"เครือข่ายผู้หญิงข้ามเพศ" แถลงการณ์หนุน "ตัดไข่"

จากกรณีที่มีการเรียกร้องให้ตรวจสอบคลินิกศัลยกรรมบางแห่งรับผ่าตัดลูกอัณฑะชายที่ต้องการเป็นหญิงข้ามเพศอายุต่ำกว่า 18 ปี จนล่าสุดกองประกอบโรคศิลปะ กระทรวงสาธารณสุข เข้าตรวจภายในประตูน้ำโพลีคลินิก ซึ่งน.พ.เทพ วิสิษฐ เจ้าของคลินิกออกมายอมรับว่ามีการผ่าลูกอัณฑะจริง แต่ไม่มีเด็กที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ และยังระบุว่าตลอด 4 ปีมานี้ผ่าอัณฑะมาแล้วกว่า 500 คน ส่วนแพทยสภาระบุว่าการผ่าตัดอัณฑะเด็กที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะถือว่าผิดกฎหมายชัดเจน และกำลังพิจารณาว่าการผ่าตัดอัณฑะผู้ที่บรรลุนิติ ภาวะแล้วนั้นต้องมีการตรวจสอบสภาพจิตใจของคนไข้ด้วยว่าพร้อมเป็นผู้หญิงหรือไม่ เหมือนกับการผ่าตัดแปลงเพศนั้น

 

ล่าสุด เมื่อวันที่ 29 มี.ค. ที่สมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประ เทศไทย อาคารเดอะบีช เรสซิเด้น ถนนรัชดา นายกิตตินันท์ ธรมธัช นายกสมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทย นายยลลดา เกริกก้อง สวนยศ ประธานกลุ่มผู้หญิงข้ามเพศแห่งประเทศไทย ร่วมกับสมาชิกเครือข่ายกลุ่มผู้หญิงข้ามเพศ แถลงข่าวกรณีนายนที ธีระโรจนพงษ์ ผอ.กลุ่มเกย์การเมืองไทย ยื่นหนังสือต่อแพทยสภาเพื่อให้ยับยั้งการผ่าตัดลูกอัณฑะในเด็กชาย รวมทั้ง กำหนดกฎหมายเพื่อห้ามการกระทำดังกล่าว (ดูแถลงการณ์ล้อมกรอบ)

 

 

แถลงข่าวเพื่อกู้ศักดิ์ศรีกะเทยคืนมา หลังสื่อใช้ถ้อยคำเหยียดหยาม

นายยลลดากล่าวว่า หลังจากที่ข่าวการตัดลูกอัณฑะของเด็กชายตกเป็นข่าวตามหน้าหนังสือพิมพ์จนได้รับความสนใจจากสังคมเป็นจำนวนมาก มีการพูดคุยวิพากษ์วิจารณ์กันไปหลายอย่าง โดยกลุ่มของพวกตนคิดว่าบางข่าวก็เป็นเรื่องจริง แต่บางข่าวก็เป็นเรื่องที่เข้าใจผิด เพราะเป็นการออกมาให้ข่าวด้านเดียว โดยกลุ่มของตนซึ่งถือว่าเป็นกลุ่มที่เกี่ยวข้องโดยตรง ไม่มีโอกาสได้ออกมาชี้แจง ดังนั้นเพื่อให้เป็นการให้ข้อมูลในอีกทางหนึ่งจึงได้จัดแถลงข่าวครั้งนี้ขึ้น เพื่อจุดประสงค์ 2 ประเด็น ก็คือ

 

1.ต้องการที่จะกู้ศักดิ์ศรีของกลุ่มกะเทยทั้งเด็กและผู้ใหญ่กลับคืนมา เพราะหลังตกเป็นข่าวมีการใช้ถ้อยคำเหมือนดูถูกเหยียดหยามคนกลุ่มนี้ว่าเป็นกลุ่มคนที่วิปริต ผิดเพี้ยน หรือโง่ ที่ผ่าตัดเอาอัณฑะออกไป ทั้งที่มีก็ดีอยู่แล้ว ซึ่งถือว่าเป็นการเข้าใจผิดของสังคม และประเด็นที่ 2 ก็คือในกรณีที่แพทยสภาพเตรียมที่จะออกกฎหมายกำหนดอายุในการอนุญาตผ่าตัดแปลงเพศ หรือผ่าตัดอัณฑะ โดยที่ไม่ได้รับฟังความคิดเห็นของกลุ่มผู้หญิงข้ามเพศหรือกลุ่มกะเทยอย่างพวกตนเลย

 

นายยลลดากล่าวต่อว่า ในประเด็นแรกที่เกี่ยวข้องกับภาพลักษณ์ของกลุ่มหญิงข้ามเพศนั้นตนอยากชี้แจงว่า หลังที่มีข่าวออกมามีการใช้คำพูดที่ไม่น่าฟัง เช่น ตุ๊ดเด็ก แต๋ววัยกระเตาะ วิปริต หรืออะไรก็ตามที่อยากจะไปตัดอัณฑะออก ซึ่งทำให้สังคมมองพวกตนว่าเป็นพวกตลกโง่ที่คิดจะทำในเรื่องนี้ ทั้งที่จริงๆ แล้ว กลุ่มของพวกตนเป็นกลุ่มที่มีสังคมอย่างกว้างขวางมานาน แล้ว และเรื่องของการผ่าตัดอัณฑะ หรือผ่าตัดแปลงเพศ เป็นเรื่องที่มีการหยิบยกขึ้นมาคุยกันมากโดยเฉพาะบนหน้าเว็บไซต์ที่เป็นสังคมพูดคุยของกลุ่มกะเทย โดยมีการสืบหาข้อมูล และข้อเท็จจริง ทั้งบทความทางวิชาการแพทย์ และความรู้อื่นๆ นำมาแลกเปลี่ยนพูดคุย รวมทั้งปรึกษาหารือกันมานาน ไม่ใช่ว่าทำตามแฟชั่นอย่างที่ถูกเข้าใจ ทั้งนี้ตนอยากชี้แจงว่าการเป็นกะเทยกับเกย์นั้นถือว่าเป็นคนละกลุ่มคนกัน

 

นายยลลดากล่าวว่า จากข้อมูลทางวิชาการได้แบ่งกลุ่มผู้ที่มีระบบความหลากหลายทางเพศออกเป็น 4 กลุ่มด้วยกัน คือ 1.เกย์ หรือกลุ่มชายรักชาย 2.กลุ่มเลสเบี้ยน หรือหญิงรักหญิง 3.กลุ่มไบเซ็กชวล หรือได้ทั้งสองเพศ และกลุ่มสุดท้ายก็คือกลุ่มหญิงข้ามเพศ หรือกลุ่มผู้ชายที่มีจิตใจเป็นผู้หญิง หรือกลุ่มกะเทยเหมือนพวกตน ซึ่งในกลุ่มนี้จากผลวิจัยทางจิตวิทยาของสหรัฐอเมริกาและกรมอนามัยโลกมีเอกสารระบุชัดเจนว่าถือว่าเป็น กลุ่มที่ป่วยเป็นโรคชนิดหนึ่ง ซึ่งจะต้องได้รับการรักษา มีทั้งการบำบัดด้วยฮอร์โมน หรือการผ่าตัดแปลงเพศ และการผ่าตัดลูกอัณฑะก็ถือว่าเป็นการรักษาด้วยวิธีบำบัดด้วยฮอร์โมนเช่นกัน เพราะหลังการผ่าตัดแล้วจะต้องมีการใช้ยาฮอร์โมนร่วมด้วย ที่ผ่านมาในกลุ่มของตนยังไม่พบว่ามีเด็กอายุน้อยๆ ไปผ่าตัดลูกอัณฑะเลย ดังนั้นหากการเป็นกะเทย ถือว่าเป็นโรคทางจิตชนิดหนึ่ง ผู้ป่วยก็ควรที่จะได้รับการรักษา และหากสามารถรักษาได้โดยเร็วก็จะทำให้เขามีชีวิตที่สมบูรณ์ดีขึ้น

 

 

โต้ "นที" ขวางตัดไข่ ไม่เป็นธรรม เสนอแพทยสภาให้ข้อมูลให้ชัด

"การที่คุณนที (ธีระโรจนพงษ์) ออกมาเสนอให้ยุติการตัดลูกอัณฑะโดยไม่มีเงื่อนไขนั้น พวกเราไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง รวมไปถึงการที่แพทยสภาเตรียมที่จะออกกฎหมายและเอาอายุมาเป็นเกณฑ์ในการอนุญาตให้ทำหรือไม่ ก็เป็นเรื่องที่คิดว่าไม่น่าจะถูกต้อง เพราะหากกลุ่มบุคคลข้ามเพศได้ถูกระบุจากองค์การอนามัยโลก และสมาคมจิตวิทยาแห่งสหรัฐอเมริกาว่าเป็นกลุ่มที่เป็นโรคชนิดหนึ่ง หากการตัดลูกอัณฑะเป็นส่วนหนึ่งของการดูแลรักษาด้วยฮอร์โมน ถือว่าเป็นการบำบัดรักษาแล้วก็ไม่ควรใช้เกณฑ์อายุมาตัดสิน เพราะยิ่งรักษาเร็วก็ถือว่าการรักษาจะได้ประสิทธิภาพมากกว่า และหากคุณนทียังออกมาบอกว่าห้ามตัดลูกอัณฑะโดยไม่มีเงื่อนไข จึงถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานด้านการรักษาพยาบาลของมนุษย์อีกด้วย" นายยลลดากล่าว

 

นายยลลดากล่าวต่อว่า กลุ่มของตนอยากจะให้แพทยสภาออกมาให้ข้อมูลทางการแพทย์ที่ชัดเจนถึงข้อดีข้อเสียของการตัดลูกอัณฑะจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านนี้โดยตรงว่ามีรายละเอียดอย่างไร และถ้าเป็นผลเสียที่จะเกิดกับร่างกายหรือสุขภาพ รัฐจะต้องมีส่วนเข้ามาช่วยโดยตรง เพราะในบางประเทศถือว่าโรคนี้เป็นโรคที่ต้องให้บริการพื้นฐาน รัฐออกค่าใช้จ่ายในการดำเนินการให้ แต่ถ้าหากเป็นผลเสียเพราะเป็นห่วงว่าผ่าออกมาแล้วจะทำให้อวัยะเพศใหม่ไม่สวยก็คิดว่าอย่าไปยุ่งกับเขาดีกว่า

 

 

"กิตตินันท์" โต้นที อย่าเรียกร้องแทนกะเทย เพราะความต้องการไม่ตรงเกย์

ด้านนายกิตตินันท์กล่าวว่า ที่ผ่านมานายนทีมักจะออกมาอ้างชื่อกลุ่มเครือข่ายอัตลักษณ์ทางเพศ ซึ่งมีกลุ่มสมาชิกอื่นๆ ในเครือข่ายข้ามเพศว่าเป็นกลุ่มที่มีความเห็นเช่นเดียวกับตัวเองนั้น ตนอยากจะชี้แจงว่าที่ผ่านมานายนทีไม่เคยมาพูดคุย หรือปรึกษาว่าจะทำอะไรเลย หากมาคุยกันก่อนก็จะมีการปรึกษาหารือ ระดมสมองกันว่าควรจะทำอย่างไร แต่จู่ๆ ก็ไปดำเนินการเอง และยังใช้ชื่อว่ากลุ่มเครือข่ายเห็นด้วย เรื่องนี้ตนขอชี้แจงว่า หลายกลุ่มไม่ได้มีความคิดเห็นเช่นเดียวกับนายนที เช่น สมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทย หรือกลุ่มสวิงที่ได้ทำแถลงการณ์ออกมาแล้วว่าไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องด้วย

 

"กลุ่มเกย์กับกลุ่มกะเทยถือว่าเป็นคนละกลุ่มกัน ดังนั้นคุณนทีที่ถือว่าเป็นเกย์ก็ไม่ควรออกมาพูดหรือเรียกร้องแทนกลุ่มกะเทย เพราะ 2 กลุ่มนี้ไม่ได้มีความต้องการที่ตรงกันทุกเรื่อง ทางที่ดีที่สุดก็คือการให้กลุ่มชายที่อยากจะเป็นผู้หญิงโดยสมบูรณ์หรือกะเทย ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้โดยตรงได้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจต่างๆ จะดีกว่า ทั้งนี้อยากฝากไปถึงแพทยสภาด้วยว่าควรจะเปิดโอกาสให้กลุ่มนี้เข้าไปแสดงความคิดเห็นก่อนจะตัดสินใจออกกฎหมายอย่างใดอย่างหนึ่งมา" นายกิตตินันท์กล่าว

 

 

"นที" ชี้เสนอยุติตัดไข่เพราะตอนนี้ยังขาดข้อสรุปทางการแพทย์

ด้านนายนที ธีระโรจน์พงษ์ ผอ.กลุ่มเกย์การเมืองไทย กล่าวว่า สิ่งที่ตนเรียกร้องให้ยุติการผ่า ตัดลูกอัณฑะไปก่อนอย่างไม่มีเงื่อนไขนั้น เพราะที่ผ่านมายังไม่มีข้อสรุปทางการแพทย์ที่ชัดเจนเลยว่ามีผลดีผลเสียอย่างไร และยังเป็นข้อถกเถียงกันอยู่ จึงไม่อยากให้เกิดความเสี่ยงขึ้น ทั้งนี้สิ่งที่สำคัญที่สุดคือต้องการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะแพทยสภาออกมาหาข้อสรุปให้ชัดเจนก่อนที่จะปล่อยให้ทำกันต่อไป ทั้งนี้ที่มีกลุ่มหญิงข้ามเพศออกมาตอบโต้นั้นตนก็ไม่ได้คิดอะไร ถือว่าเป็นการออกมาช่วยกันผลักดันและพูดกันในสังคมให้มากขึ้น จะได้เป็นการยกระดับเรื่องนี้ให้เป็นเรื่องสำคัญต่อไป ที่ผ่านมาตนยังไม่เคยออกมาพูดถึงเรื่องการออกกฎหมายอะไรเลย เพียงแต่อยากให้มีการยับยั้งการผ่าตัดลูกอัณฑะในเด็กออกไปก่อนเท่านั้นเอง

 

เมื่อถามว่า กลุ่มหญิงข้ามเพศออกมาระบุว่ากลุ่มเกย์ไม่เข้าใจความรู้สึกของกะเทย แต่กลับออกมาเรียกร้องเสียเอง นายนทีกล่าวว่า กลุ่มของตนไม่ใช่เพียงแค่มีแต่เกย์เท่านั้น แต่ก็มีกลุ่มของกะเทย คือคนที่ต้องการเป็นผู้หญิงอย่างเต็มตัวด้วย โดยก่อนที่จะออกมาเรียกร้องก็ได้มีการประชุมกันในกลุ่มเครือข่ายแต่อาจจะไม่ครบ เพราะบางเรื่อง บางกลุ่มก็ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องด้วย ตนยืนยันได้ว่าไม่ได้เอาชื่อใครมาบ้าง เพราะกลุ่มเครือข่ายที่คุยกันมีอยู่จริง เช่นกลุ่มบางกอกเรนโบว์ เกย์การเมืองไทย, พลังจากใจ, บ้านสีม่วง และเรนโบว์ดรีม เป็นต้น

 

"กลุ่มนั้นเขาอาจจะไม่เข้าใจ แต่ไม่เป็นไร การออกมาเคลื่อนไหวเยอะๆ ก็เป็นการดี เพราะจะทำให้สังคมให้ความสนใจและเร่งแก้ไขปัญหากันต่อไป ซึ่งในวันที่ 5 พ.ค.นี้ แพทยสภาจะมีการประชุมกำหนดอายุของผู้ที่จะสามารถผ่าตัดแปลงเพศได้ ซึ่งได้ตอบรับที่จะเชิญกลุ่มเครือข่ายที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมด้วย" นายนทีกล่าว

 

 





แถลงการณ์กลุ่มผู้หญิงข้ามเพศแห่งประเทศไทย โดยสมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทย

และเครือข่ายความหลากหลายทางเพศ

 

ข้อเท็จจริงที่ถูกบิดเบือนกรณี  

"การผ่าตัดลูกอัณฑะ ในกลุ่มผู้หญิงข้ามเพศ"

 

จากการเสนอข่าวในเรื่อง "การผ่าตัดลูกอัณฑะ" ในกลุ่มผู้หญิงข้ามเพศ ระหว่างวันที่ 26-28 มีนาคม 255 ที่ผ่านมา ซึ่งปรากฎข่าวตามหน้าหนังสือพิมม์ และสื่อชนิดต่างๆ โดยมีเนื้อหาไปในทางที่เป็นด้านที่เกิดความเสียหายทั้งกับวงการแพทย์ และกลุ่มที่ต้องการเป็นผู้หญิงข้ามเพศจึงไปทำการผ่าตัดลูกอัณฑะออกเพราะมีความเชื่อที่ว่าผิวพรรณจะดีขึ้น มีความนุ่มนวลละมุนละไมแบบผู้หญิงมากขึ้น

 

กลุ่มผู้หญิงข้ามเพศแห่งประเทศไทย เป็นทั้งผู้ประสบกับเหตุการณ์ดังกล่าวโดยตรงและมีการติดตามการผ่าตัดลูกอัณฑะดังกล่าวมาในช่วงระยะเวลาหนึ่ง เห็นว่าการนำเสนอข่าวในช่วงที่ผ่านมามีข้อมูลที่บิดเบือนและส่งผลเสียต่อผู้หญิงข้ามเพศทั้งทางด้านการอยู่ร่วมในสังคมและการอาศัยข้อมูลทางการแพทย์เพื่อดำรงสถานะความเป็นผู้หญิงข้ามเพศ จึงต้องชี้แจงถึงสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในสังคม เสนอข้อคิดเห็นและแนวทางในการแก้ไขสถานการณ์ดังกล่าว ดังต่อไปนี้

 

1. กลุ่มผู้หญิงข้ามเพศและกลุ่มชายรักชาย เป็นบุคคลที่อยู่ในระบบความหลากหลายทางเพศซึ่งเป็นระบบตามธรรมชาติ เช่นเดียวกับชาย-หญิงรักต่างเพศ แต่กลุ่มผู้หญิงข้ามเพศและกลุ่มชายรักชาย ก็เป็นคนละเพศกันแพราะมีวิถีการดำเนินชีวิตที่แตกต่างกัน การนำเสนอประเด็นต่างๆในเรื่องของผู้หญิงข้ามเพศโดยผู้หญิงข้ามเพศจึงเข้าถึงความละเอียดอ่อนของเหตุการณ์ได้มากกว่า ซึ่งการกล่าวดังกล่าวไม่ใช้การปิดกั้นการเรียนรู้ระหว่างเพศ แต่ต้องการให้ระบบการเรียนรู้ การกำหนดกฎเกณฑ์ ฯลฯ ในสังคม ต้องคำนึงถึงและมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงของเจ้าของสถานการณ์

 

2. กลุ่มผู้หญิงข้ามเพศไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอ ในการให้ยุติการตัดลูกอัณฑะโดยไม่มีเงื่อนไข เนื่องจากองค์การอนามัยโลกและสมาคมจิตวิทยาแห่งอเมริกันมีการเสนอให้ใช้การดูแลด้วยฮอร์โมนและศัลยกรรมในกลุ่มบุคคลข้ามเพศ หากการตัดลูกอัณฑะเป็นส่วนหนึ่งของการดูแลด้วยฮอร์โมนและศัลยกรรมในกลุ่มผู้หญิงข้ามเพศที่ไม่พร้อมถึงขั่นการศัลยกรรมแปลงเพศ แล้วมีการเสนอให้ยุติการผ่าตัดลูกอัณฑะโดยไม่มีเงื่อนไขนี่คือการกีดกันการเข้าถึงบริการสุขภาพซึ่งถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์

 

3. ข้อมูลเชิงประจักษ์ทางการแพทย์ในเรื่องการตัดอัณฑะ เป็นสิ่งที่แพทย์ต้องให้ความกระจ่างโดยปราศจากอคติทางเพศ กับกลุ่มบุคคลที่ต้องการเป็นผู้หญิงข้ามเพศและสังคม เพื่อร่วมกำหนดแนวทางอย่างมีส่วนร่วมในการให้บริการสุขภาพอย่างถูกต้องเป็นระบบ ซึ่งฐานข้อมูลด้านสุขภาพของผู้ชายที่ผ่าตัดอัณฑะและผู้หญิงข้ามเพศที่ผ่าตัดอัณฑะจะต้องเป็นคนละกรณี เนื่องจากมีตัวแปรที่แตกต่างกัน ตรงที่กลุ่มผู้หญิงข้ามเพศหลังจากการผ่าตัดอัณฑะแล้ว มีการใช้ฮอร์โมนเพศหญิงควบคู่ไปด้วย

 

การออกแถลงการในครั้งนี้ กลุ่มผู้หญิงข้ามเพศไม่ได้ออกมาเพื่อต่อต้านหรือไม่เห็นด้วยกับกลุ่มบุคคลใด แต่เป็นการออกมาเพื่อขอมีส่วนร่วมในการเสนอข้อเท็จจริงในประเด็นของตนเอง เป็นการขอมีพื้นที่ในการบริหารจัดการชีวิตของตนเอง ขอมีส่วนร่วมในการออกกฎเกณฑ์ต่างๆ ในสังคม โดยเฉพาะกฎหมาย กฎบังคับต่างๆที่เกี่ยวเนื่องกับการดูแลด้วยฮอโมนและศัลยกรรมเพื่อให้ชีวิตของผู้หญิงข้ามเพศอยู่อย่างปกติสุข เฉกเช่นเดียวกับสุภาพชนต่างๆ ในสัังคม

 

จากการทำงานดังกล่าว จึงทำให้ได้ข้อมูลว่า แพทยสภากำลังเตรียมจัดทำข้อบังคับสำหรับแพทย์ ในเรื่องการให้บริการดูแลด้วยฮอโมนและการศัลยกรรม ซึ่งประกอบด้วยบุคคลหลายฝ่าย ดังนั้น กลุ่มผู้หญิงข้ามเพศแห่งประเทศไทย โดยสมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทย จึงใช้โอกาศนี้ในการขอมีส่วนร่วมในการจัดทำข้อบังคับสำหรับแพทย์ ในเรื่องการให้บริการดูแลด้วยฮอโมนและการศัลยกรรม เพื่อข้อบังคับดังกล่าวจะได้เป็นข้อบังคับที่สามารถใช้ได้จริงและปราศจากอคติทางเพศ อันจะส่งผลให้เกิดการเข้าถึงบริการสุขภาพที่เป็นมิตรกับกลุ่มผู้หญิงข้ามเพศ และบุคคลอื่นๆในสังคมไทยต้องมีความจำเป็นดูแลด้วยฮอโมนและการศัลยกรรม

 

 

ที่มาของข่าวบางส่วน: หนังสือพิมพ์ข่าวสด

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท