บทความ: มะเร็ง: โรคที่ถูกสังคมตีตรา?

วาย เค ซาปรู

 

เมื่อปีที่แล้ว เมื่อประเทศไทยได้ประกาศบังคับใช้สิทธิโดยรัฐเพื่อเปิดทางให้สามารถบริการผู้ป่วย/ผู้ติดเชื้อด้วยยาต้านไวรัสเอชไอวี/เอดส์ที่มีราคาถูก บรรดานักกิจกรรมด้านสาธารณสุขต่างลุกขึ้นมาเคียงข้างและส่งเสียงชื่นชม เมื่อคณะกรรมาธิการยุโรป, สหรัฐอเมริกา และบรรดาอุตสาหกรรมยาข้ามชาติข่มขู่ประเทศไทยว่าจะคว่ำบาตรทางการค้า หรือถอดยาใหม่ๆออกจากประเทศไทย นักกิจกรรมเหล่านี้ก็ลุกขึ้นสู้อย่างพร้อมเพรียงกัน

 

พวกเรา, ในฐานะสมาคมให้ความช่วยเหลือผู้ป่วยมะเร็งของอินเดีย, เราก็ทำหน้าที่ของพวกเราร่วมกับองค์กรด้านสาธารณสุขอื่นๆ พวกเราประกาศอย่างชัดเจนว่า การที่ประเทศไทยประกาศบังคับใช้สิทธิโดยรัฐเพื่อนำเข้ายาชื่อสามัญจากอินเดียนั้น เป็นการกระทำที่ถูกกฎหมายตลอดทั้งกระบวนการ เราส่งเสียงร้องต่อสู้กับความพยายามที่จะบ่อนทำลายประเทศที่เพียรหาหนทางให้ได้มาซึ่งยาช่วยชีวิตเพื่อประชาชนของตน ในที่สุดพวกเราประสบชัยชนะ

 

แต่เหตุใดหนึ่งปีต่อมาเสียงพวกนั้นแทบไม่ได้ยิน? ประเทศไทยประกาศบังคับใช้สิทธิโดยรัฐอีกครั้งเพื่อนำเข้ายาชื่อสามัญจากอินเดียนำมาซึ่งความยินดีของพวกเราที่สมาคมให้ความช่วยเหลือผู้ป่วยมะเร็ง มันอาจไม่ได้ดูแตกต่างในเชิงสาธารณสุข แต่ครั้งนี้เป็นยาสำหรับโรคมะเร็ง

 

เสียงร้องไม่เป็นสาระของอุตสาหกรรมยาข้ามชาติ และรัฐบาลประเทศตะวันตกดังกระหึ่มอีกครั้ง รัฐมนตรีสาธารณสุขคนใหม่ของไทยก็กำลังแสดงสัญญาณที่จะสยบยอมต่อแรงกดดันนั้น โดยกล่าวว่าจะทบทวนการประกาศบังคับใช้สิทธิโดยรัฐซึ่งอดีตรัฐมนตรีสาธารณสุขประกาศไว้ แต่คราวนี้พวกนักกิจกรรมเหล่านั้นไปอยู่ไหนกัน? ไหนหล่ะการประท้วง?

 

หรือเป็นเพราะว่าครั้งนี้ไม่ใช่ยาต้านไวรัสที่กำลังจะถูกนำเข้าจากอินเดีย แต่เป็นยาที่รักษาโรคมะเร็งเต้านมและมะเร็งปอด? หรือเสียงที่เงียบหายไปเป็นเพราะว่ามันเป็นยาที่ช่วยชีวิตผู้ป่วยที่ทุกข์ทรมานจากโรคเรื้อรังที่ไม่ติดต่อ เป็นความจำเป็นของคนที่บางครั้งถูกมองว่าไม่เร่งด่วน ไม่เป็นประเด็นการเมืองเท่าความตายจากเอชไอวี/เอดส์? หรือ เพราะว่ามะเร็งคือโรคที่ถูกสังคมตีตรา?

 

ความจำเป็นนี้ เป็นความเร่งด่วนเฉียบพลัน โรคมะเร็งเป็นโรคที่เป็นสาเหตุให้คนเสียชีวิตอันดับ 6 ของประเทศเรา (อินเดีย) จากการประเมินของโครงการลงทะเบียนมะเร็งแห่งชาติ พบว่า ในอินเดียมีผู้ป่วยมะเร็งประมาณ 2,500,000 คน จากจำนวนนี้ 400,000 คนจะเสียชีวิตจากมะเร็งภายในปีนี้ ในประเทศไทย 30,000 คนตายเพราะมะเร็งทุกปี ขณะที่มีผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่เพิ่มขึ้น 100,000 รายทุกปี

 

นี่ไม่ใช่แค่จำนวนหรือตัวเลขทางสถิติ ทุกๆวัน สมาคมให้ความช่วยเหลือผู้ป่วยมะเร็งต้องดิ้นรนให้ความช่วยเหลือทางการแพทย์และความจำเป้นอื่นๆแต่ผู้ป่วยมะเร็งหลายพันคน พวกเขาก็เหมือนกับผู้ป่วยโรคอื่นๆ เราเชื่อว่าผู้ป่วยมะเร็งทุกคนมีสิทธิในการเข้าถึงการรักษาอย่างเต็มที่

 

เหมือนกับเอชไอวี/เอดส์ การรักษามะเร็งในประเทศกำลังพัฒนามีราคาแพงมากและใบเสร็จค่ารักษาก็ทำให้หลายครอบครัวล่มจม ในประเทศไทยก็เหมือนกับที่อินเดีย รัฐบาลไม่สามารถให้ยามะเร็งภายใต้ระบบสาธารณสุข สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติของไทยซึ่งดูแลระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าไม่สามารถจ่ายค่ารักษาสำหรับผู้ป่วยมะเร็งได้ ยาเหล่านี้มีอยู่แต่ในโรงพยาบาลเอกชน และมันก็แพงมากๆ

 

นั่นหมายความว่า บทบาทของยาชื่อสามัญจากอินเดียมีความสำคัญที่จะป้อนยาช่วยชีวิตให้แก่ผู้ป่วยเช่นเดียวกับกรณีของเอชไอวี/เอดส์ ยาเออร์โรธินิบที่ใช้ในการรักษามะเร็งปอดที่ติดสิทธิบัตรถูกขายในราคาเม็ดละ 4,800 รูปี ขณะที่ยาชื่อสามัญราคาเพียง 925 รูปี ต่างกัน 5 เท่า ยาอิมาธินิบที่ใช้รักษาโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว ราคาของยาติดสิทธิบัตรอยู่ที่ 120,000 รูปีต่อการรักษาหนึ่งเดือน ขณะที่ราคายาชื่อสามัญเพียง 8,000 รูปีต่อเดือน ถูกกว่ากันถึง 15 เท่า

 

สำหรับผู้ป่วยมะเร็งในประเทศกำลังพัฒนา การเข้าถึงการรักษาต้องพึ่งพิงการประกาศบังคับใช้สิทธิ รัฐบาลอินเดียต้องแสดงเจตจำนงค์ที่จะใช้การประกาศบังคับใช้สิทธิเพื่อเพิ่มการแข่งขันของอุตสากรรมยาชื่อสามัญ และเพื่อส่งออกยาชื่อสามัญราคาถูกไปประเทศอื่นๆ รัฐบาลไทยต้องไม่ยกเลิกการประกาศบังคับใช้สิทธิในยาต้านมะเร็ง การประกาศบังคับใช้สิทธิเปิดโอกาสให้เห็นความหวังใหม่ในการรักษาอย่างต่อเนื่อง

 

ถ้ารัฐบาลไทยหันหลังให้กับผู้ป่วยมะเร็ง พวกเขาจะไม่ใช่คนกลุ่มเดียวที่ต้องทนทุกข์ทรมาน แต่นี้จะกลายเป็นตัวอย่างที่เลวร้าย ถ้าประเทศไทยยอมอ่อนข้อ ประเทศอื่นๆอย่าง อินเดียจะต้องคิดหนักขึ้นก่อนที่จะประกาศบังคับใช้สิทธิ การประกาศบังคับใช้สิทธิเป็นหนทางเดียวที่จะประกันแหล่งยาราคาถูกให้คงอยู่ต่อไปในอนาคต

 

นักกิจกรรมด้านสาธารณสุขควรตระหนัก และต้องออกมาร่วมแรงร่วมใจสนับสนุนผู้ป่วยมะเร็งในประเทศไทย

 

เกี่ยวกับผู้เขียน

วาย เค ซาปรู เป็นประธานสมาคมช่วยเหลือผู้ป่วยมะเร็ง (CPAA) ปัจจุบันสมาคมให้ความช่วยเหลือทางการแพทย์และด้านอื่นๆ แก่ผู้ป่วยมะเร็ง และรณรงค์ประเด็นที่ส่งผลให้เกิดการเข้าถึงยามะเร็งราคาถูก

เว็บไซต์: www.cpaaindia.org อีเมล: yksapru@cpaaindia.org

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท