งที่ต้องจ่ายทั้งหมดทุกมิติกับสิ่งที่ได้

แล้วจุดสมดุลตรงไหน ถ้าในที่สุดยอมจ่ายตรงนี้แล้ว วันรุ่งขึ้นก็จ่ายหมื่นกว่าอีก คนก็เพิ่มมากขึ้น เงินจะเพิ่มมากขึ้น ในที่สุดก็จะจ่ายไม่ได้แน่นอน

 

ถึงจุดนั้นค่อยมาว่ากัน

ถึงตอนนั้นคุณอาจจะไม่กล้าใช้ เพราะประเทศไทยไม่เคยใช้

 

วันนี้คุณกล้าประกาศใช้ ถึงเวลานั้นก็ต้องกล้าประกาศอยู่แล้ว ยังไงก็ต้องมีครั้งแรก

อย่าลืมว่า ช่วงนี้มีการทำข้อตกลงเขตการค้าเสรี หรือ เอฟทีเอ แล้วข้อเรียกร้องแรกเลยในเอฟทีเอไทย-สหรัฐ คือ ห้ามหรือจำกัดการใช้ซีแอลให้เหลือเฉพาะ national emergency เท่านั้น แล้วต้องพิสูจน์ด้วยว่าเหตุฉุกเฉินระดับชาตินั้น ฉุกเฉินขนาดนั้นจริงหรือเปล่า ต้องมาตีความว่าความฉุกเฉิน และต้องจ่ายค่าชดเชยให้เจ้าของสิทธิบัตรอย่างคุ้มค่า

 

พูดกันตรงๆ ตรงนี้มีความจำเป็นไหม ยังยืนยันว่ามีความจำเป็น รวมทั้งเรื่องราคาจ่ายที่ต้องแบกรับด้วย แม้โดยส่วนตัวจะเห็นว่าเอฟฟาไวเรนซ์ รัฐอาจยังพอมีปัญญาจ่าย แต่สูตรที่สองอย่างคาเลทตรายังไงก็ต้องทำซีแอล ไม่มีทางจ่ายไหว

 

ถ้าสมมติว่ายาขั้นสองขั้นสามก็ยังมีปัญญาจ่าย ยังต้องทำซีแอลไหม

แล้วคุณก็พอใจจะอยู่ภายใต้การผูกขาดโดยไม่ตั้งคำถามหรือ และเมื่อเอฟทีเอมามันจะถูกกำจัดไม่ให้ใช้อีกเลย ปิดฝาโลงเลย ฉะนั้นเราต้องพิสูจน์ให้เห็นว่าสามารถใช้ซีแอลได้ และจะไปยอมข้อตกลงที่จะมาจำกัดการใช้มาตรการยืดหยุ่นในทริปส์แบบนั้นไม่ได้

 

ตอนนี้ถึงได้เชื่อว่าสิ่งที่รัฐบาลชุดนี้พยายามทำอยู่ รวมถึงเป็นความต้องการของบริษัทยาด้วย ไม่ใช่แค่หวังล้มซีแอลยามะเร็งเท่านั้น แต่อยากจะล้มซีแอลที่ประกาศไปก่อนสามตัว และไฟเขียวเอฟทีเอ ซึ่งนั่นจะนำไปสู่การผูกขาดทั้งระบบ

 

ว่าแต่จุดคุ้มทุนของคุณคืออะไร

 

ก็คือ คุณใช้จ่ายงบประมาณ จัดการบ้านเมืองไม่ดีพอ เอาเงินไปใช้จ่ายด้านต้านคอรัปชั่น การทำรัฐประหาร ใช้จ่ายด้านการทหาร แทนที่จะเอามาใช้จ่ายเรื่องยา

ตรงนั้นก็ต้องแก้ปัญหา แต่เราต้องยืนยันว่า เรามีความจำเป็นต้องใช้ และเราก็ต้องใช้ ถึงจะมีปัญญาจ่ายในสูตรแรก แต่สูตรสองมันจะทบไปเรื่อยๆ มีเงินเท่าไหร่ก็ไม่พอ และมันจะทำให้เกิดการผูกขาดหนักหน่วงไปเรื่อยๆ มันจึงเป็นความจำเป็น "ต้องใช้"

 

แปลว่าไม่แคร์ว่าภาคธุรกิจจะกระทบยังไง

กระทบจริงหรือ ที่ว่ากระทบ กระทบใคร

 

พูดถึงภาวะการลงทุน ธุรกิจยาข้ามชาติจะไปตั้งฐานการผลิตในประเทศกำลังพัฒนาที่มีค่าแรงถูก ในเมืองไทยพวกนี้ก็ไม่มาตั้งโรงงานผลิต แค่นำเข้ามาบรรจุและทำการตลาด ทำการทดลอง ฉะนั้นการขู่ว่าถอนการลงทุนของอุตสาหกรรมยา จริงๆ ไม่ได้กระทบกับเศรษฐกิจไทยมากมาย เพราะว่ากันง่ายๆ พวกนี้ไม่ได้ลงทุนอย่างมีนัยยะสำคัญ ในทางกลับกันกลับจะทำให้ไทยเสียเงินตราต่างประเทศ

 

คนที่ได้ผลประโยชน์จากอุตสาหกรรมยาข้ามชาติ คือ บุคคลากรทางการแพทย์ที่ส่วนใหญ่สมองไหลออกจากระบบ ได้เงินเดือนแพง ได้สวัสดิการที่ดี

 

ส่วนเรื่องการทำธุรกิจ ก็ยังขายยาได้อยู่ เพราะตลาดบนไม่เปลี่ยน การทำซีแอลไม่ได้กระทบตลาดบน

 

ส่วนผลกระทบในทางเศรษฐกิจอีกประเด็นที่ไม่เคยมีคนพูดถึง คือ เมื่อคนได้ยา ได้รับการรักษา พวกเขามีสุขภาพดีขึ้น สามารถกลับมาทำงานตามปกติ เพิ่มจำนวนแรงงาน เพิ่มกำลังในการพัฒนาประเทศ ครอบครัวไม่เดือดร้อน ไม่เป็นภาระสังคม พวกเขาสามารถหาเลี้ยงพ่อแก่แม่เฒ่า เลี้ยงดูลูกได้ ลูกหลานก็ไม่เดือดร้อนต้องมาแบกรับภาระเหล่านี้ ฉะนั้น เมื่อพูดถึงผลกระทบต้องมองรอบด้าน จะมองแค่ทำลายบรรยากาศการลงทุนแค่นั้นไม่ได้ ต้องมองให้เห็นคนที่อยู่ภายใต้ระบบทุนนิยมด้วย

 

ปัญหาคือภาคธุรกิจและภาครัฐบางส่วนพูดไม่ครบ คุณอ้างว่าจีเอสพีมีความสำคัญมาก แต่มันลดลงมาเป็นระยะๆ อยู่แล้ว เพราะประเทศไทยเริ่มมีฐานะดีขึ้น อย่างมาเลเซียถูกตัดจีเอสพีไปตั้งหลายปีแล้ว ทำไมการส่งออกเขายังไปได้ และที่จีเอสพีไทยถูกตัดเพราะปัญหาลิขสิทธิ์ และภาคธุรกิจพยายามพูดว่าการทำซีแอลคือการละเมิดสิทธิบัตร ซึ่งไม่ใช่ มันไม่ใช่เทปผีซีดีเถื่อนแบบนั้น มันเป็นมาตรการที่ถูกกฎหมาย แต่คุณไปเหมารวม ที่สำคัญประเทศที่จะได้สิทธิจีเอสพีต้องเป็นประเทศที่เคารพสิทธิการรวมตัวกันของแรงงาน ถ้าอย่างนี้เราพูดได้บ้างไหมว่าที่สหรัฐฯตัดจีเอสพี เพราะไทยไม่เคยลงนามข้อตกลงของยูเอ็นว่าด้วยการเคารพสิทธิของแรงงานในการรวมตัวเลย ภาคธุรกิจควรไปสำรวจตัวเองไหม ทำไมถึงไม่คิดปรับตัว ไม่เพียงเท่านั้น ภาคธุรกิจไม่เคยออกมาพูดเลยว่า หลังการถูกตัดสิทธิจีเอสพีไปเมื่อปีที่แล้ว สินค้าเครื่องประดับที่ทำจากทองคำและโทรทัศน์สีจอแบนมีมูลค่าการส่งออกไปสหรัฐฯเพิ่มขึ้น ขณะที่เม็ดพลาสติคโดยรวมของไทยในตลาดโลกก็ยังส่งออกสูงขึ้น 

 

ถามว่าตั้งแต่ปี 2535 ที่แลกไปยังไม่พออีกหรือ ทุกวันนี้ที่เราต้องอยู่ภายใต้กฎหมายสิทธิบัตรที่ตัดแขนตัดขาตัวเอง มาก่อนล่วงหน้าบ้านอื่นเมืองอื่นถึง 13 ปี ก็เพราะว่าเมื่อก่อนกลัวกันแต่เรื่องถูกตัดจีเอสพีนี่แหละ ยังไม่พออีกเหรอ ต้องแลกอีกกี่ครั้ง และบางทีคนไทยก็ต้องตั้งคำถามกับตัวเองได้แล้วว่า จะยอมรับการให้สิทธิพิเศษฝ่ายเดียวแบบนี้อีกนานแค่ไหน ถึงได้จีเอสพีแล้วยกเลิกซีแอลทั้งหมด ปีหน้าสหรัฐฯก็ยังต้องออกมาโวยวายอีก กดดันอีก

 

พอประกาศซีแอลแล้ว มันตอบคำถามเรื่องการพึ่งตัวเองได้ไหม เพราะซีแอลมันก็ต้องกำหนดระยะเวลาด้วย (บางตัว) หลังจากนั้นจะทำอย่างไร อุตสาหกรรมยาภายในมีศักยภาพและความพร้อมในการพัฒนาเพื่อการพึ่งตัวเองแค่ไหน

คำตอบแรก คือ ซีแอลไม่ใช่คำตอบของทุกสิ่งทุกอย่าง ถ้าไปดูในยุทธศาสตร์การเข้าถึงยา ซีแอลไม่ใช่ Ends เป็นแค่ Means (ไม่ใช่เป้าหมายแต่เป็นเครื่องมือ) ในการเข้าถึงยาเพิ่มขึ้น แต่ในยุทธศาสตร์มันมีวิธีการ มีเรื่องอื่นๆ ที่ต้องทำอีกหลากหลาย

 

ส่วนการประกาศซีแอล ยาที่เป็นยาต้านไวรัสประกาศแค่ 5 ปี เพราะหลังจาก 5 ปีมันจะดื้อยาแล้ว ต้องกินยาตัวใหม่ๆ แต่ยาหัวใจ ยามะเร็งนั้นครอบคลุมจะจนหมดอายุสิทธิบัตร

 

หลังจากนำเข้ายาจากอินเดียแล้วมีการส่งเสริมการผลิตในประเทศไหม ในการแกะรอยหรือทำอะไรอย่างที่อินเดียเคยทำหรือเปล่า

อย่างที่บอกว่าตอนทำซีแอล เวลาที่องค์การเภสัชกรรมเลือกบริษัท จะต้องเลือกบริษัทที่ตกลงจะถ่ายทอดเทคโนโลยีด้วย อย่างเทคโนโลยีทำเม็ดแข็งของอะลูเวียร์ ประเทศไทยไม่มีความรู้นี้เลย แต่บริษัทเมทริกซ์ของอินเดียจะถ่ายทอดความรู้นี้ให้กับองค์การเภสัชฯ และเพื่อไม่ให้ผูกขาดอยู่ในรัฐ ถ้ามีโอกาสครั้งต่อไป การเปิดให้บริษัทยาในประเทศได้เรียนรู้เทคโนโลยีด้วยก็น่าจะเป็นประโยชน์มากกว่าที่จะให้แค่องค์การเภสัชฯ เท่านั้น 

 

ข้อแนะนำหนึ่งของคณะผู้เชี่ยวชาญขององค์การอนามัยโลก (WHO) ที่มาให้คำแนะนำเชิงนโยบายในการทำซีแอลของไทยได้น่าสนใจมาก เขาบอกถึงหนทางที่เราจะขยายการเข้าถึงยาก่อนใช้ซีแอล หรือใช้ควบคู่ไปกับซีแอลก็ได้ ที่เห็นชัดที่สุดคือ การแก้กฎหมายสิทธิบัตรเพื่อแก้ไขปัญหาการออกสิทธิบัตรที่ไม่มีคุณภาพ

 

ทำไมไม่มีการเสนอในระดับพหุภาคีเลยว่าไม่ควรให้มีการให้สิทธิบัตรกับยา

เขาไม่ได้คิดน่ากลัวแบบนั้น ตั้งแต่ระบบสิทธิบัตรมันทำให้คนเห็นมากขึ้นว่าไม่ได้เป็นแรงจูงใจให้เกิดนวัตกรรมยาใหม่ ทำให้องค์การอนามัยโลกตั้งกลุ่มที่เรียกว่า IGWG ขึ้นมาเพื่อคิดถึงทางเลือกอื่นที่นอกเหนือจากสิทธิบัตร เช่น การให้รางวัลกับผู้คิดค้น และผลงานที่ได้เป็นของสาธารณะ แล้วพอมีกรณีของไทยขึ้นมายิ่งทำให้เรื่องนี้เป็นเรื่องที่พูดกันมากยิ่งขึ้น แต่ตัวขวางใหญ่คือสหรัฐอเมริกา เขาไม่ยอม อย่างไรก็ต้องระบบสิทธิบัตร ตอนนี้มีหลายประเทศที่เริ่มคิดเก็บภาษีเครื่องบินมาให้เป็น prize แทนที่จะเป็น patent

 

สิ่งที่ประเทศไทยทำ นอกจากจะทำให้คนเข้าถึงยามากขึ้นแล้ว ยังไปเป็นแรงกระเพื่อมระดับแผ่นดินไหวเลย ให้คนตั้งคำถามมากขึ้นกับอุตสาหกรรมยา ฉะนั้น ยุทธศาสตร์ของเรามันอาจจะตอบไม่ได้ด้วยระบบภายในทั้งหมด แต่มันอาจจะต้องได้ด้วยระบบโลก ตอนนี้กำลังเกิดคำถามอย่างนี้มากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนา เรื่องของไทยทำให้ตอนนี้ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีของสหรัฐ 3 คนต้องหันมาพูดเรื่องบริษัทยาว่าทำอย่างไรจะให้คนเข้าถึงยามากขึ้น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net