ต้อนรับซีอีโอคนใหม่ ภาคประชาสังคมทวงถามเอ็มอาร์ซีเรื่องเขื่อนแม่น้ำโขง

เช้าวันนี้ (27 มี.ค.2551) เครือข่ายภาคประชาสังคมจาก 6 ประเทศลุ่มแม่น้ำโขง รวม  51 รายนาม ร่วมกันส่งจดหมายถึง นายเจเรมี เบิร์ด ประธานฝ่ายบริหาร (ซีอีโอ) คนใหม่ของ คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (เอ็มอาร์ซี) ซึ่งจะเข้ามาทำงานวันแรกในวันเสาร์ที่ 29 มีนาคมที่จะถึงนี้ ที่สำนักงานกรุงเวียงจันทน์ โดยประเด็นหลักในจดหมาย เรียกร้องให้นายเจเรมี ดำเนินการแก้ไขปัญหาวิกฤตความน่าเชื่อถือ และความไร้ประสิทธิภาพของเอ็มอาร์ซี อันสืบเนื่องมาจากการที่เอ็มอาร์ซีละเลยที่จะดำเนินการเปิดเผยข้อมูลทั้งที่เอ็มอาร์ซีศึกษาเอง และที่ได้มาจากแหล่งอื่น เกี่ยวกับแผนการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่บนลำน้ำโขงสายหลักทั้ง 8 เขื่อนที่มีอยู่ในขณะนี้ ซึ่งรวมถึงเขื่อนดอนสะโฮงในลาว และเขื่อนบ้านกุ่มและเขื่อนปากชม (เขื่อนผามองในอดีต) ซึ่งมีแผนจะสร้างบนลำน้ำโขงระหว่างชายแดนไทย-ลาวด้วย

 

ในเดือนพฤศจิกายน 2550 ที่ผ่านมา เครือข่ายภาคประชาสังคมจาก 6 ประเทศลุ่มแม่น้ำโขง และจากประเทศผู้ให้ทุนต่อเอ็มอาร์ซีรวม 201 รายนาม ส่งจดหมายฉบับแรก เรียกร้องให้เอ็มอาร์ซีตอบคำถามว่า เหตุใด ประเทศสมาชิกในลุ่มน้ำโขงตอนล่าง จึงสามารถเดินหน้าเสนอแผนการสร้างเขื่อนได้ โดยประชาชนไม่มีส่วนร่วม ทั้งที่รู้ว่า จะทำให้เกิดผลกระทบข้ามพรมแดนอย่างมหาศาล โดยเฉพาะในเรื่องการอพยพปลา ซึ่งหมายถึงวิถีชีวิตของชาวบ้านในแม่น้ำโขงตอนล่าง ซึ่งพึ่งพาปลาเป็นอาหาร รายได้ และเป็นเศรษฐกิจในระดับประเทศ

 

โดยเฉพาะจากทะเลสาบเขมรในกัมพูชา ซึ่งปลาเป็นเศรษฐกิจที่มีผลโดยตรงต่อจีดีพีของประเทศ และปลาของทะเลสาบเขมรที่รู้จักกันดี ส่วนใหญ่เป็นปลาอพยพ ซึ่งเดินทางเข้ามาวางไข่ในลำน้ำโขง การกั้นเขื่อนในพื้นที่สำคัญที่สุดที่เป็นทางผ่านของปลาอพยพ คือ เขื่อนดอนสะโฮง จะก่อให้เกิดผลกระทบมหาศาล

 

หลังจากการส่งจดหมายดังกล่าว แม้แต่กลุ่มผู้ให้ทุนของเอ็มอาร์ซี ก็มีการรวมตัวกันออกแถลงการณ์แสดงความเป็นห่วงในการที่เอ็มอาร์ซีไม่ให้ความสนใจกับ "การปรึกษาหารือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และต่อประเด็นผลกระทบของเขื่อนต่อพันธ์ปลาและความมั่นคงทางอาหาร" แม้กระนั้น เอ็มอาร์ซี ซึ่งถูกตั้งขึ้นเพื่อเป็นกลไกของภูมิภาคแม่น้ำโขงตอนล่าง ทำงานภายใต้ข้อตกลงปี 2538 ของประเทศสมาชิกทั้ง 4 ประเทศคือไทย ลาว กัมพูชาและเวียตนาม เพื่อดำรงไว้ซึ่งการใช้แม่น้ำโขงอย่างยุติธรรมและไม่สร้างความเดือดร้อนให้ประเทศเพื่อนบ้าน ยังไม่ออกมาตอบเสียงเรียกร้องของภาคประชาสังคมแต่อย่างใด จึงต้องมีการเขียนจดหมายฉบับที่สองนี้ขึ้น

 

"เอ็มอาร์ซีจะมัวแต่อ้างว่าทำงานตามคำสั่งของรัฐสมาชิกไม่ได้ เพราะเป็นหน้าที่รับผิดชอบโดยตรงที่จะต้องคำนึงถึงผลกระทบต่อประชาชนในลุ่มน้ำด้วย และซีอีโอคนใหม่ควรจะเร่งทำงานเรื่องนี้เป็นเรื่องแรก ตั้งแต่วันแรกที่เข้ารับตำแหน่ง" เปรมฤดี ดาวเรือง ผู้อำนวยการโครงการ TERRA, มูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ กล่าว

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท