Skip to main content
sharethis

คณะยุววิจัยดาราศาสตร์ ศูนย์การเรียนรู้วิทยาศาสตร์โลกและดาราศาสตร์(LESA) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)เข้าร่วมแสดงผลงานวิจัยด้านดาราศาสตร์ในเวทีประชุม Junior Session in the Astronomical Society ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่นระหว่างวันที่ 25-26 มีนาคมที่ผ่านมา ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กทช.) โดยภายในงานมีการนำเสนอผลงานวิจัยด้านดาราศาสตร์ของนักเรียนญี่ปุ่นจากทั่วประเทศกว่า 50 ชิ้น อาทิ การตรวจวัดความถี่ฝนดาวตกเจมินิดส์ด้วยคลื่นวิทยุ, การหาขนาดดาวเคราะห์น้อย, จุดดับบนดวงอาทิตย์ เป็นต้น อีกทั้งยังมีการจัดแสดงส่วนนิทรรศการ เวทีแลกเปลี่ยนชมรมดาราศาสตร์ และการล้อมวงคุยแนะความรู้จากรุ่นพี่สู่รุ่นน้องด้วย


 


ดร.มาโกโต โยชิกาวา สมาคมดาราศาสตร์แห่งประเทศญี่ปุ่น เปิดเผยว่า งานประชุม Junior Session in the Astronomical Society เป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นเพื่อเปิดโอกาสให้นักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น-ปลาย ได้มีเวทีในการเผยแพร่ผลงานวิจัยด้านดาราศาสตร์ของตนเอง ซึ่งไม่เพียงช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้กับนักเรียนในการทำการศึกษาวิจัยด้านดาราศาสตร์เท่านั้น แต่ยังเป็นการเปิดโอกาสให้เด็กนักเรียนได้ฝึกกระบวนการทำงานเช่นเดียวกับนักดาราศาสตร์ คือ การทำงานวิจัย การเขียนรายงาน และการนำเสนอผลงานสู่ธารณชน ซึ่งในปีนี้นับเป็นโอกาสพิเศษที่ได้เชิญยุววิจัยดาราศาตร์จากประเทศไทยเข้าร่วมแสดงผลงาน เนื่องจากเห็นว่าเด็กไทยมีการทำงานวิจัยดาราศาสตร์ระดับสูง ใช้ข้อมูลวิจัยเช่นเดียวกับนักวิทยาศาสตร์โลก ทำให้มีผลงานวิจัยที่ค่อนข้างลึกกว่าเด็กญี่ปุ่น การร่วมแสดงผลงานในครั้งนี้จึงนับเป็นตัวอย่างความสำเร็จที่จะเป็นแรงผลักดันให้เด็กญี่ปุ่นหันมาทำงานจัยเชิงลึกมากขึ้น ที่สำคัญยังเป็นเวทีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ข้อมูล เทคนิคการทำงานวิจัยทางด้านดาราศาสตร์ซึ่งกันและกัน


 


ด้าน น.อ.ฐากูร เกิดแก้ว ผู้อำนวยการศูนย์การเรียนรู้วิทยาศาสตร์โลกและดาราศาสตร์ (LESA) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย(สกว.)กล่าวว่า ในงานประชุมครั้งนี้โครงการ LESA ได้ส่งตัวแทนยุววิจัยดาราศาสตร์เข้าร่วมจำนวน 12 คน มีการนำเสนอผลงานวิจัยทั้งหมด 5 เรื่องได้แก่ 1. การค้นหาดาวแปรแสงคาบยาวในเมฆแมกแจลแลนใหญ่ 2. การหาระยะห่างของเมฆแมกเจลแลนเล็กโดยใช้ดาวแปรแสงแบบเซฟิด 3. การศึกษาประชากรดาวกระจุกเปิด 4.การศึกษาความสว่างของการระเบิดของดาวแปรแสงแบบประทุในกาแล็กซีทางช้างเผือกและM31 และ 5. การสังเกตุการระเบิดของดาวหางโฮมห์ในปี 2007 ทั้งนี้จะมีการตีพิมพ์รายงานวิจัยของนักเรียนเป็นภาษาอังกฤษและภาษาญี่ปุ่นด้วย อย่างไรก็ดีการที่เด็กไทยมีโอกาสร่วมนำเสนอผลงานวิจัยในเวทีระดับนานาชาติครั้งนี้ไม่เพียงช่วยเผยแพร่ชื่อเสียงให้กับประเทศไทย แต่ยังเป็นการเปิดโลกทัศน์ให้เด็กเห็นความหลากหลายของงานวิจัยด้านดาราศาสตร์ สร้างความสัมพันธ์แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับครูและนักเรียนของญี่ปุ่น อีกทั้งยังเป็นการสร้างเครือข่ายในการแลกเปลี่ยนข้อมูล สื่อการเรียนการสอนที่ทันสมัยมากยิ่งขึ้นด้วย  

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net