Skip to main content
sharethis


 


เมื่อวันที่ 29 มี.ค. เวลา 17.00 น. นายจักรภพ เพ็ญแข รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยนายช่างทอง โอภาสศิริวิทย์ ผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรี ได้เดินทางมายังบริเวณสะพานบ้านขาม ต.บ้านขาม อ.เมือง จ.หนองบัวลำภู เพื่อดูสภาพของลำพะเนียงภายหลังการขุดลอก และรับฟังปัญหาจากหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องและชาวบ้านผู้ได้รับ ผลกระทบจากการขุดลอกน้ำพะเนียง โดยมีนายพิษณุ หัตถสงเคราะห์ สส.พรรคพลังประชาชน จ.หนองบัว ลำภู นายบรรเจิด สิทธิจู นายช่างชลประทาน 6 กรมชลประทานจังหวัดหนองบัวลำภู ให้การต้อนรับอยู่ในบริเวณดังกล่าว


 


นายจักรภพ เพ็ญแข กล่าวยอมรับว่าลำพะเนียงมีปัญหาจากการพัฒนาตามโครงการพัฒนาลุ่มน้ำลำพะเนียงของกรมประทาน ที่ผ่านมากรมชลประทานดำเนินการโดยไม่สอบถามความคิดเห็นของชาวบ้านชาวบ้านไม่รับรู้และรับทราบข้อมูล และไม่มีการพูดถึงเรื่องค่าชดเชย ซึ่งปัญหาในเรื่องนี้นายจักรภพ ยืนยันว่าจะต้องได้รับการแก้ไขเพื่อให้โครงการได้เดินหน้าต่อไป โดยการดำเนินโครงการครั้งใหม่นั้นตนจะเป็นตัวกลางประสานกับหน่วยงานต่างๆและให้มีการทำประชาพิจารณ์เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากชาวบ้านก่อน จึงจะเริ่มดำเนินการได้


 


"โครงการใหม่นี้จะต้องมีเรื่องการทำประชาพิจารณ์กับชาวบ้าน หรืออย่างน้อยก็ต้องมีการคุยกัน หรือถ้าไม่มีการทำประชาพิจารณ์ก็ต้องมาตั้งวงคุยกัน ว่ามันจะสูงแค่นี้ กว้างแค่ไหน น้ำจะออกตรงไหน และต้องพูดเรื่องค่าชดเชย" นายจักรภพ เพ็ญแข กล่าว


 


ทางด้าน นายวิเชียร ศรีจันทร์นนท์ แกนนำกลุ่มอนุรักษ์และฟื้นฟูลุ่มน้ำลำพะเนียง หนึ่งในชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากการขุดลอกลำพะเนียง กล่าวว่า ปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นจากการพัฒนาลำพะเนียงที่ผ่านมา เป็นบทเรียนของรัฐที่ดำเนินโครงการโดยขาดการมีส่วนร่วมของชาวบ้าน ชาวบ้านไม่ได้รับข้อมูลที่แท้จริงว่าการขุดขยายลำพะเนียงทำไปเพื่ออะไร จุดประสงค์ที่แท้จริงของโครงการก็ยังถูกปกปิดไว้ แม้ว่าปัจจุบันชาวบ้านส่วนหนึ่งจะรู้แล้วว่าการขุดลอกลำพะเนียงทำเพื่อรองรับการผันน้ำโขงลงสู่เขื่อนอุบลรัตน์ แต่ไม่รู้ว่าแท้จริงแล้วเพื่อรองรับอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น


 


นอกจากนี้นายวิเชียรยังเน้นย้ำเพิ่มเติมอีกว่า ตนไม่เชื่อว่าโครงการดังกล่าวจะทำเพื่อชาวนาและเกิดประโยชน์กับเกษตรกรจริงอย่างที่โฆษณาชวนเชื่อกัน อีกทั้งโครงการดังกล่าวเป็นเพียงการขายฝันให้กับชาวบ้าน ซึ่งจะสร้างความขัดแย้งให้เกิดขึ้นระหว่างชาวบ้านด้วยกันเอง คือระหว่างชาวบ้านที่มีนาอยู่ที่โคกและหลงเชื่อคำโฆษณาขายฝันของรัฐบาล กับชาวบ้านที่มีนาอยู่ติดลำน้ำโดยที่ผ่านมาต่างได้รับผลกระทบและความเสียหายอย่างมหาศาลจากการขุดขยายลำน้ำ ความขัดแย้งนี้จะนำไปสู่ความแตกแยกของชุมชน ซึ่งปัญหานี้เริ่มจะก่อตัวขึ้นแล้วในปัจจุบัน นายวิเชียรกล่าว


 


ทั้งนี้มีชาวบ้านกว่า 70 คนมารวมตัวกันในบริเวณดังกล่าว ตามประกาศนัดหมายของนายพิษณุ หัตถสงเคราะห์ ที่บอกแต่เพียงว่าให้ผู้ที่เดือดร้อนมารวมตัวกันใน เวลา 16.00 น. โดยชาวบ้านไม่ทราบมาก่อนว่านายจักรภพ เพ็ญแข จะเดินทางมาดูลำพะเนียงเพื่อรับฟังความเดือดร้อนจากชาวบ้าน เมื่อนายจักรภพเพ็ญแข เดินทางมาถึง ชาวบ้านส่วนหนึ่งต่างกระจัดกระจายอยู่ในบริเวณดังกล่าว และชาวบ้านอีกส่วนหนึ่งพยายามเข้าถึงตัวนายจักรภพเพ็ญแข เพื่อบอกเล่าปัญหาและซักถามถึงการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนที่เกิดขึ้น


 


ทั้งนี้ ลำพะเนียงมีความยาว 150 กิโลเมตร มีความคดเคี้ยว เต็มไปด้วยวังปลา และพันธุ์ไม้นานาชนิดสองฝั่งลำน้ำ และชาวบ้านมีระบบการจัดการน้ำของตัวเอง ต่อมาในปี 2547 ลำน้ำถูกขุดขยาย ตามโครงการพัฒนาลุ่มน้ำลำพะเนียง จากความกว้างโดยเฉลี่ยของลำน้ำ 7-10 เมตร ถูกขุดขยายออกจากศูนย์กลางลำน้ำข้างละ 35 เมตร และทำถนนขนาด 6 เมตร เรียบ 2 ฝั่งลำน้ำ รวมระยะทางประมาณ 30 กิโลเมตร ในพื้นที่ 5 ตำบล (ต.หนองสวรรค์ ต.หนองหว้า ต.โพธิ์ชัย ต.หนองบัว และต.บ้านขาม) ในเขต อ.เมือง โดยไม่มีการชี้แจงรายละเอียดโครงการอย่างครบถ้วนและไม่มีค่าชดเชยใดๆ ชาวบ้านเห็นว่าเป็นแค่การขุดลอกลำน้ำธรรมดา ผลกระทบที่ตามมาคือ ชาวบ้านสูญเสียที่นา สูญเสียแหล่งหาอยู่หากินที่อุดมสมบูรณ์ เกิดปัญหาน้ำท่วมขังที่นา การใช้น้ำจากลำพะเนียงเป็นไปด้วยความยากลำบากเพราะไม่มีระบบการจัดการน้ำให้แก่ชาวบ้าน จากความเสียหายที่เกิดขึ้นชาวบ้านได้ฟ้องศาลปกครองทั้งหมด 148 คดี


 


โดยปัจจุบัน (มี.ค. 2551) ตัดสินแล้ว 23 ศาลพิพากษาว่ากรมชลประทานต้องจ่ายค่าชดเชยในที่ดินที่เสียไปให้ชาวบ้าน (โดยเฉลี่ยตร.วาละ100 บาท) ซึ่งคดีที่ตัดสินแล้วทั้งหมดกรมชลประทานได้ยื่นอุทธรณ์ขอลดค่าชดเชยลง (โดยเฉลี่ยเหลือตร.วาละ 50 บาท) โดยอ้างว่าชาวยินยอมยกที่ดินให้และได้รับประโยชน์มากกว่าเสียประโยชน์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net