Skip to main content
sharethis


อัคนี  มูลเมฆ


 


 


 


การกล่าวหาซึ่งกันและกันระหว่างอภิมหาอำนาจสหรัฐฯ กับยักษ์ใหญ่จีนเมื่อเกิดวิกฤติการณ์สิทธิมนุษยชนกลายเป็นเรื่องชินหูของชาวโลก ต่างฝ่ายต่างโจมตีคู่ปฏิปักษ์ว่าไม่เคารพสิทธิของผู้คนที่กำลังดิ้นรนเพื่อเอกราชและศักดิศรีความเป็นมนุษย์ ในกรณีทิเบต, สงครามน้ำลายไม่อาจนำไปสู่การแก้ปัญหาอะไรได้ ดังเช่นตัวอย่างที่เกิดขึ้นในเจนีวาเมื่อปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา


 


ในช่วงดังกล่าวคณะมนตรีสิทธิมนุษย์ชนแห่งสหประชาชาติ (United Nations Human rights Council)ได้เปิดการประชุมเพื่อหารือถึงวิกฤติการณ์ในทิเบตโดยมีผู้เข้าร่วมหลายฝ่าย รวมทั้งตัวแทนของสหรัฐฯและจีน ในที่ประชุม นายวอเรน ทิเชเนอร์-ฑูตสหรัฐฯ ได้แสดงความวิตกถึงการละเมิดสิทธิมนุษยชนของรัฐบาลจีนต่อผู้ก่อการประท้วงในกรุงลาซาเช่นการใช้วิธีการรุนแรงปราบปรามฝูงชน, การจับกุมและการสังหารด้วยอาวุธสงครามที่เริ่มต้นขึ้นเมื่อวันที่ 10 มีนาคม


 


เมื่อถูกโจมตีตัวแทนฝ่ายจีนก็ไม่รั้งรอ นายเฉียน โบ ออกมาตอบโต้อย่างเผ็ดร้อนว่าสหรัฐฯ เองก็กำลัง


ละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างกว้างขวางอยู่ในอิรัค และว่า "จะต้องถามว่ามีประเทศไหนบ้างในโลกนี้ที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างกว้างขวางและอย่างโจ๋งครึ่มเหมือนอย่างสหรัฐฯ"


 


แม้ปักกิ่งจะไม่กล่าวหาว่าวอชิงตันคือผู้ชักใยอยู่เบื้องหลังในวิกฤติการณ์ครั้งนี้ เช่นที่เคยระบุว่าซีไอเอ อยู่เบื้องหลังการลุกขึ้นสู้ของชาวทิเบตเมื่อปี 1959 กระนั้น ก็มีรายงานเปิดโปงว่าสหรัฐฯ เป็นผู้อุปถัมภ์รายใหญ่ต่อคณะผู้จัดการประท้วงในลาซาและในที่ต่างๆ ทั่วโลก ดังปรากฏอยู่ในรายงานบนเว็บไซต์ของชาวอเมริกัน


 


รายงานระบุว่าการประท้วงครั้งนี้ถูกวางแผนขึ้นโดยผูกโยงเข้ากับการจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกในกรุงปักกิ่งที่จะมีขึ้นในเดือนสิงหาคมปีนี้ การกำหนดแผนและการฝึกอบรมผู้คนเพื่อดำเนินการตามแผนเกิดขึ้นที่ธรรมศาลา-เมืองหลวงของชาวทิเบตพลัดถิ่นในอินเดีย กลุ่มผู้ดำเนินการดังกล่าวได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากสหรัฐฯ และเป็นไปได้ว่ามีเจ้าหน้าที่ของทางการสหรัฐฯ ชักใยอยู่เบื้องหลัง


 


การประชุมวางแผนเกิดขึ้นในเดือนมิถุนายนปีก่อน ขณะการฝึกอบรมมีขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา รายงานระบุว่าในการประชุมวางแผนมีชาวอินเดียและชาวทิเบตเข้าร่วมราว 200 คน หนึ่งในผู้เข้าร่วม "การสัมมนาเชิงปฏิบัติการ" ครั้งนี้คือจัมยาง นอร์บุ (Jamyang Norbu) - นักเขียนและอดีตนักเคลื่อนไหวเพื่อเอกราชของชาวทิเบต เขากล่าวบรรยายกับผู้เข้าร่วมว่า โอลิมปิกในปักกิ่งจะสร้างโอกาสให้กับการก่อการประท้วงได้อย่างไร


 


ยุทธศาสตร์ที่กำหนดขึ้นจากที่ประชุมได้แก่การก่อประท้วงแบบสามประสาน กล่าวคือ การลุกขึ้นสู้จากองค์กรภายในทิเบต,การเดินขบวนของชาวทิเบตพลัดถิ่นในอินเดีย ซึ่งกำหนดว่าจะจัดให้มีการเดินขบวนครั้งใหญ่โดยมุ่งหน้าไปยังชายแดนอินเดีย/ทิเบต และการเดินขบวนประท้วงของชาวทิเบตพลัดถิ่นและผู้สนับสนุนเอกราชของทิเบตในประเทศต่างๆ ทั่วโลก


 


ถัดมาในเดือนมกราคมก่อนการฝึกอบรมจะเกิดขึ้น มีองค์กรหลากหลายประกาศเจตนารมณ์จะเข้าไปมีส่วนร่วม องค์กรเหล่านี้ลงทะเบียนเข้าร่วม และลงนามในคำประกาศเจตนารมณ์อย่างเป็นทางการ หนึ่งในองค์กรที่เข้าร่วมคือ Gu Chu Sum Movement of Tibet อันเป็นสมาคมของอดีตนักโทษการเมือง นายงาวาง โวบาร์ (Ngawang Woebar) ผู้เป็นประธานองค์กรประกาศว่าโอลิมปิค 2008 จะเป็นนิมิตหมายสูงสุดให้กับการต่อต้าน 50 ปีของชาวทิเบตพลัดถิ่น และจะอาศัยช่วงเวลาแห่งประวัติศาสตร์ครั้งนี้กระตุ้นขบวนการเพื่ออิสรภาพของชาวทิเบต ทั้งจะนำพาขบวนการต่อสู้จากภายนอกกลับสู่มาตุภูมิ


 


"เราจะนำพาการลุกขึ้นสู้ไปสั่นสะเทือนการควบคุมทิเบต ทั้งจะสร้างนิมิตหมายเพื่อยุติการยึดครองของจีน" เขาประกาศ


 


ในเดือนกุมภาพันธ์,องค์กรหลากหลายกลุ่มได้จัดการฝึกอบรมให้กับนักเคลื่อนไหวระดับรากหญ้า 40 คน เป็นหลักสูตร "ติวเข้ม" ที่เรียกว่า Advanced Training ผู้เข้าฝึกอบรมทั้งหมดเป็นตัวแทนจากชุมชนชาวทิเบตพลัดถิ่นในอินเดียกว่า 25 ชุมชน โดยจัดการอบรมขึ้นในระหว่างวันที่ 15-17 กุมภาพันธ์ที่โรงเรียน Lower TCV school ในธรรมศาลา


 


การฝึกอบรมเน้นความสำคัญของความร่วมมือในขบวนการ ชี้ให้เห็นภาวะทางการเมืองร่วมสมัยของจีน,ยุทธศาสตร์และทัศนะ,สถานการณ์ในทิเบต,การเมืองในโอลิมปิก,สื่อและการสื่อความหมาย,การปฏิบัติ


การด้วยสันติวิธี และยุทธศาสตร์การระดมทุน เป็นต้น


 


การสัมนาเชิงปฏิบัติการดังกล่าวเป็นการสร้างความร่วมมืออย่างเข้มแข็งให้กับขบวนการลุกขึ้นสู้ของประชาชนชาวทิเบต หรือเรียกในภาษาอังกฤษว่า Tibetan People"s Uprising Movement ซึ่งจัดตั้งขึ้นโดยองค์กรผู้รักชาติชาวทิเบต 5 องค์กร คือ Tibetan Youth Congress, Tibetan Women's Association, Gu-Chu-Sum Movement of Tibet, National Democratic Party of Tibet, and Students for a Free Tibet (India)


 


นอกเหนือจากองค์กรทั้งห้าแล้ว,การสัมมนา 3 วันอยู่ภายใต้การกำกับของนายการ์มา เยชิ  (Karma Yeshi)-สมาชิกรัฐสภาของชาวทิเบตพลัดถิ่นและบรรณาธิการ นสพ.เสียงแห่งทิเบต (Voice of Tibet)


นายล็อบซัง จินปา(Lobsang Jinpa) บรรณาธิการ "เชจา" (จดหมายข่าวทิเบต) นายเทนดอร์( Tendor) ผู้ช่วยผู้อำนวยการประจำสำนักงานใหญ่ขององค์กร SFT ประจำนิวยอร์ก และนายล็อบซัง เยชิ(Lobsang Yeshi)อดีตรองประธานสภาเยาวชนทิเบต(Tibetan Youth Congress)


 


รายงานให้ข้อสังเกตว่าในระหว่างการประชุมวางแผนในเดือนมิถุนายน 2007 ทูตสหรัฐฯ ประจำอินเดีย-นายเดวิค มุลฟอร์ด (David Mulford) ได้เดินทางไปเยือนธรรมศาลาเป็นเวลา 2 วันเพื่อพบปะกับดาไลลามะ-ผู้นำทางจิตวิญญาณของชาวทิเบต และศาสตราจารย์ซัมดอง รินโปเช (Samdhong Rinpoche)-นายกรัฐมนตรีของรัฐบาลทิเบตพลัดถิ่น ด้วยจุดประสงค์แอบแฝง


 


ทางการสหรัฐฯ อ้างว่าการไปเยือนธรรมศาลาครั้งนี้เป็นการติดต่อตามปกติกับรัฐบาลพลัดถิ่น แต่ไม่ยืนยืนจุดประสงค์เบื้องต้น ที่น่าสนใจคือต่อมาไม่นาน ผู้ช่วยรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ-นางพอล่า โดเบรนสกี้(Paula Dobrainsky) ก็เดินทางไปที่นั่นเช่นกัน


 


นางโดเบรนสกี้เป็นผู้ช่วยรัฐมนตรีต่างประเทศฝ่ายประชาธิปไตยและกิจการโลก เป็นหนึ่งในสมาชิกกลุ่มอนุรักษ์นิยมใหม่ที่ยึดครองตำแหน่งอยู่ในคณะบริหารของนายจอร์จ ดับเบิ้ลยู บุช ในอดีตเคยเกี่ยวข้องอยู่กับกิจกรรมที่กระตุ้นให้เกิดการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงที่เรียกว่า Color Revolution ในยุโรปตะวันออกและในเลบานอน


 


กิจกรรมกระตุ้นให้เกิดการปฏิวัติในประเทศคู่ปรปักษ์กระทำด้วยหลายวิธี เช่นให้การฝึกอบรม,สนับสนุนด้านข้อมูลและทฤษฎี รวมทั้งการสนับสนุนทางการเงิน หนึ่งในองค์กรบังหน้าเพื่อการนี้คือสถาบันอัลเบิร์ต


ไอสไตน์(Albert Einstein Institute)ในสหรัฐฯ สถาบันแห่งนี้เคยเข้าไปฝึกอบรมและตีพิมพ์หนังสือเพื่อเผยแพร่ข้อมูลด้านทฤษฎีให้กับขบวนการต่อสู้ในเซอร์เบียและยูเครน ทั้งใช้วิธีเดียวกันนี้สนับสนุนการต่อสู้ของชาวทิเบต กล่าวคือได้จัดแปลหนังสือ Color Revolution ออกเป็นภาษาทิเบต


 


ที่จริง,การเข้ามาเกี่ยวข้องกับกรณีทิเบตของวอชิงตันไม่ใช่เรื่องใหม่ ในปี 1959 ซึ่งเป็นปีแห่งการลุกขึ้นสู้ครั้งใหญ่ของชาวทิเบต ซีไอเอ หรือสำนักงานข่าวกรองกลาง(Central Intelligence Agency)ถูกกล่าวหาว่ามีส่วนจัดการและสนับสนุนทางการเงินแก่ขบวนการดังกล่าว โครงการสนับสนุนการต่อสู้ของชาวทิเบตยุติลงในช่วงปลายทศวรรษ 1960 แต่ในยุคประธานาธิบดีรีแกน โครงการเหล่านี้ได้รับการฟื้นฟูขึ้นมาใหม่


นับแต่นั้นทำเนียบขาวให้การสนับสนุนทางการเงินอย่างแข็งขันแก่องค์กรของชาวทิเบตพลัดถิ่น ทั้งนี้ภายใต้นโยบายสวยหรูที่เรียกว่า "การส่งเสริมเพื่อมนุษย์ธรรมและประชาธิปไตย"


 


หลักฐานที่ชี้ชัดถึงเรื่องนี้ระบุอยู่ในรายงานประจำปี 2007 ของสำนักงานวิจัยแห่งภาคองเกรส(Congressional Research Service) ในนั้นระบุถึงองค์กรในสหรัฐฯ ที่ผ่านเงินอุดหนุนจากสภาคองเกรสไปสนับสนุนด้านเงินทุนแก่องค์กรของชาวทิเบตพลัดถิ่น


 


ตามการระบุของรายงาน,องค์กรที่ผ่านเงินทุนไปให้ชาวทิเบตมากที่สุดคือ "สำนักงานเพื่อประชาธิปไตย,สิทธิมนุษย์ชนและแรงงานแห่งกระทรวงต่างประเทศ" (State Departments Bureau of Democracy, Human Rights, and Labor (DRL) ที่ขึ้นตรงต่อฝ่ายประชาธิปไตยและกิจการโลกซึ่งโดเบรนสกี้รับผิดชอบอยู่ ความช่วยเหลือทางการเงินที่มอบให้กับองค์กรการต่อสู้ของชาวทิเบตดำเนินการผ่านกองทุนของ DRL ที่เรียกว่า "กองทุนเพื่อสิทธิมนุษย์ชนและประชาธิปไตย" (Human Rights and Democracy Fund-HRDF)


 


รายงานระบุว่าสภาคองเกรสได้อุดหนุนงบประมาณให้กับ HRDF เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ กล่าวคือจาก 13 ล้านดอลลาร์ในช่วงปีงบประมาณ 2000-2002 เป็น 33.7 ล้านดอลลาร์ในช่วงปี 2003-2005 กระทั่งในปี 2006 งบนี้เพิ่มเป็น 63 ล้านดอลลาร์ อย่างไรก็ตาม เพียง 25% ของงบก้อนนี้เท่านั้นที่สนับสนุนชาวทิเบต หรือกล่าวในภาษาของกองทุนดังกล่าวว่าเป็นงบเพื่อสนับสนุน "ประชาธิปไตยในจีน"


 


อีกองค์กรหนึ่งซึ่งดำเนินการในทำนองเดียวกันคือ National Endowment for Democracy (NED) รายงานระบุว่าในช่วงปี 1999-2003 รัฐบาลสหรัฐฯ ใช้เงิน 38 เปอร์เซ็นต์ของงบประมาณเพื่อ "สนับสนุนประชาธิปไตยในจีน" ผ่านทางองค์กร NED เว็บไซต์ขององค์กรนี้เปิดเผยว่าในปี 2006 ได้สนับสนุนทางการเงินให้กับองค์กรที่ต่อสู้เพื่อเอกราชของชาวทิเบตดังต่อไปนี้ :


 


Gu-Chu-Sum Movement of Tibet - $40,000


International Campaign for Tibet - $53,000


Tibetan Women's Association - $30,000


Longsho Youth Movement of Tibet - $15,000


Voice of Tibet - $35,000


 


และองค์กรดังปรากฏชื่อข้างบนไม่ใช่ใครที่ไหน แต่คือผู้มีส่วนในการการลุกขึ้นสู้ของชาวทิเบตครั้งนี้นี่เอง!


 


ข้อน่าสังเกตบางประการของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นคือ จีนไม่ได้ออกมาประณามว่าสหรัฐฯ อยู่เบื้องหลังการต่อสู้ดังกล่าว ขณะท่านดาไลลามะเองด้านหนึ่งแสดงความไม่เห็นด้วยกับการใช้วิธีการต่อสู้ด้วยความรุนแรงของขบวนการ Tibetan People"s Uprising Movement ด้วยขัดแย้งกับหลักการอหิงสาของท่าน ขณะอีกด้านหนึ่งทรงยอมรับว่าจีนทรงสิทธิในการจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก ส่วนอินเดีย,รัฐบาลในเดลีสั่งให้ยับยั้งการเดินขบวนของชาวทิเบตพลัดถิ่นไปยังชายแดน


 


ที่สำคัญ,Tibetan People"s Uprising Movement เรียกร้องเอกราชให้กับทิเบต แต่ท่านดาไลลามะเรียกร้องเพียงสิทธิในการปกครองตัวเอง


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net