Skip to main content
sharethis

การประชุมประจำปีทางมานุษยวิทยาครั้งที่ 7 "ยกเครื่องเรื่องวัฒนธรรมศึกษา" วันที่ 27 มี.ค.  ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร จัดเสวนาโต๊ะกลม เรื่อง "วัฒนธรรมศึกษากับแนวคิดสมัยหลังอาณานิคม"


 


รศ.สมเกียรติ ตั้งนโม นักวิชาการคณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และอธิการบดีมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน กล่าวว่า แนวความคิดแบบตะวันตกแผ่ขยายออกไปในช่วงระหว่างการล่าอาณานิคม ดังมีตัวอย่างที่สะท้อนออกมาในยุคนั้น เช่น ผ่านภาพโฆษณาสบู่ยี่ห้ออิมพีเรียล ที่นำเด็กผิวดำไปแช่ในน้ำสบู่ ภาพต่อมาพอเด็กลุกขึ้นก็ถูกฟอกตัวจนขาวแต่หน้ายังดำอยู่เช่นเดิม ซึ่งลักษณะนี้มีคนวิจารณ์ว่าสะท้อนถึง 3 C ได้แก่ Clean หรือ Christianity หมายถึง ความสะอาดที่รวมถึงมิติทางศาสนาแบบคริสเตียน Commercial หมายถึงการค้า และ Colonial  หมายถึง อาณานิคม


 




(ที่มาภาพ : http://www.sjsu.edu/faculty/harris/BritLitSurvey/Handouts/Pears%20Soap.jpg)


 


ประเด็นต่อมา รศ. สมเกียรติ กล่าวโยงไปถึงความขัดแย้งระหว่างคริสต์กับอิสลาม และสะท้อนผ่านในงานวิชาการเรื่อง Orientalism ในปี 1978 (Edward Said) กล่าวถึงแนวคิดบูรภาพนิยมว่า เป็นการมองคนในตะวันออกกลางหรือปาเลสติเนี่ยนจากสายตาของคนผิวขาวว่าเป็นแบบใด ทั้งนี้ จากประเทศอาณานิคมได้ก่อตัวจากดินแดนอาณานิคมของตัวเองและทำให้ปัญหาอัตลักษณ์กลายเป็นเรื่องสำคัญ เช่น แอฟริกาในยุคอาณานิคมเกิดการแบ่งเส้นดินแดนเป็นเส้นตรงจนทำให้เกิดประเทศต่างๆ ที่มีรูปร่างคล้ายตารางหมากฮอร์สในแอฟริกาและทุกอย่างถูกควบคุมโดยชาวตะวันตกทั้งหมด ในขณะที่แต่ละเผ่าในแต่ละดินแดนที่แบ่งไว้โดยชาวตะวันตกอาจไม่สัมพันธ์กันหรืออาจเป็นคู่ขัดแย้งกันก็ได้


 


นอกจากนี้  สมัยอาณานิคมเรื่องการบริโภคเกี่ยวกับผู้หญิงถูกสะท้อนออกมาในงานจิตรกรรมอย่างค่อนข้างชัด โดยเฉพาะในกลุ่ม Orientalism ซึ่งผลิตโดยศิลปิน เช่น Eugene Delacoix , Jean Auguste Dominique Ingres  ภาพนางบำเรอผิวขาว ชาวตะวันออกและฮาเร็ม (ดูภาพประกอบ) เป็นลักษณะที่สะท้อนถึงการบริโภคผู้หญิงที่ล่วงละเมิดเข้าไปในพื้นที่ส่วนตัวของผู้หญิงมุสลิม นั่นก็คือฮาเร็มซึ่งเป็นพื้นที่ทางครอบครัวในแบบมุสลิม และได้วาดผู้หญิงแก้ผ้าในสถานที่ลับนั้น ส่วนพื้นหลังก็สะท้อนสัญลักษณ์ผู้หญิงด้วยภาพรูช่องต่างๆ


 



 


Odalisque with a slave


by Jean Auguste Dominique Ingres, painted in 1842


(ที่มาภาพ:มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)


 


ลักษณะดังกล่าวถูกตีความว่า ภาพในลักษณะนี้มักถูกสร้างขึ้นในยุค Victorian (การปกครองโดยสมเด็จพระนางวิตอเรียในอังกฤษ 1819-1901) ที่การบริโภคถูกจำกัดแม้กระทั่งการมีเพศสัมพันธ์ เป็นต้นว่าผู้หญิงจะต้องไม่มีอารมณ์ในขณะมีเพศสัมพันธ์แต่ให้นึกถึงการทำสะอาดครัวแทน จากการบริโภคที่ถูกจำกัดทำให้การบริโภคต้องทำผ่านภาพในพื้นที่อาณานิคมหรือผ่านพื้นที่สังคมมุสลิม เพียงแต่เพราะตามแนวคิดในยุคนั้นผู้หญิงมุสลิมไม่น่าบริโภคภาพจึงถูกแทนที่ด้วยผู้หญิงผิวขาว


 


อย่างไรก็ตาม แนวคิดแบบคริสต์ในลักษณะดังกล่าวไม่ใช่การเห็นด้วยไปทั้งหมดจึงทำให้โลกตะวันตกสามารถกระโดดข้ามเส้นแบ่งระหว่างศาสนจักรและอาณาจักรออกมาได้  แต่ในขณะที่คริสเตียนได้กระโดดข้ามเส้นนั้นไปแล้วสังคมมุสลิมกลับยังไม่ข้ามเส้นนี้ ทุกอย่างจึงถูกโยงกลับไปที่คัมภีร์อัลกุรอ่าน กฎเกณฑ์เกี่ยวกับชีวิตกับการเมืองจึงกลายเป็นเรื่องเดียวกันในทัศนอิสลาม สังคมมุสลิมจึงมีความแตกต่างออกไป


 


"ทางภาคใต้ของไทยเป็นลักษณะนี้มีมาก คนมลายูแทนที่จะอยู่ในมาเลซีย เส้นแผนที่กลับเขียนให้อยู่ในไทย หรือคนอีสานในบางพื้นที่น่าจะต้องอยู่ในลาว เหล่านี้กลายเป็นคนไร้รัฐแบบมีรัฐ" รศ.สมเกียรติ พูดถึงอิทธิพลทางความคิดที่มีต่อประเทศไทยจนถึงในปัจจุบัน


 


จากนั้นจึงกล่าวอีกว่า ความเป็นมนุษย์ต้องมีมิติ 2 ประการ คือ มีปัจจัย 4 และมีสังกัด ปัจจุบันสังกัดหมายถึงรัฐ ถ้าไม่มีสังกัดอาจจะเป็นได้แค่เพียง Boat People หรือสิ่งมีชีวิตเท่านั้น คล้ายกับสมัยที่คนเวียดนามใต้ต้องออกจากดานังมาลอยเรืออยู่ในทะเล เป็นแค่สิ่งมีชีวิตไร้สังกัด หากเกิดอุบัติเหตุในทะเลใครจะช่วย เขาเหล่านี้ไม่สามารถอ้างได้ว่าเป็นคนของรัฐไหน เป็นเพียงคนของเรือที่ไม่มีความหมาย สามารถตายได้และตายฟรี


 


รศ.สมเกียรติ ยกอีกตัวอย่างหนึ่งที่เพิ่งเกิดขึ้นในสถานที่ใกล้กับประเทศไทย คือ การตายของหัวหน้ากระเหรี่ยง KNU ที่ถูกลอบสังหาร โดยกล่าวว่า หัวหน้ากระเหรี่ยงสังกัดกลุ่ม KNU แต่โลกไม่รับรองจึงทำให้กลายเป็นคนไร้สังกัด ในขณะที่เขาเป็นนักอนุรักษ์นิยมที่ต่อต้านการสร้างเขื่อนบนลุ่มน้ำสาละวิน ความเป็นคนไร้สังกัดทำให้การตายถูกอธิบายได้ 3 แนวทางคือ พม่าฆ่า ไทยฆ่า และจีนฆ่า เนื่องจากไทยและจีนเป็นประเทศที่ต้องการสร้างเขื่อนบนลุ่มแม่น้ำสาละวิน ซึ่งคนไร้สัญชาตินอกจากจะเป็นชายขอบทางการเมืองที่ไม่มีอำนาจแล้ว ในทางวัฒนธรรมยังไม่มีพื้นที่ด้วย ต้องถูกกดทับโดยวัฒนธรรมหลักหรือวัฒนธรรมนำตลอดเวลา หรือถ้าวัฒนธรรมจะถูกอ้างถึงก็ต่อเมื่อรัฐต้องการนำมาเป็นสินค้าเท่านั้น ดังนั้นปัญหาใน 3 จังหวัดจึงไม่ใช่เรื่องอำนาจทางการเมืองเท่านั้นแต่เป็นเพราะพื้นที่ทางวัฒนธรรมหายไปด้วย สุดท้าย รศ.สมเกียรติ จึงทางออกไว้ว่า "จะต้องมีพื้นที่สำหรับทุกคน ทุกวัฒนธรรม"


 


ด้าน ผศ.ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์ อาจารย์ประจำภาควิชาภาษาและวรรณคดีอังกฤษ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวในมุมมองผู้ศึกษาวรรณกรรมที่ต้องมาเกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมศึกษาว่า จุดตัดระหว่างวรรณกรรมกับวัฒนธรรมศึกษา คือ สัญญวิทยาหรือสัญญศาสตร์ที่ทำให้ศาสตร์หลายศาสตร์มาเจอกันหรือแยกจากกันได้


 


สัญญศาสตร์ เป็นการศึกษาที่มองไปถึงระบบการสื่อความหมายจึงถูกนำมาใช้ในการวิเคราะห์ภาษาที่มากไปกว่าการวิเคราะห์ความงาม ความไพเราะ ความสุนทรีย์ ความจรรโลงใจ ซึ่งเคยนิยมทำกันมาแต่เดิม และเนื่องจากสิ่งที่มนุษย์ทำคือการสื่อความหมายทั้งสิ้น สัญญศาสตร์จึงถูกมองเห็นศักยภาพ และการมองเรื่องระบบการสื่อความหมายก็ทำให้วรรณกรรมได้ไปข้องแวะกับศาสตร์อื่น


 


นอกจากนี้ จุดที่ทำให้การศึกษาวัฒนธรรมใช้สัญญศาสตร์อาจเป็นเพราะความน่าตื่นตา โดยเฉพาะหลังจากที่นักวิชาการปัญญาชนยุค 1960s -70s อาจมีอาการอกหักจากฝ่ายซ้าย เนื่องจากคำอธิบายสังคมและวัฒนธรรมแบบมาร์กซิสม์สามานย์ที่บอกว่าวัฒนธรรมถูกกำหนดโดยโครงสร้างส่วนบนไม่ใช่สิ่งที่ได้รับการยอมรับต่อไปไม่ว่าในจีนหรือโซเวียต แต่สัญญศาสตร์สามารถทำให้มองเห็นอำนาจผ่านปฏิบัติการทางวัฒนธรรมโดยที่ทำให้คนรับไปปฏิบัติรู้สึกเป็นธรรมชาติ ตรงนี้อาจเป็นจุดเริ่มต้นของวัฒนธรรมศึกษา


 


นอกจากนี้ สัญญศาสตร์ยังมุ่งเข้าไปศึกษาที่ตัวบทมากขึ้นและเริ่มมองทุกอย่างเป็นตัวบท วรรณกรรมซึ่งมองและศึกษาเรื่องตัวบทมานานจึงเข้ามารองรับ ในขณะที่ปฏิบัติการทางสังคมและวัฒนธรรมเมื่อถูกพูดถึงบ่อยขึ้นก็กลายเป็นตัวบทแบบหนึ่ง หลังจากการมองทุกอย่างเป็นตัวบทแล้วต่อมาจึงมองไปถึงความสัมพันธ์ของตัวบทกับตัวบทอื่นๆ ที่มีอยู่มากมายด้วย เพราะตัวบทหนึ่งไม่สามารถดำรงอยู่อย่างเป็นเอกเทศได้


 


"เช่น กรณีที่นายกรัฐมนตรีพูดว่า รวยแล้วไม่โกง มันเมคเซนส์ในสังคมไทย เพราะมีคอนเซ็ป มีตัวบทหลายอันมาพยุงไว้ เช่น การมองว่าการเมืองเป็นเรื่องของผลประโยชน์ เขารวยแล้วจะโกงไปทำไม หรือการมองการเมืองเป็นเรื่องของการโกงไม่โกง เป็นต้น " ผศ.ชูศักดิ์ กล่าว  


 


ผศ.ดร.จาตุรี ติงศภัทิย์ หัวหน้าภาควิชาวรรณคดีเปรียบเทียบ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย กล่าวถึงแนวคิดหลังอาณานิคมผ่านนักคิดหลายคน แต่ระบุว่าแนวคิดที่น่าสนใจคือแนวคิดหลังอาณานิคมที่ไม่มองเรื่องของประเทศอาณานิคมหรือยุโรปกับประเทศราชแล้ววิพากษ์วาทกรรมที่เกิดจากจากยุโรปเท่านั้น แต่แนวคิดหลังอาณานิคมคือการทำความเข้าใจคนที่เคยอยู่ในอาณานิคมที่สร้างผลกระทบทำให้เกิดการอพยพโยกย้ายมากมาย


 


ทั้งนี้ แนวคิดหลังอาณานิคมมีนัยยะที่สำคัญ ได้แก่ การสลายการตั้งคู่ตรงข้ามที่ยุโรปใช้มองตัวเองผ่านการสร้างคนอื่นให้เป็นคนตรงข้าม อีกนัยยะหนึ่งคือ การมองว่าการอพยพหลังอาณานิคมเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดไปทั้งโลก ซึ่งแนวคิดหลังอาณานิคมจะเข้าไปศึกษาปัญหาและกระบวนการเสนออัตลักษณ์หลังจากที่ยุโรปเข้าไปด้วยชุดความคิดของคนที่ครอบครองและมองว่ามีความแตกต่างและด้อยกว่า ซึ่งการจะครอบครองให้สำเร็จจะต้องทำลายพื้นฐานทางวัฒนธรรมและให้ทำตามสิ่งที่ยุโรปคิด จึงทำให้วัฒนธรรมเป็นประเด็นสำคัญในการสร้างชาติของสังคมอดีตยุคอาณานิคม และแนวคิดหลังอาณานิคมยังศึกษาไปถึงผลกระทบของกระแสโลกาภิวัตน์ที่มีต่อประเทศ "โลกที่ 3 "และความสัมพันธ์ของประเทศ "โลกที่ 3" กับ "ระเบียบโลกใหม่" ด้วย


 


ผศ.ดร.จาตุรี ระบุว่า แนวคิดหลังอาณานิคมเป็นการช่วงชิงความหมายทางวัฒนธรรมที่ไม่ใช่เพียงการนิยามความหมายใหม่เท่านั้น กล่าวคือความหมายเก่ายังคงอยู่เพียงแต่สูญเสียอำนาจผูกขาดความหมาย และความหมายทั้ง 2 ความหมายจะตีกัน เช่น การเกิดขึ้นของคำว่า "Black is beautiful" หลังอาณานิคม ที่ย้อนกลับไปท้าทายความหมายของคำว่า "Black is ugly" เป็นต้น


 


ผศ.ดร.จาตุรี อธิบายต่อว่า สังคมตะวันตกได้สร้างตัวเองผ่านสังคมตะวันออก โดยมีวิธิทางจิตวิทยาเข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น การบอกว่าประเทศทางตะวันออกมีเสน่ห์ มีความงาม มีความเย้ายวน แต่ขณะเดียวกันก็บอกว่ามีความลึกลับน่ากลัว ป่าเถื่อน โหดร้าย นอกจากนี้ยังบอกว่าตะวันออกเป็น "เด็ก" ความหมายหนึ่งคือ น่ารัก ไร้เดียงสา แต่อีกความหมายหนึ่งคือเด็กมักไม่รู้เรื่อง เด็กต้องถูกลงโทษ ซึ่งตะวันตกก็คือผู้เข้ามาดูแล ป้องกัน


 


หรือสิ่งที่สะท้อนในภาพ (Odalisque with a slave ) จะเห็นว่า มีความงามเย้ายวน ภาพผู้หญิงเปลือยถูกทำให้ดูสว่างแต่ในขณะเดียวกันสิ่งที่มองไม่ค่อยเห็นคือคนผิวดำที่ยืนกลืนไปในภาพ เป็นความลึกลับที่ถูกอำพรางไว้ด้วยความงาม กลายเป็นเสห่ห์ที่ทำให้อยากเข้าไปดูและก็ก้ำกึ่งกันกับอยากถอยออกมา เป็นความต้องการเสพแต่ต้องปลอดภัยและเสพอยู่ไกลๆ ซึ่งอาจหมายความว่าภาพของตะวันออกเป็นภาพตัวแทนสิ่งที่ต้องห้ามในวัฒนธรรมยุโรป


 


นอกจากนี้ "ความขาว" ยังมีนัยยะที่ถูกแทนด้วยความสะอาดทั้งทางกายภาพและทางศีลธรรม ซึ่งเป็นการสร้างวาทกรรมการควบคุมในยุโรปเองด้วย เนื่องจากในขณะนั้นชนชั้นปกครองเริ่มกลัวการเคลื่อนไหวของชนชั้นล่างหรือชนชั้นกรรมกรที่มีมากและมีจราจลเกิดขึ้นหลายครั้ง เรื่องเชื้อชาติ (Race) ถูกทำให้กลายเป็นเรื่องชนชั้น (Class) คือถูกทำให้เป็น "คนผิวดำ" และ "ผู้หญิง" มีความสำคัญมากในการแบ่งพรมแดนยุโรปกับความเป็นอื่น ซึ่งการใช้ผู้หญิงเป็นตัวแบ่งก็หมายถึงการถูกละเมิดง่ายที่สุดเช่นกัน เพราะอยู่ห่างไกลจากจุดศูนย์กลางซึ่งก็คือ "ผู้ชาย" ทำให้ผู้หญิงจึงถูกควบคุมอย่างมากมาย  


 


ผศ.ดร.จาตุรี ชี้ว่า ในเวลาต่อมาการศึกษาแนวทางหลังสมัยใหม่ได้ใช้คำว่า ชาติพันธุ์ (Ethnicity) แทนคำว่า เชื้อชาติ (Race) เพราะคำว่า Ethnic หมายถึงความเชื่อ พิธีกรรม สัญลักษณ์ที่ใช้ร่วมกัน ไม่เป็นการยกให้กลุ่มไหนมีอำนาจเหนือกว่า ซึ่งทำให้อังกฤษเองก็กลายเป็น Ethnic หนึ่ง


 


ต่อมา ผศ.ดร.จาตุรี พูดถึงประเด็นการต่อรองและสร้างอัตลักษณ์ของแนวคิดหลังสมัยใหม่ว่า มีนัยยะของการไม่แบ่งศูนย์กลางกับรอบนอก และไม่มีวัฒนธรรมใดที่เป็นพันธุ์แท้มีแต่วัฒนธรรมพันธุ์ทาง ซึ่งวัฒนธรรมไม่ผูกโยงกับสถานที่ ไม่มีตัวตนชัดเจน แต่ตัวตนสามารถสร้างได้จากภาษา โดยมีมิติทางชนชั้น เพศภาพ อายุ และไม่จำเป็นต้องขัดแย้งกันเสมอไป เพราะอัตลักษณ์สามารถเป็นได้หลายแบบและข้ามพรมแดนชาติ ดังนั้น วัฒนธรรมคือรากเหง้าที่เราสร้างและทบทวนตลอดเวลาที่สัมพันธ์กับการเดินทางการเจอกันในกลุ่มหรือระหว่างเครือข่ายวัฒนธรรม


 


อย่างไรก็ตาม ในกรอบเรื่องชาติและหากเชื่อในแนวคิดที่ว่าคนต้องมีสังกัด คนไม่ควรเป็น Boat Person หรือมองว่าชาติต้องมี สิ่งที่จะต้องทำคือต้องย้อนกลับไปดูที่การนิยามชาติใหม่ ซึ่งแนวคิดหลังสมัยนิยมคือการตั้งคำถามกลับต่อชาติ ซึ่งเป็นการตั้งคำถามที่สำคัญจากคนภายในเอง  

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net