Skip to main content
sharethis


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายบรรจง นะแส นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย เปิดเผยว่า ตนได้ส่งข้อท้วงติงและให้ข้อเสนอแนะ รวม 8 ประเด็น เกี่ยวกับร่างรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) โครงการผลิตปิโตรเลียมแหล่งสงขลา ของบริษัท นิวคาสตอล (ประเทศไทย) จำกัด ผู้รับสัมปทานสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในแปลงสัมปทานหมายเลข G5/43 ในอ่าวไทย จากกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน ที่มีแผนจะขุดเจาะเพื่อผลิตน้ำมันดิบในเดือนพฤษภาคม 2551 นี้ ซึ่งที่ตั้งโครงการอยู่ห่างจากชายฝั่งอำเภอสะทิงพระ จังหวัดสงขลา 30 กิโลเมตร ตามที่บริษัทฯ ได้ส่งร่างอีไอเอดังกล่าวมาให้ตนพิจารณา

สำหรับการจัดทำอีไอเอดังกล่าว บริษัท นิวคาสตอลฯ ได้ว่าจ้างบริษัท อีอาร์เอ็ม - สยาม จำกัด เป็นที่ปรึกษา เพื่อเสนอต่อสำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.)


โดยทั้ง 8 ประเด็นดังกล่าว ประกอบด้วย การประเมินคุณภาพสิ่งแวดล้อม ได้แก่ ผลกระทบของคาร์บอนไดออกไซด์ในระยะการติดตั้งโครงสร้าง 55,318 กิโลกรัมต่อวันและในระยะการผลิต 19,317 กิโลกรัมต่อวัน ไม่ประเมินผลกระทบ ของเสียอันตรายจากการติดตั้งโครงสร้างและการขุดเจาะไม่มีสาร Radioactive จริงหรือไม่ และไม่ประเมินผลกระทบจากของเสียอันตรายกรณีเกิดอันตรายที่สุด


ในเรื่องการจัดการด้านชีวอนามัย ความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อม ไม่มีคู่มือจัดการ คู่มือแผนฉุกเฉินและคู่มือปฏิบัติการกรณีเกิดพายุมาให้ประกอบการพิจารณา


กรณีน้ำมันรั่ว ระดับที่ 1 คือเกิดน้ำมันหกรั่วไหลปริมาณน้อยกว่า 20 ลูกบาศก์เมตร (100 บาเรล) ระดับที่ 2 คือเกิดจากท่อแตก ขาด ทำให้เกิดการรั่วไหลมากกว่า 20 ลูกบาศก์เมตร แต่ไม่เกิด 1,000 ลูกบาศก์เมตร (100 - 5,000 บาเรล) และระดับที่ 3 คือ มีการหกรั่วไหลมากกว่า 1,000 ลูกบาศก์เมตร เช่น การพุ่ง ไม่มีการประเมินผลกระทบและมาตรการลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม


ทั้งที่ต้องแสดงการเตรียมการของบริษัทในกรณีน้ำมันรั่วไหลทั้ง 3 ระดับ หน่วยงานที่ตอบสนองต่อเหตุการณ์น้ำมันรั่วไหล ไม่มีรายละเอียดในการดำเนินการแก้ปัญหาน้ำมันรั่ว การประเมินผลกระทบต่ออาชีพประมงและภาพรวมของโครงการสั้นเกินไป ควรแสดงตัวเลขความเสียหายที่เห็นภาพทางเศรษฐกิจได้ และควรประเมินผลกระทบต่อการประมงในเขตจังหวัดสุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราชในกรณีน้ำมันรั่วในปริมาณมาก


ประเด็นกิจกรรมโครงการ ได้แก่ เครื่องเจาะ super sundowner ไม่ได้บอกรายละเอียดว่ามีสาร Radioactive หรือไม่ การทดสอบแรงดันภายในท่อใช้สารเคมีอะไร เป็นพิษหรือไม่ Water based mud คืออะไร เป็นพิษหรือไม่ ก๊าซธรรมชาติที่ปนออกมามีปริมาณเท่าไร น้ำจากการผลิตทั้งสามชั้นหิน ในการอัดกลับจะกระทบกับคุณภาพน้ำบาดาลหรือไม่


ประเด็นการยุติโครงการ ได้แก่ ให้บอกวิธีการอุดและสละหลุม การตัดท่อผลิตและการจัดการกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน


ประเด็นสภาพแวดล้อมปัจจุบัน มีการเก็บตัวอย่างเพียงหนึ่งฤดูกาล คือ พฤศจิกายน 2549 เท่านั้น ทำให้การประเมินไม่สมบูรณ์ เพราะการเก็บตัวอย่างเพื่อทำอีไอเอ น่าจะต้องเก็บตัวอย่างทั้งฤดูมรสุมและนอกมรสุม เพราะในการดำเนินโครงการไม่ได้ทำเฉพาะในฤดูใดฤดูหนึ่งเท่านั้น โลหะหนัก แพลงก์ตอนพืชและสัตว์ สัตว์น้ำ สัตว์หน้าดิน ไม่ระบุฤดูกาลที่เก็บตัวอย่าง คุณภาพน้ำ ตะกอนพื้นทะเล ไม่ระบุฤดูกาลที่เก็บตัวอย่าง


ที่ว่าไม่พบวาฬและโลมาในพื้นที่โครงการอาจไม่จริง ไม่ระบุรายละเอียดของทะเลสาบสงขลาซึ่งที่ตั้งโครงการอยู่ห่างจากปากทะเลสาบสงขลาประมาณ 40 กิโลเมตร ควรแสดงคุณภาพน้ำทะเลทั้ง 8 สถานีเก็บตัวอย่างน้ำที่ตั้งอยู่บริเวณใกล้เคียงกับโครงการ กุ้งในอ่าวไทยที่สำคัญทางเศรษฐกิจมีมากกว่า 8 ชนิดตามที่ระบุไว้ในร่างอีไอเอดังกล่าว รวมทั้งกุ้งแวนนาไม เป็นกุ้งอพยพจากประเทศอื่น


ประเด็นการลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม คุณภาพอากาศควรบอกการใช้ก๊าซส่วนเกินเป็นปริมาณ เพื่อเห็นภาพรวม น้ำโคลนจากการขุดเจาะ ยังไม่มีมาตรการลดผลกระทบในการขุดหลุมขั้นต้นและขั้นกลาง การอัดน้ำทิ้งลงหลุม ยังไม่มีมาตรการลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม


น้ำทดสอบท่อควรบอกชนิดสารเคมีและวิธีการลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม ตะกอนพื้นทะเล ยังไม่มีมาตรการลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม ในการขุดหลุมขั้นต้นและขั้นกลาง สิ่งมีชีวิตในทะเล ยังไม่มีมาตรการลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม การจัดการของเสียต้องทำตามข้อกำหนดของบริษัท กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงอุตสาหกรรม


ส่วนข้อเสนอแนะ ให้จดทะเบียนบริษัทในจังหวัดสงขลา เพื่อให้ภาษีและรายได้ตกเป็นประโยชน์ของท้องถิ่น และเพื่อการติดต่อประสานงานกับชุมชนได้ง่าย การรื้อถอน ต้องปรึกษาชุมชน และสถาบันการศึกษา ตามมาตรา 67 ของรัฐธรรมนูญ 2550


ในกรณีฉุกเฉิน ต้องมีพื้นที่รวมที่สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราชด้วย มาตรการชดเชยที่เป็นรูปธรรม วิธีปฏิบัติเมื่อเกิดเหตุน้ำมันรั่วไหลจากแท่นผลิต ท่อขนส่งและเรือขนส่งที่เป็นรูปธรรม ตามมาตรฐานยุโรปและสหรัฐอเมริกา ต้องมีวิธีปฏิบัติงานในฤดูมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ พร้อมวิธีการแก้ไขปัญหาน้ำมันรั่วไหล ตามมาตรฐานยุโรปและสหรัฐอเมริกา


ประเด็นการติดตามผลกระทบสิ่งแวดล้อม น้ำจากการผลิต น้ำทะเล ตะกอนพื้นทะเล แพลงก์ตอน สัตว์หน้าดิน ต้องมีการเก็บตัวอย่างอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง และต้องเพิ่มพื้นที่การติดตามผลกระทบในจังหวัดสุราษฎร์ธานีและนครศรีธรรมราชด้วย


การรื้อถอนโครงสร้างต้องกำหนดรายละเอียดการติดตามผลกระทบให้ชัดเจน เช่น การเก็บตัวอย่างอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง และต้องเพิ่มพื้นที่การติดตามผลกระทบในจังหวัดสุราษฎร์ธานีและนครศรีธรรมราช


ประเด็นการมีส่วนร่วมของประชาชน การประชุมกลุ่มย่อย 4 จุดตามที่ระบุในร่างอีไอเอดังกล่าว สอบถามแล้วมีผู้เข้าร่วมประมาณ 20 คน ต่อจุดและไม่รู้รายละเอียดโครงการ ควรเพิ่มจุดศึกษาในเขตจังหวัดสุราษฎร์ธานีและนครศรีธรรมราชด้วย ยังไม่มีการทำประชาพิจารณ์ตามมาตรา 67 ของรัฐธรรมนูญ 2550 การสำรวจทัศนคติ ไม่บอกวิธีการอย่างละเอียดและจำนวนตัวอย่างการเก็บข้อมูล ขาดรายละเอียดของการชดเชยอย่างรวดเร็ว ต้องมีแนวทางในการรับเรื่องร้องเรียน


ส่วนประเด็นอื่นๆ ได้แก่ ก๊าซที่แยกได้ทั้งที่เผาและเก็บในเรือไม่ได้บอกจำนวน และน้ำจากการผลิตอาจซึมเข้าสู่ชั้นหินใต้ดิน ซึ่งกระทบต่อน้ำชั้นบาดาลที่ชุมชนใช้อยู่หรือไม่


อย่างไรก็ตาม ในร่างอีไอเอดังกล่าวได้ระบุถึงกรณีการเกิดน้ำมันรั่วระดับที่ 2 ว่า เจ้าหน้าที่ที่เกิดเหตุไม่สามารถควบคุมสถานการณ์เองได้ ต้องรายงานต่อทีมตอบสนองฉุกเฉินของกลุ่มบริษัท NuCoastol - ERC เมืองฮิวสตัน สหรัฐอเมริกา และแจ้งให้ผู้ประกอบกิจการก๊าซและน้ำมันรายอื่นๆ ในอ่าวไทยทราบเพื่อควบคุมสถานการณ์และทำความสะอาด ส่วนระดับที่ 3 บริษัทฯ จะขอความช่วยเหลือจาก East Asia Response Limited (EARL)


แหล่งข่าวในบริษัท นิวคอสตอล (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า ขณะนี้ทางบริษัทได้เลื่อนแผนการดำเนินโครงการจากเดิมที่กำหนดเริ่มโครงการในเดือนมีนาคม 2551 ออกไปเป็นเดือนพฤษภาคม 2551 เนื่องจากความไม่พร้อมหลายประการ รวมทั้งรายงาน EIA ยังไม่ผ่านการพิจารณาของ สผ. ในประเด็นหลักๆ สองประเด็น ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงปริมาณปิโตรเลียมไฮโดรคาร์บอน (Total petroleum hydrocarbon) คือการเก็บตัวอย่างน้ำมาตรวจวิเคราะห์ด้วยวิธีการใหม่ อีกประเด็นคือการประเมินผลกระทบทางด้านสุขภาพ ซึ่งคาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จภายใน 2 สัปดาห์ แล้วนำไปปรังปรุงแก้ไขในร่างอีไอเอ ซึ่งเป็นฉบับที่สามแล้ว เสนอต่อ สผ.ต่อไป


แหล่งข่าวคนเดิมเปิดเผยอีกว่า อย่างไรก็ตาม คิดว่าแผนที่วางไว้ว่าจะดำเนินการในเดือนพฤษภาคม 2551 อาจไม่ทัน เพราะการตรวจวิเคราะห์ตัวอย่างน้ำด้วยวิธีการใหม่นั้น ในประเทศไทยมีห้องปฏิบัติการอยู่แห่งเดียวที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ขณะนี้มีตัวอย่างที่รอการตรวจวิเคราะห์ถึง 2,000 ตัวอย่าง เพราะบริษัทขุดเจาะน้ำมันทุกแห่งในประเทศไทย ต่างส่งตัวอย่างให้ห้องปฏิบัติการดังกล่าวตรวจวิเคราะห์


นอกจากนี้ ขั้นตอนของการพิจารณาอีไอเอ ซึ่งเมื่อผ่านการพิจารณาของ สผ.แล้ว ยังต้องผ่านการพิจารณาของผู้ชำนาญการและคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติซึ่งมีนายกรัฐมนตีเป็นประธานด้วย


สำหรับโครงการผลิตปิโตรเลียมดังกล่าว ประกอบด้วยการติดตั้งแท่นหลุมผลิต 1 หลุม แท่นผลิตอีก 1 หลุม เรือกักเก็บปิโตรเลียม โดยน้ำมันที่ผลิตได้จะถูกส่งไปยังเรือกักเก็บน้ำมันโดยทางท่อ เป็นท่อขนาด 6 นิ้ว ยาว 1,000 เมตร โดยไม่มีการฝังท่อในพื้นที่ทะเล และน้ำมันดิบในเรือจะถูกส่งไปยังโรงกลั่น โดยไม่มีการก่อสร้างท่อส่งน้ำมันขึ้นมาบนฝั่งแต่อย่างใด


คาดว่าจะผลิตน้ำมันได้ประมาณ 3 ล้านบาเรลในระยะเวลา 36 เดือน โดยมีกำลังการผลิตสูงสุดที่อัตรา 4,500 บาเรลต่อวัน ซึ่งจะช่วยเพิ่มปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของประเทศได้ถึงร้อยละ 2.9


ระยะเวลาดำเนินการประมาณปี 2551 - 2554 สำหรับการติดตั้งแท่นหลุมผลิตและแท่นผลิตจะใช้เวลา 16 วัน การขุดเจาะหลุมประเมินผล 5 หลุม ใช้เวลาประมาณ 72 วัน ขุดเจาะหลุมผลิต 6 หลุม ใช้เวลาประมาณ 75 วัน


ส่วนผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น โดยเฉพาะต่อการประมงอันเนื่องมาจากการดำเนินงาน เศษหินและโคลานที่เกิดจากการขุดเจาะ การขุดเจาะหลุมระดับบน จะน้ำทะเลในการขุดเจาะเท่านั้น และจะใช้โคลนเพียงเล็กน้อยเพื่อทำการล้างทำความสะอาดหลุมหลังจากการขุดเจาะแล้วเสร็จ ซึ่งโคลนประเภทนี้ไม่เป็นพิษและใช้กันทั่วไปในการขุดเจาะ และได้รับการยอมรับจากรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน รวมทั้งหน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อมว่าไม่เป็นพิษ และไม่สะสมในสิ่งแวดล้อม โดยน้ำโคลนและเศษหินที่เกิดขึ้น จะถูกระบายออกสู่ทะเล ณ ตรงบริเวณปากหลุมที่ทำการขุดเจาะ ซึ่งจะทำให้เศษหินส่วนใหญ่กองอยู่บริเวณปากหลุมและน้ำโคลนจะถูกพัดไปไม่ไกลจากปากหลุม


การขุดเจาะระดับกลาง จะใช้น้ำทะเลผสมกับสารเพิ่มความหนืด โดยไม่มีการใช้โคลน โดยน้ำทะเลและเศษหินที่เกิดขึ้นจากการขุดเจาะจะถูกนำขึ้นมาบนแท่น และระบายลงสู่ทะเลผ่านท่อระบายที่ระดับ 15 เมตรต่อกว่าระดับน้ำทะเล เพื่อป้องกันการกระจายตัวของเศษหิน (ระดับน้ำในพื้นที่โครงการอยู่ที่ 24 เมตร)


การขุดเจาะหลุมระดับสุดท้าย จะใช้โคลนที่มีส่วนผสมของสารสังเคราะห์ซึ่งไม่มีความเป็นพิษ โดยน้ำโคลนและเศษหินที่เกิดขึ้นจากการขุดเจาะจะถูกนำขึ้นมาบนแท่นเพื่อผ่านการแยก ซึ่งน้ำโคลนจะถูกนำกลับไปใช้ใหม่ ส่วนเศษหินที่แยกได้จะถูกเก็บไว้ในถังบรรจุเพื่อรอส่งขึ้นฝั่ง และนำไปกำจัดโดยการเผาที่ปูนซิเมนต์ไทย (ทุ่งสง) อำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช จะไม่มีการปล่อยทิ้งน้ำโคลนและเศษหินจากการขุดเจาะในช่วงนี้ลงสู่ทะเล


ปริมาณโคลนและเศษหินที่ต้องปล่อยลงสู่ทะเล หลุมระดับบน โคลน 77 ลูกบาศก์เมตร เศษหิน 44 ลูกบาศก์เมตร หลุมระดับกลาง มีเฉพาะเศษหิน 125 ลูกบาศก์เมตร เฉลี่ยต่อหลุมมีโคลน 24 ลูกบาศก์เมตร เศษหิน 169 ลูกบาศก์เมตร รวม 11 หลุม (6 หลุมผลิตและ 5 หลุมประเมินผล) มีโคลน 264 ลูกบาศก์เมตร เศษหิน 1,859 ลูกบาศก์เมตร


จากผลการศึกษาแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ หลังจากลดขนาดหลุม ลดปริมาณการใช้โคลนและเพิ่มความยาวท่อระบายเศษหิน พบว่า เศษหินและโคลนถูกพัดไปจากจุดที่ทำการขุดเจาะได้ไม่เกิน 2 กิโลเมตร


ทั้งนี้จะมีการตรวจสอบคุณภาพน้ำ ตะกอนพื้นทะเล รวมทั้งโลหะหนักในเนื้อเยื่อปลา ทั้งในพื้นที่โครงการและตามแนวปะการังเทียมในช่วงก่อนและหลังดำเนินโครงการหลังจากเริ่มดำเนินโครงการ โดยผลการตรวจสอบจะถูกนำไปเปรียบเทียบกับผลการตรวจสอบของหน่วยงานราชการที่เก็บตัวอย่างในบริเวณใกล้เคียง และส่งตรวจตามระยะเวลาที่กำหนด


การเก็บตัวอย่างจะจ้างเรือประมงมาเก็บตัวอย่างทุกปี โดยมีการติดตั้งอุปกรณ์เพิ่มเติมเพื่อใช้เก็บตัวอย่าง และยินดีที่จะจะให้ตัวแทนชาวประมงและหน่วยงานราชการเข้ามาสังเกตการณ์ในการดำเนินการเก็บตัวอย่าง


จากการดำเนินโครงการจะมีการสูญเสียพื้นที่ประมงมากที่สุด ไม่เกิน 1.98 ตารางกิโลเมตร สำหรับมาตรการป้องกันและลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับการประมง จะแจ้งเวลา ตำแหน่งที่ดำเนินโครงการล่วงหน้าให้ทราบ ติดตั้งทุนลอย สัญญาณไฟส่องสว่าง จ่ายค่าชดเชยค่าเสียหายให้ชาวประมงที่ได้รับผลกระทบ หรือเครื่องมือประมงเสียหายอันเนื่องมาจากการดำเนินโครงการ


ปล่อยสัตว์น้ำวัยอ่อน เพิ่มปริมาณสัตว์น้ำในพื้นที่ สนับสนุนโครงการเกี่ยวกับปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำ การจัดทำปะการังเทียม การจ่ายชดเชย ต้องได้รับความเห็นชอบจากหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ และหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องกับการประมง เพื่อความเป็นธรรม


ดังนั้นทางโครงการจะเสนอให้ตั้งคณะกรรมการเพื่อปรึกษาหารือในการกำหนดค่าชดเชยตามความเสียหาย ประกอบด้วยตัวแทนส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง สถาบันการศึกษา ชาวประมงที่ได้รับผลกระทบ และหน่วยงานอื่นๆ ตามที่ชาวประมงที่ได้รับผลกระทบต้องการ


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net