ถกพรรคการเมืองภาคประชาชน: ชูรัฐสวัสดิการ เลิกพึ่งระบบอุปถัมภ์ ตรวจสอบนิยาม "ภาคประชาชน"

(29 มี.ค.) ที่ห้องประชุมอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา กลุ่มศึกษาพรรคการเมืองทางเลือก จัดงานจินตภาพสังคมไทยและพรรคการเมืองของประชาชน เพื่อเปิดตัวกลุ่มศึกษาพรรคการเมืองทางเลือก รวมทั้งยังเป็นการจัดงานเนื่องในโอกาสครบรอบ 1 ปีการเสียชีวิตของสุวิทย์ วัดหนู เอ็นจีโอที่ต่อสู้เพื่อพัฒนาที่อยู่อาศัยให้กับชุมชนแออัด หัวเรี่ยวหัวแรงในการตั้งพรรคการเมืองภาคประชาชน ที่ปรึกษาคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย หรือ ครป. โฆษกบนเวทีพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย

 

นายสมศักดิ์ โกศัยสุข ที่ปรึกษาสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย และหนึ่งในแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กล่าวปาฐกถาในหัวข้อ จินตภาพสังคมไทยและพรรคการเมืองประชาชนว่า การเปิดเสรีทางเศรษฐกิจ แนวคิดที่พึ่งพาทุนข้ามชาติ ทำให้เศรษฐกิจแบบสังคมเกษตรถูกทำลาย เห็นได้จากการลงทุนในภาคอุตสาหกรรม 80% เป็นทุนต่างชาติ ทำให้เกิดปัญหาเศรษฐกิจ สังคมและการเมืองตามมา

 

ทั้งนี้ จินตภาพของสังคมไทย คือการสร้างรัฐสวัสดิการ เพื่อขับเคลื่อนสังคมให้ประชาชนมีชีวิตที่ดีขึ้น ตามแนวคิดของ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ในข้อเขียนจากครรภ์มารดาสู่เชิงตะกอน ซึ่งจะเกิดได้ต้องมีการปฎิรุปที่ดิน เพื่อให้ประชาชนมีที่อยู่ ที่ทำกิน การศึกษาฟรี และสามารถนำไปประกอบอาชีพได้จริง ปฎิรูปภาษี โดยจัดเก็บภาษีแบบก้าวหน้า อาทิ ภาษีที่ดิน ภาษีมรดก ปฎิรูปรายได้ โดยรัฐต้องทำให้คนมีงานทำ รวมถึงควบคุมปัจจัยพื้นฐาน ไม่ให้ต้นทุนสูง ให้คนมีอำนาจซื้อ และขายในประเทศให้หมดก่อนแล้วค่อยส่งออก

 

ส่วนจินตภาพของพรรคการเมืองนั้น ต้องเริ่มจากการเมืองนอกสภา โดยเริ่มจากการรวมตัวกันเพื่อให้การศึกษาแก่ประชาชน ทั้งด้านคุณธรรม การเมือง เศรษฐกิจและสังคม สรรหาบุคคลที่มีอุดมการณ์ ความรู้ความสามารถในการบริหารพรรค เพื่อลงสมัครผู้แทน ประสานผลประโยชน์กับกลุ่มอิทธิพลและกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ ระดมสรรพกำลังเคลื่อนไหวนอกสภา เพื่อแสดงให้เห็นว่าทุกคนมีส่วนในการเมืองภาคประชาชน

 

นายสมศักดิ์ กล่าวถึงพรรคการเมืองในปัจจุบันว่า ไม่เป็นพรรคการเมือง เป็นเพียงเรื่องของทุนจากคนไม่กี่คน ทั้งนี้ ในฐานะนักสหภาพแรงงาน มองว่ากลุ่มคนที่มีมากที่สุดในสังคมทุนนิยมก็คือ ผู้ใช้แรงงาน เพราะฉะนั้น ขบวนการสหภาพแรงงานจะต้องเข้มแข็ง แต่ไม่ใช่อยู่ใต้การควบคุมของเอ็นจีโอ เนื่องจากจิตสำนึกของเอ็นจีโอยังขาดทัศนคติของผู้ถูกกดขี่

 

ต่อมา เป็นการเสวนาเรื่อง จินตภาพสังคมไทยและการเมืองภาคประชาชน โดยนายจอน อึ๊งภากรณ์ อดีตประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) นายประภาส ปิ่นตบแต่ง อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนายปรีดา เตียสุวรรณ์ กลุ่มนักธุรกิจเพื่อสังคม ดำเนินรายการโดย นายสาวิทย์ แก้วหวาน เลขาธิการสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์

 

นายจอน กล่าวว่า ปัจจุบัน การเมืองภาคประชาชนค่อนข้างมีพื้นที่เป็นของตัวเองแล้ว โดยมีรากฐานที่เหนียวแน่นมาตั้งแต่การเคลื่อนไหวทางการเมืองยุค 14 ต.ค. 2516 จนมาถึงหลัง 2523 ซึ่งเกิดแนวร่วมระหว่างชนชั้นกลางหัวก้าวหน้ากับชาวบ้านกลุ่มต่างๆ จนเกิดกลุ่มพลังมากมายในสังคม อาทิ สมัชชาคนจน เครือข่ายองค์กรภาคประชาชนหลายเครือข่าย

 

เขากล่าวว่า ปัจจุบันจะสังเกตว่า การเสนอข่าวการขับเคลื่อนของภาคประชาชนมีพื้นที่ในระดับที่พอใช้ได้ เช่น การเสนอข่าว ไม่ใช่เพียงผู้มีอำนาจทำอะไร แต่เสนอในมุมของภาคประชาชนด้วยว่า มีความเห็นอย่างไรต่อสิ่งที่ผู้มีอำนาจทำ นอกจากนี้ แม้จะมี "รัฐบาลที่ให้ แต่ไม่ฟัง" จอนยังมองว่ายังไม่ใช่สถานการณ์เลวร้าย ที่ผ่านมา ภาคประชาชนพึ่งพิงระบบอุปถัมภ์ หรือระบบล็อบบี้มากเกินไป เราอยู่กับการเมืองประเภทยื่นหนังสือ ซึ่งไม่ค่อยได้ประโยชน์เท่าไหร่ โดยจอนได้เสนอให้ใช้ประโยชน์จากข้อดีของรัฐธรรมนูญ 50 เช่น ประชาชนเข้าชื่อ 10,000 คนเสนอกฎหมายได้

 

ทั้งนี้ การต่อสู้ที่ภาคประชาชนได้ขับเคลื่อนมาตลอด ประกอบด้วย 4 ประเด็น คือ 1.สิทธิชุมชน ซึ่งไม่ใช่แค่สิทธิในทรัพยากร แต่รวมถึงสิทธิทางวัฒนธรรม การใช้ภาษาของตัวเอง และยอมรับในความเป็นเอกลักษณ์ของชุมชน 2.อุดมการณ์ประชาธิปไตยอย่างแท้จริง เป็นประชาธิปไตยที่เกี่ยวข้องกับความเสมอภาคภายใต้กฎหมาย หรือ rule of law 3.รัฐสวัสดิการ ที่สร้างหลักประกันในคุณภาพชีวิตขั้นพื้นฐานให้กับคนในประเทศตั้งแต่เกิดจนตาย 4.เศรษฐกิจที่ไม่ปล่อยให้ทุนนิยมเป็นอิสระเสรี

 

ส่วนสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญเป็นพิเศษ คือ การสร้างความเข้มแข็งให้สหภาพแรงงาน เนื่องจากที่ผ่านมาขบวนการสหภาพแรงงานในสังคมไทยอ่อนแอมาก เพราะกฎกติกาสมัย จอมพล ป. พิบูลสงคราม และสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่กลัวการรวมตัวของผู้ใช้แรงงานอย่างเป็นปึกแผ่น ดังนั้น จึงเสนอว่าต้องแก้กฎหมายแรงงาน พรรคการเมือง รวมถึงกฎหมายประกันสังคมด้วย เพราะคนที่ควบคุมการใช้จ่ายเงินแทนที่จะเป็นนายจ้างกับผู้ใช้แรงงาน กลับเป็นกระทรวงแรงงาน ซึ่งสนใจแต่การสะสมกองทุน ไม่สนใจสสวัสดิการของผู้ประกันตน

 

นอกจากนั้นแล้ว ยังต้องเปิดพื้นที่สื่อของภาคประชาชนให้มากขึ้น รวมถึงใช้สื่อให้สังคมเกิดความเข้าใจและความนิยมจากประชาชน เนื่องจากประชาชนส่วนใหญ่โดยเฉพาะชนชั้นกลางยังไม่เข้าใจเอ็นจีโอ ดังนั้น ชนชั้นกรรมาชีพ ชาวนา กับชนชั้นกลางหัวก้าวหน้า จะต้องช่วยผลักดันให้เกิดขึ้น ผ่านมาตรการตามกฎหมาย

 

สำหรับพรรคการเมืองภาคประชาชน นายจอนมองว่า น่าจะเกิดขึ้นได้หลายพรรค โดยหากดูจากฐานของโครงสร้างภาคประชาชนที่มีอยู่ ก็อาจจะเกิดพรรคการเมืองของกรรมกร ของชาวนาภาคอีสาน ของคนในภาคใต้ โดยทั้งหมดมีเป้าหมายคือ พยายามเข้าสู่เวทีเลือกตั้งอย่างมีขั้นตอน เช่น หากได้รับการสนับสนุนจากท้องถิ่นก็ลงสมัครในท้องถิ่น แล้วจึงค่อยขยายวงออกไป แต่ข้อควรระวังคือ ผู้นำสหภาพแรงงาน ผู้นำเอ็นจีโอ และผู้นำองค์กรภาคประชาชน ไม่ควรเป็นผู้นำพรรคไปด้วย เพราะอาจเกิดปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อน หรือหากเกิดอะไรขึ้นกับพรรค การเมืองภาคประชาชนจะได้รับผลกระทบไปด้วย

 

นายประภาส กล่าวว่า ทุกวันนี้ มีการนิยาม "ภาคประชาชน" แตกต่างกันไป จึงควรมีการสะสางความหมาย อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าไม่ใช่จะบอกว่าแบบไหนผิดหรือถูก หากแต่การเมืองภาคประชาชนในฐานะแนวคิดเชิงยุทธศาสตร์ที่แต่ละคนนิยาม ก็เป็นไปตามอุดมการณ์ผลประโยชน์ที่แตกต่างกัน ซึ่งก็จะนำไปสู่การขับเคลื่อนที่ต่างกันด้วย

 

การเมืองภาคประชาชนแบบที่คุ้นเคยกัน เกิดจากการลงพื้นที่ทำงานกับชาวบ้านที่ประสบปัญหาขัดแย้งกับรัฐ หรือภาคธุรกิจ ซึ่งทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำในสังคม คนจนเข้าไม่ถึงทรัพยากร รวมทั้งการเมืองที่อ้างฉันทานุมัติ 10 วินาทีตอนกากากบาท จึงเกิดการเคลื่อนไหวของพี่น้องที่ไร้อำนาจ สร้างเครือข่าย และการเมืองบนท้องถนน โดยมีเป้าหมายคือถ่ายโอนอำนาจการตัดสินใจทางการเมืองจากภาคธุรกิจการเมืองที่ผูกขาด หรือถ่ายโอนอำนาจจากระบบตัวแทนออกมา ให้เป็นประชาธิปไตยทางตรง ที่ประชาชนมีส่วนร่วมมากขึ้น

 

ทั้งนี้ ปัจจุบันมีภาคประชาชนอีกหลายแบบเข้ามา ทำให้ภาคประชาชนดังกล่าวถูกลดความสำคัญลง เช่น กลุ่มมหาประชาชนฯ ซึ่งเกิดจากการจัดตั้งโดยนักการเมือง กลไกของระบบราชการ ผู้ใหญ่บ้านกำนัน เป็นภาคประชาชนแบบประชานิยม ซึ่งมีมวลชนไม่น้อย อย่างไรก็ตาม ต้องทำให้เห็นความแตกต่างว่า "ภาคประชาชน" แต่ละแบบจะนำพาสังคมไปแบบไหน

 

นอกจากนี้ ที่ผ่านมา การเคลื่อนไหวของชนชั้นกลางในเมือง ในลักษณะตรวจสอบ ขับไล่รัฐบาลเรื่องการทุจริต ก็ถูกบอกว่าเป็นการเมืองภาคประชาชนอีกแบบหนึ่งด้วย ซึ่งต้องทบทวนว่า วิธีการแบบนี้อาจมุ่งสู่การเมืองภาคประชาชนบางนิยามจนลดทอนการเมืองภาคประชาชนของชนชั้นล่างให้ถอยห่างไป เหลือเพียงการรวมตัวขับไล่รัฐบาลหรือไม่ และการสร้างการเมืองบางแบบ จะไปกระทบกับการเมืองบางแบบหรือไม่

 

นายประภาสเห็นว่า ต้องทำให้การเมืองภาคประชาชน แตกต่างไปจากระบบการเมืองแบบปกติ แบบประชานิยม และการเมืองภาคประชาชนของชนชั้นกลาง โดยต้องคิดถึงจินตภาพของสังคมที่ต่างจากการเมืองในระบบปกติปกติ เช่น การถ่ายโอนอำนาจจากระบบประชาธิปไตยแบบตัวแทนมาเป็นประชาธิปไตยทางตรงมากขึ้น สร้างระบบเศรษฐกิจทางเลือก เช่น เศรษฐกิจชุมชน หรือเศรษฐกิจแบบแบ่งผัน สร้างรัฐสวัสดิการหรือสังคมสวัสดิการที่สามารถถ่ายโอนอำนาจออกจากรัฐ ไปสู่การจัดการโดยชุมชนเอง     

 

นายปรีดา กล่าวถึงการตั้งพรรคการเมืองของภาคประชาชนว่า ควรรวมกันเป็นพรรคใหญ่ โดยมีน้อยพรรคที่สุด 1-2 พรรค เพราะรวมเป็นพรรคเล็กจะไม่มีอำนาจต่อรอง เช่นเดียวกับโมเดลในเยอรมนีที่มี 2 พรรคใหญ่ ที่เหลือเป็นพรรคเล็กๆ

 

นอกจากนี้ นายปรีดา ได้พูดถึงการลดช่องว่างด้านรายได้ของเกษตรกรซึ่งต่ำกว่าแรงงานในภาคอุตสาหกรรมภาคบริการ โดยเสนอให้ทำให้รายได้ต่อหัวของภาคเกษตรกรใกล้เคียงกับภาคบริการ โดยเน้นที่การท่องเที่ยวมากขึ้น โดยยกตัวเลขจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 1964 ว่า แรงงานในภาคเกษตรมีรายได้ต่อหัว 1,200 บาท ภาคบริการมีรายได้ 2,159 บาท ขณะที่ปี 2006 ภาคเกษตรมีรายได้ 3,400 บาทต่อหัว ส่วนภาคบริการมีรายได้ 9,800 บาท

 

นายปรีดา กล่าวแย้งนายประภาสว่า สิ่งที่ภาคประชาชนผลักดัน เป็นการพยายามแก้ปัญหาการเมืองในระดับโครงสร้าง เช่นที่พันธมิตรฯ เจอกันเมื่อวันที่ 28 มี.ค. ก็เป็นการจัดการสัมมนา วิเคราะห์วิจัย ไม่ใช่ขับไล่ และว่า ถ้าเราไม่สามารถเข้าสู่การแก้ปัญหาทางโครงสร้างก็จะลงไปแก้ปัญหารากหญ้าไม่ได้

 

ช่วงท้าย นายจอน ได้อภิปรายในประเด็นของนายประภาสว่า ไม่มีความจำเป็นต้องบอกว่า อะไรคือองค์กรภาคประชาชน เพราะไม่แน่ว่า หากเลิกถามว่าจะเอาหรือไม่เอาทักษิณ แต่ถามว่าอยากเห็นสังคมแบบไหน ทั้งสองฝ่ายอาจต้องการรัฐสวัสดิการเหมือนกันก็ได้ เพราะฉะนั้น ต้องพยายามลดพลังของการเมืองที่เอาหรือไม่เอาทักษิณ มาเป็นพลังประชาธิปไตย ที่ไม่ว่าใครเป็นรัฐบาลก็จะต้องตรวจสอบ

 

 

 


กลุ่มศึกษาพรรคการเมืองทางเลือก (http://peopledemocracy.org/) ประกอบด้วยผู้นำแรงงาน นักกิจกรรมสังคม องค์กรประชาชน ฯลฯ ซึ่งมีแนวคิดในการสร้างพรรคการเมืองของประชาชนเพื่อหาทางออกให้แก่สังคม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท