จับตา ออป.ผลาญป่า ฤาจะถึงจุดจบของชาวแม่หอพระ

นพสร แก้วศรีคำ
สำนักข่าวประชาธรรม

เมื่อกล่าวถึง "องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้" (ออป.) หลายคนคงนึกถึงหน่วยงานรัฐวิสาหกิจในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่ปลูกไม้เศรษฐกิจโดยเฉพาะไม้สักเพื่อตัดขายอย่างถูกกฎหมาย โดยเฉพาะในยุคสัมปทานป่าก่อนปี 2532 ออป.นับว่ามีบทบาทโดดเด่นในการตัดไม้ขายในเขตสัมปทาน แต่หลังจากประเทศไทยประกาศปิดสัมปทานป่าในปี 2532 เพราะทรัพยากรป่าไม้หร่อหรอลงอย่างมหาศาลจึงนับว่า ออป.แทบไม่มีบทบาทใดๆ ในการทำไม้อีก จะมีก็แต่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เท่านั้นที่เจียดพื้นที่ป่าบางส่วนให้ ออป.ปลูกไม้สักเพื่อตัดขาย เป็นรายได้เพื่อหล่อเลี้ยงองค์กรเท่านั้นเอง

แม้ว่าการดำเนินการดังกล่าวจะเป็นไปอย่างชอบด้วยกฎหมาย แต่นั่นเป็นข้อที่ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าการตัดไม้ในพื้นที่สวนป่าของ ออป.ย่อมส่งผลกระทบต่อชุมชนรายรอบพื้นที่สวนป่า โดยเฉพาะการทำลายระบบนิเวศน์ สิ่งแวดล้อม จนหลายกรณีนำไปสู่ความขัดแย้งระหว่างชุมชนท้องถิ่นกับ ออป.ในหลายพื้นที่ อาทิ สวนป่าห้วยน้ำขาว ต.ห้วยน้ำขาว อ.คลองท่อม จ.กระบี่ สวนป่าเชียงดาว ต.ปิงโค้ง อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ ที่ชุมชนท้องถิ่นที่อยู่อาศัยรายรอยสวนป่าต้องออกมาท้วงติงการตัดไม้ในพื้นที่ เพราะการดำเนินการดงกล่าวนำมาซึ่งความแห้งแล้ง ขาดแคลนน้ำของชุมชน

กรณีสวนป่าแม่หอพระ ต.แม่หอพระ อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ก็เช่นเดียวกัน !

พื้นที่ ต.แม่หอพระ ทางออป.ได้เข้ามาดำเนินการในช่วงปี 2514 โดยการครอบครองเขตพื้นที่ป่าสงวนป่าแม่แตง ต.แม่หอพระ ซึ่งได้รับการกันแนวเขตจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในพื้นที่รวมประมาณ 9,000 ไร่ โดยในช่วงแรกของการดำเนินคอช่วงปี 2518 มีการตัดไม้ป่าธรรมชาติเดิมเพื่อเตรียมพื้นที่ในการปลูกไม้สัก กล่าวได้ว่านั่นคือจุดเริ่มต้นในการดำเนินการและส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศน์ สิ่งแวดล้อม ธรรมชาติ ป่าต้นน้ำ และการใช้ชีวิตของชาวบ้านละแวกนั้นอย่างมาก โดยเฉพาะน้ำตกบัวตอง-น้ำพุเจ็ดสีซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของชุมชนเหือดแห้ง ลำห้วยในเขตหมู่บ้านโดยเฉพาะห้วยแม่หอพระมีปริมาณน้ำลดลงอย่างมาก

ขณะเดียวกันหลังจากที่ ออป.ได้ปลูกบำรุงป่าแปลงใหม่ในปี 2519 -2520 การฟื้นฟูของสภาพป่าเริ่มค่อนข้างดี ไม้สักที่ปลูกเริ่มโตขึ้นมา แต่ชาวบ้านก็ยังได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่องเพราะทาง ออป. ได้ปลูกป่าในพื้นที่หลังตัดไม้ พอไม้โตได้ขนาดก็ตัดอีกทีแล้วปลูกใหม่อย่างต่อเนื่อง ทั้งยังมีการเผาป่าในเขตพื้นที่ที่มีการปลูกไม้สักโดยแจงว่าหากโดนไฟไม้สักจะโตเร็วและเนื้อไม้ที่ได้จะปราศจากหนองและแมลงที่มาชอนไชเนื้อไม้ ซึ่งบางครั้งไฟที่เผาในเขต ออป.ได้ลุกลามไปยังพื้นที่ทำกินของชาวบ้านอยู่บ่อยครั้ง

ปัจจุบัน ออป.ได้ขยายเขตพื้นที่สัมปทานที่ครอบคลุมอยู่ออกไปปีละ 400 ไร่ ผืนป่าในเขตตำบลแม่หอพระที่อุดมสมบูรณ์ได้ถูกบุกรุกแผ้วถางเพื่อการปลูกป่าตามนโยบายของรัฐ ทำให้ต้นน้ำ ลำธาร ของวนอุทยานน้ำตกบัวตองและน้ำพุเจ็ดสี และหนองบึงในบริเวณนั้น ประสบปัญหาแห้งแล้งจนชาวบ้านได้รับผลกระทบจากการตัดไม้แต่ก็ไม่สามารถที่จะทำอะไรได้

นายสวง เตจา ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 9 .แม่หอพระ อ.แม่แตง กล่าวถึงผลจากการที่ ออป. ได้เข้ามาจัดการสวนป่าว่า โครงการสวนป่าแม่หอพระ ออป.เริ่มเข้ามาและได้อนุมัติตั้งแต่ปี2514 แต่เริ่มทำจริงๆในปี 2518 โดยการเข้ามาของ ออป.การดำเนินงานเป็นไปตามขั้นตอนทุกอย่าง มีการประชุมเข้าที่สภาตำบล ช่วงนั้นชาวบ้านก็อนุญาตเพราะไม่รู้ว่าจะเกิดปัญหาผลกระทบอย่างที่เกิดขึ้น ดังนั้นเมื่อเกิดปัญหาขึ้นมาก็ไม่สามารถร้องเรียนใครได้ และปัจจุบันยังทราบข่าวว่าทาง ออป.มีโครงการขยายพื้นที่สวนป่าไปอีกปีละ 400 ไร่ ซึ่งชาวบ้านต่างวิตกกันมาก

"ในตอนแรกชาวบ้านไม่ทราบว่า ออป.จะมาตัดไม้ทำลายป่าแล้วเอาพื้นที่ตรงนั้นปลูกต้นสักเพื่อตัดขายจึงอนุญาตให้ใช้พื้นที่ไป เพราะเข้าใจแค่ว่าเขาจะมาปลูกป่าเท่านั้น พอ ออป.เข้ามาในปี 2518 ก็เริ่มตัดไม้ ทำลายป่าธรรมชาติออกเพื่อเคลียร์พื้นที่เตรียมปลูกต้นสัก ซึ่งพื้นที่บริเวณนั้นใกล้วนอุทยานน้ำตกบัวตองและน้ำพุเจ็ดสี ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของที่นี่กลับแห้งเหือดหายไป ส่วนน้ำพุที่เคยพุ่งสูงประมาณ 2 เมตรก็ไม่มีให้เห็น แม่น้ำลำธารก็แห้งอย่างมาก ในช่วง 2 ปีนั้นทาง ออป.ได้ล้มไม้แล้วก็ปลูกไม้สักแทน ออป.ทำไปเรื่อยๆอย่างนี้ เขตพื้นที่สัมปทานที่ทำไว้ ยังไม่ได้จัดการอีกมากซึ่งตอนนี้ก็ได้ล้มไม้ไปเรื่อยๆ ขยายเขตพื้นที่ไปเรื่อยๆ ชาวบ้านวิตกกันมาก" นายสวง กล่าว

นายสวง กล่าวต่อว่า ในช่วงที่มีการล้มป่าช่วงแรกเกิดปัญหาน้ำแห้งทางชาวบ้านก็อยู่อย่างนั้นเพราะทำอะไรไม่ได้ ขณะที่ผลประโยชน์จากการที่ ออป.ขายไม้ได้ก็ไม่เคยเข้าสู่ชุมชน ร้ายไปกว่านั้นคือบางครั้งมีการตัดไม้นอกเขตพื้นที่ของ ออป.มาแล้วมีการสวมตอในพื้นที่ ออป.เพื่อนำเอาไม้นอกพื้นที่เหล่านั้นมาขายต่อ ปัญหาที่เกิดขึ้นทางชาวบ้านก็อยากรวมตัวที่จะจัดการเพื่อปกป้องป่า ปรึกษาหารือ แก้ไขปัญหา

นายอ้าย ยืนยงค์ ประธานชมรมผู้สูงอายุ ต.แม่หอพระ กล่าวว่า ช่วงแรกที่ ออป.เข้ามาดำเนินการชาวบ้านไม่ทราบถึงปัญหาผลกระทบเหล่านี้ที่จะเกิดขึ้นเลย มารู้ตัวว่าเกิดปัญหาขึ้นมาก็ทำอะไรไม่ได้ อย่าง ออป.มีการตัดไม้ในระหว่าง 2 ปีแรกน้ำที่น้ำตกบัวตองแห้งลงมาก พอ ออป.ได้เอาไม้สักเข้ามาปลูกสภาพน้ำ สภาพป่าก็ดีขึ้นมานิดหนึ่งพอตอนนี้ก็ตัดอีกและก็ปลูกทดแทน

"ทีแรกนึกว่าทางรัฐจะเข้ามาปลูกป่าสักทอง เข้ามาช่วยเหลือ ทางชาวบ้านก็เห็นชอบ ชาวบ้านบางส่วนก็ไปรับจ้างปลูก เราไม่รู้ว่าทางรัฐจะเข้ามาทำในเชิงธุรกิจแบบรัฐวิสาหกิจเข้ามาปลูกพอโตก็ตัดขาย มารู้ตัวมันก็สายเกินแก้ ทางชาวบ้านก็ทำอะไรไม่ได้เพราะยังติดในเรื่องของสัมปทาน ไม้ที่ปลูกก็เป็นของ ออป.หมดและยังขยายพื้นที่ออกไปอีก" นายอ้าย กล่าว

อย่างไรก็ตาม นายอ้าย กล่าวทิ้งท้ายว่า การแก้ไขปัญหาเราต้องแก้ไขปัญหาที่ต้นตอ ร่วมมือกันระหว่างฝ่ายปกครองในเขตพื้น ผู้นำหมู่บ้าน ชาวบ้าน ต้องเข้าไปมีส่วนร่วมด้วยกัน ถ้าทุกส่วนร่วมมือกันพลังชาวบ้านก็จะเกิดขึ้นและสามารถแก้ไขปัญหาได้ แต่หากเราไม่ทำอะไรเลยในอนาคตก็จะเกิดผลกระทบต่อชาวบ้านทั้งทางตรงและทางอ้อมและยังโยงใยไปถึงลูกหลานภายภาคหน้าอีก

ด้านเจ้าหน้าที่อุทยานศรีล้านนา (ขอสงวนนาม) กล่าวว่า จากการที่ ออป.เข้ามาจัดการในเขตพื้นที่สวนป่าซึ่งมีพื้นที่ติดต่อกับแนวเขตอุทยานฯศรีล้านนา ปฏิเสธไม่ได้ว่าปัญหาที่เกิดไม่ได้กระทบเฉพาะชุมชนเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบถึงอุทยานฯ ด้วยโดยเฉพาะผลกระทบในเรื่องน้ำที่แห้งลง ป่าถูกตัด มีการเผาป่าเพื่อให้ต้นสักที่ ออป.ปลูกโตไวขึ้น อย่างปัญหาการเผาป่าของ ออป.นั้นทางอุทยานฯ ได้รับผลกระทบโดยตรง บางครั้งเมื่อไฟลุกลามออกนอกเขต ออป.เจ้าหน้าที่อุทยานฯ ต้องเข้าไปช่วยดับไฟ ซึ่งนับว่าเป็นการเพิ่มภาระให้กับเจ้าหน้าที่อุทยานฯ ซึ่งนับเป็นปัญหาที่หนักมาก ทั้งนี้เพราะเจ้าหน้าที่อุทยานฯ ที่ประจำการที่นี่มีทั้งหมด 14 คน ลำพังแค่ดูแลรักษาป่าของเขตอุทยานฯที่มีถึง 9,375 ไร่ ก็ถือว่าหนักแล้ว แต่นี่ยังต้องมาช่วยดับไฟที่เกิดจากการเผาของ ออป.อีก ขณะที่รายได้จากการขายไม้ของ ออป.นั้นไม่เคยสนับสนุนภาระกิจเหล่านี้กับทางอุทยานฯแม้แต่น้อย

เจ้าหน้าที่รายเดิม กล่าวต่อว่า ในกรณีที่ ออป.เข้าไปจัดการพื้นที่ป่าสงวนได้ตัดไม้ธรรมชาติเพื่อขยายเขตพื้นที่การปลูกไม้สักเพิ่ม เห็นว่าไม่ควรที่จะตัดไม้ที่มีขนาดใหญ่และเก่าแก่แล้วเอากล้าไม้สักต้นเล็กมาปลูกแทน มันไม่คุ้มกับการตัดต้นไม้ขนาดใหญ่ ทำให้ต้นน้ำเหือดหาย ชาวบ้านได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะการเผาป่านั้นช่วงนี้ทางจังหวัดเองก็มีการรณรงค์งดการเผาทุกชนิดเพื่อแก้ปัญหาหมอกควันของ จ.เชียงใหม่ ชาวบ้านทั่วไปต่างให้ความร่วมมือ แต่ ออป.กลับเป็นผู้เผาเสียเองซึ่งนับเป็นเรื่องที่ไม่ควรเกิดขึ้น

นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่รายเดียวกันนี้ยังกล่าวต่อไปว่า หากทางออป.ยังมีการดำเนินการต่อไปเช่นนี้โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบต่อธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม รวมทั้งผลกระทบต่อชุมชน ตนเห็นว่าในอนาคตการลุกลามของปัญหาต่างๆอาจบานปลายและอาจนำไปสู่การเผชิญหน้าระหว่างชาวบ้านกับ ออป.ได้ ดังนั้นปัญหาที่เกิดขึ้นตนเห็นว่า ออป.ควรพิจารณารับฟังแล้วสร้างมาตรการแก้ไขปัญหาขึ้นมา

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าวันนี้สวนป่าแม่หอพระจะยังดำเนินการต่อไปโดย ออป.การตัด การปลูกยังคงเกิดขึ้น แต่หากชาวบ้านมองเห็นปัญหา มีความรักหวงแหนสมบัติของตนแนวทางการแก้ไขฟื้นฟูป่าก็ยังคงเกิดขึ้นได้ แต่หากยังปล่อยให้ ออป.ดำเนินการต่อไปเพียงลำพัง แน่นอนว่าความอุดมสมบูรณ์ของป่าย่อมลดลง วิถีชีวิตชาวบ้านอาจต้องมีการปรับเปลี่ยน และท้ายที่สุดสิ่งเหล่านี้จะออกมาในรูปใดชาวบ้านแม่หอพระคือผู้กำหนด.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท