ระวังนโยบายผันน้ำโขงทำอีสานป่นปี้ซ้ำรอย "โขง-ชี-มูล"

ธีรมล บัวงาม
สำนักข่าวประชาธรรม

นับเนื่องจากการแถลงนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลโดยนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี ที่ประกาศจะเดินหน้าโครงการผันน้ำลอดอุโมงค์จากแม่น้ำโขง เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำในภาคอีสานนั้น ทำให้เกิดคำถามถึงความคุ้มทุนและความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติ ล่าสุด (3มี..) สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้เชิญตัวแทนชาวบ้าน นักวิชาการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมสัมมนาในหัวข้อ "โครงการโขง-ชี-มูล : บทเรียน ผลกระทบ และทางออก" ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจท้าทายรัฐบาลชุดใหม่ว่าโครงการขนาดใหญ่ต้องคำนึงถึงบทเรียนที่ผ่านมา

ทั้งนี้โครงการโขง-ชี-มูลนั้นเป็นที่ทราบกันดีว่าก่อผลกระทบอย่างมหาศาลในภาคอีสานตั้งแต่ผลกระทบเรื่องการแพร่กระจายของดินเค็ม และน้ำเค็มเข้ามาในพื้นที่เกษตรกรรม และผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และวิถีชีวิตของชุมชน ทำให้ชุมชนต้องโยกย้ายถิ่นฐาน และสูญเสียอาชีพ เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ ผู้ประสานงานกลุ่มนิเวศวัฒนธรรมศึกษา กล่าวว่า โครงการโขง ชีมูล นั้นมีวัตถุประสงค์เพื่อหาน้ำให้ภาคเกษตรในภาคอีสาน และสร้างงานในชนบท โดยมีแนวผันน้ำตามอุโมงค์สำคัญ 2 แนว ได้แก่ แนวอุโมงค์แม่น้ำเลย - เขื่อนอุบลรัตน์ และแนวหนองคาย อ.โพนพิสัย- ห้วยหลวง ซึ่งจะดึงน้ำโขงเข้ามาใช้ในพื้นที่ชลประทานลุ่มน้ำมูลและลุ่มน้ำชีรวม 4.89 ล้านไร่

อย่างไรก็ตาม ความพยายามในการผันน้ำโขงมาใช้มีมาโดยตลอด แต่มีการปรับเปลี่ยนบ่อยครั้ง เพราะถูกทักท้วงเยอะจากนักวิชาการ รวมถึงคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติในช่วงปี 2532-2535 เนื่องจากผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม อาทิ การแพร่กระจายดินเค็มและน้ำเค็มเข้ามาในพื้นที่เกษตรกรรม หรือข้อพิพาทเรื่องการใช้นำระหว่างประเทศ จึงทำให้โครงการโขง-ชี-มูล ทั้ง 3 ระยะในส่วนที่จะมีการผันน้ำโขงไม่สามารถทำได้ แต่มติครม.เมื่อปี 2537 ก็อนุญาตให้โครงการโขงชีมูลดำเนินการใช้น้ำในประเทศก่อน เพื่อจัดสรรน้ำในพื้นที่ประมาณ 5 แสนกว่าไร่ จึงทำให้เกิดเขื่อนกั้นลำน้ำมูล และน้ำชีเป็นช่วงๆ มากมาย นอกจากนี้มติคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมฯ ยังให้มีการศึกษาผลกระทบ ความคุ้มค่า ของการใช้น้ำในประเทศก่อน ส่วนการใช้น้ำโขงให้ไปศึกษาเพิ่มเติม

หวั่นพี่น้องไทย-ลาวเปิดสงครามแย่งน้ำ

เลิศศักดิ์ ชี้ว่า โครงการอุโมงค์ผันน้ำโขง เป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยาก มันไม่ใช่การสูบน้ำมาเฉยๆ เพราะมีปัจจัยการใช้น้ำจากประเทศทางตอนล่างของน้ำโขง รวมถึงการสร้างเขื่อนจำนวน 8 แห่งบนแม่น้ำโขงตอนบนในประเทศจีน ซึ่งทำให้ปริมาณการไหลของน้ำในช่วงฤดูแล้งแห้งขอด หรือลดลงไปเรื่อยๆ

ที่สำคัญประเทศทางตอนล่างของแม่น้ำโขงไม่สามารถควบคุมปริมาณการไหลของแม่น้ำโขงในช่วงฤดูแล้งได้ นี่คือตัวแปรสำคัญ และเป็นเหตุผลสำคัญที่อย่างน้อยประเทศลาวคงไม่ยอมให้ไทยสูบน้ำอย่างแน่นอน เพราะลาวต้องใช้น้ำโขงเช่นกัน หากไทยจะสูบน้ำโขงมาใช้ ก็ต้องสร้างเขื่อนในแม่น้ำโขง เป็นเรื่องการเมืองระหว่างประเทศ ซึ่งจากการแถลงของนายกรัฐมนตรีหลังจากการเยือนประเทศลาวก็บอกว่าจะสร้างเขื่อนบ้านกุ่ม จ.อุบลราชธานี ซึ่งเป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้

"
หากลาวและไทยไม่พร้อมที่จะสร้างเขื่อนกั้นน้ำโขงร่วมกัน ก็มีทางเลือกที่ซื้อน้ำจากเขื่อนน้ำงึม ของประเทศลาว ต้องทำท่อลอดแม่น้ำโขง หลายองค์กรสนับสนุนแนวทางนี้กันมาก แต่ประเด็นนี้ต้องคิดต่อว่าเมื่อมีการซื้อน้ำมาจะมีการคิดค่าการใช้น้ำกับเกษตรกรหรือไม่ เป็นเรื่องน่าเป็นห่วง เพราะโครงสร้างการเกษตรกรในภาคอีสานเป็นเกษตรกรรายย่อยซึ่งเป็นบุคคลที่มีความสามารถในการจ่ายค่าน้ำได้น้อยตามร่างกม.น้ำ คิดว่าทั้ง 2 ทางเลือกต้องใช้เวลาศึกษาอีกยาวนาน และก่อนจะไปถึงโครงการไฮโดรซิลแนวคิดของรัฐบาลปัจจุบัน ต้องประเมินความคุ้มค่าจากโครงการโขง-ชี-มูลก่อนด้วย จากการศึกษาทบทวน พบความผิดพลาดของโครงการที่น่าสนใจ อาทิ

ประการแรก นักการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องกับการผลักดันโครงการ แนวผันน้ำ 1 ห้วยหลวง-หนองหาร เป็นแนวผันน้ำที่นักการเมืองเลือก เพราะต้องการให้ผ่านจังหวัดของตน ทั้งๆ ที่มีนักวิชาการจำนวนมากท้วงติงให้เลือกแนวผันน้ำจากเลย-เขื่อนอุบลรัตน์ เนื่องจากมีส่วนต่างของระดับน้ำที่สามารถผันน้ำตามแรงโน้มถ่วงของโลก ไม่ต้องสูบขึ้นมาเป็นช่วงเหมือนแนวผันน้ำที่ 1 ทำให้ต้นทุนในการผันน้ำสูงขึ้น แม้การผันน้ำโขงจะยังไม่เกิด แต่ก็ได้มีการก่อสร้างเพื่อรองรับการผันน้ำดังกล่าวไปแล้ว เช่น การก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยหลวงและอ่างเก็บน้ำหนองหาร คาดว่าแนวผันน้ำนี้จะเป็นทางเลือกของโครงการอุโมงค์ผันน้ำโขงอยู่ เพราะหากไทยจะเปลี่ยนมาดึงน้ำจากห้วยงึมของลาวจุดที่ใกล้ที่สุดก็คือห้วยหลวง

ประการที่ 2 โครงการโขง-ชี-มูล เป็นโครงการสูบน้ำด้วยไฟฟ้า ไม่ใช่เป็นการจัดหาน้ำแบบให้เปล่ากับเกษตรกร แต่ต้องอาศัยสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้า เพื่อดึงให้เกษตรกรอีกทอด ซึ่งจะไม่เรียกว่าเป็นการเสียค่าน้ำ แต่เรียกว่าการเสียค่าไฟฟ้าสูบน้ำ กรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงานเดิมช่วยจ่ายค่าน้ำให้เกษตรกรกว่าร้อยละ 60 แต่บทเรียนของโครงการสูบน้ำด้วยไฟฟ้าตลอด 30 ปีที่ผ่านมา (2510-2532) จัดสรรน้ำให้พื้นที่การเกษตรเพียงร้อยละ 14 ของพื้นที่โครงการฯ เท่านั้น

ประการที่ 3 มติครม.มกราคม 2537 ระบุให้ก่อสร้างโครงการโขงชีมูลเฉพาะที่ใช้น้ำในประเทศเสียก่อน ส่วนการผันน้ำโขงต้องศึกษารายละเอียดและศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นจากที่ได้ดำเนินการไปแล้ว ตลอดจนจัดทำข้อเสนอ แผนงานป้องกัน และผลกระทบสิ่งแวดล้อม แต่งานศึกษาดังกล่าวยังไม่มีใครรู้ว่าอยู่ที่ไหน ในทำนองเดียวกับการศึกษาเรื่องการแพร่กระจายดินเค็ม กรมศึกษาและพัฒนาพลังงานได้ว่าจ้างให้กรมพัฒนาที่ดิน ศึกษาการแพร่กระจายของดินเค็มเพิ่มเติม โดยว่าจ้างมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีขอนแก่นให้จัดทำแบบจำลองทางอุทกวิทยาการแพร่กระจายของดินจากการละลายเกลือ การเพิ่มระดับของน้ำใต้ดินจากการสร้างฝาย คลองส่งน้ำต่างๆ งานศึกษาทั้ง 2 ชิ้นหายสาบสูญไปไหน ต้องมีการดึงเรื่องพวกนี้ขึ้นมา

"
พอครม.มีมติ ไม่ให้ใช้น้ำโขง รัฐบาลต่อมาก็มีชงโครงการเติมน้ำเติมชีวิตในปี 2542 และโครงการชลประทานระบบท่อ กระทั่งปัจจุบันกลายเป็นโครงการอุโมงค์ผันน้ำโขง ทั้งนี้เพื่อหวังที่จะใช้น้ำโขงให้ได้ ต่อไปคงจะมีโครงการใหม่เรื่อยๆ แต่ประเด็นสำคัญอยู่ที่สุดไม่ว่าจะเป็นโครงการใดก็ตามต้องทำให้น้ำถึงไร่ของชาวนาได้จริง และเป็นการจัดสรรแบบให้เปล่า"

พบดินเค็มแพร่สะพัด ซ้ำหนักสร้างเขื่อนทับเขื่อน

สนั่น ชูสกุล ผู้อำนวยการโครงการฟื้นฟูพื้นที่ชุ่มน้ำป่าทามมูล กล่าวว่า ตั้งแต่ปี 2537 เป็นต้นมา โครงการโขงชีมูลใช้เงินไปกว่า 28,000 ล้านบาท โดยวางเป้าหมายสร้างพื้นที่ชลประทาน 14 โครงการย่อย อาทิ สร้างเขื่อนเป็นช่วงๆ ในลุ่มน้ำมูล 5 แห่ง ลุ่มน้ำชี 6 แห่ง และลุ่มน้ำสาขา แต่สิ่งที่ได้กลับมาคือความเสียหาย ยกตัวอย่างผลการพิจารณาของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เมื่อปี 2536 ได้กำหนดเงื่อนไข เรื่องการศึกษาดินเค็ม พร้อมให้ความเห็นว่า นอกจากการระบบส่งน้ำแบบชลประทานแล้วต้องมีระบบระบายน้ำควบคู่ด้วย เพื่อระบายน้ำที่เกิดจากความเค็มในไร่นาออกไปท้ายน้ำ แต่เท่าที่ติดตามในพื้นที่ 14 แห่ง ยังไม่พบพื้นที่ไหนมีระบบระบายน้ำ นี่จึงเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ต้องชะลอการสูบน้ำโขงไว้ก่อน

ตามจริงกรมพัฒนาที่ดินได้ทำการศึกษาเรื่องนี้อยู่ อย่างกรณีเขื่อนราษีไศลที่พบว่าหลังปิดเขื่อนความเค็มไม่ถูกระบายออกไปจากการไหลตามธรรมชาติของน้ำ ทว่างานชิ้นนี้กลับไม่มีผลทางการปฏิบัติใดๆ ตามมา ส่วนการศึกษาอื่นที่น่าสนใจคือการศึกษาความซ้ำซ้อนของพื้นที่ชลประทานโดยคณะทำงาน ของกรมชลประทาน ซึ่งตั้งขึ้นมาเพื่อติดตามโครงการโขงชีมูลที่ไปทับซ้อนกับโครงการเดิม กรณีเขื่อนราษีไศลก็พบว่าพื้นที่ของเขื่อนไปท่วม 12 โครงการชลประทานที่มีอยู่เดิม มันก็คือการสร้างเขื่อนทับเขื่อนนั่นเอง เรื่องนี้สำคัญมาก และเป็นคำถามต่อไปสำหรับโครงการผันน้ำคือ ค่าใช้จ่าย ต้นทุนในการป้องกันแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม และการคิดคำนวณผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นจริงจะเป็นอย่างไร ซึ่งคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติเห็นการลงทุนของโครงการโขง-ชี-มูล ก็ให้ข้อสังเกตว่ามันจะไม่คุ้มตั้งแต่ต้น

"
พื้นที่ชลประทานของโครงการที่บอกว่าจะเพิ่ม 4.98 ล้านไร่ต้องสูบน้ำเข้ามากว่า 4.2 ล้านไร่ เพราะฝายหรือเขื่อนในลุ่มน้ำมูลและน้ำชีให้พื้นที่ชลประทานเพียง 4 แสนกว่าไร่ นอกจากนั้นโครงการก็ไปฝากความหวังกับสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ คือ การยกระดับสันเขื่อนลำปาว และอื่นๆ ให้สูงอีก 1.5 เมตร ซึ่งน้ำก็จะท่วมมากขึ้น ต้องอพยพราษฎร สิ่งเหล่านี้บริษัทที่ปรึกษาก็แนะนำว่าให้ซื้อออก คือ จ่ายค่าชดเชยเต็มที่ ซึ่งก็เกินราคาของโครงการโขงชีมูลที่จะทำได้"

สร้างระบบชลประทานในไร่นาคือทางออก

สนั่น บอกว่า เรื่องนี้อยู่ที่วิธีคิด ยอมรับว่ากำลังอยู่ในระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมที่ต้องผลิตขนาดใหญ่ และมีแนวโน้มไปสู่การพัฒนาอุตสาหกรรม ซึ่งการจัดการน้ำขนาดใหญ่เป็นโครงสร้างพื้นฐานที่จะทำให้ระบบการผลิตแบบทุนนิยมมันเป็นไปได้ แต่ประสบการณ์เรื่องเขื่อนนานนับ 50 ปี พอจะมองเห็นได้ว่าความยั่งยืนของการจัดการน้ำแบบเขื่อนนั้นเป็นอย่างไร ซึ่งอีก10-20 ปีข้างหน้าอาจต้องมีการทุบเขื่อนหลายแห่งทิ้ง

ดังนั้นเราอาจจะต้องคิดถึงภูมิปัญญาอื่นๆ เช่น ระบบชลประทานแบบเดิมคือชลประทานน้ำฝน คนอีสานก็มีการพลิกแพลงรูปแบบคันนา ให้เหมาะสมกับการผลิตแบบยังชีพ และค้าขายได้ ซึ่งร้อยละ 90 ของพื้นที่ก็ยังคงใช้ระบบชลประทานแบบครอบครัวระดับแปลงอยู่ แต่เนื่องจากในบางปีของภาคอีสานจะเกิดภาวะแห้งแล้งหรือน้ำท่วม จึงจำเป็นต้องมีระบบน้ำย่อยที่สุดในไร่นาขึ้นมา ตรงนี้เราไม่ค่อยมีองค์ความรู้เรื่องระบบน้ำไร่นา มีแต่จะทำลาย เพราะว่ามันใช่โครงการที่ใช้เงินมหาศาลในการวิจัยเรื่องคันนา นักวิจัยก็ไม่สนใจ

เรื่องแหล่งน้ำในไร่นา เคยมีโครงการนำร่องเพื่อพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนของเกษตรกรรายย่อยที่เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกได้ทำโครงการขึ้นมา ชาวบ้านบริหารเอง ใช้เงินไม่ถึง 2 หมื่นบาท ได้แหล่งน้ำขนาด 1 ไร่ สามารถใช้เป็นฐานการเกษตรแบบผสมผสานขึ้นมา ที่นี้เรียกว่า"เกษตรทามมูล" หากนำเงินของโครงการโขงชีมูลจำนวน 28,000 ล้าน ไปสนับสนุนโครงการในลักษณะนี้มันจะช่วยเกษตรกรได้ถึง 1 ล้านคน

"
แต่เขาไปเจรจาซื้อขายท่อกันก่อนที่จะมีโครงการชลประทานระบบท่อแล้วมาอ้างเหตุผลว่าจะมาช่วยพี่น้องเกษตรกรนี่คือระบบการใช้อำนาจของรัฐ แทนที่จะทบทวนภูมิปัญญาการจัดการน้ำของชาวบ้าน เราต้องคิดไปให้ถึงการสร้างระบบน้ำในชุมชนในท้องถิ่น และให้ประชาชนสร้างแผนขึ้นมา ต่อไปนี้ต้องเปลี่ยนให้ประชาชนเป็นเจ้าภาพ ไม่ใช้เอาตามแนวทางนโยบายของหน่วยงาน ประชาชนก็ต้องกล้าพอที่จะเสนอความคิด หรือระบบการพัฒนาที่เหมาะสมกับนิเวศ หรือภูมิปัญญา รัฐบาลต้องมาสนับสนุนอย่างไร"

"
นอกจากนั้นมติของคณะกรรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติครั้งที่ 4 (26 .. 2536) มีความครอบคุลมอยู่แล้วที่จะติดตามประเมินผลโครงการโขงชีมูล เรื่องนี้ควรจะเป็นเงื่อนไขของการเดินหน้าทำโครงการใหม่ ส่วนตัวคิดว่ามันมีความพยายามบ่ายเบี่ยงไม่ยอมเปิดเผยผลการศึกษานี้อย่างตรงไปตรงมา อาจเป็นเพราะว่ามันชี้ว่าปัญหาดินเค็มในภาคอีสานที่เกิดจากโครงการพัฒนาของรัฐนั้นจะแก้ไขไม่ได้" สนั่น กล่าวย้ำ

ลุ่มน้ำชี "ช้ำ" เหตุน้ำท่วมซ้ำซากนาน 8 ปี

อกนิษฐ์ ป้องภัย ผู้ประสานงานเครือข่ายลุ่มน้ำชี กล่าวว่า โครงการโขงชีมูลได้สร้างเขื่อน 7 แห่ง บนลำน้ำชี ตอนจะสร้างบอกว่าเป็นฝายยาง แต่ลงท้ายกลับกลายเป็นเขื่อน หลังจากสร้างเขื่อนเสร็จทุกตัวเมื่อปี 2542 ก็เกิดปัญหาน้ำท่วมขังอย่างยาวนานกว่า 2 เดือนขึ้นไป และกว่า 8 ปีที่ผ่านมาแทบไม่มีการทำนาปี หน่วยงานราชการก็ส่งเสริมให้ทำข้าวนาปรังที่ต้องลงทุนเยอะ แต่ได้ราคาต่ำกว่าข้าวนาปี

"
รัฐบอกว่าว่าสร้างเขื่อนแล้วจะไม่มีผลกระทบ แต่พื้นที่กลับเสียหายจากการสร้างเขื่อนกว้างถึง 6 แสนไร่ คิดเป็นค่าเสียหายของชาวบ้านจำนวน 1 แสนครอบครัว เปลี่ยนเป็นหนี้สินประมาณ 16,000 ล้านถึง 40,000 ล้านบาท ดังนั้นการลงทุนทั้งหมด 28,000 ล้านกับผลที่ออกมาความเสียหายมันคุ้มหรือไม่"

สำหรับโครงการชลประทานระบบท่อนั้น อกนิษฐ์ บอกเล่าว่า ในช่วงสมัยสุวิทย์ คุณกิตติเป็นรัฐมนตรีกระทรวงเกษตรฯ มีมติในเดือนพฤศจิกายน 2540 ให้ทดลองนำร่องโครงการชลประทานระบบท่อ 10 โครงการ แบ่งเป็นภาคอีสาน 5 โครงการ เช่น โครงการหนองเรือ จ.ขอนแก่น ซึ่งเกิดปัญหาเรื่องน้ำต้นทุนไม่เพียงพอ ปีไหนฝนน้อยก็ไม่มีน้ำใช้ ยิ่งไปกว่านั้นชลประทานระบบท่อยังมีปัญหาเรื่องประสิทธิภาพในการใช้งาน กล่าวคือต้องซ่อมท่อแตก ต้องล้างดิน และยังมีปัญหาการลักขโมยทองเหลืองไปขายจนเปิดปิดน้ำไม่ได้

สำคัญที่สุด คือ ชาวบ้านไม่ได้รับคำแนะนำเรื่องการปลูกพืชที่เหมาะสมกับตลาด และไม่มีส่วนร่วมในการกำหนดเวลาปิด-เปิดน้ำ ส่วนใหญ่ต้องหันไปทำนาปรัง และเกิดปัญหาเรื่องต้นทุน ตัวอย่างที่บ้านสว่างพัฒนา กิ่งอ.หนองบุนนาค ที่โคราช มีการทำชลประทานระบบท่อแก่สมาชิก 30 ราย โดยทำเป็นระบบท่อน้ำหยดแบบอิสราเอล พอทำไปแล้วเขาบังคับให้สมาชิกต้องปลูกทุเรียนโดยกู้เงินจากธกส. 150,000-200,000 เมื่อผ่านไป 2 ปี สมาชิกหลายรายก็ต้องเลิกปลูกไป เพราะขาดเงินหมุนเวียน ทุเรียนต้องใช้เวลาก่อนเก็บผล 5-6 ปี หรือไม่ก็ทนกับการใช้สารเคมีไม่ไหว รวมถึงขาดประสบการณ์ สุดท้ายสมาชิกก็แยกย้ายเลิกใช้จากหนองน้ำเดียวกัน บางรายไปขุดบาดาล เป็นต้น

จากตัวอย่างนี้ชี้ให้เห็นว่าชลประทานระบบท่อไม่มีความสอดคล้องกับสภาพพื้นที่ โดยเฉพาะต้นทุน ค่าซ่อมบำรุง ค่าปิดเปิดน้ำ ค่าท่อที่ต้องสั่งจากอิสราเอล ซึ่งตกไร่ละ 5 หมื่น - 1 แสนบาท และยังไม่รวมค่าไฟสูบน้ำของเกษตรกรรายย่อย หรือค่าไฟสูบน้ำจากน้ำโขงในอนาคต

อกนิษฐ์ ย้ำว่า เบื้องหลังปัญหาที่เกิดขึ้นมีสาเหตุคือการครอบงำภูมิปัญญา ความรู้ ที่ไปเลียนแบบอเมริกา ซึ่งเป็นชลประทานทางราบ เมื่อนำมาใช้กับประเทศไทยที่เกษตรกรเป็นรายย่อย จึงไม่เหมาะสม โดยเฉพาะพื้นที่ในภาคอีสานมี 3 ลักษณะ ที่ราบริมแม่น้ำ ที่สูง ลอนคลื่น และบนที่รายที่สูงยังมีแบบลอนคลื่นอีก ดังนั้น ถ้าจะเอาชลประทานแบบรวมศูนย์การจัดการจึงใช้ไม่ได้ ดังนั้นจึงอยากที่จะเปลี่ยนความคิดของกรมชลประทาน ที่เน้นระบบชลประทานขนาดใหญ่ มันต้องเป็นการจัดการน้ำแบบกระจายตัว มีระบบชลประทานที่ชาบบ้านทำได้เต็มไปหมด เช่น ลำตะคาว จ.ชัยภูมิมีฝายระหัดวิดน้ำอยู่ 14 ตัว ทำไร่ 7 ราย ระบบนี้เป็นระบบที่สอดคล้องกับภูมิประเทศ

นักวิชาการโต้มายาคติ "อีสานแล้ง" ลั่นถึงเวลากระจายการจัดการน้ำ

ดร.รอยล จิตรดอน ผอ.สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร กล่าวว่า อีสานไม่ใช่มีแค่น้ำแล้ง แต่มีน้ำท่วมทุกปีด้วย อย่างนั้นเราต้องมีทางเลือกในการแก้ปัญหาน้ำทั้งระบบ โดยอย่างแรกต้องตอบคำถามก่อนว่าอีสานแล้งจริงหรือไม่ คนรุ่นผมยังได้เห็นป่าของภาคอีสาน ถึงวันนี้ผมเจอแต่ป่ามันสำปะหลังกิโลกรัมละ 5 บาท

ข้อเท็จจริงเรื่องปริมาณฝนในภาคอีสานนั้น พบว่า 1 ปี มีปริมาณน้ำจากน้ำฝนรวมกว่า 2 แสนล้านลบ.. กักเก็บไม่ได้กลายเป็นน้ำท่าจำนวน 60,000 ล้านลบ.. เป็นอ่างเก็บน้ำ 7,000 ล้านลบ.. อีสานขาดน้ำอยู่ประมาณ 4,000 ล้านลบ.. ขณะที่น้ำไหลลงสู่แม่น้ำโขง ปีละ 30,000 ล้านลบ.. ดังนั้นประเด็นจึงอยู่ที่ว่าจะแก้ปัญหาเรื่องภูมิประเทศที่ไม่เอื้อต่อการกักเก็บน้ำอย่างไร จากข้อมูลในปี 2547 ซึ่งเป็นปีที่แล้งในภาคอีสาน ปริมาณฝนที่แย่ที่สุดในภาคอีสานคือแถบโชคชัย แต่โดยรวมก็เกิน 1,500 มิลลิเมตร/ปี ขณะที่ปี 2548 คนคิดว่าอีสานแล้ง แต่ความจริงไม่ได้แล้ง ฝนมาตกเอาตอนท้ายฤดูคือกันยายน-ตุลาคม และฝนก็อยู่ในช่วงประมาณ 200,000 ล้านลบ..

"
ส่วนปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำของภาคอีสานที่มีความจุประมาณ 7,800 ล้านลบ.. ชลประทานก็ทำได้ตามแผนเกือบทุกปี ประเด็นคือฝนที่ตกกลายเป็นน้ำท่าไปทั้งหมด ถามว่าจะเอามาจำนวนนี้ไปเก็บไว้ได้ไหม แต่สิ่งที่ทุกคนกลัวคือถ้าเอาน้ำไปเก็บไว้ในแหล่งน้ำใหญ่ๆ จะไปกดชั้นเกลือให้ออกมาด้วย"

สิ่งที่ขาดคือการพัฒนาแผนพัฒนาแหล่งน้ำคือการจัดการทรัพยากรน้ำชุมชน เบื้องต้นได้มีการทดลองร่วมกับกรมชลประทาน มูลนิธิโคคาโคลาประเทศ มูลนิธินิเวศพัฒนา สมาคมพัฒนาประชากร ที่บ้านลิ่มทอง อ.นางรอง จ.บุรีรัมย์ จำนวน 3 หมู่บ้าน พื้นที่ 3,700 ไร่ ใช้เงินไป 3 ล้านกว่าบาท สิ่งที่ทำคือเอาการรูปแบบการจัดการน้ำในสมัยสุโขทัย และของกระเหรี่ยงมาประยุกต์ ขุดคลองขวางตามแนวลาดชัน ทำให้น้ำท่าไหลเข้ามา และมีพื้นที่แก้มลิงรองรับ สิ่งที่คิดว่ามันจะเก็บน้ำไม่อยู่ปรากฏว่ามีตะกอนไหลมาพร้อมช่วงน้ำหลาก ประมาณส..-.. ใน 1 ปีมันมาอุดช่อง เก็บน้ำเต็มความจุของสระซึ่งมีขนาด 60,000 ลบ.. ความจุของคลองประมาณ 90,000 ลบ.. รวมทั้งหมด 160,000 ลบ.. พอที่จะป้อนตอนฝนทิ้งช่วงได้ 1-2 เดือน ซึ่งขณะนี้กำลังวางแผนที่จะสระน้ำในไร่นาต่อไป

ปริมาณน้ำฝนในภาคอีสานมันเพียงพอ แต่ก็สุดวิสัยที่หน่วยงานรัฐจะทำได้ ต้องอาศัยชาวบ้าน ชุมชนท้องถิ่นลงมาเป็นเจ้าของน้ำในระบบชุมชนที่จะเชื่อมต่อเข้ากับระบบชลประธาน โครงการจะมีขนาดเล็กกระจายอยู่ทั่วพื้นที่เป็นหมื่นเป็นแสนที่เหมาะกับสภาพภูมิประเทศ ซึ่งหากเป็นแหล่งขนาดใหญ่ในที่ที่มีเกลือ อาจกดผลักให้ความเค็มกระจายขึ้นข้างบนได้ ในด้านงบดำเนินการเชื่อว่าส่วนหนึ่งมีอยู่แล้วคืองบการปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีอยู่ปีละ 4 แสนล้าน จากตัวอย่างของ 3หมู่บ้านนี้ใช้งบ 3 ล้านบาท หากจัดสรรงบประมาณของท้องถิ่นเพียงร้อยละ10 มาทำเรื่องน้ำ แน่นอนบางแห่งอาจจะล้มเหลว แต่ความสำเร็จในหลายพื้นที่ของภาคอีสานก็เป็นตัวอย่างได้ดีในการมองจากล่างขึ้นบน ดร.รอยล ขมวดประเด็นท้าทายความเชื่อและแนวทางของรัฐบาล ซึ่งจะเข้าหูและนำไปสู่การเปลี่ยนหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับว่า วาระในการหยิบยกเรื่อง "การผันน้ำโขง" ขึ้นมาอีกครั้งหนึ่งทำไปเพื่อสนองประโยชน์ของคนกลุ่มใดกันแน่








โครงการโขง - ชี - มูล เป็นโครงการก่อสร้างและพัฒนาแหล่งน้ำทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ เพื่อเก็บกักและกระจายน้ำไปสู่ไร่นาให้กับเกษตรกร ซึ่งคณะรัฐมนตรีเมื่อคราวประชุมสัญจรที่จังหวัดขอนแก่น เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2532 เพื่อสร้างพื้นที่ชลประทาน 4.89 ล้านไร่ โดยแบ่งโครงการเป็น 3 ระยะ ต้องใช้ระยะเวลาดำเนินการ 42 ปี รวมงบประมาณ 228,000 ล้านบาท อย่างไรก็ตามการดำเนินงานได้ใช้งบประมาณจำนวนมาก แต่ไม่ประสบความสำเร็จ และได้ก่อปัญหาให้กับวิถีชีวิตของประชาชนในท้องถิ่นและทรัพยากรธรรมชาติอย่างรุนแรง ดังจะเห็นได้จากการตัดสินใจดำเนินงานโครงการโขง - ชี - มูล ระยะที่ 1 อย่างรีบร้อน รวบรัด โดยไม่ได้รับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากทุกภาคส่วนอย่างทั่วถึงเท่าเทียมกัน เป็นเหตุให้พื้นที่บริเวณลุ่มน้ำดังกล่าวเกิดปัญหาในหลายเรื่องหลายครั้ง ขณะที่โครงการโขง - ชี - มูล ต้องใช้งบประมาณเป็นจำนวน 10,346 ล้านบาท ซึ่งมีการทักท้วงจากนักวิชาการตลอดเวลาที่ผ่านมา ปัญหาผลกระทบที่เกิดขึ้น ได้แก่ การแพร่กระจายของดินเค็ม ความเสียหายต่อระบบนิเวศของแม่น้ำ การสูญพันธุ์ของสัตว์น้ำ การแพร่กระจายของหอยบางชนิดที่เป็นพาหะของโรคพยาธิใบไม้ในตับ เป็นต้น

โครงการโขง - ชี - มูล และโครงการพัฒนาแหล่งน้ำในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ผ่านมายังก่อปัญหาให้กับวิถีชีวิตของประชาชนและทรัพยากรธรรมชาติอยู่เสมอ อาทิเช่น ปัญหาการแพร่กระจายดินเค็ม น้ำเค็ม เกิดขึ้นรุนแรงมากที่สุดในพื้นที่เขื่อนราศีไศล และหนองหานกุมภวาปี จนไม่สามารถนำน้ำมาทำการเกษตรได้ และมักพบว่าพื้นที่น้ำท่วมของโครงการเกินเขตพื้นที่อ่างเก็บน้ำที่โครงการระบุไว้ พื้นที่ทำกินของเกษตรกรที่ถูกน้ำท่วม ผู้เสียหายได้รับค่าชดเชยบ้าง ไม่ได้รับบ้างและไม่พอเพียงกับความเสียหายที่ได้รับจากโครงการโขง - ชี - มูล ระยะที่ 1 มีพื้นที่ชลประทานที่ใช้ได้จริงเพียง 900 ไร่ ใน 14 โครงการ จากที่ตั้งเป้าหมายพื้นที่ชลประทานไว้ 5 แสนไร่

โดยก่อนหน้านี้เครือข่ายลุ่มน้ำอีสานได้ยื่นข้อเสนอต่อคณะรัฐมนตรี ในวาระการประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจร จังหวัดนครพนม 21 กุมภาพันธ์ 2547 มีดังนี้

1.
กรณีแม่น้ำสายใดที่ยังไม่มีการก่อสร้างเขื่อนหรือโครงการระบบท่อน้ำ รัฐบาลต้องปล่อยให้แม่น้ำไหลอย่างอิสระตามธรรมชาติ เพื่อดำรงไว้ซึ่งระบบนิเวศ วิถีชีวิตชุมชน และการใช้เป็นสาธารณประโยชน์ร่วมกัน
2. รัฐบาลต้องศึกษาทบทวนและประเมินผลประโยชน์และผลกระทบที่เกิดขึ้นจริงกับโครงการพัฒนาแหล่งน้ำที่ผ่านมาในภาคอีสานและภาคอื่นๆ ที่ดำเนินการไปแล้ว โดยมีกลไกการศึกษาที่เป็นอิสระก่อนที่จะพัฒนาโครงการขนาดใหญ่อื่นๆ ในอนาคต
3. รัฐบาลต้องให้ความเคารพไม่ละเมิดสิทธิการใช้น้ำของประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกระบวนการกำหนดนโยบายการจัดการทรัพยากรน้ำในปัจจุบัน ต้องเปิดให้มีการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงของประชาชนทั้งประเทศ ร่วมแสดงความคิดเห็นและตัดสินใจมากกว่าที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมกำลังดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน
4. โครงการพัฒนาหรือนโยบายการจัดการน้ำใดๆ ต้องคำนึงถึงระบบนิเวศที่หลากหลายภูมิปัญญาท้องถิ่น และต้องสอดคล้องกับกายภาพและวิถีชีวิตของชุมชนท้องถิ่น
5. รัฐบาลต้องให้ความสำคัญกับทางเลือกการจัดการน้ำ หรือการพัฒนา แหล่งน้ำในโครงการขนาดเล็ก ที่กระจายอยู่ใกล้ชุมชน เพื่อง่ายแก่การเข้าถึงและใช้ประโยชน์ของเกษตรกรมากกว่าการพัฒนาโครงการแหล่งน้ำขนาดใหญ่
6. รัฐบาลต้องให้สิทธิชุมชนในการฟื้นฟูทรัพยากรป่าไม้ (ป่าโคก ป่าทาม) ห้วยหนอง และสัตว์น้ำตามธรรมชาติให้อุดมสมบูรณ์และสอดคล้องกับวิถีชีวิตชุมชนท้องถิ่น
7. รัฐบาลต้องสร้างหลักประกันที่ชัดเจนที่จะไม่ให้การลงทุนสาธารณะด้านแหล่งน้ำ ต้องถูกแปรไปเป็นสิทธิประโยชน์ของเอกชนหรือบริษัทหรือบริษัทมหาชนในตลาดหลักทรัพย์ ภายใต้นโยบายการแปรรูปรัฐวิสาหกิจเช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย การประปานครหลวงและการประปาส่วนภูมิภาค

อย่างไรก็ตาม ได้มีการผันน้ำจากแม่น้ำโขงเข้ามาในแม่น้ำชี มีการสร้างเขื่อน ในแม่น้ำชีเพื่อเก็บกักน้ำแล้วผันน้ำต่อไปในลำน้ำมูล และในแม่น้ำมูลก็มีการสร้างเขื่อนเช่นกัน ประมาณ 6 - 7 เขื่อน ซึ่งได้ก่อสร้างไปแล้วส่วนใหญ่

อนึ่ง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือหรือภาคอีสาน เป็นพื้นที่ที่มีความแห้งแล้ง และประชาชนยากจน เนื่องจากพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบในระดับความสูงระหว่าง 150 - 250 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง มีทิวเขาเป็นขอบกั้นออกจากภาคกลางและภาคตะวันออกอย่างชัดเจน ดังนั้น จึงมีความจำเป็นที่จะต้องจัดหาน้ำเพื่อการเกษตร และมีการทำนาปรังเหมือนกับเกษตรกรในภาคอื่นๆ ขณะที่ภาคอีสานมีพื้นที่ส่วนใหญ่ทำนา แต่ทั้งภาคมีเพียงแม่น้ำสายหลัก 3 สาย คือ แม่น้ำมูล แม่น้ำชี และแม่น้ำโขง และมีแม่น้ำย่อยบ้าง เช่น ลำปลายมาศ แม่น้ำสงคราม แม่น้ำลำโดมน้อย ลำโดมใหญ่ เป็นต้น


ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท