Skip to main content
sharethis

วิทยากร บุญเรือง สัมภาษณ์


 


จับตาขบวนการภาคประชาชน เป็นรายงานชุดที่พยายามจะนำเสนอมุมมอง วิเคราะห์จุดแข็ง-จุดอ่อน โอกาส-อุปสรรค ที่เกิดขึ้นกับมวลหมู่ที่เราเรียกว่า "ภาคประชาชนไทย"


 


โดยในประเด็นแรกที่จะนำเสนอก็คือ "เมื่อภาคประชาชนก้าวสู่ระบบเลือกตั้ง" ซึ่งได้พูดคุยกับ "เจษฎา โชติกิจภิทวาทย์" แห่งกลุ่มประชาธิปไตยเพื่อรัฐสวัสดิการ (ปรส.) เอ็นจีโอธรรมดาสามัญ ที่ได้ทำงานคลุกคลีกับทั้ง NGO's นักวิชาการ รวมถึงลงพื้นที่ทำงานมวลชนกับชาวบ้านรากหญ้า เกษตรกร และ แรงงาน อย่างจริงจังในช่วงเวลาหลายปีที่ผ่านมา และล่าสุดในตำแหน่ง บก.จุลสารเสมอภาค ที่เขาหมายมั่นปั้นมือที่จะให้เป็นสื่อปลุกระดมทางความคิดแก่กลุ่มคนจนที่เข้าไม่ถึงเทคโนโลยี


 


Q: ยินดีด้วยไหม ที่เพื่อนๆ NGO's ลงเล่นการเมือง?


ผมคิดว่าการเล่นการเมืองของ NGO's ในที่นี้หมายถึงการเมืองในระบบ เช่น สมัครผู้แทนราษฎร สมัคร ส.. สมัครเป็นกรรมการสิทธิ์  องค์กรอิสระต่างๆ มิใช่สิ่งที่ผิดแต่อย่างใด เพียงแต่ใครเป็นคนเลือกคุณ  ถ้าประชาชนเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยรัฐสภา ก็คุณมีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งได้ แสดงว่าอย่างน้อยคุณมีความคิดว่ารากฐานคุณต้องเชื่อมกับประชาชนที่เขาควรมีสิทธิเลือกตัวแทนซึ่งเป็นพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตยรัฐสภา


 


ซึ่งแบบนี้ผมเห็นด้วย และแน่นอนว่าการได้รับการเลือกตั้งของคุณ คุณก็ต้องมีการเคลื่อนไหว มีกลยุทธ์ต่างๆ ในการทำให้ประชาชนเลือกในการสร้างความยอมรับว่าคุณจะทำหน้าที่เพื่อประชาชน เช่น การเป็นนักรณรงค์ประเด็นต่างๆ ที่ประชาชนผู้เลือกตั้งยอมรับในตัวคุณแล้วก็เลือกคุณ ซึ่งไม่ต่างจากนักการเมืองทั่วไปที่ได้รับการเลือกตั้งที่พูดกันว่า คนนี้มีผลงานจึงเลือก แม้ว่าการสร้างผลงานของแต่ละคนอาจไม่เหมือนกัน  บางคนอาจจะเคยช่วยลักษณะเชิงสังคมสงเคราะห์  บางคนอาจจะผลักดันกฎหมายนโยบาย    แต่ทุกคนประชาชนเป็นผู้เลือก มิใช่มาจากการสรรหา จากการเลือกของอรหันต์ไม่กี่คน หรือจากคณะรัฐประหารหยิบมือเดียว


 


Q: ในที่สุดพวกเขาก็ได้พบสัจธรรมว่าคุณต้องมีอำนาจทางการเมืองเท่านั้น คุณถึงจะเคลื่อนไหวประเด็นของคุณได้?


ผมคิดว่ามันเป็นส่วนหนึ่งนะ หมายถึงการเมืองมันมีทั้งในระบบและนอกระบบ สำคัญทั้งสองส่วนสำหรับภาคประชาชน แต่ผมคิดว่า ที่สำคัญมากกว่าคือคุณเล่นการเมืองเพื่อใคร เพื่อคนส่วนน้อย เพื่อคนส่วนใหญ่ เพื่อคนได้เปรียบ หรือเพื่อคนเสียเปรียบ 


 


อย่างไรก็ตามแต่ NGO's ที่จะเล่นการเมืองนั้น ถึงที่สุดแล้วใครเสนอเขาให้ลงสมัครเลือกตั้ง เพื่อนเขา องค์กรของเขา ซึ่งบางครั้งอาจจะไม่เกี่ยวข้องกับองค์กรประชาชนเสนอเลยก็ได้ แต่ก็ลำบากหน่อยสำหรับองค์กรประชาชน ก็ในเมื่อคนที่จะสมัคร ส..ได้ต้องจบปริญญาตรี แล้วถ้าองค์กรประชาชนจะเสนอ พ่อหลวงจอนิ โอโดเชา ผู้นำปกาเกอญอ คุณสมศักดิ์ โยอินชัย ผู้นำเกษตรกร นายอนุชา มีทรัพย์ ผู้นำสหภาพแรงงานลำพูน บุคคลเหล่านี้ไม่มีสิทธิ์ลงสมัคร นี้คือข้อจำกัดของรัฐธรรมนูญที่กีดกันสิทธิพื้นฐานของชนชั้นล่างใช่ไหมครับ?


 


ที่น่าแปลกมากอีกเรื่องหนึ่งก็คือ คนจากภาคประชาชนบางคนที่ลงเล่นการเมือง (เช่น คุณรสนา) ลงสมัคร ส.ว. แต่ชอบพูดว่า นักการเมืองเลว  ผมถามคำหนึ่งว่า ส.ว. ไม่ใช่นักการเมืองหรือ  การลงเล่นการเมืองก็ควรยอมรับว่าตัวเองเป็นนักการเมือง แต่จะเป็นนักเมืองที่ดีหรือไม่ ก็เป็นบทบาทใหม่ จะสอดคล้อง เชื่อมโยงกับความต้องการของภาคประชาชนหรือไม่ ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ต้องใช้เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์ 


 


ความเป็นภาคประชาชนไม่ได้ติดตัวมาแต่เกิด อยู่ที่การกระทำ อยู่ที่ผลงาน อยู่ที่แนวคิด  ความเป็นตัวแทนภาคประชาชนไม่ใช่อ้างว่า ทำเพื่อส่วนรวมเพียงอย่างเดียว แต่ต้องทำเพื่อชนชั้นล่าง เพื่อคนด้อยโอกาสในสังคม และต้องปกป้องประชาธิปไตยแบบรัฐสภาด้วย ถ้าไม่ทำเพื่อชนชั้นล่างแล้ว ก็ไม่น่าแปลกว่าทำไมพวกเขาไม่สามารถแข่งขันกับนโยบายประชานิยมของนักการเมืองแบบคุณทักษิณได้  และความคิดเรื่องนักการเมืองเลวในสังคมไทยก็ผลิตมาจากชนชั้นนำนอกระบบรัฐสภา ซึ่งได้ผล ในวันนี้ แม้แต่คนที่ลงเลือกตั้งเองก็ยังนำมาใช้


 


กลับมาเรื่องเอ็นจีโอกับภาคประชาชน เอาเข้าจริงบางครั้งองค์กร NGO's กับองค์กรประชาชนก็มีโครงสร้างการจัดองค์กรที่ไม่ได้รวมอยู่ที่เดียวกันด้วย องค์กรประชาชนผู้นำองค์กรอาจจะมาจาการเลือกตั้งของสมาชิกที่เป็นประชาชน แต่ผู้นำ NGO's อาจจะมาจากการเลือกตั้งของสมาชิกที่เป็น NGO's ด้วยกันเองไม่ใช่ประชาชนนะครับ เช่น กป.อพช. เป็นต้น


 


 


Q: ในทางหนึ่ง สิ่งนี้เป็นสิ่งดีไม่ใช่หรือ ที่กลุ่ม NGO's ลงเล่นการเมือง เหมือนเขาเข้าใจได้ลึกซึ้งมากกว่าการประท้วงเคลื่อนไหวบนท้องถนนอย่างเดียว? เพราะการเป็นนักการเมืองคุณต้องถูกรับเลือก (ยกเว้นพวกถูกแต่งตั้ง) คุณต้องเอาใจประชาชน?


ก็เป็นช่องทางหนึ่งที่สำคัญ แต่การประท้วงเคลื่อนไหวบนท้องถนนขององค์กรประชาชนก็ต้องมีต่อไปภายใต้ยุคทุนนิยมโลกาภิวัฒน์ ที่รัฐไทยมักมีนโยบายแย่งชิงทรัพยากรธรรมชาติของชุมชน ทำทุกอย่างเป็นสินค้า ส่งเสริมการลงทุนโดยมีแรงงานราคาถูกรองรับ การประท้วงจึงเป็นอาวุธที่สำคัญของประชาชนที่ยากจนในด้านต่างๆ เพื่อบอกกล่าวถึงตัวตน สิทธิ  การต่อรอง การเสนอทางออก ซึ่งเป็นเรื่องปกติในสังคมประชาธิปไตยใช่ไหมที่ประชาชนต้องมีส่วนร่วมทุกระดับ


 


องค์กรประชาชน ไม่สามารถฝากผีฝากไข้ให้กับ NGO's ที่ได้รับการเลือกตั้งได้อย่างเดียว อาจจะไม่ใช่ตัวแทนขององค์กรประชาชนที่เคลื่อนไหวในเรื่องราวต่างๆ ได้ทุกเรื่องก็ได้ เขาอาจจะไม่ได้มีความรู้ความสามารถในบางเรื่อง แต่บางเรื่องเขาอาจจะเป็นผู้ช่วยเสนอความเห็นสนับสนุนเรื่องขององค์กรประชาชนได้ และผมเข้าใจว่า องค์กรประชาชนหลายองค์กรมีบทเรียนการฝากความหวังในการแก้ไขปัญหาบางเรื่องให้กับชนชั้นนำ แม้ชนชั้นนำเหล่านั้นอาจจะเป็น NGO's นักวิชาการ นักการเมืองสังกัดพรรค ปลัดกระทรวง ทบวงกรมต่างๆ NGO's ที่เป็น ส.. มาจากรัฐประหารที่ผ่านมา หรือเคยเรียนรู้ หรือบอกว่าเข้าใจปัญหา ทำนองฉันจะจัดการให้… แต่ผลปรากฏว่าล้มเหลว ทำไม่ได้จริง หรือเกิดผลในทางตรงกันข้าม สร้างความเดือดร้อนให้ประชาชนด้วยซ้ำ พูดอีกอย่างเราไม่อาจแก้ปัญหาโดยวิธีการกระบวนล็อบบี้อย่างเดียว เพราะผิดหวังมีบทเรียนกันมามากแล้ว มิหนำซ้ำทำให้องค์กรประชาชนอยู่ใต้วิธีคิดแบบอุปถัมภ์อยู่ร่ำไปไม่ว่าผู้อุปถัมป์จะเป็นใครก็ตามใช่ไหม? ประชาชนจึงต้องกำหนดชะตากรรมชีวิตของตนเอง 


 


นอกจากนี้แล้วเราก็ไม่รู้เหมือนกัน ท่ามกลางการช่วงชิงอำนาจของกลุ่มทักษิณกับพวกไม่เอาทักษิณ พันธมิตรประชาธิปไตย NGO's เขาจะไปฝั่งไหนกัน เขาสรุปบทเรียนจริงๆ กันอย่างไร  


 


องค์กรประชาชนก็ต้องตรวจสอบ มีความคิดที่เป็นอิสระจากเขาเหล่านั้น สร้างความเข้มแข็งของตนเอง คัดค้านการรัฐประหารที่ปิดกั้นเสรีภาพในการเคลื่อนไหว แก้ไขรัฐธรรมนูญ ให้ลดบทบาททั้ง "พรรคการเมืองนายทุน" "ระบอบอำนาจนิยมทหาร" "ขุนนางอำมาตยาธิปไตย" นอกจากเคลื่อนไหวประเด็นต่างๆ แล้วต้องเสนอนโยบายใหม่ ที่สำคัญ เช่น รัฐสวัสดิการ ที่เป็นสิทธิพื้นฐานทางสังคมที่ควรจะเป็น ให้ไปไกลกว่าประชานิยมสังคมสงเคราะห์


 


Q: ที่น่าเกลียดไปหน่อยสำหรับการเลือกตั้ง สว. ที่ผ่านมา ตัวแทน NGO's ที่ลงรับสมัคร มีส่วนเข้าไปร่วมร่าง รธน.50 มีส่วนสนับสนุนการรัฐประหาร มองมันเป็นประเด็นเอื้อประโยชน์ให้ตัวเองรึเปล่า? แบบว่าไปปูทางให้ตัวเองเข้าสู่ตำแหน่งทางการเมืองได้ง่ายขึ้น? ต่างจากที่ทักษิณและพวกเคยถูกกล่าวหาในอดีตหรือไม่?


นั้นนะสิ! ไม่เข้าใจเหมือนกัน ทำไมจึงชอบ การสรรหา การเลือกของอรหันต์ไม่กี่คน ซึ่งถ้าลงเล่นการเมืองมาจากการสรรหานี้ผมไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง ผมไม่เชื่อคนดีมาจากสรวงสวรรค์  ใครจะดีไม่ดีเรื่องอะไร ผมไม่รู้ อะไรคือคนดีไม่เข้าใจ ต้องเป็นแบบพระหรือเปล่า? ต้องพูดจาไพเราะ?  ต้องใช้จ่ายประหยัด? ต้องแต่งตัวแบบไทยๆ หรือเปล่า? ต้องทำตัวดูลุ่มลึกเคร่งขรึมหรือเปล่า?  ต้องไม่ดื่มเหล้าสูบบุหรี่? คนดีมีความรู้ความสามารถมีจุดยืนเพื่อประชาชนหรือเปล่า? มีผลประโยชน์แอบแฝงอยู่หรือเปล่า? สร้างภาพความเป็นคนดีหรือไม่?  ผมไม่รู้


 


แต่ที่สำคัญ ต้องให้ประชาชนเป็นผู้เลือก ประชาชนต้องสร้างกระบวนการตรวจสอบถ่วงดุลกันสำหรับคนที่มาทำหน้าที่เป็นตัวแทนประชาชนด้วยเช่นกัน แม้แต่องค์กร NGO's องค์กรภาคประชาชนที่ควรจะเป็น ก็ต้องสร้างองค์กรที่เป็นประชาธิปไตย ผู้นำมาจากการเลือกตั้งของสมาชิก ต้องมีผู้นำเป็นกลุ่มการตัดสินใจเรื่องต่างๆ ก็ต้องมีกติการ่วมกันที่ชัดเจน สมาชิกต้องมีส่วนร่วม สมาชิกต้องตรวจสอบถ่วงดุลผู้นำได้ในหลายๆ ด้านด้วย องค์กรประชาชนจึงจะเข้มแข็งอย่างแท้จริง มิใช่ชื่มชมผู้นำนักพูด นักเขียนโครงการ มีผลประโยชน์ส่วนตน แต่ห่างเหินสมาชิก สมาชิกไม่ยอมรับ และก็จะไม่มีพลังจริง


 


Q: สถานการณ์ภาคประชาชนไทย คุณลองประเมินดูว่าาขณะนี้มีปัญหา โอกาส อุปสรรค อย่างไรบ้าง?


บ่อยครั้งคำว่า "ภาคประชาชน" มันดูเป็นคำที่มีความหมายกว้างนะ แล้วแต่ใครจะตีความก็ได้ แล้วแต่ใครจะสื่อก็ได้  มันแล้วแต่ใครหยิบฉวยหรือไม่? พันธมิตรเพื่อประชาธิปไตย และ นปก.  ทั้งคู่ก็อ้างว่าเป็นภาคประชาชนเวลาเขาเคลื่อนไหวใช่ไหม?  อีกอย่างผมก็ไม่เข้าใจสื่อมวลชนไทยเหมือนกันว่าเขานิยามภาคประชาชนอย่างไร? จากวิธีคิดอะไร? เขามองนิยามผู้นำภาคประชาชนอย่างไร? มาจากไหน?


 


ถ้าผมบอกว่าเวลาที่คุณสุทธิชัย หยุ่น พูด คุณสนธิ ลิ้มทองกุล พูด เป็นความคิดเห็นของภาคสื่อ ได้ไหม? เนื่องจากทั้งคู่เป็นผู้นำสื่อ เป็นเจ้าของสื่อ เมื่อเปรียบเทียบกับคำว่าภาคประชาชน หรือในอีกส่วนหนึ่งสมาคมนักข่าว แถลงข่าวเรื่องใดๆ เราสามารถบอกได้ไหมว่า เป็นตัวแทนนักข่าวทั้งประเทศ อันนี้ไม่รู้เหมือนกัน?


 


แต่สำหรับผมมองภาคประชาชนนั้น ไม่ใช่ภาครัฐและภาคทุนทั้งโดยตรงและโดยอ้อม ต้องเป็นชนชั้นล่าง เป็นหลัก เช่น กรรมกร เกษตรกรรายย่อย  ประมงพื้นบ้าน กลุ่มชาติ พันธุ์ต่างๆ  คนจนในเมือง  แรงงานนอกระบบ แรงงานข้ามชาติ วิทยุชุมชนต่างๆ ล้วนเป็นคนยากจน ถูกเอารัดเอาเปรียบ ถูกลิดรอนสิทธิ


 


รวมทั้ง นิสิต นักศึกษา นักวิชาการ NGO's สื่อมวลชนที่ก้าวหน้า ซึ่งเป็นปัญญาชนนอกระบบ ไม่ว่ารัฐไทยจะเป็นอำมาตยาธิปไตยครองเมือง หรือพรรคการเมืองนายทุนครองอำนาจ และก็ต้องต่อสู้เพื่อชีวิตที่ดีกว่า    เพียงแต่ในภววิสัยปัจจุบัน ถ้าทหารอำมาตยาธิปไตย ครองเมือง การใช้อำนาจนิยมที่ปราศจากการตรวจสอบมีสูง เสรีภาพในการเคลื่อนไหวถูกปิดกั้น การต่อรองลำบากมาก  


 


แต่ทั้งนี้มิใช่ว่าพรรคการเมืองเป็นใหญ่แล้วทุกอย่างจะราบรื่นนะ ก็ต้องต่อสู้กัน ไม่เชื่อลองไปคุยพี่น้องปากมูนดูได้เลย ดังนั้นเราจึงต้องคัดค้านไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหารและการเคลื่อนไหวทำนองเทียบเชิญคณะรัฐประหาร แต่เราต้องไม่สยบยอมพรรคการเมืองนายทุน พร้อมๆ กับปกป้องระบอบประชาธิปไตยรัฐสภาที่ก้าวหน้ากว่า และคิดถึงอนาคตที่ก้าวพ้น


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net