Skip to main content
sharethis

วัส   ติงสมิตร


 


ปัญหาการแก้ไขรัฐธรรมนูญปี  2550  เริ่มระอุขึ้นเมื่อขั้นตอนการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของนายยงยุทธ ติยะไพรัช รองหัวหน้าพรรคพลังประชาชน โดยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เป็นผู้ยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาอันเนื่องมาจากกรณีทุจริตการเลือกตั้ง ส.ส. ที่จังหวัดเชียงราย และต่อมาศาลฎีกามีคำสั่งรับคำร้องได้พิจารณา อันทำให้รองหัวหน้าพรรคการเมืองซึ่งเป็น ส.ส. แบบสัดส่วนของพรรคการเมืองดังกล่าวและดำรงตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรด้วย  ต้องหยุดการปฏิบัติหน้าที่จนกว่าศาลฎีกาจะมีคำสั่งยกคำร้อง


 


ความร้อนระบุของปัญหาน่าจะไม่เกิดขึ้นหากการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งในคดีดังกล่าวมีผลเฉพาะตัวของรองหัวหน้าพรรคการเมือง โดยไม่ก่อให้เกิดผลข้างเคียงอันจะเป็นเหตุให้ต้องยุบพรรคการเมือง และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของหัวหน้าพรรคการเมืองรวมทั้งกรรมการบริหารพรรคการเมืองนั้นด้วย


 


ประเด็นที่น่าจะต้องพิจารณาโดยด่วนในขณะนี้ก็คือ ความเข้าใจในปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับการยุบพรรคการเมือง และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของหัวหน้าพรรคการเมืองและกรรมการบริหารพรรคการเมืองที่ถูกต้องและครบถ้วน ไม่ใช่พูดกับคนละทีสองทีจนหลงทางอยู่ในวังวนของความมืดมนหาทางออกไม่เจอ  กลับพยายามแก้ไขปัญหาไปอีกทางหนึ่งซึ่งอาจทำให้วิกฤตของสังคมประทุออกมาอีกคำรบหนึ่งก็เป็นได้


 


ปัญหาการยุบพรรคการเมือง


ขณะนี้มีนักการเมืองและผู้คนจำนวนไม่น้อยเข้าใจว่า ในกรณีที่มีการทุจริตการเลือกตั้ง  ส.ส. และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้สมัครรับเลือกตั้งรายใด  (ให้ใบแดง)  แล้ว ไม่ว่าจะเป็นการให้ใบแดงโดย กกต.ก่อนประกาศผลการเลือกตั้ง หรือโดยศาลฎีกาหลังประกาศผลการเลือกตั้งแล้วก็ตาม หากการทุจริตการเลือกตั้งนั้นเกี่ยวข้องกับหัวหน้าพรรคการเมือง หรือกรรมการบริหารพรรคการเมือง เมื่อนายทะเบียนพรรคการเมือง (คือ ประธาน กกต.) โดยความเห็นชอบของ  กกต. ดำเนินการผ่านอัยการสูงสุดจนครบขั้นตอน จนมีการยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้มีคำสั่งยุบพรรคการเมืองแล้ว ศาลรัฐธรรมนูญจะต้องยุบพรรคการเมืองนั้นเสมอไป 


 


ความเข้าใจเช่นนี้  นับเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนจากกฎหมายอย่างชัดแจ้ง  กล่าวคือ


 


(1)  รัฐธรรมนูญ  มาตรา  68  วรรคสาม  บัญญัติว่า  "ศาลรัฐธรรมนูญอาจสั่งยุบพรรคการเมืองดังกล่าวได้" ซึ่งเป็นอำนาจดุพินิจที่ศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำสั่งยุบหรือไม่ยุบพรรคการเมืองนั้นก็ได้  ไม่ใช่อำนาจผูกผันที่บังคับให้ศาลรัฐธรรมนูญต้องสั่งยุบพรรคการเมืองนั้นสถานเดียว


 


(2)  รัฐธรรมนูญ  มาตรา  237  วรรคสอง  (ซึ่งเป็นมาตราที่พรรคการเมืองบางพรรคต้องการจะแก้ไขมากที่สุดและด่วนที่สุด)  บัญญัติว่า  "ในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ยุบพรรคการเมืองนั้น ให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของหัวหน้าพรรคการเมืองและกรรมการบริหารพรรคการเมือง..." แสดงให้เห็นว่า  ศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้ถูกรัฐธรรมนูญบังคับให้ต้องยุบพรรคการเมืองนั้น  เพราะมีกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญยังไม่เห็นสมควรจะยุบพรรคการเมืองนั้นได้


 


(3)  พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง  พ.ศ. 2550  มาตรา  95  วรรคสาม  บัญญัติสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ  (อันที่จริงย่อมจะบัญญัติขัดต่อรัฐธรรมนูญไม่ได้อยู่แล้ว)  ว่า ในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ยุบพรรคการเมืองใดแล้ว  ให้นายทะเบียนพรรคการเมืองประกาศคำสั่งยุบพรรคการเมืองนั้นในราชกิจจานุเบกษา  แสดงให้เห็นว่า  ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจไม่ยุบพรรคการเมืองก็ได้


 


กล่าวโดยสรุป  ในคดีทุจริตการเลือกตั้ง ส.ส. ซึ่งมีหัวหน้าพรรคการเมืองหรือกรรมการบริหารพรรคการเมืองเกี่ยวข้องอยู่ด้วย กฎหมายไม่ได้บังคับให้ศาลรัฐธรรมนูญต้องยุบพรรคการเมืองนั้นเสมอไป


 


ปัญหาการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง


สิทธิเลือกตั้งเป็นสิทธิของพลเมืองในประเทศที่ปกครองด้วยระบอบเสรีประชาธิปไตย  และเป็นสิทธิในการเข้ามีส่วนร่วมในกระบวนการสร้างเจตนารมณ์ของรัฐ  ปัจจุบันสิทธิเลือกตั้งจัดเป็นสิทธิพื้นฐานของความเป็นพลเมืองของรัฐ  คนต่างด้าวไม่มีสิทธิประเภทนี้ในรัฐที่ตนอาศัยอยู่


 


การที่รัฐใดจะให้สิทธิเลือกตั้งแก่พลเมืองของตนภายใต้ข้อจำกัดใด  ขึ้นอยู่กับนิตินโยบายของรัฐใด  ประเทศนิวซีแลนด์เป็นประเทศแรกที่ให้สิทธิเลือกตั้งแก่ผู้หญิง  โดยให้สิทธิตั้งแต่  พ.ศ. 2436  ในขณะที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์เพิ่งจะให้สิทธิเลือกตั้งแก่ผู้หญิงเมื่อ  20  กว่าปีมานี้เอง 


 


เมื่อพลเมืองมีสิทธิเลือกตั้งแล้ว การจะพรากสิทธิเลือกตั้งของเขาไป  จะกระทำได้ก็แต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย  เฉพาะเพื่อการที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้  และกระทำได้เท่าที่จำเป็น  โดยมีเงื่อนไขว่าการจำกัดสิทธิดังกล่าวจะกระทบกระเทือนสาระสำคัญแห่งสิทธิ  (และเสรีภาพ)  นั้นไม่ได้  (รัฐธรรมนูญ มาตรา  29  วรรคหนึ่ง)


 


รัฐธรรมนูญบัญญัติเหตุที่จะเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง  ส.ส. ไว้หลายกรณี  ในกรณีผู้สมัครรับเลือกตั้งทุจริตการเลือกตั้ง โดยกระทำการ ก่อหรือสนับสนุนให้ผู้อื่นกระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายหรือระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ซึ่งมีผลทำให้การเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม รัฐธรรมนูญให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้นั้น (ในกรณีประกาศผลการเลือกตั้งแล้ว ต้องเพิกถอน  5  ปี  )


 


ส่วนการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของหัวหน้าพรรคการเมืองหรือกรรมการบริหารพรรคการเมืองอันเกิดจากการที่ผู้สมัครรับเลือกตั้งซึ่งเป็นสมาชิกพรรคของตนทุจริตการเลือกตั้งนั้น จะกระทำได้ก็ต่อเมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ยุบพรรคการเมืองนั้น  และ "ปรากฏหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าหัวหน้าพรรคการเมืองหรือกรรมการบริหารของพรรคการเมืองผู้ใด  มีส่วนรู้เห็น  หรือปล่อยปละละเลย  หรือทราบถึงการกระทำนั้นแล้ว  มิได้ยับยั้งหรือแก้ไขเพื่อให้การเลือกตั้งเป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม ...  ให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของหัวหน้าพรรคการเมืองและกรรมการบริหารพรรคการเมืองดังกล่าวมีกำหนดห้าปีนับแต่วันที่มีคำสั่งให้ยุบพรรคการเมือง" (รัฐธรรมนูญ  มาตรา  237  วรรคสอง และกฎหมายพรรคการเมือง มาตรา  98) รัฐธรรมนูญไม่ได้บัญญัติให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของหัวหน้าพรรคการเมืองและกรรมการบริหารพรรคการเมืองแบบเหมาเข่งทั้งหมด รวมทั้งผู้ที่ไม่มีส่วนรู้เห็น ไม่ได้ปล่อยปละละเลยหรือไม่ทราบถึงการกระทำนั้นด้วย  ดังที่เข้าใจกัน


 


ความจริง สิ่งที่นักการเมืองโดยทั่วไปกลัวที่สุดไม่ใช่การยุบพรรคการเมือง เพราะเมื่อยุบพรรคการเมืองแล้ว  ส.ส.ของพรรคการเมืองที่ถูกยุบยังมีเวลาถึง 60 วัน ที่จะไปเป็นสมาชิกของพรรคการเมืองอื่น เพื่อไม่ให้ความเป็น ส.ส. สิ้นสุดลง ในกรณีที่นักการเมืองใดมีปัญหาเกี่ยวกับการที่พรรคจะถูกยุบ นักการเมืองเหล่านั้นคงจะเตรียมหาพรรคการเมืองอื่นไว้ก่อนแล้ว ซึ่งในความเป็นจริงมีพรรคการเมืองจำนวนไม่น้อยถูกจัดตั้งขึ้นมาเพื่อการนี้โดยเฉพาะ


 


สิ่งที่นักการเมืองกลัวที่สุดน่าจะเป็นเรื่องการถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง ยิ่งถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งเป็นเวลานานเท่าใด  ยิ่งน่ากลัวมากเท่านั้น


 


ในกรณีที่นิติบุคคลกระทำความผิดอาญา ตามหลักกฎหมายเดิม กรรมการผู้จัดการ ผู้จัดการหรือผู้แทนของนิติบุคคลนั้นต้องรับโทษตามที่กฎหมายบัญญัติไว้สำหรับความผิดนั้นๆด้วย เว้นแต่จำเลยจะพิสูจน์ได้ว่าตนมิได้รู้เห็นหรือยินยอมในการกระทำความผิดของนิติบุคคลนั้น (พ.ร.บ. เครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534  มาตรา  114  ก่อนแก้ไข) แต่หลังจากรัฐธรรมนูญปี  2540  ซึ่งมีบทบัญญัติคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนมากขึ้นออกมาใช้บังคับ  หลักกฎหมายที่ให้ผู้แทนของนิติบุคคลต้องรับโทษทางอาญาด้วยได้เปลี่ยนแปลงไป  กล่าวคือ โจทก์ต้องพิสูจน์ความผิดของผู้แทนนิติบุคคลนั้น เช่น ความผิดเกิดจากสั่งการ การกระทำ ไม่สั่งการหรือไม่กระทำการ อันเป็นหน้าที่ที่ต้องกระทำ  ผู้แทนนิติบุคคลที่ถูกพิสูจน์ความผิดได้จึงจะต้องรับโทษทางอาญา


 


แล้วเหตุไฉน  จึงสามารถตัดสิทธิเลือกตั้งของหัวหน้าพรรคการเมืองหรือกรรมการบริหารพรรคการเมือง  ซึ่งถือว่าเป็นการลงโทษความเป็นพลเมือง โดยที่ผู้ร้องไม่ต้องพิสูจน์ว่า  บุคคลเหล่านั้นมีส่วนรู้เห็น  ปล่อยปละละเลย  หรือทราบถึงการทุจริตการเลือกตั้งของผู้สมัครรับเลือกตั้งในสังกัดพรรคการเมืองเดียวกัน  แล้วมิได้ยับยั้งหรือแก้ไขเพื่อให้การเลือกตั้งเป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม แบบเหมาเข่งได้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net